บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ

มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ


วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2010 เวลา 10:25 น. กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ คอลัมนิสต์ผู้ทรงคุณวุฒิ - สาธิต รังคสิริ


 ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังจะเห็นได้จากผลการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งมีผลการสำรวจค่อนข้างละเอียด ในทุกแง่มุมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ (หากสนใจสามารถค้นหาได้จากรายงานการสำรวจดังกล่าว) พบว่า จำนวนและอัตราส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น ประกอบกับอัตราเกิดของประชากรไทยลดลง

อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ หน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชน แสดงความเป็นห่วงกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้มีมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือมากมาย เช่น การปรับอาคาร สถานที่ อุปกรณ์การดูแล และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ การตั้งสถานบริบาลผู้สูงอายุที่แยกออกจากบ้านพักคนชรา รวมถึงการส่งเสริมการออมเพื่อการชราภาพ

 กรมสรรพากรแม้มีภารกิจหลักในการจัดเก็บภาษีอากรเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ  แต่ในอีกบทบาทหนึ่งก็มีส่วนช่วยพัฒนาสังคม โดยในประเด็นของผู้สูงอายุแม้มิได้เป็นประเด็นใหม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ดีกรมสรรพากรก็ได้มีมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระภาษีของผู้สูงอายุ หรือสำหรับผู้ที่กำลังเตรียมตัวจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 1. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในประเทศไทย  เฉพาะเงินได้ที่ได้รับส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้น ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถเลือกใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 190,000 บาทในปีภาษีนั้นออกจากเงินได้ประเภทใดก็ได้ที่ได้รับ  และนำเงินได้หลังใช้สิทธิมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติ


2. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป  ดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ที่ได้รับสิทธิต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์  หากดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันมีจำนวนเกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษี ให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทั้งจำนวน  และนำส่งกรมสรรพากร


 
 3. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินบำเหน็จดำรงชีพ มาตรการนี้ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่รับบำนาญ แต่ต้องการใช้เงินที่เป็นบำเหน็จตกทอดขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้สูงอายุที่รับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินบำเหน็จดำรงชีพนั้น รวมทั้งยกเว้นภาษีเงินได้ในลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยและพนักงานธนาคารออมสินที่ได้รับโดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ


  4. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือตาย โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
 

5. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  เนื่องจากออกราชการเพราะเหตุสูงอายุ เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือตาย

 
6. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)  ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้  แต่รวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนรวม     หรือ กบข. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และยกเว้นภาษีเงินได้หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจากกองทุนรวม  ได้รับเงินจากกองทุนดังกล่าว เพราะเหตุสูงอายุ เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทน หรือตาย

 
 7. การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับบุตรที่เลี้ยงดูบิดาหรือมารดา บิดาหรือ มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป  โดยบิดาหรือมารดาจะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้นๆ บุตรที่มีเงินได้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท บิดาหรือมารดาจะรวมถึงบิดาหรือมารดาของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ด้วย กรณีนี้จะให้สิทธิทางภาษีแก่บุตรที่เลี้ยงดูแต่ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุเช่นกัน


 
8. การหักค่าลดหย่อนเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่กองทุนผู้สูงอายุ 
 - กรณีบุคคลธรรมดา บริจาคเงินสามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษี ได้เท่ากับจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ
 - กรณีนิติบุคคลบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน สามารถนำรายจ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
 

 9. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับบุตรที่ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันสุขภาพบิดาหรือมารดาของผู้มีเงินได้  รวมทั้งบิดาหรือมารดาของคู่สมรสของผู้มีเงินได้ด้วย โดยบิดาหรือมารดาจะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้นๆ ทั้งนี้จะยกเว้นภาษีเท่ากับค่าเบี้ยประกันเท่าที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ในปีภาษีนั้น 


10. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ ฯ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษี และยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินได้หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชนได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเมื่อออกจากงานเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพหรือตาย


 ดังนั้นจะเห็นได้ว่า กรมสรรพากรมีมาตรการสำคัญที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้สูงอายุ บุตร   ผู้มีเงินได้ของผู้สูงอายุ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนและส่งเสริมการออม ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส โดยการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหลากหลายรูปแบบตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน สังคมและประเทศชาติโดยรวม


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,584 18-20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553



Create Date : 22 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2553 9:31:31 น. 0 comments
Counter : 826 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.