Group Blog
 
All Blogs
 
+ มาแนะนำ อุปกรณ์เพิ่มความสามารถของกล้องคอมแพ็คท์ ครับ +

+ มาแนะนำ อุปกรณ์เพิ่มความสามารถของกล้องคอมแพ็คท์ ครับ +

สวัสดีครับ

บทความที่เขียนขึ้นมานี้ พยายามจะไม่ลงรายละเอียดในเชิงลึก-หลักการทางวิทยาศาสตร์มากนัก เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายต่อทุกท่าน โดยรูปภาพบางส่วน ได้หยิบยืมมาจากเว็บเปิดเผยสาธารณะบางที่ ซึ่งจะให้เครดิทเอาไว้ทุกรูปครับ

วัตถุประสงค์ - ขออนุญาตนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกล้อง compact & dslr like ในส่วนของอุปกรณ์เสริมจำพวกเลนส์ต่างๆ เผื่อบางท่านอาจจะยังไม่ทราบ ว่ากล้องที่ท่านมีอยู่ ก็มีความสามารถที่จะต่อเติมอุปกรณ์เพิ่มได้เช่นกัน

เนื่องจากกล้อง compact และ dslr like มีคุณสมบัติที่ถือได้ว่าเป็นทั้งข้อได้เปรียบ และข้อจำกัด ซึ่งเกือบทั้งหมด เกิดขึ้นจากเลนส์ที่ติดกับตัวกล้องไม่สามารถเปลี่ยนได้ ... ทำให้เวลาซื้อกล้องมาใช้แล้ว ต้องติดอยู่กับช่วงเลนส์-ระยะโฟกัสใกล้ที่สุดของกล้องตัวนั้น จนกว่าจะเปลี่ยนกล้อง หรือกล้องพังกันไปข้าง

เกร็ด - กล้อง compact และ dslr like ในปัจจุบัน ราคาถูกลงมากแล้ว เมื่อก่อน ผมเคยซื้อกล้อง CANON A300 3.2mp ไม่มีซูม ราคา 10000+ บาท ฮี่ๆ (รูปจาก //www.steves-digicams.com/camera-reviews/canon/powershot-a300/canon-powershot-a300-review.html)




รูปที่ 1

ปัญหาคือ แล้วถ้าเราต้องการให้กล้องมีมุมรับภาพที่กว้างขึ้น (ไวด์มากขึ้น) หรือ ดึงซูมใกล้ขึ้น (เทเลมากขึ้น) แม้แต่ โฟกัสได้ใกล้ขึ้น (มาโคร/โคลสอัพ) โดยใช้กล้องตัวเดิม จะทำอย่างไร ?

คำตอบ ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ สำหรับกล้อง compact และ dslr like แล้ว จะต้องเป็นแบบสวมเข้าหน้าเลนส์ เพราะเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ สำหรับกล้องบางรุ่นที่มีเกลียว ก็สามารถหาซื้อของตามขนาดเกลียวมาใส่ได้เลย เช่น NIKON 4500 ขนาดเกลียว 28mm FUJI S9600 / S6500 ขนาดเกลียว 58mm เป็นต้น แต่หากหน้าเลนส์ไม่มีเกลียวแล้ว ก็ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอีกตัว ที่เรียกว่า ท่อแปลงเกลียว (อันนี้ผมด้นเองนะ) หรือ adapter tube / lens adapter เพื่อให้มีเกลียวเสียก่อน (หลังจากนี้ จะเรียก adapter tube) (รูปจาก //www.steves-digicams.com/camera-reviews/nikon/coolpix-4500/nikon-coolpix-4500-review-2.html)

เกร็ด - ขนาดเกลียวมาตรฐานของเลนส์เสริม/ฟิลเตอร์ทั่วไป คือ 27 28 30 30.5 37 46 49 52 55 58 62 67 72 77 82 ... หากขนาดหน้าเลนส์ กับอุปกรณ์เสริมไม่ตรงกัน สามารถหากซื้อแหวนแปลงเกลียว (step ring / stepping ring) เพื่อเพิ่มหรือลดขนาดเกลียวได้




รูปที่ 2

Adapter tube คืออะไร ?

adapter tube มีลักษณะทั่วไป คือ เป็นท่อกลวง มีเกลียว (thread) มีเขี้ยวล็อค (bayonet) หรือฐานล็อค เอาไว้ยึดกับตัวกล้อง โดยมีความยาวพอเหมาะที่จะให้เลนส์ยืดออกมาได้โดยไม่พ้นเกลียวอีกด้าน ซึ่งจะเอาไว้สวมกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ

รูปแสดงการใส่ adapter tube เข้ากับ SAMSUNG V50 (รูปจาก //www.steves-digicams.com/camera-reviews/samsung/digimax-v50/samsung-digimax-v50-review-2.html)

เกร็ด - กล้อง compact และ dslr like รุ่นทั่วไปในปัจจุบัน มักจะไม่ค่อยทำให้ใส่ adapter tube ได้แล้ว ยกเว้น รุ่นสูงๆ เท่านั้น เข้าใจว่า หากต้องการใช้อุปกรณ์เสริมจำพวกเลนส์จริงๆ ทั่วไปมักจะกระโดดไปใช้ DSLR เลยมากกว่า




รูปที่ 3

แล้วกล้องที่ไม่รองรับการใช้ adapter tube ล่ะ ?

คำถามนี้ เกิดขึ้นมามานาน ตั้งแต่สมัยกล้อง MINOLTA DIMAGE F100 เพิ่งจะวางตลาด เมื่อราวๆ ปี 2002-2003 ได้มั้ง โดยคุณภีมะ@pantip ห้อง BP ได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ (DIY) ที่เรียกว่า ท่อภีมะ ขึ้น โดยหลักการแล้ว ก็ใช้ท่อ PVC มาตัด-ต่อ-แต่ง เข้ากับฟิลเตอร์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เพื่อให้มีเกลียวหน้าเลนส์ รายละเอียดลองเข้าไปดูได้ที่นี่ //topicstock.pantip.com/camera/topicstock/O3000853/O3000853.html

เกร็ด - ท่านที่ไม่อยาก DIY เอง ก็ลองค้น google ดูว่า universal lens adapter ดู เข้าใจว่ามีขายแต่บน ebay ครับ (รูปจาก //www.hkdcplus.com/store/en/productViewer.php?prodId=PD09031100001)





รูปที่ 4

อุปกรณ์เสริมแบบสวมหน้าเลนส์มีอะไรบ้าง ?

โดยรวมๆ เท่าที่นึกออก จะมี ฟิลเตอร์ (filter) ตัวแปลงเลนส์มุมกว้าง (wide converter) ตัวแปลงเลนส์เทเล (teleconverter) และโคลสอัพเลนส์ หรือโคลสอัพฟิลเตอร์ (close-up lens / filter) จะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ตามลำดับ

ฟิลเตอร์ (Filter)

อันนี้มีหลากชนิดมาก แต่โดยทั่วไปที่คุ้นกัน ก็จะเป็น UV, protection, skylight, Polarizing (circular/linear) และอื่นๆ เอาเป็นว่าเขียนบรรยายไม่ไหว ลองไปอ่านดูที่นี่ละกัน //www.hoyafilter.com/pdf/HOYACatalog.pdf

หากอ่านคำบรรยายไม่ออก ดูรูปก็น่าจะพอเข้าใจแล้ว

เกร็ด - แนะนำให้หาฟิลเตอร์ PL/CPL มาใช้ครับ หากถ่ายรูป landscape / nature บ่อยๆ เพราะว่านอกเหนือจากจะตัดแสงสะท้อนของน้ำแล้ว ยังทำให้ภาพมีความอิ่มตัวของสีมากขึ้นด้วย (รูปจาก //www.raynox.co.jp/comparison/digital/comp_fz10.htm#pl)




รูปที่ 5


ตัวแปลงเลนส์มุมกว้าง-ตัวแปลงเลนส์เทเล (Wide converter / Teleconverter)

wide converter และ teleconverter เป็นเลนส์เสริมที่มีลักษณะเอนกประสงค์ (universal) และ afocal

universal คือ กล้องทุกตัว ไม่จำเป็นต้องใช้ converter สำหรับรุ่นของมันเอง ดังจะเห็นได้ว่ามี converter ยี่ห้ออื่น (off brand/third party) ที่ไม่ใช่ยี่ห้อกล้องเข้ามาทำมากมาย แต่ถ้าหากเลนส์มีลักษณะเฉพาะตัว เช่น มุมกว้างมาก หรือ เทเลมาก อาจทำให้ converter ที่ไม่ได้ออกแบบเฉพาะใช้ไม่ได้ หรือใช้ได้แต่ได้คุณภาพไม่ดีนัก

afocal คือ ไม่ต้องโฟกัสภาพก็ชัด ... ไม่ขอลงรายละเอียดละกัน เอาเป็นว่า หากมองผ่านท้ายเลนส์ของ converter ภาพจะชัดทั้งหมดโดยไม่ต้องปรับโฟกัส และมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางยาวโฟกัสขึ้นตามกำลังที่ระบุ โดยที่กำลังน้อยกว่า 1.0x ถือว่าเป็น wide converter ในทางกลับกัน หากกำลังมากกว่า 1.0x ถือว่าเป็น teleconverter

เพื่อให้เข้าใจง่าย หากมีกล้องตัวหนึ่ง ช่วงเลนส์เทียบเท่า 38-114mm หากใช้ 0.7x wide converter ที่ช่วง 38mm จะได้มุมกว้างขึ้นเป็น 38x0.7 = 26.6mm ในทำนองเดียวกัน หากใช้ 1.7x teleconverter ที่ช่วง 114mm จะได้ระยะเทเลเป็น 114x1.7 = 193.8mm รูปที่แสดง เปรียบเทียบมุมรับภาพของเลนส์ที่เปลี่ยนไป จากการใช้งาน converter (รูปจาก //www.steves-digicams.com/camera-reviews/samsung/digimax-v50/samsung-digimax-v50-review-7.html)

การใช้งาน converter ทั้งหลาย ควรจะให้เลนส์ชุดสุดท้ายของ converter ชิดกับ หน้าเลนส์ของกล้องมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปัญหาการเสียแสงและขอบเบลอ (ทำให้กล้องหลายๆ รุ่น ที่เลนส์ยืดมากเวลาซูม ไม่รองรับการใช้งาน adapter tube เพราะออกแบบท่อที่เหมาะสมไม่ได้) รวมถึงขนาดของเลนส์ชุดสุดท้ายของ converter ควรจะใหญ่กว่าเลนส์ชิ้นหน้าด้วย เพื่อไม่ให้เกิดอาการขอบมืด (vignette) ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีของ wide converter ได้ง่าย นอกจากนี้ wide converter และ teleconverter มักจะใช้งานได้ดีที่สุด ในช่วงเลนส์กว้างสุด และเทเลสุด ตามลำดับ เท่านั้น

จากประสบการณ์ส่วนตัว โดยทั่วไป (อาจมียกเว้นสำหรับ converter บางรุ่น/บางยี่ห้อ) converter ที่มีกำลังสูง เช่น ต่ำกว่า 0.7x สำหรับ wide converter และ มากกว่า 1.7x สำหรับ teleconverter ให้คุณภาพที่ไม่ดีนัก ทั้งมีอาการขอบเบลอ และคลาดสี (chromatic aberration) และคุณภาพของ converter ที่ไม่ใช่ยี่ห้อกล้องที่คุ้นหู มักจะมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ การใช้งาน converter มักจะทำให้ภาพมีความบิดเบือน (distortion) และเกิดอาการคลาดสีมากขึ้น

เกร็ด - หากต้องการหาซื้อ converter สำหรับกล้องทั่วไป โดยเฉพาะกับเลนส์มุมกว้างมาก เช่น เทียบเท่า 24-28mm หรือเทเลมาก เช่น 300-500mm ควรจะนำกล้องไปลองด้วย หรือหาตัวอย่างทางอินเตอร์เน็ตก่อน ว่ายอมรับกับคุณภาพได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้ว่าช่วงทั่วไป เช่น 35-105mm จะมีปัญหาน้อยกว่า ก็ควรหาข้อมูลด้านคุณภาพด้วยเช่นกัน





รูปที่ 6

โคลสอัพเลนส์หรือโคลสอัพฟิลเตอร์ (close-up lens / filter)

close-up filter ทำหน้าที่คล้ายเลนส์นูนสำหรับคนสายตายาว โดยหลักการแล้ว เมื่อสวมเข้าหน้าเลนส์ จะทำให้กล้องสายตาสั้น มองไกลๆ ได้ไม่ชัด และส่งผลให้ ระยะโฟกัสใกล้ที่สุดของชุดเลนส์บนกล้อง "ลดลง" ทำให้เอากล้องเข้าใกล้วัตถุเพื่อจะโฟกัสได้มากขึ้น (รูปจาก //www.raynox.co.jp/english/digital/g7/index.htm)

จะใกล้ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับกำลังขยายที่ระบุไว้ในสเป็คของชุดเลนส์ close-up filter set ทั่วไปที่ขายๆ กัน ก็จะเป็น +1 +2 +4 โดยหลักการแล้ว สามารถใส่ซ้อนทับกันได้ (ตัวที่กำลังสูงสุดควรอยู่ใกล้กล้อง) และจะให้กำลังขยายเพิ่มขึ้นโดยประมาณเท่ากับเอาตัวเลขมากบวกกัน

กำลังขยาย +1 +2 +4 นี้ หมายถึง ค่า diopter ของเลนส์ ซึ่งจะเป็นสัดส่วนผกผันกับ ทางยาวโฟกัสในหน่วย 1 เมตร โดยที่ diopter value = 1 metr (100 cm) / focal length (cm) ดังนั้นค่า diopter ไม่มีหน่วย

ผู้ใช้งาน close-up filter แรกๆ ส่วนใหญ่มักจะงง เพราะว่ากล้องโฟกัสไม่ได้ แต่เราสามารถคำนวณระยะโฟกัสจากหน้าเลนส์โดยประมาณในหน่วย cm ได้จาก 100/diopter เช่น หากใช้ +10 จะได้ระยะโฟกัสจากหน้าเลนส์ ราวๆ 100/10 = 10cm หรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับช่วงเลนส์ที่ใช้

โคลสอัพที่เป็นเบอร์ diopter ที่เห็นขายกันอยู่ทั่วไปนี่มันเป็นเลนส์เดี่ยวที่มีเพียงแค่ 1 element ต่างกับโคลสอัพเลนส์ที่มียี่ห้อและมีราคาแพง ที่มีลักษณะเป็น เลนส์อรงค์ (achromatic lens) เพื่อลดปัญหาการคลาดสี เช่น NIKON 6T ที่มี 2 element(s) เวลาถ่ายภาพออกมาแล้วเปรียบเทียบกันดู จะเห็นได้ชัดว่าพวกเลนส์เดี่ยว จะมีอัตราการบิดเบือนของภาพสูงกว่ามาก โดยเฉพาะบริเวณขอบภาพ และ เมื่อใช้ซ้อนกันหลายๆ ชั้น

เกร็ด - โดยหลักการการทำงานของโคลสอัพฟิลเตอร์ ทำให้กล้อง ultrazoom-superzoom ทั้งหลาย ได้อานิสงฆ์มากกว่ากล้องซูม 3x ทั่วไป หากใช้โคลสอัพฟิลเตอร์ที่มีกำลังขยายเท่ากัน ใครมีกล้องซูมได้ 10x ก็ลองหามาใช้ดูครับ แนะนำ




รูปที่ 7

อุปกรณ์เสริมอย่างอื่น ?

ไม่เชิงเรียกว่าเป็นอุปกรณ์เสริม แต่จะขอเรียกว่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการถ่ายภาพได้เกือบทุกประเภท เช่น ต่อเข้ากับกล้องจุลทรรศน์ (microscope) กล้องดูดาว (astroscope) หรือแม้แต่กล้องส่องนก (telescope) กล้องส่องทางไกลแบบสองตา (binocular) เพื่อถ่ายภาพซุปเปอร์เทเลที่เรียกว่า digiscope ได้ด้วย

เกร็ด - ตัวอย่างที่ยกมา กล้องที่มีหน้าเลนส์ขนาดเล็กจะเหมาะสมกว่า เพราะโอกาสเกิดขอบมืดจะน้อยกว่า เนื่องจากขนาดเลนส์ตา หรือ eye piece ของ scope มักจะมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับเลนส์ของกล้องดิจิทัล (รูปจาก //www.lensadapter.net/products/sony-w1-review.htm)





รูปที่ 8

สรุป - อุปกรณ์เสริมตามที่ให้ข้อมูลไว้ ทำให้กล้องมีความสามารถเพิ่มขึ้นตามคุณสมบัติ แต่หากจะซื้อมาใช้จริงๆ ควรจะต้องพิจารณาถึงราคาด้วย เพราะเลนส์เสริมทุกอย่าง คุณภาพตามราคาจริงๆ แต่ถ้าหากซื้อมาถ่ายสนุกๆ ก็โอเค ^^ เนื่องจากกล้อง compact และ dslr like สมัยใหม่ มีช่วงเลนส์ที่น่าคบหากกว่ากล้องยุค 3-5 ปีที่แล้วมาก บวก-ลบ-คูณ-หาร ให้ดีก่อนเสียเงินนะ

ขอให้ทุกท่านสนุกกับการถ่ายภาพครับ




Create Date : 25 มกราคม 2554
Last Update : 25 มกราคม 2554 11:29:50 น. 0 comments
Counter : 1746 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Akai Suisei
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Akai Suisei's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.