Group Blog
 
All blogs
 
287. พระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha) เมืองมัณฑเลย์ (Mandalay) ประเทศพม่า

พระมหามัยมุนี 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของประเทศพม่า
ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่แห่งเมืองธัญญวดี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐยะไข่ ทางด้านตะวันตกของพม่าติดกับบังคลาเทศ) โปรดฯให้สร้างพระมหามัยมุนี ซึ่งแปลว่า “มหาปราชญ์” ขึ้นในปี พ.ศ.689 หรือเกือบสองพันปีมาแล้ว เหตุเพราะพระพุทธเจ้าเสด็จมาเข้าพระสุบินประทานพรแก่พระเจ้าจันทสุริยะ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเพื่อเชิดชูพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง แต่เนื่องจากว่ามีขนาดใหญ่จึงต้องหล่อแยกเป็นชิ้นแล้วจึงนำมาประสานกันได้สนิทจนไม่เห็นรอยต่อเป็นที่น่าอัศจรรย์ เชื่อกันว่าเป็นด้วยพรของพระศาสดาประทานไว้

ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามุนีเลื่องลือไปไกล จึงเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่านับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม บุเรงนองมหาราชแห่งหงสาวดี และอลองพญามหาราชแห่งรัตนปุระอังวะ ล้วนเพียรพยายามยกทัพไปชะลอพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานเพื่อเป็นศิริมงคลแห่งดินแดนพม่าทุกยุคทุกสมัย แต่ต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความทุรกันดารของเส้นทางที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและภูเขาสูง
จนกระทั่งประสบความสำเร็จในสมัยพระเจ้าปดุง ก็สามารถนำเอาพระมหามุนีมาไว้ที่กรุงมัณฑะเลย์เมื่อปี พ.ศ.2327 ในปัจจุบันชาวพม่ายังเรียกพระมหามุนีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระยะไข่”

วัดมหามัยมุนี มีธรรมเนียมปฎิบัติเช่นเดียวกับปูชนียสถานทุกแห่งในพม่าคือไม่อนุญาตให้สุภาพสตรีเข้าใกล้องค์พระได้เท่าสุภาพบุรุษ ซึ่งสามารถขึ้นไปปิดทองที่องค์พระได้เลย โดยทางวัดกำหนดให้เขตสตรีกราบสักการะองค์พระได้ระยะใกล้สุดราว 10 เมตร แต่สามารถซื้อแผ่นทองฝากผู้ชายขึ้นไปปิดทองแทนได้

อย่างไรก็ตาม มีกิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้สตรีสามารถสัมผัสองค์พระได้ โดยผ่านแป้งตะนะคาที่ใช้ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี โดยทุกๆเช้า ทางวัดจึงจัดพื้นที่บริเวณลานด้านหน้าองค์พระ ให้พุทธศาสนิกชนทั้งชายและหญิงช่วยกันฝนท่อนไม้ตะนะคา เพื่อให้ได้แป้งหอมจากเปลือกไม้ แล้วเอามาใส่ผอบรวมกันไว้มากๆ สำหรับนำไปผสมน้ำประพรมพระพักตร์องค์พระในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

ด้วยเหตุแห่งความศรัทธาว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการล้างพระพักตร์ให้องค์พระทุกๆรุ่งสาง เหมือนดั่งคนที่ต้องล้างหน้าแปรงฟันทุกเช้า โดยมีพระทำหน้าที่ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีทุกวันตั้งแต่ราวตีสี่ครึ่ง โดยเริ่มจากประพรมพระพักตร์ด้วยน้ำผสมเครื่องหอมทำจากเปลือกไม้ “ตะนะคา” ซึ่งชาวบ้านนำมาบริจาคให้วัดทุกวัน จากนั้น ก็ใช้แปรงขนาดใหญ่ขัดสีบริเวณพระโอษฐ์ดั่งการแปรงฟันแล้วใช้ผ้าเปียกลูบไล้เครื่องหอมดั่งการฟอกสบู่จนทั่วทั้งพระพักตร์ จึงมาถึงขั้นตอนที่สำคัญที่สุด คือการใช้ผ้าขนหนูเช็ดพระพักตร์ให้แห้งและขัดสีให้เนื้อทองสัมฤทธิ์ที่พระพัตร์นั้นสุกปลั่งเป็นเงางามอยู่เสมอ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เหตุใดพระมหามัยมุนีจึงเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์อิ่มเอิบเป็นประกายวาววามอย่างที่สุดองค์

อาคารด้านหลังของมณฑปครอบองค์พระมหามัยมุนี มีห้องจัดแสดงศิลปวัตถุประเภทเครื่องสัมฤทธิ์ 6 ชิ้น ซึ่งนักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่าเป็นเครื่องสัมฤทธิ์ศิลปะเขมรแบบ “บายน” หล่อขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (อาณาจักรเขมรสมัยเมืองพระนคร)ประกอบด้วยรูปช้างเอราวัณ 1 ชิ้น รูปสิงห์ 3 ชิ้น รูปพระอิศวร 2 ชิ้น ซึ่งชาวพม่านิยมมาสักการะโดยใช้มือลูบคลำ ด้วยเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต บางคนลูบเฉพาะท้องของพระอิศวรเพื่อขอลูก บางคนลูบหัวสิงห์ด้วยเชื่อว่าจะได้รับพรให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม บางคนลูบเฉพาะจุดที่ตนเองเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น ปวดหัวเรื้อรังก็ลูบเศียรพระศิวะหรือเศียรช้างเอราวัณ

ประวัติศาสตร์เครื่องสัมฤทธิ์ชุดนี้ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงนำมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวยกทัพไปตีเมื่อ พ.ศ. 2112 หรือคราวเสียกรุงครั้งที่ 1 นำมาตั้งไว้ที่พระราชวังหงสาวดีเป็นเวลา 30 ปี ครั้นเมื่อยะไข่ตีกรุงหงสาวดีในสมัยพระเจ้าทันทบุเรงในปี พ.ศ. ก็นำเอาเครื่องสัมฤทธิ์ชุดนี้ไปไว้ที่วัดมหามัยมุนีที่เมืองยะไข่ นานถึง 180 ปี จนกระทั่งพระเจ้าปดุงยกทัพไปแย่งพระมหามัยมุนีมาจากชาวยะไข่ ก็ได้นำเอาเครื่องสัมฤทธิ์ชุดนี้พร้อมกับพระมหามัยมุนีมาไว้ที่ราชธานีอมรปุระ จากนั้นก็ย้ายพระราชวังมาที่เมืองมัณฑะเลย์

ศิลปวัตถุเครื่องสัมฤทธิ์ชุดนี้ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า เครื่องสัมฤทธิ์ชุดนี้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ได้มาจากเขมรเมื่อครั้งยกทัพไปตียโศธรปุระ(นครธม) พ.ศ. 1966 จึงเท่ากับมาตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา 146 ปีแล้วจึงไปอยู่ที่กรุงหงสาวดี

องค์จำลองของพระมหามัยมุนี
ความงามที่เป็นชื่อเลื่องลือของพระมหามัยมุนีทำให้มีพระพุทธรูปหล่อขึ้นโดยเลียนแบบปางมารวิชัยทรงเครื่องกษัตริย์องค์นี้มากมาย ในเมืองไทยคือพระเจ้าพาราละเข่ง ประดิษฐานที่วัดหัวเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามประวัติเล่าว่า เมื่อตอนหล่อพระพุทธรูปองค์นี้แยกหล่อเป็น 9 ส่วนแล้วนำลงเรืองล่องมาตามแม่น้ำสาละวินมาประกอบที่เมืองแม่ฮ่องสอน และ อีกองค์หนึ่งคือพระพุทธมหามัย ประดิษฐานที่วัดไทยวัฒนาราม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จำลองแบบมาจากพระมหามัยมุนีเมืองมัณฑะเลย์ โดยฝีมือช่างชาวไทใหญ่











Create Date : 08 ตุลาคม 2556
Last Update : 26 กรกฎาคม 2560 21:00:14 น. 0 comments
Counter : 959 Pageviews.

เหมียวสินธร
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




Friends' blogs
[Add เหมียวสินธร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.