ข้อกำหนดและเงื่อนไขการจ้างแปลงาน




หัวข้อนี้เขียนจากความเห็นในฐานะคนทำงานไม่ใช่ในฐานะนักกฎหมาย

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากเอเจนซี่ต่างประเทศว่ามีการควบกิจการโดยรวมเอเจนซี่อเมริกาและเอเจนซี่อังกฤษมาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน อันที่จริง ได้ข่าวมาหลายเดือนแล้ว และไม่ใช่เอเจนซี่แรกที่ทำอย่างนี้ สัก 2-3 ปีก่อนก็มีเอเจนซี่เจ้าอื่นที่ควบกิจการของรายอื่นมาแล้ว เท่าที่สังเกต รายที่ถูกควบกิจการ จะเป็นเอเจนซี่ที่ให้ค่าแรงดีมากทำงานเป็นระบบ และจ่ายเงินตรงเวลา ส่วนรายที่เข้ามาควบคือเอเจนซี่ที่ให้ค่าแรงแบบ local คือเอเจนซี่มีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศ แต่ให้ค่าแรงเท่าเรทไทย (เช่นคำละ 0.50 – 1.00 บาท) แน่นอนว่านักแปลอาจจะหวั่นๆ ว่าแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการทำงานอัตราค่าตอบแทน รวมทั้งข้อกำหนดและเงื่อนไขการจ้างแปลงาน

วันนี้จะพูดเรื่องข้อกำหนดและเงื่อนไขการจ้างแปลงาน คนที่แปลเอกสารสัญญาอยู่แล้วจะรู้ว่าเนื้อหาของสัญญาประเภทนี้มีอะไรบ้างคร่าวๆ คือ คู่สัญญาคือใคร ขอบเขตงาน อัตราค่าบริการ ระยะเวลาส่งงาน การรักษาความลับ การรับประกันผลงาน และความรับผิด  นักแปลที่รอบคอบจะอ่านสัญญาก่อนเซ็นเสมอ หากไม่เห็นด้วยตรงไหน ควรต่อรองกับลูกค้า (บังเอิญ ได้รับอีเมลจาก CIOL UK พอดีว่าเดือนกันยายนจะมีอบรมเรื่องการพิจารณาเงื่อนไขการจ้างแปลงาน  เสียดาย เราไม่ได้ไป แต่ว่าจะถามเขาว่ามี online session มั้ย อยากฟัง)

เพื่อนนักแปลลองพิจารณาเงื่อนไขดังต่อไปนี้ว่าหากลูกค้าระบุไว้ในสัญญา ตัวเองจะยอมรับมั้ย

- นักแปลรับรองว่ามีความสามารถในด้านการแปลเอกสารทุกประเภทรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงเอกสารที่มีเนื้อหาเฉพาะทาง เช่น เอกสารวิทยาศาสตร์ เอกสารทางการแพทย์

ข้อสังเกต – ATA Code of Conduct ระบุว่า นักแปลไม่ควรแจ้งว่าตัวเองมีความเชี่ยวชาญหลายด้านจนน่าสงสัย “For example, a translator or interpreter resume that lists 20 or more areas of specialization and 50 Fortune 500 clients raises red flags. Make sure those lists reflect true expertise and real client relationships, not just a one-off contract through an agency for an impressive end client. Also note that if you didn’t ask permission to use their name, clients may consider that listing as a breach of confidentiality.” ตรงกับที่เคยคุยกับเจ้าของเอเจนซี่แปลต่างชาติรายหนึ่งว่าเวลาเขาเห็นนักแปลส่งประวัติมาแล้วระบุ expertise เกิน 5แนว นี่จะเริ่มไม่น่าเชื่อถือแล้ว

- นักแปลรับรองว่าเมื่อได้รับการว่าจ้างแล้วจะไม่จ้างช่วงผู้อื่นให้ทำงานแทนตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้าง

ข้อสังเกต – นักแปลไม่ควรจ้างช่วงอยู่แล้วเพราะผู้ว่าจ้างจ้างนักแปลเนื่องจากคุณสมบัติของนักแปล

- นักแปลรับรองว่าจะทำลายเอกสาร ไฟล์ หรือสื่อใดๆทั้งหมดที่ได้รับจากผู้ว่าจ้างทันทีที่ได้รับการร้องขอ หรือเมื่อพ้นระยะเวลา 15วันหลังจากได้รับชำระเงินค่าบริการ

ข้อสังเกต – เงื่อนไขนี้พบได้ในกรณีที่เอเจนซี่รับงานเฉพาะทางที่มีข้อมูลสำคัญมากๆ ข้อเสียก็มีคือ ถ้าต่อไปผู้ว่าจ้างแย้งเรื่องผลงานแปล นักแปลจะไม่เหลือเอกสารในมือไว้ให้ดูเพื่อโต้แย้ง

- นักแปลจะไม่ติดต่อหรือพยายามจูงใจให้ลูกค้าของผู้ว่าจ้างเลือกใช้บริการจากนักแปลโดยตรง

ข้อสังเกต – ข้อนี้เข้าใจได้ มันเป็นเรื่องมารยาทในการทำงานด้วย ถ้านักแปลบังเอิญรู้ชื่อลูกค้าเพราะปรากฏอยู่ในเอกสารที่แปล แล้วลูกค้าเจ้านั้นเป็นลูกค้าของนักแปลอยู่แล้ว ก็ต้องแจ้งเอเจนซี่ว่ามี work relationship กันมาก่อน ถ้าต่อไปลูกค้ามาจ้างนักแปลจะถือว่านักแปลทำผิดเงื่อนไขข้อนี้ไม่ได้

- นักแปลจะได้รับชำระค่าบริการก็ต่อเมื่อลูกค้าของผู้ว่าจ้างได้ชำระเงินสำหรับงานนั้นๆให้ผู้ว่าจ้างครบถ้วนแล้ว

ข้อสังเกต – เราก็เพิ่งโดนเอเจนซี่บ่นใส่เรา ว่าที่เขาจ่ายช้าไป 3เดือน เพราะลูกค้า (หน่วยงานราชการของต่างประเทศ) ของเขาก็ค้างจ่ายเงินเหมือนกัน เราตอบไปว่า เงื่อนไขการจ้างงานระหว่างเอเจนซี่กับลูกค้าไม่เกี่ยวกับอะไรกับเรา ระหว่างเรากับเอเจนซี่นั้นตกลงกันไว้อย่างนี้ก็ต้องชำระเงินตามนี้

- นักแปลจะปกป้องผู้ว่าจ้างจากความสูญเสียหรือต้นทุนใดๆ รวมถึงค่าทนายความ หรือความรับผิดสำหรับความเสียหายทางตรง ทางอ้อม หรือสืบเนื่องและไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสัญญา การละเมิด (รวมถึงการประมาทเลินเล่อ) ความรับผิดตามหลักยุติธรรม ที่เกิดจากการเรียกร้องหรือการดำเนินการเนื่องจากการที่นักแปลทำผิดเงื่อนไขในสัญญานี้

ข้อสังเกต - เราเชื่อว่านักแปลหลายคนไม่สนใจ แล้วก็คลิก accept เงื่อนไขไปโดยไม่ได้สะกิดใจว่าเงื่อนไขนี้ไม่มีการจำกัดความรับผิด ยกตัวอย่างง่ายๆ นักแปลแปลคู่มือการใช้งานเครื่องจักร  ปรากฏว่าแปลผิดไปนึดนึง ทำให้ผู้ใช้งานประกอบชิ้นส่วนผิด เครื่องจักรทำงานพลาด  สายการผลิตต้องอยู่หยุดเป็นวันๆ ความเสียหลายหลักแสนหลักล้านบาทเพราะไม่สามารถผลิตสินค้าส่งผู้ซื้อได้   โดนผู้ซื้อปรับอีกต่างหากเพราะผู้ซื้อขาดวัตถุดิบไปผลิตส่งป้อน end-user ความเสียหายกี่ทอดที่จะโยนมาที่นักแปลเนื่องจากเงื่อนไขข้อนี้

มันมีทางออก คือนักแปลซื้อประกัน professional indemnity แต่ประกันประเภทนี้ไม่มีขายในประเทศไทยสำหรับอาชีพนักแปล  ถ้าจะซื้อต้องซื้อจากบริษัทประกันต่างประเทศ  ที่เราเคยถามคือผู้เอาประกันต้องเป็นนิติบุคคลและคุ้มครองเฉพาะงานที่ทำในประเทศที่ผู้เอาประกันจดทะเบียนกิจการ  ประกันวิชาชีพในออสเตรเลียก็ระบุว่าคุ้มครองเฉพาะงานที่ทำในออสเตรเลีย กรณีฟรีแลนซ์ที่รับงานทั่วโลก ลำบากเลย

- นักแปลยอมผูกพันตนและอยู่ภายใต้บังคับของศาลเยอรมนี

ข้อสังเกต - ถ้ามีคดีความจริง นักแปลจะมีปัญญาจ้างทนายความในประเทศเยอรมนีเพื่อสู้คดีมั้ย  แต่ในความเป็นจริง จะมีเอเจนซี่กี่เจ้าที่ลงทุนฟ้องนักแปล  เอเจนซี่เขาก็มีประกันของเขา อาจจะให้ประกันจ่ายเงินให้ลูกค้า แล้วเอเจนซี่ก็มาไล่เบี้ยกับนักแปล เขาจะลงทุนหรือเปล่าเพราะก็ต้องทำเรื่องข้ามประเทศกันอีก

- นักแปลรับรองว่าจะไม่ใช้ซอฟท์แวร์หรือโปรแกรมช่วยแปลในการทำงานตามสัญญานี้

ข้อสังเกต – เอเจนซี่จำนวนไม่น้อยนิยมใช้ CAT Tools เพราะงานเสร็จไว้และมีต้นทุนต่ำกว่า (เนื่องจากประหยัดเวลาได้เยอะ) ข้อเสียที่เราเคยเจอคือ เครื่องมือมันเหมือนหุ่นยนต์โปรแกรมคำศัพท์ไว้ยังไง มันจะถอดออกมาอย่างนั้น ต้องใช้คนอ่านทวนแล้วแก้ให้ตรงกับต้นฉบับ แล้วความที่ปริมาณคำมันเยอะ แน่นอนว่านักแปลที่ตรวจงานที่ออกมาจากโปรแกรมก็ตาลาย หลุดมาเป็นคำๆ ต้องใช้นักแปลที่สองตรวจซ้ำอีกรอบซึ่งอาจต้องมีการเข้าไปแก้คำแปลคำศัพท์ใน memory ด้วย

ถามต่อ เวลาเจอเงื่อนไขที่นักแปลไม่ชอบอย่างนี้ควรจะเซ็นสัญญาดีมั้ย

ก็แล้วแต่นักแปลเลย ว่าอยากเสี่ยงแค่ไหน หรือน่าเสี่ยงแค่ไหน สมมติเอเจนซี่ให้ตรวจงานแปล 500 คำโดยให้ค่าบริการตรวจคำแปล $15 นักแปลว่าคุ้มมั้ย ลองคำนวณ ถ้างานแปลแปลใช้ได้ตรวจแป๊บเดียวก็เสร็จ 15-20 นาที x ชั่วโมงละ1,000 บาท = 300 บาท แต่ถ้างานแปลมาแบบเลวร้ายมากงานตรวจแก้แทบจะกลายเป็นแปลใหม่ ก็ต้องคิดเหมือนแปลใหม่ ถ้าคำละ 2 บาท งานนี้อย่างน้อยก็ต้องคิด 1,000 บาท แล้วนักแปลจะรับแค่ $15เหรอ

เราเชื่อว่านักแปลจำนวนมากยอมรับเงื่อนไขลูกค้าเพราะมองว่าโอกาสที่จะถูกเรียกค่าเสียหายมันน้อยมากแต่ช่วงปีที่ผ่านมา เราต่อรองเงื่อนไขกับลูกค้าหลายรายซึ่งก็ยอมแก้เงื่อนไขว่าจ้างตามที่เราขอ   ส่วนรายที่ไม่ยอม เราก็ตัดทิ้ง ถ้าเอเจนซี่เห็นคุณค่าของนักแปลเขาก็คุยรู้เรื่อง แต่ถ้าตัวเลือกเขาเยอะ เขาไปหานักแปลคนอื่นก็ได้ 

ทำนองเดียวกันการเสนอค่าบริการถ้าเสนอราคาแล้วลูกค้าบอกว่าแพง ก็ให้ลูกค้าหานักแปลท่านอื่นเลย ไม่เคยบังคับ แต่ถ้าลูกค้าวนกลับมาหานักแปลเพื่อใช้บริการในราคาที่เสนอไปตอนแรก แสดงว่าลูกค้าหานักแปลท่านอื่นไม่ได้ในเวลานั้นหรือหาได้แต่คนอื่นขาดคุณสมบัติ (ใครต้องการใครมากกว่ากัน) ลูกค้าที่งบน้อยจริงๆ เราเข้าใจถ้าเป็นลูกค้าประจำ หยวนให้ได้ ลูกค้าประเภทเอาราคาเจ้าอื่นมาต่อราคาเรา แหม่ คุยกันเราก็รู้อยู่ เราไม่เสียเวลาคุยนาน เอาเวลาไปบริการลูกค้าประจำที่จ่ายเงินตรงเวลาดีกว่า





Create Date : 07 กรกฎาคม 2560
Last Update : 7 กรกฎาคม 2560 9:18:54 น.
Counter : 1661 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
กรกฏาคม 2560

 
 
 
 
 
 
1
2
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog