W H I T E A M U L E T
Group Blog
 
All blogs
 
:: ความรู้รอบตัว :: โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับ ระเบิดนิวเคลียร์ เหมือนกันหรือต่างกันแค่ไหน ???


เนื่องจากช่วงนี้เรียนจบแล้วระหว่างเก็บข้าวเก็บของเก็บห้องเตรียมกลับบ้านก็พอมีเวลาให้เกิดความอยากรู้อยากเห็นสงสัยแล้วไปค้นหาข้อมูลมาดับความสงสัยหน่อยค่ะ ประกอบกับที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 6 และ 9 สค ที่ผ่านมาก็มีถ่ายทอดพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์กันด้วย

อ่านมาหลายข่าวหลายแหล่งก็สะท้อนและหดหู่ใจไม่แพ้กัน แต่ที่น่าสงสารที่สุดคือ ข่าวนี้ ที่พูดถึงคุณลุงชาวญี่ปุ่นท่านนึงปัจจุบันอายุ 85 ปี เมื่อ 66 ปีก่อนคุณลุงเค้าเป็นทหารอยู่ที่ฮิโรชิม่าที่โดนระเบิด หลังสงครามจบก็กลับบ้านเกิดที่ Minami-soma ใน Fukushima ตั้งรกรากประกอบอาชีพเลี้ยงวัว(เนื้อ)อยู่ที่ฟุคุชิมะแทน

ผ่านมา 66 ปีเคราะห์ซ้ำกรรมซัดต้องมาเจอเหตุการณ์โรงไฟฟ้านี้เข้าอีกบ้านคุณลุงอยู่ในรัศมี 30 km จากโรงไฟฟ้า (ในรัศมีนี้คือ ไม่แนะนำให้ออกมาเดินร่อนนอกบ้านค่ะ) หลังจากเรื่องโรงไฟฟ้าผ่านมาสักพักจนดูเรื่องทรงตัวคุณลุงก็เริ่มเลี้ยงวัวอีกครั้ง แล้วก็มาเจอเหตุการณ์ตรวจพบรังสีในเนื้อวัวเมื่อเดือน กค (วัวไปกินหญ้าแห้งปนรังสี ที่ซื้อมาจากเกษตรกรที่ผลิตหญ้าแห้งพวกนี้)ทำให้เนื้อวัวจากจังหวัดฟุคุชิมะโดนสั่งแบนไปอีกค่ะ

สำหรับเหตุการณ์วัวกินหญ้าปนรังสีนี้จะว่ายาวก็ยาวค่ะ เอาคร่าวๆที่เราเคยตอบไว้ใน กระทู้นี้ ก็ตามใน(หลายๆ)ภาพล่างนะคะ(คลิกดูภาพใหญ่ได้) แบบว่าตอนนี้ยังขี้เกียจพิมพ์สรุปเรื่องนี้ค่ะ



อีกอัน




ก็ด้วยเหตุการณ์โรงไฟฟ้าฟุคุชิมะนี่ล่ะค่ะที่ทำให้ช่วงนี้สนใจเกี่ยวกับเรื่องของนิวเคลียร์ จริงๆตั้งแต่สมัยเรียนม.ปลายก็สนใจอยู่แล้วแต่ไม่ได้สานต่อ มาตอนนี้พอมีเวลาก็เกิดคำถามในใจมากมาย อย่างกรณีโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล เห็นใน ข่าว ว่าต้องไปใช้เวลากันกว่า 20,000 ปีกว่าบริเวณโรงไฟฟ้าที่เกิดเหตุนั้นจะกลับมาอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยเหมือนเดิม ...

อ้าว ถ้างั้นทำไมเหตุระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ เพิ่งผ่านมาประมาณ 66 ปี (เหตุเกิดเมื่อ สค 1945) ทำไมปัจจุบันทั้งสองเมืองนั้นกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของทางแถบคิวชูไปแล้ว? ทั้งไทยทั้งเทศก็ไปเที่ยว ไปชมพิพิธภัณฑ์รำลึกเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์เอามารีวิวกันใหญ่

จากความสงสัยนี้ก็มาสู่คำถามสั้นๆ(แต่คำตอบแสนจะยาว)ที่ว่า "อันตรายและผลกระทบที่เกิดจากระเบิดนิวเคลียร์ แตกต่างกับ ที่เกิดจากอุบัติเหตุเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไง ?" เพื่อแยกประเด็นให้ชัดเจนขอแยกการอธิบายเป็นหัวข้อต่างๆดังนี้นะคะ ใครรู้เรื่องไหนอยู่แล้วก็ข้ามๆไปได้

1. ทำความรู้จักกับ Nuclear chain reaction หรือ ปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ แบบง่ายๆ
2. โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ กรณีเลวร้ายแบบสุดๆ?
3. โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดตู้ม ... เรื่องนี้มีมูลหรือแค่กังวลกันไปเอง?
4. ทำไมฮิโรชิม่าและนางาซากิที่โดนบอมบ์ สามารถกลับมาฟื้นฟูมีคนอยู่อาศัยปกติได้ในเวลาแค่ไม่กี่สิบปี?
5. เปรียบเทียบอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับ อุบัติเหตุระเบิดนิวเคลียร์ ... อันไหนส่งผลร้ายแรงมากกว่ากัน?
6. รายชื่อข้อมูลอ้างอิง

ก่อนจะเริ่มบรรเลง ต้องบอกเพิ่มเติมว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษย์เรานั้นเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์ หรือ Nuclear bomb หรือ Atomic bomb นั้นมีแค่ 2 เหตุการณ์ที่เกิดที่ญี่ปุ่นเท่านั้นค่ะ เหตุการณ์แรก 6 AUG 1945 ระเบิด Little boy ลงที่ Hiroshima และ เหตุการณ์สอง 9 AUG 1945 ระเบิด Fat man ลงที่ Nagasaki ... นอกจากสองเหตุการณ์นี้แล้วก็ยังไม่มีเหตุการณ์อื่นให้ใช้เป็นกรณีศึกษาของระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกนำมาใช้จริงๆ(ไม่ใช่ในการทดลองอาวุธ)ได้ค่ะ

บล็อคนี้ตัวหนังสือเป็นหลักแล้วก็ออกจะปนวิชาการและความรู้หนักๆมากสักหน่อย เป็นการสรุปข้อมูลตามความเข้าใจของเราจากหลายๆแหล่งที่อ่านมาค่ะ(เผื่อไว้ตัวเองกลับมาอ่านทีหลังด้วย จะได้ไม่ต้องไปไล่อ่านหลายๆที่อีก) ถ้ามีตรงไหนข้อมูลผิดไปหรือใครมีข้อมูลอยากเสริมก็บอกได้นะคะ แต่อยากขอแหล่งข้อมูลอ้างอิงนั้นๆประกอบด้วยค่ะ



1. ทำความรู้จักกับ Nuclear chain reaction หรือ ปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ แบบง่ายๆ

ถ้าจะเอาง่ายที่สุดก็ต้องอ้างอิงดรากอนบอลเลยค่ะ ไอ้ที่ทำ fusion รวมร่างกันแล้วกลายเป็นสุดยอดซุปเปอร์ไซย่า(นับไม่ถูกแล้วค่ะว่าซุปเปอร์ไซย่าเค้ามีกี่ระดับขั้นกันแน่)นั่นล่ะค่ะ คำว่า fusion ที่ใช้พูดๆกันในการ์ตูนจริงๆแล้วก็คือชื่อของปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์แบบหนึ่ง

Credit ภาพจาก //eng.hebus.com/image-116110.html

โดยย่อๆปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์นั้นมีสองแบบใหญ่ๆ fission และ fusion หลักการเกิดปฏิกิริยาจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ... fission คือ การทำให้อะตอมใหญ่ แตกเป็นเล็กๆและปล่อยพลังงานออกมา ... fusion คือ การรวมอะตอมเล็กๆให้เป็นอะตอมใหญ่ขึ้นและได้พลังงานออกมาเช่นกัน ... จากความรู้สมัยมัธยมปลายของเรานะคะ การ fusion จะได้พลังงานจากปฏิกิริยามากกว่า fission แต่ fusion เป็นปฏิกิริยาที่มนุษย์ยังไม่สามารถสร้างหรือควบคุมได้ ดังนั้นการ fusion ปัจจุบันก็พบเกิดได้แต่ที่พื้นผิวของดวงอาทิตย์ค่ะ (ไม่งั้นคงต้องไปถามหงอคงดูว่าเค้าไปเจอคนสอนวิชา fusion นี้ที่ดาวดวงไหน )

Credit ภาพจาก //love123abc.wordpress.com/2011/03/06/nuclear-energy/

กลับมาที่เรื่องของเรากันก่อน นอกจากชื่อจะมีคำว่า "นิวเคลียร์" เหมือนกันแล้ว อีกสิ่งที่เหมือนกันระหว่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์ก็คือ มันอาศัยปฏิกิริยา fission ค่ะ หลักการคร่าวๆของ Fission nuclear chain reaction ก็คือ การยิงนิวตรอนไปทำให้อะตอมใหญ่ของสารกัมมันตภาพเกิดการแตกตัวเป็นอะตอมกัมมันตภาพรังสีที่ขนาดเล็กลง ผลที่ได้นอกจากอะตอมกัมมันตภาพที่ขนาดเล็กลงแล้ว เราก็ยังได้พลังงานความร้อนและนิวตรอนอิสระเพิ่มออกมาเป็นของแถมด้วยค่ะ แล้วก็เจ้านิวตรอนอิสระที่ถูกปล่อยเพิ่มออกมานี่เองค่ะที่จะวิ่งไปชนอะตอมกัมมันตภาพรังสีอื่นๆต่อ ทำให้เกิดการแตกตัวต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่แบบ non-stop (สำหรับในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมี control rod ใช้ช่วยดูดซับนิวตรอนที่วิ่งพล่านนั่น เพื่อหยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ได้ค่ะ)

Credit ภาพจาก //hiroshimabomb.free.fr/bombe_a.html

ในเรื่องระเบิดนิวเคลียร์เราเองก็ไม่ค่อยรู้เรื่องละเอียดกว่านี้นัก แต่สำหรับในโรงงานผลิตไฟฟ้าเค้าจะเอาความร้อนสูงที่ได้จากปฏิกิริยาลูกโซ่นี้มาทำให้น้ำเกิดการระเหยเป็นไอจำนวนมหาศาล แล้วไอน้ำพวกนี้ล่ะค่ะที่เป็นตัวไปปั่นให้เกิดไฟฟ้าให้เราใช้กัน ... ลองจินตนาการว่าเราถือกังหันลมเล็กๆอันนึงไว้เหนือหม้อน้ำที่น้ำกำลังเดือดพล่านดูค่ะ ยิ่งน้ำเดือดแรงไอน้ำยิ่งพุ่งแรงจนเพียงพอจะทำให้กังหันอันเล็กๆของเราหมุนติ้วได้ แล้วพอกังหันหมุนได้มันก็ผลิตไฟได้เหมือนที่เราใช้พลังลมหมุนกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้านั่นเอง ... แต่ในระบบไฟฟ้านิวเคลียร์ความร้อนที่เกิดมันมหาศาลมากกว่ากาต้มน้ำมาก แถมยังถูกควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ไอน้ำที่เกิด และ ความดันของไอน้ำก็เลยยิ่งมากขึ้นจนเพียงพอจะหมุนให้เกิดพลังงานไฟฟ้ามหาศาลขนาดใช้อุปโภคกันได้ทั่วทั้งภูมิภาคอย่างที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ล่ะค่ะ

Credit ภาพจาก //en.wikiversity.org/wiki/File:PressurizedWaterReactor.gif

ข้อดีของพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์คือ สามารถผลิตไฟฟ้าได้สม่ำเสมอกว่าพลังลมหรือพลังน้ำ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ามากโดยเฉพาะถ้าเทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์ค่ะ กราฟทางขวามือในภาพด้านล่างเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีต่างๆต่อหนึ่งหน่วยการผลิตค่ะ คำแปลอยู่ใต้ภาพนะคะ สำหรับการถกเรื่องอื่นๆของพลังงานทางเลือกชนิดนี้เคยพูดไปแล้วใน บล็อคนี้ ค่ะ

太陽光 Taiyo-hikari พลังงานแสงอาทิตย์ 49 yen
風力 Fu-ryoku พลังลม 10-14 yen
水力 Sui-ryoku พลังน้ำ 8-13 yen
火力 Ka-ryoku พลังความร้อน 7-8 yen
原子力 Genshi-ryoku พลังนิวเคลียร์ 5-6 yen
ปล. พลังความร้อนที่ว่าน่าจะหมายถึง การเผาไหม้ด้วยเชื้อเพลิงอย่างถ่านหิน น้ำมัน หรือ ก๊าซธรรมชาติ(มั้ง)นะคะ



2. โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ กรณีเลวร้ายแบบสุดๆ?

สำหรับหัวข้อนี้ขอทิ้งเรื่องระเบิดนิวเคลียร์ไปก่อนค่ะ แล้วมาดูกันว่าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้นอะไรคือ อุบัติเหตุที่ร้ายแรงสุดๆเท่าที่สามารถจะเกิดได้แล้ว

เหตุร้ายสุดๆที่เกิดได้กับแกนปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้าคือสิ่งที่เรียกว่า meltdown ซึ่งก็แปลตรงตัวคือ แกนเชื้อเพลิงหลอมละลายกลายเป็นของเหลวนั่นเอง โดยในตอนแรกตัวแกนเชื้อเพลิงก็จะหลอมก่อน และถ้าหากความร้อนสะสมยังมีต่อไปไม่ถูกลดลงโดยระบบ cooling systems คราวนี้แม้แต่ตัววัสดุที่ห่อหุ้มอยู่ด้านนอกของแกนเชื้อเพลิงก็จะหลอมละลายตามไปด้วย

ในกรณีที่การหลอมละลายเกิดมากๆเข้า ตัวแกนเชื้อเพลิงที่หลอมละลายก็จะไหลทะลุผ่านวัสดุห่อหุ้มที่ก็ร้อนจนหลอมละลายไปเช่นกัน พอไหลกันไม่มีตัวกั้นอย่างนี้เจ้าแกนเชื้อเพลิงหลอมเหลวนั้นก็สามารถซึมลึกลงไปได้ถึงประมาณ 50 feet ข้างใต้โรงไฟฟ้า ผลของการหลอมและซึมลงใต้ดินนี้ก็คือ ตัวเชื้อเพลิงที่หลอมละลายจะไปทำปฏิกิริยากับสายน้ำใต้ดิน(ที่ไม่รู้ไหลไปถึงไหนบ้าง) ทำให้เกิดการปนเปื้อนของรังสีส่งผลต่อเมืองใกล้เคืองและประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นค่ะ (ไม่แน่ใจว่าที่ฟุคุชิมะมีท่อแตกรั่วเหมือนในภาพการ์ตูนด้านล่างหรือเปล่านะคะ แต่ที่ meltdown แล้วทะลุลงดินน่าจะเหมือน)

Credit ภาพจาก //www.stop-hamaoka.com/ehon/four.html

ปฏิกิริยาการเกิด meltdown นี้แม้ว่า nuclear chain reaction (ที่นิวตรอนวิ่งไปชนอะตอมกัมมันตภาพแตกตัวเป็นลูกโซ่) จะถูกหยุดไปแล้ว แต่ตราบใดที่ตัวแท่งปฏิกรณ์ยังมีความร้อนเหลืออยู่และไม่มีระบบการ cool down มาช่วยมันก็ยังเกิดการหลอมเหลวได้อยู่ค่ะ ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่เกิดในเคสฟุคุชิมะ เพราะทันที่ที่ตรวจจับแผ่นดินไหวได้ระบบก็ถูก shutdown ทำให้ nuclear reaction หยุดลง สิ่งที่เหลืออยู่คือความร้อนเพียงแค่ 7% (เทียบกับตอนเดินเครื่อง) ซึ่งเป็นเศษความร้อนที่หลงเหลือจากปฏิกิริยา fission ที่เพิ่งหยุดไป แต่แค่ 7% ที่ว่านี้ก็เพียงพอจะทำให้เกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์จนเป็นปัญหาอย่างในปัจจุบันแล้วค่ะ (ขนาดว่าตอนเกิดเรื่องแถบนั้นยังอากาศหนาวอยู่เลยนะคะเนี่ย)

ตามหลักของการแผ่รังสีแล้ว ยิ่งอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดรังสีมาก รังสีที่เจือปนก็จะยิ่งเข้มข้นและจะค่อยๆจางออกไปตามระยะทางและเวลาที่ผ่านไป ดังนั้้นเมื่อตอนที่เกิดเหตุเลยต้องมีการประกาศด่วนอพยพผู้คนออกจากรัศมีโรงไฟฟ้าทันทีค่ะ ภาพล่างนี้ตัวอย่างที่เค้าคาดการณ์กันว่าจะกระจายเมื่อวันที่ 12 มีค 2011 ที่ผ่านมาค่ะ จะเห็นว่ายิ่งไกลยิ่งจางลง ... ปัจจุบันทั้งสถานการณ์และทิศทางลมอะไรเปลี่ยนไปแล้ว คงไม่เหมือนในภาพนี้แล้วนะคะ

Credit ภาพจาก //www.naturodoc.com/blog/wp-content/uploads/2011/03/fallout1.jpg

ในกรณีเลวร้ายสุดๆที่แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายหมดเกลี้ยงหรือ complete meltdown (ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าคอนเฟิร์มว่าเกิดขึ้นแล้วที่ฟุคุชิมะหรือยังนะคะ แต่เรื่องว่าเกิดการ meltdown ไปบ้างแล้วที่ฟุคุชิมะนี่ออกข่าวชัวร์แล้วค่ะ) พื้นที่ในวงรัศมีหลายสิบกิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าต้นเรื่องก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถอยู่อาศัยหรือเพาะปลูกใดๆได้เลย เพราะรังสีปริมาณสูงเจือปนมาในพื้นดิน ในฝน และในน้ำอีกค่ะ แถมถ้ามัน complete meltdown จริงปริมาณรังสีใกล้จุดศูนย์กลางก็จะสูงขึ้นมากจนคนไม่สามารถเข้าไปซ่อมแซมอะไรได้ ต้องปล่อยทิ้งร้างรอเวลาไปเหมือนโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั่นล่ะค่ะ



3. โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดตู้ม ... เรื่องนี้มีมูลหรือแค่กังวลกันไปเอง?

จากข้อมูลอ้างอิงที่หามา เป็นไปไม่ได้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะระเบิดในลักษณะ Nuclear explosion เหมือนกับ Nuclear bomb ค่ะ การจะเกิด nuclear chain reaction ที่รุนแรงแบบควบคุมไม่ได้เหมือนในระเบิดนิวเคลียร์นั้นตัวเชื้อเพลิงปฏิกรณ์ที่ใช้จะต้องมีการใช้สารกัมมันตรังสีพวกยูเรเนี่ยมหรือพลูโตเนียมมาเสริมสมรรถนะของสารตั้งต้นกว่า 90% ซึ่งเอาแค่ตรงนี้ก็ไม่ผ่านแล้วค่ะ เพราะในเชื้อเพลิงปฏิกรณ์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นไม่ได้ต้องการสารกัมมันตรังสีพวกนี้มากขนาดนั้น

แต่ถ้าใครจำได้ บล็อคเก่าๆเราก็เคยหาข้อมูลมาว่าสมัยโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลสาเหตุที่มันรุนแรงมากก็เพราะ แกนปฏิกรณ์ที่บรรจุเชื้อเพลิงกัมมันตรังสีระเบิดโดยตรง อันนี้เราเองก็เพิ่งไปค้นมาถึงได้เจอในรายละเอียดนะคะว่าไอ้คำว่า "แกนปฏิกรณ์ระเบิด" ที่เชอร์โนบิลมันต่างกับ "การระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์" ยังไง

Credit ภาพจาก //justelectromusic.blogspot.com/2011/01/bucketheads-bomb-hausjacker-remix.html และ //www.tech-faq.com/logic-bomb.html

ถ้าเอาคอนเซปต์แบบสั้นๆก่อน

การระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์เกิดเพราะ nuclear chain reaction ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมได้ ที่พอจะควบคุมได้ก็คงแค่ตอนสร้างระเบิดค่ะ ว่าจะให้ระเบิดนิวเคลียร์แต่ละลูกมีความรุนแรงแค่ไหน แต่ถ้าเลยไปถึงตอนที่มันระเบิดแล้ว ปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ที่เกิดตอนระเบิดเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมแล้ว สมมติว่าระเบิดระเบิดตู้มกลางอากาศจะให้เอา control rod ไปหย่อนลดปฏิกิริยาเหมือนที่ทำในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทุกอย่างเป็นระบบปิดก็คงไม่ได้น่ะนะคะ

ส่วนการระเบิดของแท่งแกรไฟต์(ที่เป็นสารกัมมันตรังสี)ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้น เกิดจากแท่งแกรไฟต์ที่ meltdown ไปก่อนตามหลัก worst case ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่พูดไปแล้ว แต่คราวนี้ตอนเชอร์โนบิลมันมีปัจจัยอื่นๆมาประกอบ ทำให้วัสดุที่บรรจุแกรไฟต์ที่ว่าเกิดการระเบิดด้วย ตัวแกรไฟต์หลอมเหลวแทนที่จะซึมลึกลงไปใต้ดินอย่างเคสแย่สุดๆของการ meltdown ปกติ คราวนี้ก็กลายเป็นว่าโดนแรงดันระเบิดพาให้พุ่งกระจายออกไปถึงไหนต่อไหนเลยค่ะ ... ดังนั้นสรุปว่าการระเบิดที่เชอร์โนบิลไม่ใช่การระเบิดจาก nuclear chain reaction ไม่เหมือนกับการระเบิดของระเบิดนิวเคลียร์เลยนะคะ

ลงรายละเอียดอีกนิดถึงสาเหตการระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนะคะ หลักๆเห็นว่าเกิดจากความผิดพลาดในระบบของโรงไฟฟ้าเองทำให้เกิดความดันสูงเกินกำหนด จนทำให้วัสดุที่บรรจุแท่งแกรไฟต์(ที่ meltdown ไปแล้วด้วย)เกิดการระเบิด แล้วแกรไฟต์หลอมเหลวพุ่งกระจายออกไป ... นอกจากเรื่องนี้แล้วสมัยเชอร์โนบิลยังมีปัจจัยอื่นๆเช่น การระเบิดของก๊าซไฮโดรเจน และ การแตกร้าวของโครงสร้าง อีกทั้งสมัยเชอร์โนบิลนั้นไม่มีการสร้าง containment structure (โดมที่ทำจากเหล็กหรือคอนกรีตที่สร้างครอบตัวเตาปฏิกรณ์ไว้เพื่อจำกัดให้รังสีอยู่แต่ในโรงงานในกรณีเกิดอุบัติเหตุอย่างนี้ขึ้น) ดังนั้นแท่งแกรไฟต์หลอมละลายที่โดนแรงระเบิดจากความดันที่สูงเกินไป ก็พุ่งกระจายออกมาสู่โลกกว้างได้ตรงๆนั่นเองค่ะ

ตรงจุดนี้ถ้าเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่ฟุคุชิมะแล้ว ทางฟุคุชิมะจะเป็นการ meltdown ในระบบปิดมากกว่าเมื่อเทียบกับเชอร์โนบิลค่ะ เหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลแม้สาเหตแรกๆจะมาจากการ meltdown เหมือนกับที่ฟุคุชิมะ แต่พอบวกเข้ากับการระเบิดจากแรงดันไอน้ำและไฮโดรเจน แถมด้วยเพลิงไหม้ที่เกิดเนื่องจากแกรไฟต์ซึ่งเป็นตัวหน่วงนิวตรอนลุกไหม้ติดไฟ ... ทั้งแรงระเบิดและควันไฟที่เกิดนั่นล่ะค่ะตัวการที่ทำให้สารกัมมันตรังสีถูกพัดพาไปไหนต่อไหน ทำให้เกิดการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง

เทียบกับแล้วที่ฟุคุชิมะจะมีแต่การ meltdown เกือบล้วนๆดังนี้ค่ะ

ที่ฟุคุชิมะ มีการสร้างโดมคลุมอาคารเพื่อจำกัดการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีในกรณีอุบัติเหตุอย่างนี้ไว้แล้ว แต่เนื่องจากแรงระเบิดจากก๊าซไฮโดรเจนที่โดนปล่อยออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงวันแรกๆที่เกิดเรื่อง ก็พลอยทำให้ตัวอาคารเสียหาย ดูแล้วตัวอาคารเปิดโล่งโจ้งพอควรเลยค่ะจากภาพข่าว แต่ไม่แน่ใจว่ายังมีชั้นที่คลุมเตาปฏิกรณ์ข้างในอีกชั้นหรือเปล่านะคะ

การระเบิดที่ฟุคุชิมะ คือ ก๊าซไฮโดรเจนทำให้ตัวอาคารระเบิด ไม่ใช่วัสดุที่บรรจุแกนปฏิกรณ์ระเบิดเหมือนตอนเชอร์โนบิล และ ไม่ใช่การระเบิดเพราะ nuclear chain reaction เหมือนระเบิดนิวเคลียร์ค่ะ

ตัวแกนปฏิกรณ์ที่ฟุคุชิมะอย่างเลวร้ายสุดๆก็คือ complete meltdown อย่างที่อธิบายในหัวข้อก่อนหน้าค่ะ ปัญหารังสีปนเปื้อนที่พบในกรณีฟุคุชิมะจนถึงปัจจุบัน หลักๆมาจากการรั่วไหลของรังสีบางส่วนตามรอยร้าวที่ตัวอาคารหรือรอบอาคาร จากน้ำทิ้งปนรังสีที่ใช้หล่อเย็นแกนปฏิกรณ์ที่โดนปล่อยลงทะเล รวมถึงจากสารรังสีบางส่วนที่เบาและลอยติดมากับอากาศได้ แต่สารรังสีหลักๆในแกนปฏิกรณ์ก็ยังคงอยู่ในบริเวณโรงไฟฟ้าที่เกิดเหตุไม่ได้พุ่งกระจายไปที่ไหน

อ่านหัวข้อนี้จบแล้วน่าจะได้ไอเดียคร่าวๆนะคะ ทั้ง ระเบิดนิวเคลียร์ / โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล / โรงไฟฟ้าฟุคุชิมะ ต่างก็มีการ "ระเบิด" เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดของการระเบิดแล้วมันไม่เหมือนกันเลยค่ะ



4. ทำไมฮิโรชิม่าและนางาซากิที่โดนบอมบ์ สามารถกลับมาฟื้นฟูมีคนอยู่อาศัยปกติได้ในเวลาแค่ไม่กี่สิบปี?

มาถึงคำถามที่เราสงสัยมากที่สุดแล้วค่ะว่าทำไมในเมื่อระเบิดนิวเคลียร์มันรุนแรงกว่าเหตุการณ์โรงไฟฟ้า แต่หลังเหตุระเบิดแค่ 66 ปี (นับจนถึงปี 2011) สองจังหวัดของญี่ปุ่นที่โดนบอมป์แทบไม่เหลือความเสียหายให้เห็น แถมยังกลับมาเป็นที่อยู่อาศัยที่ท่องเที่ยวยอดฮิตได้แล้วด้วย ระดับรังสีที่วัดได้ในอากาศ ณ ขณะนี้ก็เรียกได้ว่าน้อยมากๆ ขอบอกว่าน้อยกว่าที่กรุงเทพเสียอีกค่ะ (กรุงเทพ = 0.05 microSv/hour, Nagasaki = 0.028 microSv/hour, Hiroshima = 0.046 microSv/hour)

... ในขณะที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลผ่านมา 25 ปี(นับจนถึงปี 2011) กลับยังไม่มีวี่แววว่าจะกลับไปฟื้นฟูหรือระดับรังสีต่ำลงจนคนสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้อีกแต่อย่างใด หลายๆข่าว(ในหนัง Transformer3 Dark side of the moon ก็ด้วย)พูดกันว่าต้องรอกว่า 2 หมื่นปีเลยทีเดียวสำหรับเชอร์โนบิลกว่าคนจะสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยหรือเพาะปลูกในบริเวณนั้นได้อีกครั้ง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจการทำงานของระเบิดนิวเคลียร์กันนิดนึงค่ะ ระเบิดนิวเคลียร์นั้นจะก่อให้เกิดรังสีกระจายสู่สิ่งแวดล้อมในสองระยะ คือ Initial และ Residual ... อันแรก คือ รังสีที่มาจากการระเบิดโดยตรง ... ส่วนอันหลัง คือ รังสีตกค้าง ทั้งที่ตกค้างโดยตรงจากการระเบิด และที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยการระเบิดทำให้กลายเป็นสารกัมมันตรังสีด้วยค่ะ

รังสีที่ปล่อยออกมาในช่วง initial นั้นมีปริมาณที่สูงมากๆ สูงในระดับที่ว่าสามารถส่งผลกระทบ(หรือทำให้เสียชีวิต)ได้ในระยะเวลาอันสั้นแค่ไม่กี่อาทิตย์ หรือ ไม่กี่เดือน ... แต่เนื่องจากรังสีในช่วง initial นี้ส่วนใหญ่มีครึ่งชีวิตที่สั้นมาก บางตัวอยู่ได้แค่ไม่กี่นาทีก็สลายตัวไปจนตรวจไม่พบแล้ว ... พอรวมสองเหตุผลนี้เข้าด้วยกันผลก็คือ ปริมาณรังสีในจุดที่โดนระเบิดอยู่ในเกณฑ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ทันทีในช่วงเวลาหลายชั่วโมงหลังเกิดเหตุระเบิด แต่หลังจากนั้นไม่นานผลจากรังสีในช่วง initial นี้ก็สลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ... คนที่ได้ผลกระทบจากรังสีในช่วงนี้เต็มๆก็คือคนที่อยู่ในพื้นที่หรือเข้าไปในพื้นที่ที่โดนระเบิดในช่วงระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเหตุระเบิดนั่นเองค่ะ

ถ้าดูกราฟใน [2] เปรียบเทียบจะยิ่งเห็นชัดค่ะว่ารังสีที่ปล่อยออกมาโดยระเบิดนิวเคลียร์ในตอนแรกจะมากกว่ากรณีโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลหลายเท่า แต่ปริมาณเริ่มต้นที่มากนี้กลับลดลงด้วยอัตราที่รวดเร็วยิ่งกว่าทำให้ในเวลาไม่นานปริมาณรังสีที่เหลือจากระเบิดก็น้อยลงพอๆกับรังสีที่เหลือจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (ที่เหลือๆก็คือรังสีในช่วง residual ที่จะพูดในย่อหน้าต่อไปค่ะ)

Credit ภาพจาก //en.wikipedia.org/wiki/File:Chernobylvsbombfallout.png

ส่วนรังสีที่ช่วง residual นั้นต่างกับช่วง initial เพราะหลายๆสารรังสีจะมีระยะเวลาการสลายตัวที่ยาวนานกว่าหรือก็คือสลายตัวช้านั่นเองค่ะ (พวกนี้รวมถึงสารที่แต่เดิมก็ปกติดีไม่ได้แผ่รังสี แต่มาเจอนิวตรอนจากระเบิดนิวเคลียร์พุ่งชนพลอยทำให้กลายเป็นสารแผ่รังสีไปกับเค้าด้วยค่ะ) ในกรณีของระเบิดที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิบรรดา residual เหล่านี้ไม่ได้ปนอยู่ที่สองเมืองนี้นานนักเนื่องจากหลายๆสาเหตค่ะ

หนึ่งคือ การระเบิดนี้เป็นการระเบิดกลางอากาศที่ระดับความสูง 500 เมตรเหนือพื้นดิน ซึ่งระเบิดกลางอากาศนี้ถือว่ามีระดับการปนเปื้อนน้อยที่สุดค่ะ ... ระดับการปนเปื้อนรังสีจากระเบิดนิวเคลียร์จะแตกต่างกันตามสถานที่ระเบิด เรียงลำดับจากมากไปน้อยคือ ระเบิดในอากาศ > ระเบิดในน้ำ > ระเบิดบนดิน > ระเบิดใต้ดิน

สองคือ การระเบิดแบบของลูกระเบิดนี้ส่งผลให้บรรดาฝุ่นและดินที่ปนเปื้อนรังสีถูกดูดให้เข้ามารวมกันอยู่ในรูปของ mushroom cloud ผลก็คือฝุ่นดินเปื้อนรังสีลอยกระจายออกไปในวงกว้างแทนที่จะปนเปื้อนติดแน่นอยู่ในพื้นดินของเมืองทั้งสองนี้ แต่ก็นั่นล่ะค่ะผลของ mushroom cloud ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์จำพวก ashes of death และ black rain กระจายออกไปในวงกว้างเช่นกัน (ด้านล่างคือ mushroom cloud จากการระเบิดที่นางาซากิ)

Credit ภาพจาก //www.hiroshima-remembered.com/photos/nagasaki/image1.html

สรุปแล้วอาจพูดได้ว่าเหตผลที่สองเมืองที่โดนบอมบ์กลับมาปกติได้เร็วกว่าพวกเหตุการณ์โรงไฟฟ้าก็เพราะผลที่รุนแรงมากๆมันสำแดงเดชไปหมดในช่วงเวลาสั้นๆหลังเกิดเหตุไปแล้ว ส่วนผลที่ตกค้างได้ยาวนานก็กระจายออกไปแบ่งๆกันรับไปในหลายๆพื้นที่ ซึ่งพอกระจายไปแล้วระดับรังสีก็เลยถูกแบ่งออกไป ทำให้ทุกที่ที่ได้รับผลกระทบรวมถึงสองเมืองที่เกิดเหตุไม่มีระดับรังสีสูงกระจุกตัวอยู่ในระยะยาวนั่นเองค่ะ ... เทียบไปอาจเหมือนคนกินยานอนหลับ กินบ่อยๆกินมานานแล้ว แต่กินทีละเม็ดก็ไม่เห็นผลว่ามีอันตรายยังคงดำเนินชีวิตได้เหมือนคนปกติ แต่วันไหนเกิดครึ้มซัดยานอนหลับทีเดียวทั้งกระปุก ผลก็รู้ๆกันคือต้องโดนหามล้างท้องฉุกเฉินลูกเดียวค่ะ

... หรืออีกทีอาจจะคล้ายพวกระบบภูมิต้านทานของคนและสัตว์ อย่างการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู เคยเรียนมาว่าใช้วิธีการค่อยๆฉีดพิษงูทีละน้อยเข้าไปในสัตว์อื่น(เช่น ม้า)ทุกวันๆ วิธีนี้นอกจากสัตว์ที่ว่าจะไม่ตายเพราะไม่ได้รับพิษงูเต็มๆแม็กซ์เหมือนตอนโดนงูกัดตรงๆ แถมร่างกายของสัตว์นั้นจะค่อยๆสร้างภูมิต้านทานพิษงูนั้นขึ้นมาได้ด้วย แล้วมนุษย์เราก็ค่อยสกัดเอาภูมิต้านทานนั้นมาทำเป็นวัคซีนนั่นเองค่ะ

... ภูมิต้านทานของสิ่งมีชีวิตนี่จะว่าไปก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์นะคะ แม้แต่คนเองก็ตาม คนที่อยู่อาศัยในที่ๆปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมสูงโดยปกติ (เช่นที่ดอยอินทนน ที่รังสีในอากาศสูงกว่าโตเกียวตอนนี้ 14 เท่า และสูงกว่ากรุงเทพ 20 เท่า) ก็จะมีการพัฒนาทำให้มีภูมิต้านทานต่อผลของรังสีมากกว่าคนที่ปกติอยู่อาศัยในที่ๆปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมต่ำกว่า

... แต่จากสองเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์นี้ที่กลัวๆกันว่าจะทำให้เกิดมนุษย์กลายพันธ์ตัวฟ้าอย่างใน X-men หรือ พื้นดินกลายเป็นสีและรูปร่างประหลาดๆเหมือนมาจากดาวยูเรนัสอะไรอย่างนี้ก็เห็นว่าไม่มีนะคะ

ขอตบท้ายหัวข้อนี้ด้วยข่าวจาก CNN ข่าวนี้ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วค่ะ

Man who survived 2 atom bombs dies (January 6, 2010)
//articles.cnn.com/2010-01-06/world/japan.bomb.victim.dies_1_nagasaki-atom-bombs-nuclear-weapons?_s=PM:WORLD

เนื้อหาข่าวเป็นการรายงานการเสียชีวิตของนาย Tsutomu Yamaguchi ชาวญี่ปุ่นเพียงคนเดียวที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ทั้งสองลูก โดยวันที่ 6 สค 1945 เค้าบังเอิญเดินทางไปทำงานที่ฮิโรชิม่าและเจอเจ้า Little boy ลูกแรกเข้าพอดี เค้ารอดชีวิตจากการระเบิดลูกนี้มาได้ แต่ก็มีแผลลวกและไหม้อย่างรุนแรงที่ร่างกายทางด้านซ้าย

Credit ภาพจาก //articles.cnn.com/2010-01-06/world/japan.bomb.victim.dies_1_nagasaki-atom-bombs-nuclear-weapons?_s=PM:WORLD

หลังจากประสบเหตุระเบิดลูกแรก เค้าก็เดินทางกลับไปบ้านของเค้าที่จังหวัดนางาซากิ แล้วก็ได้เจอเจ้า Fat man เข้าอีกลูกในวันที่ 9 สค 1945 เค้าสามารถรอดจากแรงระเบิดนิวเคลียร์มาได้อีกครั้งค่ะ แต่ผลจากการอยู่ในพื้นที่ระเบิดนิวเคลียร์ตกทั้งสองครั้ง นอกจากจะมีอาการบาดเจ็บรุนแรงจากแรงระเบิดรวมถึงไฟต่างๆ ผลที่ติดตัวเค้าไปตลอดชีวิตคือ เค้าสูญเสียการได้ยินของหูซ้าย เป็นลูคิเมีย(มะเร็งในเม็ดเลือดขาว) ต้อกระจก รวมถึงยังมีอาการอื่นๆที่เป็นผลข้างเคียงจากการได้รับรังสีในปริมาณสูงปรี๊ด ณ จุดระเบิดด้วย

สุดท้ายในเดือน มค 2010 เค้าก็เสียชีวิตค่ะ ด้วยสาเหตจากมะเร็งในกระเพาะอาหาร ... แต่ที่ทำให้เราอ่านข่าวแล้วตาโตคือ เค้าเสียชีวิตในขณะที่อายุ 93 ปีแน่ะค่ะ ... คนอื่นๆจะยังไงเราไม่รู้ แต่สำหรับตัวเราเองถ้ามีบุญ(เอ๊ะ หรือมีบาป?)อายุยืนแตะเลข 8X ปีได้นี่ถือว่าใช้ชีวิตได้คุ้มสุดๆแล้ว



5. เปรียบเทียบอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับ อุบัติเหตุระเบิดนิวเคลียร์ ... อันไหนส่งผลร้ายแรงมากกว่ากัน?

อ่านจากหัวข้อที่แล้วหลายคนอาจสรุปในใจแล้วว่าเหตุระเบิดนิวเคลียร์เสียหายน้อยกว่าเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่จริงๆมันไม่ใช่อย่างนั้นค่ะ เพราะอะไรลองมาดูกัน

ถ้าใครไปหาข้อมูลมาหน่อยอาจเถียงว่าเทียบระเบิดนิวเคลียร์กับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลแล้ว ปริมาณรังสีที่เชอร์โนบิลปล่อยออกมา(รวมในระยะเวลากี่ปีแล้วก็ไม่รู้ค่ะเนี่ย)มันมากกว่ากันตั้ง 300 - 400 เท่าก็ต้องอันตรายกว่าระเบิดนิวเคลียร์สิ!! ... แต่อย่าลืมนะคะว่าการจะตัดสินว่าอะไรเป็นอันตรายมันไม่ได้ดูแค่ปริมาณเท่านั้น เหมือนกินยานอนหลับยี่สิบเม็ดแต่กินวันละเม็ดไม่ตายไม่ป่วยไม่เป็นอะไรเลย แต่เมื่อไหร่กินยี่สิบเม็ดพร้อมกันวันเดียวนี่ก็ส่งห้องล้างท้องลูกเดียวค่ะ เห็นมั๊ยคะ ปริมาณโดสที่รับไปคือ 20 เม็ดเท่ากันแต่อันตรายที่เกิดไม่เท่ากัน

Credit ภาพจาก //multiple.kcvs.ca/pictures/prescription%20drugs.jpg

อุบัติเหตุนิวเคลียร์สองประเภทนี้มันมีตัวแปรอย่างอื่นอีกหลายอย่างค่ะ ดังนั้นข้อสรุปแบบกำปั้นทุบดินประเภทว่า "ปริมาณรังสีที่ปล่อยออกมาจากเหตุการณ์นึงมากกว่าอีกเหตุการณ์นึง XX เท่า ดังนั้นมันจึงอันตรายกว่า" จึงใช้ไม่ได้

จากตัวอย่างยานอนหลับจะเห็นว่านอกจากโดส(ปริมาณรังสี)ที่รับแล้ว เรายังต้องพิจารณาช่วงเวลาที่รับประกอบกันด้วยค่ะ ... รังสีที่ปล่อยจากเชอร์โนบิลมีครึ่งชีวิตที่ยาวนานกว่ารังสีที่ปล่อยออกจากระเบิดนิวเคลียร์ แถมปริมาณรังสีที่พูดกันว่าเยอะๆในกรณีของเชอร์โนบิลนี่คือ ปริมาณรังสีที่ถูกปล่อยกระจายครอบคลุมระยะเวลาหลายปีอีกด้วย ... ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลค่ะว่าทำไมรังสีเชอร์โนบิล(รวมแล้ว)มากกว่าแต่กลับอันตรายน้อยกว่ารังสีในปริมาณน้อยกว่าที่ถูกปล่อยออกมาในช่วงเวลาสั้นๆเหมือนตอนระเบิดนิวเคลียร์

... เอาจริงๆเราไม่แน่ใจด้วยค่ะว่า สถิติบอกว่ามากกว่ากัน 300 - 400 เท่านี่ได้รวมปริมาณรังสีมหาศาลที่ปล่อยจากระเบิดนิวเคลียร์ในช่วง initial ด้วยหรือเปล่า? หรือวัดเฉพาะปริมาณรังสีที่เป็น residual ที่กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ? เพราะรังสีมหาศาลช่วง initial มันมีอยู่แค่ในช่วงเวลาสั้นๆหลังระเบิด ซึ่งเป็นช่วงอันตรายสุดๆ ไม่น่ามีใครเสี่ยงเข้าไปนั่งวัดรังสีเก็บสถิติในพื้นที่ได้มั้งคะ (ย่อหน้านี้เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของเรานะคะ ไม่ได้ไปหาข้อมูลยืนยันต่อ เค้าอาจมีวิธีวัดหรือประมาณค่าที่เราไม่ทราบก็เป็นได้)

นอกจากประเด็นเรื่องปริมาณรังสีและระยะเวลาแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างค่ะที่เกิดเพราะระเบิดนิวเคลียร์แต่ไม่เกิดในเหตุโรงไฟฟ้า นอกจากเรื่องรังสีที่กลัวกันมากที่สุดแล้ว อย่าลืมว่าระเบิดยังไงๆมันก็คือระเบิดนะคะ เอาแค่ระเบิดปกติไม่ต้องนิวเคลียร์ ลงที่ไหนที่นั่นก็ราบเป็นหน้ากลองกันเห็นๆแล้ว ทั้งแรงระเบิด แรงสะท้อน คลื่นความร้อน เพลิงไหม้ พออัพเลเวลมาเป็นระเบิดนิวเคลียร์แล้วก็มีแถมเพิ่มรังสีนิวตรอน กับ กัมมันตภาพรังสีกระจัดกระจายอย่างที่รู้ๆกันอีกค่ะ

Credit ภาพ Hiroshima หลังระเบิดจาก //2.bp.blogspot.com/_dqm-I6fjefo/Sl3eAGWq0MI/AAAAAAAACVc/3d4fhQ-c9Pk/s1600-h/hiroshimadestruction.jpg

... สำหรับเราแล้วระเบิดนิวเคลียร์เป็นอาวุธที่เลวร้ายที่สุดประเภทนึงเท่าที่มนุษย์คิดค้นกันขึ้นมาได้เลยค่ะ ต่อให้สงครามจบ เซ็นสัญญาสันติภาพปล่อยนกพิราบสงบศึกกันแล้ว แต่ผลกระทบของมันไม่ได้จบตามไปด้วย ... เทียบไปแล้วให้อารมณ์เหมือนพวกหนังผีย้อนยุคน่ะค่ะ ตามจองล้างจองผลาญกันไปยันรุ่นลูกรุ่นหลาน ตายไปเกิดใหม่กันแล้วก็ยังอุตส่าห์ตามไปหลอกหลอนแก้แค้นกันต่ออีก ทั้งๆที่รุ่นลูกรุ่นหลานที่ว่าไม่ได้รู้เรื่องอะไรกะเค้าด้วยเลย ... แต่อย่างวิญญาณอาฆาตนี่ พอเค้าหายแค้นเมื่อไหร่เค้าก็เลิกจองเวรเราใช่มั๊ยคะ แต่ผลจากระเบิดนิวเคลียร์นี่แย่ยิ่งกว่า เพราะต่อให้คนปล่อยระเบิดหายโกรธหายแค้นแล้ว แต่เจ้าตัวเองก็ไม่สามารถจะไปแก้ไขหรือลบผลจากระเบิดนิวเคลียร์ที่จะเกิดในอนาคตออกไปได้อยู่ดี

ถ้าพิจารณาถึงการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีรวมด้วย ทางระเบิดนิวเคลียร์ก็ยังกินขาดโรงไฟฟ้าค่ะ ... ถ้าจำได้ในหัวข้อที่แล้ว ระเบิดนิวเคลียร์ทำให้เกิดฝุ่นกัมมันตรังสีตอนระเบิด เกิดเป็นกลุ่มควันลอยสูงขึ้นฟ้าในลักษณะ Mushroom cloud ที่ภายหลังก็ถูกลมพัดกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ฝุ่นกัมมันตรังสีไปตกยังที่ที่ห่างออกไป ... ดังนั้นยิ่งบริเวณ mushroom cloud นั้นมีซากปรักหักพังเยอะมากเท่าไหร่ ฝุ่นละอองกัมมันตรังสีก็จะยิ่งเยอะและพัดกระจายได้เป็นบริเวณกว้างมากขึ้นเท่านั้น ... ซึ่งตรงจุดนี้อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไม่ได้ระเบิด หรือที่ระเบิดแค่ตัวอาคาร(อย่างที่ฟุคุชิมะ) ความเสียหายจะเป็นวงแคบกว่าเยอะค่ะ

ส่วนในหัวข้อเปรียบเทียบที่วิชาการสักนิด(ซึ่งเราเองก็ไม่เข้าใจดีนักนะคะ แค่สรุปจากที่อ่านมาจากคุณ zedth ใน [4]) นิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าที่ได้ทำการปิดเตาปฏิกรณ์ไปแล้วอย่างที่ฟุคุชิมะจะไม่ปล่อยอนุภาคนิวตรอนออกมาเหนี่ยวนำให้ธาตุอื่นรอบข้างกลายเป็นธาตุกัมมันตรังสีอีก จะมีก็แต่รังสีแกมม่าที่สามารถทำให้ธาตุอื่นๆ กลายเป็นธาตุกัมมันตรังสีได้ แต่ความทะลุทะลวงก็ไม่เท่าอนุภาคนิวตรอน และก็ไม่ได้ผลิตออกมามากเหมือนอย่าง อัลฟ่า หรือเบต้า ดังนั้นการปนเปื้อนจึงน้อยกว่าระเบิดนิวเคลียร์ค่ะ

สุดท้ายถ้าเทียบจากจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งผู้ที่เสียชีวิตโดยทันทีจากเหตุการณ์อุบัติเหตุ และ ผู้ที่คาดว่าจะเสียชีวิตในภายหลังเนื่องจากได้รับผลข้างเคียงจากอุบัติเหตุ(คาดเดาโดย WHO) ... ทั้งสองจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตนี้ เหตุการณ์เชอร์โนบิลมีจำนวนน้อยกว่าของเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์อย่างเห็นได้ชัด (RIP แด่ผู้เสียชีวิตมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ )

นิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 90,000–166,000 คน และ เหตุนิวเคลียร์ที่นางาซากิมีผู้เสียชีวิตกว่า 60,000–80,000 ราย (จริงๆระเบิด Fat man ที่ลงนางาซากิตัวระเบิดมีความรุนแรงมากกว่า Little Boy ที่ลงฮิโรชิม่านะคะ แต่เนื่องจาก Fat Man ไประเบิดในหุบเขาความเสียหายเลยน้อยกว่า) ในจำนวนนี้เกินกว่า 60% เสียชีวิตในวันแรกที่โดนระเบิดทันที ที่เหลือนั้นเนื่องจากอยู่ไกลจากศูนย์กลางแรงระเบิดออกไปจึงไม่เสียชีวิตทันที แต่ก็เสียชีวิตเพราะผลข้างเคียงของรังสีหลังจากนั้น 1-2 เดือน

ส่วนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้น จำนวนผู้เสียชีวิตในครั้งแรกช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ 31 รายและอีกประมาณ 200 รายบาดเจ็บ นอกจากนั้นประชาชนอีกกว่า 135,000 รายต้องอพยพไปอยู่นอกรัศมี 30 km ของโรงไฟฟ้า

แถมว่าสำหรับเหตุการณ์ที่ฟุคุชิมะ ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากรังสีในช่วงเกิดเหตุใหม่ๆแต่อย่างใดค่ะ จำนวนผู้อพยพหลังเกิดเหตุก็เป็นหลักแสนเหมือนกันแต่รวมผู้อพยพจากเหตุการณ์สึนามิเข้าไปด้วย เลยไม่แน่ใจว่าเฉพาะเรื่องโรงไฟฟ้ามีจำนวนผู้อพยพเท่าไหร่ ... ณ ตอนนี้ผ่านมาหลายเดือนก็เห็นข่าวที่ญี่ปุ่นรายงานว่ามีคนงานบางรายเริ่มได้รับรังสีเกินค่ามาตรฐานแล้ว สาเหตก็มาจากการที่เค้าต้องเข้าไปคลุกวงในเพื่อซ่อมแซมและตรวจสอบโรงไฟฟ้าที่เสียหายนั่นเองค่ะ

ถ้าสรุปตามตัวเลขความเสียหายตามความเป็นจริงแล้ว เราว่าเรียงลำดับความเลวร้ายของสถานการณ์จากมากไปน้อยก็คือ ระเบิดนิวเคลียร์ > โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (meltdown และที่บรรจุเชื้อเพลิงปฏิกรณ์ระเบิด) > โรงไฟฟ้าฟุคุชิมะ (meltdown และมีการระเบิดของตัวอาคาร) ค่ะ ... ถ้าใครจะมองว่าระเบิดนิวเคลียร์ดีกว่า ตู้มทีเดียวเสร็จๆไป ไม่กี่สิบปีก็กลับไปอยู่อาศัยได้แล้ว ไม่ส่งผลต่อเนื่องยาวหลายเจเนเรชั่น ก็อย่าลืมคิดเผื่อไว้ด้วยนะคะว่าถ้าระเบิดมันลงที่ๆเราอยู่บ้าง เห็นตัวเลขความเสียหายที่มากกว่ากันขนาดนี้แล้วยังจะว่าดีกว่าหรือเปล่า? แต่ถ้าจะมองในมุมคนที่อยู่ห่างๆ อะไรที่ไม่เกิดกับเรา ไม่เกิดใกล้เรา ไม่เกิดในที่ๆเราอยู่ มันก็คงดีกว่าเรื่องใหญ่น้อยกว่าแต่เกิดกับตัวเราตรงๆทั้งนั้นล่ะค่ะ



6. รายชื่อข้อมูลอ้างอิง

เนื่องจากไม่ได้เขียนเพื่อส่งเป็นงานวิจัยวิชาการอะไรดังนั้นลิงค์ต่างๆก็มาจากในเน็ตนะคะ ไม่ได้อยากยืนยันข้อมูลถึงขนาดไปหาอ่านเปเปอร์หรือวารสารทางวิชาการ บอกตรงๆว่าขี้เกียจแล้วค่ะ มันไม่ใช่ major ของเราด้วยมีอะไรต้องทำความเข้าใจอีกเยอะถ้าอยากรู้และเข้าใจแบบถ่องแท้ แต่เท่าที่อ่านมาข้อมูลทุกอันก็ดูสอดคล้องกันดีไม่ได้ขัดแย้งกันจนน่าสงสัยนะคะ ขอบคุณทุกความรู้จากทุกแหล่งอ้างอิงมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

[1] Nuclear Disasters and Accidents,
//library.thinkquest.org/17940/texts/nuclear_disasters/nuclear_disasters.html


[2] Chernobyl compared to other radioactivity releases,
//en.wikipedia.org/wiki/Chernobyl_compared_to_other_radioactivity_releases


[3] Fukushima Nuclear Accident – a simple and accurate explanation, //bravenewclimate.com/2011/03/13/fukushima-simple-explanation/

[4] -- รั่ว กับ ระเบิด ผลต่างกันหรือไม่ (นิวเคลียร์) --, อ้างอิงเฉพาะความคิดเห็นของคุณ zedth, //topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2011/04/X10454272/X10454272.html

[5] If nuclear fallout lasts thousands of years, how did Hiroshima and Nagasaki recover so quickly?, //www.straightdope.com/columns/read/2466/if-nuclear-fallout-lasts-thousands-of-years-how-did-hiroshima-and-nagasaki-recover-so-quickly

[6] What is the Difference Between an Atomic Bomb and a Nuclear Meltdown?, //www.associatedcontent.com/article/2801234/what_is_the_difference_between_an_atomic.html?cat=37

[7] Frequently Asked Chernobyl Questions, What caused the Chernobyl accident? //www.iaea.org/newscenter/features/chernobyl-15/cherno-faq.shtml



>> คลิกเพื่อดูรายการบล็อคอัพใหม่ทั้งหมด



Create Date : 15 สิงหาคม 2554
Last Update : 1 พฤษภาคม 2556 0:21:30 น. 6 comments
Counter : 7904 Pageviews.

 
ดีมากๆ เลยครับ


โดย: zedth IP: 110.77.176.129 วันที่: 15 สิงหาคม 2554 เวลา:20:43:51 น.  

 
^
^
เจ้าของความเห็นในพันทิปที่เราไปอ่านเจอมาตัวจริง(รึเปล่าเอ่ย?) อุตส่าห์แวะมาเจอบล็อคนี้ได้ด้วย ยังไงก็ขอบคุณสำหรับข้อมูลในกระทู้นะคะ อธิบายได้ละเอียดดีแล้วก็เข้าใจง่ายด้วยค่ะ บางอันเหมือนจะอ่านมาจาก source ข้อมูลเดียวกับที่เราเจอด้วย


โดย: White Amulet วันที่: 15 สิงหาคม 2554 เวลา:21:05:35 น.  

 
อ่านแล้วได้ความรู้อีกเยอะเลยนะเนี่ย
ขอบคุณมากครับ


โดย: อัศวิน กังวาล IP: 136.8.2.69 วันที่: 9 มกราคม 2556 เวลา:1:44:47 น.  

 
เว็บนี้มีความรู้หลากหลายมากค่ะนู๋เข้ามาเอาข้อมูลดีๆไปทำรายงานได้เลยค่ะ


โดย: ning IP: 223.205.65.71 วันที่: 23 เมษายน 2556 เวลา:10:47:55 น.  

 
ดีมากๆเลยค่ะมีทั้งสาระดีๆและของตกแต่งเอาไปทำรายงานสวยๆตั้งหลายเล่มค่ะ


โดย: nun IP: 223.205.65.71 วันที่: 23 เมษายน 2556 เวลา:10:52:17 น.  

 
มีความรู้และสนุกมากๆ ด้วนค่ะ จะไล่อ่านให้ หมดเลย
ขอบคุณนะคะ:)


โดย: BeGood IP: 113.53.218.178 วันที่: 21 กรกฎาคม 2556 เวลา:11:17:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

White Amulet
Location :
Bangkok Thailand / Tokyo Japan

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]




บล็อคนี้ถึงไม่ค่อยมีอะไรแต่ถ้าจะก๊อปปี้ข้อความหรือรูปอะไรไปโพสที่อื่น ก็รบกวนช่วยใส่เครดิตลิงค์บล็อคนี้ไว้ด้วยนะคะ

เราไม่สงวนลิขสิทธิ์การนำภาพและข้อความในบล็อคไปเผยแพร่(ในแบบที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์)แต่สงวนลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของภาพถ่ายและเนื้อหาค่ะ

ค้นหาทุกสิ่งอย่างในบล็อคนี้

New Comments
Friends' blogs
[Add White Amulet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.