"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
12 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 
ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)

 

 

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
ถนนคนเดินนะกะมิเซะ
       
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
       Tokyo University of Foreign Studies


       
       เมื่อลอดประตูอสุนีบาต
       
        ลอดประตูคะมินะริ (หรือแปลเป็นไทยได้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ประตูอสุนีบาต) และโคมไปแล้วจะเข้าสู่ถนนคนเดิน ถนนนี้ชื่อ “นะกะมิเซะ” (仲見世;Nakamise) เป็นถนนที่มีร้านค้าราว 90 ร้านตั้งเรียงรายขายของที่ระลึกแบบญี่ปุ่นอยู่สองข้างทาง

ทอดตัวยาวประมาณ 250 เมตรจากประตูคะมินะริเข้าไปถึงประตูโฮโซ (宝蔵門;Hōzō-mon) ที่อยู่ชั้นใน ของในร้านมีทั้งเสื้อผ้า ตุ๊กตา ร่ม ขนม ดาบ พวงกุญแจ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ดูเป็นญี่ปุ่นจ๋า

แต่ราคาไม่จ๊ะจ๋าเหมือนหน้าตาสิ่งของเท่าไร ถ้าอยากได้ของที่ระลึกชิ้นใหญ่ๆ แถวนี้ ควรจะมีเงินติดตัวไปอย่างน้อยประมาณ 5,000 เยน

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
ของที่วางขายบนถนนคนเดินนะกะมิเซะ
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
ของที่วางขายบนถนนคนเดินนะกะมิเซะ

       

เมื่อสุดถนนและลอดประตูโฮโซไปแล้วจะเข้าสู่ตัววัด โดยทั่วไปวัดญี่ปุ่นมีสีสันไม่ฉูดฉาด ไม่เหมือนวัดไทยที่มีประกายระยิบระยับและประดับกระจกสีวิบวับโดดเด่น วัดญี่ปุ่นจะเป็นสีทึม ๆ ปล่อยให้เป็นสีไม้หรือสีธรรมชาติเสียมากกว่า แต่เซ็นโซจิมีสีแดงออกส้ม ต่างจากวัดญี่ปุ่นส่วนใหญ่

จากที่ประตูโฮโซ มองไปด้านซ้ายจะเห็นเจดีย์ห้าชั้น มองตรงไปจะเห็นวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นวิหารหลังใหญ่สุด เซ็นโซจิผ่านร้อนหนาวมานานหลายร้อยปี เจอทั้งแผ่นดินไหวและไฟไหม้หลายครั้ง วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมก็เช่นกัน หลังเก่าซึ่งสร้างขึ้นอย่างดีโดยโชกุนอิเอะมิสึ โทะกุงะวะ(徳川家光; Tokugawa  Iemitsu) เมื่อ พ.ศ. 2192

ได้รับความเสียหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่กรุงโตเกียวถูกกระหน่ำโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ ภายหลังจึงได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวิหารหลังปัจจุบันซึ่งสร้างอย่างแข็งแรงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเมื่อ พ.ศ. 2501

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
วิหารหลักของเซ็นโซจิ
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
เจดีย์ห้าชั้น
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
กระถางธูปที่ผู้คนมุงเพื่อวักควันใส่ตัว

       

เมื่อเดินมุ่งตรงไปสู่วิหาร ที่กลางลานจะเห็นกระถางธูปใหญ่ซึ่งคนมักเข้าไปมุงวักเอาควันธูปโปะหัวโปะหน้าตัวเองกัน ถ้าเป็นของไทยคงใช้น้ำมนต์ แต่คนญี่ปุ่นใช้ควัน ผมเดินเฉียด ๆ เข้าไปตรงนั้นได้ยินเสียงภาษาไทยแว่วมาเป็นประจำ

คาดว่านักท่องเที่ยวจากไทยคงกำลังรดควันแทนการรดน้ำมนต์ตามคำบอกเล่าของไกด์ สุดลานนี้มีบ่อน้ำพร้อมกระบวยวางไว้ให้ล้างมือล้างปาก คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเป็นการชำระความไม่บริสุทธิ์ออกไปก่อนไหว้พระ
       
        การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบญี่ปุ่นไม่เหมือนของไทย และถ้าไปศาลเจ้าชินโตก็จะมีวิธีที่ต่างจากวัดในพุทธศาสนา (หรืออาจมีวิธีเฉพาะแห่งไปเลย) การไหว้พระของไทยจะมีดอกไม้ธูปเทียน ของญี่ปุ่นมีแค่ธูปก็พอและไม่ซับซ้อน ขั้นตอนคือ ยกมือไหว้หนึ่งครั้งที่ทางเข้าวัด ล้างมือ ล้างปากที่อ่างน้ำหน้าวัด จุดธูปปัก ใส่เงินลงตู้ และไหว้อีกหนึ่งครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้น

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
คนกำลังตักน้ำชำระมือและปากก่อนไหว้พระ

        แต่ถ้าไปศาลเจ้าของชินโตจะมีมากกว่านี้หลายขั้น วิธีการทั่วไปเริ่มจาก

1) เอามือขวาจับกระบวย ตักน้ำล้างมือซ้าย,

2) เอามือซ้ายจับกระบวย ตักน้ำล้างมือขวา,

3) เอามือขวาถือกระบวย แล้วเอาน้ำเทใส่มือซ้าย เอาน้ำที่อยู่ในมือซ้ายล้างปาก ห้ามดื่มโดยตรงจากระบวย,

4) ล้างมือซ้ายอีกหนึ่งที,

5) เอากระบวยตั้งขึ้น เอาน้ำที่เหลืออยู่ในนั้นล้างด้ามกระบวย,

6) เอากระบวยเก็บที่เดิม และต่อไปเป็นขั้นตอนการไหว้ มีหลักคร่าว ๆ คือ “คำนับสองที ตีมือสองคำรบ โค้งจบหนึ่งหน” โดยเริ่มจาก

1) โยน (หรือหย่อน) เงิน แล้วสั่นกระดิ่งที่แขวนอยู่ (เพื่อให้เกิดเสียงและทำให้เทพเจ้าสนใจ),

2) คำนับต่ำ ๆ สองครั้ง,

3) ประสานมือไหว้ ขอพร จากนั้น แยกมือออก ตบมือสองที โดยให้มือขวาเหลื่อมต่ำกว่ามือซ้ายนิดหน่อย,

4) โค้งต่ำ ๆ อีกหนึ่งเป็นการปิดท้าย
       
        ขั้นตอนแบบพุทธกับชินโตนี้ แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็มีผู้ที่ไม่รู้อยู่เป็นจำนวนมาก มีคนทำสลับกันให้เห็นอยู่ถมเถไป ที่เซ็นโซจินี่ก็เหมือนกัน ผมเดินด้อม ๆ มอง ๆ อยู่ เห็นคนญี่ปุ่นเข้าใจผิดตบมือกันเปาะแปะ ๆ อยู่บ่อย ๆ

และที่เล่าถึงวิธีของชินโตไว้ด้วยเพราะอยากจะบอกว่า ภายในอาณาเขตของเซ็นโซจิ มีศาลเจ้าอยู่ด้วยชื่อว่า “ศาลเจ้าอะซะกุซะ” (浅草神社;Asakusa-jinja) แต่น่าเสียดายที่ดูเหมือนว่าถูกรัศมีเซ็นโซจิกลบเสียหมด ชื่อจึงไม่ติดปากนักท่องเที่ยวเหมือนวัดหรือประตูคะมินะริ

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
ลอดประตูสู่ศาลเจ้าอะซะกุซะ

       

เท่าที่ได้คุยกับคนไทยที่ไปมาแล้ว ไม่ค่อยมีคนพูดถึงอีกมุมหนึ่งของวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าอะซะกุซะเท่าไรนักทั้งๆ ที่เป็นศาลเจ้าชินโตที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในโตเกียว

ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณของสองพี่น้องชาวประมงที่เจอรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิมอันเป็นต้นกำเนิดแห่งเซ็นโซจิ และหัวหน้าหมู่บ้านผู้สร้างเซ็นโซจิ เดิมศาลเจ้าสร้างเมื่อไรไม่ทราบแน่ชัด

แต่โชกุนอิเอะมิสึ โทะกุงะวะสร้างวิหารหลักของศาลเจ้าเมื่อ พ.ศ. 2192 ปีเดียวกับที่สร้างวิหารของเซ็นโซจิ ใครที่มาถึงเซ็นโซจิแล้ว ถ้าเดินไปด้านขวาอีกนิดก็จะถึงศาลเจ้า
       
        งานเทศกาลแบบชินโตที่คนญี่ปุ่นทุกคนรู้จักคือการแห่ศาลเจ้าจำลองซึ่งเรียกว่า “โอะมิโกะชิ” (お神輿;O-mikoshi) เทศกาลแห่ศาลเจ้าจำลองที่ดังที่สุดชื่อว่า “ซันจะมะสึริ” (三社祭;Sanja Matsuri) จัดที่ศาลเจ้าอะซะกุซะนี่เอง เทศกาลนี้จัดประมาณวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี

โอะโตซัง (お父さん;O-tōsan หมายถึง พ่อ ในที่นี้คือคุณพ่ออุปถัมภ์ของผม) เป็นมือโปรแห่ศาลเจ้าคนหนึ่งในละแวกบ้านที่เราอยู่ พอวันงานซันจะมะสึริซึ่งเป็นงานใหญ่มาถึง แม้ท่านจะไม่แห่ในงานใหญ่แบบนี้ แต่ก็พาผมไปดู

งานใหญ่โตมาก ประเมินได้จากจำนวนคนที่มาดู ไม่รู้ว่ามาจากไหนต่อไหน ไปทางไหนก็มีแต่คน ในวันจัดงานต้องปิดถนนย่านอะซะกุซะเกือบทั้งหมด คนที่แห่จะใส่ผ้าเตี่ยวสั้นเต่อ รั้งขึ้นไปถึงโคนขาเผยสะโพกขาวออกมาให้เห็น

แต่คนญี่ปุ่นแต่งเป็นประเพณีไปแล้ว จึงไม่มีใครอายใคร ส่วนท่อนบนใส่เสื้อคลุมหลวมๆ ขณะที่แห่จะร้องให้เสียงเป็นจังหวะไปด้วย

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
การแห่โอะมิโกะชิ และขบวนรถในเทศกาล “ซันจะมะสึริ”
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
การแห่โอะมิโกะชิ และขบวนรถในเทศกาล “ซันจะมะสึริ”

       

ย้อนกลับมาที่การไหว้พระหรือศาลเจ้าญี่ปุ่น เวลาเอาเงินใส่กล่องรับบริจาค คนญี่ปุ่นนิยมเอาเหรียญห้าเยนใส่ลงไปมากกว่าเหรียญอื่น เพราะว่าเหรียญห้าเยนมีรูอยู่ตรงกลาง ทำให้มองทะลุผ่านได้

ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่าพ้องกับวลีที่ว่า “มิโตชิ งะ โยะอิ” (見通しがよい; mitōshi ga yoi) หมายถึง “มองผ่านไปสู่ภายภาคหน้าได้ดี” หรือ “แนวโน้มในอนาคตดี” อีกความเชื่อหนึ่งคือ “ห้าเยน” ออกเสียงว่า “โกะเอ็ง” (五円;Go-en) พ้องเสียงกับคำว่า “โกะเอ็ง” (ご縁; Go-en) ซึ่งหมายถึง วาสนา, ความสัมพันธ์, โอกาส

และคำว่า “เอ็ง” นี้อยู่ในวลีที่ว่า “เอ็งงิ งะ อี้” (縁起がいい; engi ga ii) ซึ่งหมายถึง “โชคชะตาราศีดีและเป็นมงคล”

แต่มีหลายหนที่ผมทำตามความนิยมแบบคนญี่ปุ่นไม่ได้เพราะในกระเป๋าไม่มีเหรียญห้าเยนติดอยู่เลย ด้วยหลักคณิตศาสตร์ง่ายๆ ว่า ใส่ห้าเยนเป็นมงคล ถ้าโยนลงไปสักห้าสิบเยนมิเป็นมงคลถึงสิบเท่าหรอกหรือ

 แล้วเหรียญห้าสิบเยนกับร้อยเยนของผมก็ลงไปอยู่ในกล่องรับบริจาคที่เซ็นโซจิหลายเหรียญ แต่ผมยังไม่ปรารถนามงคลร้อยเท่า จึงไม่ได้เอาเหรียญห้าร้อยเยนหย่อนลงไป


ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
หย่อนเงินแล้วอธิษฐาน
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
เหรียญ 5 เยน

       

จะด้วยข้อจำกัดด้านเวลาหรือด้วยความไม่รู้ก็แล้วแต่ การเดินทางของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่สิ้นสุดลงตรงที่วิหาร โดยใส่เงินลงในตู้ พนมมือไหว้ แหงนมองภาพเขียนรูปมังกรที่อยู่บนเพดาน จากนั้นก็เดินวน ๆ อีกสักหน่อยแล้วกลับ

หากมีเวลา นอกเหนือจากเซ็นโซจิกับประตูคะมินะริแล้ว ลองเดินไปอีกนิดก็จะถึงศาลเจ้าอะซะกุซะ และจะได้เที่ยวทั้งแบบพุทธและชินโต
       
       

เมืองล่าง

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
เมื่อเดินเลาะไปด้านข้างใกล้กับเซ็นโซจิจะได้กลิ่นอายแบบบ้าน ๆ ของ “ชิตะมะชิ”

       

ชื่อย่านอะซะกุซะมีจุดเหมือนกับประตูคะมินะริอย่างหนึ่งตรงที่ว่า ชื่อย่านและชื่อประตูดังกว่าชื่อวัด เวลาใครไปเที่ยวเซ็นโซจิ ทั้งคนญี่ปุ่นและคนต่างชาติจะพูดว่า “ไปเที่ยวอะซะกุซะ” น้อยครั้งมากที่จะได้ยินใครพูดว่า “จะไปเซ็นโซจิ” แม้ว่าผลที่สุดแล้วก็เดินเข้าวัดและใช้เวลาที่นั่นนานที่สุดกันทุกคน
       
        ที่เป็นเช่นนี้เพราะย่านอะซะกุซะดังมาตั้งแต่โบราณในฐานะแหล่งท่องเที่ยว (สมัยก่อนมีสถานขายบริการแถวนี้ด้วย) และมีประวัติคู่กับพัฒนาการทางสังคมของกรุงโตเกียว ชื่อจึงติดปากได้ง่าย ย่านอะซะกุซะอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ชิตะมะชิ” (下町;shitamachi)

ภาษาอังกฤษแปลคำนี้ตรง ๆ ตามภาษาญี่ปุ่นว่า “downtown” (shita = ข้างล่าง, machi = เมือง) “ดาวน์ทาวน์” คำนี้ของญี่ปุ่นไม่ได้หมายถึงตัวเมืองตามคำสามัญในภาษาอังกฤษ แต่หมายถึง “เมืองล่าง” ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นคำที่ใช้แบ่งชนชั้น
       
        แถบเมืองล่างนี้เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่โตเกียวยังเป็นเอะโดะอยู่ พื้นที่ของเมืองล่างในปัจจุบันได้แก่เขตชูโอ เขตไทโตซึ่งเป็นที่ตั้งของอะซะกุซะ และเขตซุมิดะซึ่งเป็นเขตที่ผมเคยอยู่ ในสมัยเอะโดะ (江戸;Edo; พ.ศ. 2143 - 2411)

ที่นี่เป็นเมืองของชนชั้นพ่อค้าและช่าง พูดง่าย ๆ คือ “ล่าง” ก็คือ “โล” แถบนี้จึงเป็นโลโซ ส่วนชนชั้นซะมุไรและชนชั้นสูงไม่อยู่แถวนี้ แต่อยู่ถัดขึ้นไปข้างบนหน่อยซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ของเขตบุงเกียวและชินจุกุ นั่นเป็นเขตไฮโซ

แต่เมื่อสังคมศักดินาล่มสลายไป ไฮโซทั้งหลายก็หวนหาวัฒนธรรมของวันคืนในอดีตซึ่งมีเหลือให้ดูอยู่ในพื้นที่โลโซนั่นแหละ เพราะแถบไฮโซได้กลายเป็นตึกไปหมดแล้ว อะซะกุซะซึ่งมีทั้งวัด บ้านทรงตึกแถวแบบเก่า และอาหารเก่าแก่ถึงได้มีคนไปเที่ยวกันมากมาย

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)

       

กลิ่นอายแบบเอะโดะนอกจากมีอยู่ในสถานที่แล้ว แม้แต่ปัจจุบันก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในตัวบุคคลด้วย ถือเป็นความโชคดีที่ผมได้อยู่กับครอบครัวโคะยะมะซึ่งอยู่แถวเมืองล่าง จึงได้สัมผัสความเป็นเอะโดะร่วมสมัยจากผู้ที่เกิดในแถบนี้ ภาษาญี่ปุ่นเรียกคนเหล่านี้ว่า “เอะดกโกะ” (江戸っ子;Edokko) ซึ่งมีอยู่คนหนึ่งที่ผมได้ใกล้ชิดด้วย ไม่ใช่ใครอื่นไกล โอะโตซังนั่นเอง
       
        ปฏิเสธไม่ได้ว่าลักษณะเฉพาะของคนเอะโดะหายไปเกือบหมดแล้วเพราะผ่านมาเป็นร้อย ๆ ปี แต่ส่วนที่ยังเหลืออยู่คือภาษา เป็นที่ทราบกันดีในสังคมญี่ปุ่นว่า เอะดกโกะทั้งหลายพูดภาษาญี่ปุ่นติดสำเนียงเอะโดะอยู่ (ไม่รู้ทำไม) ลักษณะการพูดจาอาจจะตรง ๆ ห้วนกว่าภาษามาตรฐาน เพี้ยนเสียงไปบ้าง และจะมีบางเสียงที่พูดไม่ได้

เช่น เสียง “ฮิ” (hi) จะพูดไม่ได้ พูดเมื่อไรกลายเป็น “ชิ” (shi) ฉะนั้น เมื่อโอะโตซังจะพูดว่า “ฮิโตะ” (人;hito = คน) จึงกลายเป็น “ชิโตะ” และถ้าโอะโตซังจะบอกว่าห้องนั้น “กว้าง” ห้องนั้นจะกลายเป็นห้อง “สีขาว” คือ จาก “ฮิโระอิ” (広い;hiroi = กว้าง) กลายเป็น “ชิโระอิ” (白い;shiroi = ขาว)

ยังดีที่ผมทราบภูมิหลังอยู่บ้างจึงเข้าใจได้ว่าโอะโตซังหมายถึงอะไร แต่ถ้าเจอ “ชิบิยะ” เข้าไป ก็คงไม่เข้าใจเหมือนว่าคือที่ไหน ไม่รู้ว่าเป็น “ชิบุยะ” (渋谷;Shibuya) หรือ “ฮิบิยะ”(日比谷;Hibiya) กันแน่ เพราะสองที่นี้เอะดกโกะทั้งหลายมีแนวโน้มว่าจะออกเสียงเพี้ยนกลายเป็นที่เดียวกันแม้ว่าเป็นคนละที่
       
       ความคุ้นชินกับแถบเมืองล่างมานานปีโดยเฉพาะอะซะกุซะ ทำให้ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวชอบไปที่นี่กันไม่ใช่เพราะว่าวัดสวย แต่ไปเพราะว่าแถวนี้มีอะไรให้ดูมากกว่าความเป็นวัด อะไรที่ว่านี้ ถ้าพูดโดยรวมก็คือ “ความเป็นญี่ปุ่น”

คนญี่ปุ่นซึ่งทราบหรือได้ยินประวัติของพื้นที่ละแวกนี้ เมื่อไปเที่ยวก็จะสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นได้ด้วยความรู้สึกแบบหนึ่ง ส่วนคนต่างชาติที่ไปเที่ยว ส่วนใหญ่แล้วจะสัมผัสความเป็นญี่ปุ่นได้จากสิ่งของที่เห็นมากกว่าที่จะสัมผัสผ่านความรู้สึกลึก ๆ ได้

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
ร้านขายมนจะยะกิ

       

ฉะนั้น ผมขอแนะนำว่าเพื่อให้ได้ชื่อว่ามาถึงโตเกียวจริง ๆ เมื่อเสร็จจากเซ็นโซจิและศาลเจ้าอะซะกุซะแล้ว ลองเดินเข้าซอยแคบ ๆ แถวนั้น เดินดูบ้านคนและแวะกินอาหารดังของเมืองล่าง ชื่อ “มนจะยะกิ” เสียหน่อยเป็นไง

มนจะยะกิ (もんじゃ焼き;monja-yaki) เป็นอาหารเก่าแก่ของโตเกียว มีมาตั้งแต่ปลายสมัยเอะโดะ เป็นอาหารผัดกึ่งทอดของญี่ปุ่น มีผักหั่นฝอย เนื้อสัตว์ เช่น หมู กุ้ง แล้วแต่จะเลือกใส่ และมีน้ำแป้งขลุกขลิก

เวลาจะทาน คลุกเครื่องให้เข้ากันแล้วเทลงไปในกระทะที่มีน้ำมันพอลื่น รอสักพักก็ทานได้ ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้อาหารญี่ปุ่นคงรู้จักทะโกะยะกิ (たこ焼き;takoyaki = ปลาหมึกปิ้ง) และโอะโคะโนะมิยะกิ (お好み焼き;O-konomiyaki = พิซซาญี่ปุ่น) ทั้งสองอย่างนี้ต่างก็พัฒนามาจากมนจะ-ยะกิ แต่ชื่อเสียงแซงหน้ามนจะ-ยะกิไปไกลแล้ว

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
มนจะยะกิ
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
ทะโกะยะกิ
       

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
โอะโคะโนะมิยะกิ

       

ถ้าหากย้อนยุคกันจนอิ่มอดีต เดินจากหน้าเซ็นโซจิไป 5 นาที จะถึงท่าเรือที่ริมแม่น้ำซุมิดะตรงจุดนี้นอกจากมีตึกเบียร์อะซะฮิ ที่ออกแบบเป็นถ้วยใส่เบียร์มีฟองลอยอยู่ให้ชมกันแล้ว จากที่นี่ยังมีเรือให้ล่องไปตามลำน้ำด้วย

ในสี่สิบนาทีที่วนไปกับเรือด้วยค่าโดยสารเกือบๆ 1,000 เยน จะได้เห็นปัจจุบันของเอะโดะ ที่กลายเป็นโตเกียวแล้วอย่างเต็มตา ถ้าสำรวจได้ครบอย่างนี้ ไม่มีใครกล้าพูดหรอกว่าไปไม่ถึงโตเกียว

ถึงโตเกียวแล้วเลี้ยวเข้าเอะโดะ : อะซะกุซะในมุมที่คุณไม่เคยเห็น (2)
ตึกที่ออกแบบเป็นแก้วเบียร์โดยอะซะฮิ

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

จันทรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ    




Create Date : 12 ตุลาคม 2558
Last Update : 12 ตุลาคม 2558 8:47:40 น. 0 comments
Counter : 1181 Pageviews.

sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.