++ Positive Speaking ++
น้ำท่วมเชียงใหม่-รุกแม่น้ำปิง ใครจงใจเกาไม่ถูกที่คัน ?



รายงานพิเศษ
โดย กรรณิกา เพชรแก้ว

ฝันร้ายจากอุทกภัยซ้ำซ้อน 4 ครั้งสร้างความเสียหายหนักแก่พื้นที่ทางเศรษฐกิจของเชียงใหม่ คาดกันว่ามูลค่าหลายพันล้านบาทเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว ทำให้หลายฝ่ายที่รับผิดชอบการป้องกันปัญหาน้ำท่วมปีนี้ เกร็งกันไปถ้วนทั่วมาตลอดสองเดือนและคงจะต้องเกร็งกันจนกว่าจะพ้นฝนนี้
สุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ซีอีโอเชียงใหม่นั้น นั่งยันนอนยันว่าจะไม่ยอมให้น้ำท่วมในปีนี้เด็ดขาด เพราะจะกระทบต่อการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ 2549 ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และเป็นเหมือนลมหายใจเฮือกใหญ่ที่รัฐบาลรอคอยว่าจะมาต่ออาการรวยรินของเศรษฐกิจยามนี้ได้ ว่ากันว่างานนี้มี เก้าอี้ผู้ว่าฯเป็นเดิมพัน
มีการประชุมเตรียมการป้องกันน้ำท่วมหลายต่อหลายครั้ง กรมชลประทานได้รับคำสั่งให้ พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่งัด อำเภอแม่แตง ทางตอนเหนือของจังหวัด เพื่อเตรียมรับน้ำหลาก ปริมาณที่พร่องหรือถ่ายเอาน้ำที่มีอยู่แล้วออกนั้น เล่นเอาอ่างแม่งัดแทบเกลี้ยงเกลา แต่ก็ทำให้ ผู้ว่าฯเชียงใหม่มั่นใจรายงานไปยังกระทรวงได้ว่าพร้อมแล้ว
ส่วนเรื่องการก่อสร้างพนังกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำระยะทาง 19.4 กิโลเมตร ใช้งบประมาณนับพันล้านบาทที่ขึงขังกันมาแต่ต้นนั้น ไม่มีงบประมาณตกมา แถมถูกประชาชนคัดค้านอย่างหนัก เลยไม่มีใครอยากพูดถึง

เกาไม่ถูกที่คันเพราะอะไร ?

ประเด็นที่ทำได้และเร่งทำกันเต็มที่ คือการปรับปรุงระบบการระบายน้ำของแม่น้ำปิง เพื่อให้น้ำไหลผ่านได้เร็วยิ่งขึ้น และในปริมาณมากขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร
แม่น้ำปิงบริเวณที่ผ่านตัวเมืองเชียงใหม่แคบลง เพราะการบุกรุกตลิ่งสร้างบ้านเรือนร้านค้า จนถึงโรงแรมขนาดใหญ่ ตลิ่งแคบกว่าปกติเกือบร้อยเมตร แม่น้ำแคบๆ ช่วงนี้รับน้ำได้เฉลี่ย 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยเฉพาะที่บริเวณสะพานมหิดลที่แคบสุด รับน้ำได้ประมาณ 460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมืองเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2548 มีมากถึง 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
คนเชียงใหม่รู้เห็นตรงกันว่าความตีบแคบ ของแม่น้ำปิง โดยเฉพาะที่ผ่านตัวเมืองนั้น มาจากการบุกรุกเข้ายึดครองที่ดินริมตลิ่งเป็นสำคัญ มีความพยายามแก้ปัญหานี้มาหลายสิบปี แต่ไม่เคยสำเร็จ
การบุกรุกกลับยังคงเพิ่มขึ้น ริมแม่น้ำปิงสอง ฝั่งกลายเป็นสวรรค์สำหรับร้านอาหาร รีสอร์ต โรงแรม

รายงานของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ระบุว่าตรวจพบผู้บุกรุกลำน้ำในเขตเมืองหลายร้อยราย ที่มีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้ว 106 ราย ในจำนวนนี้แจ้งความดำเนินคดี 31คดี, คดีถึงที่สุดโดยศาลมีคำพิพากษาในการรื้อถอน 8 คดี, อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง 7 คดี, คดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของอัยการ 12 คดี และที่ยังไม่มีคำสั่งให้ดำเนินการใดๆ 75 คดี
เฉพาะที่ "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจ มีที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ล่วงล้ำลำน้ำในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร จำนวนมาก

คดีบุกรุกค้างเติ่งเพียบ

ตั้งแต่ฝายพญาคำ จนถึงสะพานเม็งราย หรือแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก บริเวณถนนป่าแดด อ.เมือง ร้านอาหารใหญ่หลายร้าน, ตั้งแต่ฝายพญาคำ จนถึงสะพานเหล็ก หรือแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก บริเวณถนนเจริญราษฎร์ ต.วัดเกตุ มีร้านอาหาร 4 ราย, ตั้งแต่สะพานเหล็กถึงสะพานนวรัฐ หรือแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก บริเวณถนนช้างคลาน มีโรงแรมขนาดใหญ่ของนักการเมืองจากอีสาน และโรงแรมขนาดกลางของนักลงทุนท้องถิ่น, ตั้งแต่สะพานนวรัฐถึงสะพานนครพิงค์ แม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก บริเวณถนนเจริญราษฎร์ มีร้านอาหาร 7 แห่ง และที่ดินของเจ้าของโรงแรมย่านคลองชลประทาน เชียงใหม่ กับโรงแรมตระกูลนักธุรกิจในท้องถิ่น, ตั้งแต่สะพานนครพิงค์ ถึงสะพานรัตนโกสินทร์ หรือแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก บริเวณถนนวังสิงห์คำ ต.ช้างม่อย มีร้านอาหาร 3 แห่ง
ก่อนนี้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีกับผู้ครอบครองที่ดินในลักษณะบุกรุกลำน้ำ ทั้งที่เป็นร้านอาหารชื่อดัง และบ้านเรือนส่วนตัว แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากหลักฐานของฝ่ายรัฐไม่ชัดเจน บางกรณีเจรจาให้รื้อถอนสำเร็จ เช่น ร้านอาหารของนักร้องสาวเพลงพื้นเมือง ร้านอาหารของนักธุรกิจท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างศาลาริมน้ำและรั้วไม่ถาวร
คดีที่ยังไม่ได้ดำเนินการ เช่น กรณีนายทหารยศพลโท, ร้านอาหารย่านใกล้ค่ายกาวิละ, ร้านอาหารในย่านป่าตัน, เกสต์เฮาส์ และร้านอาหารย่านถนนวัดเกตุ ร้านอาหารในย่านฟ้าฮ่าม จำนวนมาก
คดีที่อยู่ระหว่างชั้นพิจารณา 12 คดี เช่น คดีที่ผู้ครอบครองเป็นคนในตระกูลนักการเมืองจากภาคอีสาน เจ้าของโรงแรมใหญ่ริมแม่น้ำปิง, เจ้าของโรงแรมใหญ่บนถนนคลองชลประทาน และบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
จนท.แหยงเจ้าของที่ดินล้วนระดับบิ๊ก

น.ต.บวร บันเทิง ผู้อำนวยการสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 1 เคยกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้การตรวจสอบหรือดำเนินคดีกับผู้บุกรุกส่วนใหญ่ไม่คืบหน้า เนื่องจากผู้ครอบครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่น ซื้อที่ดินริมแม่น้ำปิงและก่อสร้างบ้านพักตากอากาศหรือบ้านหลังที่สอง และไม่ได้พักอาศัยประจำเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือยื่นเอกสารกับเจ้าของที่แท้จริงได้ นอกจากนั้นยอมรับว่ามีเรื่องอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานลำบากใจ
"ที่ดินริมแม่น้ำปิงเป็นที่ต้องการของคนมาก ราคาแพงไร่ละหลายล้านบาท ทำให้มีคนพยายามครอบครองให้ได้มากที่สุด คนที่ครอบครองเป็นบ้านพักส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะ และมีความรู้ พร้อมจะต่อสู้ทางกฎหมายเต็มที่ การเจรจาให้รื้อถอนมักจะสำเร็จเพราะรายที่เป็นชาวบ้านหรือคนท้องถิ่นจริงๆ เท่านั้น"
แต่ในการประชุมรับมือเรื่องน้ำท่วม กลับมีการเอ่ยถึงประเด็นเรื่องการบุกรุกนี้น้อยมาก ความพยายามที่จะจัดการปัญหานี้ให้เด็ดขาด ที่เคยขึงขังอยู่ช่วงหนึ่ง ปลิวหายไปกับสายลม ทั้งที่ทุกฝ่ายเคยยอมรับว่าเป็นปัญหาหลักของแม่น้ำสายนี้

ภูมิธรรม เวชยชัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเคยเดินทางตรวจดูข้อเท็จจริงตลอดแนวลำน้ำ บอกไว้ว่าจะต้องกำหนดให้แนวแม่น้ำปิงกว้าง 120 เมตร จากปัจจุบันที่กว้างเฉลี่ย 80-100 เมตร จะต้องขยับแนวเขตที่ดินและตรวจสอบการถือครองที่ดินตลอดแนวลำน้ำใหม่
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า ผู้ที่บุกรุกแม่ปิงส่วนใหญ่เป็นคนใหญ่โตมีชื่อเสียง จะจัดการอย่างไร โดยยืนยันว่าไม่มีปัญหา ใครไม่มีเอกสารสิทธิก็ต้องถูกดำเนินการ "คนที่บุกรุกไม่ใช่คนจน เป็นคนมีเงินทั้งนั้น ซึ่งแก้ปัญหาได้ง่าย โดยใช้มาตรการลงโทษทางสังคม หรือโซเชียลแซงก์ชั่นอย่างเดียวก็พอ ไม่ต้องทำอย่างอื่น" เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่เองก็ท้อ เพราะเมื่อมีเรื่องแล้วมักถูกฟ้องกลับ นายกฯบอกว่า "ไม่เป็นไร ผมอยู่ ไม่ต้องห่วง"

การเตรียมรับมือน้ำท่วมปีนี้ แสงรัตน์ เบญจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เน้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงอุปสรรคใหญ่ในแม่น้ำ ชี้ไปฝายชั่วคราวของราษฎรซึ่งมี อยู่ 3 แห่ง คือ ฝายท่าศาลา ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล ว่าเป็นตัวกั้นให้น้ำไหลช้าลง ทำให้น้ำปิงล้นตลิ่ง มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รื้อถอนฝายให้ได้ทั้งปีที่แล้วและปีนี้
ขณะที่ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากฝายเพื่อการเกษตรก็คัดค้านอย่างหนัก จนกรมชลประทานต้องออกมาอ้างว่ามีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้รื้อ ขณะราษฎรก็ร้องขอดูสำเนาคำสั่งที่อ้างพระราชดำรัสดังกล่าว

ควรสงสัยไหมว่า เพราะอะไรอุปสรรคหลักที่กัดขวางการไหลของน้ำ เปลี่ยนจากการบุกรุกหลายร้อยราย ไปเป็นฝายหินทิ้งสูงเมตรกว่าๆ ?
น่าจะสงสัยไหมว่า เพราะเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงขยันขันแข็งในการรื้อฝายที่อยู่ตอนใต้ของตัวเมือง แต่ไม่แตะการบุกรุกที่ทำให้แม่น้ำแคบลง
น่าสงสัยไปยิ่งกว่านั้นว่า นักการเมืองที่ทำท่าสนใจเรื่องนี้จริงจังเมื่อปีที่แล้ว วันนี้หายไปไหน
จริงหรือที่ฝายหินทิ้งมีอิทธิพลต่อความเร็วของกระแสน้ำมากกว่าโรงแรมขนาดใหญ่ หรือแม้แต่อาคารของทางราชการ ที่รุกล้ำเข้ามาแนวตลิ่งหลายสิบเมตร
จริงไหมที่เจ้าหน้าที่ลำบากใจกันหนักหนากับการแตะปัญหาการบุกรุกแม่น้ำปิง ทั้งอิทธิพล ทั้งท่าทีปกป้องประโยชน์ตนอย่างแข็งกร้าวของผู้ครอบครอง จนโอดครวญหลายครั้งว่าต้องผู้ใหญ่ระดับรัฐบาลเท่านั้นจะมาจัดการได้

และจริงไหมที่ว่าผู้ใหญ่ระดับรัฐบาลก็เมินที่ จะจัดการ

----------------------------------

จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2549
หน้า 30





Create Date : 04 สิงหาคม 2549
Last Update : 9 สิงหาคม 2549 15:49:14 น. 4 comments
Counter : 1250 Pageviews.

 
อีกนิดเดียว...เกือบถึงบ้านเราเลยนะนี่


โดย: zMee วันที่: 4 สิงหาคม 2549 เวลา:17:16:28 น.  

 
เฮ้อ.. พนังคอนกรีต กับกระสอบทรายหรือจะเอาชนะธรรมชาติได้ นี่ก็เกาไม่ถูกที่เหมือนกันค่ะ เสียดายตังค์


โดย: bear in mind IP: 61.90.238.7 วันที่: 4 สิงหาคม 2549 เวลา:18:33:30 น.  

 
ฤดูฝนทีไรเชียงใหม่น้ำท่วมเกือบทุกปี (แต่เท่าที่จำได้ตอนเรียนที่โน่น 10ปี ท่วมทุกปี) เหมือนหัวข้อที่ว่า"ใครจงใจเกาไม่ถูกที่คัน" ตอนเป็นนักเรียนลำบากมากเพราะโรงเรียนตั้งอยู่แหล่งที่ต้องฟ่าฟันน้ำท่วมไปเรียน เฮ้อเมื่อไรปัญหาจะหมดสักทีั หรือแกล้งเกาไม่ถูกที่ไปอย่างนี้เรื่อยๆ เมื่อปีที่แล้วกลับบ้านไปกินข้าวกับเพื่อนๆที่ร้านเฮือนโบราณเห็นน้ำปิงเอ่อเชียว ยังพูดกันเล่นว่าถ้ามันท่วมร้านจะเป็นยังไง วันรุ่งขึ้นเพื่อนบอกน้ำท่วมร้านจริงๆประมาณน้ำขึ้นตอนตีสาม(ทุกคนหลับไหล) งานนี้ไม่รู้ร้านอาหารริมน้ำแม่ปิงเจ็บตัวกันแค่ไหน นี่แค่กลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวที่เจอปัญหา ยังมีอีกมากมายนักต้องเจ็บตัวกับปัญหาที่เกากันไม่ถูกที่มาเป็นแรมปี(หลายปี)


โดย: Dressy วันที่: 4 สิงหาคม 2549 เวลา:20:45:18 น.  

 
เท่าที่ฟังมา ปัญหามาจากสองส่วนครับ

- แม่ปิงระบายน้ำไม่ทัน เพราะถูกรุกล้ำ ... ตามเนื้อข่าว
- อีกส่วนคือเพราะสาระพัดอภิโปรเจคที่ผุดขึ้นมา ได้เปลี่ยนทิศทางของน้ำไปมากมาย

แม้จริงๆแล้วน้ำท่วมทุกปีอย่างคุณ Dressy ว่า
แต่มันก็ท่วมน้อย และสั้นๆ

ปัญหาน้ำท่วมมาหนักเอาช่วงไม่กี่ปีหลังนี้แหละ


โดย: หมีเซอะ วันที่: 5 สิงหาคม 2549 เวลา:14:19:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมีเซอะ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เหมือนแมวอย่างกะแกะ..!!
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2549
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 สิงหาคม 2549
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หมีเซอะ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.