อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
สะจุก-สะเกี้ยง-เปียงซ้อ ความหวังถักทอ เหนือทิวดอยขุนน้ำน่าน



เที่ยวน่าน

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร เรื่อง
ธีระพงษ์ พลรักษ์ ภาพ


ระหว่างไต่เลาะขึ้นสู่ภูเขา ผืนดินในหุบดอยคล้ายพรมสีเขียว ข้าวและพืชเศรษฐกิจเบื้องล่างหลอมรวมกับบ้านเรือน สายน้ำเปิดโลกกลางขุนเขาให้พริ้งเพริดสำหรับผู้รอนแรมยาวไกลขึ้นมาสัมผัส ถนนยังคงวกวนและชันดิ่งไปในขุนเขาแห่งอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เปิดเผยพื้นที่เกษตรกรรมในยามฝนโปรย ภูเขา ณ ยามนี้คล้ายภาพวาดสีน้ำ แสนเขียวชื่น เย็นตา
เที่ยวน่าน

          ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1181 ที่เราใช้ขึ้นมาจากอำเภอบ่อเกลือ พาเรามาสิ้นสุดตรงหมู่บ้านชาวลัวะเล็ก ๆ เบื้องหน้าที่ทอดยาววางกั้นคือทิวดอยเขียวครึ้ม ซึ่งมีแผ่นของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอยู่อีกฟากฝั่ง ชายแดนคล้ายละลายหายเมื่อเราพาตัวเองเข้าสู่ความเป็นขุนเขา บ้านเรือนรายทางตามแนวเนิน คือพี่น้องไทยภูเขาชาวลัวะ ที่ในอดีตไม่เกิน 50  ปี มันคล้ายดินแดนที่เป็นเหมือนบ้านทางความคิดและอุดมการณ์ เคยห่มคลุมด้วยชีวิตแร้นแค้น ความรู้สึกทดทับเอารัดเอาเปรียบ รวมไปถึงการต่อสู้แสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

เที่ยวน่าน

          วันที่เหตุผลไม่ได้อยู่แค่ใครผิดถูก เราขึ้นไปถึงหมู่บ้านสามสี่กลุ่มบนทิวดอยขุนน้ำน่าน กลางชีวิตดงดอยผ่านพ้น หากหลับตาแล้วโยนเรื่องราวของวันวานทั้งไป ภาพตรงหน้าคล้ายเมืองในนิทาน สุขสงบ เรียบง่าย มากไปด้วยเรื่องเล่าอันเก่าแก่ และชัดเจนอยู่ซึ่งหนทางสะท้อนความเป็นตัวตน จนเมื่อใครสักคนตรงนั้นทำให้เราเชื่อว่า ชีวิตอาจคล้ายพืชพรรณ มีรากเหง้า กิ่งก้าน และดอกผล มีรวดร้าวและแย้มยิ้มผสมผสานอยู่อย่างจริงแท้

          และก็คล้ายจะบอกว่าหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางดอยงดงามของพวกเขานั้นมีอยู่จริง ใช่เพียงล่องลอยแต่ในความใฝ่ฝัน

เที่ยวน่าน

          1. เหนือความสูงบริเวณบ้านเวร ข้าวดอยเพิ่งปักกล้า เปลี่ยนผ่านฤดูแล้งและภาพชินตาของเขาหัวโล้นไปสู่รื่นเขียว ทางลาดยางที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อสายนั้นกำลังได้รับการเยียวยา มันพาเรายกตัวขึ้นไปเหนือผืนราบและนาข้าวที่ราวกับจุดเช็กพอยนต์ของคนผ่านทางแถบบ่อเกลือกับเฉลิมพระเกียรติ ที่ราบสีเขียวผืนเล็ก ๆ ตรงหน้าเต็มไปด้วยกล้าข้าวแทงยอดไล่ระดับไปตามสันดอย

เราค่อย ๆ เพิ่มกำลังเครื่องของรถชรา บ่ายหน้าขึ้นไปเป็นหนึ่งเดียวกับทิวดอยขุนน้ำน่าน รายทางเต็มไปด้วยแปลงข้าวโพดต้นฤดูเพาะปลูก รวมไปถึงมองไกลไปยังผืนป่าที่หลงเหลือจากการถากถางเพื่อเกษตรกรรมทำกินในอดีต ฤดูฝนกลืนผสมให้มันกลายเป็นภาพชื่นตาอันเต็มไปด้วยการจัดการอันทับช้อนของคนบนดอยหลายกลุ่ม ปฏิเสธได้ยากว่ามันคือความงดงาม เราเข้าใกล้หมู่บ้านบนดอยขึ้นไปทุกที ภาพพาโนรามาของขุนเขาห่มหมอกฝนกระจ่างตา บ้านเรือนสามสี่หย่อมกระจุกตัวคล้ายกลุ่มสีบนผืนผ้าใบสีเขียว ยอดภูแวเสียดสูงขึ้นไปลิบลิ่ว

          เรามาถึงบ้านของพวกเขา พี่น้องชาวลัวะแห่งบ้านสะจุก เหนือถนนที่ตัดผ่านไปบนสันเขาเรียงรายด้วยบ้านเรือนอันแข็งแรงมั่นคง ใครสักคนว่ามันช่างแตกต่างจากอดีตกว่า 50 ปี ที่คนรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาต้องพบเผชิญ

เที่ยวน่าน

          กล่าวสำหรับบรรพบุรุษของพวกเขา ชีวิตกสิกรรมตามป่าเขาค่อยผสมผสานกับวัฒนธรรมความเชื่อที่ติดตัวมา ผู้คนชาวลัวะกระจายกันตั้งถิ่นฐานตามภูเขาขอบแดนไทย-ลาว ว่ากันว่าการปักหลักอยู่บนพื้นที่แถบน้ำว้าตอนต้นของชาวลัวะแต่โบราณ อาจเป็นที่มาของชื่อ “น้ำว้า” ที่หลายคนเรียกขาน บางสายทางวิชาการเรียกพวกเขาว่าชาว “ถิ่น” ซึ่งแยกย่อยแตกพ่ายหนีการสู้รบภายในช่วงแผ่นดินลาวแถบไซยะบุลีเข้าสู่แดนดอยล้านนาตะวันออก ราวปี พ.ศ. 2419 หลายคนเรียกพวกเขาว่า “ถิ่น” ซึ่งน่าแปลกที่พวกเขาไม่เคยเรียกขานตัวเองเช่นนั้น ยังแทนตัวเองว่าลัวะเสมอมา

          ตามหัวมุมถนนทุกโค้งเลี้ยวในบ้านสะจุกมักเต็มไปด้วยผู้คนตรงร้านค้า ว่ากันว่าหมู่บ้านของคนลัวะแถบดอยขุนน้ำน่านนี้คือหนึ่งพื้นที่จรยุทธ์ช่วงชิงมวลชนในอดีต ระหว่างที่ผืนแผ่นดินเขตเขาเมืองน่านตกอยู่ในภาวะขัดแย้งทางอุดมการณ์ และเป็นฐานที่มั่นรวมไปถึงพื้นที่สู้รบระหว่างฝ่ายทหารของรัฐบาลไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

เที่ยวน่าน

          ความยากลำบากในอดีตที่รายรอบล้วนมีแต่ป่าเขา ส่งผลให้ชีวิตหมุนวนอยู่แค่ไร่นาตามฤดูกาล คนลัวะที่อพยพเร่ร่อนข้ามแดนดินลาวมาสู่เขตของน่านล้วนกลายเป็นประชากรชั้นสอง ความเป็น “ข้างบน” และ “ข้างล่าง” ดำเนินร่วมกันไปในความแปลกแยกและเส้นกั้นที่เรียกว่ากฎหมาย

          เฒ่าชราไม่อาจลืมการเก็บภาษีอากร ทั้งพืชไร่ ที่ดิน ตอไม้ หรือแม้แต่เรื่องการแต่งกายในอดีตของหญิงลัวะ ที่ต้องเสียภาษีให้ในนามของการขูดรีด เป็นที่มาของคำว่า “ภาษีเต้านม” ทั้งหมดทั้งมวลก่อให้เกิดภาวะแห่งการไม่ยอม จนเป็นที่มาของกระบวนการต่อสู้ของคนบนภูเขา ขบวนการเจ้าต้นบุญ หรือที่ภาครัฐเรียกว่า “กบฏผีบุญบ้านห้วยชนิน” ราวปี พ.ศ. 2508 พวกเขาแสดงออกผ่านการเข้าทรงบอกต่อถึงการไม่ยอมถูกเอาเปรียบในด้านต่าง ๆ และพร้อมจะจับอาวุธเข้าต่อสู้

          หลังการมาถึงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แนวคิดและอุดมการณ์ที่เอาความเท่าเทียมเป็นที่ตั้งเอื้อรับสำหรับคนไร้ที่พึ่งอย่างชาวลัวะเมืองน่าน พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมรบ และแปรเปลี่ยนขุนเขาให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความหวังร่วมกับ พคท.

เที่ยวน่าน

          ฐานที่มั่นของ พคท. ในเขตน่านค่อยเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งการสนับสนุนจากจีน ลาว และเวียดนาม จากการเริ่มต้นเงียบ ๆ ในปี พ.ศ. 2505 จนในปี 2511 หลังยุทธการทุ่งข้างอันลือลั่น เขตภูเขาแถบภูแวก็กลายเป็นเขต “ปลดปล่อย” เขตแรกของเมืองไทย ดินแดนน่านฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปัว บ่อเกลือ ทุ่งช้าง เชียงกลาง และเฉลิมพระเกียรติ ที่เหยียดยาวด้วยผืนภูเขา นับร้อยกิโลเมตรกลายเป็นเขตปลดปล่อย ฐานที่มั่นของ พคท. ย้ายจากอีสานมาสู่น่าน จนมีสำนัก 708 แถบภูพยัคฆ์เป็นฐานที่มั่นหลัก

       การต่อสู้ของคนบนภูเขากับรัฐบาลต่อเนื่องยาวนาน ภูเขาเปิดรับผู้คนอีกหลากหลาย ทั้งเหล่านักศึกษาที่เข้ามาร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์นองเลือดที่ราชดำเนิน 6 ตุลาคม 2519 ความเป็นพี่น้องของนักคิด นักเขียน กวี และชาวบ้านต่างเดินไปบนหนทางเดียวกัน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อโลกแบ่งเป็นสองขั้ว ลาวและเวียดนาม ต่างมุ่งปลดปล่อยตนเอง แดนดอยเขตน่านโดดเดี่ยวตนเองในหนทางปฏิวัติ รวมถึงนโยบายคืนเมือง เลขที่ 66/23 หลายคนวางปืนและเดินลงจากดอย ไร้เสียงปืนและการสู้รบ

เที่ยวน่าน

          ความหวังมีหน้าตาเป็นเช่นไร คงเหลือเพียงผู้คนแห่งขุนเขาที่ต้องเดินต่อและไถ่ถามเอากับปัจจุบันอันเป็นไป

          จากบ้านสะจุกที่เรียงรายสองฟากถนน เราไต่เลาะสันเนินชันขึ้นไปบนพื้นผิวดินหมาดฝน บ้านสะเกี้ยงวางตนเองไปตามไหล่ดอย นาขั้นบันได และสวนกล้วยถูกปลูกเป็นหย่อมย่าน มันค่อนข้างเรียบง่าย แม้ไม่เหมือนกับที่เคยผ่านมาในยุคปู่ย่า หลายคนกำลังคัดเลือกสารกาแฟ เมล็ดดิบที่พวกเขาได้รับการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อส่งต่อไปด้านล่าง ยังไม่นับรวมผักเมืองหนาวผลไม้นานาที่พวกเขารอเวลาอันเหมาะสมที่จะลงมือปลูก

          ขณะที่ใครสักคนทอดมองไปยังทะเลภูเขายาวไกลเบื้องล่าง ผืนป่าที่หดหายห่มคลุมด้วยแปลงพืชไร่อย่างข้าวโพด ทว่าชีวิตเหนือแดนดอยอย่างบ้านสะจุกและสะเกี้ยงยังมีคำตอบในหนทางใหม่ที่พวกเขาเลือกเดิน หนทางที่พาตัวเองผสานรวมไปกับพืชผล และความคิดความเชื่อที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ หนทางของพวกเขาเป็นเช่นไร เราคล้ายจะพบว่ามันเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นของคนหลายกลุ่มเหนือดอยขุนน้ำน่านในหลายวันต่อมา

เที่ยวน่าน

          2. ทางชันสายนั้นยกตัวขึ้นเหนือความสูงกว่า 1,200 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ก่อนถึงบ้านสะจุกเล็กน้อย ยามเย็นเป็นเรื่องงดงามเมื่อเราขึ้นไปเยือนสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง ถนนเวียนวนเพื่อลดความชันของแนวสูง แปลงชาอูหลง ข้าว และสวนกล้วยลัดหลั่นเล่นระดับ หลังฝนโปรยเรากระโดดลงจากรถเพื่อเพ่งมองรุ้งกินน้ำตัวโตพาดผ่านทิวดอยโลกกสิกรรม และปราการขุนเขากว้างไกล

          แลนด์สเคปแสนสวยภายในสวนทั้งบ้านพัก โรงเรือน ใช่เพียงพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยว ทว่ามันเป็นดั่งต้นทางของการดูแลพี่น้องชาวลัวะทั่วแดนดอยขุนน้ำน่าน พี่หล้า-เจษฎา มาเมือง ค่อยพาเราเวียนแวะไปตามทางเล็ก ๆ ที่ไต่ขึ้นไปสู่สานเฮลิคอปเตอร์ พื้นที่เสด็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ

เที่ยวน่าน

          “เราเริ่มจากให้พวกเขาหยุดการทำไร่เลื่อนลอย ลดการทำไร่ข้าวโพด หันมาให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเมืองหนาว กาแฟ ผักผลไม้ ที่สำคัญต้องให้มากไปด้วยการต่อยอดสืบเนื่อง” พี่หล้าว่าการเริ่มต้นนั้นยาก ใครเลยจะคิดว่ามันจะขายได้ แต่นั่นมันเป็นเรื่องนานมากกว่า 10 ปีแล้ว

          “เรามุ่งหวังเก็บพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไว้ ถนอมป่าต้นน้ำที่เคยสูญหาย” พี่หล้าบอกถึงจุดมุ่งหมายจริงแท้ของสถานีพัฒนาการเกษตร

เที่ยวน่าน

          จากบ้านอันถูกกดทับ เอารัดเอาเปรียบ เปลี่ยนเป็นโลกแห่งอุดมการณ์และการสู้รบ ณ วันที่ภูเขาทิวเดิมอ่อนล้าจากการปรับใช้ หลายคนที่นี่เริ่มรู้ว่าชีวิตอันสุขสงบอาจเริ่มได้ด้วยการดูแลผืนแผ่นเดิน

          ภายในพื้นที่ของสถานีพัฒนาการเกษตรคือโลกแห่งการดูแลชาวบ้าน โรงเรียนอนุบาลปศุสัตว์ ด้านในเต็มไปด้วยแพะ หมูดำ ไก่สายพันธุ์พื้นเมือง ทั้งไก่ม้ง ที่อึด ทน รวมไปถึงไก่ลัวะ ยังมีเป็ดเทศที่ให้ไข่กินได้ “เราเริ่มต้นให้พวกเขาก่อน ใครต้องการเลี้ยงสัตว์มารับไปได้เลย”

          ใกล้ลานเฮลิคอปเตอร์คือชายแดนไทย-ลาว พี่น้องชาวลัวะที่มารับจ้างทำงานในโครงการจ่อมจมตัวเองตรงแปลงกล้าพันธุ์มะขามป้อม หมามุ่ย ฤดูกาลผักยังมาไม่ถึง ไม้พันธุ์ต่าง ๆ เวียนหมุนหลากหลาย จากระยะแรกเริ่มที่จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตร งานหลักคือรักษาป่าต้นน้ำ ฟื้นฟูสภาพดินที่ผ่านการอยู่กินแบบปล่อยมายาวนาน

  “ตอนนั้นด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถครับ ท่านขอให้เก็บพื้นที่ต้นน้ำน่านนี้ไว้ให้สมบูรณ์ งานของพวกผมเริ่มขึ้นหลังจากนั้น คือทำอย่างไรให้พวกเขาอยู่ได้ เรามีแต่ให้ครับ ให้กล้าพันธุ์ให้ความรู้ให้งาน รวมไปถึงหาตลาดให้” งานของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ด้วยหัวใจของคนที่มาทำงานอย่างจริงจัง คนที่นี่ถึงเข้าใจ

          นั่งกันอยู่ในโรงอาหารของสถานีพัฒนาการเกษตร กาแฟกรุ่นหอม รอบด้านคืองานการอันไม่เคยสิ้นสุด เราเฝ้ามองดูหนทาง “แรกเริ่ม” ของพวกเขาที่ทอดยาว จากกล้าพันธุ์เล็ก ๆ เกี่ยวโยงชีวิตคนของขุนเขา ไล่เลยไปสู่วันที่ผลิตผลออกดอกงอกเงย ใครต่อใครก็อยากขึ้นมาเยือนที่นี่พร้อมสายลมหนาว นาทีเช่นนั้นโลกกลางขุนเขาที่สะจุก-สะเกี้ยง อาจหาใช่พื้นที่แปลกเปลี่ยวเดียวดายเช่นในอดีตที่ผ่านพ้นล่วงเลย

เที่ยวน่าน

          3. ทุกเช้าหลังฝนหมาดเม็ด หมอกขาวอ้อยอิ่งตามเรือนป่าและม่านขุนเขาอีกฟากด้าน เราพบตัวเองที่บ้านเปียงซ้อแทบทุกวัน ร่วมไปกับคนลัวะที่ตระเตรียมเดินทางลงไปสู่ไร่นาต้นฤดูเพาะปลูก

          แปลงนาขั้นบันไดปูลาดเนินเขา ตรงนั้น ตรงโน้น เห็นชาวบ้านประดับประดาให้ผืนพรมสีเขียวยิ่งดูมีชีวิต เรายืนมองมันไปพร้อม ๆ กับ ธนันดร บัวเหล็ก หนุ่มลัวะบ้านเปียงซ้อ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จากนั้นไม่นานเขาค่อย ๆ พาเราเข้าไปสู่ผืนดินตรงหน้า ผืนดินที่ซุ่มซ่อนด้วยแนวคิดและทฤษฎีเกษตรนานา อันมีที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

          บ้านเปียงซ้อมั่นคงเติบโต ทางซีเมนต์หลายเส้นพาเราเวียนไปหาชีวิตที่ดีที่พวกเขาได้สัมผัส โรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ประถมถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เซ็งแซ่ด้วยเสียงเด็กหลายวัย มันมีที่มาอันยั่งยืนก็ด้วยการร่วมกันพัฒนาระหว่างคนข้างบนและข้างล่าง โลกเกษตรแบบดั้งเดิมที่ผนึกแน่นอยู่กับชีวิตคนลัวะแห่งเปียงซ้อ และหลายหมู่บ้านใกล้เคียงดำรงตนอยู่ด้วยแปลงข้าวไร่ ระบบหมุนเวียนโยกย้ายระหว่างนาข้าว สลับกับไร่พริก งา ฟักทอง รวมไปถึงข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองและพืชตระกูลแตง การเปลี่ยนเวียนแปลงเกษตรและชนิดพืชแบบที่ “ทิ้งไว้” และกลับมา “ทำใหม่” เพราะเชื่อในเรื่องของการพักฟื้นคืนแร่ธาตุให้ดินเดินสวนทางกับป่าไม้ที่หดหายตามการกระจายตัวและการทำกินที่มากขึ้น

          “ไม่มีอะไรผิด ถูกไปหมดครับ ข้าวไร่นั้นมีหลากหลายสายพันธุ์มาก ทุกวันนี้ใครก็ต้องการ” ธนันดรเล่าถึงข้าวของปู่ย่าที่เขาเห็นมาแต่เล็ก ที่วันนี้การทำไร่หมุนเวียนอาจต้องการการดีความใหม่ “เราส่งเสริมให้เขาทำนาขั้นบันไดครับ เช่นนั้นทางมูลนิธิต้องเน้นการจัดการในการเพิ่มแร่ธาตุในดิน เพิ่มแหล่งน้ำ”

    บ่อพวงสันเขาและนาขั้นบันไดถือเป็นรูปธรรมหลักของมูลนิธิ ในพื้นที่นำร่องอันเป็นป่าต้นน้ำของเมืองไทยอย่างแดนดอยเมืองน่าน จากพื้นที่ฝนตกเหนือเขา ทว่ากลับไร้แหล่งเก็บกักน้ำ “บ่อพวงสันเขา” ที่ทางมูลนิธิสร้างเป็นต้นแบบจะเก็บรองน้ำฝน รวมถึงมีแนวส่งน้ำเข้าในพื้นที่แยกแปลงอย่างเพียงพอ  ข้าวไร่หลากหลายสายพันธุ์ดั้งเดิมถูกศึกษาทดลอง เคียงคู่ไปกับการจัดการแบบบูรณาการจากหลายภาคส่วน ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ นวเกษตร ลดการปลูกเชิงเดี่ยว ทว่าก็ทำความเข้าใจและไถ่ถามถึงความคิดความเชื่อดั้งเดิมไปร่วมกัน เพื่อการมีกินและมีอยู่ของพวกเขา

          “ปิดทองไปเรื่อย ๆ ทองมันก็ล้นออกมาเอง” ธนันดรเอ่ยถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังเราโขยกรถผ่านหล่มโคลนและทางแสนลื่นไปสิ้นสุดที่บ้านบวกอุ้ม ผู้คนและหมู่บ้านเรียบง่ายที่ชายแดนเต็มไปด้วยบรรยากาศดั้งเดิมแบบที่นักมานุษยวิทยาหลงใหล แต่มันเดินสวนทางสิ้นเชิงกับภาพจริงที่รอการพัฒนา

          เราขึ้นไปนั่งกันในครัวแยกส่วนและเรือนแบบดั้งเดิมของคนลัวะบ้านบวกอุ้ม ฝนพรำสาย แม่เฒ่าและเด็ก ๆ ที่ฝั่งตรงข้ามสั่นเทา หลังฝนหมาดทางเดินดินแดงพาเราเข้าไปรู้จักใบหน้าค่าตาของความทุกข์ยากที่ฉาบเคลือบอยู่ในไมตรีของพวกเขา ขนม น้ำชาถูกหยิบยื่น เสียงเชื้อชวน “ปองซา” ให้กินข้าว แม้จะเป็นเพียงของกินธรรมดา ทว่าความอบอุ่นนั้นเป็นอีกเรื่องที่ชุบชูหัวใจของคนที่ยืนอยู่บนทิวดอยเดียวกัน

          ระหว่างเคลื่อนตัวเองออกจากบวกอุ้ม ผ่านเปียงซ้อและไล่ลงดอยสู่สะจุกตามความชันลดหลั่น นาขั้นบันไดและผืนป่าปะปนผสมผสานคล้ายคลึงกับชีวิตคนข้างบนนี้ และถนนสายนั้นก็อาจงดงามจับใจ ทว่ากับบางหนทางที่ทอดมุ่งและพาเราไปสู่ความงดงาม ใครเลยจะหยั่งรู้ได้ว่าการมาถึงของมันจะนำพาและฉีกพรากอะไรกับชีวิตเราบ้าง

เที่ยวน่าน

          4. เสียงเจื้อยแจ้วในเช้าวันศุกร์ครั้งนั้นฟังดูตรึงตรา เราตอบตัวอีกครั้งได้ว่า ณ นาทีเช่นนี้คือห้วงเวลางดงามอย่างจริงแท้ ไร้การปรับเปลี่ยนปรุงแต่ง

          แยกซ้ายที่จากบ้านสะจุกลงสู่บ้านห้วยฟอง ที่โรงเรียนบ้านห้วยฟอง เด็กเล็กและหนุ่มสาวมัธยมต้นต่างแต่งกายด้วยชุดลัวะสีดำคาดแถบสีสดใส โรงเรียนใหญ่โตของห้วยฟองรองรับเด็ก ๆ จากสะจุก สะเกี้ยง และพื้นที่เขตเขารายรอบ คุณครูอีกร่วมยี่สิบคนนั่นก็อีก ชีวิตแดนดอยที่เลือกมาปักหลักทำให้งานหนักของพวกเขาเพิ่มขึ้นจากที่ราบทบทวี

          เราเดินตามไปดูการทำไม้กวาดจากต้นก๋ง หรือที่คนลัวะเรียกดอกหญ้าชนิดนี้ว่า “หยูว์” เด็กน้อยค่อยสอดสานและผูกมัดงานฝีมือ ขณะที่ไกลโรงเรียนออกไปที่บวกหรือหนองน้ำประจำหมู่บ้าน มีร่องรอยของการไหว้สโลดหรือผีบวก ปรากฏเป็นรูปเรือนไม้เล็ก ๆ กรุกระดาษหลากสี

          “เด็ก ๆ ที่นี่เราไม่ลืมจะต้องบรรจุคาบวัฒนธรรมชุมชนลงไปด้วยครับ” ครูหนุ่มจากบ้านสะจุกบอกถึงคาบวิชาภาษาถิ่นและงานฝีมือของพวกเขา รวมไปถึงการหลอมรวมและประยุกต์ให้ความเข้าใจกับเด็ก ๆ ทั้งในเรื่องความเชื่อดั้งเดิมและการปรับเปลี่ยนไปสู่โลกไปใหม่ของพวกเขา

          ไม่ไกลจากโรงเรียน กลุ่มแปรรูปกล้วยกรอบบ้านห้วยฟองก็ปรากฏเป็นอาชีพเสริมง่าย ๆ ที่พวกเขาเลือกทำนอกเหนือไปจากไร่นาและการงานที่หล่อหลอมแบบดั้งเดิม เราหยิบกล้วยทอดกรอบรสอมเปรี้ยวหวานเข้าปาก ทำความรู้จักทิศทางชีวิตใหม่ ๆ ของคนลัวะแห่งดอยขุนน้ำน่านร่วมไปกับพวกเขา

          ในความเป็นไปหลายหลากที่ซุกซ่อนอยู่ในขุนเขาห่างไกล ดูเหมือนจะมีแต่พวกเขาเองเท่านั้น ที่รู้ว่าตีความและจัดวางชีวิตและหัวใจไว้เช่นไร ในแต่ละฤดูกาลที่ชีวิตต้องพบเผชิญ

  ระหว่างลัดเลาะสันเขาลดระดับความสูงลงจากหมู่บ้านสามสี่หมู่บนทิวดอยขุนน้ำน่าน รอบด้านคือความงามที่ไม่เคยจางคลายไปจากวันแรกที่ฝ่าฝนขึ้นมาเยือน ชื่อหมู่บ้านหลากหลายที่พานพบ แต่ดั้งเดิมมันล้วนถูกกำกับว่าเป็นหมู่บ้านของพี่น้องชาวไทยภูเขาผู้ห่างไกล เป็นแนวร่วมและจดจารบันทึกอยู่ด้วยคำว่าสงครามอุดมการณ์และความขัดแย้ง ทว่าวันนี้ในวันที่แดดอุ่นส่องฉาย ละลายหมอกหนาว พืชพรรณหลากหลายงอกงามผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ชื่อหมู่บ้านที่พานพบเหนือยอดดอยอาจเปลี่ยนนิยามไปสู่ความหวังและความอบอุ่นที่พวกเขาเฝ้าใฝ่ฝันถึง

เที่ยวน่าน

ขอขอบคุณ

          คุณพงษ์ศักดิ์ ปาสาบุตร คุณเจษฎา มาเมือง จำสิบเอก ศรีผล มูลสิงห์ คุณจารุศิริ บัวเหล็ก และทุกคนที่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง สำหรับการต้อนรับและดูแลอย่างอบอุ่น ตลอดช่วงเวลาจัดทำสารคดี

คู่มือนักเดินทาง

การเดินทาง

          จากตัวอำเภอเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1169 ผ่านอำเภอสันติสุข จากนั้นแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1257 แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1333 ไปถึงอำเภอบ่อเกลือ แล้วจึงใช้ทางหลวงหมายเลข 1081 มุ่งสู่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ แยกขวาที่บ้านขุนน้ำน่าน (หลักกิโลเมตรที่ 21) ขึ้นดอยด้วยทางลาดยางผสมทางลูกรังเป็นบางช่วง ถึงสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง หมู่บ้านสะจุก หมู่บ้านเปียงซ้อ และหมู่บ้านบวกอุ้มตามลำดับ รวมระยะทางราว 139 กิโลเมตร จากบ้านขุนน้ำน่าน สภาพทางสูงชันและทุรกันดาร ควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อสมรรถนะดี

กินอิ่มและนอนอุ่น

          สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง มีบ้านพักลานกางเต็นท์ รวมถึงอาหารให้บริการช่วงฤดูหนาว เลือกจับจ่ายผลิตภัณฑ์พืชผัก เมืองหนาวทั้งสดและแปรรูปเป็นของฝากได้

          สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 08 4818 1008 เว็บไซต์ www.dnp.go.th เฟซบุ๊ก : สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง อ.เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 57 ฉบับที่ 2 กันยายน 2559


Create Date : 28 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 8:10:46 น. 3 comments
Counter : 1949 Pageviews.

 
เห็นภาพ สวย แปลกตา... น่าไปเที่ยวมากครับ

หมู่บ้านนี้ เพิ่งเห็นในทีวีเมื่อไม่กี่วันมานี้ ชื่อแปลกดีครับ


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 28 ตุลาคม 2559 เวลา:15:28:23 น.  

 
ขอบคุณครับที่นำมาแบ้่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 29 ตุลาคม 2559 เวลา:2:21:10 น.  

 
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ


โดย: สมาชิกหมายเลข 3773459 วันที่: 28 มีนาคม 2560 เวลา:18:18:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.