อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
ภูผาเพชร-เจ็คคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด


ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

จริยา ชูช่วย...เรื่อง 
นภดล กันบัว...ภาพ

"จะไปตะรุเตาหรือหลีเป๊ะล่ะ" เมื่อบอกเพื่อนว่าจุดหมายการเดินทางครั้งนี้อยู่ที่จังหวัดสตูล ใครต่างก็เทความเห็นทายว่าเป็นเกาะสวยกลางทะเลอันดามันไปเสียหมด พอบอกว่าไปเข้าถ้ำ ล่องแก่ง แถบเขาบรรทัด ดูเหมือนจะมีเครื่องหมายปรัศนีบนหน้ากันเป็นแถว นัยว่าถ้ำและแก่งที่นั้นมีดีอะไร ขนาดต้องไปถึงจังหวัดทางใต้ติดชายแดนมาเลเซียเลยหรือ

"ถ้ำนี้กว้างราว 50 ไร่ บางห้องขนาดเท่าสนามฟุตบอล และใหญ่อันดับต้น ๆ ของเอเชีย ทีนี้พอจะน่าตื่นเต้นขึ้นบ้างไหม"

ภูผาเพชร ถ้ำหินปูนใหญ่ใต้เขาบรรทัด 1

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

          นักเรียนกลุ่มใหญ่ 2 คันรถบัส เดินสวนกับพวกเราตรงทางเข้าถ้ำ คิดในใจว่าถ้าทั้งหมดที่เห็นเข้าไปในคราเดียวได้ ถ้ำนี้คงมีขนาดใหญ่สมคำร่ำลือแน่ เมื่อเดินขึ้นบันไดจนถึงปากทางเข้าถ้ำ หลายคนขอนั่งพักเหนื่อย ขณะที่บางคนหยิบบุหรี่มวนสุดท้ายขึ้นมาสูบก่อนเข้าถ้ำ ด้วยเคารพกฎเหล็กคือห้ามสูบบุหรี่ในถ้ำโดยเด็ดขาด เพราะไม่เพียงทำให้เพื่อนร่วมทางหายใจลำบากเท่านั้น แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากควันบุหรี่เมื่อโดนความชื้นในถ้ำ จะกลายเป็นกรดคาร์บอนิก ทำลายหินปูนอย่างรวดเร็ว

พี่สมคิด ทองดี ไกด์ประจำกลุ่มชี้ไปยังรูเล็ก ๆ ส่งสัญญาณว่าให้มุดไปในรูนั้น ฉันยืนอึ้งอยู่สักพักพลางคิดว่าเคยมีคนติดคาปากถ้ำนี้ไหมหนอ จึงให้พี่อีกคนช่วยปิดท้าย เผื่อเคราะห์ไม่ดีจะได้มีคนดันกันเข้าไป ความมหัศจรรย์ปรากฏขึ้น โถงถ้ำใหญ่อลังการจนรู้สึกโปร่งโล่ง ไม่อึดอัด คนกลัวที่แคบและขยาดกับการเข้าถ้ำอับ ๆ สามารถเที่ยวถ้ำภูเขาเพชรได้อย่างสบายใจ ที่สำคัญ มีสะพานไม้ให้เดินโดยตลอด ซึ่งถือเป็นการจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขององค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนาที่น่าชื่นชม เพราะนอกจากจะลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการสะดุดหินหกล้มแล้ว ยังเป็นการกำหนดเส้นทางเดินไม่ให้เข้าถึงหินโดยตรง เพราะเพียงแค่สัมผัสไขมันจากมือเราอาจมีผลให้หินงอกหินย้อยหยุดการเจริญเติบโตได้

          เสาไฟสปอตไลต์ดวงจ้าถูกถอดลง เหลือเพียงไฟทางเดินจากหลอดตะเกียบเล็ก ๆ เท่านั้น เช่นเดียวกัน กำลังไฟที่แรงเกินไปมีผลต่อการเจริญเติบโตของหินงอกหินย้อย และดีใจที่ยังไม่เห็นไฟเจ็ดสีประดับแบบโรงมหรสพเหมือนบางที่

          สุดยอดความสวยงามห้องแรก คือ ห้องม่านเพชร เมื่อไฟฉายส่องกระทบแร่แคลไซต์บนหินย้อยทรงม่านผืนใหญ่ที่พับซ้อนไปมา เกิดประกายระยิบระยับจนสะกดทุกสายตา 

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

เล่ากันว่า หลวงตาแผลง พระธุดงค์จากจังหวัดนครศรีธรรมราชเดินทางมาพบถ้ำนี้เป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2534 และปักหลักนั่งสมาธิที่ห้องนี้ เดินต่อมาผ่านเสาค้ำสุริยันที่มองไปมองมาคล้ายเสาเฉลียงแถบภาคอีสาน แต่มีรายละเอียดหยดย้อยกว่า หรือบ้างก็ว่าเป็นเสาโรมัน สุดแล้วแต่จินตนาการ ถึงห้องปะการัง ตระการตากับหินงอกสองข้างทาง หน้าตาคล้ายปะการังแข็งหลากชนิด จนเพลินคิดได้ว่ากำลังอยู่ใต้ท้องทะเล

          เดินผ่านห้องแล้วห้องเล่า หินงอกหินย้อยทรงแปลกตาต่างผลัดเปลี่ยนกันมาทักทาย ทั้งรูปหัวแหวนเพชร เห็ดหลินจือ ฤๅษี พระพุทธรูป พระเยชู เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ จนมาอ้าปากค้างอีกทีที่ห้องโถง เพดานสูงจากพื้น 45 เมตร ประมาณตึก 10 ขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล บางคนก็เรียกวังค้างคาว เพราะมีเจ้าถิ่นห้อยหัวเหนือโถงถ้ำเต็มไปหมด ส่วนพื้นที่กำลังเหยียบ อย่าคิดว่าเป็นดินธรรมดา เพราะนี่คือขี้ค้างคาวที่ทับถมกันจนแน่นหนาประมาณ 3 เมตร

เดินผ่านลานเพลิน ลักษณะคล้ายเวทีคอนเสิร์ตเตี้ย ๆ จนเมื่อเดินสุดปลายสะพาน เห็นลำแสงธรรมชาติส่องลอดโพรงถ้ำมากกระทบกับตะไคร่บนหินเกิดเป็นแสงสีเขียวทั่วห้อง เป็นที่มาของชื่อห้องแสงมรกต ดื่มด่ำได้สักพักหันไปเจอบรรดาแก๊งเรียงหิน กำลังเดินหาหินให้ได้ขนาดจากเล็กไล่ไปใหญ่ เพื่อนำมาเรียงตั้งแล้วอธิษฐาน ผู้เขียนไม่มีเจตนาลบหลู่ความเชื่อใด ๆ เพียงแต่อยากให้ลองมองว่าฝีมือที่ธรรมชาติจัดวางสวยงาม และลงตัวที่สุดแล้วหรือเปล่า

          ส่วนอีกพวกคือก๊วนโยนเหรียญ เห็นหินแปลกตาเป็นไม่ได้ต้องประลองความแม่นโยนลงรูกันเสียอย่างนั้น เพื่อทำบุญ เสี่ยงโชคสะเดาะเคราะห์ หรือแค่ทำตามคนข้าง ๆ ก็ไม่ทราบ แต่แอบเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องคอยมุดไล่ตามเก็บเหรียญ เพื่อให้คนมาทีหลังได้สัมผัสความงามเช่นที่คุณเห็น นี่ดีที่ยังไม่เห็นแก๊งไม้ค้ำและกุญแจล็อก

หินงอกหินย้อย

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

ถ้ำภูผาเพชรเป็นถ้ำหินปูน 3 ชั้น แต่อนุญาตให้ชมเฉพาะชั้น 1 และ 2 มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ แบ่งเป็นห้องต่าง ๆ กว่า 20 ห้อง ตั้งชื่อแต่ละห้องตามลักษณะของธรณีสัณฐานที่พบเห็น เช่น ห้องม่านเพชร มีลักษณะคล้ายผ้าม่านแขวนเป็นหลีกซ้อนกัน ห้องหัวแหวนเพชร มีลักษณะคล้ายเพชรเม็ดงามบนหัวแหวน เป็นต้น

          หินย้อย คือ ตะกอนของหินปูที่จับตัวเป็นแก่งหรือแผ่น เกิดจากน้ำที่มีสารละลายแคลเซียมในคาร์บอเนตซึมตามรอยแตกของเพดานหรือผนังถ้ำ เมื่อน้ำระเหยและสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเกิดการตกตะกอนของสารแคลเซียมคาร์บอเนต ค่อย ๆ สะสมตัวทีละน้อย แขวนหรือย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ หินย้อยมีอัตราเพิ่มความสูงน้อยกว่า 1.01-3 มิลลิเมตร ต่อปีหินย้อยในถ้ำภูผาเพชรส่วนใหญ่มีรูปร่างคล้ายโดนแบบแมงกะพรุนและแบบม่าน

หินงอก เกิดจากนำที่หยดลงมาจากหินย้อยพอกตัวสูงขึ้น ตอนแรกจะหยดจนเป็นแอ่งน้ำขนาดเล็กนุ่มลงไป และจะพอกตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งจะไปบรรจบกับหินย้อยกลายเป็นเสาหิน หินงอกมีอัตราเพิ่มความสูงช้ากว่าหินย้อย คือ เพิ่มขึ้น 0.005-0.7 มิลลิเมตรต่อปี ในถ้ำภูผาเพชรมีหินงอกรูปทรงต่าง ๆ เช่น ดอกเห็ด ซุ้มวิวาห์ หัวแหวนเพชร สายน้ำเพชร หัวพญานาค พญานาคปรก เคียรพระ เป็นต้น


ภูผาเพชร ถ้ำหินปูนใหญ่ใต้เขาบรรทัด 2

          ได้เวลาเข้าไปทดสอบความมืดในห้องพญานาค เขาว่าในถ้ำมืดกว่ากลางคืนถึง 3,000 เท่า จนเริ่มเข้าใจว่าเหตุใดจิ้งหรีดถ้ำถึงตาบอด จนวิวัฒนาการมาใช้หนวดยาว 1 ฟุต ทำหน้าที่รับสัมผัสแทน ห้องนี้มีความแปลกตั้งแต่ทางเข้าที่มีลักษณะเป็นดินปูดนูนตะปุ่มตะป่ำ บ้างก็ว่าเหมือนเกล็ดพญานาค บ้างก็ว่าเป็นปุ่มนวดเท้า เกิดจากดินสมหินปูนที่ติดรองเท้ามา เมื่อย่ำอัดมากเข้า ๆ กลายเป็นปุ่มนูนแน่น สังเกตว่าในห้องนี้ผนังจะมีรอยหินปูนสูงระดับสะเอวเป็นแนวยาวต่อกันทั่วห้อง ชวนนึกถึงรอยพญานาคเลื้อย นั่นคือระดับที่น้ำเคยท่วมเมื่อ 3,000 กว่าปีก่อน เดินถึงท้ายห้อง ไกด์ให้ลองปิดไฟฉาย คราวนี้ล่ะเข้าใจลึกซึ้งถึงสำนวนมืดแปดด้านขึ้นมาทันที

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

เมื่อปี พ.ศ. 2541 นักโบราณคดีของสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 10 จังหวัดสงขลา เข้าสำรวจถ้ำ พบกระดูกส่วนกะโหลกของมนุษย์ยุคโบราณ เศษภาชนะดินเผาเคลือบลายเชือกทาบ มีเปลือกหอยที่ก้นภาชนะ พบบริเวณชั้น 3 ของถ้ำ ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำท่วมไม่ถึง

          เดินย้อนมาอีกด้านของห้องแสงมรกตไปยังอ่างศิลาใหญ่ ลักษณะคล้ายแอ่งน้ำลดหลั่นเป็นชั้นบันได เบื้องล่างคือหุบเหวลึกกว่า 10 เมตร ลองนึกว่าถ้ามีน้ำไหล นี่คือน้ำตกหินปูนสุดอลังการนั่นเอง

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

ขากลับขณะเดินเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกลอดซุ้มวิวาห์ไปเรื่อย ๆ มาสะดุดตากันหินงอกที่ยังไม่ตาย มีน้ำหยดลงมาตลอดเวลา แปลกกว่าก้อนอื่นตรงที่มีผ้าเจ็ดสีพันรอบ พร้อมเครื่องเซ่นไหว้วางไว้ข้าง ๆ จนร้องอ๋อ เมื่อเห็นรูปร่างของหินละม้ายกับศิวลึงค์ ผู้คนจึงมักมาบนบานขอลูก เพิ่มหน้าที่พิเศษให้เจ้าหน้าที่อีกอย่างคือคอยเก็บผ้าเจ็ดสีไม่ให้พันจนมิดก้อนหิน

          ย้อนกลับมาที่ห้องโถง ผ่านโดมศิลาเพชร หินงอกรูปโดมขนาดมหึมาส่องประกายวิบวับ มีน้ำไหลโชกจากเพดานถ้ำจนทำให้สะพานไม้แถบนี้ถึงกับชำรุด

เมื่อถึงทางออกอยากให้หันกลับไปซึมซับความยิ่งใหญ่ของโถงถ้ำได้เขาบรรทัดอีกครั้ง ใครจะเชื่อว่าทางเข้าแค่พอดีตัว จะพาเราไปพบความงามเหนือจินตนาการ ทำให้การเที่ยวถ้ำสนุกเสียจนลืมโมงยาม มุดออกมาอีกทีก็เย็นย่ำแถมเจอฝนพรำฉ่ำไปทั้งตัว

เจ็ดคต ถ้ำน้ำลอดในอ้อมกอดเขาบรรทัด

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

          จากริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ที่พักของพวกเรา นั่งรถยนต์พร้อมขนเรือคายักย้อนขึ้นไป 5 กิโลเมตร สู่จุดเริ่มต้นล่องแก่งท่าเรือรีสอร์ทฅนชายขอบ เพื่อล่องเรือกลับมายังที่พัก ระยะทางล่องแก่งของเส้นนี้ประมาณ 13 กิโลเมตร หากเข้าถ้ำเจ็ดคตบวกไปอีกราว 1 กิโลเมตร เบ็ดเสร็จประมาณ 14 กิโลเมตร จึงลองประเมินกำลังแขนดี ๆ ว่าพายไหวหรือไม่ แต่อย่างไรเสียเส้นทางทั้งหมดเป็นเส้นทางตามน้ำ เว้นแต่ช่วงเข้าถ้ำเท่านั้น

คลองลำโลนกำเนิดจากเขาบรรทัด มีน้ำไหลตลอดปี เหมาะกับกิจกรรมล่องแก่ง ผู้ประกอบการแบ่งเส้นทางล่องแก่งเป็น 2 ราย เพราะเมื่อถึงหน้าถ้ำต้องยกเรือข้ามโขดหินเพื่อนำมาพายในถ้ำ อีกสายหนึ่งคือสายล่องจากท้ายถ้ำ เส้นนี้ไม่ต้องยกเรือข้ามโขดหิน แต่ต้องพายทวนน้ำเข้ามา ซึ่งเป็นเส้นทางที่เราเลือกวันนี้

ท่องเที่ยว

          เมื่อเอ่ยถึงความเสียวของการล่องแก่งคลองลำโลน เรียกว่าสบาย ๆ อยู่ในระดับ 1-3 ไม่มีแก่งให้ระทึกจนลืมหายใจ อยากกระโดดลงจากเรือเล่นน้ำเมื่อไหร่ก็ได้ ครั้นเรือคว่ำก็ไม่ต้องกลัว เพราะน้ำสูงไม่เกินระดับสะเอว (ยกเว้นหน้าน้ำหลาก) นับเป็นสนามฝึกพายคายักที่ดีสำหรับผู้เริ่มต้น

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

เราล่องมาถึงท้ายถ้ำเจ็ดคต ซึ่งเป็นถ้ำน้ำลอด ที่ช่วยย้อนภาพถ้ำภูผาเพชรเมื่อหลายพันปีสมัยที่มีน้ำขังได้ชัดขึ้น ส่วนเหตุที่ใช้ชื่อเจ็ดคตเพราะระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตรภายในถ้ำ มีคดหรือโค้งนับรวมได้ 7 คด พอดิบพอดี แต่ละคดเรียกชื่อตามลักษณะที่พบ (เรียงจากปากถ้ำมาท้ายถ้ำ) ได้แก่ คดระฆังทอง คดบัวคว่ำ คดกุหลาบหิน คดค้างคาว คดมรกต คดม่านย้อย และคดแผนที่ประเทศไทย


          เมื่อถามชาวบ้านแต่ละคนต่างเรียกชื่อคดไม่เหมือนกัน เพราะไม่มีการกำหนดชื่อตายตัว เอาเป็นว่าสุดแล้วแต่คุณเห็นหรือรู้สึกอะไรขณะผ่านคดนั้นก็เรียกไปตามนั้น

เมื่อหลายสิบปีก่อนถ้ำเจ็ดคตเคยเป็นฐานที่มั่นค่ายป่าพนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถ้ำนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางลำเลียงของทหารป่า ซึ่งช่วยย่นระยะทางได้หลายสิบกิโลเมตร

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

          เราพายทวนน้ำจนไปบรรจบปากถ้ำอีกด้าน เห็นซากเรือคายัก 3 ลำ ติดอยู่ตามซอกโขดหิน พิจารณาจากกระแสน้ำไม่น่าทำให้เรือกระแทกหินจนอับปางแต่อย่างใด แต่น่าจะเป็นเรือที่ชำรุดแล้วลอยจากรีสอร์ทมาติดโขดหิน หรือไม่คนพายก็ตั้งใจทิ้งเรือเก่าไว้ตรงนี้ ขากลับลองชวนเพื่อน ๆ ตั้งนับคดอีกทีว่าครบ 7 คดจริงไหมหนอ คราวนี้ชื่อเริ่มเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เห็นอีกเช่นเคย คดม่านย้อยเมื่อครู่ ครั้นดูใหม่ขากลับก็คล้ายดอกจำปียักษ์ไปเสียอย่างนั้น

และแล้วก็มาถึงคดสุดท้าย ขณะล่องเรือจนถึงท้ายถ้ำคนพายบอกให้แหงนหน้ามองตามแสงสว่างที่ปรากฏขึ้น แผนที่ประเทศไทยค่อย ๆ เผยโฉมทีละนิด เริ่มจากภาคใต้ไล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเต็มทั้งประเทศ ให้ความรู้สึกอะเมซิ่งไทยแลนด์อย่างมาก เป็นการออกจากถ้ำมีดที่งดงามที่สุด นับเป็นความอัศจรรย์ของธรรมชาติกับความชาญฉลาดของคนผูกเรื่องราวโดยแท้

รู้จักเขาบรรทัด

          เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 4 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 805,000 ไร่ ในส่วนจังหวัดสตูลมีพื้น 210,000 ไร่ อยู่ในอำเภอทุ่งหว้าละงู มะนัง และควนกาหลง ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้ประกาศเพิกถอนพื้นที่บางส่วนในจังหวัดสตูล จัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองภาคใต้ ให้ราษฎรทำกินในตำบลปาล์มพัฒนาและตำบลนิคมพัฒนา

ส่วนเขาบรรทัด คือ ส่วนปลายของเทือกเขานครศรีธรรมราช ทอดผ่านจังหวัดตรัง พัทลุง สงขลา และสตูล วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ไปบรรจบกับเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นป่าดิบขึ้นและป่าดิบเขา สูงจากระดับทะเลปานกลาง 100-1,350 เมตร เขาบรรทัดเป็นตัวแบ่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดตรัง ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของคลองหลายสาย คลองฝั่งตะวันออกไหลออกสู่ทะเลสาบสงขลา เช่น คลองนาท่อม คลองหัวมร คลองท่ามะเดื่อ คลองป่านอน คลองพรุฟ่อ และคลองรัตภูมิ ส่วนฝั่งตะวันตกไหลลงสู่ทะเลอันดามัน เช่น แม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน คลองสีพัง และคลองละงู ส่วนคลองลำโลนที่เราล่องแก่งนี้จะไหลไปรวมกับแม่น้ำสายอื่นที่คลองละงู ก่อนไหลออกสู่ทะเลอันดามันที่ปากบารา

"ชาวป่า" เรื่องเล่าคนแห่งเขาบรรทัด

ท่องเที่ยว

          ตามเส้นทางล่องแก่งหากเราโชคดีจะได้เจอ "ชาวป่า" ตั้งทับ (ที่อยู่) อยู่บนเขาไม่ไกลนัก เหตุที่ผู้เขียนเรียกว่าชาวป่า ไม่เรียกเงาะป่าหรือซาไก จะขอยกไปกล่าวไว้ในล้อมกรอบท้ายเรื่อง

  ครั้งนี้ฉันเองก็ไม่ได้นึกว่าจะเจอชาวป่าแต่อย่างใด เพราะรู้ว่าพวกเขาจะย้ายทับไปเรื่อย ๆ เมื่อแหล่งอาหารรอบ ๆ หมด หรือมีคนตายในกลุ่ม หรือไม่ก็ถ่ายอุจจาระเข้ามาเกือบถึงทับ นั่นหมายความว่าเขาจะไปถ่ายที่ไกล ๆ ก่อนแล้วค่อยขยับเข้าใกล้ที่พักเรื่อย ๆ

          เราได้พบ น้าเชิด ชูชุม ซึ่งเป็นเพื่อนเล่นกับ น้าไข่ หรือไอ้เฒ่า ผู้นำของชาวป่ากลุ่มอ้ายไข่แห่งเขาบรรทัดมาตั้งแต่เด็ก น้าไข่ถือเป็นผู้นำรุ่น 3 ถัดจากปู่และพ่อ อายุอานามไม่มีระบุ เพราะชาวป่านับเลขได้ไม่เกินหลักหน่วย แต่จะเทียบอายุกับต้นไม้ในป่า และหากลองเดาคร่าว ๆ ว่าเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับน้าเชิด น่าจะ 50-55 ปี เห็นจะได้

"ไอ้ไข่มันมีเมียเป็นห้าหกคน มีลูกอีกเป็นสิบ ๆ" น้าเชิดพูดพลางหัวเราะ แต่มันคือเรื่องจริง ชาวป่าจะมีเมียทีละคน และรักษาขนบธรรมเนียมเป็นเลิศ ไม่มีทางได้เสียกันก่อนสู่ขอและแต่งงานตามประเพณี หญิงสาวเมื่อเริ่มมีประจำเดือนถือว่าเติบโตเต็มที่ พร้อมมีคู่ได้ ที่สำคัญเขามีสมุนไพรที่ใช้ทั้งคุมกำเนิด และบำรุงยามต้องการตั้งครรภ์ ชนิดไม่ต้องพึ่งยาคุมกำเนิดหรือทำหมันให้เจ็บตัว

          ด้วยอุปนิสัยชอบแบ่งปัน เช่น เวลาขุดเผือกมัน หามาได้เท่าไรจะเอามาแบ่งให้ทุกคนในกลุ่มเท่า ๆ กัน เชื่อว่าการไม่แบ่งปันคือบาป ดังนั้นการยกเมียให้เพื่อนจึงถือว่าเป็นเรื่องแบ่งปันกันปกติ และหากยกให้เพื่อนแล้วจะไม่มีการกลับมายุ่งเกี่ยวกับใด ๆ ทั้งสิ้น แต่สามารถมีเมียคนใหม่ได้ ย้ำว่า "ทีละคน"

น้าเชิดบอกให้ลองเดินขึ้นเขาไปที่หน้าลา (หน้าถ้ำ) เผื่อว่าชาวป่ายังอยู่ที่นั่น เราไม่รอช้ารีบเดินไปทันที ไม่นานก็ถึงเพิงผา มีทับอยู่ราว ๆ 18 หลัง สร้างอย่างง่าย นำไม้ง่ามปักเป็นเสา ส่วนฝาทำจากใบอิเหนาสานลายขัดลายหนึ่ง มองดูที่นอนเป็นเหมือนแคร่เตี้ย ๆ เล็ก ๆ ยาว ประมาณ 1 เมตร ขนาดใหญ่กว่าตัวเล็กน้อย วางลาดระดับไปด้านใดด้านหนึ่ง ปูพื้นทับด้วยไม้ ข้าง ๆ ที่นอนมีกองไฟที่เพิ่งดับไม่นาน คาดว่าเพิ่งย้ายทับไปที่อื่นไม่เกิน 1 วัน เพราะหากชาวป่ายังอยู่ไฟต้องติดตลอดเวลาเพื่อให้ความอบอุ่นและไล่แมลง เวลานอนจะเอาเท้าเข้าทับ เอาหัวออกด้านนอก เพราะเชื่อว่าเท้าสำคัญกว่า ใช้ในการเดินและหาเลี้ยงชีพ ที่สำคัญ หากมีอันตรายเข้ามาใกล้ การหันหัวออกจะรับรู้และป้องกันตัวได้เร็ว

          ถึงแม้จะเป็นผัวเมียกันก็จะไม่นอนทับเดียวกัน เลยพานสงสัยว่าแล้วน้าไข่เอาเวลาไหนไปมีลูกตั้งหลายสิบคน จนได้คำตอบว่าก็ช่วงออกไปขุดเผือก ขุดมัน ล่าสัตว์นั่นแหละ บริเวณไหนชาวป่ากำลังร่วมรักกันอยู่จะปักกำแสดงเครื่องหมายไว้ ไม่ให้เข้าไปรบกวน

มองไปรอบ ๆ ทับมีเสื้อผ้าทิ้งไว้เกลื่อน ทราบว่าเป็นเสื้อผ้าที่คนเอาไปบริจาค ชาวป่าจะใส่แค่ครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย ไม่ซัก ยกเว้นบางคนที่ต้องติดต่อกับภายนอก มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งทางการเคยตัดชุดสีแดงแจกจ่ายให้ชาวป่า หวังให้ใช้ใส่ล่าสัตว์ เมื่อสัตว์เห็นสีแดงจะสะดุดตาแล้วหนีไปโดยเร็ว ลดอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ ชาวป่าทุกคนก็รับมอบมาโดยดี ทำให้เจ้าหน้าที่ใจชื้นว่ากำลังจัดการปัญหาได้ กลับมาดูอีกทีเห็นชุดถูกทิ้งแดงเกลื่อนป่า เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าแก้ปัญหาในป่าที่โต๊ะประชุมในเมือง

          เรื่องเงินก็เช่นกัน เมื่อก่อนชาวป่าใช้เงินไม่เป็น ใครให้ธนบัตรเป็นอันโมโห เพราะเมื่อเข้าป่าก็เปียกยุ่ย ใครให้เหรียญจะดีใจ แต่เดี๋ยวนี้ชาวป่ารู้จักใบแดง ใบม่วง ใบเทากันแล้ว รู้ว่าถ้าเอาใบเทาไปซื้อของที่ร้านค้าจะได้ของมาเยอะที่สุด เวลาไปซื้อของชาวป่าจะไม่รับเงินทอน ถ้าให้เงินแม่ค้า 500 บาท จะหยิบของในร้านจนครบจำนวนเงิน เมื่อนำของกลับมาที่ทับจะกินจนหมด ไม่มีการสะสมไว้มื้ออื่น หากมื้อไหนที่ออกไปหาอาหารไม่ได้ ชาวป่าจะยอมอด และสามารถอดอาหารได้หลายวัน

อาหารหลักสมัยก่อน คือ เผือก มัน เช่น มันตามราก มันโสม มันทราย มันคันขาว เป็นต้น มันเหล่านี้กินนิดเดียวให้พลังงานมากและอิ่มนาน ส่วนสัตว์จะเลือกกินสัตว์เล็กก่อน หาโดยการเป่าลูกดอกหรือเป่าตุด (ชาวป่าเรียกกระบอกตุดว่า “บอลา” และเรียกลูกดอกว่า “บิลา”) จากนั้นอาจปรุงรสเล็กน้อยด้วยเกลือและพริก เอามาย่าง พอแดง ๆ กัดแล้วใช้ไม้ไผ่เฉือนเข้าปาก แต่เดี๋ยวนี้ชาวป่าเริ่มกินข้าวเจ้า ซื้อเนื้อจากตลาด ปรุงแกง และกินมาม่า ปลากระป๋องเป็นแล้ว

          ส่วนเรื่องน้ำ อย่าได้ริชวนชาวป่าดื่มน้ำในลำธารเชียว ต่อให้หิวอย่างไรเขาไม่มีทางดื่มเด็ดขาด เพราะบรรพบุรุษเคยตายด้วยการดื่มน้ำแบบนี้ เนื่องจากงูมักมาปล่อยพิษไว้ในน้ำเพื่อรอให้นกมาดื่ม เมื่อนกตายค่อย ๆ เขมือบเป็นอาหาร ชาวป่าจะดื่มน้ำจากต้นน้ำที่ผุดจากดินเท่านั้น หรือไม่ก็น้ำซื้อซีลปากขวดอย่างดีเท่านั้น

อีกอย่างถ้าเห็นเด็กชาวป่าตัวเล็ก ๆ ผมหยิกน่ารักห้ามเอ่ยปากขอมาเลี้ยงเด็ดขาด เพราะเขารักลูกมาก น้าเลื่อม เมียน้าเชิดเล่าว่า เคยมีคนไปขอลูกชาวป่าจะเอาไปเลี้ยงในเมือง โดยตอบกลับว่า “ลูกหมาหมามันยังรัก ลูกสูสูไม่รักเหอะ” ขนาดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จะเอาชาวป่าไปเลี้ยงในวังสักคนยังต้องเลือกที่เป็นเด็กกำพร้า เพราะชาวป่าขึ้นชื่อเรื่องหวงลูกมาก ใช่แล้ว คนังคือเด็กกำพร้าทั้งพ่อและแม่

          ปัจจุบันชาวป่าในจังหวัดสตูลบางคนออกมารับจ้างกรีดยางให้ชาวบ้าน โดยสร้างขนำ (กระท่อม) อยู่ในสวนยาง มีวิถีชีวิตคล้ายคนเมือง คุยภาษาใต้ได้ ขี่มอเตอร์ไซค์ ติดจานดาวเทียม และบางคนไปไกลถึงขนาดใช้โทรศัพท์หน้าจอทัชสกรีนเลยทีเดียว

          คุณเริ่มเข้าใจเขาบรรทัดอย่างไรบ้างจากบริบทข้างต้น

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

ซาไก เซมัง เงาะป่า มันนิ ตกลงควรเรียกอย่างไร

ตั้งแต่เกิดมาที่จังหวัดพัทลุงก็ได้ยินชาวบ้านเรียกคนผิวเข้ม ผมหยิกเป็นก้นหอย ตัวเตี้ยที่ลงจากป่ามาขายสมุนไพรแถวบ้านว่า "เงาะป่า" พอโตขึ้นมาได้ยินเขาเรียกคนกลุ่มเดิมนี้แปลกขึ้นว่า "ซาไก" บ้างก็เรียกรวมเป็น "เงาะป่าซาไก" มาช่วงเรียกมหาวิทยาลัย หลายคนบอกว่ากลุ่มคนพื้นเมืองแถบเขาบรรทัด นั่นคือ "เซมัง" ไม่ใช่ซาไก พอเริ่มศึกษาตำราก็พบนักวิจัยบางคนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า "มันนิ" ตามที่พวกเขาเรียกตัวเอง และนักวิชาการบางคนเรียก "โอรัง อัสลี" หรือ "นิกริโต" ตกลงกลุ่มชาวป่าแถบเขาบรรทัดนี้คือกลุ่มไหนกัน ซาไกกับเซมังใช่เผ่าเดียวกันหรือไม่ แล้วควรเรียกคนพื้นเมืองบนเขาบรรทัดนี้ว่าอย่างไร

          "เงาะป่า" เป็นคำที่คนไทยเรียกตามกันมาตามรูปร่างหน้าตาที่โดดเด่น คือ ผมหยิกหยองขมวดกลมคล้ายผลของเงาะ บวกกับมีพระราชนิพนธ์เรื่อง "เงาะป่า" ของรัชกาลที่ 5 ที่ประพันธ์จากคำบอกเล่าชีวิตในป่าของนายคนัง เด็กชาวป่าที่พระองค์ทรงโปรดชุบเลี้ยงในพระราชวังดุสิต ทำให้คำว่าเงาะป่าเป็นที่คุ้นหูของคนไทย

ด้านพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามของคำว่า "เงาะ" ไว้ว่า "คนป่าพวกหนึ่ง รูปร่างต่ำเตี้ย ตัวดำ ผมหยิก ในตระกูลนิกริโต (Negrito) และตระกูลออสโตรเนเซียน (Austronesian) อยู่ในแหลมมลายู เรียกตัวเองว่ากอย ได้แก่ พวกเซมัง และซาไกหรือเซนอย โดยปริยายเรียกคนที่มีรูปร่างเช่นนั้น"

          ซึ่งตีความได้ว่ากลุ่มคนที่เราเรียกว่าเงาะไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว แต่หมายความว่ามีทั้งเผ่าซาไกและเซมัง ส่วนที่ระบุว่าอาศัยตลอดแหลมมลายู หมายรวมถึงประเทศมาเลเซียด้วย ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเพื่อจำแนกชาติพันธุ์ชาวป่าจึงควรศึกษาให้ตลอดทั้งแหลมมลายู

ผลงานวิจัยของปราณี วงษ์เทศ เรื่องสังคมและวัฒนธรรมในอาคเนย์ กล่าวว่า ทางตอนใต้ของไทยและตอนเหนือของแหลมมลายูเป็นที่อยู่ของเซมังหรือนิกริโต และกล่าวว่าพวกซาไกหรือซีนอยคือพวกมองโกลมากกว่า

          ด้านนายบุญเสริม ฤทราภิรมย์ ศึกษานิเทศก์ ระดับ 9 จังหวัดสตูล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ฤทธาภิรมย์ อดีตผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังทั้งในไทยและมาเลเซีย พร้อมติดตาม ดร.เฮลมุท ลูกัส จากสถานบันสังคมศึกษาและมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่เข้ามาศึกษาเรื่องนี้หลายสิบปีจบพูดภาษาของชาวป่าได้ อาจารย์ทั้งสองได้อธิบายแยกข้อแตกต่างของเซมังและซาไกไว้ว่า 

  "เซมัง" หรือนิกริโต แปลว่า ค่างดำชนิดหนึ่ง เป็นพวกนิกรอยด์ (Negroid) ถิ่นเดิมอยู่ในทวีปแอฟริกา เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแหลมมลายูเมื่อ 10,000-8,000 ปีมาแล้ว ชอบอยู่แถบภูเขาสูงและป่า ปัจจุบันมีทั้งที่ไทยและมาเลเซีย ใช้ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สายมอญ-เขมร ผิวคล้ำค่อนไปน้ำตาลไหม้ ผมหยิกขมวดกลมเป็นก้นหอย หยิกฟูกระเชิง ตัวค่อนข้างเตี้ย

          ส่วน "ซาไก" หรือซีนอย แปลว่า ทาส ต่อมาทางการมาเลเซียเปลี่ยนเป็นโอรัง อัสลี แปลว่าคนพื้นเมือง เป็นพวกมองโกลอยด์ (Mongoloid) ถิ่นเดิมอยู่ทางได้ของจีน ตั้งถิ่นฐานในแหลมมลายูเมื่อ 7,500-4,500 ปีมาแล้ว อยู่ทางตอนกลางและตอนล่างของแหลมมลายูในประเทศมาเลเซีย อาศัยอยู่ตามป่าและที่ราบทั่วไป ใช้ภาษาตระกูลออสโดรเนเซียน แต่ยืมคำมาจากตระกูลออสโตรเอเชียติกบ้าง ผิวดำคล้ำปนแดง ผมขดไปมาเป็นลอบหรือเหยียด สูงกว่าพวกเซมัง ปัจจุบันชาวมาเลเซียเลิกใช้คำว่า "ซาไก" แล้ว
สองเผ่าพื้นเมืองนี้จึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน และที่เหลืออยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน คือ "เซมัง" แล้วเหตุใดคนไทยถึงติดปากว่า "ซาไก"

          จากข้อสันนิษฐานของอาจารย์ทั้งสองกล่าวว่า ชื่อนี้อาจมาจากที่กรมประชาสัมพันธ์พยายามรวบรวมชาวป่ามาจัดตั้งนิคมสร้างตนเองธารโต จังหวะยะลา เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านจาเราะมีรา เป็นหมู่บ้านซาไก โดยอาจตั้งตามที่คนแถบปัตตานี ยะลา นราธิวาส เรียกชนพื้นเมืองเดิม สมัยที่ยังไม่มีการแบ่งดินแดนระหว่างไทยและอังกฤษ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2452 มีการแบ่งแยกดินแดนทำให้ซาไกในไทยเหลือน้อยเต็มที หรืออาจหายไปจากไทยแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา พร้อมกับนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานนามสกุล "ศรีธารโต" ใช้ชาวป่าทุกคนในอำเภอธารโต

จึงอาจสรุปว่าเผ่าที่อาศัยบนเขาบรรทัดในประเทศไทยคือ "เซมัง" ส่วนจะเรียกชื่อเพื่อสื่อความถึงเซมังเช่นไรก็สุดแล้วแต่ บางคนเรียกว่าเงาะป่ามาตลอดชีวิต ครั้นจะเปลี่ยนเป็นเซมังกะทันหันอาจจะสับสนและไม่รู้จัก

          เหตุที่ผู้เขียนใช้คำว่า "ชาวป่า" ในเรื่องนี้ เพราะเป็นคำไทย อ่านไม่ยาก ชาวบ้านแถบจังหวัดสตูลก็เรียกแบบนี้ และที่สำคัญเมื่อเรียกพวกเขาว่าชาวป่า พวกเขายินดีและยิ้มรับด้วยไมตรี

หนังสืออ้างอิง

          เกศรน มณีนูน และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์, ศ.

          ซาไก ชนกลุ่มน้อยภาคใต้ของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2546, จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ.

          บทละครเรื่องเงาะป่า. พิมพ์ครั้งที่ 32 กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร และสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540. บุญเสริม ฤทธาภิรมย์ และประสิทธิ์ ฤทธาภริมย์, ผศ.

          ไม่มีเงาะซาไกในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. พัทลุง : โรงเรียนบ้านควนขนุน อำเภอควนขนุน, 2548.

ขอขอบคุณ

          คุณภัชกุล ตรีพันธ์ สำหรับข้อมูลท่องเที่ยวจังหวัดสตูล และการประสานงาน

          คุณสมพร (วิเชียร) คุณละมัย คุณวิชัยชาญ นวนไหม และทีมงานรีเวอร์ไซด์ รีสอร์ท สำหรับแหล่งข้อมูลและการบริการดุจคนในครอบครัว

          คุณเชิด คุณเลื่อม ชูชุม สำหรับเรื่องเล่าชาวป่า และทุกท่านในบริบทใต้เงาเขาบรรทัด อำเภอมะนัง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่ช่วยให้เรื่องนี้สำเร็จ

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

คู่มือนักเดินทาง

แหล่งท่องเที่ยวรอบ ๆ เขาบรรทัดในเรื่องนี้ เลือกพื้นที่เฉพาะที่อยู่ในพื้นที่รอยต่ออำเภอมะนังและอำเภอละงู จังหวัดสตูล เท่านั้น มีครบทั้งเรื่องราวของการผจญภัยเข้าถ้ำ ล่องแก่ง เที่ยวน้ำตกเรียนรู้วิถีชาวป่า และการพักผ่อนสบาย ๆ ที่รีสอร์ทหรือโฮสเตย์

การเดินทาง

รถยนต์ : จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านจังหวัดนครศรีธรรมราช จากนี้สามารถเลือกใช้ได้ 2 เส้นทาง คือ

          เส้นทางแรก ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 นครศรีธรรมราช-พัทลุง-อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จากนั้นแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 406 เข้าเขตอำเภอควนกาหลง ขับตรงไปถึงสี่แยกไฟแดงนิคมควนกาหลง ให้เลี้ยวขวาผ่านหน้าที่ว่าการอำเภอควนกาหลง ขับมาจนถึงสามแยกโรงพยาบาลควนเกาหลงให้เลี้ยวขวาไปยังอำเภอมะนัง

          อีกเส้นทางคือจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 403 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 404 ผ่านอำเภอประเหลียน จังหวัดตรัง เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 416 ผ่านอำเภอทุ่งหว้าและละงู มีป้ายบอกตลอดเส้นทาง

รถไฟ : สามารถขึ้นขบวนกรุงเทพฯ-ยะลา กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ หรือกรุงเทพฯ-สไหงโก-ลก ลงสถานีหาดใหญ่ จากนั้นนั่งรถตู้ประจำทางไปยังจังหวัดสตูล หรือขบวนกรุงเทพฯ-ตรัง กรุงเทพฯ-กันตัง ลงสถานีรถไฟตรัง นั่งรถตู้หรือแท็กซี่ปังหวัดสตูล สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลโทรศัพท์ 1690 เว็บไซต์ www.raillway.co.th

รถโดยสารประจำทาง : มีรถโดยสารปรับอากาศกรุงเทพฯ-สตูล ทุกวันจากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สถานีขนส่งสายใต้ใหม่) สอบถามรายละเอียดได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2422 4444 หรือ 1490 เว็บไซต์ www.transportation.co.th บริษัทเอกชน ติดต่อบริษัทศรีสุเทพทัวร์ โทรศัพท์ 0 2894 6020-8 บริษัททรัพย์ไพศาลทัวร์ โทรศัพท์ 0 2894 6040-1

เครื่องบิน : สามารถเลือกเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ หรือกรุงเทพฯ-ตรังก็ได้ มีบริการทุกวัน หลายสายการบิน เช่น การบินไทย แอร์เอเชีย นกแอร์ ไลอ้อนแอร์

ที่นอน ที่กิน

สะดวกที่สุดคือใช้บริการตามรีสอร์ทต่าง ๆ เช่น 

ภูผาเพชร-เจ็ดคต บริบทใต้เงาเขาบรรทัด (อ.ส.ท.)

ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท ที่พักริมคลองลำโลน รับบริการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดสตูลและตรัง มีห้องพักหลายแบบบริการ ทั้งแบบบ้านไม้ริมน้ำรับลมธรรมชาติ ห้องน้ำรวม ไปจนถึงบ้านทรงโมเดิร์นปูนเปลือย ห้องปรับอากาศ ฟรี Wi-Fi อินเทอร์เน็ต ราคาห้องพัก 500-2,500 บาท รับได้ 2-150 คน ส่วนแพ็กเกจล่องเรือ รวมอาหาร 3 มื้อ (มื้อไหนก็ได้) พร้อมที่พัก 1 คืน ราคา 800 บาท ต่อคน ความพิเศษอีกอย่างของที่นี่คืออาหารพื้นบ้านใต้รสเด็ด เช่น ยำผักกูด แกงส้ม ต้มหน่อไม้กะทิกุ้ง ผัดสะตอ ผัดใบเหรียง น้ำพริกผักสด ฯลฯ หากต้องการไปเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวอื่น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 9598 1712, 0 7462 0764 

ฅนชายขอบ อยู่ตรงจุดปล่อยเรือล่องแก่ง มีสะพานแขวนให้เดินชมธรรมชาติ ฟรี Wi-Fi อินเทอร์เน็ต บริการล่องแก่ง เดินป่า สัมมนา เที่ยวสวนเกษตร กินผลไม้ตามฤดูกาล เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ละมุด ลองกอง เป็นต้น โทรศัพท์ 08 6037 8711, 0 7472 0774 

ต้นกอ โฮมสเตย์ & ล่องแก่ง มีศาลาริมน้ำบรรยากาศสบายให้นั่งเล่น ให้บริการกิจกรรมท่องเที่ยวเช่นเดียวกับที่อื่น โทรศัพท์ 08 3655 9796, 08 9593 7649

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

          ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว องค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนาโทรศัพท์ 0 7472 0314 ต่อ 11 เว็บไซต์ www.palmpattana.go.th

          การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตรัง โทรศัพท์ 0 7521 5867, 0 7521 1058 อีเมล์ tattrang@tat.or.th เฟซบุ๊ก tat trang

นอกจากชมถ้ำภูผาเพชร ล่องแก่งลำโลน และลอดถ้ำเจ็ดคตแล้ว บริเวณใกล้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น 

บ้านพิพิธภัณฑ์รากไม้ หมู่ที่ 9 บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง ของลุงประเสริฐ คงทวี อพยพจากพัทลุงเข้ามาในยุคจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ด้วยความรักในงานศิลปะ และเห็นว่ามีรากไม้ใหญ่จำพวกหลุมพอ สะเดา จมอยู่ใต้ดินจำนวนมาก จึงลองขุดขึ้นมาแกะเป็นชิ้นงานด้วยสองมือ โดยใช้อุปกรณ์อย่างง่าย เช่น สิ่วปากโค้ง ค้อน กระดาษทราย กบไสไม้ สำคัญที่สุดคือจินตนาการ ปรากฏออกมาเป็นชิ้นงานน่ามหัศจรรย์ ส่วนมากทำเป็นเก้าอี้ ตั่ง เตียง โดยหากใครถามว่านี่ลุงแกะเป็นตัวอะไร ลุงจะบอกว่าดูเอาเอง ตลอดเวลาสร้างสรรค์ 15 ปี ลุงไม่เคยคิดขายผลงานสักชิ้น เพราะรู้ว่าในอนาคตลูกหลานจะหาชมความยิ่งใหญ่แบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว

น้ำตกวังสายทอง หมู่ที่ 10 ตำบลวังน้ำผุด อำเภอละงู เป็นน้ำตก หินปูน ลักษณะเป็นแอ่งน้ำลดหลั่นกันไป สามารถเล่นและเดินได้โดยไม่ลื่น เริ่มพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 และอยู่ในความดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 

น้ำตกวังใต้หนาน หมู่ที่ 9 บ้านควนดินดำ อำเภอมะนัง อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ชื่อน้ำตกมาจากต้นหมาน ซึ่งขึ้นชุกชุมบริเวณน้ำตก มีเส้นทางเลียบลำธารก่อนถึงตัวน้ำตกให้ชื่นชมแมกไม้ นกนานาพันธุ์ น้ำตกมีทั้งหมด 13 ชั้น ชั้นแรกจะงดงามเป็นพิเศษเนื่องจากสูงและลาดชัน ในอดีตเป็นฐานที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย





Create Date : 14 มกราคม 2558
Last Update : 14 มกราคม 2558 9:20:33 น. 3 comments
Counter : 2346 Pageviews.

 
thx u crab


โดย: Kavanich96 วันที่: 15 มกราคม 2558 เวลา:3:19:17 น.  

 
I love it when folks get together and share thoughts. Great blog, keep it up!
oakley transistor //www.meupe.com/?es-oakley-transistor-9771.html


โดย: oakley transistor IP: 192.99.14.34 วันที่: 16 ตุลาคม 2558 เวลา:9:15:00 น.  

 
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ


โดย: สมาชิกหมายเลข 3773459 วันที่: 27 มีนาคม 2560 เวลา:16:43:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.