นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
บัณเฑาะก์ที่ห้ามบวชตามพระวินัย หมายถึงอะไร?

(* ที่มาของการเขียนบทความนี้ ดูที่หมายเหตุด้านล่าง)
-----------------------------------------------------------

พระพุทธองค์ได้บัญญัติพระวินัย [1] ไว้ว่า

ปณฺฑโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ
อุปสมฺปนฺโน นาเสตพฺโพติ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์
ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย

-----------------------------------------------------------

พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบาย [2] ไว้ว่า บัณเฑาะก์ ที่พระพุทธองค์
ห้ามบวชนี้ มุ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่มีอวัยเพศปรากฏ (นปุงสกปณฺฑก)
และผู้ที่ถูกตอนแล้ว (โอปกฺกมิยปณฺฑก)

โดย บัณเฑาะก์อาจแบ่งออกได้ ๕ จำพวก คือ
๑ อาสิตฺตปณฺฑก ๒ อุสุยฺยปณฺฑก ๓ โอปกฺกมิยปณฺฑก
๔ ปกฺขปณฺฑก ๕ นปุงสกปณฺฑก

ผมจะสรุปความหมายให้สั้นกระทัดลง ดังนี้นะครับ

๑ อาสิตตบัณเฑาะก์ ได้แก่ ชายที่มีกิจกรรมทางเพศกับชาย
๒ อุสุยยบัณเฑาะก์ ได้แก่ ชายที่ไม่ถึงกับมีกิจกรรมแต่พอใจที่จะดู
กิจกรรมทางเพศ โดยตัวเป็นชายแต่ก็ไปชอบใจในชายที่ดูอยู่นั้น
๓ โอปักกมิยบัณเฑาะก์ ได้แก่ บุคคลผู้ที่ถูกตอนไปแล้ว เช่นขันที
๔ ปักขบัณเฑาะก์ ได้แก่ บุคคลบางคนข้างแรมเกิดความกำหนัด
ยินดีกระวนกระวายด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม เมื่อถึงข้างขึ้น
ความกระวนกระวายนั้นก็หายไป
๕ นปุงสกับบัณเฑาะก์ ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีเพศหญิงเพศชายไม่ปรากฏทั้ง ๒ เพศ
มีแต่ช่องที่สำหรับถ่ายปัสสาวะเท่านั้น

ในบัณเฑาะก์ ๕ ชนิดนั้น
อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสุยยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา,
โอปักกมิยบัณเฑาะก์ นปุงสกับบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชา
ส่วน ปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาแก่เขาเฉพาะปักข์ที่เป็นบัณเฑาะก์เท่านั้น.

ในกรณีของ บัณเฑาะก์ สองประเภทที่ว่าบวชได้นั้น หมายถึง
เป็นบัณเฑาะก์ก็แต่เมื่อก่อนบวช แต่เมื่อมาบวชแล้วต้องรักษาวินัย
และสละความประพฤติเบี่ยงเบนนั้นออกให้หมด

-----------------------------------------------------------

หลายๆท่าน มักจะเข้าใจว่า บัณเฑาะก์ แปลว่า กระเทย, เกย์ หรือ ตุ๋ด
ความเข้าใจเช่นนี้อาจจะยังไม่ตรงซะทีเดียว

อันที่จริง คำว่า บัณเฑาะก์ มาจาก ภาษาบาลีว่า ปณฺฑก ดังวจนัตถะ [3] ว่า

ปฑติ ลิงฺคเวกลฺลภาวํ คจฺฉตีติ ปณฺฑโก

ผู้ที่มีเครื่องหมายแห่งบุรุษและสตรีขาดตกบกพร่องไป
ผู้นั้นชื่อว่า บัณเฑาะก์ ได้แก่บัณเฑาะก์ ๕ จำพวก

สำหรับวจนัตถะนี้ หมายเอาพวก
นปุงสกบัณเฑาะก์ เป็นการแสดงโดยตรง (มุขยัตถนัย)
บัณเฑาะก์ที่เหลือ ๔ พวก เป็นการแสดงโดยอ้อม (สทิสูปจารัตถนัย)

-----------------------------------------------------------

มีคำถามว่า คำว่า "หญิงบัณเฑาะก์" ที่พบในพระไตรปิฎก [4]
ในที่นี้มีหมายความว่าอย่างไร

อาศัยวจนัตถะที่แสดงไว้ในบทก่อน
ว่าโดยนัยยะโดยตรง (มุขยัตถนัย) โดยทั่วไปจะหมายถึง
"หญิงที่ไม่ปรากฏอวัยวเพศ"
ส่วนกรณีหญิงชอบหญิง ก็จัดเข้าเป็นบัณเฑาะก์ได้โดยอ้อม (สทิสูปจารัตถนัย)



-----------------------------------------------------------
ต่อมา จะเป็นการอธิบายเรื่อง อุภโตพยัญชนกะ
-----------------------------------------------------------

ในกรณีของ อุภโตพยัญชนกะ มีแค่ ๒ จำพวก
และทั้ง ๒ จำพวกนั้นไม่สามารถบวชได้เลย

พระพุทธองค์ได้บัญญัติพระวินัย [6] ไว้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ อุภโตพยัญชนก
ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย.


จากอรรถกถา [7]และฎีกา [3] สรุปใจความได้ดังนี้

วจนัตถะของ อุภโตพฺยญฺชนโก ได้แก่

อุภโต ปวตฺตํ พฺยญฺชนํ ยสฺส อตฺถีติ = อุภโตพฺยญฺชนโก

องคชาตทั้ง ๒ ชนิดที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกรรมทั้ง ๒ มีแก่บุคคลใด
ฉะนั้นบุคคลนั้นชื่อว่า อุภโตพยัญชนก



บุคคลที่เป็นพวกอิตถีอุภโตพยัญชนกนั้น คือมีรูปร่างสัณฐานลักษณะ
อาการเป็นหญิงตลอดจนอวัยวะเพศอย่างธรรมดา ต่อเมื่อเวลาพอใจ
ในหญิงอื่นๆเกิดขึ้นแล้ว จิตใจที่เป็นอยู่ก่อนนั้นก็หายไป เปลี่ยนสภาพ
เป็นจิตใจของผู้ชายขึ้นมาแทน ในเวลาเดียวกันนั้นอวัยวเพศชายก็เกิดขึ้น
อวัยวเพศหญิงก็หายไปสามารถสมสู่ร่วมกับหญิงนั้นได้

บุคคลที่เป็นพวกปุริสอุภโตพยัญชนก นั้น คือมีรูปสัณฐานลักษณะ
อาการเป็นชายอวัยวะเพศก็เป็นชายอย่างธรรมดา ต่อเมื่อเวลาที่แล
เห็นผู้ชายมีความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น แล้วจิตใจที่เป็นชายอยู่ก่อน
ก็หายไป เปลี่ยนสภาพเป็นจิตใจของหญิงขึ้นแทน และในเวลาเดียวกัน
นั้นอวัยวเพศหญิงก็ปรากฏขึ้น อวัยวเพศชายก็หายไปสามารถสมสู่
ร่วมกับชายนั้นได้

ความแตกต่างกันระหว่างอิตถีอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้นมีดังนี้ คือ

อิตถีอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้น ตัวเองก็มีครรภ์กับบุรุษทั้งหลายได้
ทำหญิงอื่นทั้งหลายให้มีครรภ์กับตัวก็ได้

สำหรับปุริสอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้น ตัวเองไม่สามารถบังเกิดครรภ์ได้


-----------------------------------------------------------------------
อธิบาย เรื่อง ปฏิสนธิจิตของ บัณเฑาะก์ และ อุภโตพยัญชนกะ ตามนัยพระอภิธรรม
-----------------------------------------------------------------------

การจัดแบ่งบุคคลตามประเภทของ
ปฏิสนธิจิต-ภวังคจิต-จุติจิต แบ่งออกได้เป็นสาม

สุคติอเหตุกบุคคล จะมาปฏิสนธิด้วย "อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก" (ไม่มีกุศลเหตุเลย)
ทวิเหตุกบุคคล จะมาปฏิสนธิด้วย "มหาวิบากญาณวิปปยุต" (มี อโลภเหตุ อโทสเหตุ)
ติเหตุกบุคคล จะมาปฏิสนธิด้วย "มหาวิบากญาณสัมปยุต" (มี ทั้ง อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ)

นปุงสกบัณเฑาะก์ และ อุภโตพยัญชนกะ จะเป็นผู้ที่เกิดด้วย "อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก"
และจัดเป็น สุคติอเหตุกบุคคล [3]

ส่วน บัณเฑาะก์ที่เหลือนั้นไม่แน่นอน อาจจะเป็นทวิเหตุกบุคคล หรือ ติเหตุกบุคคลก็ได้



-----------------------------------------------------------------------
อธิบาย เรื่อง ปุริสินทรีย์ อิตถินทรีย์ ของ อุภโตพยัญชนกะ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน
-----------------------------------------------------------------------

ท่านพระสัทธัมมโชติกะได้ อธิบายไว้ [3] ว่า

อุภโตพยัญชนกะ เป็นบุคคลที่มีด้วยกันทั้ง ๒ เพศ
แต่เพศทั้ง ๒ นี้หาใช่ปรากฏทีเดียวพร้อมกันไม่

เวลาใดปุริสภาวรูปปรากฎขึ้น เวลานั้นอิตถีภาวรูปก็ไม่ปรากฏ
และเมื่อเวลาใดอิตถีภาวรูปกำลังปรากฏขึ้น เวลานั้นปุริสภาวรูปก็ไม่ปรากฏ

ดังมีพุทธภาษิตแสดงไว้ในอินทริยยมกพระบาลี [8] ว่า
“ยสฺส อิตฺถินฺทริยํ อุปฺปชฺชติ, ตสฺส ปุริสินฺทฺริยํ อุปฺปชฺชตีติ?”
”โน”
ซึ่งแปลความว่าอิตถินทรีย์กำลังเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
ปุริสินทรีย์กำลังเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นใช่ไหม? ตอบว่าไม่ใช่! ดังนี้

-----------------------------------------------------------------------
อธิบาย ความหมายของ ปุริสินทรีย์ อิตถินทรีย์
-----------------------------------------------------------------------

จาก อรรถกถา[9] และ อภิธัมมัตถสังคหะ[10] ได้แสดงไว้ว่า

ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ นั้น ประกอบไปด้วย ภาวรูป ๒

ภาวรูปมี ๒ คือ
๑. อิตถีภาวรูป รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นหญิง (เป็นรูปที่เกิดจากกรรม)
๒. ปุริสภาวรูป รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นชาย (เป็นรูปที่เกิดจากกรรม)


(บทความนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะมาเขียนต่อภายหลังครับ)




-----------------------------------------------------------------------


อ้างอิง

[1] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๒๕] (link)
[2] อรรถกถาปัณฑกวัตถุ (อธิบาย มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๒๕])
[3] มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ เล่ม ๑
[4] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ [๕๗๓] (link)
[5] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 333 (จากฉบับมหามกุฏฯ)
[6] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๓๒] (link)
[7] อรรถกถาอุภโตพยัญชนกวัตถุ (อธิบาย มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๓๒])
[8] พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๖ ยมกปกรณ์ ภาค ๒ (link)
[9] อรรถกถาอิตถินทริยนิทเทส, อรรถกถาปุริสินทริยนิทเทส
ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา (คู่กับพระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑)
[10] คู่มืออภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉท ๖

-----------------------------------------------------------------------

*หมายเหตุ:
บทความนี้ ได้เขียนขึ้น เนื่องจากต้องการสรุปเนื้อหาที่สำคัญ
ที่เกิดจากการสนทนาธรรมกันระหว่างเพื่อนสมาชิกหลายๆท่าน
//topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2011/04/Y10435225/Y10435225.html
ซึ่งได้แก่ คุณปล่อย คุณฮิมาวาริซซัง คุณชาล้นถ้วย คุณระนาด
คุณเอิงเอย คุณฐานะฐานะ โดยในส่วนของข้อ [4],[5],[7],[9] เป็นข้อมูลที่
คุณปล่อยได้ช่วยยกมาให้ได้วิเคราะห์กัน


Create Date : 16 เมษายน 2554
Last Update : 10 กรกฎาคม 2554 20:46:04 น. 19 comments
Counter : 33783 Pageviews.

 
ขอบคุณมากนะคะ จะเข้ามาอ่านเรื่อยๆ ค่ะ


โดย: เอิงเอย IP: 223.207.104.69 วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:10:49:40 น.  

 
อนุโมทนาสาธุครับ ขอให้ทุกท่านมีแต่ความสุขความเจริญ ยิ่งๆขึ้นไปครับ


โดย: shadee829 วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:14:13:58 น.  

 
ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค
หมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจตุกะ ข. กามสุคติปฏิสนธิ

๑. อุเบกขาสันตีรณ กุสลวิบาก ๑ ดวงย่อมเกิดในมนุสสภูมิ ๑ และในจาตุม มหาราชิกาภูมิ ๑

มนุษย์ ผู้ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุสลวิบากนี้ เป็นผู้มีบุญน้อยจึงพิการ ต่าง ๆ มาแต่กำเนิด ไม่ใช่มาพิการในภายหลัง ความพิการนี้มีถึง ๑๐ ประการ คือ

๗. ปณฺฑก พวกบัณเฑาะก์ คือ พวกวิปริตในเรื่องเพศ
๘. อุภโตพยญฺชนก ผู้ปรากฏเป็น ๒ เพศ
๙. นปุํสก ผู้ไม่ปรากฏเพศ
//www.abhidhamonline.org/aphi/p5/030.htm


ตะกี้เอาข้อความของคุณมหาวิหารไปค้นๆ ที่กูเกิ้ล
เจออันนี้ด้วยครับ เห็นแปลกว่าท่านแยกบัณเฑาะก์กับนปุสก
เป็นคนละประเภทกัน??

อันนี้คำอธิบายของท่านอาจารย์บุญมี
//thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=dokgaew&topic=8989




โดย: ปล่อย IP: 124.122.147.65 วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:20:29:21 น.  

 
ข้อความที่คุณ ปล่อยยกมา และที่อ.บุญมีได้อธิบายนั้น
เข้าใจว่าน่าจะถูกยกมาจาก มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ เล่ม ๑ น่ะครับ
ในบทที่แสดงในเรื่อง การปฏิสนธิของ อเหตุกบุคคล

------------------------------------

และ ในส่วนของ นปุงสก ข้อ ๙ นั้น
ท่านพระสัทธัมมโชติ ผู้รจนา ได้แสดงไว้ว่า หมายถึง
นปุงสกบัณเฑาะก์ แต่ได้แสดงแยกไว้อีกครั้ง
โดยแยกเป็นอีกข้อ เพื่อจำแนกให้เข้าใจชัดถึง
บัณเฑาะก์ ทั้ง ๕ จำพวก นั่นเอง

ดังข้อความว่า

๙. นปํสก

น ปํเสติ ปุริโส วิย ปจฺจามิตฺเต น มทฺทตีติ นปํสโก
บุคคลใดที่ไม่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ดุจชาย
(บุคคลใดไม่สามารถประกอบกิจได้ดุจชาย) ชื่อว่า นปุงสกะ
นปุงสกะ นี้ได้แก่พวกนปุงสกบัณเฑาะก์ ที่ได้อธิบายไว้ในพวกบัณเฑาะก์ ๕ จำพวกนั้นเอง


โดย: ชาวมหาวิหาร วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:21:01:17 น.  

 
ขอบพระคุณครับ

ความรู้ด้านพระอภิธรรมของผมต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก
บางทีเรื่องที่คุณชาวมหาวิหารเห็นว่าอ่านเข้าใจง่าย
แต่ผมก็ไม่เข้าใจ-ต้องถามก่อน แหะๆ..


โดย: ปล่อย IP: 124.122.147.65 วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:21:53:29 น.  

 
อนุโมทนาสาธุนะครับ
คุณปล่อยก็ถือว่าเป็นผู้มีความรู้ดีแล้วอยู่นะครับ

ในส่วนอภิธรรม ถ้าได้ลองทำความเข้าใจอีกนิดในส่วนของ
จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ ให้แม่นๆ ก็น่าจะมาประยุกต์
ใช้ประโยชน์กับการพิจารณาข้อธรรมส่วนอื่นๆได้เยอะเลยน่ะครับ


โดย: ชาวมหาวิหาร วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:22:47:17 น.  

 
มาติดตามด้วยอีกคน


โดย: ชาล้นถ้วย IP: 61.90.12.24 วันที่: 18 เมษายน 2554 เวลา:14:41:09 น.  

 
อยากทราบความเห็นคุณชาวมหาวิหาร ว่าบุตรของโสไรยเศรษฐีล่ะคะ จะนิยามอย่างไรดีคะ??


โดย: เอิงเอย (เอิงเอย ) วันที่: 18 เมษายน 2554 เวลา:19:51:35 น.  

 
ผมเข้าใจว่า ไม่น่าจะจัดลงเป็น บัณเฑาะก์ หรือ อุภโตพยัญชนก น่ะครับ

จัดว่าเป็นชายปกติ แต่เมื่ออกุศลให้ผลก็เปลี่ยนไปเป็นหญิง และในภายหลังเมื่อได้ขอขมาพระมหากัจจายนะ จึงได้กลับมาเป็นชาย

ที่ไม่เป็นอุภโตพยัญชนก เพราะไม่ได้มีเครื่องหมายแห่งเพศทั้งสองพร้อมกันมาตั้งแต่เกิด

และ ไม่ได้เป็น บัณเฑาะก์ เพราะว่า ไม่ได้มีเครื่องหมายเพศชายหายไป หรือไม่ได้มีลักษณะความเป็นหญิงในร่างชาย แต่เป็นการเปลี่ยนไปเป็นหญิงจริงๆเลย

ในแง่ของอภิธรรมนั้น นปุงสกบัณเฑาะก์และอุภโตพยัญชนก
จะเป็นผู้ปฏิสนธิด้วย อเหตุวิบากจิต ไม่สามารถบรรลุธรรมได้
ส่วน บุตรของโสไรยเศรษฐี ท่านปฏิสนธิมาด้วย ไตรเหตุวิบากจิต
ดังจะเห็นได้ว่า ท่านบรรลุ อรหัตมรรคในภายหลังน่ะครับ

วันที่ ๒๐ เมย ถึง ๔ พค ผมจะไปปฏิบัติธรรม
ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปสองสัปดาห์อาจจะไม่ได้เข้ามาสนทนาในเนตนะครับ


โดย: ชาวมหาวิหาร วันที่: 19 เมษายน 2554 เวลา:15:21:27 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: เอิงเอย วันที่: 19 เมษายน 2554 เวลา:21:24:58 น.  

 
อนุโมทนาสำหรับการไปปฏิบัติธรรมด้วยนะคะ



โดย: เอิงเอย IP: 223.206.51.43 วันที่: 19 เมษายน 2554 เวลา:21:35:49 น.  

 
ขอบคุณมะละกอและหน่อไม้ฝรั่ง ที่ทำให้คนสองคนมาเจอกันอีกครั้ง หลังจากห่างหายจากกันไป 20 ปี วัยอลวน 4 บอล & ปื๊ด รีเทิร์น 2008/ 9 มี.ค. 2551


โดย: วินัย นักรบนพดล IP: 210.246.186.4 วันที่: 23 สิงหาคม 2554 เวลา:22:40:52 น.  

 
กลุ่มเพื่อน 5.63 โรงเรียนอุตรดิตถ์ ขอแสดงมุทิตาจิตถวายพระครูถาวรธรรมโกวิท (ถวิล) ธ. วัดพระแท่นศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ เนื่องในโอกาสที่พระเดชพระคุณท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระวินัยสาทร สย. ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2554


โดย: กลุ่มเพื่อน 5.63 อ.ต. IP: 118.172.169.62 วันที่: 11 ธันวาคม 2554 เวลา:13:07:05 น.  

 
การที่ไม่ให้ บัณเฑาะก์ บวช ด้วยเหตุว่า ผู้ที่จะปฏิบัติให้ถึงมรรคผลได้ต้องเป็นผู้มีความสมบูรณ์ในทุกด้าน คือ สมบูรณ์ทั้งทางกายและทางจิตใจ ไม่งั้นการปฏิบัติทางจิตจะไม่อาจตรงสู่มรรคผลได้ การจะตั้งจิตละกิเลสนั้นกิเลสต้องสมบูรณ์ อาจจะฟังดูแปลกๆแต่หากมีกิเลสพิการมันก็ไม่อาจไปสู่งานที่ชอบธรรมได้ พวกที่มีจิตแปรปรวนเป็นพวกจริตกล้าไม่อ่อนน้อมต่อการสอนสั่ง แม้ที่สุดพวกที่สมบูรณ์ทั้งชายหญิงหากว่ายากสอนยาก เป็นคนกระด้างยังสอนไม่ได้ จะนับอะไรกับคนที่มีจริตวิปริตไปแบบนั้น ยากที่จะมีจิตใจตรงต่อพระธรรมได้ และรังแต่จะทำให้พระวินัยและศาสนาแปดเปื้อน ดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เห็นๆอยู่ว่ามีแต่ก่อเรื่องก่อราวที่ไม่ค่อยเหมาะสมกับเพศสมณะเสียเลย


โดย: บัวในน้ำ IP: 180.183.68.144 วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:02:06 น.  

 
บวชไปก็ย่ำยีพระธรรมวินัยสิครับ คิดให้ดีๆ


โดย: วัชพล IP: 171.7.198.94 วันที่: 13 พฤษภาคม 2555 เวลา:9:11:49 น.  

 
แต่หนูคิดอีกแบบหนึ่ง จากประสบการจริงเพราะว่าเป็นพี่ของหนูเอง ท่านเป็นแบบ อาสิตต ก่อนที่ท่านจะบวชนั้นเพราะแฟนของท่านเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ท่านเสียใจมาก แม่กลัวว่าท่านจะคิดทำอะไรไม่ดีแม่เลยพาท่านไปปฏิบัติธรรมเป็นเดือนๆแล้วพอกลับมาจากวัดก็เห็นท่านเริ่มที่จะดีขึ้นท่านบอกแม่ว่าจ่าพาแม่กับน้องๆไปเที่ยวที่อินเดียละได้มีโอกาศได้ไปเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์รู้สึกว่าต้นโพธิ์ต้นนั้นสวยมากงดงามมีหนูกับแม่และท่านไปกราบต้นพระศรีมหาโพธิ์แล้วแล้วท่านตั้งสัจจะอธิฐานว่านับตั้งวันนี้เป็นต้นไปท่านขอเป็นทาสรับใช่พระพุทธศาสนาไปจนตาย หนูได้ยินถึงกับอึ้ง แม่ก็ร้องไห้ ด้วยเรารู้สึกประทับใจกะภาพนั้นมากพอกลับมาถึงบ้านท่านก็บวชและเลือกวัดที่ท่านจะไปอยู่ด้วยตนเองตอนไปเห็นวัดครั้งแรกรู้สึกน๊ากลัวมากและระยะทางจากวัดไปถึงบ้านไกลตั้ง 6 กิโล ไปกลับ 12 กิโล หนูก็คิดว่าท่านจะอยู่ละปฏิบัติอยู่ที่นั้นไม่นานหรอกแต่เอาไปเอามาท่านอยู่มาได้จนถึงแปดพรรษาซึ้งวัดนั้นเป็นสำนักปฏิบัติธรรมอยู่ติดกับภูเขาชาวบ้านไม่ค่อยมาวัดนี้เท่ารัย เพราะมันไกลและอีกอย่างก็มีอีกวัดหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านอยู่แล้วเดือนที่แล้วพาแม่น้องชายหนูและก็ลุงไปปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านที่วัดพอเห็นท่านครั้งแรกแม่ถึงกับร้องให้ ท่านผอมมากๆผิดจากเดิมไปมากจนจำไม่ได้ ว่าคือพี่หนูแต่เมื่อได้ไปกราบเรียนถามท่าน ว่าท่านสบายดีไหม ท่านก้บอกว่ามีความสุขกว่าแต่ก่อนมากพอวันต่อมาหนูได้เข้าไปหาท่านกับแม่และลุงไปถามเรื่องการปฏิบัติท่านก็เล่าให้ฟังว่า ท่านเคยนึกเสียใจที่เกิดมาเป้นแบบนี้ตอนบวชใหม่ๆแต่พอบวชไปได้สักพักท่านรู้สึกว่ามันก็มีประโยชน์เพราะมันสอนให้ท่านสู้เป็นสู้ตายกับความคิดของท่านเองและท่านก็บอกว่ามันเป็นแบบทดสอบที่ดีทึ่สุดสำหรับท่านท่านรู้ว่าท่านแพ้ให้กับกิเลสตรงไหนแล้วจะเอาชนะทำให้มันสงบลงได้อย่างไร เพราะท่านบอกว่า ท่านมี กามราคะจัดมากท่านก็เลยต้องตัดท่อนอำนาจของกามราคะ คือการกินให้มันน้อย นอนให้มันน้อย และมาปฎิบัติ สมถกรรมฐานพิจารณากาย และ ของเน่าในร่างกายให้มาก แต่ท่านบอกว่าต้องปฏิบัติอยู่สมํ่าเสมอตลอดเวลา ม่ายให้จิตคิดปรุงแต่งต่างๆนาๆและอีกอย่างหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเลย ว่าท่านม่ายค่อยจะพูดสักเท่าไรผิดกะตอนที่ท่านเปนโยมท่านพูดเก่งมากๆเป็นที่สุดเป็นคนคุยสนุกแต่พอไปเจอท่านอีกที่ ท่านพูดน้อยมากๆเรียกว่าถามคำตอบคำเลยว่าได้และแม้แต่ท่านฉันเช้าเสร้จท่านเอาบาตรไปล้างแล้วท่านก็ขึ้นไปปฏิบัติของท่านต่อจะพบกันอีกที่ก็ตอนจะทำวัดเย็นเท่าันั้นซึ่งหนุไปปฏิบัติกับท่านเดือนกว่าได้เห็นข้อวัดปฏิบัติของท่านยิ่งทำให้หนูศรัธาในตัวท่านมาก เรื่องที่เล่ามานี้แค่อยากจะบอกว่า ไม่อยากจะให้มองในเรื่องของเพศเป็นสาระสำคัญเท่ารัยหรอกค่ะเพราะเมื่อท่าน มีครบทุกอย่างตามพระวินัยที่ท่านกำหนดเว้นแต่เพียงจิดใจเท่านั้นที่ไม่ตรงกับเพศที่เป็นอยู่ และทานก็ยังสามารถรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์และปฏิบัติในกิจของสมณะโดยชอบธรรมแล้วก็ถือว่าเป็นบุคคลโดยสมบูรณ์แล้วคนที่สมบูรณ์ทั้งสองอย่างแต่ทุษศีลทำตัวเป็นมารศาสนาก็มีเยอะไปค่ะ เพราะคนทุษศีลนั้นไม่ปฏิบัติพระธรรมวินัยลังแต่จะเอาตนมาแทนที่เพราะธรรมวินัยเสมอค่ะเพราะบุคคลเหล่านั้นไม่เข้าใจว่าอะไรคือคำสั่งอะไรคือคำสอนค่ะ


โดย: ประสิต IP: 171.4.110.59 วันที่: 13 พฤษภาคม 2556 เวลา:10:19:23 น.  

 
ขอบคุณท่านที่มาร่วมแสดงความเห็น และขอบคุณคุณประสิตที่นำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังครับ

ประเด็นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นละเอียดอ่อนมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก จะต้องไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป อนุโลมแต่เคร่งครัดตามกรอบพระวินัย ทั้งในพระไตรปิฎก และที่ท่านอรรถกถาจารย์ได้อธิบายไว้ในอรรถกถาพระวินัย ล้วนแสดงรายละเอียดต่างๆไว้ครอบคลุมพอสมควรแล้ว


โดย: ชาวมหาวิหาร วันที่: 23 พฤษภาคม 2556 เวลา:4:49:26 น.  

 
ขออ้างอิงคำว่าบัณเฑาะร์นะคะ


โดย: cyberlifenlearn วันที่: 8 เมษายน 2557 เวลา:3:45:15 น.  

 
ประวัติขุนแผนกรุอโยธยา พิมพ์" somchai001"


โดย: somchai001 IP: 101.51.91.176 วันที่: 20 กรกฎาคม 2560 เวลา:18:39:41 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.