THANON VEE (ถนนวี)

thanonvee
Location :
Paris France

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add thanonvee's blog to your web]
Links
 

 
สี่มุมมองท้องสนามหลวง ตอนที่ 1



เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรกฎาคม 2554 [1]


เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม – ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ารับการฝึกงานกับสมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชน (องค์กรสาธารณประโยชน์) ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยได้กำหนดไว้ กล่าวคือในรายวิชาระเบียบวิธีวิจัยด้านสังคมวิทยาในระดับปริญญาโทของสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่นั้น ได้กำหนดให้นักศึกษาทุกคนทำการฝึกประสบการณ์การทำงานภาคสนามโดยผ่านกระบวนการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม โดยตลอดระยะเวลาการฝึกงานนี้ ผู้เขียนได้ทำการสังเกตการณ์ ณ พื้นที่ท้องสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นที่อาศัยของประชากรกลุ่มเป้าหมายสำหรับงานภาคสนามของสมาคมฯ  นั่นคือ “กลุ่มผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ”

ในเบื้องต้นก่อนการสังเกตการณ์ภาคสนามในครั้งนี้ ผู้เขียนได้เลือกที่จะทำการศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่อยู่ในภาวะ “ความเป็นชายขอบ” ภายใต้บริบทของ “สังคมสมัยใหม่” ดังนั้นผู้เขียนจึงเลือกที่จะฝึกงานกับทางสมาคมฯ ทั้งนี้เนื่องด้วยลักษณะการทำงาน เขตพื้นที่งานภาคสนามและประชากรกลุ่มเป้าหมายในการทำงานของสมาคมฯ มีความสอดคล้องกับประเด็นศึกษาดังกล่าวเป็นสำคัญ นั่นคือภายใต้สังกัป “คนชายขอบ”

ตลอดระยะเวลาของการสังเกตการณ์ในพื้นที่เป้าหมาย ก็ได้มีการค้นพบปรากฏการณ์ที่มีความน่าสนใจในมิติสังคมวิทยาหลากหลายรูปแบบ ทั้งกลุ่ม “คนชายขอบ” และกลุ่มบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในข่าย “ความเป็นชายขอบ” โดยตรง แต่มีความสัมพันธ์กับหัวข้อในการทำงานภาคสนามครั้งนี้ทั้งสิ้น  บทความ “๔ มุมมอง ท้องสนามหลวง” นี้ เป็นส่วนหนึ่งจากรายงานผลการสังเกตการณ์ภาคสนามเชิงสังคมวิทยา ภายใต้สังกัป “คนชายขอบ” ของผู้เขียนเอง[2]  ซึ่งเนื้อหาโดยรวมของรายงานฉบับดังกล่าวได้พรรณนาถึงสภาพทั่วไปของพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง เช่น บริเวณตลาดนัดริมทางเท้า รวมถึงสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ เช่น กลุ่มคนเร่ร่อน ครอบครัวไร้บ้าน กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศนอกเคหะสถานทั้งหญิงและชาย ฯลฯ

ในส่วนของบทความ “๔ มุมมอง ท้องสนามหลวง” นี้ ผู้เขียนได้ทำการปรับปรุงและแก้ไขข้อมูลบางส่วนเพื่อให้กระชับและง่ายต่อการเข้าใจ ในบทนำที่จะได้กล่าวถึง ความเป็นชายขอบและสังคมสมัยใหม่ จะเป็นการอธิบายถึงความสำคัญของ “ความเป็นชายขอบ” และสังกัปอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการอภิปรายถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับ “สังคมสมัยใหม่” ในยุค “โลกาภิวัตน์” นอกจากในบทนำแล้ว ผู้เขียนเลือกที่จะอธิบายและพรรณนาภายใต้ประเด็นอื่นๆที่สำคัญอีก ๔ หัวข้อคือ

(๑)ชีวิตไร้สภาพ ในหัวข้อนี้ผู้เขียนมีความประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นถึงสภาพทั่วไปของกลุมคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้าน พร้อมทั้งนำเสนอถึงมุมมองและเหตุผลที่เราได้มีการอุปมาทางความคิดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของ “คนสนามหลวง” กลุ่มนี้ ว่าเป็นประชาชนของชุมชนเสมือนจริงที่ไร้สภาพ ไม่มีความสามารถและขาดอำนาจในการต่อรองกับสังคมส่วนกลาง 

(๒)จริยธรรมและความอยู่รอด  การใช้ต้นทุนจาก “เพศสภาพ” ของกลุ่มผู้ขายบริการในพื้นที่สาธาณณะ ทำให้เราต้องตังคำถามและหันกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่อง “จริยธรรม” และ “ความอยู่รอด” ในมุมมองที่ยากต่อการหาข้อสรุป ในบทนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาในการชี้ผิดหรือถูก ชื่นชม เห็นใจหรือกล่าวโทษต่อผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าว หากมีจุดประสงค์เพียงแค่การพยายามทำความเข้าใจถึงตัวแสดงที่แตกต่างภายใต้บริบทของ “สังคมสมัยใหม่” ที่หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตถึงความล่มสลายในเรื่องจริยธรรมของมนุษย์

ในบทต่อมา (๓) คือ โรงแรมล้านดาว  หากเหตุผลหลักที่ผู้เขียนเลือกที่จะศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มคนในภาวะ “ความเป็นชายขอบ” เกิดจากการสังเกตเห็นผลลัพธ์ในด้านลบบางส่วนของ “โลกาภิวัตน์” ที่ผลักให้ “คนจน” หรือกลุ่มผู้มีต้นทุนทางสังคมต่ำตกขอบจากสังคมส่วนกลางแล้ว ภาพของคนจนเมือง ผู้ใช้แรงงานที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มผู้เดินทางที่มาใช้บริการเช่าเสื่อนอนที่สนามหลวงในแต่ละคืน น่าจะเป็นการสะท้อนอานุภาพของ  “โลกาภิวัตน์” ที่ทำร้าย “ผู้ด้อยโอกาส” ในสังคมได้เป็นเป็นอย่างดี 

สำหรับประเด็นสุดท้ายของบทความนี้ (๔) คือ อาชญากรรมเชิงบวกมนุษย์เป็นสัตว์สังคมและจำเป็นต้องมี “ข้อตกลงทางสังคม” ร่วมกัน เพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมของสมาชิก โดยอาจถูกใช้ในรูปแบบของกฎหมาย จารีต ประเพณี และวัฒนธรรมฯลฯ ดังนั้น หากในสังคมปกติใดๆ มีรัฐบาลหรือกลุ่มผู้ปกครองเป็นผู้ใช้อำนาจและดูแลจัดการสังคมให้เป็นไปตาม “ข้อตกลงทางสังคม” ดังกล่าวแล้ว ชุมชนเสมือนจริงในลักษณะพิเศษอย่าง “สนามหลวง” จำเป็นต้องมี “ผู้ปกครอง” ในรูปแบบเฉพาะของตนเองหรือไม่? “ข้อตกลงทางสังคม” ของ “คนสนามหลวง” มีอยู่จริงหรือไม่? “มาเฟีย” ถ้อยคำซึ่งหนักหน่วงรุนแรงและให้มโนภาพที่เป็นลบมีอยู่ในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้หรือไม่? จากชุดคำถามเหล่านี้เองที่ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจและได้ตั้งสมมติฐานถึง “อาชญากรรมเชิงบวก” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนต้องการอธิบายในหัวข้อสุดท้ายนี้ไม่ใช่การสรุปว่า “มาเฟีย” (ในความหมายทั่วไป) มีอยู่ในพื้นที่สนามหลวงจริงหรือไม่? ลักษณะการทำงานของ “มาเฟีย” ในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ เป็นการเอาเปรียบ “คนสนามหลวง” หรือไม่? แต่ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ที่การตั้งคำถามเหล่านี้เพื่อเปิดมุมมองโดยปราศจากอคติและโดยการพยายามหลีกเลี่ยงกรอบแนวคิดประเภท “อุดมการณ์นิยม” เพื่อเชื่อมโยงกับบริบทของการเกิดขึ้นและมีอยู่จริงของ “มาเฟีย” ตามหลักคิดแบบ “สภาพจริงนิยม” ที่มองว่าในทุกภาคส่วนและในทุกระดับของสังคมมนุษย์ล้วนประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่กดขี่ เอาเปรียบ และหาประโยชน์จากกลุ่มคนที่อ่อนแอกว่าอยู่เสมอ  นอกจากบทนำและสี่หัวข้อหลักข้างต้นแล้ว

ในตอนท้ายของบทความนี้ผู้เขียนจะได้ทำการสังเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมอีกครั้งหนึ่งเพื่ออธิบายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานภาคสนามตลอดระยะเวลาระหว่างการฝึกงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งสรุปถึงประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ที่อาจจะนำไปใช้ต่อยอดเพื่อการศึกษาค้นคว้าในทางสังคมวิทยาในโอกาสต่อไป

ด้วยเวลาที่จำกัดอันเนื่องมาจากจำนวนงานที่ผู้เขียน (ในสถานภาพการเป็นนักศึกษา) ต้องนำส่งตามที่หลักสูตรได้กำหนดเอาไว้นั้นมีเป็นจำนวนมาก จึงอาจส่งผลให้บทความนี้ไม่สมบูรณ์ และหละหลวมในเนื้อหาบางประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเอกสารอ้างอิงทางวิชาการที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าเพิ่มเติมในจำนวนที่ค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้น หากบทความนี้มีข้อผิดพลาด บกพร่อง หรือไม่เหมาะสมในประการใดๆ ผู้เขียนยินดีน้อมรับในความผิดพลาด ตลอดจนคำวิจารณ์ และคำแนะนำพร้อมทั้งกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

ความเป็นชายขอบและสังคมสมัยใหม่

“คนชายขอบ” (marginal people) “ความเป็นชายขอบ” (marginality) หรือ “กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ” (marginalization) เป็นแนวความคิดที่ได้รับความสนใจจากนักสังคมวิทยาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านักสังคมวิทยาจากสำนักคิดชิคาโก้ (Chicago school) แนวความคิดส่วนใหญ่ของนักคิดกลุ่มนี้ล้วนอธิบาย “ความเป็นชายขอบ” ถึงความแตกต่างของกลุ่มคนที่อยู่ในสังคมที่มีความเป็นสมัยใหม่ กล่าวคือพวกเขาเชื่อว่าแรงกดดันหรือปัจจัยทางสังคมในด้านต่างๆ กัน ทำให้ “บุคคล” ต้องถูกผลักออกจากสังคมส่วนกลางโดยผ่าน “กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ” และลงเอยด้วยการใช้ชีวิตในภาวะ “ความเป็นชายขอบ” ในที่สุด  ในงานเขียนของพาร์ค (Robert Park) เมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งถือเป็นยุคแรกของการก่อตั้งสำนักคิดชิคาโก้นั้น เขาได้อธิบายถึงภาวะความเป็นชายขอบของกลุ่มคนอพยพเข้าเมืองและต้องอาศัยอยู่ร่วมกับสองวัฒนธรรมและสองสังคมที่มีความแตกต่างกัน วัฒนธรรมที่แตกต่างกันคือ (๑) วัฒนธรรมของคนในพื้นถิ่นและ (๒)วัฒนธรรมของกลุ่มผู้อพยพ ดังนั้น จากเงื่อนไขที่พวกเขาเป็นคนอพยพมาจากต่างถิ่นซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะความเป็นชายขอบ เมื่อเทียบกับภาวะของคนในพื้นที่เดิม จึงเป็นผลให้เกิดการแยกตัวของกลุ่มผู้อพยพออกจากสังคมส่วนกลาง อันเป็นผลมาจากภาวะชายขอบของพวกเขานั่นเอง[3]

นอกจากพาร์ค ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยาในยุคแรกของสำนักชิคาโก้ที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ในยุคถัดมา เบคเกอร์ ( Howard Becker) ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ศึกษาในประเด็นความเป็นชายขอบ ในหนังสือOutsiders [4] เบคเกอร์ได้ทำการศึกษากลุ่มนักดนตรีแจ๊ซในยุคนั้น โดยได้อธิบายว่าพวกเขาเป็นกลุ่มนักดนตรีที่มองตนเองในฐานะของศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นศิลปินมากว่านักดนตรีกลุ่มอื่น ทั้งนี้เพราะแนวดนตรีแจ๊ซที่พวกเขาเล่นในขณะนั้นไม่ได้เป็นดนตรีแนวตลาดเหมือนแนวดนตรีอื่นๆ ดังนั้น พวกเขาจึงมีพฤติกรรมที่แยกตัวเองออกจากสังคมส่วนกลางและพอใจที่จะใช้ชีวิตในแบบเฉพาะของพวกตน เช่นนิยมการใช้ชีวิตกลางคืน ปรารถนาที่จะมีบ้านพักอาศัยใกล้ๆกับนักดนตรีด้วยกัน อยู่รวมกันเป็น “แก๊งค์” หรือแม้กระทั่งมีค่านิยมในการใช้สารเสพติดเป็นต้น

หากพิจารณาจากงานเขียนของนักสังคมวิทยาทั้งสองคนในเบื้องต้น เราจะเห็นว่าทั้งพาร์คและเบคเกอร์ได้ให้นิยามความเป็นชายขอบที่แตกต่างกัน กล่าวคือ พาร์คได้อธิบายความเป็นชายขอบโดยพฤติกรรมที่ไม่สามารถเข้ากับวัฒนธรรมแปลกใหม่ได้ของกลุ่มผู้อพยพ ในขณะที่เบคเกอร์ได้นำเสนอความเป็นชายขอบโดยด้านพิเศษของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งๆ นั่นคือนักดนตรีแจ๊ซ แต่จากแนวคิดของทั้งสองคนเราอาจกล่าวได้ว่าความเป็นชายขอบก็คือวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตต่างไปจากคนส่วนใหญ่หรือแตกต่างไปจากวิถีชีวิตของคนอื่นๆ ในสังคมส่วนกลาง แน่นอนว่าการที่วิถีชีวิตของบุคคลใดๆ ก็ตามที่อยู่ในภาวะ “ความเป็นชายขอบ” ไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากแรงกดดันทางสังคมเชิงบังคับที่มีต่อตัวบุคคลนั้นๆ เสมอไป เพราะคนชายขอบในบางประเภท ตัวอย่างเช่นนักดนตรีแจ๊ซ เลือกและตัดสินใจที่จะเดินเข้าสู่วงจรชีวิตในลักษณะพิเศษที่เรียกว่า “ชายขอบ” ด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ในกรณีหลัง (นักดนตรีแจ๊ซ) กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบของพวกเขาจะฉาบหน้าด้วยความยินดีหรือความต้องการส่วนบุคคล แต่นั่นก็เป็นผลจากแรงบีบบังคับทางสังคมโดยอ้อม (indirect-social constraint) อย่าลืมว่าดนตรีแจ๊ซในยุคนั้นไม่ได้เป็นแนวดนตรีตลาดหรือพูดอีกอย่างก็คือไม่ได้รับความนิยมจากสังคมในวงกว้าง ดังนั้น ด้วยแรงกดดันทางสังคมที่ “ความนิยม” หรือ การได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่ของกลุ่มอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้กลุ่มนักดนตรีแจ๊ซรู้สึกถึงการไม่มีตัวตน ไม่มีที่ยืน และไม่มีบทบาทสำคัญในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ จึงต้องแสดงออกถึงการมีตัวตนในสังคม ด้วยการกระทำที่มีจุดเด่นผ่านพฤติกรรมที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ทั่วไปในสังคม ซึ่งจากตรงนี้จะสังเกตเห็นว่าความเป็นชายขอบนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตต่างไปจากคนส่วนใหญ่อันเป็นผลมาจากแรงกดดันทางสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกันรายละเอียดของ “ความเป็นชายขอบ” ก็ย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ในทำนองเดียวกัน กลุ่มคนชายขอบของโลกตะวันตก (เช่นอเมริกา และยุโรป) และโลกตะวันออก (เช่น ประเทศไทย) ก็ย่อมมีความแตกต่างกัน ในหนังสือ ชีวิตชายขอบ: ตัวตนกับความหมาย[5] ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรที่ได้ทำการศึกษาวิถีชีวิตของคนชายขอบในสังคมไทย ได้นำเสนอกรณีศึกษากลุ่มคนชายขอบในสังคมไทยทั้งหมด ๖ กรณีคือ เกย์ หญิงรักหญิง คนเก็บขยะและซื้อของเก่า วัยรุ่น คนชรา และเด็กข้างถนน งานศึกษาดังกล่าวได้อธิบายความเป็นชายขอบในสังคมไทยผ่านประเด็นหลักๆ คือ สภาวะของบุคคลประเภท วัยทอง วัยรุ่น คนผิดเพศ เด็กเร่ร่อน และ คนจน  และหากพิจารณาจากทั้งหกกรณีศึกษานี้ เราอาจแยกความเป็นชายขอบของสังคมไทยได้เป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ 

(๑) กลุ่มคนเก็บขยะและซื้อของเก่า และเด็กข้างถนน ซึ่งเกิดมาจากความเป็นสังคมเมืองหรือสังคมสมัยใหม่ และการอพยพของคนชนบทเข้ามาทำงานในเมืองซึ่งเป็นมูลเหตุที่สำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม อันส่งผลให้เกิดคนจนเมือง คนเก็บขยะและเกลุ่มคนเร่ร่อน

(๒) กลุ่มเกย์และหญิงรักหญิง ความเป็นชายขอบของคนกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดมาจากเรื่องความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาด้านการเงิน หากแต่อยู่ที่การที่เพศสภาพของเขาและเธอ (หมายถึงรสนิยมทางเพศ) ไม่สามารถจะจัดเข้าประเภทใดได้ นั่นหมายความว่าพวกเขามีความแปลกแยกไปจากระบบการจัดประเภทเพศของสังคมส่วนกลาง

(๓) กลุ่มวัยรุ่นและคนชรา แม้กลุ่มสุดท้ายนี้จะไม่มีความเป็นชายขอบที่ชัดเจนเท่าสองกลุ่มแรก แต่อาจกล่าวได้ว่าความเป็นชายขอบของพวกเขาเกิดจากภาวะที่คนส่วนใหญ่มองว่าพวกเขาเป็นคนที่ไร้ความสามารถ (คนชรา) ในโลกการทำงาน หรือเป็นคนคนที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ปกติ (วัยรุ่น) ในมุมมองของผู้ใหญ่วัยกลางคน เช่นวัยรุ่นที่มีความคะนองและชื่นชอบกิจกรรมที่มีความท้าทายแบบสุดโต่ง เป็นต้น

ลักษณะของความเป็นชายขอบในสังคมใดๆ ล้วนมีความแตกกัน ดังนั้น หากเราต้องการสังเกตพฤติกรรมหรือศึกษาวิถีชีวิตของคนเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจำกัดขอบเขตของกลุ่มประชากร และพื้นที่เป้าหมายรวมถึงหัวข้อในการทำงาน ในที่นี้ หากประเด็นที่เราสนใจและมีความประสงค์ที่จะทำการสังเกตการณ์คือกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งเป็นผลผลิตจากความเป็นเมืองหรือความเป็นสังคมสมัยใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “กลุ่มคน” ที่ได้รับผลกระทบจาก “สังคมสมัยใหม่” ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ผลักพวกเขาเหล่านั้นออกสังคมส่วนกลาง โดยผ่านกระบวนการการกลายเป็นคนชายขอบ และกลายเป็นบุคคลที่ใช้ชีวิตในวงจรของความเป็นชายขอบในที่สุด สิ่งสำคัญประการแรกสุดในมุมมองของผู้เขียนคือ เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า “โลกาภิวัตน์” คืออะไร และส่งผลกระทบต่อ “บุคคล” จนกลายเป็นคนชายขอบได้อย่างไร?

ท่ามกลางกระแสสังคมสมัยใหม่แห่งยุคโลกาภิวัตน์[6] หรือโลกานุวัตร (globalization) นั้น มนุษย์มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่คล้ายคลึงหรือแทบจะเหมือนกันในทุกมิติ อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ในฐานะ “พลโลก” ในยุคนี้พูดภาษาเดียวกัน (อังกฤษ) ดูหนังเรื่องเดียวกัน ฟังเพลงหรือเสพย์สื่อบันเทิงเชิงวัฒนธรรมที่มาจากแหล่งเดียวกัน ใช้คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์อิเลกทรอนิค ฯลฯ จากบริษัทเดียวกัน แม้ในยุคที่ระบบขนส่งทุกรูปแบบทุกช่องทางเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วนั้น แต่ยานพาหนะที่เราใช้ก็ล้วนมากจากผู้ผลิตคนเดียวกัน (หรือหากจะมีมากกว่าหนึ่งบริษัทก็เป็นเพียงจำนวนที่น้อยอยู่ดี หากเทียบกับจำนวนประชากรโลก) ยกตัวอย่างเช่น เครื่องบิน และรถยนต์ เป็นต้น

ปรากฏการณ์ของสังคมแบบโลกาภิวัตน์นั้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่สำคัญหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการรวมประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) ใน พ.ศ. ๒๕๓๓ การล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ การกลับขึ้นมามีบทบาทสำคัญบนเวทีโลกของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในช่วงประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้รวมไปถึงการสูญสลายของ “ประเทศคอมมิวนิสต์” ในเชิงรูปธรรมในรอบหลายปีที่ผ่านมาอีกด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่งในหลากหลายช่องทาง บทบาทสำคัญและอิทธิพลของสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและอินเตอร์เน็ต การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่อันเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางการค้าและการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ก็ล้วนมีความสำคัญกับการก่อกำเนิดสังคมสมัยใหม่แห่งยุคโลกาภิวัตน์เช่นเดียวกัน

“สังคมโลกาภิวัตน์” ภายใต้เงื่อนไขแห่ง “สังคมบริโภคนิยม” และ “สังคมระบบทุนนิยม” ในยุคนี้ได้เชื่อมโยงเชิงบังคับมนุษย์จากทุกมุมโลก ทุกประเทศและทุกชนชั้นให้เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนที่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในระดับต่ำได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มผู้ด้อยโอกาส” ในระเทศที่กำลังพัฒนาหรืออีกนัยหนึ่งคือกลุ่มประเทศยากจนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศยากจนเอง ระดับความรุนแรงจากผลกระทบที่ได้รับย่อมมี่ความแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะกระทบมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางเศรษฐกิจและอัตราภาวะความเสี่ยงเฉพาะตนของบุคคลนั้นๆ

ประเด็นสำคัญของบทความนี้ไม่ใช่การอภิปรายถึงผลดีหรือผลเสียของ “สังคมโลกาภิวัตน์” ในทำนองเดียวกันบทความนี้ก็ไม่ใช่การถกถึงปัญหาหรือการตั้งคำถามว่าประเทศไหนหรือบุคคลกลุ่มใดเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทว่าสิ่งสำคัญประการแรกสุดของบทความนี้คือการที่เราต้องยอมรับว่า “สังคมสมัยใหม่” ในยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน อันเป็นผลที่เกี่ยวเนื่องกับ “ทุนนิยม” และส่งผลโดยตรงต่อการเกิดขึ้นของ “สังคมบริโภคนิยม” นั้น เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นและความเหลื่อมล้ำของสมาชิกในสังคม  ซึ่งหากปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ดังกล่าวก่อให้เกิดชนชั้นที่ได้รับประโยชน์และถือเป็น กลุ่มคนที่ไม่หลุดไปจากกระแสหลักของสังคมทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือกล่าวอีกอย่างก็คือกลุ่มคนที่สามารถประคับประคองวิถีการดำเนินชีวิตของตนให้อยู่ใน “ส่วนกลาง” ของสังคมได้แล้ว  แน่นอนว่าในจำนวนที่เหลือก็คือกลุ่มคนที่ถูกผลักให้ออกไปอยู่นอกกระแสหลักของสังคมดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้กลายเป็น “กลุ่มบุคคล”  ผู้ใช้ชีวิตในภาวะ “ความเป็นชายขอบ” ดังที่ได้กล่าวไป

ชีวิตไร้สภาพ 

“ท้องสนามหลวง” หรือเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในชื่อ “สนามหลวง” นั้น เดิมถูกเรียกว่า “ทุ่งพระเมรุ”  เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ถูกใช้สำหรับพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๓๙๘  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ทั้งนี้เนื่องด้วยเห็นผลของความเป็นอวมงคลของชื่อดังกล่าว ดังคำประกาศที่ว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนานๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่าทุ่งพระเมรุนั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่าท้องสนามหลวง”

ทั้งประวัติความเป็นมาอันยาวนานของสนามหลวงที่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ของประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ[7] สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ผนวกกับที่สนามหลวงนั้นรายล้อมไปด้วยสิ่งปลูกสร้างและถานที่ราชการสำคัญๆ จำนวนมาก เช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงละครแห่งชาติฯลฯ ทำให้ในปัจจุบันสนามหลวงได้กลายเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๔ ตอนที่ ๑๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น ๗๔ ไร่ ๖๓ ตารางวา[8]

แม้ว่าสนามหลวงจะเป็นพื้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน รวมทั้งตั้งอยู่ท่ามกลางสถานที่สำคัญๆ ดังที่ได้กล่าวไป ทว่าภายใต้ภาพความงดงามของสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงในสายตาของคนทั่วไป สนามหลวงกลับแฝงไปด้วยวงจรชีวิตของกลุ่มคนชายขอบเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางประติมากรรมอันวิจิตรของสิ่งปลูกสร้างที่รายล้อมสนามหลวง ท่ามกลางความความภูมิใจของคนไทยกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาเยี่ยมชนสถานที่เหล่านี้ในแต่ละวัน ในอีกมุมหนึ่ง สนามหลวงกลับเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ “กลางใจเมือง” ที่ได้รวบรวมเอา “คนชายขอบ” จากผลกระทบของ “สังคมสมัยใหม่” เอาไว้เป็นจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเป็นขอทาน คนเก็บยะและขายของเก่า คนเร่ร่อน ครอบครัวไร้บ้าน กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ พ่อค้า-แม่ค้าตลาดนัดริมทางเท้าที่ขายของมือสอง ฯลฯ พวกเขาได้อาศัยพื้นที่สาธารณะแห่งนี้เป็นทั้งที่พักพิงและยังชีพ กล่าวคือเป็นทั้งบ้าน แหล่งทำมาหากินและสถานที่ทำงานในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเร่ร่อนและครอบครัวไร้บ้านที่ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้จุดเริ่มต้นจะแตกต่างกัน แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตของพวกเขาก็มาบรรจบกันที่ข้างถนน ทั้ง “เร่ร่อน” “ไร้บ้าน” หรือ “จรจัด” คือ ๓ คำนิยามในหนึ่งภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลในทุกระดับของสังคม

เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มคนเร่ร่อนหรือครอบครัวไร้บ้านที่สนามหลวงนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีบ้าน บางรายมีอาการทางสมองทำให้ไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวได้ และ/หรือบางรายเป็นปัญหาสืบเนื่องมาจากการสำรวจสำมโนประชากรฯลฯ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ถือว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มดังกล่าว นั่นคือเป็นคนที่มีบ้าน มีครอบครัว และเคยมีชีวิตที่เป็นปกติแต่ไม่ต้องการอยู่บ้าน เพราะรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างและไม่มีความสุข ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงเลือกที่จะมาใช้ชีวิตนอกบ้าน และสนามหลวงก็คือหนึ่งในหลายๆ สถานที่ที่พวกเขาเลือกที่จะมาใช้ชีวิตในช่วงเวลาของพวกเขาที่เหลืออยู่ พวกเขาเลือกมาที่สนามหลวงหรือบริเวณใกล้เคียงเพราะมันคือสถานที่ที่ทำให้พวกเขารู้สึกถึงการมีอิสระ เป็นตัวของตัวเอง มีที่ยืนทางสังคมตลอดจนได้รับการยอมรับและสัมผัสได้ถึงความสุขทั้งจากสภาพแวดล้อมและเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมในพื้นที่แห่งนี้ แน่นอนว่าความรู้สึกใดๆ หรือความสุขในลักษณะต่างๆ เหล่านั้นย่อมเป็นเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากในสายตาของคนทั่วไปจะมองว่า “ความสุข” ของ “พวกเขา” ก็คือ “ความทุกข์” ในสายตาของ “เรา” ดีๆ นี่เอง

นอกจากจากลักษณะข้างต้นแล้ว ยังมีกลุ่มคนที่เดินทางมาจากชนบทเพื่อมาหางานทำในเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) จะเป็นกลุ่มคนที่ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจนต้องออกจากงาน กลุ่มผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือกลุ่มผู้ประสบปัญหาด้านอื่นๆ และไม่มีที่ไปก็ตามแต่ ในที่สุดเส้นทางชีวิตของพวกเขาก็มาบรรจบกันที่สนามหลวง ในจำนวนของคนที่เดินทางจากชนบทเพื่อมาหางานทำในเมืองหลวงนี้ จำนวนมากเป็นผลมาจากแรงกดดันจากครอบครัวและคนในท้องถิ่นที่พวกเขาจากมา ด้วยกรอบความเชื่อภายใต้วาทกรรมที่ว่าหากไม่ประสพความสำเร็จในหน้าที่การงานและการเงินแล้วจะไม่กลับไปยังภูมิลำเนา ถ้อยคำแนวปรัชญาอันสวยหรูหรือวาทกรรมในลักษณะนี้ มักจะได้ยินเสมอๆ จากบทเพลงที่เป็นที่นิยมในยุคต่างๆ เช่นประโยค “จะไม่กลับหลัง ถ้ายังไม่ได้ดี” (เพลงสัญญากับใจ) หรือ “ไม่เด่นไม่ดัง จะไม่หันหลังกลับไป” (เพลงนักร้องบ้านนอก) ฯลฯ

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การกล่าวโทษบทเพลงเหล่านี้ว่าทำให้คนชนบทมีความคิดแบบสุดโต่งจนไม่สารถกลับไปยังภูมิลำเนาได้เมื่อประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่บทเพลงเหล่านี้ได้สะท้อนคือกรอบแนวความคิดในเรื่องดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องเล่าที่เลื่อนลอย หากแต่มันเกิดขึ้นและมีอยู่จริงในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ด้วยแนวคิดของการวางกรอบชีวิตและการขีดเส้นตายแห่งการประสพผลสำเร็จในลักษณะนี้เอง ที่ทำให้คนชนบทจำนวนไม่น้อยไม่สามารถกลับไปยังบ้านเกิดได้ ผนวกกับลักษณะของสังคมสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้มากขึ้นดังที่เราได้อธิบายไปในบทนำ ผลกระทบที่ผู้มีต้นทุนทางสังคมต่ำเหล่านี้ได้รับ ช่องว่างทางสังคมที่กว้างขึ้น คนจนเมือง (ที่มาจากชนบท) ที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เหล่านี้ทำให้คนต่างจังหวัดจำนวนมากต้องนำชีวิตเข้าสู่วงจรของ “ความเป็นชายขอบ”  และกลายเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้านในที่สุด ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคนเร่ร่อนไร้บ้านในกรุงเทพฯ หรือในสนามหลวงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็สอดคล้องกับคำอธิบายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

หากพิจารณาถึงลักษณะเหตุผล แรงจูงใจและแหล่งที่มาของคนเร่ร่อนไร้บ้านที่สนามหลวง เราจะสังเกตเห็นถึงความหลากหลายของ “คนสนามหลวง” กลุ่มนี้ได้ไม่ยากนัก อย่างไรก็ตาม แม้จุดเริ่มต้นของพวกเขาจะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน  แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตของพวกเขาทุกคนก็เดินทางมาบรรจบกันที่ “ข้างถนน” และถูกยัดเยียดลักษณะพิเศษจากสังคมส่วนกลางว่าเป็นกลุ่มประชากรประเภท “จรจัด” “เร่ร่อน” และ “ไร้บ้าน” ในที่สุด จากชาวชนบทที่พกพาเอาความหวังที่ว่าชีวิตจะต้องดีขึ้นจากการตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ หรือแรงงานชนชั้นกรรมาชีพในเมืองหลวงเอง ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองและ/หรือผู้ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร์ คนจน ชนชั้นกลาง หรือคนรวยผู้โดดเดี่ยว รักอิสระและต้องการค้นหาคำตอบว่า “บ้าน” และ “ความสุข” ในชีวิตที่แท้จริงคืออะไรกันแน่ ฯลฯ แม้ที่มาและเหตุผลจะแตกต่างกัน สุดท้ายกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นประชาชน “คนสนามหลวง” เหมือนกัน แน่นอนบางคนเต็มใจและเลือกเส้นทางนี้เอง ทว่าหลายคนจำใจและถูกผลักเข้ามาด้วยแรงกดดันทางสังคม 

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ/ ขาดการติดต่อกับครอบครัว ตกงาน ปัญหาปรัชญาในการใช้ชีวิตหรืออุดมการณ์ส่วนตัว ฯลฯ สิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจและพึงตระหนักไว้ก็คือ “คนเร่ร่อน” หรือถ้อยคำรุนแรงที่เราได้ยินเป็นประจำอย่าง “คนจรจัด” นั้น ไม่ใช่ “กลุ่มประชากร” อย่างเป็นรูปธรรมในสังคม แต่เป็นเพียงหนึ่งภาวะและหนึ่งลักษณะรูปแบบการดำเนินชีวิตในห้วงเวลาหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างไปจากคนอีกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ชีวิตข้างถนนหรือชีวิตในพื้นที่สาธารณะเป็นเพียงหนึ่งภาวะในชีวิตมนุษย์ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในสังคม (คนจน ชนชั้นกลาง คนรวย คนปกติ ผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง ฯลฯ) แต่การที่เราสังเกตเห็นว่างคนเร่ร่อนไร้บ้านส่วนใหญ่นั้น มักจะมาจากกลุ่มคนที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว หรือเคยเผชิญกับปัญหาทางสังคมด้านอื่นๆ นั้น ก็เป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นอยู่ในสถานภาพที่มีความอ่อนไหวและมีความเสี่ยงสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ที่จะกลายมาเป็นคนชายขอบและใช้ชีวิตข้างถนนหรือตามพื้นที่สาธารณะเท่านั้นเอง

ภาวะ “ความไม่ปกติ” ของ “คนสนามหลวง” ซึ่งเกิดจาก “อัตวิสัย” ของ “สังคมส่วนกลาง” ส่งผลให้ให้ในสายตาของคนทั่วไป ภาพของคนเร่ร่อนไร้บ้านคือ “คนบ้า” ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ “สกปรก” และสามารถทอดกายลงนอน “ที่ไหนก็ได้”

“บ้า” “สกปรก” หรือนอน “ที่ไหนก็ได้”[9] ฯลฯ ชุดความคิดเหล่านี้แท้จริงแล้วคือมโนภาพของสังคมส่วนกลางที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้วาทกรรม “ความปกติ” และ “ไม่ปกติ” ที่เกิดมาจากระบวนการทางความคิดของมนุษย์โดยอาศัยหลักอัตวิสัยที่เรามีต่อผู้ผู้อื่น ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งมองว่าคนเร่ร่อนไร้บ้านหรือกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะว่าไม่ปกตินั้น เรากลับไม่เคยสงสัยหรือตั้งคำถามเลยว่าอะไรคือนิยามและคำจำกัดความของ “ปกติ” และ “ไม่ปกติ” ที่เราใช้ตัดสินคนเร่ร่อนไร้บ้านเหล่านั้น เป็นที่แน่นอนว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายตรงกันข้ามและยังสามารถอธิบายความหมายซึ่งกันและกันได้อีกด้วย  กล่าวคือ สิ่งที่ “ปกติ” ก็คือสิ่งที่มีสภาพและลักษณะที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ “ไม่ปกติ”  อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงการให้คำจำกัดความแบบง่ายและใช้กันโดยทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นการให้ความหมายที่สามารถเข้าใจได้ง่ายในด้านภาษาและการสื่อสารเท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญและสิ่งที่เราควรจะร่วมกันวิเคราะห์ ณ ที่นี้ก็คือ  เราจะอธิบายหรือให้ความหมายคำว่า “ไม่ปกติ”  ได้อย่างไร หากไม่มีคำว่า “ปกติ” (หรือในกรณีตรงกันข้าม)

ก่อนที่จะอธิบายในรายละเอียดคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงหลักการวัตถุวิสัย (objectivity) และอัตวิสัย (subjectivity)  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักอัตวิสัย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงและมีความสำคัญมากต่อการให้ความหมายในเรื่องนี้ หลักการวัตถุวิสัยนั้นเป็นหลักการอย่างหนึ่งของวิทยาศาสตร์ที่ถือว่าการวัด ชั่ง ตวง หรือการประเมินค่าที่เชื่อถือได้ จะต้องกระทำด้วยหลักเกณฑ์ ที่อยู่นอกตัวผู้กระทำ นั่นคือจะต้องวัดหรือประเมินค่าด้วยหลักเกณฑ์ ที่ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ ค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อหรือความรู้สึกของผู้กระทำการนั้น การใช้เครื่องมือในการวัดหรือชั่งเป็นตัวอย่างของการใช้หลักการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ทำงานตามหลักการที่อยู่นอกตัวผู้ใช้ ที่สำคัญไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และความเชื่อของผู้ใช้  ส่วนหลักอัตวิสัยนั้นเป็นหลักการที่มีอารมณ์ ค่านิยม ทัศนคติ ความเชื่อ และความรู้สึกของผู้ใช้เข้ามาเกี่ยวข้องในการวัดและประเมิน สิ่งของอย่างเดียวกันถ้าใช้หลักอัตวิสัยวัดหรือประเมินค่าจะได้ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน ทั้งนี้เพราะแต่ละคนย่อมใช้มาตรหรืออัตวิสัยไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว อัตวิสัยจึงเกี่ยวข้องวาทกรรม “ความไม่ปกติ” ที่เรามีต่อกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สนามหลวงอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะการที่สิ่งใดๆ (หรือพฤติกรรมแบบไหน) จะปกติหรือไม่ปกตินั้น ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ “ปกติ” นั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ดี ถูกต้อง เหมาะสม หรือมีคุณค่าเป็นบวกด้วยตัวของมันเอง และในทำนองเดียวกันสิ่งที่เราเรียกว่า “ไม่ปกติ” ย่อมไม่ได้หมายความว่าสิ่งๆ นั้นจะต้องมีคุณค่าเป็นลบในตัวของมันเอง หากแต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการประเมินคุณค่าจากคนหนึ่งคน หรือจากกลุ่มคนเพียงหนึ่งกลุ่มเท่านั้น

หากพิจารณาจากข้างต้น กลุ่มคนเร่ร่อนที่มีรูปแบบวิถีชีวิตที่แตกต่างในแบบเฉพาะของพวกเขาเอง ซึ่งทำให้เรามองกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “ไม่ปกติ” นั้น ในความเป็นจริงก็เป็นเพียงผลลัพธ์ที่เกิดจากการวัดและประเมินคุณค่าพวกเขาโดยหลักอัตวิสัยส่วนตัวของเรา มโนภาพ “ไม่ปกติ” ดังกล่าวเกิดจากการเปรียบเทียบวิถีชีวิตของ “เรา” และ “พวกเขา” ที่มีความแตกต่างกันโดยอาศัยหลักอัตวิสัยในการประเมินคุณค่า แล้วสรุปผลว่า “เรา” คือภาวะที่เป็นปกติเพราะเป็นลักษณะของสังคมส่วนกลางซึ่งมีจำนวนคนที่มากกว่า  ในขณะที่ “พวกเขา” ซึ่งมีจำนวนที่น้อยกว่าก็ถูกตัดสินว่าเป็นภาวะที่ไม่ปกติไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม การยกเอาหลักอัตวิสัยมาอธิบายถึงความไม่ปกติของคนเร่ร่อนในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถสรุปได้ว่าวิถีชีวิตนอกเคหะสถานของพวกเขาเป็นสิ่งปกติซึ่งไม่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข หากแต่ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความเป็น “เรา” และ ความเป็น “พวกเขา” ว่าไม่ได้มีใครหรือวิถีชีวิตแบบไหนที่มีคุณค่าเป็นบวก ถูกต้อง เหมาะสม หรือ ไม่เหมาะสม ผิด และมีคุณค่าเป็นลบในตัวมันเอง ดังนั้น หากมีการพิสูจน์หรือยอมรับร่วมกันว่ามีบางลักษณะย่อยในรูปแบบชีวิตใดๆ (คนทั่วไปหรือคนเร่ร่อน) อยู่ในภาวะเสี่ยงหรือก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวบุคคลนั้นเองหรือต่อสังคมส่วนรวม ก็ไม่มีเหตุผลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะละเลยหรือไม่ดำเนินการแก้ไขใดๆ

ภายใต้เงื่อนไขการใช้ชีวิตที่ “เรา” พยายามยัดเยียดคำว่า “ไม่ปกติ” ให้กับ “ความเป็นชายขอบ” ของขอทาน คนเก็บยะและขายของเก่า คนเร่ร่อน ครอบครัวไร้บ้าน หรือกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ ฯลฯ ก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจในจุดนี้คือ มโนภาพของสังคมส่วนกลางที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้วาทกรรม “ความไม่ปกติ” ซึ่งทำให้เรามองกลุ่มคนเหล่านี้ว่า “ไม่ปกติ” ดังที่ได้อธิบายไปนั้น นับวันยิ่งจะกลายเป็นเหตุการณ์ปกติที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันในทุกๆ วัน ปรากฏการณ์ชนิดนี้เป็นเรื่องตลกร้ายและถือเป็นปัญหาของสังคม เพราะเมื่อใดก็ตามที่คนส่วนใหญ่ในสังคมหนึ่งเห็นว่าการมีคนนอนข้างถนนหรือริมทางเท้าเป็นเรื่องธรรมดา แสดงว่าสังคมนั้นได้ประสพความล้มเหลวของกลไกที่ใช้ในกระบวนการขับเคลื่อนสังคมอย่างสิ้นเชิง เพราะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างความคิดระดับบุคคลกับมโนภาพที่สร้างขึ้นโดยสังคมส่วนกลาง

ดังที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้าว่าวิถีชีวิตของ “คนสนามหลวง” นั้นเราไม่สามารถประเมินหรือให้คุณค่าได้ว่าเป็นรูปแบบชีวิตที่ปกติหรือหรือมีคุณค่าเป็นลบในตัวมันเองหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่สามารถสรุปได้เช่นกันว่าพวกเขาอยู่ในภาวะที่เหมาะสม ไม่เหมาะสม สมควรได้รับการกวาดล้างออกไปจากสังคมหรือไม่ประการใด ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันสังคมไทย (เช่นเดียวกับสังคมอื่นๆ) มีความเป็นปัจเจก (individual) มากขึ้น ซึ่งหมายความว่าความแตกต่างกันของมนุษย์แต่ละคนมีความสลับซับซ้อนและมีรายละเอียดในระดับจุลภาคมากขึ้น แม้ว่าคนสนามหลวงส่วนหนึ่งจะมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายทั้งเรื่องสุขภาพและอาชญากรรม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง แต่เราจำเป็นต้องยอมรับเช่นกันว่านั่นเป็นเพียง “หนึ่งประเภท” ของคนสนามหลวง และไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขาจากที่เป็นอยู่

มนุษย์ในภาวะ “ปัจเจก” นั้นมีพฤติกรรมที่ซับซ้อนซึ่งเราไม่อาจจะรู้ถึงความต้องการหรือแรงปรารถนาจาก “จิตใต้สำนึก” ที่แท้จริงของเขาได้ทั้งหมด ดังนั้น การพยายามศึกษาและทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของมนุษย์ในสังคมในระดับปัจเจกจึงเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน

“คนสนามหลวง” ซึ่งในที่นี้ใคร่จะหมายถึงกลุ่มคนเร่ร่อน และครอบครัวไร้บ้านนั้น  เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ไร้ความสามารถ และไม่มีอำนาจต่อรองกับสังคมส่วนกลาง กล่าวคือไร้ซึ่งสถานภาพการเป็นสมาชิกของสังคมที่เขาอาศัยอยู่ (สังคมไทย) ที่สุดแล้ว ก็เปรียบได้กับชีวิตในภาวะที่ “ไร้สภาพ”

การที่คนจำนวนมากมอง “คนสนามหลวง” หรือคนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นคนบ้า สกปรก นอนที่ไหนก็ได้และยัดเยียดความไม่ปกติให้พวกเขาในที่สุดนั้น (ซึ่งได้มีการอธิบายถึงที่ไปที่มาของชุดความคิดนี้ไปแล้วในตอนต้น) ภายใต้วาทกรรม “ไม่ปกติ” ดังกล่าว หลายคนเปรียบคนกลุ่มนี้เป็นเหมือน “ปรสิตของสังคม” ซึ่งหมายถึงคนที่คอยขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดเวลา ขี้เกียจและไม่ทำมาหากินด้วยตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น คนอีกจำนวนหนึ่งก็มองถึงความรุนแรง “ขี้เหล้า” เป็นอันธพาล หรือหนักที่สุดก็ถึงขั้น “ยาเสพย์ติด” “ไมเคารพกฎหมาย” และเป็นต้นเหตุของ “อาชญากรรม” ในประเภทต่างๆ

ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะมาถกหรือเถียงกันเพื่อหาข้อสรุปว่า “คนสนามหลวง” เป็นแบบนั้นจริงหรือไม่ ในทำนองเดียวกัน การให้เหตุผลแบบกลางๆ เช่น “คนสนามหลวงก็มีทั้งดีและเลวปะปนกันไป” หรือบางคำพูดประเภท “ก็มีบ้างแต่พวกเขาก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้น” แม้จะเป็นคำพูดที่ถูกต้องและเป็นความจริงที่ว่าในทุกสังคมและชุมชนล้วนมีทั้งคนดีและเลวปะปนกันไป  ซึ่ง “สนามหลวง”ก็อยู่ในข่ายนั้นด้วย  แต่ในมุมมองของผู้เขียน หากเราต้องการศึกษาและทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนเหล่านี้ เหตุผลหรือคำพูดที่ดูดีและเป็นกลางในลักษณะดังกล่าวย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เช่นกัน ดังนั้น หลักสำคัญที่เราต้องยึดถือเอาไว้และใช้ในการวิเคราะห์ก็คือการยอมรับถึง “การมีอยู่จริง” ของกลุ่มคนสนามหลวงในด้านที่เป็นลบ การยอมรับว่าคนเร่ร่อนไร้บ้านจำนวนมากติดเหล้าและบางคนไม่ทำงาน หรือกระทั่งบางคนมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เป็นเรื่องจริงนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ประเด็นที่เราต้องให้ความสำคัญในลำดับถัดมาคือการตั้งคำถามถึงมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แบบนั้น

ยกตัวอย่างเช่นกลุ่มคนเร่ร่อนที่ไม่ทำงาน เป็นเรื่องจริงที่ว่าคนเร่ร่อนบางส่วนเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างรายวัน หลายคนมีชีวิตอยู่ด้วยการเก็บขยะและขายของเก่า (ขวดน้ำอัดลม ขวดพลาสติก ฯลฯ) แต่ก็มีบางคนที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ด้วยการ “ขอ” คนอื่นและไม่ประกอบอาชีพใดๆ เลย หรือแม้แต่บางรายก็มีชีวิตอยู่ด้วยการหลอกหลวงผู้อื่น อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมนักหากเราจะเหมารวมว่าคนที่ไม่ทำมาหากินไม่นิยมการทำงาน (ในความหมายของคนทั่วๆ ไป) หรือมีชีวิตอยู่ด้วยการ “ขอ” นั้น เป็นผลมาจากความขี้เกียจ และก็ด้วยความขี้เกียจนี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เขาต้องกลายมาเป็นคนเร่ร่อน  

ประการแรก เราต้องไม่ลืมว่ากลุ่มคนเร่ร่อนจำนวนหนึ่งคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะทางเศรษฐกิจจนต้องออกจากงาน หรือบางคนเข้ามาหางานทำแต่ไม่ประสพผลสำเร็จ บางคนถูกหลอกและมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในโลกของการทำงานจนต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขากลัวหรือขยาดต่อโลกการทำงาน และในเวลาต่อมาก็ได้กลายมาเป็นคนเร่ร่อน

ในประการถัดมา คนเร่ร่อนหลายคนเป็นผู้ที่เคยติดยาเสพติดหรือติดสุรา และบางคนเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองและ/หรือไม่มีเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงสถานภาพการเป็นพลเมืองตามกฎหมาย (เช่น บัตรประชาชน) แน่นอนว่าลักษณะต่างๆ เหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคในการทำงานของพวกเขาทั้งสิ้น ในหนังสือ Le passé des sans-avenir[10] (the past of the No-futures) วาร์คย์-ดัมบูยอง (Gisele Wargny-Dambuyant) ได้แบ่งประเภทของคนเร่ร่อนออกเป็นสามกลุ่มดังนี้ ผู้ที่เคยทำงาน (ex-workers) ผู้ที่ผิดหวังจากงาน (disillusioned Labour) และผู้ถูกแบ่งแยกออกจากโลกการทำงาน (excluded from work) ในกลุ่มแรกนั้น (ex-workers) หมายถึงคนที่ถูกเลิกจ้างหรือมีความจำเป็นอื่นจนต้องออกจากงานประจำที่เคยทำ จากภาวะการสูญเสียงานทำให้บุคคลนั้นสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมงานไปด้วย ในสถานการณ์เช่นนี้ทำให้เขาขาดที่พึ่งและไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของตัวเองในสังคม และเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เขากลายมาเป็นคนเร่ร่อน กลุ่มที่สอง (disillusioned Labour) คือคนที่ขวน ขวายเพื่อจะทำงานที่ชอบ แต่ไม่ประสพผลสำเร็จ กล่าวคือเป็นบุคคลที่ได้ทำงานที่ไม่มีมั่นคง รายได้น้อย หรือไม่ตรงตามที่ตัวเองต้องการ ทำให้เขาหมดศรัทธาต่อการทำงานและหันหลังให้กับโลกการทำงานอย่างถาวรและกลายมาเป็นคนเร่ร่อนในที่สุด กลุ่มสุดท้าย (excluded from work)คือคนที่ถูกเลือกปฏิบัติและถูกแบ่งแยกออกจากตลาดแรงงานด้วยลักษณะเฉพาะทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม คือทั้งด้านร่างกายและสภานะภาพทางสังคม เช่น คนพิการ หรือผู้ป่วยที่มีอาการทางสมอง หรือผู้ติดยาเสพย์ติดหรือติดเหล้า(ด้านร่างกาย) คนชราหรือที่เกษียนแล้ว และคนที่ไม่มีวุฒิการศึกษา ไม่มีบัตรประชาชน (ด้านสังคม) ฯลฯ  หากพิจารณาจากตรงนี้เราอาจกล่าวได้ว่าคนเร่ร่อนจำนวนหนึ่งได้ประสบปัญหาจากภาวะ “ไม่มีงานทำ” และมีประสบการณ์ที่ค่อนข้างเลวร้ายในโลกของการทำงานจึงกลายมาเป็นคนเร่ร่อน ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งคือกลุ่มคนเร่ร่อนที่ไม่สามารถเข้าสู่โลกของการทำงานได้เพราะเป็นบุคคลที่เสมือนหนึ่งว่า “ไร้ความสามารถ” ในโลกการทำงานเนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพและ “ไร้สภาพ” ในทางกฎหมายอันเกี่ยวโยงกับสิทธิในการจ้างงาน หากการมีอยู่จริงของคนเร่ร่อนไร้บ้านที่ไม่ปรารถนาจะทำงานเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริงที่เราต้องยอมรับ ในขณะเดียวกันการยอมรับถึงมูลเหตุเหล่านี้ที่ทำให้เขาไม่ใคร่จะทำงานน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

สำหรับคนเร่ร่อนที่ติดเหล้า (alcoholism) นั้น ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนเร่ร่อนทุกคนไม่ได้ติดเหล้า ในทางตรงกันข้าม คนเร่ร่อนหลายคนติดเหล้าก่อนที่กลายมาเป็นคนเร่ร่อน บ้างก็ด้วยเหตุผลของความผิดหวังในเรื่องงานดังที่กล่าวไป บ้างก็ด้วยเหตุผลของปัญหาครอบครัวหรือคนรอบข้างฯลฯ ซึ่งจากตรงตรงนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่ของคนเร่ร่อนที่ติดเหล้าก็คือคนที่ไม่ประสพความสำเร็จในชีวิตมาแต่เดิมก่อนหน้าที่จะนำพาตัวเองมาใช้ชีวิตข้างถนน หลายคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าในสายตาคนอื่นทั้งก่อนหน้าและหลังจากที่มาใช้ชีวิตข้างถนนแล้ว หลายคนอยากจะลบความทรงจำอันโหดร้ายหรือเหตุการณ์ที่เลวร้ายในอดีตของตัวเอง (เช่นเรื่องการสูญเสียงาน สูญเสียคนที่รัก หรือมีปัญหากับคนใกล้ตัว ฯลฯ) ทางออกสำหรับพวกเขาซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดที่ควรจะทำ แต่ด้วยข้อจำกัดนานาประการ ที่พวกเขาเลือกใช้ก็คือ “เหล้า” มีคำกล่าวที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนเร่ร่อนไร้บ้านหรือนักเลงสุราบางกลุ่มว่า “นักเลงสุราหรือคนติดเหล้านั้น ดื่มเพื่อให้ลืมว่าตัวเองติดเหล้า” ในความหมายที่ใกล้เคียงกัน Jean Philipe ได้พรรณนาคำพูดของคนเร่ร่อนไร้บ้านใน L’humanité ไว้ดังนี้

“กี่ครั้งกี่หนที่เขาเหล่านั้นทำให้ฉันรู้สึกถึงความไร้ค่าของตัวเอง เพื่อจะลืมความรู้สึกไร้ค่าที่ยิ่งกว่าไร้ค่านั้น ยังมีสุรา สุราช่วยให้ฉันสามารถเผชิญหน้ากับไอเย็นแห่งความอัปยศนั้นได้เป็นอย่างดี เริ่มแรกฉันรู้สึกกระหยิ่มถึงความสุขและอำนาจที่ฉันมีเหนือสุราขวดนั้น ทว่าไม่นานนัก ฉันก็พบว่าขวดสุรานั้นได้ควบคุมทุกอย่างในตัวฉันเรียบร้อยแล้ว” [11]

ความจริงประการหนึ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ คือเราไม่มีทางทราบเรื่องราวในอดีตของบุคคลใดๆ ได้ดีไปกว่าเจ้าตัวเขาเอง ซึ่งทั้งคนเร่ร่อนหรือคนทั่วไปล้วนอยู่ในกรณีเดียวกัน การสอบถามข้อมูล การสัมภาษณ์ หรือการสังเกตพฤติกรรมของบุคคลใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคมวิทยา ไม่ปรากฏว่ามีระเบียบบังคับข้อใดที่กำหนดให้บุคคลต้องตอบคำถามตามจริงหรือแสดงออกซึ่งพฤติกรรมที่เรา (ในฐานะผู้สังเกตการณ์) ต้องการที่จะรู้ทั้งหมด กลุ่มคนเร่ร่อนที่ติดเหล้าหรือไม่ทำมาหากินก็เช่นเดียวกัน พฤติกรรมต่างๆของพวกเขาที่เราเห็น ข้อมูลต่างๆ ที่เราได้มาด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้มีอะไรที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้เลยว่าเป็นความจริงทั้งหมด แต่เราก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีเรื่องราวในอดีตด้วยกันทั้งสิ้น ความแตกต่างของเรื่องราวทั้งหมดขึ้นอยู่เพียงว่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือร้ายเท่านั้นเอง  เราลองหลับตาและจินตนาการภาพด้วยใจเป็นธรรมถึงคนหนึ่งคนที่เคยใช้ชีวิตประจำวันเป็นปกติวิสัยในเคหสถาน อยู่มาวันหนึ่งกลับต้องมาใช้ชีวิตตามสวนสาธารณะ นอนข้างถนน และเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะหรือขายของเก่าฯลฯ คำถามคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือไม่ สิ่งที่กำลังจะบอกไม่ใช่การทุบโต๊ะแล้วสรุปผลว่าคนเร่ร่อนไร้บ้านทุกคนล้วนแต่เจอเรื่องราวอันเลวร้ายในอดีตมาทั้งสิ้นถึงได้กลายมาเป็นคนคนชายขอบตามข้างถนนดังที่เราเห็น แล้วพยายามที่จะลืมเลือนเรื่องราวเหล่านั้นด้วยการดื่มสุรา แต่หากใน “อดีต” ไม่ได้มีเหตุการณ์พิเศษบางอย่างเกิดขึ้นกับเขา การใช้ชีวิตในภาวะที่ประหนึ่งว่าไร้ซึ่งสภาพของการมีชีวิตในสายคนทั่วไปจะเกิดขึ้นกับคนๆ นั้นใน “ปัจจุบัน” หรือไม่?

ต้องเรียนให้ทราบว่าบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นมาเพื่อแก้ตัวแทนคนเร่ร่อนไร้บ้าน ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะยกย่องชื่นชมและเห็นดีเห็นงามกับวิถีชีวิตของพวกเขาในทุกเรื่อง หากแต่จุดประสงค์หลักในหัวข้อแรกนี้เป็นไปเพื่อการอภิปรายถึงมุมมองที่แตกต่างว่าทำไมเราจึงเปรียบเทียบวิถีชีวิตของ “คนสนามหลวง” กลุ่มนี้ ว่าเป็นชีวิตที่ไร้สภาพ ไร้ความสามารถ และไม่มีอำนาจใดๆ เพื่อใช้ในการต่อรองกับสังคมส่วนกลาง 

จากที่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายมาทั้งหมด สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ “คนสนามหลวง” ซึ่งในที่นี้ใครจะหมายถึงกลุ่มคนเร่ร่อนและครอบครัวไร้บ้าน หรือที่หลายๆ คนเรียกว่ากลุ่มผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะกลายเป็น “สิ่งมีชีวิตไร้สภาพ” ก็คือมโนภาพของความ “ไม่ปกติ” ที่คนในสังคมมีต่อพวกเขานั่นเอง  นอกเหนือจากโมภาพเชิงอุดมคติที่เกิดมาจากกระบวนการการให้คุณค่าสิ่งต่างๆ ตามหลักอัตวิสัยของสังคมส่วนกลาง ซึ่งทำให้ในสายตาของคนทั่วไปมอง “คนสนามหลวง” กลุ่มนี้เป็นเสมือนสิ่งมีชีวิตที่ไร้สภาพและไร้ตัวตนแล้ว ลักษณะเฉพาะของพวกเขาทั้งที่เป็นรูปธรรม (เช่น มีอาการทางสมอง ติดเหล้า ฯลฯ) และนามธรรม (ไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถติดต่อญาติ ไม่ทราบภูมิลำเนาฯลฯ) เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงภาวะที่พวกเขาไม่มีอำนาจใดๆ เพื่อใช้ในการต่อรองกับภาครัฐหรือสังคมส่วนกลาง กล่าวคือ ในประการที่หนึ่ง “คนสนามหลวง” ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะที่เป็นพลเมืองในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะของพวกเขา (ไร้สภาพในสายตาคนทั่วไป ไม่มีบัตรฯ ไม่ทราบภูมิลำเนา ไม่มีหลักฐานเพื่อขอใช้สิทธิต่างๆ มีอาการทางสมองฯลฯ) และก็ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันนี่เอง ที่ทำให้ในประการที่สอง “คนสนามหลวง” ไม่สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมีพึงได้ตามวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตย เหมือนเช่นคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมที่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรมดังที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ

จริยธรรมและความอยู่รอด

“จริยธรรม” (ethics) เป็นหนึ่งในวิชาหลักของศาสตร์ความรู้ชั้นสูงอย่างปรัชญา (philosophy) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและความดีงามทางสังคมของมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อให้เราสามารถจำแนกแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกและสิ่งไหนผิด หากจะอธิบายอย่างง่ายๆ แล้ว จริยธรรมจึงหมายถึงการแยกสิ่งถูกออกจากสิ่งผิด หรือดีออกจากเลว ในความหมายตามพจนานุกรมในภาษาไทย “จริยธรรม” หมายถึงธรรมที่เป็นข้อประพฤติตามกฎศีลธรรมอันดี[12]  และตามธรรมเนียมยุโรปเราอาจเรียกจริยธรรมว่า Moral philosophy (หลักจริยธรรม)

“จริยธรรม” เกิดมาจากคำ 2 คำประกอบกันคือ จริย + ธรรม  ซึ่งถ้าแปลตามศัพท์ จริยะ หมายถึงความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ส่วนคำว่า ธรรม นั้นแปลว่าคุณความดี คำสั่งสอนในศาสนา หลักปฏิบัติในทางศาสนา ความจริง ความยุติธรรม ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ เพราะฉะนั้น เมื่อนำเอาคำ จริยะ มารวมกับคำว่า ธรรม เป็น จริยธรรม  เราจึงแปลเอาความหมายได้ว่า “กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติ หรือหลักความจริงที่เป็นแนวทางแห่งความประพฤติปฏิบัติ”[13]

จากข้างต้นทำให้โดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึงจริยธรรม ความหมายก็มักถูกอิงอยู่กับบริบททางศาสนาเสมอ ทั้งนี้เป็นผลมาจากหลักคำสอนทางศาสนาได้มีส่วนในการสร้างระบบจริยธรรมในสังคมมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ในอีกมิติหนึ่งความหมายของจริยธรรมก็ไม่ได้อิงอยู่กับคำสอนทางศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะแท้ที่จริงแล้วจริยธรรมของมนุษย์ยังเป็นปรากฏการณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและประเพณีในแต่ละสังคมอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ “จริยธรรม” ไม่อาจถูกอธิบายได้ด้วยนิยามที่เป็นสากลเพียงนิยามเดียว หากแต่ความหมายของ “จริยธรรม” ในแต่ละสังคมนั้นเป็นเพียงแนวคิดหนึ่งชุดที่มีลักษณะเฉพาะตัวและมีเกณฑ์เพื่อใช้วัดและจัดประเภทของคุณค่าตามพฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ในสังคมใดๆ เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมการทักทายในสังคมตะวันตกที่การกอดหรือหอมแก้มกันถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาและไม่ขัดกับจริยธรรมของเขา ในขณะที่การแสดงออกซึ่งพฤติกรรมในลักษณะที่คล้ายกันนี้ในสังคมตะวันออก (เช่นสังคมไทย) กลับเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเมื่อนำหลัก “จริยธรรม” มาประเมินคุณค่าพฤติกรรมนั้น เป็นต้น

เมื่อ “จริยธรรม” ซึ่งถือเป็นมาตรการทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่ใช้เพื่อการควบคุม “พฤติกรรม” ของสมาชิกในสังคมให้เป็นไปตาม “ข้อตกลงทางสังคม” (social contract) ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับลักษณะหรือประเภทของการประกอบ “อาชีพ” ของสมาชิกในสังคม อาชีพที่มักจะถูกกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าขัดต่อหลักจริยธรรมอยู่เสมอก็คือ “โสเภณี” และผู้ให้บริการทางเพศ (sex worker) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ระบบ “จริยธรรม” ถูกสร้างขึ้นมาท่ามกลางบริบทของพระพุทธศาสนา ซึ่งการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักแห่งเบญจศีลถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่งในฐานะพุทธศาสนิกชน

การใช้ต้นทุนจาก “เพศสภาพ” ของกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศและความขัดแย้งกันระหว่างหลัก“จริยธรรม” กับปัญหาการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานเพื่อ “ความอยู่รอด” ในสังคมที่ได้ชื่อว่า “เมืองพุทธ” (สังคมไทย)

โดยสังเขป เราอาจจำแนกประเภทของอาชีพที่ใช้ต้นทุนจาก “เพศ” หรือ “ผู้ให้บริการทางเพศ” (sex worker) ออกเป็นสามกลุ่มดังนี้ (๑) บุคคลผู้ขายบริการทางเพศตามท้องถนน (street sex worker) หรือในพื้นที่สาธารณะ (park sex worker) ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มผู้ขายบริการที่แฝงตัวตามร้านอาหาร สถานบันเทิง บาร์ ไนท์คลับฯลฯ (indirect sex worker) ด้วย ในประเภทต่อมา (๒) คืออาชีพการเต้นรำหรือแสดงโชว์เปลือยต่างๆ เช่นบาร์อะโกโก้ฯลฯ ประเภทสุดท้าย (๓) คืออาชีพการขายบริการทางเพศโดยตรง (direct sex worker) ตามสำนักบริการทางเพศหรือในอดีตก็คือ “ซ่องโสเภณี” (brothel) ต่างๆ ซึ่งในบางประเทศเป็นการให้บริการที่มีกฎหมายรองรับ[14]

โดยทั่วไป “ผู้ให้บริการทางเพศ” ประเภทที่ (๒) และ (๓)  มักถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการในระดับสูง เมื่อเทียบกับ “ผู้ให้บริการทางเพศ” ประเภทที่ (๑) ทั้งนี้เพราะประเภทที่ (๒) และ (๓) นั้นมีรายได้ที่ดีและมั่นคงกว่า และที่สำคัญเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามากกว่า นอกจากรายได้และความนิยมจากลูกค้าที่มีน้อยแล้ว กลุ่มผู้ให้บริการทางเพศประเภทที่ (๑) ยังอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่ออันตรายมากกว่าอีกสองกลุ่มด้วย เช่น เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายร่างกายจากกลุ่มลูกค้าที่เมาสุรา การจี้หรือปล้นทรัพย์ตลอดจนมีความเสี่ยงต่อความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ขายบริการด้วยกันเองในกรณีของการ “ล้ำเส้น” เขตพื้นที่ที่ให้บริการลูกค้าหรือมีการ “แย่งลูกค้า” กันเกิดขึ้น

จากการทำงานภาคสนามโดยการสังเกตการณ์ ณ พื้นที่ท้องสนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงในครั้งนี้ นอกจากลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้านแล้ว เรายังพบว่ามีกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศในพื้นที่ดังกล่าวนั้นอีกด้วย “ผู้ให้บริการทางเพศ” ในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงจัดว่าอยู่ในประเภทที่ (๑) นั่นคือกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศตามท้องถนน(street sex worker) หรือในพื้นที่สาธารณะ (park sex worker) กลุ่มคนเหล่านี้ก็ถือว่าเป็น “คนสนามหลวง” ได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมีบางคนที่มีสถานภาพเป็นทั้งคนเร่ร่อนไร้บ้านพร้อมๆ กับการขายบริการทางเพศไปด้วย กล่าวคือเป็นกลุ่มคนที่อาศัยสนามหลวงเป็นทั้ง “บ้าน” และ “สถานที่ทำงาน” ไปพร้อมๆ กันนั่นเอง กลุ่มผู้ขายบริการในพื้นที่สนามหลวงและบริเวณใกล้เคียงมีทั้งหญิงและชาย ผู้ขายบริการที่เป็นผู้ชายส่วนใหญ่จะให้บริการอยู่แถบบริเวณพื้นที่สวนสราญรมย์และสนามหลวงด้านที่อยู่ตรงข้ามเจดีย์ขาว ในขณะที่ผู้ขายบริการฝั่งคลองหลอดและสนามหลวงฝั่งศาลฎีกา รวมถึงสนามหลวงฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศที่เป็นผู้หญิงและสาวประเภทสอง 

ปรากฏการณ์ของ “คนสนามหลวง” กลุ่มนี้ที่ใช้ต้นทุนทาง “เพศสภาพ” ของตนเอง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรส่วนบุคคลเพื่อการประกอบอาชีพในการให้บริการทางเพศในพื้นที่สาธารณะนั้น ทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามและตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับบูรณการทางสังคม (social integration) และความสัมพันธ์ทางสังคม (social relation) ของมนุษย์ในสังคมร่วมสมัย (contemporary society) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของหลัก “จริยธรรม” และ  “ความอยู่รอด”

ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสำหรับประเทศไทย นั้น ส่วนหนึ่งของ “ข้อตกลงทางสังคม” (social contract) ได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้บริบทของพระพุทธศาสนา ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาในการทำงานต่อบทความนี้ ผู้เขียนจึงใคร่อยากจะสื่อสารพร้อมทั้งตั้งข้อสงสัยแต่เพียงกว้างๆ เพื่อให้เราได้ตระหนักร่วมกันว่าการใช้ต้นทุนจาก “เพศสภาพ” ของกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศที่ถูกมองว่าขัดกับหลัก “จริยธรรม” นั้น เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อ “ความอยู่รอด” ของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ อย่างไร

ทุกวันนี้เราอาศัยอยู่ในสังคมที่ไม่ใคร่จะยุติธรรมกับกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศมากนัก เพราะนอกจากสิทธิและการทำงานของพวกเขาแทบจะไม่มีคุณค่าใดๆในสายตาของคนทั่วไปแล้ว พวกเขายังถูกยัดเยียดภาพของความเลวร้ายเสมือหนึ่งว่าเป็น “อาชญากร” ที่คอยกัดกร่อนและทำลายสังคมนั่นคือการทำลายหลักจริยธรรม แม้ว่าในความเป็นจริงผู้ให้บริการทางเพศเป็นเพียงบุคคลที่ใช้ “เพศ” ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจส่วนตนเป็นเครื่องมือในการแสวงหา “รายได้” เพื่อเลี้ยงชีพ ทว่าพวกเขากลับถูกพิพากษาจากสังคมพร้อมทั้งหยิบยื่นหัวโขนในบทของ “อาชญากร” ที่คอยแสวงหาผลประโยชน์จากบุคคลอื่นโดยมิชอบ พร้อมๆ กันนั้นพวกเขาก็กลายเป็น “คนร้าย” ที่คอยทำลายโครงสร้างของสังคมที่ตั้งอยู่บนเสาหลักแห่ง “จริยธรรม”  ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำสบถด่าอย่าง “อีตัว” “กระหรี่” “ผู้หญิงหากิน” หรือแม่กระทั่ง “ผีขนุน” หรือ “ผีมะขาม” ที่ใช้เรียกเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศแถบพื้นที่สนามหลวง คำและวลีต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงถึงอคติและบท “ผู้ราย” ที่คนในสังคมอบให้พวกเขาได้เป็นอย่างดี

ถ้ามองในมุมของบรรดานักอุดมคตินิยมทั้งหลาย (idealist) ทั้งกลุ่ม “ผู้ให้บริการทางเพศ” และกลุ่ม “ผู้ขายบริการทางเพศ” ย่อมเป็นอาชีพที่ขัดกับหลักจริยธรรมอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตามหากเรามองในสภาพของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตามแนวคิดประเภท “สภาพจริงนิยม” (realism) เราย่อมต้องสามารถอธิบายต่อยอดจากปรากฏการณ์ความขัดแย้งกันระหว่างอาชีพนี้และหลักจริยธรรมของสังคมได้ด้วยเรื่อง “ปากท้อง” และ “ความอยู่รอด” เพราะหากพิจารณาตามหลัก “สภาพจริงนิยม” นี้แล้ว สองประเด็นสำคัญหรืออาจจะเรียกว่าคำถามที่สำคัญที่สุดคือ (๑) ทำไมพวกเขาและเธอจึงเลือกที่จะประกอบอาชีพนี้? (๒) มูลเหตุและปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้อาชีพนี้ยังคงสร้างรายได้ให้กับพวกเขาและเธอได้?

ในประเด็นแรก(๑) ที่ว่าทำไมพวกเขาและเธอจึงเลือกที่จะประกอบอาชีพนี้ นั้น เราต้องไม่ลืมว่าการให้บริการ หรือขายบริการทางเพศก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เพราะจุดประสงค์หลักที่ทุกคนต้องการก็คือรายได้เพื่อนำใช้ในการดำรงชีวิต แม้การขายบริการทางเพศจะถูกมองว่าเป็นอาชีพบาปและขัดกับหลักจริยธรรม แต่เพื่อการมีชีวิตอยู่ของพวกเขาและเธอเหล่านั้นแล้ว ทางเลือกในการประกอบอาชีพอาจจะมีน้อยกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม ไม่ใช่เรื่องของอคติหรือมุมมองที่สุดโต่งหากมีหลายคนตั้งข้อสงสัยว่า “ทางเลือกมีน้อยหรือพวกเขาและเธอมีความจำเป็นมากขนาดนั้นเชียวหรือ? เพียงแต่คำถามนี้ไม่มีใครสามารถตอบได้ เพราะเหตุผลในการเลือกอาชีพของบุคคลใดๆ นั้นย่อมมีความหลากหลาย แรงจูงใจ สาเหตุหรือข้อจำกัดของแต่ละคนย่อมมีความหลากหลาย ต่อไปนี้เป็นบางส่วนจากคำให้สัมภาษณ์ของโสเภณีคนหนึ่งในวารสารด้านสังคมศาสตร์ที่ชื่อ การมีส่วนร่วมแห่งสังคมและชุมชน[15]  (Revue d’intervention sociale et communautaire):

“ลูกสาวฉันไม่พูดกับฉัน คุณยายของฉันที่พึ่งเสียชีวิตไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว เธอเคยชอบและรักฉันมาก แต่หลังจากที่ฉันมาทำอาชีพนี้เธอไม่เคยพูดกับฉันอีกเลยจนกระทั่งเธอเสียชีวิต พี่สาวของฉันก็เช่นเดียวกัน เธอแทบจะไม่พูดกับฉันเลย (…) พวกเขาบอกว่าผิดหวังในตัวฉันมาก มีเพียงคุณตาของฉันเท่านั้นที่คอยให้กำลังใจฉัน แต่คนอื่นๆ ในครอบครัวฉัน แทบไม่มีใครคุยกับฉันเลย”

จากคำให้สัมภาษณ์ของโสเภณีคนนี้ ถือเป็นถ้อยคำที่สะท้อนถึงความรู้สึกที่เจ็บปวดภายในใจของเธอ  เพราะเธอถูกคนในครอบครัวหมางเมินและตีตัวออกห่างอันเนื่องมาจากอาชีพของเธอ หากพิจารณาจากความรู้สึกของโสเภณีผู้นี้ คำถามคือถ้าเป็นไปได้เธอจะเลือกประกอบอาชีพนี้หรือไม่?

สิ่งหนึ่งที่คนในสังคมทุกสังคมต้องยอมรับคือต้นทุนทางสังคมเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เพราะสิ่งที่เราต้องถามตัวเองดังๆ ก็คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีอยู่จริงหรือไม่? หากการศึกษาถือว่าเป็นใบเบิกทางที่สำคัญและมีค่าในโลกการทำงานตลอดจนเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเลือนสถานะทางสังคมแล้ว ระบบการศึกษาไทยได้ทำหน้าที่นั้นอย่างสมบูรณ์หรือไม่? ในสังคมไทย “ปริญญา” ยังคงถูกจับจองไว้เพื่อคนเพียงบางกลุ่มหรือเปล่า?

ในประเด็นที่ (๒) ที่ว่ามูลเหตุและปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้อาชีพนี้ยังคงสร้างรายได้ให้กับพวกเขาและเธอได้  นั้น แม้จะไม่มีหลักฐานที่บันทึกไว้ชัดเจน (ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตที่จะไม่กล่าวถึงในรายละเอียด) แต่การเกิดขึ้นของอาชีพนี้เชื่อกันว่ามีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร สำหรับประเทศไทย การค้าประเวณีและซ่องโสเภณี เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓) ในสมัยพระนารายณ์มหาราชได้มีการนิยาม “การขายบริการทางเพศ” ไว้ว่าเป็นอาชีพ “รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ”[16] จากข้อมูลเบื้องต้นโดยย่อในที่นี้ แสดงให้เราเห็นว่าการขายบริการทางเพศไม่ใช่อาชีพที่พึ่งเกิดขึ้นในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งหากตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมาอาชีพนี้ยังคงมีอยู่ในสังคมจนถึงปัจจุบัน นั่นย่อมเป็นผลมาจากการที่อาชีพนี้ยังคงได้รับความนิยมจาก “ผู้ซื้อ” และสร้างรายได้ให้กับ “ผู้ขาย” อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม การกล่าวสรุปว่าคนที่ทำให้อาชีพนี้ยังคงมีอยู่ในสังคมก็คือ “ลูกค้า” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือคนทั่วๆ ไปในสังคมนั้นคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด ในทางตรงกันข้าม การกล่าวโทษว่าสาเหตุที่สำคัญที่สุดต่อการมีอยู่ของอาชีพนี้ก็คือกลุ่ม “ผู้ขายบริการทางเพศ” เอง นั้น ก็ไม่ใช่การสรุปความที่จรรโลงสังคมในด้านใดเลย เพราะสิ่งที่คนในสังคมควรให้ความสำคัญเป็นประการแรก คือต้องยอมรับถึงการมีอยู่และเกิดขึ้นจริงของความต้องการระหว่าง “ผู้ซื้อ” และความยินยอมที่จะยึดอาชีพนี้ของ “ผู้ขาย” ประการที่สองคือการยอมรับว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมชนชั้น ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยยังคงมีอยู่มาก คนบางคนมีทางเลือกมากมายในโลกการทำงานเพราะมีต้นทุนทางสังคมที่ดีทั้งการศึกษา สังคม และเงิน แต่คนอีกจำนวนมากก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราไม่มีทางทราบได้เลยว่า “คน” ที่ยอมถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็น “ผี(มะขาม)” และ “ผี(ขนุน)” นั้น เขามีมีความสุขและยินดีกับบทบาทที่ได้รับหรือไม่ เพราะฉะนั้น หากเราต้องการจะแก้ปัญหาของอาชีพที่ขัดกับหลักจริยธรรมนี้จริงๆ สิ่งที่ไม่ควรมีอย่างยิ่งก็คือ “อคติ” และ “ทัศนคติเชิงกดทับ” ต่อกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ

ดังที่ได้กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าว่าบทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อยกย่องวิถีชีวิตของคนชายขอบ (ทั้งคนเร่ร่อน และผู้ขายบริการทางเพศ) แต่เป็นไปเพื่ออยากให้คนในสังคมมองพวกเขาในมุมมองของสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเข้าใจถึงมูลเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องกลายมาเป็น “คนชายขอบ” ของสังคม ซึ่งพนักงานขายบริการทางเพศในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน

มุมมองเรื่องความล่มสลายในหลัก “จริยธรรม” ของ “นายทุน” ใน “สังคมสมัยใหม่” อันเป็นสาเหตุให้ชนชั้นล่างบางกลุ่มต้องกระทำการที่ขัดต่อหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐานด้วยการนำเอาทรัพยากรส่วนบุคคลอย่าง “เพศ” มาใช้ในการประกอบอาชีพ

สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศก็คือ การที่พวกเขาต้องเผชิญกับภาวะแรงกดดันจากหลักจริยธรรมและการต่อสู้กับสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์เรื่องของปากท้องและความอยู่รอดในชีวิตประจำวัน ยิ่งไปกว่านั้น วิถีชีวิตของพวกเขายังทำให้เราได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัจจุบันของสังคมที่เป็นผลให้ระบบจริยธรรมอยู่ในภาวะวิกฤติและบางส่วนก็อาจเรียกได้ว่าล่มสลายไปเรียบร้อยแล้ว

ช่วงปลายศตวรรษที่ ๒๐ ที่ผ่านมาและในยุคต้นของศตวรรษที่ ๒๑ นี้ ถือเป็นยุคทองของระบบโลกาภิวัตน์ สังคมไทยก็เช่นเดียวกันกับสังคมอื่นทั่วโลกที่ไม่สามารถปฏิเสธ “ทุน” ที่หลั่งไหลมาพร้อมกับกระแสของ “สังคมบริโภคนิยม” ในมุมมองเดียวกันกับระบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ที่ล้วนแต่เกิดขึ้นมาจากจุดประสงค์เพื่อการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ เพราะทุนนิยมไม่ใช่ระบบที่เลวร้ายในตัวของมันเอง ผลกระทบหรืออาจจะเรียกว่าผลเสียของทุนนิยมที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดมาจาก “รูปแบบ” ของ “ระบบ” แต่เป็นผลมาจาก “ผู้ใช้” ระบบนั้น

ในขณะที่ภาพกลุ่มผู้ขายบริการทางเพศกลายเป็นอาชีพที่ขัดกับหลักจริยธรรมอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นรูปธรรมจากคนในสังคม จนคำว่า “อาชญากร” ผู้ทำลายหลักจริยธรรมกลายเป็นคำพิพากษาอย่างเป็นทางการแบบถาวรของพวกเขาและเธอไปเรียบร้อยแล้วนั้น ทว่าความจริงที่เจ็บปวดประการหนึ่งคือ ไม่ใคร่จะมีคนในสังคมให้ความสำคัญกับจริยธรรมของ “นายทุน” เท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่วันนี้กลายเป็นสังคมที่ขึ้นอยู่กับ “ทุนนิยมผูกขาด” โดย “นายทุน” เพียงไม่กี่รายไปเรียบร้อยแล้ว

ดังที่ได้กล่าวไปว่า “ทุนนิยม” ไมได้เลวร้ายในตัวระบบของมันเอง ดังนั้นระบบทุนนิยมจึงไม่ใช่สาเหตุของการล่มสลายทางจริยธรรมของมนุษย์ แต่ความล่มสลายที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากกลุ่มนายทุนหรือชนชั้นปกครองผู้ไร้จริยธรรมเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำให้ภาวะ “ไร้จริยธรรม” ขยายวงกว้างและแทรกซึมลงไปในกลุ่มประชากรในทุกๆ อณูของสังคม ภาวะของสังคมที่ขาดจริยธรรมนี้เริ่มต้นโดยกลุ่มนายทุนหรือชนชั้นที่อยู่ส่วนบนสุดของสังคม จากนั้นจึงค่อยกระจายลงสู่กลุ่มคนในระดับล่างลงไปเรื่อยๆ คำว่าการแพร่กระจายของของภาวะไร้จริยธรรมนี้ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ลอกเลียนแบบทางสังคมตามระบบปกติ (innovation) แต่เป็นการแพร่กระจายผ่านกระบวนการที่คนในระดับ “บน” เอาเปรียบกลุ่มคนที่อยู่ในระดับ “ล่าง”  ทำให้การแพร่กระจายของของภาวะไร้จริยธรรมนั้นออกมาในรูปแบบของการบังคับทางอ้อม (indirect – social constraint) ความหมายคือกลุ่มคนในระดับ “ล่าง” ซึ่งได้รับแรงกดดันมาจากกลุ่มคนในระดับ “บน” ถูกบังคับให้ต้องตกอยู่ในภาวะ “ไร้จริยธรรม” เพื่อตอบโจทย์เรื่องความอยู่รอดของตัวเองและพวกพ้อง   ภาวะความจำเป็นที่ต้องตกอยู่ในภาวะ “ไร้จริยธรรม” ของกลุ่มคนในระดับ “ล่าง” นี้ทำให้พวกเขาจำต้องกระทำการต่างๆ ที่ (ขัดต่อหลักจริยธรรม) และเป็นการเอารัดเอาเปรียบ กลุ่มคนในระดับ “ล่างกว่า” ตนเองลงไปเรื่อยๆ อีกชั้นหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น นายทุนเจ้าของบริษัทส่งออกสินค้าขนาดใหญ่ (ระดับบน) ผู้ซึ่งบริหารงานอย่างไร้จริยธรรมและเอาเปรียบบรรดาโรงงานอุสาหกรรมขนาดเล็ก(ระดับล่าง) อยู่เป็นประจำ ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของกิจการโรงงานอุสาหกรรมขนาดเล็ก เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมฯ ก็ได้กระทำการในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มคนในระดับล่างลงมา เช่นกดค่าแรงพนักงาน(ระดับล่างที่๑) เอารัดเอาเปรียบพ่อค้าคนกลาง (ระดับล่างที่๒) ซึ่งเป็นผลทำให้เกษตรกรหรือชาวนา(ระดับล่างที่๓) ถูกกดราคาสินค้าหรือถูกหลอกลวงจากพ่อค้าคนกลาง สรุปก็คือเป็นการเอาเปรียบของคนในระดับบนกับคนในระดับล่าง ไล่ตามลำดับลงมาเรื่อยๆ 

หากพิจารณาจากตรงนี้ผนวกกับภาวะความจำเป็นของบุคคลที่ประกอบอาชีพขายบริการทางเพศแล้ว เราจึงอาจกล่าวได้ว่า “กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ” ก็คือกลุ่มคนที่อยู่ในระดับล่างสุดของระบบที่การเอาเปรียบจากนายทุนหรือชนชั้นสูงในแต่ละขั้น ส่งผลให้พวกเขาและเธอจำเป็นต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง (ทำงาน) เพื่อความอยู่รอด แม้ว่าการกระทำนั้นจะเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักจริยธรรมก็ตาม การที่พวกเขาเลือกใช้ทรัพยากรส่วนบุคคลอย่าง “เพศ” เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระลับล่างสุดของระบบซึ่งไม่มีกลุ่มคนในระดับถัดไปที่พวกเขาจะสามารถเอาเปรียบได้แล้ว ด้วยแรงกดดันดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาและเธอเหล่านั้น เลือกที่จะกระทำการที่ขัดต่อหลักจริยธรรมด้วยการเอาเปรียบตัวเองโดยการนำ “เพศสภาพ” ของตนมาใช้ในการประกอบอาชีพการขายบริการทางเพศ



[1] //www.midnightuniv.org/%e0%b9%94-%e0%b8%a1%e0%b8%b8%e0%b8%a1%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b8%87-%e0%b8%97%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%a7%e0%b8%87-%e0%b8%a7%e0%b8%b4

[2] รายงานฉบับดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเป็นภาษาฝรั่งเศส ในชื่อ « Le peuple de Sanam Luang » (อังกฤษ: The people of Sanam Luang), พฤษภาคม 2010, คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัย Grenoble 2- Pierre  Mendès France, ฝรั่งเศส.

[3] Robert Park, Human Migration and the marginal Man, American Journal of Sociology 33, 1928.

[4] Howard Becker, Outsiders: Studies in the Sociology of Deviance, New York, The Free Press, 1963.

[5] ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (บรรณาธิกรโดย), ชีวิตชายขอบ: ตัวตนกับความหมาย, กรุงเทพมหานคร, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ๒๕๔๔.

[6] โลกาภิวัตน์ (globalization) นั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่เป็นระบบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่๑๕ เป็นต้นมา  เราสามารถแบ่งโลกาภิวัตน์ออกเป็นสามยุคใหญ่ๆ ดังนี้  ในยุคแรกเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในช่วงศตวรรษที่๑๕ อันเกี่ยวกับการเกิดขึ้นขององค์ความรู้ต่างๆของมนุษย์ เช่นแนวคิดที่เชื่อว่าโลกกลมและความรู้เรื่องการเดินเรือฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการค้าขายที่มีการขยายตลาดคลอบคลุมทั่วดินแดนแถบนี้จากอิทธิพลของสเปนและโปรตุเกสในขณะนั้นอีกด้วย ในยุคที่สองเกิดขึ้นราวศตวรรษที่๑๙ (ค.ศ. ๑๘๗๐ – ๑๙๑๔) อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปและการขยายตลาดสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในทวีปอื่นทั่วโลก โลกาภิวัตน์ในยุคสองนี้สิ้นสุดลงในช่วงของการล่าอาณานิคมและสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับโลกาภิวัตน์ยุคที่สามหรือยุคปัจจุบันนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๘๐ ด้วยปัจจัยและรายละเอียดโดยสังเขปดังที่ปรากฏในบทความนี้

[7] ตัวอย่างประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ เช่นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลในยุคนั้นได้มีนโยบายให้จัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด สำหรับกรุงเทพฯได้เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด แต่เพียงไม่ถึงปี ทางราชการก็ย้ายตลาดนัดไปอยู่ในพระราชอุทยานสราญรมย์ จากนั้นจึงย้ายออกไปตั้งอยู่บริเวณสนามชัย และย้ายตลาดนัดกลับมาอยู่ที่สนามหลวงอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะใช้สนามหลวงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและจัดงานกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้มอบที่ดินย่านพหลโยธินในตอนต่อจากสวนจตุจักรให้แก่กรุงเทพมหานครเพื่อใช้ในกิจการสาธารณะประโยชน์ และกรุงเทพมหานครได้ปรับพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยและขณะเดียวกันก็ พยายามย้ายผู้ค้าจากสนามหลวงมาด้วย จนกระทั่งดำเนินการสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ โดยใช้ชื่อว่าตลาดนัดย่านพหลโยธิน โดยต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ตลาดนัดจตุจักร” ให้สอดคล้องกับสวนสาธารณะจตุจักรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จนกระทั่งปัจจุบัน

[8] ข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

[9] “นอนที่ไหนก็ได้” ในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงลักษณะและสภาพที่ที่คนเร่ร่อนฯเลือกจะนอน เช่นริมฟุตบาท ใต้สะพาน ตามป้ายรถเมล์ ม้านั่ง สนามหญ้าหรือตามพื้นของสวนสาธารณะฯลฯ ซึ่งไม่ได้หมายถึงทำเลพื้นที่อาศัยที่คนเร่ร่อนฯเลือกที่จะปักหลัก ทั้งนี้เพราะการเลือกพื้นที่อาศัยของคนเร่ร่อนฯนั้นไม่ได้อยู่ในลักษณะ “ที่ไหนก็ได้” แต่ขึ้นอยู่กับสามเหตุผลดังนี้ ๑.เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย เช่นมีผู้คนสัญจรไปมา มีแสงสว่างเพียงพอฯลฯ ๒.เป็นสถานที่ซึ่งสัมพันธ์กับการทำมาหากิน เช่นใกล้กับที่ทำงานในกรณีของคนเร่ร่อนฯที่ทำงานรับจ้างทั่วไป หรือเป็นที่ทีมีปริมาณของขวดพลาสติกหรือขยะมีค่าชนิดอื่นจำนวนมากในกรณีของคนเร่ร่อนฯที่เก็บขยะและขายของเก่าฯลฯ ๓. เป็นสถานที่ที่อยู่สืบทอดกันต่อๆมาของคนเร่ร่อนฯในรุ่นก่อน หรืออีกนัย์หนึ่งก้คือการเลือกที่อยู่อาศัยตามโมเดลของปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่า “การลอกเลียนแบบ” หรือ imitation หรือ innovation.

[10] Gisèle Dambuyant-Wargny,  Le passé des sans-avenir. Le poids de l’histoire dans les projets de vie des sans-abri, in Vivre la précarité, I.Billiard, (dir.), L’Aube, 2000.

[11] Jean Philipe, cité dans  L’humanité, 11 janvier 2000.

[12] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช 2542, น. 291.

[13] ไสว มาลาทอง, คู่มือการศึกษาจริยธรรม  กรมการศาสนา, พ.ศ. 2542,  น.6.

[14] Michel Dorais et Simon Louis La jeunesse, Intimité à vendre: comment devient-on travailleur du sexe ?, Sociologie et sociétés, vol. 35, n° 2, 2003, p. 121-138.

[15] Colette Parent et Christine Bruckert, cité dans revue d’intervention sociale et communautaire, vol. 11, n° 1, 2005, p. 135.

[16] ชวลิต มังคละวิรัช, เอดส์กับธุรกิจบริการทางเพศและแนวทางแก้ไขฯ, กองโรคเอดส์ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, สิงหาคม ๒๕๓๘.




Create Date : 19 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2559 23:35:52 น. 0 comments
Counter : 815 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.