รีวิวการ์ตูนไทย - Thai Comic Review
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
20 กรกฏาคม 2565
 
All Blogs
 
(รีวิวการ์ตูนไทย) ขอตามเม้นท์ทุกชาติ ทุกชาติไป (รวมนักเขียน)


   

   รวมเรื่องสั้น 7 เรื่องกับอีก 5 แก๊ก ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อเล่ม แต่มุ่งเน้นให้ความรู้ ปลูกฝังเรื่อง "การรู้เท่าทันสื่อ" ให้กับเด็กและเยาวชน จับเอานักเขียนที่มีชื่อเสียงในไทยเข้ามาร่วมงานหลายคน ไม่ว่าจะเป็นทั้งคนคุ้นเคยอย่าง เดอะดวง, PUCK, มุนิน,ต้องการ ฯลฯ เข้ามาพูดถึงเรื่อง "พิษภัยของการหลงเชื่อโฆษณาเกินจริง" ที่อาจส่งผลเสียต่อเรื่องเงิน สุขภาพ และความสัมพันธ์ภายในครอบครัว -- "ขอตามเม้นท์ทุกชาติ ทุกชาติไป" เกิดจากการร่วมงานกันระหว่าง สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และอื่นๆอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักวิชาการ ซึ่งเชื่อว่าหนังสือเหล่านี้น่าจะถูกทำขึ้นเพื่อกระจายไปตามห้องสมุดโรงเรียนหรือห้องสมุดชุมชนให้เด็กๆได้อ่านเป็นแน่

   โฆษณาเกินจริงหรือ propaganda ในที่นี้ หมายถึง การประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ที่มุ่งเน้นชักจูงคนด้วยถ้อยคำเชิงบวก ซึ่งบิดเบือนไปจากความเป็นจริง เพื่อให้คนสนใจซื้อสินค้านั้นๆ มักมาในรูปแบบสื่อโทรทัศน์หรือตามหนังสือต่างๆ (รวมไปถึงโฆษณาในอินเตอร์เน็ตด้วย) -- ยกตัวอย่างเช่น ครีมบำรุงผิวที่ทาแล้วขาวกระจ่างใสใน 3 วัน แต่ทาแล้วไม่ขาวใน 3 วันจริงๆ หรืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่แรงที่สุดในโลก ซึ่งก็ไม่รู้ไปทำโพลสำรวจกันตอนไหน แต่ฟังแล้วมันดูน่าสนใจ น่าซื้อไปใช้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้อินเตอร์เน็ตที่แรงแบบไร้ขีดจำกัดมาใช้จริงๆ อะไรทำนองนี้ 

   เรื่องสั้นส่วนมากจะเดินเรื่องคล้ายๆกันหมด จนใจความสำคัญแทบไม่ต่างกัน คือตัวเอกอยากได้ของที่อยู่ในโฆษณา แล้วก็เอาเงินไปซื้อ -- แต่โชคดี ด้วยเนื้อหาที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย จึงกลับกลายเป็นส่วนเสริมที่ทำให้ใจความสำคัญในฐานะรวมเล่ม ประกอบรวมกันจนแตกประเด็นได้กว้างยิ่งขึ้น -- ไร้พรมแดน (มุนิน) พูดถึงสมาชิกภายในบ้านที่เอาแต่เล่นอินเตอร์เน็ต จนทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวค่อยๆห่างกันเรื่อยๆ, กรอบ (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) การ์ตูนใบ้เพียงหนึ่งเดียวของเล่ม พูดถึงเด็กที่อยากได้ของเล่นในโฆษณา จนต้องขโมยเงินแม่ไปซื้อ เพราะกลัวจะตามไม่ทันเพื่อน, อุนจิ แฟคตอรี่ (Sugarian) พูดถึงเด็กๆที่กินแต่ขนมมากเกินไป จนอ้วนและขี้ไม่ออก -- โดยมีเดอะดวงคอยหนุนเป็นกองหลัง เขียนแก๊กสั้นๆ 2 หน้าจบ เกี่ยวกับโฆษณาเกินจริงที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบ คั่นกลางระหว่างเรื่องสั้นให้พอขำลึกๆ ก่อนที่จะเริ่มเรื่องถัดไป

   ในขณะเดียวกัน ก็มีนักเขียนบางคนเลือกที่จะใช้พื้นที่แห่งนี้ในการ "โปรโมตการ์ตูนของตัวเอง" เหมือนที่นักเขียนสายทางเลือกบางคนชอบทำ โดยเขียนกำกับว่าเป็นตอนพิเศษ -- ตรอง (ต้องการ) ตอนพิเศษจากเรื่อง ความสุขของมะลิ (2 เล่มจบ) พูดถึงเด็กสามคนที่เอาเงินค่าจ้างไปซื้อของตามโฆษณา และพบว่าคุณภาพไม่เป็นไปตามที่โฆษณาจริงๆ, ตูม ตูม (อิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์) จากเรื่อง โรงเรียนเม็ดก๋วยจี้ (4 เล่มจบ) พูดถึงกลุ่มตัวเอกที่พยายามซื้อขนมมาหลายๆห่อ เพื่อที่จะเอาของแถมมาต่อชิ้นส่วนให้เป็นหุ่นยนต์ที่สมบูรณ์ แต่จนแล้วจนเล่า ก็ยังหาชิ้นส่วนชิ้นสุดท้ายไม่เจอ แม้จะซื้อไปเกือบ 10-20 ห่อก็ตาม

 

   แม้ทั้งเล่มจะเดินเรื่องด้วยความสนุกเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีเรื่องสั้นบางเรื่องที่เน้นขายความโหดดิบ ขัดกับเรื่องอื่นๆในเล่ม ไม่ว่าจะเป็นทั้งฉากตัดขาคนที่ยังมีชีวิตแบบสดๆ เพื่อเอาไปทำเป็นซูชิใน The Seacret Story (สุทธิชาติ ศราภัยวานิช) หรือบทพูดชวนขนลุกในเรื่อง พี่เลี้ยงยุคใหม่ (PUCK) ที่พูดประมาณแบบ "กว่าเพื่อนพ่อพี่จะซื้อทีวีเครื่องนี้ได้นะ ต้องขายอวัยวะไปตั้งสองชิ้นแน่ะ" สยองพอๆกับลายเส้นเลยไอ้ชิบหาย!!! -- ซึ่งในส่วนของเนื้อเรื่อง เรื่องแรกจะพูดถึงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเอาคนดังที่มีแฟนคลับเยอะๆ มาพูดชักจูงให้คนซื้อ และเรื่องหลังก็จะพูดถึงครอบครัวที่มัวแต่ทำงาน จนไม่มีเวลาอบรมสั่งสอนลูกอย่างใกล้ชิด ทำให้โฆษณาในทีวีกลายเป็นพี่เลี้ยงที่ล่อตาล่อใจ จนเด็กๆเอาบัตรเครดิตแม่ตัวเองไปซื้อของจนเกือบหมด

   เรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ถือว่าทำออกมาได้สนุก และยังคงสไตล์การเขียนดั้งเดิมของตัวเองเอาไว้ ซึ่งก็พออ่านได้เพลินๆแบบไม่คิดอะไรมาก ยังคงความเพี้ยนตามแบบฉบับนักเขียน Let's Comics เอาไว้ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เลยรู้สึกว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างคอยดึงความสนใจอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นทั้งมุกตลก สำนวนการเขียนแปลกๆ หรือแม้กระทั่งสไตล์การเขียนเรื่องของแต่ละคน ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ก็เช่นกัน (ส่วนตัวชอบแก๊กบทสัมภาษณ์เคิร์ต โคเบนกินบะหมี่ถ้วย ของคุณสุทธิชาติมากๆ จะเอาฮาไปไหน) แต่ก็มีบางครั้ง ที่มุกตลกมันดูล้นจนเกินไปในระดับที่กลืนยาก อย่างเช่นเรื่อง พี่เลี้ยงมือใหม่ ของ PUCK ในชนิดที่ทนไม่ไหวกับความ cringe จนต้องอ่านข้ามบางหน้าไป -- หรือบทพูดมั่วซั่วแบบคิดจะเขียนอะไรก็เขียน ในเรื่อง ตูม ตูม ของคุณอิทธิวัฐก์ ก็จะประมาณแบบ "ชีวิตคนเราอย่าไปเดินบนกลีบกุหลาบนะ เพราะเดี๋ยวหนามมันจะตำเท้าเอาได้" คือกลีบกุหลาบมันเป็นใบ มันไม่มีหนามโว้ย!!! -- หรือแม้กระทั่งคำโปรยโฆษณาชวนเชื่อในเรื่อง พี่เลี้ยงมือใหม่ ของ PUCK อย่าง "มันฝรั่งโลเล อร่อยและสวยได้พร้อมๆกัน" ก็ฟังดูเหมือนจะไม่ได้คิดกลั่นกรองอะไรก่อนเขียนเลย เหมือนเขียนไปเรื่อยให้มันเสร็จๆไป บริษัทบ้าอะไร ขายมันฝรั่งทอดให้แค่เฉพาะผู้หญิง ส่อแววเจ๊งเห็นๆ

   แล้วก็อีกอย่างหนึ่งในการ์ตูนเรื่อง พี่เลี้ยงมือใหม่ ของ PUCK (ปัญหาเยอะจริงวุ้ย!!) ถ้าตูเป็นแม่เด็กที่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก อย่างน้อยตูก็คงไม่เสี่ยงซื้อทีวีสั่งของได้พร้อมผูกบัตรเครดิตให้ลูกเอาไปใช้จนหมดตูดหรอก ทำตัวเองเห็นๆ แล้วทีวีบ้าอะไร ดีไซน์ให้สินค้าที่ซื้อ ปล่อยออกมาทางรูตูด ไม่มีที่อื่นที่ดีกว่านี้ให้ปล่อยแล้วเรอะ? แหม่ แค่เห็นเด็กใช้บัตรเครดิตเพื่อซื้อปีโป้ 2 ชิ้น ก็ขำจนขี้แตกขี้แตนจะแย่อยู่แล้ว 

   เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการที่จะทำให้การ์ตูนของตัวเองมันตลกไปจนสุดทาง และต้องการจะสื่อว่า เด็กเป็นวัยที่ถูกชักจูงอะไรได้ง่าย แต่ทั้งเรื่อง มันแทบจะไม่คำนึงในเรื่องของความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย นอกจากคำโปรยโฆษณาที่เล่นเลยเถิดกับคนดูจนเกินเหตุ ยกตัวอย่างเช่น "สบู่ฟอกแล้วทำให้เป็นหมอ" ที่คนทั่วไป ฟังแล้วก็คงจะงงว่า มันควรจะใช่สรรพคุณของสบู่มั้ย? -- แม้โฆษณาชวนเชื่อส่วนมากจะเลือกอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เพื่อช่วยกระตุ้นให้คนอยากซื้อสินค้ามากขึ้น แต่อย่างน้อยบริษัทก็คงจะไม่หน้ามืดตามัว เลือกใช้คำโปรยที่ดูถูกสติปัญญามนุษย์แบบนี้แน่ๆ

  แต่สิ่งที่แย่ที่สุดในเล่มนี้ในระดับที่ไม่น่าอภัย นั่นคือ "การชี้นำเด็กในทางที่ผิด" -- ซึ่งเอาเข้าจริงๆ มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะมีใน "สื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน" เลยด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่นในการ์ตูนของมุนิน ที่มีตัวละครตัวหนึ่งหลับฝันว่าถ้าติดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จะสามารถโหลดหนังได้สบายขึ้น คืออ่านแล้วรู้สึกอึ้ง เพราะไม่อยากจะเชื่อว่ามุนินจะสนับสนุนคนอ่านให้ใช้อินเตอร์เน็ตในการ "โหลดหนังเถื่อน" กันแบบนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผิดลิขสิทธิ์ และทำให้อุตสาหกรรมหนังแผ่นที่ถูกลิขสิทธิ์เจ๊งกันมามากต่อมากแล้ว นี่หรือคือสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน?

   แม้จะมีเรื่องสั้นบางเรื่องที่ทำออกมาได้ไม่ค่อยดี แต่อย่างน้อย ถ้าตัดข้อเสียออกไป หนังสือเล่มนี้ก็ยังคงเต็มไปด้วยเรื่องสั้นที่อ่านสนุก และให้ความรู้เกี่ยวกับ "การรู้เท่าทันสื่อ" ต่อเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี และย่อยง่ายในระดับหนึ่งตามที่สำนักพิมพ์ตั้งใจเอาไว้ -- แม้ส่วนตัวจะไม่รู้ว่า นักเขียนแต่ละคนมีเวลาในการทำโปรเจ็กต์มากน้อยแค่ไหน แต่ขอร้อง!! ช่วยเช็กงานก่อนปล่อยหน่อยเถอะ ว่าที่เขียนไป มันเหมาะสมที่จะปล่อยสู่สาธารณชนแล้วรึยัง

เรื่องที่ชอบมากที่สุด กรอบ (วิศุทธิ์ พรนิมิตร)
เรื่องที่ชอบน้อยที่สุด พี่เลี้ยงมือใหม่ (ไตรภัค สุภวัฒนา)

(สรุป 7/10)

ติดตามเพจที่ https://www.facebook.com/ThaiComicReview/

(ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ 2555)




Create Date : 20 กรกฎาคม 2565
Last Update : 14 สิงหาคม 2565 19:27:22 น. 1 comments
Counter : 1048 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku, คุณนายแว่นขยันเที่ยว


 
ดีมากเลยครับ มีหลายจุดที่เห็นด้วยเลยว่า WTF!!?
จะได้ไม่หลงเข้าไปอ่าน 55


โดย: jsoc วันที่: 20 กรกฎาคม 2565 เวลา:17:48:26 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เรลกันคุง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีครับ ผมเรลกันครับ ชอบอ่านการ์ตูนมากๆ หวังว่าจะสนุกกันนะครับ




Friends' blogs
[Add เรลกันคุง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.