แกะตราประทับแบบไทยโบราณ
บล็อคนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวมาเกือบสี่ปีแล้ว รวมถึงบล็อคเก่าที่เคยเขียนเรื่องซอทำมือไว้ซึ่งผมไม่เขียนต่อแล้วนะครับ จะเขียนเรื่องงานอื่นแทน

หลายปีมานี้จะเห็นว่ามีกระแสงานฝีมือประเภทนึงแพร่หลายในบ้านเรา คืองานแกะตราปั๊มยางลบ (hanko) ซึ่งมาจากญี่ปุ่น เป็นงานเบาๆ ใช้ปั๊มเล่นๆ หรือทำ scrapbook ก็ได้

แต่น้อยคนจะรู้ว่างานฝีมือลักษณะนี้เคยมีมากในบ้านเราเช่นกัน ในยุคก่อนที่คนไทยจะมีลายเซ็น กษัตริย์ ขุนนาง ห้างร้าน คหบดีที่ต้องทำธุระกับทางราชการต้องมีตราประทับ ทั้งตราประทับประจำตำแหน่ง ตราประจำตัว แกะลงบนวัสดุแข็งเช่น ไม้ งา หิน ด้วยลวดลายไทยสวยงาม

เรียกกันว่า ลัญจกร ดวงตรา ตราประทับชาด



ภาพตราประทับขุนนาง สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเก็บรักษาที่บริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน




ภาพตัวอย่างเอกสารโบราณที่มีการประทับตรา ในใบบอกเรื่องส่งไม้ขอนสักส่วย เมืองลับแล จ.ศ.๑๑๙๘ 
จากวิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์หนังสือประทับตราสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว





ภาพสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์กำลังประทับตราพระราชลัญจกร
จากภาพยนต์เรื่อง ทวิภพ (siam renaissance) (2004)


ปัจจุบันมีเพียงสำนักพระราชวังและคณะสงฆ์ที่ยังใช้ตราประทับชาดลักษณะนี้อยู่ โดยใช้ประกอบสัญญาบัตรตราตั้งเป็นหลัก การใช้ตราประทับก็เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นตรายางที่ประทับด้วยหมึกซึมแทน ส่วนตราประทับโบราณทั้งหลายก็กลายเป็นสมบัติของนักสะสมวัตถุโบราณและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ช่างที่มีความรู้ความสามารถในการทำตราประทับลักษณะนี้คงเหลือที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร  และยังมีผู้ใช้ตราประทับชาดอยู่บ้างในกลุ่มผู้สนใจไม่มากนักและศิลปิน

ข้อมูลที่เอามาเล่าในบล็อคนี้มาจากการลองผิดลองถูกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยอ้างอิงจากเอกสารเล็กน้อย พอให้ได้ศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจนะครับ



อุปกรณ์

๑. สิ่วแกะสลัก ใช้สิ่วแกะไม้ที่ขายตามร้านเครื่องเขียนก็ได้ครับ แต่ไม่เหมาะกับไม้เนื้อแข็ง ของผมใช้สิ่วจากร้าน Daizo ทนดีครับ
๒. เหล็กอกไก่ ลักษณะเหมือนมีดหัวทู่ๆ นะครับ ใช้สำหรับขุดพื้นตราที่ละเอียดๆ มีขายตามร้านขายอุปกรณ์ช่างทอง ถ้าหาไม่ได้ใช้สิ่วหน้าตรงแทนได้ครับ
๓. ปากกาจับงาน ใช้จับหุ่นตราไม่ให้ดิ้นในระหว่างแกะสลักนะครับ
๔. ดินสอไม้ EE หรือ 6B ขึ้นไป ต้องเข้มๆ

วัสดุ

๑. หุ่นตรา คือด้ามตราที่เราจะแกะสลักนะครับ ทำจากวัสดุแข็ง ได้แก่ งาช้าง ไม้ หินโมรา หินสบู่ ในที่นี้จะใช้ไม้แก้ว กลึงเป็นด้ามตรายอดหัวเม็ด(ยอดเจดีย์) ใช้ไม้ล้วนๆ นะครับ ไม่มียาง
๒. กระดาษทราย สำหรับขัดไม้นะครับ เบอร์หยาบและเบอร์ละเอียดสุด
๓. กระดาษไข สำหรับลอกลาย
๔. กระดาษกาว 
๕. สีน้ำ ใช้สีขาวนะครับ สำหรับทาด้านหน้าดวงตรา




ตัวอย่างหุ่นตรา ก็คือไม้ที่เราจะนำมาแกะตราประทับ ซ้ายสุดเป็นไม้มะขามกลึงเป็นทรงหัวเม็ด ขวาสุดเป็นทรงด้ามธรรมดา






อุปกรณ์แกะไม้นะครับ เหล็กอกไก่ ซื้อจากร้านขายอุปกรณ์ช่างทองแถวคลองหลอด ถัดมาเป็นสิ่วชายธง(ปลายแหลม) และสิ่วหน้าตรง จากร้านไดโซะครับ





ปากกาจับงานขนาดตั้งโต๊ะ สำหรับจับหุ่นตรา





พู่กันสำหรับปัดเศษขณะแกะ และแปรงสีฟันเก่าสำหรับขัดพื้นตราหลังแกะเสร็จ





กระดาษไขลอกลาย กระดาษกาว เศษไม้ เศษกระดาษ



เริ่มปฏิบัติงานเลยนะครับ



ทำการร่างลวดลายดวงตราที่จะแกะลงบนกระดาษสมุด โดยวาดขนาดเท่าดวงตราจริงที่จะแกะ




นำกระดาษไขมาวางทาบแล้วติดด้วยกระดาษกาวเพื่อทำการลอกลาย




เตรียมดินสอเบอร์ EE เหลาหัวให้แหลมสำหรับลอกลาย




ทำการลอกลายจากต้นฉบับในสมุด พยายามให้เส้นเล็กๆ เข้าไว้ แต่ต้องชัดนะครับ




เมื่อลอกลายเสร็จแล้วจะได้แบบนี้นะครับ เตรียมพร้อมสำหรับการลอกลายลงบนหน้าดวงตรา




นำหุ่นตราที่กลึงเตรียมไว้เป็นแกะดวงตราไปขัดหน้าให้เรียบด้วยกระดาษทราย แล้วทาสีขาวเพื่อลอกลาย ช่างโบราณท่านใช้หรดานทาด้านนี้ แต่เพื่อให้สะดวกในการทดลองจึงใช้สีน้ำสีขาว(สีน้ำจีน)ทาแบบไม่ผสมน้ำ แล้วทิ้งไว้ให้แห้งสนิท





เมื่อสีขาวแห้งดีแล้วจึงนำหุ่นตราทาบลงบนลายที่ลอกใส่กระดาษไข จัดให้ตรงกัน แล้วติดด้วยกระดาษกาวสามมุม





เมื่อติดกระดาษกาวสามมุมแล้วยกขึ้นดูด้านใต้โดยยกผ่านแสงเพื่อตรวจดูว่าตรงกับลายที่ร่างไว้หรือไม่





จากนั้นนำแท่งดินสอด้านที่เรียบๆ ถูๆขูดๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าลายจะติดบนพื้นสีขาวที่ทาไว้บนพื้นตรา





เมื่อถูไปซักพักนึงลองลอกกระดาษกาวออกมุมหนึ่งเพื่อตรวจสอบดูว่าลายติดดีแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ครบให้วางลงกับพื้นแล้วติดกระดาษกาวเพื่อถูซ้ำในจุดที่ลายยังไม่ติด





ดูอีกครั้ง ถ้าจุดไหนถูแล้วไม่ติดจริงๆ สามารถใช้ดินสอเขียนซ่อมได้ในจุดเล็กๆ





เสร็จแล้วลอกกระดาษกาวออกให้หมดและตรวจสอบอีกครั้ง





จากนั้นนำหุ่นตราไปหนีบด้วยปากกาจับงานนะครับ โดยใช้เศษไม้รองข้างๆ แล้วเอากระดาษพันอีกชั้นนึง เพื่อป้องกันหุ่นตราเป็นรอยหนีบ
ใช้สิ้วหน้าตรงแกะหยาบ โดยแกะพื้นตราให้ห่างจากเส้น ใช้กระดาษทิชชู่หรือเศษผ้ารองมือ ไม่ให้ลายเกิดการเลือน





ใช้สิ่วปลายแหลมแกะเลี้ยงเส้น โดยขูดไปตามเส้นลาย ตามขอบนอกของกระหนก ยังไม่ต้องแกะในตัวกระหนก



ในส่วนที่มีความละเอียดมากๆ เช่นรูปนิ้ว ไม่ต้องใช้สิ่วหน้าตรงแกะหยาบ แต่ใช้สิ่วปลายแหลมแกะได้เลย โดยอาศัยนิ้วมือทั้งสองข้ามประคองสิ่วไม่ให้แกะโดนเส้นขาด



ใช้สิ่วหน้าตรงแกะหยาบในพื้นตราในตัวกระหนก



ลักษณะของพื้นตราที่แกะหยาบในตัวกระหนกแล้ว





ใช้สิ่วปลายแหลมแกะเลี้ยงเส้นในตัวกระหนกให้หมด รักษาความหนาของเส้นให้เท่าๆกัน ตั้งมุมสิ่วเฉียงๆ





ส่วนของลวดลายที่แกะเลี้ยงเส้นแล้ว





เมื่อแกะเลี้ยงเส้นลายกระหนกโดยรอบลายประธานหมดสิ้นแล้วจะได้แบบนี้ เหลือเพียงลายประธานที่เป็นรูปบุคคลและตัวอักษรด้านใต้





ใช้เหล็กอกไก่แกะขูดพื้นตราให้เรียบ ในส่วนที่พื้นตรากว้างมาก การใช้สิ่วขูดอาจทำให้เกิดร่องลึกกว่าส่วนอื่น





ใช้ไม้แบนรองใต้เหล็กอกไก่ แล้วขูดออกจากตัวผู้แกะ ให้พื้นตราเกิดความลึกเสมอกัน





ใช้สิ่วปลายแหลมแกะตัวอักษร





ทดสอบประทับตราด้วยสีเสนลงบนกระดาษ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของลาย





ทำการแกะซ่อมบางส่วนที่แกะผิด หรือความหนาของเส้นไม่เท่ากัน ทั้งนี้ อาจเว้นบางส่วนให้เกิดตำหนิบ้าง เพื่อเป็นเอกลักษณะของตราดวงนั้นๆ




เมื่อซ่อมเสร็จแล้วลองประทับตราเทียบกับลายต้นแบบที่เราเขียนไว้ในสมุด





เสร็จแล้วครับ ตราประทับที่ได้

คิดว่าบล็อคนี้คงเป็นประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่สนใจงานประณีตศิลป์ของไทย ใครอยากจะลองทำบ้างก็แนะนำเป็นลายง่ายๆ ก่อนนะครับ ถ้าแกะสำเร็จสักชิ้นจะได้เป็นกำลังใจให้อยากทำชิ้นต่อๆไป ถ้าทำของยากเลยอาจจะท้อแท้ก่อน

สำหรับใครมีข้อสงสัยอะไรสอบถามได้นะครับ ยินดีตอบคำถามทุกท่านที่สนใจครับ





Create Date : 14 พฤษภาคม 2558
Last Update : 16 พฤษภาคม 2558 22:30:00 น.
Counter : 17235 Pageviews.

14 comments
  
เยี่ยมมากเลยคะ ได้ความรู้ด้วย
โดย: ปราสาททรายสีรุ้ง IP: 203.107.152.162 วันที่: 8 มิถุนายน 2558 เวลา:15:20:40 น.
  
สุดยอดคับ....แต่ผมมีข้อสักถามเพิ่มเติม คือ ผมมีตราประทับ 1 อัน เป็นรุูปหนุมาน ทำมาจากงาช้างแท้ๆ น่าจะเกิดในสมัยก่อนเก่าแล้ว....เขาสามารถทำได้ไง คือเขาใช้วัสดุหรืออุปกรณ์อะไรในการทำ ผมคิดว่าในสมัยนั้นคงยังไม่มีวัสดุอุปกรณ์อะไรมากเหมือนสมัยนี้...รบกวนให้คำตอบได้ไหมคับว่าเขาใช้อะไรในการทำ หรือว่า ตราประทับอันนี้เกิดขึ้นในสมัยใดคับ...ขอบคุณมากคับ
โดย: daber IP: 192.99.14.36 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:14:22:15 น.
  
ตอบคุณ daber นะครับ

การแกะตราประทับมีมานานมากแล้วครับ ที่ปรากฏในไทยก็มีก่อนสมัยสุโขทัย ส่วนเรื่องอุปกรณ์แกะตรานั้น ที่ผมทำในบทความนี้ก็ไม่ต่างจากสมัยก่อนมากครับ มีบางอย่างที่เอามาใช้แทนกันเช่น กระดาษไข แทน กระดาษเพลา สีน้ำสีขาวใช้แทนสีหรดาน ส่วนมีดแกะนั้นสมัยก่อนก็ใช้ประมานนี้ครับ เพียงแต่ว่าช่างโบราณเวลาจะทำมีดแกะท่านจะไปจ้างช่างเหล็กทำขึ้นมาเฉพาะ จะไม่มีขายทั่วไปเหมือนสมัยนี้ครับ และสีที่ใช้ในการประทับตราก็ต้องผสมเอา ส่วนผสมหลักๆ มีชาด กับน้ำมันละหุ่ง โกฏจุฬาลัมพา

ในการขึ้นรูปหุ่นตราที่เป็นงา สมัยก่อนท่านก็มีเครื่องกลึงแล้วครับ ต่างกันแค่ว่าสมัยโบราณใช้แรงงานคนเหยียบครับ ซึ่งช่างต้องมีทักษะและความอดทนสูงเพราะงาเป็นวัสดุที่แข็งครับ ลองค้นหาในกูเกิ้ลด้วยภาษาอังกฤษว่า pole lathe นะครับ เครื่องกลึงในยุคโบราณจะเป็นลักษณะนั้น

ส่วนตรารูปหนุมานนั้นผมเดาเอาว่าอายุคงอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ครับ ไม่เกิน ๒ ร้อยปี และไม่ต่ำกว่า ๗๐ ปี เพราะตรางาที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันอายุไม่เกินสมัยรัชกาลที่ ๑ ครับ และธรรมเนียมการใช้ตรางาก็หมดไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
โดย: DuriyaIndy IP: 202.28.7.225 วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:22:11:36 น.
  
มีงาช้างแกะเป็นตราประทับรูปดอกไม้ค่ะเป็นมรดก แต่ไม่รู้ว่าอยู่ในสมัยไหนค่ะรบกวนถามค่ะ
โดย: Su IP: 182.232.107.195 วันที่: 16 ธันวาคม 2559 เวลา:22:01:44 น.
  
สวัสดีคุณ Su ครับ ขออภัยนะครับที่ผมตอบช้า

รบกวนคุณ Su ให้ข้อมูลผมเพิ่มเติมทางเฟสบุ๊คจะสะดวกมั้ยครับ
เฟสบุ๊คผม Tanadol Suthummo Wilachan ครับ
IP : https://www.facebook.com/SuthummoRin

ขอบคุณครับ
โดย: DuriyaIndy IP: 49.49.237.230 วันที่: 21 มกราคม 2560 เวลา:19:57:01 น.
  
รับแกะมั้ยครับ ราคาเท่าไหร่
โดย: ณัฏฐ์ IP: 1.47.41.32 วันที่: 10 เมษายน 2561 เวลา:18:02:02 น.
  
ตราครั่งใช้วิธีเดียวกันไช่ใหมครับ แค่สลับการแกะเส้น แกะเนื้อไม้
โดย: ณัฐพงษ์ IP: 1.47.39.203 วันที่: 30 เมษายน 2561 เวลา:20:41:06 น.
  
ของผมมีงาเเกะรูปองคต เป็นมรดกของต้นตระกลูคัฟ ผมรุ่นที่7คัฟ ผมอยากทราบว่าเป็นของช่วงสมัยไหนคัฟ
โดย: อานันท์ IP: 1.47.169.133 วันที่: 22 พฤษภาคม 2561 เวลา:1:23:56 น.
  
ลักษณะตราประทับที่เป็นเนื้อไม้สามารถใช้ได้ดีกับหมึกปั๊มตราม้าในสมัยนี้มั้ยคะ มีตราไม้จากจีนหนึ่งอันค่ะ มีปัญหาปั๊มไม่ค่อยชัดค่ะ พอมีแนวทางแนะนำ มั้ยคะ หรือเหมาะกับการใช้หมึกแบบไหนคะ
โดย: ปณิดา IP: 14.207.99.134 วันที่: 24 มกราคม 2562 เวลา:12:12:52 น.
  
ขายไหมครับ
โดย: อันอัน IP: 171.7.103.182 วันที่: 9 เมษายน 2562 เวลา:22:13:17 น.
  
ขายไหมครับ
โดย: อันอัน IP: 171.7.103.182 วันที่: 9 เมษายน 2562 เวลา:22:13:22 น.
  
รับแกะตราบ้างไหม ถ้ารับคิดราคายังใง
โดย: ดร.ธีร์ธวัช นุกูลกิจ IP: 113.53.152.237 วันที่: 24 พฤษภาคม 2562 เวลา:7:16:44 น.
  
รับทำไหมโยม
โดย: พระบ้านนอก IP: 171.4.246.82 วันที่: 14 พฤศจิกายน 2563 เวลา:10:25:58 น.
  
สนใจงานตราประทับไม้ ติดต่อได้ที่
https://www.facebook.com/Hatthena-104624495097621
โดย: Hatthena IP: 119.46.16.130 วันที่: 22 เมษายน 2564 เวลา:15:54:24 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DuriyaIndy
Location :
ร้อยเอ็ด  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]