พระพี่นาง 2พระองค์ ยุวกษัตริย์









ที่มา : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด (คลิก)




หนังสือ "ด้วยดวงหฤทัย ที่ระลึก 7 รอบพระชนมายุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผลิตโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง รวบรวมเรียบเรียงพระประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะพระโสทรเชษฐภคินี บรรยายความผูกพัน ของ "พี่ที่มีต่อน้อง" ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนเมื่อทรงเจริญพระชนม พรรษาแล้ว ยังคงรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย

ในพระประวัติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนรา ธิวาสราชนครินทร์ มีคำบรรยายว่า ทรงเป็น "สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี" ของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์รัชกาลปัจจุบัน

คำว่า "สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินี" ที่หมายถึงพี่สาวคนโตผู้ร่วมท้องกัน ยังปรากฏในพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ประกาศว่า

"สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทแต่พระองค์เดียว ที่ได้ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง"


ในปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง จัดพิมพ์หนังสือ "ด้วยดวงหฤทัย ที่ระลึก 7 รอบพระชนมายุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" แบ่งย่อยออกเป็น 3 เล่ม แทรกเนื้อความแปลเป็นภาษาอังกฤษทุกหน้า

ในเล่มแรกชื่อ "กุลเชษฐ์แห่งพระบรมจักรีวงศ์" นั้น เขียนชื่อเรื่อง "สม เด็จพระโสทรเชษฐภคินี" เป็นคำภาษาอังกฤษว่า "A Loving Sister" อันหมายถึง "พี่สาวผู้เป็นที่รัก" เนื้อหากล่าวถึงความรักความผูกพันระหว่างพี่น้อง ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อันมีต่อพระอนุชาทั้งสองพระองค์ ความว่า



เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ทรงช่วยสมเด็จพระบรมราชชนนีดูแลพระอนุชาทั้งสองพระองค์ ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ของพี่ที่มีต่อน้อง ทรงมีความใกล้ชิดสนิทสนมรักใคร่กลมเกลียวกัน แม้เมื่อทรงเจริญพระชันษาแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระอนุชาก็ยังคงมีความรู้สึกผูกพันอย่างแน่นแฟ้นไม่เสื่อมคลาย

ข้อความในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ทรงเล่าถึงความทรงจำที่ทรงมีต่อพระอนุชาพระองค์แรกไว้ว่า

"ข้าพเจ้าเองจำเหตุการณ์สำคัญนี้ไม่ได้เลยเพราะอายุเพียง 2 ขวบ 4 เดือน แต่คงยินดีอย่างมากที่ได้น้อง ซึ่งคงไม่เป็นเรื่องธรรมดานัก เพราะในหลายครอบครัวลูกคนโตมักจะอิจฉาน้องที่อ่อนกว่าไม่มากนัก เพราะพ่อแม่มักให้ความสำคัญแก่ลูกคนใหม่ แต่ทูลกระหม่อมฯ แม่ และแหนน (พระพี่เลี้ยง) คงได้อธิบายเรื่องน้องที่จะเกิดไว้อย่างดี ข้าพเจ้าจึงรู้สึกรักและอยากช่วยเลี้ยงน้อง"


พระฉายาลักษณ์ของเจ้านายเล็กๆ ทั้งสองพระองค์ซึ่งพระเชษฐภคินี ทรงโอบและทอดพระเนตรพระอนุชาพระองค์แรกด้วยดวงพระเนตรสุกใส อบอุ่นและอาทร ดังที่ปรากฏในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" บ่งบอกถึงความผูกพันอันลึกซึ้งและความรักอันบริสุทธิ์ที่ "พี่มีต่อน้อง" ได้เป็นอย่างดี


เมื่อพระอนุชาองค์ที่สองเสด็จพระราชสมภพ ความทรงจำที่ทรงมีต่อพระอนุชาซึ่งทรงเอ่ยพระนามว่า พระองค์เล็ก ปรากฏในพระนิพนธ์เล่มเดียวกันนี้ว่า

"ข้าพเจ้าอยากเห็นน้องใกล้ๆ และอยากแตะต้อง แต่ที่โรงพยาบาลเขาก็ให้ดูเพียงหลังกระจกที่กั้นห้องเด็กไว้ เมื่อกลับมาบ้านแล้วข้าพเจ้าได้ถามแหนนว่า "น้องคนใหม่นี้พูดไทยได้หรือเปล่า" ในที่สุดหลังจากที่ได้ไปพักผ่อนประมาณ 1 สัปดาห์ แม่และน้องก็กลับมาบ้าน คราวนี้ข้าพเจ้าก็สนุกใหญ่ แหนนจะอาบนํ้า แต่งตัวหรือทำอะไรให้น้อง ข้าพเจ้าต้องเข้าไปยุ่งอยู่ด้วยเสมอ จนแหนนทนไม่ไหว ต้องไปฟ้องแม่ ข้าพเจ้าเลยถูกห้ามไม่ให้เข้าไปยุ่งในเวลาเหล่านั้น"


พระฉายาลักษณ์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงฉายพร้อมด้วยพระอนุชาครั้งทรงพระเยาว์จำนวนมากที่ทรงเชิญมาลงพิมพ์ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" เช่น ภาพขณะทรงอุ้มพระอนุชาพระองค์เล็กด้วยความทะนุถนอมประดุจประคองเครื่องแก้วที่บอบบาง ทั้งยามประทับบนพระเพลาและในอ้อมพระพาหา หรือทรงฉายร่วมกันทั้งสามพระองค์ จะเห็นได้ว่าพระอนุชาองค์เล็กจะประทับใกล้ชิดพระเชษฐภคินีเสมอ


เมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชชนกทรงพาครอบครัวเสด็จกลับเมืองไทยใน พ.ศ.2471 นั้น เจ้านายเล็กๆ แห่งราชสกุลมหิดลทั้ง 3 พระองค์ได้เจริญพระชันษาขึ้นโดยลำดับ แต่ละพระองค์ทรงแยกย้ายไปทรงศึกษาในโรงเรียนต่างๆ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ว่า

"ข้าพเจ้าคงได้เข้าโรงเรียนราชินีเมื่อปลายปี 2471 หรือเดือนพฤษภาคม ปี 2472 ปีนี้น้องทั้งสองยังไม่ได้เข้าโรงเรียน พอถึงปี 2473 พระองค์ชายก็ได้เข้าเรียนในชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย พระองค์เล็กถึงแม้ว่ายังไม่ได้เข้าโรงเรียน มักจะติดรถไปส่งพี่ๆ"


ถึงแม้ว่าแต่ละพระองค์จะต้องทรงแบ่งเวลาส่วนหนึ่งสำหรับการศึกษา แต่ความผูกพันรักใคร่ระหว่าง "พี่น้อง" ที่เคยมีมาแต่ทรงพระเยาว์ก็หาได้ลดน้อยลงไปไม่ เจ้านายเล็กๆ "พี่น้อง" ทั้งสามพระองค์ยังคงปฏิบัติพระองค์ใกล้ชิดกันเสมอ เช่น เมื่อทรงเข้าโรงเรียนกันหมดทุกพระองค์แล้ว จะเสด็จไปโรงเรียนพร้อมกันโดยรถยนต์พระที่นั่งตระเวนส่งพระอนุชาองค์โตก่อน จากนั้นจึงส่งพระองค์ที่โรงเรียนราชินี เมื่อเสด็จกลับจะไม่กลับพร้อมกัน พระอนุชาองค์เล็กก็ติดรถไปรับด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงยกตัวอย่าง "ไปไหนไปด้วยกัน" ไว้ในพระราชนิพนธ์เดียวกันนี้ว่า

"ทุกเช้าพี่น้องสามคนจะต้องออกไปโรงเรียนด้วยกันรถยนต์จะแวะส่งพระองค์เจ้าภูมิพลฯ ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีก่อน แล้วจะแล่นไปที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เพื่อส่งพระองค์เจ้าอานันทฯ และในที่สุดก็จะพาข้าพเจ้าไปที่โรงเรียนราชินี"


เมื่อทรงว่างจากการศึกษาเล่าเรียนเจ้านายเล็กๆ ทั้งสามพระองค์ก็จะทรงเล่นด้วยกันในหมู่พี่น้องภายในวังสระปทุม ดังมีพระฉายาลักษณ์ทรงเล่นซนเช่นเด็กสามัญทั่วไปด้วยความสำราญพระหฤทัยในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" เช่น ทรงเล่นรถเข็น เล่นปั้นดินนํ้ามัน เล่นนํ้า เล่นทราย และเล่นโกนจุก ตามที่ทรงเห็นพิธีโกนจุกที่ตำหนักของสมเด็จฯ พระพัน วัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งทรงจำมาเล่น เป็นต้น


ในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงพาพระโอรสธิดาไปประทับยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เจ้านายเล็กๆ ทั้งสามพระองค์เจริญพระชันษาขึ้นโดยลำดับ ความผูกพันใกล้ชิดจากเดิมที่เคยทรงเล่นแบบเด็กๆ ได้เปลี่ยนมาเป็นการเล่นที่มีประโยชน์ต่อการศึกษา ทรงเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "พี่น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ บางพักจะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่าง ซึ่งจะนำประโยชน์มาได้ภายหลัง"

ในฐานะที่ทรงเป็นพระเชษฐภคินี จึงทรงช่วยเหลือพระอนุชาในด้านต่างๆ ที่ยังไม่ทรงถนัด เช่น ทรงรับหน้าที่อ่านหนังสือพิมพ์ที่มาจากเมืองไทยให้พระอนุชาฟัง รวมทั้งทรงเป็นผู้ถวายคำแนะนำพระอนุชาให้ทรงเขียนไปรษณียบัตรส่งไปถวายสมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ความผูกพันรักใคร่ของเจ้านายเล็กๆ แห่งราชสกุลมหิดลจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในดวงพระหฤทัยของทุกพระองค์ นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์โดยไม่เสื่อมคลายตลอดมา


การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของครอบครัวราชสกุลมหิดลนับตั้งแต่สูญเสียสมเด็จพระบรมราชชนก หัวหน้าครอบครัว เมื่อ พ.ศ.2472 ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. 2477 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงอยู่ในลำดับแรกแห่งพระราชวงศ์ซึ่งสมควรจะทรงสืบราชสันตติวงศ์

รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระอนุชาพระองค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์จึงดำรงพระฐานะสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีเพียงพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึงการขึ้นครองราชย์ของพระอนุชาพระองค์แรกไว้ในนิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 4 ฉบับที่ 79 วันที่ 15 พ.ค. พ.ศ.2538 ว่า

"ฉันไม่รู้ เพราะฉันไม่อยู่ ฉันไปอยู่ที่ภูเขา จำไม่ได้เลยว่าทราบได้อย่างไรว่ารัชกาลที่ 8 ได้ขึ้นครองราชย์ ฉันไม่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ทราบทีหลังว่าเป็นอย่างไร พี่น้องพูดกันอย่างไร แม่ทำอย่างไรที่รัฐบาลไปเฝ้า ไปขอไปทำอะไรทุกอย่าง"


เมื่อพระอนุชาขึ้นครองราชสมบัติ พระอิสริยยศของสมาชิกในราชสกุลมหิดลได้เปลี่ยนแปลงด้วย "แม่" ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ "พี่สาว" ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และ "น้องชาย" ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช แต่สมาชิกในครอบครัวราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ยังคงปฏิบัติพระองค์เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ว่า ได้กราบทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวว่าทรงมีความรู้สึกอย่างไรเมื่อพระเชษฐาเสด็จขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งว่า

"ไม่มีความรู้สึกอะไร ไม่ได้มีความตื่นเต้นอะไรเป็นพิเศษ ทรงจำได้ว่า สององค์พี่น้องทรงเห็นว่าตลกดีที่ผู้ที่เข้าเฝ้าวางท่าสง่าผ่าเผยอย่างทางการเหลือเกิน"


เมื่อพระอนุชาพระองค์ใหญ่ทรงขึ้นครองราชสมบัติเป็น "ยุวกษัตริย์" และมีพระราชภารกิจในฐานะประมุขของประเทศ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้โดยเสด็จเคียงข้างพระอนุชาไปทรงปฏิบัติพระราชภารกิจน้อยใหญ่โดยไม่ทรงเบื่อหน่าย แม้ว่าบางครั้งจะไม่สามารถโดยเสด็จได้ สมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีก็จะทรงปฏิบัติด้วยความสนพระหฤทัย


ในปี พ.ศ.2481 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จนิวัตพระนครครั้งแรก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้โดยเสด็จฯ ด้วย ทรงฟื้นความหลังในครั้งนั้นพระราชทานนิตยสารพลอยแกมเพชร ปีที่ 4 ฉบับที่ 79 วันที่ 15 พ.ค. พ.ศ.2538 ความว่า

"ตอนกลับมา 2 พระองค์คงมีความสุข เพราะกลับมาด้วยเรือเดินสมุทรเดนมาร์กเล็กๆ ไปเกาะสีชัง จากเกาะสีชังจะขึ้นเรือรบศรีอยุธยา ท่านก็สนุกกัน แต่ที่ฉันตกใจและตื้นตันด้วยคือเมื่อขึ้นเรือรบขึ้นมาจากสันดอน ขึ้นมาตลอดแม่นํ้าเจ้า พระยา สองฝั่งแม่น้ำคนคอยเต็มคอยดูเพราะบ้านเมืองไม่มีพระเจ้าแผ่นดินมานานแล้ว คอยดูว่าเด็กแค่ไหน"


ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลประทับทรงงานอยู่ในประเทศไทย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้โดยเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีและพระอนุชาไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเคียงข้างยุวกษัตริย์พระองค์น้อยเสมอ เช่น เสด็จในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์


การเสด็จนิวัตพระนครครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2488 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์มิได้โดยเสด็จเช่นครั้งแรก แต่ก็ทรงติดตามพระราชกรณียกิจต่างๆ จากพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีไปถึงกันตลอดการเดินทาง เช่น ก่อนที่จะเสด็จฯ ถึงประเทศไทยทรงได้รับพระราชหัตถเลขาที่ทรงเล่าเรื่องจากที่ต่างๆ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลยังทรงเล่าเรื่องราวต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทรงอธิบายเกี่ยวกับการประทับที่พระที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง พระราชหัตถเลขาลำดับท้ายๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา อานันทมหิดลที่ทรงมีมาพระราชทานล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดและความไว้วางพระราชหฤทัยสมเด็จพระเชษฐภคินี

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าถึง "อุปสรรคในนาทีสุดท้าย" ว่า "มีขึ้นมาได้จริงๆ ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 เวลาใกล้ 9 นาฬิกา" คือการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา อานันทมหิดล พระอนุชาธิราชซึ่งทรงเป็นที่รักยิ่ง การสูญเสียในครั้งนี้นำความโศกเศร้าครั้งยิ่งใหญ่มาสู่ครอบครัวราชสกุลมหิดลอีกครั้ง

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ได้ทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า "ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไป ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป" การที่ทรงบอกเล่าด้วยประโยคที่เรียบง่ายนี้สะท้อนให้เห็นถึงพระหฤทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ที่ทรงเข้มแข็งยิ่ง

เมื่อพระอนุชาพระองค์เล็กได้สืบราชสมบัติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ยังคงบำเพ็ญพระกรณียกิจถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแบ่งเบาพระราชภาระ โดยปฏิบัติวัฏฐากสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิด และรักษาพยาบาลเมื่อทรงพระประชวร และในงานส่วนพระองค์ของสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ได้ทรงริเริ่มและดำเนินการไว้ ได้แก่ โครงการต่างๆ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกร นอกจากนี้ยังทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสต่างๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายในพระองค์หนึ่ง ที่ทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศ "ทรงกรม" เป็นชั้นสูงสุดแห่งพระบรมราชวงศ์

แสดงถึงความผูกพันที่แน่นแฟ้นของสองพระองค์




Create Date : 06 มกราคม 2551
Last Update : 6 มกราคม 2551 1:05:16 น. 1 comments
Counter : 3087 Pageviews.

 

รู้สึกถึงความผูกพันอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน
รู้สึกถึงภาระและหน้าที่ของพระองค์ท่าน

บัดนี้ พระองค์ท่าน ได้หมดสิ้นพระภารกิจต่าง ๆ แล้ว
ขอส่งเสด็จพระองค์ท่าน สู่สวรรคาลัย

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ



โดย: Big Spender วันที่: 6 มกราคม 2551 เวลา:10:32:44 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

snodgrass
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





แสงหนึ่ง - ครอบครัว "ศรีณรงค์"
บรรเลงสดในรายการ "จับเข่าคุย"



ทำให้ใจเต้นแรง


บล็อกล่าสุด

รวมรูปคนดัง (6 มี.ค. 51) - Catherine Zeta Jones, Rachel McAdams, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Winona Ryder, Natalie Portman, Maria Sharapova และอีกมากมาย

รวมรูปคนดัง (ครั้งยิ่งใหญ่) - Jessica Alba, Kate Beckinsale, Jennifer Hawkins และอีกมากมาย

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในความทรงจำของ "หมึกแดง"

บทความเก่าของคุณ ปิติ เลิศลุมพลีพันธุ์ "สนามวิจารณ์ : คารวะแด่ Morricone"

: Users Online
Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
6 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add snodgrass's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.