We don't know future. What we don't know exactly always contains risk. When we take risk, we bet. Therefore, investment is a calculated bet. Just bet wisely.
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2558
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
22 มิถุนายน 2558
 
All Blogs
 
ฝรั่ง Wait & See ไทยแลนด์ จุดอ่อนการเมือง-ศก.ซึมลึกซึมนาน

มองไปข้างหน้าความหวังที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งยังต้องรอ "ฤทธิ์ยาจากนโยบายการเงิน" ผ่านการลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ใน 2 ครั้งที่ผ่านมา และ "แรงกระตุ้นจากนโยบายการคลัง" จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในโครงการบริหารจัดการน้ำและโครงการก่อสร้างถนน จะออกฤทธิ์ปลุกให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างโดดเด่น

และการรอคอยเศรษฐกิจไทยคึกคักที่ใช้เวลานานเกินไปล่วงเลยเข้าสู่กลางปี ทำให้ฉุดรั้งความเชื่อมั่น ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจยังปริ่ม ๆ อยู่ที่ 45-50% ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกยังพบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหลักทรัพย์ (หุ้นและบอนด์) รวม 593 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ระยะสั้นต่างชาติเมินลงทุนหุ้นไทย

"ปริญญ์ พานิชภักดิ์" กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) หรือ CLSA ที่คลุกคลีกับนักลงทุนต่างชาติมองว่า ในระยะสั้นต่างชาติยังไม่ให้น้ำหนักหุ้นไทยมากนัก เพราะทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมายังอ่อนแอ และมีโอกาสที่จะปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลงอีกระลอก ขณะเดียวกัน นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปนิยมลงทุนในตลาดแถบเอเชียเหนือ โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น และอินเดีย เพราะตลาดเหล่านั้นให้ภาพที่ดูดีกว่าตลาดหุ้นไทย

"จากการพูดคุยกับต่างชาติ ปัจจัยที่เขาให้น้ำหนักมากที่สุดคือ ภาวะเศรษฐกิจไทย รองลงมาคือ การเมือง ซึ่งก็สอบถามเรื่องการเมืองมาบ้าง เช่น รัฐบาลทหารจะอยู่นานอีกกี่ปี การปฏิรูปประเทศจะใช้เวลานานเท่าไร จะมีการเลือกตั้งเมื่อไร เป็นต้น"


         ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล                     ปริญญ์ พานิชภักดิ์

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นและกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทย จึงอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนมากขึ้น การหยุดปรับลดคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และความชัดเจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

ส่วนนักลงทุนระยะยาวยังมีมุมมองที่ให้ความสนใจข้อมูลหุ้นไทยเพิ่มขึ้นหลังจากหุ้นใหญ่บางตัวราคาลดลง อาทิ ซีพี ออลล์, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, ปูนซิเมนต์ไทย และ ปตท. และในระยะยาวประเทศไทยยังน่าสนใจ เนื่องจากไทยได้เปรียบจากการตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง (GMS) และมีระบบโลจิสติกส์ที่สามารถกระจายการเติบโตออกไปในภูมิภาคได้

ตั้งเรดาร์จับตาภาวะ ศก.-การลงทุนรัฐ

ด้าน "ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทรกล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติยังติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด มีการสอบถามถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยเข้ามาเป็นระยะ แต่เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาไม่ดีนัก จึงสร้างความผิดหวังต่อนักลงทุน ประกอบกับจีดีพีไตรมาสแรกที่ออกมา พร้อมกับการปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท.ก็กำลังจะปรับลดจีดีพีตาม ยิ่งทำให้เห็นถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ยังซึม แม้จีดีพีจะโตแต่แรงส่งที่มีก็ไม่เพียงพอ

"ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่โตช้ามาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการถึง 77% นับเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ แต่ปีที่ผ่านมาส่งออกไทยโต 0% และปี 2556 โต 2.8% ซึ่งต่างจาก 4-5 ปีก่อนที่เติบโตกว่า 10% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีขนาด 51% ของจีดีพียังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและรายได้ภาคการเกษตรลดลง

"แม้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวมากขึ้นโดยในไตรมาสแรกการลงทุนภาครัฐโตถึง 37.8% ก็จริง แต่ก็นับเป็นเครื่องยนต์เทอร์โบที่เล็กมาก จึงช่วยได้เพียงพยุงตัว ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจโตมากนัก" ดร.เอกนิติกล่าว

แม้การลดดอกเบี้ยนโยบายใน 2 ครั้งที่ผ่านมา อาจช่วยในด้านค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงมา และส่งผลบวกต่อภาคส่งออก แต่ในอีกด้านหนึ่งการส่งผ่านนโยบายไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ลดดอกเบี้ยในระดับใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดนั้น ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่ง ธปท.อาจต้องใช้กลไกอื่น ๆ เข้าไปช่วย

ลุ้น ศก.ปรับตัวสู่ภาวะปกติภายใน ก.ย.นี้

ด้าน "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยขณะนี้ถือว่ามีแนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัวต่อเนื่อง และเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นจากการผลักดันการลงทุนจากภาครัฐที่ทำได้ต่อเนื่อง และได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว แต่จะเริ่มเห็นเศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติอย่างมีเสถียรภาพได้ก็เดือน ก.ย.เป็นต้นไป เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ เช่น จำนำข้าว รถคันแรก โดยเฉพาะรถคันแรกที่สร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้สูงขึ้น ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีเพื่อปรับฐานเศรษฐกิจ

"ราวเดือน ก.ย.นี้เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อผลจากโครงการรถคันแรกปรับฐานเข้ารูปเข้ารอยแล้ว ยอดขายรถยนต์ในประเทศกลับมา"

ทั้งนี้ รองนายกฯคาดว่าจีดีพีปีนี้และปีหน้าน่าจะเติบโตระดับ 3-4% แต่ภาคส่งออกจะไม่ใช่ตัวขับเคลื่อน เท่ากับการลงทุนภาครัฐ ส่วนการฟื้นตัวของภาคส่งออกน่าจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติและเห็นการเติบโตในระดับ 10% เหมือนในอดีต เพราะต้องยอมรับว่าภาคส่งออกไทยไม่ได้รับผลกระทบแค่กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่หายไป แต่สินค้าส่งออกไทยหลายตัวยังล้าสมัยและต้องใช้เวลาปรับตัว

"ช่วงนี้จึงต้องใช้เครื่องยนต์ด้านการใช้จ่ายภาครัฐไปก่อนซึ่งงบประมาณปี 2559 เราเริ่มเร่งตั้งแต่ตอนนี้ พร้อมที่จะลงทุนตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป โชคดีที่ประเทศเรามีหนี้ภาครัฐน้อย ทำให้เราสามารถใช้การใช้จ่ายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก 2-3 ปี แต่เราพูดแค่ 2 ปีพอ เพราะในที่สุดเศรษฐกิจจะกลับมาเร็ว และหากการส่งออกเพิ่มอาจจะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่า 4% หรืออาจจะถึง 5% ได้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ



Create Date : 22 มิถุนายน 2558
Last Update : 22 มิถุนายน 2558 12:23:43 น. 0 comments
Counter : 532 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rhythm of Love
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Flag Counter

New Comments
Friends' blogs
[Add Rhythm of Love's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.