We don't know future. What we don't know exactly always contains risk. When we take risk, we bet. Therefore, investment is a calculated bet. Just bet wisely.
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2558
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
21 มิถุนายน 2558
 
All Blogs
 
แบงก์หนุนเซ้งทีวีดิจิตอล ‘ฐากร’ผมหยุดแล้ว โบ้ยคุยสนช./‘ชาติศิริ’พร้อมจ่ายค่างวดไทยทีวี-โลก้า

กสทช.เดินหน้ายื่นโนติซแบงก์บัวหลวง เรียกเคลม  285  ล้านบาท  ค่าประมูลงวด 2  "ไทยทีวี" หลังครบกำหนด "ชาติศิริ"พร้อมทีมผู้บริหารออกโรงตั้งโต๊ะ แจงพร้อมรับผิดชอบตามสัญญา อุ้มลูกหนี้ชี้ช่องกสทช.ทำไม่ครบตามเงื่อนไข ทำธุรกิจกระทบรายได้ หนุนแก้กฎหมายเซ้งใบไลเซนส์ "ไทยทีวี"เสียงแข็งไม่จ่าย ขู่ฟ้องกลับ  ค่ายทีวีดิจิตอลแห่ปลดคนลดรายจ่าย
    ในที่สุดก็ผ่านเส้นตายจันทร์ที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยผู้บริหารบริษัทไทยทีวี จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องไทยทีวีและโลก้า ยังคงไม่ชำระค่างวดที่ 2 วงเงินรวม 288 ล้านบาท และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ได้ลงนามในหนังสือเรียกชำระจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ) ในฐานะผู้ค้ำประกัน หรือแบงก์การันตี ในวันรุ่งขึ้น ( 16 มิ.ย.58 ) ทันทีตามระเบียบ  ท่ามกลางภาวะอึมครึมของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล เมื่อข้อเสนอ  4 แนวทางผ่าทางตันอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอลไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการแก้ไขหรือไม่ นั้น 

-"ชาติศิริ"อุ้มลูกหนี้ยันพร้อมจ่าย  
    อีกด้านในวันครบกำหนดชำระ (15 มิ.ย.58) หลังจากที่ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ได้เปิดแถลงข่าว พิธีเปิดสาขา ณ กรุงพนมเปญ ที่ประเทศกัมพูชา ในโอกาสเดียวกันก็ได้ตอบข้อซักถามสื่อมวลชนทุกประเด็น ถึงแนวทางรับมือการเรียกเคลมการันตีครั้งนี้ ตลอดจนทางออกของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปรากฏเป็นข่าว ว่าไทยทีวีไม่ชำระค่าประมูลงวด 2 และยืนยันจะยกเลิกประกอบการทีวีดิจิตอล 
    นายชาติศิริ  โสภณพนิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่  บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธุรกิจทีวีดิจิตอลต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 3 ปีแรก กว่าที่ทุกอย่างจะเรียบร้อย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย  ส่วนการคืนใบอนุญาตนั้นเป็นการตัดสินใจของลูกค้า ซึ่งไม่ได้อยู่นอกเหนือประมาณการณ์ ในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารแต่เดิมอยู่แล้ว
    " ยืนยันแบงก์ได้มีการคัดเลือกลูกค้าอย่างดี และเมื่อตัดสินใจออกหนังสือค้ำประกันแล้ว ก็ยังคงให้การสนับสนุนลูกค้าต่อไป  ส่วนจะกันสำรองเพิ่มหรือไม่นั้นต้องดูเป็นรายกรณี "
    สอดคล้องกับนายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์  รองผู้จัดการใหญ่  ธนาคารกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กสทช.จะยึดแบงก์การันตี ในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่แล้ว โดยกระบวนการเคลมหรือจ่ายค่าค้ำประกันใบอนุญาต ก็ต่อเมื่อทั้ง 2ฝ่าย(กสทช.และลูกค้า)ได้ข้อสรุป และกสทช.ทำหนังสือแจ้งธนาคารฯในฐานะผู้ค้ำประกัน

-ติงกสทช.ยังบกพร่อง
    โดยหลักทางปฏิบัติ 1.ธนาคารจะแจ้งลูกค้าเพื่อสอบถามว่ายินยอมจ่ายเคลมหรือไม่  หากลูกค้ายินยอมจ่ายเงินสดทั้งจำนวนทุกอย่างก็จบ หรือหากจะให้ธนาคารจ่ายแล้วลูกค้านำเงินก้อนมาชำระธนาคารภายหลังก็ได้  หรือลูกค้าจะเลือกผ่อนชำระทางธนาคาร  หรือโดยปรับเปลี่ยนจากการค้ำประกันเป็นเงินสินเชื่อและลูกค้าผ่อนชำระ หรือ 2.ถ้าลูกค้าไม่ยินยอมให้ธนาคารจ่ายเคลม ธนาคารต้องขอเหตุผล ถ้าไม่มีเหตุอันควรธนาคารก็ไม่ทำตามลูกค้า 
    "มองในด้านของลูกค้า(ไทยทีวี) ที่ค้านจ่ายค่าประมูลงวดที่ 2  เขาเองก็บอกว่ามีสิทธิ์ที่จะยกเลิกได้  ขณะที่กสทช. ก็ยันสามารถยึดแบงก์การันตี   ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างมองว่าได้ทำตามเงื่อนไขสัญญา  โดยไทยทีวีมองว่า กล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์  ยังไม่สามารถแจกตามสัญญา หรือการส่งสัญญาณทุกวันนี้ยังทำไม่ได้ตามที่กำหนด จากเดิมที่คาดจะถ่ายทอดทั่วประเทศก็ไม่ทั่วถึง  ในแง่ของคนซื้อโฆษณาจะจ่ายในราคาที่คิดว่าจะไปได้ทั้งประเทศหรือไม่ ถ้าไม่ใช่คงจะกระทบผู้ประกอบการทุกราย  ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้บอกว่าทางการยังทำไม่ได้

-เชื่อรัฐพยายามผ่าทางตัน
    อย่างไรก็ตามนายวีระศักดิ์ ย้ำความเชื่อมั่นว่า จุดเริ่มต้นของการหาทางออกอยู่ที่ทางการ และกสทช.กำลังหาทางแก้ไข "ผมเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายกำลังคุยและหาจุดทางออก   เช่น ความพยายามให้สามารถเปลี่ยนมือไลเซนส์ได้ ซึ่งแสดงว่าทางการไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะจริง ๆ แล้วดิจิตอลทีวี  คุณไม่ต้องดูผ่านเซ็ตท็อปบ็อกซ์ วิธีง่ายที่สุดคือดูผ่านดาวเทียมได้อยู่แล้ว"
    ต่อข้อสังเกตว่าธุรกิจทีวีดิจิตอล  จะกลายเป็นหนี้เสียในระยะต่อไปหรือไม่นั้น  นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า  การปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพ จะดูความเป็นไปได้ มองภาพรวมไว้หมดแล้ว  โดยมีหลักประกันหลายรูปแบบ และเป็นหลักประกันเข้มแข็งมาก ๆ  แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ธนาคารเชื่อว่าลูกค้าแข็งแรงและจะผ่านอุปสรรคไปได้   โดยขณะนี้ทุกรายยังไม่ผิดเงื่อนไข  มีการชำระหนี้ตามปกติถือเป็นหนี้ที่ดี  
    ทั้งนี้ข้อมูลจากกสทช.  การประมูลทีวีดิจิตอล ทั้งหมด 24 ราย  ธนาคารกรุงเทพ รายเดียวออกหนังสือค้ำประกันให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรวมทั้งสิ้น 14 ช่อง , ธนาคารกสิกรไทย 6 ช่อง และธนาคารกรุงศรีอยุธยาอีก 6 ช่อง  ปัจจุบันคิดเป็นมูลหนี้รวมกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท

-เซ้งไลเซนส์ปลดล็อกทุกฝ่าย
    ต่อข้อถามกรณีกสทช.จะเสนอแก้ไขกฎหมายให้มีการเปลี่ยนมือผู้ประกอบการนั้น นายวีระศักดิ์กล่าวว่า เป็นความพยายามแก้ไขปัญหาให้คนที่มีกำลังเข้ามา เชื่อว่าทางการกำลังหาวิธี  ซึ่งก็มองเป็นเรื่องดี ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เพราะจะได้มีผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านใน 24 ช่องราคาค่าโฆษณาก็จะไม่แพงมากเช่นปัจจุบัน และหากเศรษฐกิจเติบโตดีก็จะมีโอกาส  ส่วนที่ถามว่ามีโอกาสที่ธนาคารจะทำดิจิตอลทีวีหรือไม่นั้น ต้องไปถามธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกิจทีวีได้หรือไม่
    ก่อนหน้านี้ผู้บริหารบมจ.ธนาคารกสิกรไทย นายจงรัก รัตนเพียร  รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย ให้ความเห็นสนับสนุน การให้เปลี่ยนมือการถือครองใบอนุญาตได้เช่นกัน
    โดยก่อนหน้านี้แวดวงผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลประเมินว่า หากใช้กติกาเดิมต่อไปในการจ่ายค่าประมูลงวด 3 ปี 2559 อาจเห็นผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลนับ 10 รายไม่สามารถจ่ายค่างวดได้เช่นเดียวกับกรณีไทยทีวี 

-ไทยทีวีจ่อค้าความกสทช.
    ด้านนายสุชาติ ชมกุล ที่ปรึกษากฎหมายบริษัท ไทยทีวี จำกัด ให้สัมภาษณ์สื่อว่า ตามที่กสทช.แจ้งแบงก์กรุงเทพขอเคลมค่างวดที่ 3 ของไทยทีวีนั้น ขอยืนยันว่ากสทช.ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะตามขั้นตอนกสทช.ต้องทำหนังสือแจ้งพร้อมขอขึ้นเงินจากแบงก์การันตีจากบริษัทฯ แต่หากกสทช.แจ้งแบงก์การันตีไปยังธนาคารกรุงเทพจริง ทางธนาคารต้องแจ้งให้บริษัทฯรับทราบ ซึ่งทางบริษัทจะทำหนังสือแจ้งขอสงวนสิทธิ์ ให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินจากแบงก์การันตีให้กสทช. เพราะบริษัทมีข้อโต้แย้งจากการกระทำของกสทช.อยู่ รวมทั้งมีแผนจะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลในอนาคต
    "จุดยืนไทยทีวีคือ ขอไม่ทำตามคำสั่งกสทช. ทั้งการจ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตงวด 2 หรือการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เนื่องจากที่ผ่านมากสทช.ไม่ทำตามแม่แบบกฎหมายที่ให้ไว้กับผู้ประกอบการ จนทำให้บริษัทต้องขาดทุนกว่า 320 ล้านบาท"  

- กสทช.แนะ 2 ทางออก
    ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า  ได้เคยเสนอหาทางออกให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง คือผู้ประกอบการและแบงก์ที่เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ว่าหากต้องการให้มีการเปลี่ยนมือ หรือขายไลเซนส์ได้ จะดำเนินการได้ 2 ช่องทาง คือ 1.ยื่นเรื่องขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายไปที่สนช. ซึ่งกระบวนการขั้นตอนหลังจากนั้นเป็นอย่างไรต่อ ก็ต้องขึ้นอยู่กับสนช.  2.ยื่นเรื่องถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อมีคำสั่งการให้ปรับหรือแก้ไข  เป็นต้น  โดยผู้เข้าประมูลและแบงก์การันตี ต้องเป็นผู้เข้ายื่นเรื่องดังกล่าวเอง  ถึงตอนนี้ทุกฝ่ายก็ยังนิ่งเฉยอยู่ ไม่ได้ดำเนินการขั้นตอนใด ๆ ต่อ กสทช.จึงต้องปฏิบัติไปตามกฎ
    อีกทั้งที่ผ่านมา กสทช.ถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ วันนี้จึงขอหยุดเสนอเรื่องดังกล่าว  ทั้งที่สิ่งที่ทำหรือเสนอมานั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ใคร เพราะกสทช.ไม่ได้รับผลกระทบ  แต่ที่กังวลคือ เรื่องของภาวะหนี้เสียในระบบที่เพิ่มมากขึ้น ปีนี้มี 2 ช่อง และปีหน้ายังไม่แน่นอนว่าจะเกิดเรื่องดังกล่าวอีกหรือไม่

-สมาพันธ์ย้ำ กสทช.ต้องชัดเจน
    ด้านนายเขมทัตต์ พลเดช อุปนายกสมาคม สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีช่อง"พีพีทีวี เอชดี" กล่าวว่า การหาทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ กสทช.ควรหยุดความพยายามแก้ไขเรื่องต่าง ๆ ตามมุมมองของกสทช.เองก่อน  และควรเรียกผู้เข้าประมูลร่วมหารือหาทางออกร่วมกัน  เพราะที่ผ่านมาแม้กสทช.จะมีการเรียกประชุม แต่กสทช.มีธงไว้อยู่แล้วว่า เรื่องนั้น ๆ จะต้องเป็นไปในทิศทางที่กสทช.คาดการณ์ จึงไม่ส่งผลให้เกิดทางออกอย่างแท้จริง
    อย่างไรก็ดี ปัญหาทั้งหมดเกิดจากกฎระเบียบต่าง ๆ ของกสทช. ที่ไม่มีความชัดเจนแต่แรก  โดยเฉพาะเรื่องกรณีการจ่ายเงิน หรือการเปลี่ยนมือผู้บริหารช่อง  เพราะในใบคู่สัญญาที่ทำร่วมกันไม่เคยมีเรื่องนี้ระบุไว้แต่อย่างใด  แต่ทุกครั้งที่ออกมาจะเป็นแค่มติจากกรรรมการเท่านั้น  ความไม่ชัดเจนนี้ยังมีไปถึงเรื่องการถือครองหุ้น  การยึดเงินประกัน หรือการขายไลเซนส์ เป็นต้น ดังนั้นในเบื้องต้นกสทช.ต้องระบุข้อตกลงมาเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน เช่น มติจากกสทช.ถือเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับหรือไม่   ผู้ที่ประกอบการหากดำเนินการแล้วและไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้สามารถเปลี่ยนมือได้หรือไม่   และรายละเอียดที่ทำกับคู่สัญญาต้องชี้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ละเอียด  ไม่ใช่เพียงแค่อำนาจการตัดสินใจจากคณะกรรมการแล้วออกมาเป็นมติเท่านั้น

-โมโนรับเลย์ออฟลดต้นทุน
    อีกด้านค่ายโทรทัศน์ดิจิตอลเร่งปรับตัวลดผลกระทบรายได้ไม่เข้าเป้า ทั้งดิ้นรนด้วยการปรับผังรายการใหม่เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มตามมา แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ทำให้ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายช่อง เตรียมปรับลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ด้วยการลดจำนวนพนักงานลง เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นนิวทีวี , โมโน 29  และโพสต์ทีวี ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการข่าวให้กับเวิร์คพอยท์ทีวี , ช่อง 5  และกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งล่าสุดได้เลย์ออฟพนักงานออกกว่า 10 ราย จากก่อนหน้านี้ที่เลย์ออฟพนักงานไปแล้วบางส่วน หลังจากที่เลิกสัญญาการเป็นผู้ผลิตรายการข่าวให้กับช่องไทยทีวีและโลก้า โดยในไตรมาสแรกที่ผ่านมาพบว่า ผลประกอบการของโพสต์ทีวีขาดทุนไปแล้วกว่า 26 ล้านบาท
    ต่อเรื่องดังกล่าวนายนวมินทร์ ประสพเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ผู้บริหารช่องโมโน 29 (MONO 29)  กล่าวว่า บริษัทเน้นการทำธุรกิจทีวีมากขึ้นพร้อมทั้งบริหารค่าใช้จ่ายให้อยู่ในแผนตามกรอบและเพื่อให้รายได้ถึงจุดคุ้มทุนในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายเดิมที่บริษัทเคยตั้งไว้  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและมองว่าการมีพนักงานเกินความจำเป็น ถือเป็นต้นทุนที่สูง ทั้งในกลุ่มธุรกิจทีวี  เพลง และสิ่งพิมพ์ เป็นต้น  โดยล่าสุดในส่วนของโปรดิวเซอร์ธุรกิจทีวีและเพลง จะใช้การจ้างบุคลากรภายนอกแทนพนักงานประจำ  ส่วนธุรกิจสิ่งพิมพ์บริษัทจะนำมารวมกับออนไลน์  โดยทีมงานบางส่วนที่เคยทำงานด้านสิ่งพิมพ์จะถูกโยกไปอยู่ในแผนกออนไลน์แทน
    "ผมมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกในการเลย์ออฟพนักงานออก เป็นเรื่องธรรมชาติทั่วไปที่หลายองค์กรทำกัน  ซึ่งสิ่งไหนบริษัทมองว่าเกิดความจำเป็น  ก็ต้องตัดต้นทุนตรงนั้นออก  และในด้านของพนักงานซึ่งเป็นต้นทุนฟิกซ์คอสต์บริษัทก็มีความจำเป็น เพื่อให้ต้นทุนดังกล่าวกลายเป็นต้นทุนแปรผัน  อีกทั้งพนักงานที่เหลืออยู่ก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพการทำงานได้อย่างเต็มที่"
    นอกจากนี้โดยส่วนตัวเสนอความคิดเห็นเช่นเดียวกับธนาคาร  คือ กสทช.ควรแก้ไขกฎสามารถให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมือ หรือขายไลเซนส์ได้  หากผู้ประกอบการนั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้  เพราะท้ายที่สุดผลประโยชน์ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารกสทช.ได้รับผลประโยชน์อยู่ดี

ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ



Create Date : 21 มิถุนายน 2558
Last Update : 21 มิถุนายน 2558 8:52:41 น. 0 comments
Counter : 817 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Rhythm of Love
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Flag Counter

New Comments
Friends' blogs
[Add Rhythm of Love's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.