space
space
space
 
เมษายน 2560
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
space
space
8 เมษายน 2560
space
space
space

การดูแลเด็กมีไข้




ลูกเป็นไข้  ทำอย่างไรดี?



ทำยังไงดี ลูกตัวร้อนจี๋เลย  แถมหนาวสั่นอีกด้วย 
คุณแม่ คุณย่า คุณยาย ใจเย็นๆนะคะ วันนี้ เรามีความรู้เรื่องการดูแลเด็กมีไข้มาฝากกันค่ะ  

                 ไข้เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เกิดขึ้นร่วมกับความเจ็บป่วยในร่างกาย แสดงว่าเกิดการสูญเสียความสมดุลภายในร่างกาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย ผู้ป่วยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถ้ามีไข้สูง39-40 องศาเซลเซียส อาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ อาการชักส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกที่เริ่มมีไข้ถ้าอาการชักเกิดขึ้นในวันหลังๆมักมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะติดเชื้อระบบประสาท เป็นต้น

สาเหตุของไข้
          1. การติดเชื้อ เช่น การอักเสบของทางเดินหายใจ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
          2. การที่ร่างกายทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม เช่น หลังการฉีดวัคซีน
          3. ร่างกายขาดน้ำ เช่น อุจจาระร่วง อุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงมากๆ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
          4. ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผล
           สาเหตุเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้มีการหลั่งสารกระตุ้นสมองส่วนหน้าให้ตั้งระดับอุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายตอบสนองโดยพยายามเพิ่มอุณหภูมิและเพิ่มความร้อนจากการเพิ่มอัตราการเผาผลาญของเซลล์และการสั่นของกล้ามเนื้อ และลดการระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยการตีบตัวของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนมีค่าเท่ากับที่ตั้งไว้ใหม่ คือ ทำให้เกิดอาการไข้

ขั้นตอนการเกิดไข้ มี 3 ระยะ
          1. ระยะหนาวสั่นเป็นระยะเริ่มต้นของการมีไข้ หยุดการขับเหงื่อ เกิดการกระตุ้นกลไกการสร้างความร้อนให้ทำงานมากขึ้นโดยการสั่นของกล้ามเนื้อร่วมกับการหดตัวของหลอดเลือดที่ผิวหนัง ดังนั้น ขณะสั่นจึงรู้สึกหนาวร่วมด้วย เพราะอุณหภูมิผิวหนังลดลงเนื่องจากเลือดไหลมาน้อย โดยเฉพาะปลายมือปลายเท้าจะเย็น ระยะเวลาในการสั่นอาจแค่ 2-3 นาที หรือนานเป็นชั่วโมงขึ้นกับสาเหตุ เมื่ออุณหภูมิสูงถึงระดับที่กำหนดใหม่แล้วกลไกดังกล่าวจะหยุดทำงาน ไม่เกิดความรู้สึกร้อนหรือหนาวทั้งๆที่อุณหภูมิร่างกายสูง
          2. ระยะไข้ เมื่อมีการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย ผิหนังอุ่น หน้าแดง รู้สึกร้อน การเผาผลาญมาก ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ร่างกายขาดน้ำ หากเกิดเป็นเวลานานเนื้อเยื่อร่างกายถูกทำลายจะอ่อนเพลียปวดเมื่อย กล้ามเนื้อไม่มีแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีอาการซึม กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เพ้อ ประสาทหลอนและมีอาการชักได้
          3. ระยะไข้ลดเมื่อสาเหตุของไข้ถูกกำจัดไปแล้ว อุณหภูมิร่างกายจะลดลง ลดการสร้างความร้อนภายในร่างกาย เลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น มีการหลั่งเหงื่อมากขึ้น

ผลกระทบของการมีไข้
                ระบบประสาท ทำให้ปวดศีรษะ ซึม กระสับกระส่าย ในเด็กอาจมีอาการชักจากไข้สูงได้ และอาการชักอาจส่งผลกระทบต่อสมองได้ หากอาการชักจากไข้สูงเกิดเป็นเวลานาน หรือชักบ่อย จะทำให้สมองขาดออกซิเจน  สมองพิการ มีความผิดปกติของการเคลื่อนไหวและการรับความรู้สึก
                ระบบไหลเวียน อัตราการบีบตัวของหัวใจมากขึ้น เพิ่มการทำงานของหัวใจ
                ระบบย่อยอาหาร เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน การเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง การดูดซึมอาหารไม่ดี เสียน้ำทางเหงื่อและทางการหายใจมากขึ้น ทำให้มีอาการท้องผู
               ระบบทางเดินปัสสาวะ พบว่าปัสสาวะน้อยละเนื่องจากเสียน้ำมากจากกระบวนการระบายความร้อนออกจากร่างกาย
               การเผาผลาญของร่างกาย เพิ่มมากขึ้น

วิธีการลดไข้
                1. การให้ยาลดไข้ ยาลดไข้ที่ดีที่สุดคือยาพาราเซตามอง เพราะมีฤทธิ์ข้างเคียงน้อย และไม่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร ส่วนยาจูนิเฟนมีผลดีในการลดไข้และป้องกันการชักจากไข้สูงได้ดีกว่าพาราเซตามอล แต่มีฤทธิ์ข้างเคียง คือ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้
                2. การเช็ดตัวลดไข้ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ไม่ควรใช้น้ำเย็นจัด เพราะจะทำให้หลอดเลือดตีบและระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการหนาวสั่นได้ ควรป้อนยาลดไข้ทันทีเมื่อมีไข้ร่วมกับการเช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้จะออกฤทธิ์ลดไข้หลังรับประทานยา 30 นาทีและออกฤทธิ์สูงสุด 1 ชั่วโมง คงสภาพได้ 4 ชั่วโมง ดังนั้นหากไข้สูงระหว่างมื้อยา ให้เช็ดตัวลดไข้ หากมีอาการหนาวสั่นควรให้ความอบอุ่นก่อนแล้วจึงเช็ดตัว


 3. ดื่มน้ำมากๆ ควรเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำผลไม้  กระตุ้นให้ดื่มน้ำบ่อยๆเพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปจากพิษไข้
                4. ใส่เสื้อผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย ประเภทผ้าฝ้าย ไม่ควรใส่เสื้อผ้ายืดเพราะไม่ระบายความร้อน ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่มผ้าหนาๆ
                5. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก

วิธีการเช็ดตัวลดไข้
           การเช็ดตัวลดไข้ เป็นกระบวนการนำความร้อนออกจากร่างกายสู้ผ้าเปียกที่ใช้เช็ดตัว โดยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นให้เปียกเช็ดถูตามส่วนต่างๆของร่างกายร่วมกับการประคบผิวหนังบริเวณที่เป็นจุดรวมของหลอดเลือดขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง เช่น หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างเพื่อช่วยให้ถ่ายเทความร้อนจากหลอดเลือดสู่ผิวหนัง และสู่ผ้าเปียกตามลำดับ
            1. เตรียมเครื่องใช้ ได้แก่  อ่างน้ำ 1 ใบใส่น้ำอุ่นประมาณ 2 ลิตร (ความร้อนของน้ำควรจะอุ่นกว่าอุณหภูมิห้อง เย็นกว่าร่างกายเด็ก) ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 3 ผืน ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้
            2. ถอดเสื้อผ้าเด็กออกให้หมด
            3. ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กชุบน้ำบดหมาดๆ เช็ดถูที่ผิวหนัง การเช็ดถูจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่ผิวหนัง น้ำอุ่นจะช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้ความร้อนถูกระบายออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น  ใช้ผ้าชุบน้ำผืนที่ 1 เช็ดบริเวณหน้าและพักผ้าไว้บริเวณซอกคอและหลังหู ผ้าผืนที่ 2 เช็ดบริเวณแขนโดยเริ่มจากปลายแขน เช็ดแขนเข้าหาลำตัวและพักผ้าไว้บริเวณรักแร้ ผ้าผืนที่ 3 เช็ดแขนอีกข้างและพักผ้าไว้บริเวณรักแร้ เปลี่ยนผ้าบริเวณซอกคอ ชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดบริเวณหน้าผากและศีรษะ พักผ้าไว้บริเวณหน้าผาก เปลี่ยนผ้าบริเวณรักแร้ ชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดบริเวณลำตัว พักผ้าไว้บริเวณหัวใจและขาหนีบ เปลี่ยนผ้าบริเวณหน้าผากและขาหนีบ ชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดขาโดยเริ่มจากปลายเท้า เช็ดขาและพักไว้บริเวณข้อเข่าและขาหนีบทั้งสองข้าง หลังจากนั้นให้พลิกตะแคงตัวเด็ก ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดด้านหลังตั้งแต่คอจนถึงก้นกบ เช็ดหลายๆครั้ง หากน้ำในอ่างน้ำเย็นลงก็ให้เปลี่ยนน้ำอุ่นใหม่ เช็ดเหมือนเดิมจนครบ 15-20 นาที จนรู้สึกว่าร่างกายเด็กเย็นลงกับมือ เช็ดตัวเด็กให้แห้งและสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไข้ลดเร็ว หลังเช็ดตัวเสร็จ 30 นาที วัดอุณหภูมิซ้ำด้วยปรอทวัดไข้ เมื่อไข้กลับขึ้นสูงก็เช็ดซ้ำอีกครั้ง  

การดูแลที่สำคัญ
           1. เมื่อเด็กเริ่มมีไข้ ควรป้องกันการชักด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น
           2. ให้เด็กนอนพักในขณะเช็ดตัวและหลังเช็ดตัวเพื่อลดการเผาผลาญในร่างกายให้น้อยลง
           3. ใช้ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกาย ถ้าสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือสัมผัสร่างกายแล้วยังร้อนจัด ควรเช็ดตัวซ้ำอีก
           4. ให้รับประทานยาลดไข้ถ้าอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
           5. พยายามให้เด็กดื่มน้ำหรือเครื่องดื่มบ่อบๆ เพื่อชดเชยการเสียน้ำจากไข้สูง และดื่มน้ำระหว่างเช็ดตัวลดไข้
           6. ให้อาหารน้อยๆแต่บ่อยครั้ง เนื่องจากเด็กเบื่ออาหาร
           7. ทำความสะอาดปากและฟันหรือจิบน้ำบ่อยๆเพื่อให้เยื่อบุชุ่มชื้น ช่วยระงับกลิ่นปาก ป้องกันแผลและการติดเชื้อในปาก และส่งเสริมความอยากอาหารของเด็ก
           8. ถ้าเด็กมีอาการชัก ให้จับนอนตะแคงหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อให้เสมหะ น้ำมูก น้ำลายไหลได้สะดวก ป้องกัน การสำลัก ห้ามป้อนยาเด็กในขณะที่ยังมีอาการชัก และแม้เด็กจะหยุดชักแล้ว ก็ควรนำไปตรวจที่โรงพยาบาลเพราะอาจมีความผิดปกติของสมองตามมาได้ 

สรุป
           เวลาเด็กไม่สบาย มักมีอาการตัวร้อนนำมาก่อน สำหรับผู้ใหญ่อาการตัวร้อนดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่เด็กๆอาจไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากมีพื้นที่ร่างกายน้อย การระบายความร้อนเป็นไปได้ช้า  แต่การสร้างความร้อนเกิดขึ้นเร็ว หากปล่อยให้ตัวร้อนจัดเด็กอาจชักเพราะไข้สูงได้เพราะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบบประสาทส่วนกลางยังเจริญไม่เต็มที่ หากมีการชักบ่อยๆจะทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย ซึ่งผลต่อระดับสติปัญญาของเด็กและการทำงานของสมองในอนาคตได้
           การดูแลเด็กเวลามีไข้มีมากมายหลายวิธี วิธีเช็ดตัวลดไข้เป็นวิธีที่บิดามารดาสามารถดูแลเบื้องต้นได้ สิ่งที่สำคัญคือบิดามารดาต้องเห็นความสำคัญและใส่ใจ มีเวลาให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กมีความสุขสบายและปลอดภัยจากภาวะไข้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความรู้นี้จะเป็นประโยชน์   สร้างความมั่นใจในการดูแลเด็กมีไข้ และลดความวิตกกังวลกับผู้ปกครองได้นะคะ  

ที่มาของเนื้อหา : //www.med.cmu.ac.th/hospital/nped/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=94:tepid-sponge&catid=93:child-care1&Itemid=435

ขอบคุณ VDO สอนการเช็ดตัวจาก รพ.สมิติเวช  เจ้าของคลิป https://www.youtube.com/watch?v=FfWnO3QOrd0 และเจ้าของภาพการ์ตูนด้านบนค่ะ





Create Date : 08 เมษายน 2560
Last Update : 8 เมษายน 2560 1:21:03 น. 0 comments
Counter : 4762 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

สมาชิกหมายเลข 850977
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 850977's blog to your web]
space
space
space
space
space