กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ประชุมพงศาวดารภาค ๒

ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีต้นหนังสือแลสำเนาหนังสือเก่าๆเก็บรวบรวมสะสมไว้มาก เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปเมืองนครศรีธรรมราชาคราวใด เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีได้ค้นหนังสือเก่าๆเหล่านี้ถวายมาแทบทุกคราว ในหนังสือพวกนี้มีสำเนาหนังสือเรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราชแต่ก่อนมา ๔ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑ เมื่อปีจอจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๐๔ ปี ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐกรุงเก่า ตั้งพระยาไชยาธิเบศร์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ครั้งที่ ๒ เมื่อปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ ปี เจ้ากรุงธนบุรีตั้งเจ้านครเป็นเจ้าประเทศราช

ครั้งที่ ๓ เมื่อปีมะโรงฉศก จุลศักราช ๑๑๔๖ ปี ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงตั้งเจ้าพิพัฒน์เป็นพระเจ้านครศรีธรรมราช

ครั้งที่ ๔ เมื่อปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ ปี ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ (คือเจ้าพระยาสครน้อย) เป็นพระยานครศรีธรรมราช

เห็นว่าหนังสือเหล่านี้เป็นสำเนาอันแท้จริง มิใช่ของปลอมและเป็นเรื่องราวอันสมควรจะลงพิมพ์รักษาไว้ไม่ให้สาบสูญ โดยเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ในทางความรู้พงศาวดาร แลแบบแผนประเพณีเก่า จึงได้นำมาลงพิมพ์ไว้




กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช



....................................................................................................................................................


สำเนากฎ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงเก่า


กฎให้แก่นายเทียรฆราชอาลักษณ์ นายสวัสดิ์ภักดีชาววัง โกชาอิสหากกรมพระคลัง นายพิทักษ์ราชา นายชาญอาวุธ แวงจัตุลังคบาทซ้ายขวา ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ให้พระยาไชยาธิเบศร์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชยมไหศริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช และให้นายเทียรฆราชอาลักษณ์ นายสวัสดิ์ภักดีชาววัง โกชาอิสหาก นายพิทักษ์ราชา นายชาญอาวุธ แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ พระสุบรรบัตร เสด็จไปมอบเมืองนครศรีธรรมราช ให้แก่พระยาไชยาธิเบศร์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชตามธรรมเนียม

ครั้นพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จโดยนายเทียรฆราชอาลักษณ์ นายสวัสดิ์ภักดี โกซาอิสหาก นายพิทักราชา นายชาญอาวุธ แวงจัตุรังคบาท จำทูลไปถึงด่านขนอนแลบ้านใดเมืองใดตำบลใดไซร้ ก็ให้ผู้จำทูลว่าแก่ผู้รักษาเมือง ผู้รั้งกรมการนายบ้านนายอำเภอ แลนายพนอนด่านคอย ณ ตำบลนั้น แต่พานขันหมากข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียน มากราบไหว้ถวายบังคมพระราชโองการจงทุกหัวเมือง แล้วให้ผู้จำทูลเรียกเอาค่าตำแหน่งศักดิ์แก่ผู้มากราบถวายบังคมจงทุกเมือง ระยะทางพระราชโองการเสด็จไปนั้น แล้วให้เลี้ยงดูข้าหลวงผู้จำทูลและไพร่จงสมควร ถ้าและจะเชิญพระราชโองการเสด็จจากที่นั้นตำบลนั้นไป ก็ให้กรมการนายพนอนค่ายคอยและนายอำเภอ แต่งเรือแห่แหนป้องกันพิทักษ์รักษาส่งสืบกันไป ตามธรรมเนียมพระราชโองการเสด็จไปมอบเมืองแต่ก่อนนั้นจงทุกหัวเมือง กว่าจะถึงเมืองนครศรีธรรมราชอย่าให้เป็นเหตุการประการใดได้ แล้วอย่าให้หยุดอยู่ช้าถึงสองวันสามวัน และให้เร่งรีบไปจงพลัน

อนึ่ง เมื่อเรือทรงพระราชโองการเสด็จโดยทางชลมาครนั้น ให้ห้ามปราบผู้คนไปมาอย่าให้กั้นร่มโพกศีรษะมาใกล้กราย และผ่านไปมาหน้าเรือพระราชโองการ แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถ้าแลเรือทรงพระราชโองการจะประทับอยู่รอนแรม ณ ที่ใดตำบลนั้น ถ้าให้ผู้จำทูลทั้งปวงที่ฐานะให้ชอบแลสมควรจึงให้หยุดอยู่ ณ ที่นั้นตำบลนั้น และให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการนายด่าน นายพขนอนนายบ้านนายอำเภอนายตำบลนั้น กะเกณฑ์ผู้คนให้สรรพด้วยเครื่องสรรพอาวุธ ให้ตรวจตระเวนและตั้งร้านเพลิงแลกองเพลิง นั่งยามพิทักษ์รักษาพระราชโองการแลตราครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร อย่าให้มีเหตุการณ์ประการใด ณ กลางทางแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ครั้นพระราชโองการเสด็จจากที่รอนแรมตำบลนั้นไป ก็ให้ผู้รักษาเมืองแลกรมการนายด่าน นายพขนอนนายบ้านนายอำเภอ แห่แหนป้องกันพิทักษ์รักษา ส่งเสด็จพระราชโองการสืบๆกันไปตามอำเภอกว่าจะถึงเมืองนคร

อนึ่ง ถ้าจะเชิญพระราชโองการ แลตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จไปประทับยที่เมืองเพชรบุรีไปสถลมารคไซร็ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการรับเสด็จพระราชโองการขึ้นไว้ ณ หอพระราชโองการเมืองเพชรบุรี และให้ล้อมระเนียดแลรั้วไก่แลร้านเพลิงแลทิมดาบซ้ายขวา แล้วให้กะเกณฑ์ขุนหมื่นไพร่สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ มานั่งยามกองเพลิงพิทักษ์รักษาอย่าให้เป็นเหตุการณ์ประการใด ครั้นพระราชโองการเสด็จไปโดยสถลมารคไซร้ ก็ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการแต่งช้างพังพลายอันราบคาบดีนั้น ผูกเครื่องกระโจมทรงพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร แลช้างดั้งช้างกันแลโคเกวียน แลกะเกณฑ์ขุนหมื่นและไพร่พลสรรพด้วยเครื่องสาตราวุธ แห่แหนป้องกันสืบๆกันไปจงทุกหัวเมือง กว่าจะถึงเมืองนคร อย่าให้เป็นเหตุการณ์ประการใดได้

ครั้นพระราชโองการเสด็จไปยังทางประมาณวันหนึ่ง สองววันจะถึงเมืองนครไซร้ ก็ให้ผู้จำทูลว่ากล่าวแก่ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการ ณ เมืองตำบลนั้น ให้ปลูกหอพระราชโองการเป็นมณฑป ตั้งระเนียดรั้วไก่ร้านไฟแลทิมดาบซ้ายขวาแล้ว เชิญพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตรขึ้นไว้แล้ว ให้สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธนั่งยามกองเพลิงเป็นกองซุ่มกองรายพิทักษ์รักษา ทั้งกลางวันกลางคืน อย่าให้เหตุการประการณ์ใดได้ แลให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ตามธรรมเนียม แลให้ตรวจจัดสารวัดห้ามปรามผู้คนอย่าให้ขี่ช้างขี่ม้าใส่หมวกกั้นร่มโพกศีรษะ แลถือเครื่องสาตราวุธผ่านไปมาได้ กว่าพระราชโองการจะเสด็จไปเมืองนคร แลให้กรมการแต่งขุนหมื่นถือหนังสือเป็นราวข่าวไป ถึงหลวงศรีราชสงครามภักดีปลัด แลหลวงภักดีราชยกกรบัตร แลกรมการทั้งหลาย ณ เมืองนคร ให้ปลูกหอเป็นมณฑป แลตั้งระเนียดรั้วไก่ร้านไฟแลทิมดาบแลเกยซ้ายขวา แลฉนวนแลเกยช้างสำหรับพระราชโองการและตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตรตามธรรมเนียม แล้วให้เกณฑ์พระหลวงขุนหมื่น ณ เมืองนคร ให้สรรพด้วยธงเทียวฆ้องกลองแตรสังข์มาแห่รับพระราชโองการ แลตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ไปประทับฉนวนขึ้นบนเกย จึงเอาคานหามเข้ารับพระราชโองการ ถึงพระมณฑปแล้ว ให้แต่งขุนหมื่นกรมการควบคุมไพร่มีเครื่องสาตราวุธสำหรับมืออยู่ นั่งยามตามเพลิงตระเวณจงสมควร ให้แต่งเป็นกองซุ่ม กองราบพิทักษ์รักษา อย่าให้เป็นเหตุการณ์ประการใดได้ แลให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ ณ ทิมดาบซ้ายขวาจงทุกเวลาตามธรรมเนียม แล้วให้เจ้าพนักงานไปกวาดแผ้วพระวิหารวัดมหาธาตุ แลตั้งเบญจาสามชั้นหุ้มผ้าขาวมีเสาเพดานแล้วกั้นม่านรอบ แลม่านหน้านั้นเป็นม่านสองไขแลป๔เสื่อพรมตั้งเตียงสองสำหรับรองพระราชโองการในเบญจา ในพระวิหารวัดมหาธาตุจงสรรพไว้

ครั้นได้ฤกษ์จึงให้กรมการนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะ ๕ รูป อันดับ ๑๕ รูป มาพร้อมกันในพระวิหารนั้นแล้ว ให้พระหลวขุนหมื่นกรมการ แลหลวงขุนหมื่น ณ เมืองนครแลผู้รั้งกรมการหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่เมใองนครนั้น นุ่งสมปักขาวห่มเสื้อขาว แต่งพานหมากถวายบังคมพร้อมกันแล้ว แลให้ตั้งแห่หน้าหลังเป็นคู่แห่เรียงกันไปถึงพระวิหาร แล้วให้ประโคมแตรสังข์ฆ้องกลองขึ้น แลข้าหลวงผู้จำทูลพระราชโองการนั้นจึงเชิญพระราชโองการนั้นแลตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จเข้าในพระวิหาร นั่งเหนือเตียงทองลาดผ้าขาวตั้งเบญจานั้น แล้วชักม่านสองไขเปิดไว้ จึงให้ผู้จำทูลนั้นประนมมืออยู่ที่นั้น แลหน้าเบญจานั้นให้ปูพรมลาดผ้าแต่คราหนึ่ง สำหรับผู้จะยืนอ่านพระราชโองการ แลอ่านพระสุพรรณบัตร แล้วให้พระยานครนุ่งผ้าสมปักขาวชายกรวย ห่อเสื้อขาวใส่พอกเกี้ยวดอกไม้ไหวขึ้นคานหาม ให้หลวงขุนหมื่นตามพนักงานแห่ขึ้นมาถึงประตูพระวิหาร ให้นั่งหน้าเบญจาออกมาประมาณ ๔ ศอก ให้มีพานขันหมากถวายบังคม และให้พระหลวงขุนหมื่นกรมการ แลเมืองขึ้นทั้งปวงนั่งโดยอันดับเป็น ๒ แถว ให้ปูเช็ดหน้าเรียงเข้าตอกดอกไม้หมากพลูธูปเทียน แล้วจึงให้ประโคมแตรสังข์ฆ้องกลอง แล้วนายแวงผู้จำทูลพระราชโองการนั้นจึงชักม่าน แลชาววังกรมคลังผู้จำทูลนั้นนั่งถัดแวงออกมาตามซ้ายขวา แลให้เจ้าพระยานครแลพระหลวงขุนหมื่นกรมการทั้งปวง กราบถวายบังคมสามลาแล้วสงบอยู่ก่อน ครั้นสุดเสียงกลองและแตรสังข์แล้ว จึงให้เจ้าพระยานครพระหลวงขุนหมื่น กรมการทั้งปวงถวายบังคมให้พร้อมกันแล้ว ผู้จำทูลพระราชโองการและอาลักษณ์ ซึ่งนุ่งขาวนั้นกราบถวายบังคมสามลาแล้ว จึงให้นายแวงผู้จำทูลนั้นไขย่นพานย่นเจียดถุงกล่องออกแล้ว เชิญพระราชโองการส่งให้อาลักษณ์ยืนบนผ้าแดงแลพรมนั้น อ่านพระราชโองการมอบเมืองนครให้แก่พระยาไชยาธิเบศร์ เป็นเจ้าพระยานคร

ครั้นจบพระราชโองการแล้ว ให้หลวงศรีราชสงครามภักดีปลัด และกรมการทั้งปวงประนมมือเหนือศรีษะรับสั่งตราพระราชโองการ ว่าข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอรับพระราชโองการท่รพระบัณฑูรกชด้วยเกล้าฯ ครั้นรับสั่งแล้วให้กราบถวายบังคมสามลา จึงให้อ่านพระสุพรรณบัตร พระราชทานชื่อแก่เจ้าพระยานครนั้นรับสั่งว่า ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชโองการมานพระบัณฑูรด้วยเกล้าฯ จึงส่งพระสุพรรณบัตรให้แก่พระยาไชธิเบศร์เป็นเจ้าพระยานครรับพระราชทานชื่อ จึงให้เจ้าพระยานครแต่งพานมุกรองเหมทองรับพระสุพรรณบัตรตามธรรมเนียม แลจึงให้อาลักษณ์เชิญตราพระครุฑพ่าห์ชูขึ้นเหนือศีรษะ แล้วจึงให้ร้องประกาศว่าคงตราพระครุฑพ่าห์แล้ว ๓ ที แล้วจึงให้หลวงปลัด แลกรมการทั้งปวงกราบถวายบังคมแล้วรับสั่งตราพระครุฑพ่าห์ว่า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอรับพระราชโองการมานพระบัณฑูรด้วยเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอรับพระราชโองการมานพระบัณฑูร ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มานี้ทุกประการ แล้วจึงให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์สามลา แล้วเชิญพระราชโองการ แลตราพระครุฑห์เสด็จขึ้นแล้ว ให้เจ้าพระยานครแลกรมการทั้งปวงกราบถวายบังคมสามลาอีกครั้งหนึ่งเล่า แล้วให้ชักม่านไขเข้า ครั้นเสร็จแล้วจึงให้เผดียงสงฆ์พระสงฆ์ราชาคณะ แลพระสงฆ์อันดับนั้นสวดถวายพระพรพระพุทธเจ้า จนสัพพพุทธาแลภวสัพพมังคลังแลสวดพระพุทธมนต์ ต่อจบแล้วจึงให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ แลให้พระหลวงขุนหมื่นตั้งแห่แหน เชิญพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ เสด็จมา ณ มณฑปนั้นตามธรรมเนียม

ครั้นเสร็จการมอบเมืองแล้ว ให้นายเทียรฆราช นายสวัสดิ์ภักดี โกชาอิสหาก นายพิทักราชา นายชาญอาวุธแวงจัตุลังคบาท ว่าแก่เจ้าพระยานครให้แต่งหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายสนองราชโองการนั้น ปิดตราเข้าพนมปากบอกด้วยกระดาษแลครั่งตามธรรมเนียม แลหนังสือปฏิบัติ ฯ พณ ฯ โกษาธิบดี แล้วให้แต่งของบรรณการสำหรับสนองพระราชโองการ แลสิ่งของสนองหนังสือ ฯ พณ ฯ โกษาธิบดี แลค่าธรรมเนียมมอบเมือง แลค่าธรรมเนียมแต่งตราพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ แลพระสุพรรณบัตร แลค่าผู้เชิญตราพระราชโองการ แลค่ารับสั่งนายเวรชาววังมหาดไทยแก่เจ้าพระยานครแต่ตามธรรมเนียม แล้วให้เรียกเอาค่าตำแหน่งผู้กราบถวายบังคมพระราชโองการตามบรรดาศักดิ์จงทุกคน

ให้เจ้าพระยานครแลกรมการแต่งพระหลวงขุนหมื่นอันมั่นคง คุมไพร่สรรพด้วยเครื่องสาตราวุธสำหรับมือให้ครบ แลเรือแห่แหนป้องกันพิทักษ์รักษาเชิญเสด็จพระราชโองการ แลตราพระครุฑพ่าห์ แลเครื่องบรรณาการกลับเข้าไปยังกรุง อย่าให้เป็นเหตุการณ์ประการใดได้

อนึ่ง เมื่อพระราชโองการเสด็จไป ณ กลางทางจนถึงเมืองนครนั้น ให้นายเทียรฆราช นายสวัสดิ์ภักดี โกชาอิสหาก นายพิทักษ์ราชา นายชาญอาวุธ กำชับว่าห้ามกล่าวปรามแก่นายเรือแลใบพันหัวพันท้าย แลนายไพร่พลกรรเชียงแลบ่าวไพร่ ข้าไทย สมัครสมาอาศัยซึ่งไปด้วยนั้น อย่าให้เอากิจราชการ ณ กรุงไปเจรจาว่ากล่าวบอกเล่าแก่ชาวเมืองใต้ทั้งปวง แลเพื่อนฝูงสมัครสามอาศัยแห่งใดตำบลใดแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ แลอย่าให้วิวาทตีด่าฆ่าฟันฉกชิงฉ้อกระบัด ทำข่มเหงเอาพัสดุทองเงินแลทรัพย์อัญมณีแก่สมณะชีพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรลูกค้าวานิช แต่ประการใดประการหนึ่งได้ ถ้าแลรู้เห็นเป็นประการใด แลผู้มีชื่อมาว่ากล่าวแลพิจารณาเป็นสัตย์ไซร้ ก็จะเอานายเทียรฆราช นายสวัสดิ์ภักดี โกชาอิสหาก นายพิทักษ์ราชา นายชาญอาวุธแวงจตุรังคบาท ซึ่งมิได้ทำตามกฎหมายให้นี้ ลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ และทำตามกฎหมายนี้จงทุกประการ กฎให้ไว้ ณ วันศุกร เดือนยี่ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๐๔ ปีจอจัตวาศก

อนึ่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เสียค่าธรรมเนียมในนี้อาลักษณ์จารึกชื่อตามบันดาศักดิเสมอนนาร้อยสลึง กรมอาลักษณ์ผู้แต่งพระราชโองการได้ค่าธรรมเนียม ๑๒๐ บาท กรมแสงในได้ค่าธรรมเนียมรักษาตราพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ ๑๒๐ บาท สนมผู้เชิญตราพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ ๔๐ บาท คนหามเสลี่ยงแลแตรสังข์แลเที่ยวแห่มาแต่โรงแสงสเมอคนละ ๑ บาท อนึ่งค่าตำแหน่งศักดิผู้รักษาเมืองผู้รั้งว แลข้าหลวงกรมการนายระวางนายพนอนด่านคอยสิบร้อยอายัดแลแขวงนายบ้านนายอำเภอ แลพระหลวงขุนหมื่นวิเศษข้าส่วย แลส่วยซ่องกองช้างทั้งปวง กราบถวายบังคมเสียค่าชักม่านค่าปี่กลองเป็นค่าตำแหน่งศักดิขุนพขนอน ๖ บาท ค่าชักม่านหนึ่งเฟื้อง แตรหนึ่งเฟื้อง แลพระหลวงขุนหมื่นวิเศษ ข้าส่วยซ่องกองช้างทั้งปวง เสียค่าถวายบังคมแลค่าชักม่าน ค่าปี่กลองเป็นค่าตำแหน่งศักดิตามบันดาศักดิแต่นา ๑๐๐ ขึ้นไป เสียค่าตำแหน่งศักดิ ๑๐๐ ละ ๒ สลึง แลนา ๑๐๐ ขึ้นไปถึงนา ๑๐๐๐ เสมอ ๑๐๐ ละ ๒ สลึง แลเสียค่าชักม่านแลปี่กลองแลแตรเหมือนกันทุกคน

ในลักษณะพระราชโองการนั้นว่า พระราชโองการพระบาทพระศรีสรรเพชญ สมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว คือองค์สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า พระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเนียม พระเจ้าช้างเผือก ทรงทศพิธราชธรรมราชอนันตสมภาราดิเรก เอกอุดมบรมจักรพรรดิสุนทรธรรมิกราชบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาตรัสเอาพระยาไชยาธิเบศร์เป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชญมไหศุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ครั้นพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์เสด็จโดยสวัสดิภักดีชาววัง แลโกชาอิสหากกรมคลัง นายพิทักษ์ราชา นายชาญอาวุธ แวงจัตุลังคบาทจำทูลมานี้ไซร้ ให้หลวงศรีสงครามรามภักดีปลัด หลวงภักดียกกรบัตร แลกรมการทั้งหลาย ตรวจจัดช้างม้าพลไร่นาอากรสำหรับเมืองมอบโดยขนาด

ในลักษณะพระสุพรรณบัตรนั้นว่า ศุภมัสดุ สุวิดิการยดิเรก ๑๖๖๔ ศกโสณสังวัจฉรมฤคสิรมาสศุกรปักษ์ เทวดิถีพุฒวารศุภมหุรดิพระบาท พระศรีสรรเพชญ สมเด็จพระบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานนามกรพระยาไชยาธิเบศร์ เป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหศุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช

ในลักษณะหนังสือซึ่งสนองพระราชโองกาสรนั้นว่า ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ขอกราบถวายบังคมพระกรุณา พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ด้วยข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อ) และแวงจัตุรังคบาทซ้ายขวา จำทูลพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์ แลพระสุพรรณบัตรเสด็จไปมอบข้าพระพุทธเจ้าแล้ว แลข้าพระพุทธเจ้าเชิญพระราชโองการแลตราพระครุฑพ่าห์เสด็จกลับโดย (ชื่อ) แลนายแวงจัตุรงคบาท เข้ามากราบถวายบังคม พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยุ๋หัว ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทพระพุทธเจ้าอยู่หัว.


....................................................................................................................................................


เรื่อง ตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี


วันอังคารเดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีวอกอัฐศก เพลาเช้า เสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งท้องพระโรง หมื่นพิพัฒน์โกษารับสั่งใส่เกล้าฯ สั่งว่ากำหนดจะได้ให้ขุนสกลมณเฑียรกรมวัง ขุนวิเศษนุชิตกรมคลัง นายเฑียรฆราชอาลักษณ์ นายจิตรบำเรอแวงตำรวจนอกซ้าย นายบัลลังก์กุญชรแวงตำรวจในขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ออกไปพระราชทานมอบเมืองให้เจ้านครเป็นเจ้าขัณฑสิมา พระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งนี้ ได้ฤกษ์ ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกอัฐศก เพลาเช้า ๔ นาฬิกา ๒ บาท เป็นมงคลฤกษ์ และให้เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติเบิกทองแผ่แผ่นพระสุพรรณบัตรหนัก ๖ สลึง กว้าง-ยาว-สำหรับจารึกพระสุพรรณบัตร แล้วให้ตีกล่องทองจำหลักสูง ๕ นิ้วกึ่ง ใหญ่รอบ ๖ นิ้ว ทั้งฝาทั้งตัวหนัก ๒ บาท ๓ สลึงเฟื้อง สูง-ใหญ่รอบ-สำหรับใส่แผ่นพระสุพรรณบัตร แล้วให้ตีกล่องเงินหนัก ๑ ตำลึง ๒ บาท ๑ สลึง สูง ๖ นิ้วกึ่ง ใหญ่รอบ ๗ นิ้ว สำหรับใส่กล่องทองซึ่งใส่พระสุพรรณบัตร แล้วให้ตีกล่องทองจำหลักทั้งฝาทั้งตัวหนัก-สูง-ใหญ่รอบ-สำหรับใส่พระราชโองการ แล้วให้ตีผอบทองจำหลักทั้งฝาทั้งตัวหนัก-สูง-ใหญ่รอบ-สำหรับใส่ตราพระครุฑพ่าห์ แล้วให้ตีกล่องเงินจำหลักทั้งฝาทั้งตัวหนัก-สูง-ใหญ่รอบ-สำหรับใส่ผอบทองรองตราพระครุฑพ่าห์ เป็นพนักงานคลังมหาสมบัติได้ทำ

อนึ่ง ให้เจ้าพนักงานกรมพระคลังวิเศษเบิกงาต่อพระคลังมหาสมบัติไปให้ช่างกลึงกล่องสูง-ใหญ่รอบ-สำหรับใส่พระราชโองการองค์ ๑ พระสุพรรณบัตรองค์ ๑ แล้วให้ทำเจียดเขียนลายทองสำหรับใส่ผอบตราพระครุฑพ่าห์องค์ ๑ แล้วให้มีถุงแพรลายทองสำหรับใส่กล่องพระราชโองการ พระสุพรรณบัตรและใส่เจียดรองตราพระครุฑพ่าห์ด้วยจงทุกองค์ แล้วให้จัดพานรองแว่นฟ้า ถ้ามิได้พานรองแว่นฟ้าจะได้เป็นพานรองมุกทึบก็เอาเถิด ให้ได้ ๓ สำรับ แล้วให้มีถุงย่นแพรลายทองระบายปากผูกกระโจมสูงต่างคลุม ถ้ามิได้ผูกกระโจมสูงย่นถุงต่ำไป ก็ให้มีคลุมสักหลาดแดงด้วยทั้งสามสำรับ สำหรับใส่พระราชโองการสำรับ ๑ ใส่ตราพระครุฑพ่าห์สำรับ ๑ ใส่พระสุพรรณบัตรสำรับ ๑ เป็นพนักงานพระคลังวิเศษ และกล่องทอง กล่องเงิน กล่องงา กล่องเจียดและพานถุงย่นทั้งนี้ เป็นพนักงานอาลักษณ์ได้เร่งรัดตรวจตราว่ากล่าว และให้กรมแสงในซ้ายเบิกขี้ผึ้งกลึงหุ่นตราพระครุฑพ่าองค์ ๑

และกำหนดจะได้จารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร และจำลองตราพระครุฑพ่าห์ และปิดตราพระราชโองการ ได้ฤกษ์ ณ วันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีวอกอัฐศก เพลาเช้า ๕ นาฬิกา ๓ บาท และให้กรมแสงในซ้ายเชิญตราพระราชโองการ พระครุฑพ่าห์ ออกมาให้อาลักษณ์และกรมแสงในซ้ายแต่งบายศรี ๒ สำรับ ศีรษะสุกรคู่ ๑ เทียนทองคู่ ๑ เทียนเงินคู่ ๑ ข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนแป้งหอมน้ำมันหอม และให้อาลักษณ์เบิกผ้าขาวต่อพระคลังวิเศษมานุ่งผืน ๑ ห่มผืน ๑ สำหรับนุ่งห่มจารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร

ครั้นจะใกล้ได้ฤกษ์จารึกให้จุดธูปเทียนบูชา ข้าวตอกดอกไม้จุณเจิมแป้งน้ำมันแล้ว จึงให้อาลักษณ์นุ่งห่มผ้าขาวกราบถวายบังคมสามลาแล้ว จึงให้จารึกพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร และจำลองตราพระครุฑพ่าห์ลงขี้ผึ้งซึ่งกรมแสงในซ้ายทำไว้นั้น แล้วจึงเชิญพระราชโองการพระครุฑพ่าห์พระสุพรรณบัตรเข้ากล่องใส่ถุงย่นพาน แล้วอาลักษณ์ได้ปิดตราประจำขี้ผึ้งปากถุงกล่องปากถุงย่นพานตามธรรมเนียมเสร็จแล้ว จึงเชิญพานพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตรขึ้นไว้บนพระที่นั่ง และเมื่อจารึกพระราชโองการพระสุพรรณบัตร และจำลองตราพระครุฑพ่าห์ เป็นพนักงานจตุสดมภ์และผู้รับสั่งได้มานั่งกำกับดูแลด้วยจนสำเร็จ

ครั้นถึงกำหนดฤกษ์ จะได้เชิญพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตรเสด็จไปลงเรือพระที่นั่งนั้น ให้สนมพลเรือนและข้าหลวงผู้จำทูลนุ่งสมปักลายใส่เสื้อครุยขาว ไปเชิญรับพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตรไปส่งขึ้นวอจตุรมุข และให้พนักงานตำรวจเชิญวอจตุรมุข มีคนหาม ๑๐ คน มาคอยเตรียมรับพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ณ ประตูพระราชวัง และให้กรมวังจัดเครื่องสูงแห่พระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร หน้า ๓ คู่ หลัง ๒ คู่ สัปทน ๔ คัน แล้วให้กรมกลาโหมเกณฑ์กลองชนะ ๓ คู่ ปี่คัน ๑ แตรงอนคู่ ๑ สำหรับแห่และประโคมพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร และให้มหาดไทยเกณฑ์พระหลวงขุนหมื่นฝ่ายทหารพลเรือน นุ่งสมปักลายใส่เสื้อครุยขวา เดินประสานมือแห่หน้า ๒๐ แห่หลัง ๑๐ รวม ๓๐ คู่ แล้วให้เกณฑ์ทหารใส่เสื้อเกราะและหมวก ถือปืนและธนูหางไก่ แห่หน้าพระหลวงขุนหมื่นซึ่งประสานมือแห่นั้น ข้างหน้า ๓๐ ข้างหลัง ๑๕ มีธงริ้วธงฉานแห่ด้วยตามธรรมเนียมไปส่งจนลงเรือพระที่นั่ง และข้าหลวงผู้จำทูล ๕ นาย กับสนมผู้เชิญตรานาย ๑ นั้น ให้เคียงข้างพระวอแห่ไปด้วยข้างละ ๓ คนจนถึงเรือพระที่นั่ง และให้พนักงานสี่ตำรวจเชิญเรือพระที่นั่งศรีสนกซึ่งแห่พระศพเข้ามาแต่เมืองนครนั้น มาตกแต่งดาดสีหลังคา และรอยเขียนเก่าซึ่งชำรุดเศร้าหมองอยู่นั้น ให้กรมช่างเขียนไปวาดเขียนตกแต่งซ่อมแปลงให้งามให้ดี ให้พนักงานกรมวังเอาม่านลงไปผูกทั้ง ๔ ด้านที่หลังคาดาดสี จะเชิญพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตรลงอยู่นั้นแล้ว

จึ่งให้เชิญพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จลงเรือพระที่นั่ง และให้มหาดไทยกลาโหมเกณฑ์คู่แห่เรือพระหลวงขุนหมื่นยาว ๗-๘-๙ วา ขึ้นไปแต่งตัวจงโอ่โถงกินเครื่องอุปโภคบริโภคตามบันดาศักดิ์ แห่หน้าเรือพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร ๑๕ คู่ แห่หลัง ๗ คู่ แห่ลงไปส่งด่านปากลัดตามธรรมเนียม และสัปทน ๔ คัน กลองชนะ ๓ คู่ ปี่คัน ๑ แตรงอนคู่ ๑ นั้น ให้แห่ประโคมไปด้วยสำหรับพระราชโองการแต่ ณ กรุงออกไปตามหัวเมืองและบ้านรายทางออกไปจนถึงเมืองนคร แล้วให้ประโคมพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ กลับเข้ามาจนถึงกรุง และให้ชาววังผู้อยู่เวรสั่งไปมหาดไทย กลาโหม ให้หมายบอกแก่เจ้าพนักงานให้ทำกิจการทั้งปวงให้ครบจงทุกพนักงาน อย่าให้ขาดค้างช้าเสียราชการพระเจ้าอยู่หัวไปแต่พนักงานใดพนักงานหนึ่งได้ตามรับสั่ง และเรื่องราวข้อรับสั่งทั้งนี้

นายจำเนียรชาววัง
นายแกว่นมหาดไทย
นายบริบาลกลาโหม
นายรัตนบรรยงชาววัง
ได้สั่งเวร นายแกว่นมหาไทย
นายพิบูลย์ชาววัง
นายแกว่นมหาดไทย
นายชำนาญชาววัง
นายแกว่นมหาดไทย

ลักษณะพระราชโองการนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตสัมภาราดิเรกเอกอุดม บรมจักรพรรดิสุนทรธรรมิกราช บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาตรัสเอาพระยานครเป็นเจ้าขัณฑสีมา นามขัติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช ครั้นพระราชโองการและตราพระครุฑพ่าห์เสด็จโดยขุนสกลมณเฑียรกรมวัง ขุนวิเศษนุชิตกรมคลัง นายจิตรบำเรอ นางบัลลังก์กุญชร แวงจัตุลังคบาท จำทูลมานี้ไซร้ ให้พระยาราชสุภาวดีผู้ช่วยราชการ และพระยาพระลวงเสนาบดี ขุนหมื่นมหาดเล็กข้าเฝ้าทั้งหลาย ตรวจจัดเครื่องราชบิรโภคสำหรับกษัตริย์ประเทศราช พระราชทานมอบโดยขนาด

ในลักษณะพระสุพรรณบัตรนั้นว่า ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานครคืนเมือง เป็นเจ้าขัณฑสิมา นามขัติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เศกไป ณ วันอาทิตย์เดือนสิบเอ็ดขึ้นสามค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก

ในลักษณะหนังสือซึ่งสนองพระราชโองการนั้นว่า ข้าพระพุทธเจ้าพระเจ้านครศรีธรรมราช ขอกราบถวายบังคมทูลพระกรุณาแด่พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระอนันตคุณอันมหาประเสร็ฐ ด้วยข้าพระพุทธเจ้า ขุนวิเศษนุชิตกรมคลัง ขุนสกลมณเฑียรกรมวัง นายเฑียรฆราชอาลักษณ์ นายจิตรบำเรอแวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชรแวงขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระราชโองการและตราพระครุฑพ่าห์ พระสุพรรณบัตร เสด็จไปพระราชทานมอบเมืองให้ข้าพระพุทธเจ้า ทรงพระนาม ขัติยราชนิคมสมมุติมไหศวรรย์ เจ้าขัณฑสิมาเมืองนครศรีธรรมราช เสร็จแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเชิญพระราชโองการและตราพระครุฑพ่าห์เสด็จกลับโดยขุนวิเศษนุชิตกรมคลัง ขุนสกลมณเฑียรกรมวัง นายเทียรฆราชอาลักษณ์ นายจิตรบำเรอแวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชรแวงขวา แวงจัตุลังคบาท เข้ามากราบถวายบังคมแด่พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบถวายบังคมพระกรุณาแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว

บรมสุจริตปฏิการาธิคุณ อดุลยดิเรกเอกสัตยา ในขัติยราชนิคมสมมุติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช ถวายอภิวาทบังคมแด่พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระอนันตคุณอันมหาประเสร็ฐ ด้วยขุนวเศษนุชิตกรมพระคลัง ขุนสกลมณเฑียรกรมวัง นายจอตรบำเรอแวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชรแวงขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระสุพรรณบัตรรัตนพระราชโองการ แลตราพระครุฑพ่าห์ เสด็จออกไปมอบพระนครศรีธรรมราชเสร็จแล้ว เชิญพระราชโองการและตราพระครุฑพ่าห์เสด็จโดยแวงจัตุลังคบาทกลับยังกรุงพระนครศรีอยุธยา ขอกราบถวายบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระบรมนารถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว.

..........................................................................


สำเนากฎ เรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรี


กฎให้แก่พระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาส พระไชยนาท เสนาบดีข้าหลวงผู้อยู่รักษาเมืองนครศรีธรรมราช และพระยากลาโหม พระยาโกษา พระอุไทยธรรม์ พระส้วย เสนาบดีข้าเฝ้าผู้จะออกไปทำราชการครั้งนี้ ด้วยทรงพระกรุณาดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าครั้งพระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแต่ก่อน ฝ่ายกรมการพลเมืองๆนครหาที่พึ่งไม่ได้ ยกปลัดเมืองขึ้นผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสิมาก็ได้พึ่งพาอาศัยสัปยุทธชิงชัยชนะแขกข้าศึก ถ้าหาไม่ขัณฑสิมาก็จะระส่ำระสายเป็นไป ความชอบมีอยู่กับแผ่นดิน ฝ่ายศักดิกฤษฎานุภาพคงขัติยราชผู้หนึ่ง ครั้งนี้ราชธิดาก็ได้ราชโอรส ฝ่านพระยานครก็ได้ไปตามเสด็จพระราชดำเนิน ช่วยทำการยุทธชิงชัยเหมมันพม่าข้าศึก ครั้นจะเอาไว้ให้บังคับพลช่วยการแผ่นดินพระนครศรีอยุธยาก็เป็นฝาเป็นตัวอยู่เสร็จสิ้น ประการหนึ่งก็มีทาสกรรมกรแต่ ๒๐ - ๓๐ คนหาต้องการที่อยู่ไม่ ฝ่ายเจ้านราสุริยวงศ์สวรรค์ครรไลควร ให้ไปบำรุงพระเกียรติยศสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้านราสุริยวงศ์สืบไป

แลซึ่งจะบำรุงพระเกียรติยศนั้นฝ่ายพระยานครเคยผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสิมาอยู่แล้ว ก็ให้ผ่านแผ่นดิน้ชเป็นเจ้าขัณฑสิมา ฝ่ายซึ่งผู้ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสิมาสืบมาแต่ก่อนนั้นเหมือนกนักับพระยาประเทศราช ประเวณีดุจเดียวกัน ให้พระราชทานราชทรัพย์ช้าง ม้าต้น เครื่องราชาโภค พระมาลาอย่างฝรั่งสีเหลือง พระเกี้ยวทองคำ พระยอดทองคำ พระยิกาทองคำหนักทอง ๒ ตำลึง มีขนนกการเวกองค์ ๑ ฉลองพระองค์ทรงประพาสสีเหลือง สังเวียนบังพระกรฉลองพระสอ หนังทอง ๒ ตำลึง ๑ บาท ๑ เฟื้อง ฉลองพระองค์อย่างน้อย เข้มขาบก้านแย่งดุมผ้า ๑ ฉลองพระองค์ญี่ปุ่นพื้นโหมดดอกเครือ ๑ สององค์ ภูษษลายหกคืบบัวผันพื้นขาว ๑ ภูษาลายหกคืบช่องกระจนคอนกขาว ๑ สององค์ ภูษาคลุมบรรทมเทพประนมสี่ทิศซับแพรกรวยแดงองค์ ๑ สนับเพลาเชิงงอนองค์ ๑ พานพระศรีทองคำหนัก ๑๘ ตำลึง ๓ บาท เครื่องในทองคำ ตลับภูทั้งสร้อยหนัก ๓ บาท ๑ สลึง เต้าปูนหนัก ๑ ตำลึง ๑ บาท จอกเฟืองมีเชิงหนัก ๓ บาท ๒ สลึง จอกเฟืองน้อยหนัก ๒ บาท ๓ สลึง ผอบใหญ่หนัก ๑ ตำลึง ๑ สลึง ผอบน้อยหนัก ๑ ตำลึง ๑ เฟื้อง ด้ามมีดหมากหนัก ๑ บาท ๑ สลึง ๗ สิ่งหนักทอง ๖ ตำลึง ๑ เฟื้อง พระเต้าทองคำหนัก ๑๑ ตำลึงองค์ ๑ บ้วนพระโอษฐ์ทองคำหนัก ๓ ตำลึงองค์ ๑ พานเงินจำหลักปากกะจับรองพระภูษาหนัก ๒ ชั่ง ๒ ตำลึง ๓ บาท องค์ ๑ สุพรรณภาชนะเงินของคาว ๓ เท้า ปากจำหลักอย่างญี่ปุ่นหนัก ๓ ชั่ง ๕ ตำลึงหนึ่ง สุพรรณภาชนะเงินของเสวย ๔ เท้า ปากจำหลักอย่างญี่ปุ่นหนัก ๑ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาทหนึ่ง บ้วนพระโอษฐ์เงินอย่างเทศหนัก ๑ ชั่ง ๓ ตำลึง ๒ บาทหนึ่ง พระกลดองค์ ๑ พรมที่ ๕ คืบผืน ๑ เงินตรา ๓๐ ชั่ง ฉลองพระบาทอย่างเทศหักทองขวางคู่ ๑ พระเสลี่ยงงาองค์ ๑ เรือพระที่นั่งครุฑดาดสีลำ ๑ พระแสงดาบญี่ปุ่นด้ามกัลปังหาส้นทองคำปลอกทองคำองค์ ๑ พระแสงหอกซัดด้ามแก้วปลอกทองคำประดับพลอย ๒ องค์ พระแสงปืนส้นคร่ำทอง ๑ พระแสงปืนยาว ๔ คืบคร่ำทอง ๑ สององค์ พระแสงปืนคาบศิลายาวท้ายพระที่นั่ง ๑๐ องค์ ออกไปผ่านขัณฑสิมานาม ขัติยราชนิคมสมมุติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช

ซึ่งพระนามนั้นทรงพระพระสุพรรณบัตร สุวรรณบัตรรัตนราชนามพระราชทานใส่กล่องทอง กล่องเงิน กล่องงา ถุงแพรใส่พานแว่นฟ้ามีถุงย่นปิดตราประจำขี้ผึ้งออกมาด้วยแล้ว แลเครื่องราชาโภชสิ่งใดมิครบนั้นให้พระเจ้านครศรีธรรมราช เสนาบดีทำนุบำรุงจัดแจงขึ้นจงบริบูรณ์ และซึ่งลูกหลวง เสนาบดีข้าเฝ้ามหาดเล้กเมืองนครได้เข้ามาทำราชการ ณ กรุงนั้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานตามยศลูกหลวงเข้ามาทำราชการด้วยนั้น ให้รับพระราชทานฉลองพระองค์อย่างน้อยเข้มขาบก้านแย่งพื้นแดงดุมตาด ๑ เสื้อก้านแย่งกระบวนจีนพื้นม่วงดุมผ้า ๑ ผ้าพ้วยห่มนอนลายเขมราษฎร์พื้นแดงซับในแพร ๑ ถาดหมากคนโทก้าไหล่ทองอย่างเจ้าราชนิกูลสำรับ ๑ พรมน้อยสี่คืบผืน ๑ เงินตรา ๕ ชั่ง ปืนรองทรงยาว ๔ คืบคร่ำทองรางคึ่งท่อน ๑ ปืนรองทรงส้นท้ายหอยโข่งคร่ำทอง ๑ สองบอก เรือรบลำ ๑ ซึ่งเสนาบดีข้าเฝ้าและมหาดเล็กได้รับพระราชทาน

พระยากลาโหม ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง
พระยาโกษา เสื้อญี่ปุ่นผืน ๑ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง เรือรบลำ ๑
พระอุทับธรรม์ เสื้อเข้มขาบสีจันผุดดอกผืน ๑ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง เรือรบลำ ๑
พระส้วย ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๓ ชั่ง
นายกึงมหาดเล็ก ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๑ ชั่ง
นายเรืองมหาดเล็ก ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๑ ชั่ง
นายบุนนากมหาดเล็ก ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เงินตรา ๑ ชั่ง
นายนรสีห์ นายเพ็ง นายคลัง นายศรีรักษ์ นายบุญมี นายนากมหาดเล้ก ๖ คน เงินคนละ ๑ ชั่ง เป็นเงิน ๖ ชั่ง
กลับคืนออกมาทำราชการด้วยพระเจ้านครศรีธรรมราชตามรับสั่ง ให้พระเจ้านครศรีธรรมราชบำรุงจัดตั้งไปทำราชการโดยสมควร

ประการหนึ่งราชาโภคสิ่งใดไม่ครบ ให้เสนาบดีตักเตือนเจ้าพนักงานบำรุงขึ้นจงบริบูรณ์

อีกประการหนึ่งควรให้พระเจ้าขัณฑสิมาบำรุงฝ่ายน่าฝ่ายในให้สรรพไปด้วยสุรางคนาง ปรางปราสาทราชเรือนหลวงน้อยใหญ่ในนอกพระนครขอบขัณฑสิมา จงพิจิตรรจนาไปด้วยโยธาข้าทหารให้เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีในพิภพแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบไป

ประการหนึ่งควรให้ตรวจตราตกแต่ง ซ่อมแปลงกำแพงค่ายคูประตูเมืองพ่วงรอหอรบเชิงเทิน และบำรุงซ่องสุมหมู่โยธาทหารให้ชำนิชำนาญในการยุทธไว้จงสรรพ มีราชการโดยเสด็จฯการสงคราม ควรพระเจ้านครศรีธรรมราชติดตามโดยเสด็จฯ ถ้าพระเจ้านครศรีธรรมราชพฤฒิภาพชราโดยเสด็จฯมิได้ ควรให้แต่งฝ่ายหน้าเสนาบดีคุมไพร่พลโยธาข้าทหารติดตามโดยเสด็จฯช่วยราชการ ถ้าและฝ้ายหน้าเสนาบดีทวยหาญหมู่ใดมิได้ปลงใจลงช่วยราชการแผ่นดิน ย่อท้อต่อข้าศึก คบคิดกันหลบหลีกหนีประการใด ควรให้ลงพระราชอาญาโดยพระอัยการ

อีกประการหนึ่งควรพระเจ้าขัณฑสิมาปลงราชหฤทัยเที่ยงลงในจตุปาริสุทธศีล บังคับบัญชากิจการราชการแผ่นดินตามบุรพประเพณีกษัตริย์สืบมา อย่าอาสัจอาธรรม์

อีกประการหนึ่งควรบำรุงคันถธุระวิปัสนาธุระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้สมณพราหมณาจารย์กุลบุตรเล่าเรียน จะได้บุญแห่งอาตมสืบไป

อีกประการหนึ่งควรตรวจตราดูพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระวิหารการเปรียญวัดวาอารามแห่งใดชำรุดปรักพักพังเศร้าหมองอยู่นั้น ควรซ่อมแปลงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ขึ้นให้รุ่งเรือง ก็จะเป็นบุญแห่งอาตมภาพสืบไป ว่ามาทั้งหลายนี้เป็นปลาย ควรปลงราชหฤทัยลงอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลเป็นอาท ให้กอบด้วยศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เป็นปลายมาดหมายอภิญญาอยู่ในไตรสรณาคมน์ ก็อาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งภัยอุปัทวทั้งปวง

ประการหนึ่งปืนเป็นกระทู้การสงคราม ถ้าคิดอ่านขวนขวายเอาเงินจัดซื้อมิทันการ กว่าจะบอกเข้ามาขอเงินกรุงออกไปท่าทางไกล ถ้าขัณฑสิมาผู้ใดมีสติกำลังมั่งคั่งพอจะอาศัยได้ ให้หยิบยืมเงินทดรองจัดซื้อปืนส่งเข้ามา จึงจะพระราชทานเงินออกไปใช้ให้ต่อภายหลัง ฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชนั้น ก็ให้จัดแจงแก้ไขจัดซื้อไว้ในพระนครให้ได้จงมาก มีราชการปลายด่านแดนขัดสนประการใด ให้บอกหนังสือเข้ามาทรงพระกรุณาจะให้ยกกองทัพกรุงออกไปช่วย จึงจะได้อาศัยสะดวก

อีกประการหนึ่งส่วยสาอากรในเมืองนคร แขวงหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่เมืองนคร สิ่งใดซึ่งเป็นพระราชทรัพย์สำหรับเข้าพระคลังหลวง ณ กรุงค้างเกินอยู่เก่าใหม่มากน้อยเท่าใดนั้นควรจะส่งเข้ามาก็ให้ส่ง ควรมิส่งเข้ามา ขัดสนจะขอไว้ก็ให้บอกหนังสือเข้ามา จึงจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้

ประการหนึ่งคลองท่าข้ามซึ่งจะออกไปทะเลฝ่ายตะวันตก มีตราออกไปแต่ก่อนให้ขุดชำระยังมิสำเร็จนั้น ให้ดูท่วงทีมาดหมายไว้ในใจ จึงจะให้มีตราออกไปต่อภายหลัง

ประการหนึ่งเมืองไทรเมืองตานีเป็นข้าขัณฑสิมาพระนครศรีอยุธยา มิได้มาช่วยการสงคราม เสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนปรึกษา ให้มีตราโกษาธิบดีออกไปลองใจยืมเงินเมืองละพันชั่ง เพื่อจะดูน้ำใจเมืองไทรเมืองตานี และตราโกษาธิบดีนั้นก็ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ควรให้พระเจ้านครศรีธรรมราช เสนาธิบดีคิดอ่านอุบายถ่ายเทว่ากล่าว เมืองก็ให้ได้ ทั้งเงินก็ให้ได้ ราชการก็อย่าให้เสีย จึงจะเป็นเกียรตยศความชอบแก่พระเจ้านครศรีธรรมราชสืบไป ถ้าได้เงินมาหาต้องการที่จะเป็นหนี้ไพร่ฟ้าประชากรซื้อปืนไม่ ให้เอาเงินใช้ค่าปืนไว้สำหรับเมืองนครศรีธรรมราชบ้าง ส่งเข้ามาเป็นกำลังราชการพระนครศรีอยุธยาบ้าง ถ้าเห็นว่าจะแต่งเรือไปจัดซื้อปืนก็ขัดสน

อีกประการหนึ่งสำเภาลูกค้าก็มิสู้เข้าออกเห็นหาได้ปืนเป็นกำลังไม่ จะเนิ่นช้าไป ถ้าเห็นจะเป็นประการดังนี้ ให้ส่งราชทรัพย์นั้นเข้ามา ณ กรุง จัดซื้อปืนได้จึงจะแบ่งออกไปให้เป็นกำลังเมืองนครศรีธรรมราชบ้าง

ประการหนึ่งพระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาส พระชัยนาท พระฉอำข้าหลวง และรี้พลกรุงซึ่งออกไปทำราชการ มีบุตรภรรยาอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชนั้น ถ้าต้องการจะเอาไว้ช่วยราชการพลางก่อน ก็ให้บอกเข้ามาขอไว้ ถ้าไม่ต้องการที่จะอยู่แล้ว ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์ที่จะให้เข้ามาตามเสด็จพระราชดำเนิน ควรให้พระยาราชสุภาวดี พระศรีไกรลาส พระชัยนาท พระฉอำ และรี้พลทั้งปวงยกบุตรภรรยาพาครอบครัว เข้ามาทำราชการ ณ กรุงให้สิ้น เสร็จราชการแล้ว พอใจจะออกไปทำราชการเมืองนคร ก็จะทรงพระกรุณาให้ออกไปตามสมัครต่อภายหลัง

เรื่องราวที่กล่าวทั้งนี้โดยประมาณ ถ้าราชการผันแปรประการใด ควรให้พระเจ้านครศรีธรรมราช และเสนาบดีข้าเฝ้าคิดอ่านปรึกษาหารือ ดำริประพฤติการผันแปรโดยราชปัญญาให้ชอบด้วยการขนบแผ่นดินจงทุกประการ อย่าให้เสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงจะเป็นเกียรติยศศักดิศรีในพิภพแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบไป

บัดนี้ให้เจ้าพระยาอินทวงศาอัครมหาเสนาธิบดีคุมเรือรบเรือไล่ถือพล ๕๐๐ และขุนวิเศษนุชิตกรมคลัง ขุนสกลมณเฑียรกรมวัง นายเทียรฆราชอาลักษณ์ และนายจิตรบำเรอแวงซ้าย นายบัลลังก์กุญชรแวงขวา แวงจัตุลังคบาท จำทูลพระสุพรรณบัตรรัตนราชโองการ และตราพระครุฑพ่าห์ ออกมาพระราชทานมอบเมืองให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช รับราชการผ่านแผ่นดินเมืองนครสืบไป ถ้าและเจ้าพระยาอินทวงษาออกมาถึงเมืองนครแล้ว เมืองนครสงบอยู่ หาราชการศึกมิได้ ให้ซับทราบสอดฟังเข้ามาข้างฝ่ายกรุง ถ้าได้ข่าวว่ากรุงมีการศึกให้เร่งรีบเข้ามาช่วยราชการให้ทันท่วงที ถ้าฝ่ายกรุงสงบอยู่หาราชการศึกมิได ให้เจ้าพระยาอินทวงษาอยู่ชำระว่ากล่าว เร่งรัดส่วยสาอากรในเมืองนครแว่นแคว้นหัวเมืองขึ้นแก่เมืองนคร แต่บรรดาซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ จะได้เข้าพระคลังหลวง ณ กรุง ค้างเกินอยู่เก่าใหม่มากน้อยเท่าใดนั้น ให้เจ้าพระยาอินทวงษาเร่งรัดได้มากน้อยเท่าใด ควรจะส่งเข้ามาก็ให้ส่งเข้ามา ควรมิส่งเข้ามา พระเจ้านครศรีธรรมราชขัดสนจะขอไว้ให้บอกเข้ามาขอไว้ จึงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้

ประการหนึ่งปืนพม่า ๑๐๐ ปืนยักตรา ๒๐๐ ซึ่งให้ส่งออกไปส่งพระเจ้านครนั้น ถ้าออกไปถึงเมืองนครแล้ว ปืนพม่า ๑๐๐ นั้นให้พระราชทานไว้สำหรับเมืองนคร แต่ปืนยักตรา ๒๐๐ นั้น ถ้าเมืองนครสงบอยู่หาราชการศึกมิได้ พระเจ้านครพอจะจัดปืนอื่นสำรองไว้สำหรับเมืองได้ ให้ส่งปืน ๒๐๐ นั้นกลับคืนเข้ามา ถ้าเมืองนครยังมิราบคาบ จะขอไว้สำหรับราชการก่อนก็ให้เอาไว้เถิด

ให้ผู้รักษาเมืองผู้รั้งกรมการปลูกหอรับเชิญพระราชโองการขึ้นประทับ แต่งการสมโภชกราบถวายบังคมตามธรรมเนียม แล้วให้รับส่งต่อกันออกไปกว่าจะถึงเมืองนคร ตามอย่างพระราชโองการเสด็จไปมอบเมืองทุกครั้ง อย่าให้เสียราชการ เสียพระยศพระเกียรติไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถ้าและพระราชโองการเสด็จถึงเมืองนครแล้ว ให้เสนาบดีพระหลวงขุนหมื่นเข้าเฝ้า ผู้รักษาเมืองนครแต่งการรับสู่พระราชโองการ และทำการสมโภชกราบถวายบังคม พระราชทานมอบเมืองแก่พระเจ้านครตามตำรากฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ให้เป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีไว้สำหรับแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบไปจงทุกประการ

กฎไว้ให้ ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก

วันจันทร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีวอกอัฐศก เพลาเช้า เสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งท้องวพระโรง หมื่นพิพัฒน์โกษาได้เอาร่างกฎนี้อ่านกราบทูลพระกรุณาถวายแต่ต้นจนสำเร็จแล้ว ทรงพระกรุณาฯให้ตกแซกวงกาโดยพระราชดำริทรงแต่งจนสำเร็จแล้ว ทรงพระกรุณาให้อ่านแต่ต้นจนจบอีกครั้งหนึ่งแล้ว ทรงพระกรุณาสั่งว่า เรื่องราวกฎซึ่งทรงแต่งนี้เสร็จดีอยู่แล้ว ให้ลงกระดาษตามร่างนี้เถิด แลทรงพระกรุณาสั่งซึ่งจะได้เชิญพระราชโองการ พระสุพรรณบัตร คราพระครุฑพ่าห์ออกไปพระราชทานมอบเมืองแก่พระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งนี้ เป็นกฎหมายอย่างธรรมเนียมได้เคยทำมาแต่ก่อนประการใด ให้ทำเป็นกฎหมายเขียนรงลงไว้จงงามดี แล้วให้เอากราบทูลพระกรุณาถวาย แล้วให้เอาไว้เป็นกฎหมายอย่างธรรมเนียมสำหรับแผ่นดินสืบไป เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์
พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงคราม
หม่อมเจ้าประทุมไพจิตร
หม่อมเจ้ามงคล
เจ้าพระยาอนุวงศ์ราชา
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช
เจ้าพระยามหาสมบัติ
เจ้าพระยาอินทวงศา
เจ้าพระยาราชนายก
พระยาราชทูต
พระสมบัติบาล
พระศรีมโหสถ
พระยาจักรี
พระยามหาเสนา
พระยายมราช
พระยาพิชัยไอศวรรย์
พระยาสุรเสนา
พระยาธรรมไตรโลก
พระยาพิชัยราชา
พระยาธิเบศร์บดี
พระยาพิจิตร
พระครูพิเชต
พระมหาอำมาตย์
พระราชสุภาวดี
พระวิชิตณรงค์
พระท้ายน้ำ
ขุนหลวงพระไกรสี
ขุนไชยอาญา

เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ด้วย สมเด็จพระสังฆราช พระพุทธโฆษา พระอาลักษณ์ ก็เข้าเฝ้าถวายพระพรอยู่ด้วย

วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกอัฐศก เพลาเช้า ได้ส่งกฎฉบับนี้ให้แก่พระยาโกษา พระอุไทยธรรม์ นครรับไป ณ ศาลาลูกขุนในพระราชวังแล้ว

คิดค่าตั้ง ค่าตรา ค่าธรรมเนียม ซึ่งเจ้านครจะได้ออกไปผ่านเมืองครั้งนี้ และเจ้าพนักงานทั้งปวงจะได้รับพระราชทานทวีขึ้นเท่าตัวกับเป็นเจ้าพระยานคร เป็นเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท ในนี้
ค่ารับสั่ง ๔ ต่อ ๆ ละ ๖ ตำลึง เป็นเงิน ๑ ชั่ง ๔ ตำลึง
ค่าทูลฉลอง ๑๘ ตำลึง
ค่าตั้ง ๒๐ ชั่ง
ค่าตรา ๑๐ ชั่ง

กรมแสงในซ้ายได้รักษาตราพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ แล้วได้เชิญออกปิดพระราชโองการ และจำลองตราพระครุฑพ่าห์ ๓ ชั่ง

อาลักษณ์ได้แต่งพระราชโองการ และได้จารึกพระราชโองการพระสุพรรณบัตร เงิน ๓ ชั่ง บายศรีซ้ายขวา ๒ สำรับ ศีรษะสุกร ๑ เทียนเงินคู่ ๑ เทียนทองคู่ ๑ สองคู่ อาลักษณ์ได้ทำเอง ผ้าขาวสำหรับนุ่งห่มจารึกพระราชโองการสำรับ ๑ เบิกพระคลังวิเศษ

สนมผู้ได้เชิญตราพระราชโองการ ตราพระครุฑพ่าห์ ปต่พระที่นั่งมาขึ้นพระมณฑปแห่ลงไปส่งถึงพระที่นั่ง ๑ ชั่ง

ค่ากฎสำหรับผู้ผ่านเมือง ๓ ตำลึง

ค่าตรานำให้หัวเมืองรายทางปลูกหอรับพระราชโองการ และทำกิจการทั้งปวง ๗ ตำลึง ๑ บาท

คนหามพระมณฑปพระราชโองการ ๑๐ คน คนถือเครื่องแห่พระราชโองการ ๑๐ คน ถือสัปทนสำหรับพระราชโองการ ๔ คน กลองชนะ ๓ คู่ ๖ คน ปี่สำหรับกลองชนะคน ๑ แตรงอนคู่หนึ่ง ๒ คน รวม ๓๓ คน ๆ ละ ๒ บาท เงิน ๑๖ ตำลึง ๒ บาท

ขุนพิศณุกรรม์ กรมช่างเขียนได้เขียนเรือพระที่นั่งสำหรับทรงพระราชโองการ บายศรีหัวท้าย ๒ สำรับ ศีรษะสุกรคู่ ๑ เทียนเงินคู่ ๑ เทียนทองคู่ ๑ สองคู่ ผ้าขาวกาสานุ่งห่มเขียนเรือพระที่นั่งสำรับ ๑ ขุนพิษณุกรรม์ได้ทำเอง เงินกำนันหัว ๓ ตำลึง ท้าย ๓ ตำลึง

พันเงิน พันทองได้ค่าพระราชทานพระเสลี่ยง ๓ ตำลึง พระกลด ๓ ตำลึง รวม ๖ ตำลึง

คิดสิริเข้ากันเบ็ดเสร็จเป็นเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท ยกค่าตั้ง ๒๐ ชั่ง ค่าตรา ๑๐ ชั่ง รวม ๓๐ ชั่งเสียแล้ว คงจะได้เสียค่าเบ็ดเสร็จ นอกค่าตั้งค่าตราเป็น ๑๐ ชั่ง ๑๑ ตำลึง ๓ บาท

ถ้าเป็นแต่เจ้าพระยานครหักลงกึ่งหนึ่ง คงเรียกกึ่งหนึ่ง ทั้งค่าตั้งค่าตราและค่าเบ็ดเสร็จทั้งปวง สิริเข้ากันเป็นเงิน ๒๐ ชั่ง ๕ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ยกค่าตั้ง ๑๐ ชั่ง ค่าตรา ๕ ชั่ง รวม ๑๕ ชั่งเสียแล้ว คงจะได้เสียแต่ค่าเบ็ดเสร็จนอกกว่าค่าตั้งค่าตราเป็นเงิน ๕ ชั่ง ๕ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง ขอเดชะ

วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีวอกอัฐศก เพลาบ่าย ๑ โมงเศษ เสด็จออก ณ ตำหนักแพ หมื่นพิพัฒน์โกษากราบทูลพระกรุณาว่า คิอเงินค่าธรรมเนียมพระเจ้านครจะได้ออกไปผ่านเมืองนครครั้งนี้ ทั้งค่าตั้งค่าตราค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานทั้งปวงเบ็ดเสร็จเข้ากัยเป็นเงิน ๔๑ ชั่ง ๓ บาท ยกค่าตั้ง ๒๐ ชั่ง ค่าตรา ๑๐ ชั่ง รวม ๓๐ ชั่งเสียแล้ว คงแต่ค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานทั้งปวง ๑๑ ชั่ง ๓ บาท และบัดนี้เจ้าพนักงานทั้งปวงปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า พระเจ้านครขัดสนอยู่ รับพระราชทานค่าธรรมเนียมกึ่งหนึ่งเป็นเงิน ๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท ๒ สลึง จึงทรงพระกรุณาฯสั่งว่า ครั้นจะเรียกเอาลดลงแต่กึ่งหนึ่ง กฎหมายอย่างธรรมเนียมจะฟั่นเฟือนไป อนึ่งเจ้าพนักงานทั้งปวงจะว่ากล่าวติเตียนว่า พระเจ้านครออกไปผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช เงินค่าธรรมเนียมของเราก็ติดอยู่ พระเจ้านครจะเสียเกียรติยศไป อย่าให้ลด ให้เจ้าพนักงานเอาค่าธรรมเนียมจงเต็ม อย่าให้เขาว่ากล่าวติเตียนได้ จึงจะเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีในพิภพแผ่นดินเมืองนครสืบไป และกฎหมายค่าธรรมเนียมทั้งนี้ให้ลงรงไว้เป็นกฎหมายอย่างธรรมเนียมสำหรับแผ่นดินสืบไป เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยามหาสมบัติ เจ้าพระยาอินวงศา พระยาราชนายก พระยาจักรี พระยายมราช พระยารามัญวงศ์ พระท้ายน้ำ พระมหาเทพ ทั้งพระเจ้านครเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่อยู่ด้วย

วันอังคาร เดือน ๑๑ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกอัฐศก ได้แจกเงินค่าธรรมเนียมพระเจ้านครเสียให้พนักงานทั้งปวงเป็นส่วน

นายพิมาย ชาววัง ๓ ตำลึง
นายจำเนียร ชาววัง ๓ ตำลึง
นายแกว่นมหาดไทย ๖ ตำลึง
นายฤทธินายเวรรับกลาโหม ๓ ตำลึง
นายวิสูตรมณเฑียร กลาโหม ๓ ตำลง
นายบริบาล กลาโหม ๓ ตำลึง
หลวงราชมานู หมื่นเสน่ห์ราชา ชาวปี่ ๑ กลองชนะ ๖ เจ็ดคน ๓ ตาลึง ๒ บาท แตร ๒ คน ๑ ตำลึง
คนหามพระวอ นายศรีนายเวร หมื่นจ่า ๑๐ คน ๕ ตำลึง
ชาวอภิรมย์ถือเครื่องสูง นายเรืองภูดาษมารับ ๑๐ คน พันเงิน ๕ ตำลึง พนักงานพระเสลี่ยง ๓ ตำลึง
พันทองพนักงานพระกลด นายเรืองภูดาษมารับ ๓ ตำลึง
สนมผู้เชิญพระราชโองการ หลวงราชบำเรอ ขุนจันทาทิตย์ ๓ ชั่ง
ค่าเขียนเรือทรงพระราชโองการ ขุนพิษณุกรรม์ ๖ ตำลึง
คนถือสัปทน หมื่นวิสูตรรับ ๒ บาท
ค่าตรานำ ๗ ตำลึง ๑ บาท
อาลักษณ์ ขุนมมหาสิทธิ ๓ ชั่ง
กรมแสงใน หลวงราชโกษา ๓ ชั่ง


....................................................................................................................................................


Create Date : 23 มีนาคม 2550
Last Update : 23 มีนาคม 2550 9:36:36 น. 2 comments
Counter : 4592 Pageviews.  
 
 
 
 
เรื่อง ตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)


สารตรา ท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม ให้มาแก่ผู้ว่าที่พระศรีราชสงคราม รามภักดีปลัด หลวงภักดีราชยกกระบัตร หลวงศรีสุรินทรบดี หลวงเทพเสนาสัสดี หลวงไชยประชาสัสดี และกรมการทั้งหลาย

ด้วยเสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนทั้งปวง ปรึกษากราบทูลพระกรุณาว่า เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนนั้น ถ้าเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่มีบำเหน็ดความชอบในราชกิจ สมเด็จบรมบพิตรปลูกเลี้ยงให้ออกไปรั้งเมืองครองเมือง มีแต่ปลัดยกกระบัตรกรมการรับราชการตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี พระยาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอบไปด้วยโมหะโลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบโดยขนบบุราณ ตั้งให้เป็นถึงเจ้านคร มีอรรคมหาเสนาจัตุสดมภ์ มหาดเล็ก ต้องชื่อข้าเฝ้าเทียมพระเจ้าอยู่หัว จะสั่งกิจราชการบัตรหมายประการใดกว่ารับสั่ง ดุจดังอนุวงษ์ราชวงษ์ก็ดี มีแต่รับสั่ง ตั้งแต่เจ้ากรมปลัดกรมหลวงขุนหมื่นนายเวรปลัดเวร หามีเสนาบดีเหมือนดังนี้ไม่ ซึ่งตั้งให้พระปลัดเป็นเจ้านั้นผิดประเพณีแต่ปางก่อน

ฝ่ายผู้ตั้งผู้แต่งประพฤติการผิดต่างๆมิได้เป็นยุติธรรม ฉ้อไพร่ฟ้าประชากรๆประนอมพร้อมกัน จับประหารชีวิตเสียแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาผ่านพิภพเสนามุข ลูกขุนปรึกษาให้เจ้านครถอยยศลดเสนาบดีลงเสีย ฝ่ายเจ้านครก็หามีความชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อแผ่นดินไม่ แต่หากว่าทรงพระเมตตาเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่ ประหนึ่งจะมีความคิดเห็นผิดและชอบ จะตั้งใจทำราชการแผ่นดินโดยสจริต จึงให้คงว่าราชการรั้งเมืองครองเมืองสืบมา แล้วทรงพระกรุณาสั่งจำเพาะให้เจ้านครเกณฑ์เลขเข้ามาร่อนทอง เจ้านครมิได้จัดแจงกะเกณฑ์เลขให้ครบตามเกณฑ์ ให้ข้าหลวงไปสักเลขเมืองนคร ก็ได้เลขสักน้อยต่ำลงกว่าจำนวนสักแต่ก่อน แล้วมีตรารับสั่งให้หาเจ้านครเข้ามาคิดราชการถึงสองครั้งก็บิดพลิ้วมิได้เข้ามา เห็นว่าเจ้านครหาจงรักภักดีสวามิภักดิ์ขวนขวายทำราชการสนองพระเดชพระคุณไม่ ไม่เกรงกลัวพระราชอาญา เจ้านครผิด ประการหนึ่งเจ้านครก็แก่พฤฒิภาพ เกลือกมีการณรงค์สงครามทำมิได้จะเสียราชการไป จะให้เจ้านครคงว่าราชการเมืองนครสืบไปมิได้ ละไว้จะเป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน ให้ยกเจ้านครออกเสียจากเจ้านครศรีธรรมราช เอาตัวเข้ามาใช้ราชการ ณ กรุง

และเจ้าพัฒน์เมืองนครนั้นสัตย์ซื่อมั่นคงจงรักภักดีโดยสุจริต ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมีความชอบมาแต่ก่อน ขอพระราชทานให้เจ้าพัฒน์ออกไปว่าราชการรักษาเมืองนครสืบไป จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ลูกขุนปรึกษาชอบด้วยราชการและขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณีอยู่แล้ว ให้เอาเจ้าพัฒน์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ว่าราชการรักษาเมืองนครสืบไปตามลูกขุนปรึกษานั้นเถิด จึงตั้งเจ้าพัฒน์เป็น เจ้าพระยานครศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราชออกมาว่าราชการบ้านเมืองสำเร็จกิจสุขทุกข์ของราษฎร ด้วยพระปลัดกรมการเมืองนครศรีธรรมราช ตามพระราชกำหนดกฎหมายขบนธรรมเนียมสืบๆมาแต่ก่อน จงพร้อมมูลกันให้เป็นเอกจิตเอกฉันท์น้ำหนึ่งใจเดียว อย่าให้ถือเปรียบแก่งแย่งให้เสียราชการ ให้ราษฎรได้ความยากแค้นเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และให้พระปลัดกรมการฟังบังคับบัญชาเจ้าพัฒน์ผู้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช แต่ซึ่งชอบด้วยราชการพระราชกำหนดกฎหมายขนบธรรมเนียม ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชมีน้ำใจโอบอ้อม เมตตากรุณาแก่สมณะชีพราหมณ์ไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข อย่าให้มีความโลภโลโภเบียดเบียนฉ้อกระบัตรอาณาประชาราฎร ให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่ง ถึงเทศกาลพระราชพิธีตริสสาทร ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระหลวงขุนหมื่นกรมการชาวด่านส่วยซ่องกองช้างตราภูมคุ้มห้าม พร้อมกันกราบถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ณ วัดมหาธาตุเมืองนคร ตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมแต่ก่อนสืบๆมา ถ้าผู้ใดขาดมิได้มาถือน้ำ ก็ให้บอกส่งตัวเข้าไป ณ กรุง จะเอาตัวเป็นดทษตามบทพระอัยการ อนึ่งถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช แต่งดอกไม่เงินดอกไม่ทองเครื่องราชบรรณาการเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อนจงทุกงวดทุกปี อย่าให้ขาดได้ อนึ่งกรมการที่หาตัวมิได้ ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชปรึกษาด้วยกรมการ จัดเอาผู้มีชื่อซึ่งมีสติกำลังมั่งคั่งซื่อสัตย์มั่นคงดีนั้น จัดตั้งขึ้นไว้ให้ครบตามตำแหน่งที่มีราชการจะได้กะเกณฑ์เอาราชการสะดวก จัดได้เป็นที่ใดก็ให้บอกเข้าไปยังลูกขุน ณ ศาลา เอากราบทูลพระกรุณาให้มีตราเจ้าพนักงานตั้งออกมาตามธรรมเนียม

อนึ่ง นอระมาด งาช้าง ดีบุก ปีกนก เป็นของตอบแทนลูกค้าต่างประเทศ ดินประสิวเป็นกระทู้ราชการ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชกำชับว่ากล่าวห้ามปรามแก่เสมียนทนาย พรรคพวกสมกำลังบ่าวไพร่สมัครสมาอาศรัย อย่าให้คบกันทำข่มเหงฉ้อกระบัดทำกรรโชกราษฎร เป็นโจรผู้ร้ายปล้นสดมฉกลักช้างม้าโคกระบือเครื่องอัญมณีของสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร ฆ่าช้างเอางาเอาขนาย ตัดต้นไม้อันมีผล ทำลายพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม ทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่ มีผู้มาร้องฟ้องพิจารณาเป็นสัตย์จะเอาผู้กระทำผิดเป็นโทษ และกฎหมายสำหรับที่บังคับบัญชาว่าราชการเมืองนั้น ได้ปิดตราพระคชสีห์ส่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเอาออกมาด้วยแล้ว

ครั้นลุสารตรานี้ไซร้ ก็ให้ผู้ว่าที่พระศรีราชสงครามรามภักดีปลัด หลวงภักดีราชยกกรบัตร หลวงศรีสุรินทรบดี หลวงเทพเสนาสัสดี หลวงไชยประชาสัสดี และกรมการ เรียกเอาตราจำนำกฎหมายกิจราชการสารบัญชีกระทงความเก่าใหม่ บโทนคนใช้ไร่นาส่วยสาอากรบรรดามีตามตำรา ๑๒ เดือน สำหรับที่ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชสืบมาแต่ก่อน และสิ่งใดซึ่งเป็นของนราสุริยวงษ์เจ้านครรับต่อเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี เมื่อช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มอบส่งให้แก่เจ้าพัฒน์ผู้เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชใหม่นี้จงเสร็จสิ้นเชิง และให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชใหม่นี้รับราชการตามพนักงานตามพระราชกำหนดกฎหมาย ขนบ ธรรมเนียม พิกัด อัตราสืบมาแต่ก่อน ให้ชอบด้วยราชการจงทุกประการ อย่าให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และให้ปลัดยกกระบัตรพระหลวงขุนหมื่นกรมการ ทำตามท้องตรารับสั่งมานี้จงทุกประการ

สารตรามา ณ วันอังคารเดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมโรงศก

วันพุธเดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมโรงศก เพลาเช้า ๓ โมงเศษ เสด็จออกขุนนาง ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระยาสุรเสนาได้เอาร่างตราซึ่งยกเมืองสงขลามาคงขึ้นเมืองนคร และตรายกเจ้านครออกเสียจากที่เมืองนคร เอาเจ้าพัฒน์เป็นเจ้าพระยานครนั้นกราบทูลพระกรุณาอ่านถวาย ทรงตกแทรกดัดแปลงบ้าง แล้วอ่านทูลเกล้าฯถวายจนสิ้นข้อเนื้อความแล้ว ทรงพระกรุณาสั่งว่าดีแล้วให้เอาตามร่างทรตกแทรกนั้นเถิด เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้น กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมหลวงเทพหริรักษ์ กรมหลวงนรินทร์ณเรศ ๓ พระองค์ เจ้าพระยารัตนาพิพิธ เจ้าพระยามหาเสนา พระยายมราช พระยาพลเทพ พระยาพิพัฒน์โกษา พระยาท้ายน้ำ พระยาอภัยรณฤทธิ พระยาราชภักดี พระยาศรีพิพัฒน์ พระยามหาอำมาตย์ ๑๐ คน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ด้วย

..........................................................................



สำเนากฎ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)


กฎให้แก่เจ้าพัฒน์ฝ่ายหน้า ผู้เป็นพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติอเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า เจ้าพัฒน์มีความชอบสวามิภักดิ์จงรักภักดีต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมาแต่ก่อน และครั้งนี้มีความทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าฯให้เจ้าพัฒน์เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชออกมาครองเมืองรับกิจการ โดยกฎหมายอย่างธรรมเนียมสำหรับขนบแผ่นดินเมืองนครศรีธรรมราชสืบมาแต่ก่อน และลักษณะทุกวันนี้ เมืองข้าขอบขัณฑสิมาปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกตะวันออก โดยปริมณฑลรอบคอบไม่สงบราบคาบ กอบไปด้วยจลาจลทำการณรงค์สงครามเกิดการรบพุ่งกันทุกแห่งทุกตำบลอยู่

ถ้าเจ้าพระยานครศรีธรรมราชออกมาถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ให้ตรวจตราดูกำแพงและค่ายประตูเมืองพ่วงรอหอรบเชิงเทิน การสิ่งใดซึ่งชำรุดปรักหักพังอยู่นั้น ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่ากล่าวตักเตือนเร่งรัดแก่กรมการเจ้าหมู่พนักงาน ให้เร่งทำและตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นไว้ให้ดีจงแน่นหนามั่นคงจงหน้าที่พนักงาน อย่าให้ชำรุดปรักหักพังอยู่แต่หน้าที่หนึ่งได้

ประการหนึ่งให้ตรวจดูสารบัญชีเลขคงสักจำนวนปีเถาะเบญจศก ปีมะโรงฉศก เป็นเลขหมวดใดกองใด และเลขหัวเมืองหน้าที่บรรดาแว่นแคว้นแขวงจังหวัดขึ้นแอก่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นจำนวนเลขมากน้อยเท่าใด ให้คัดบัญชีมาอ่านจงเนืองๆ ให้จะเจนจำนวนเลขไว้จงมั่นคง มีราชการจะได้กะเกณฑ์สะดวก และเลขหมวดใดกองใดซึ่งเกียรคร้านหลบหลีกหนีละมุลนายเสีย ออกไปซุ่มซ่อนอยู่ ณ ซอกห้วยธารเขามิได้เข้ามารับพระราชทานสักครั้งก่อนครั้งนี้ ขาดมิได้จับราชการแผ่นดิน ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแต่งพระหลวงขุนหมื่นซึ่งซื่อสัตย์มั่นคงดีนั้น ออกไปว่ากล่าวชักชวนกันเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน อย฿ตามถิ่นฐานที่ภูมิลำเนาให้บริบูรณ์มั่งคั่ง ได้มากน้อยเท่าใดให้บอกบัญชีบอกเข้ามายังกรุงให้แจ้ง

อนึ่งให้ตรวจดูปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธให้รู้จำนวนมากและน้อย ว่าดีอยู่มากน้อยเท่าใด ชำรุดมากน้อยเท่าใด ซึ่งชำรุดนั้นให้พิเคราะห์ดูพอจะตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นเอาเป็นราชการได้ ก็ให้ตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นให้ดีไว้สำหรับเมืองสำหรับราชการสืบไป ปืนใหญ่น้อยซึ่วดีอยู่มิได้ชำรุด และดินประสิวนั้น ก็ให้ว่าแก่หมู่พนักงานให้เอาปืนโทรมน้ำมันและหมั่นเอาดินออกตากแดดจงเนืองๆ อย่าให้ดินประสิวและปืนสำหรับเมืองเป็นสนิม คร่ำคร่า อยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่งให้ตรวจดูเรือรบเรือไล่ในอัตรานอกอัตราสำหรับเมือง มีจำนวนอยู่มากน้อยเท่าใด ดีและชำรุดประการใด ซึ่งชำรุดนั้นก็ให้ว่ากล่าวเร่งรัดแก่เจ้าหมู่พนักงาน ให้เร่งตกแต่งซ่อมแปลงลิ่วยาลาพอนขึ้นไว้ให้ดีจงทุกลำทุกหม่พนักงาน อย่าให้เรือรบเรือไล่ชำรุดทรุดโทรมอยู่แต่ลำหนึ่งได้ แล้วให้ทำโรงร่มเงาเอาขึ้นแทงคานน้ำไว้จงทุกลำ อย่าให้เรือรบเรือไล่ตากแดดกรำฝนผุเปื่อยเสียราชการไปแต่ลำหนึ่งได้ ถ้าถึงเทศกาลสลัดศัตรูและอ้ายญวนเหล่าร้ายจะเข้ามากระทำเบียดเบียนจับกุม ผู้คนลูกค้าวานิชข้าขอบขัณฑสีมาซึ่งสัญจรไปมาค้าขายประการใด ก็ให้แต่งเรือรบเรือไล่นายเรือปลัดเรือไพร่พลรบพลกรรเชียง สรรพไปด้วยปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธครบตามเกณฑ์ ออกลาดคอยตระเวณจงทุกอ่าวทุ่งบรรจบถึงด่านแดนหัวเมืองต่อกัน จงกวดขันทั้งกลางวันและกลางคืน ถ้าได้ข่าวว่าอ้ายสลัดศัตรูและญวนเหล่าร้ายเล็ดลอดเข้ามาจับผู้คนประการใด ก็ให้ออกก้าวสกัดติดตามรบพุ่ง แล้วให้บอกราวข่าวถึงหัวเมืองต่อกัน ให้แต่เรือรบเรือไล่ออกช่วยกันก้าวสกัดติดตามรบพุ่ง จับกุมเอาอ้ายสลัดและญวนเหล่าร้ายให้เข็ดขามย่อท้อ อย่าให้อ้ายสลัดศัตรูและญวนเหล่าร้ายเล็ดลอดเข้ามาจับผู้คนข้าขอบขัณฑสีมาไปแต่คนหนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าและเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และกรมการพนักงานประมาทละเมินเสีย มิได้แต่เรือรบเรือไล่ออกลาดตระเวณโดยพระราชกำหนดนี้ และอ้ายสลัดศัตรูญวนเหล่าร้ายเล้ดลอดเข้ามาจับผู้คนไปได้ประการใด เจ้าพระยานครศรีธรรมราชและกรมการพนักงานก็จะคงมีโทษโดยพระราชกำหนด

ประการหนึ่งเมืองสงขลาและเมืองตรัง เป็นหัวเมืองปลายด่านแดนต่อด้วยเมืองไทร เมืองตานี และเมืองแขกทั้งปวงยังมิสงบราบคาบ ให้แต่งหลวงขุนหมื่นข้าทะแกล้วทหารโดยสมควร กอบไปด้วยปืนกระสุนดินประสิว เครื่องสาตราวุธครบมือ ออกไปตรวจด่านตระเวณปลายด่านแดนหัวเมืองสอดแนบเอาข่าวราชการให้รู้จงได้ ถ้าได้ข่าวเมืองแขกมิได้ตั้งอยู่ในสุจริต คบคิดกันยกเข้ามาประทุษร้ายประการใด พอกำลังข้าหลวงกองตระเวณจะรบพุ่งจับกุมตัวได้ ก็ให้รบพุ่งจับกุมเอาตัวจงได้ ถ้าแขกเหลือกำลัง ให้บอกหนังสือไปยังหัวเมืองให้แต่งกองออกช่วยรบพุ่งเอาชัยชำนะจงได้

อนึ่งทุกวันนี้การณางค์สงครามยังมิสงบ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชกรมการคิดอ่านปรึกษาหารือจัดแจงบำรุงซ่องสุมหมู่โยธาทวยหาญ ให้ชำนิชำนาญในการยุทธไว้จงสรรพ ถ้าเห็นพรรคพวกสนมกำลังของผู้ใดองอาจสามารถแกล้วหาญ ก็ให้จัดบำรุงตั้งตั้งแต่งเป็นหลวงขุนหมื่นนายกองนายหมวด ควบคุมเลขอาทมาตไว้เป็นเหล่าจงพร้อมมูล มีการณรงค์สงครามขุกค่ำคืนประการใด จะได้กะเกณฑ์เอาทันท่วงทีราชการโดยสะดวก

ประการหนึ่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชปรึกษาหารือด้วยกรมการทั้งปวง จัดแจงชำระดูพระอัยการ และพระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่บทใดข้อใดซึ่งต้องด้วยขนบธรรมเนียมแผ่นดิน ควรคงเคยพิจารณาว่ากล่าวประการใด ก็ให้คงไว้บังคับบัญชาว่ากล่าวโดยพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินสืบไป ถ้าพระอัยการและพระราชกำหนดกฎหมายบทใดข้อใดเคลือบแคลงอยู่ จะเอาไว้พิจารณาชำระว่ากล่าวมิได้ ก็ให้จัดแจงบอกส่งเข้ามาขอลอกจำลองออกไปใหม่ ไว้บังคับบัญชาสำหรับการแผ่นดินสืบไป

ประการหนึ่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช ว่าราชการบ้านเมืองพร้อมด้วยปลัดยกกระบัตรกรมการจงเป็นยุกติ์เป็นธรรม ให้เป็นเอกจิตรฉันท์น้ำหนึ่งใจเดียว อย่าให้มีความฉันทาโทสาฤษยาถือเปรียวขัดแข็งแย่งกันให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อนึ่งจะพิจารณาพิพากษาอัคถคดีเนื้อความของทวยราษฎรทั้งปวงโดยมูลคดีประการใด ให้ควรตั้งอยู่ในคติทั้ง ๔ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ อย่าให้กอบไปด้วยอิจฉาริษยา ความโกรธความจองเวรด้วยภัยต่างๆ ให้พิจารณาเป็นยุกติ์เป็นธรรมด้วยอุเบกขาญาณอันประเสร็ฐ อย่าให้อาสัจอาธรรมเห็นแก่หน้าบุคคลและอามิศสินจ้างสินบล เข้าด้วยฝ่ายโจทก์จำเลย กลับเท็จเป็นจริง กลับจริงเป็นเท็จ ทำกลบเกลื่อนเนื้อความให้ฟั่นเฟือน ให้ทวยราษฎรทั้งปวงมีความยากแค้นเดือดร้อนผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ประการหนึ่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช มีน้ำใจโอบอ้อมแก่สมณะชีพราหมณาจารย์อาณาประชาราษฎรไพร่พลเมืองลูกค้าวานิช ให้ชักชวนกันทำบุญให้ทานจำเริญเมตตาภาวนาสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีลห้าเป็นนิจศีล ศีลแปดเป็นอดิเรกศีลจลเนืองๆ และควรให้ตั้งอยู่ในทศกุศลกรรมบถ โดยพระราชกำหนดซึ่งโปรดพระราชทานออกไปไว้จะได้พาตัวไปสู่สุคติภูมิอันประเสริฐ ประการหนึ่งพึงให้บำรุงพระสงฆ์เถรเณรผู้เล่าเรียนฝ่ายคันธุระวิปัสนาธุระจงทุกวัดวาอาราม จะได้เป็นการกุศลสืบไป อีกประการหนึ่งให้ตรวจดูพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอารามแห่งใดตำบลใด ซึ่งชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่ประการใดนั้น ให้ชักชวนพระหลวงขุนหมื่นกรมการ และอาณาประชาราษฎรผู้มีศรัทธาบุรณปฏิสังขรณ์วัดพระขึ้นให้สุกใสรุ่งเรืองถวายพระราชกุศลสืบไป อย่าให้วัดให้พระชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่ได้

อนึ่งเข้าเป็นกระทู้ราชการ ถ้าถึงเทศกาลทำนาให้ตักเตือนว่ากล่าวแก่อาณาประชาราษฎร ให้ชักชวนกันทำไร่นาจงเต็มภูมิให้ได้ผลเมล็ดเข้าจงมาก จะได้เป็นกำลังราชการและทำบุญให้ทานเป็นการกศลสืบไป

อนึ่งถ้าและเจ้าพระยานครศรีธรรมราชจะมีใจประฏิพัทธ์ยินดีในสตรีภาพผู้ใด ก็ให้ตกแต่งผู้ไปว่ากล่าวสู่ขอตามธรรมเนียม ถ้าบิดามารดาญาติวงศ์พงศายอมยกให้ปัยนโดยปกติสุจริต จึงให้รับมาเลี้ยงดูตามประเพณีคดีโลกย์ อย่าให้ทำข่มเหงฉุดคร่าลากเอาลูกสาวหลานสาว ของอาณาประชาราษฎรผู้หวงแหนโดยพละการของอาตมาตามอิฏฐารมย์ ให้ราษฎรมีความวิบัติเดือดร้อน ผิดด้วยพระราชบัญญัติแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่งส่วยสาอากรขึ้น ณ ท้องพระคลังหลวง ณ กรุง บรรดามีอยู่ ณ เมืองนครแขวงหัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ถ้าถึงงวดถึงจำนวนจะได้ส่ง ก็ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแก่กรมการพนักงาน ให้ว่ากล่าวเร่งรัดแก่นายที่นายอากร ให้เร่งคุมส่วยของหลวงเข้าไปส่งยังเจ้าจำนวน ณ กรุง จงทุกงวดทุกจำนวน อย่าให้ส่วยของหลวงค้างเกินล่วงงวดล่วงจำนวนไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และจำนวนเงินทองเงินปลงของหลวงซึ่งค้างอยู่เก่ามากน้อยเท่าใด ก็ให้พระยานครศรีธรรมราชว่ากล่าวเร่งรัดส่งเข้ามาให้ครบจงเสร็จสิ้นเชิง อย่าให้พระราชทรัพย์ของหลวงค้างงเกินอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ซึ่งว่ากล่าวมาทั้งนี้ตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมโดยประมาณ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชว่ากล่าวเร่งรัดส่งเข้ามาให้ครบจงเสร็จสิ้นเชิง อย่าให้พระราชทรัพย์ของหลวงค้างเกินอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ซึ่งว่ากล่าวมาทั้งนี้ตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมโดยประมาณ ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชพึงอ่านพระราชกำหนด โดนพระโอวาทนี้จงเนืองๆให้เจนปากเจนใจไว้จงทุกข้อทุกกระทง จะได้บังคับบัญชากิจราชการสะดวกสืบไป ถ้าแลราชการผันแปรโดยปรกติเหตุและปัจจุบันเหตุประการใด ก็ให้คิดอ่านผ่อนปรนผันแปรโดยข้อราชการให้ชอบจงทุกประการ สุดแต่อย่าให้เสียราชการแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

กฎให้ไว้ ณ วันอังคาร เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรงฉศก


....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:9:38:53 น.  

 
 
 
เรื่อง ตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ เป็น พระยานครศรีธรรมราช


สารตรา ท่านเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม ให้มาแก่หลวงเทพเสนาผู้ว่าที่จ่า ขุนศรีสนนมผู้ว่าที่เทพเสนา และกรมการ

ด้วยเจ้าพระยานครเข้าไปเฝ้ากราบทูลละอองธุลีพระบาท แจ้งข้อราชการ ณ กรุง ให้กราบทูลพระกรุณาว่า เจ้าพระยานครแก่ชราหูหนักจักขุมือหลงลืม จะทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไปมิได้ จะขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ จึงทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ฝ่ายปักษ์ใต้เมืองนครเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองทั้งปวง แล้วก็เป็นที่พำนักอาศัยแก่เมืองแขก และลูกค้าวานิชนานาประเทศไปมาค้าขายมิได้ขาด เจ้าพระยานครสูงอายุว่าหลงลืมจะทำราชการสืบไปมิได้ ก็ให้เจ้าพระยานครเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีโศกราชวงศ์ เชษฐพงศ์ฤๅไชย อนุไทยธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ และรพบริรักษ์ภูเบศร์นั้น เป็นผู้ช่วยราชการมาในเจ้าพระยานครช้านาน รู้ขนบธรรมเนียมสัตย์ซื่อมั่นคง แล้วก็ได้คุมกองทัพไปต่อเรือรบเรือไล่ ยกไปตีอ้ายพม่า ณ เมืองถลางจนเสร็จราชการ จับได้อ้ายพม่าและปืนส่งเข้าไปเป็นอันมาก พระบริรักษ์ภูเบศร์มีความชอบสมควรที่จะชุบเลี้ยงให้ออกไปรั้งเมืองครองเมือง สำเร็จกิจสุขทุกข์ของอาณาประชาราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณได้ ให้เอาพระบริรักษ์ภูเบศร์ผู้ช่วยราชการเป็น พระยานครศรีธรรมราช ออกมาว่าราชการรักษาบ้านเมืองสำเร็จกิจสุขทุกข์ ของอาณาประชาราษฎรเมืองนครสืบไป จึงตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์ผู้ช่วยราชการ เป็น พระยาศรีโศกราช ชาติเดโชไชยมไหศุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ออกมาว่าราชการรักษาบ้านเมือง สำเร็จกิจสุขทุกข์ของราษฎร ด้วยกรมการเมืองนครตามพระราชกำหนดกฎหมายพิกัดอัตรา อย่างธรรมเนียมสืบมาแต่ก่อน

และให้กรมการฟังบังคับบัญชาพระยานครศรีธรรมราชคนใหม่ แต่ซึ่งชอบด้วยราชการ อย่าให้ถือเปรียบแก่งแย่งเสียราชการไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึค่งได้ และให้พระยานครมีน้ำใจโอบอ้อมเมตตากรุณาแก่สมณะชีพราหมณ์ไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าวานิช ให้อยู่เย็นเป็นสุข จะกะเกณฑ์ใช้ราชการสิ่งใดให้ทั่วหน้าเสมอกัน จะพิพากษาตัดสินคดีถ้อยความกิจสุขทุกข์ของราษฎรประการใดให้เป็นยุกติ์เป็นธรรม อย่าให้เห็นแก่อาสมิสสินจ้างสินบนลำเอียงเข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย กลับเท็จเป็นจริง กลับจริงเป็นเท็จ กลบเกลื่อนข้อความให้ฟั่นเฟือน ให้ผู้มีชื่อได้ความยากแค้นเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่ง พระราชกำหนดกฎหมายและพระอัยการข้อใด กระทงใด เคลือบแคลงอยู่จะเอาไว้พิจารณามิได้ ก็ให้ส่งเข้าไป ณ กรุง แล้วแต่งให้เสมียนทนาย เข้าไปจำลองคัดเอาพระราชกำหนดกฎหมายพระอัยการซึ่งชำระ ณ กรุง ออกมาไว้พิจารณาว่ากล่าวตัดสินคดีถ้อยความของราษฎรสืบไป

อนึ่งเรือรบเรือไล่ค่ายคูประตูเมืองพ่วงรอหอรบ ศาลากลางจวนทำเนียบ คุกตารางสำหรับใส่ผู้ร้าย โรงปืนใหญ่น้อยสำหรับเมือง สิ่งใดไม่มีและชำรุดปรักหักพัง ก็ให้พระยานครว่ากล่าวตักเตือนกรมการเจ้าพนักงาน ให้ตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นไว้ให้มั่นคงจงดี อย่าให้ชำรุดปรักหักพังอยู่แต่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่งเมืองตรังเป็นเมืองล่อแหลมอยู่ฝ่ายทะเลตะวันตกจะไว้ใจมิได้ ให้พระยานครปรึกษาด้วยกรมการ กะเกณฑ์หลวงขุนหมื่นและชาวด่าน คุมเรือรบเรือไล่สรรพไปด้วยปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสรรพอาวุธ ออกไปอยู่พิทักษ์รักษาประจำคอด่านทั้งกลางวันกลางคืน ลาดตระเวนฟังข่าวราชการหน้าด่านต่อแดนจงเนืองๆ อย่าให้อ้ายสลัดเหล่าร้ายและพม่ารามัญเล็ดลอดจู่โจมเข้ามาจับเอาผู้คนไปได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้ามีราชการประการใด ให้ช่วยกันรลบพุ่งต้านทานเอาชัยชนะไว้ให้จงได้ แล้วให้เร่งรีบบอกหนังสือเข้าไป ณ กรุง และหัวเมืองต่อกันโดยเร็ว

อนึ่งปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเป็นกระทู้ราชการ ให้พระยานครจัดแจงหาปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวขึ้นไว้สำหรับเมืองให้ได้จงมาก ขุกมีราชการมาประการใดจะได้เอาจ่ายราชการทันท่วงทีไม่ขัดสน แล้วให้ว่ากล่าวตักเตือนกรมการเจ้าพนักงาน ให้เอาปืนใหญ่น้อยออกขัดสีโทรมน้ำมัน เอาดินประสิวออกตากแดดจงเนืองๆ อย่าให้ปืนเป็นสนิมคร่ำคร่าและดินอับราเสียไปได้ ปืนใหญ่นั้นให้มีรางล้อรางเกวียนใส่ และปืนน้อยนั้นให้มีบันไดแก้ววางจงทุกบอก

อนึ่งข้าวเป็นกระทู้ราชการข้อใหญ่ ถึงเทศกาลจะได้เรียกหางข้าวค่านาแล้ว ให้พระยานครว่ากล่าวตักเตือนกรมการเจ้าพนักงานกำกับกันรังวัดนา เรียกหางข้าวค่านาขึ้นใส่ยุ้งฉางไว้จงทุกปี ได้เป็นจำนวนข้าวค่านาปีละมากน้อยเท่าใด ให้บอกเข้าไปให้แจ้ง

อนึ่งส่วยสาอากรซึ่งขึ้นท้องพระคลังหลวง บรรดามีอยู่ ณ เมืองนคร แขวงเมืองนครมากน้อยเท่าใด ถึงงวดปีแล้วก็ให้ว่ากล่าวตักเตือนเร่งรัดนายอากร และนายกองนายหมวดผู้คุมเลขค่าส่วย ให้คุมเอาส่วยสาอากรเข้าไปส่งแก่ชาวพระคลัง ณ กรุง ให้ครบจงทุกงวดทุกปี อย่าให้ส่วยสาอากรของหลวงขาดค้างล่วงงวดล่วงวันล่วงปีไปแต่จำนวนหนึ่งได้

อนึ่งถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้พระยานครศรีธรรมราช พร้อมด้วยกรมการพระหลวงขุนหมื่นส่วยซ่องกองช้างตราภูมิคุ้มห้าม กราบถวายบังคมรับพระราชทานถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาทุกปีอย่าให้ขาด ถ้าผู้ใดมิได้ถือน้ำ ให้บอกส่งตัวผู้นั้นเข้าไปยังลูกขุน ณ ศาลา จะเอาตัวเป็นโทษตามบทพระอัยการ

อนึ่งเมืองนครเป็นเมืองเอก ถึงงวดปีแล้วให้จัดแจงแต่งดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ ส่งเข้าไปทูลกระหม่อมถวายปีละ ๒ งวดตามบราณราชประเพณีสืบมาแต่ก่อนจงทุกปีอย่าให้ขาด

อนึ่งพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม ณ เมืองนครแขวงเมืองนคร แห่งใดตำบลใดชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่ ก็ให้พระยานครศรีธรรมราชมีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ชักชวนกรมการและอาณาประชาราษฎรปฏิสังขรณ์ขึ้นให้รุ่งเรืองสุกใส ถวายพระราชกุศลเข้าไป ณ กรุง

อนึ่งดีบุกนอระมาดงาช้าง เป็นสินค้าหลวงสำหรับจะได้ตอบแทนสลุบกำปั่นลูกค้านานาประเทศ ให้พระยานครศรีธรรมราชขวนขวายจัดแจงหาดีบุกนอระมาดงาช้าง ส่งเข้าไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายจงเนืองๆ จะได้เป็นความชอบสืบไป และให้พระยานครศรีธรรมราชว่ากล่ากำชับห้ามปราม แก่เสมียนทนายสมัครมาอาศัยพรรคพวกสมกำลังข้าทาส อย่าให้คบหากันสูบฝิ่นกินฝิ่นซื้อฝิ่นขายฝิ่น เป็นโจรผู้ร้ายปล้นสะดมฉกลักช้างม้าโคกระบือและกระทำข่มเหง ตัดพกฉกชิงฉ้อกระบัดเอาพ้สดุทองเงินเครื่องอัญมณีของสมณะชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร ไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าวานิช ณ ทางบกทางเรือ ให้ผู้มีชื่อได้ความยากแค้นเดือดร้อน และอย่าให้คบหากันทำลายพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระอุโบสถ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม ฆ่าช้างเอางาและขนาย ฆ่าสัตว์มีคุณ ตัดต้นไม้อันมีผล ลอบลักซื้อขายสิ่งของต้องห้าม และกระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิฟังมีผู้ร้องฟ้องว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัตย์ จะเอาตัวผู้กระทำผิดเป็นโทษตามโทษานุโทษ และกฎหมายสำหรับที่จะบังคับบัญชาว่าราชการบ้านเมืองนั้น ได้ปิดตราพระคชสีห์ส่งให้พระยานครใหม่ออกมาด้วยแล้ว

ครั้นลุสารตรานี้ไซร้ ก็ให้กรมการผู้ว่าราชการเมืองจัดแจงตราจำนำ และกฎหมายสารบาญชีกระทงความเก่าใหม่ บโทนคนใช้ไร่นาส่วยสาอากรบรรดามีตามตำรา ๑๒ เดือน สำหรับผู้ปกครองเมืองนครสืบมาแต่ก่อน ส่งให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ผู้เป็นพระยานครใหม่ตามอย่างธรรมเนียม ให้พระยานครรับราชการตามตำแหน่งพนักงานพระราชกำหนดกฎหมายขนบธรรมเนียมพิกัดอัตราสืบมาแต่ก่อน ให้ชอบด้วยราชการจงทุกประการ อย่าให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และให้กรมการผู้อย่าว่าราชการเมืองกระทำตามท้องตรารับสั่งมานี้จงทุกประการ

สารตรามา ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๓ ปีมะแมตรีศก

วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ปีมะแมตรีศก เสด็จออก ณ พระชาลาพลับพลาน้อยริมท้องพระโรง พระยาเทพวรชุนกราบทูลถวายร่างตรา หมื่นเทพเสนีอ่านจนสิ้นข้อความแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่าให้เอาตามร่างนี้เถิด เมื่อทรงพระกรุณาสั่งนั้นพระยามหาอำมาตย์ พระยาราชนิกูล พระยาพระราม พระยาราชสงคราม เฝ้าอยู่ด้วย

..........................................................................


สำเนากฎ เรื่องตั้งพระบริรักษ์ภูเบศร์เป็นพระยานครศรีธรรมราช


กฎให้แก่พระบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้เป็นพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชไชยมไหสุรยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระบริรักษ์ภูเบศร์ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณมาช้านาน มีความชอบ ทรงพระมหากรุณาชุบเกล้าฯให้เป็นพระยานครศรีธรรมราชออกมาครองเมือง รับกิจการโดยกฎหมายอย่างขนบธรรมเนียนแผ่นดินเมืองนครมาแต่ก่อน และลักขณทุกวันนี้เมืองข้าขอบขัณฑสีมาปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ตะวันออกตะวันตก โดยปริมณฑลรอบคอบไม่สงบราบคาบ กอบไปด้วยจลาจลทำการณรงค์สงครามเกิดการรบพุ่งกันทุกแห่งทุกตำบลอยู่ ถ้าพระยานครศรีธรรมราชออกมาถึงเมืองนครแล้ว ให้ตรวตราดูกำแพงและค่ายคูประตูเมือง พ่วงรอหอรบเชิงเทิน การสิ่งใดชำรุดปรักหักพังอยู่นั้น ให้พระยานครศรีธรรมราชว่ากล่าวตักเตือนเร่งรัดแก่กรมการเจ้าพนักงาน ให้เร่งทำและตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นไว้ให้แน่นหนามั่นคงจงทุกหน้าที่พนักงาน อย่าให้ชำรุดปรักหักพังอยู่แต่หน้าที่หนึ่งได้

ประการหนึ่งให้ตรวจดูสารบาญชีเลขคงสักจำนวนปีเถาะเบญจศก ปีมะโรงฉศก เป็นเลขหมวกใดกองใด และเลขหัวเมือง นายที่บรรดาแว่นแคว้นแขวงจังหวัดขึ้นแก่เมืองนครเป็นจำนวนเลขมากน้อยเท่าใด ให้คัดบาญชีมาอ่านจงเนืองๆ ให้จะเจนจำนวนเลขไว้จงมั่นคง มีราชการจะได้กะเกณฑ์สะดวก และเลขหมวดใดกองใดซึ่งเกียจคร้านหลบหนีละมุลนายเสีย ออกไปซุ่มซ่อนอยู่ ณ ซอกห้วยธารเขา มิได้เข้ามารับพระราชทานสักครั้งก่อนและครั้งนี้ ขาดมิได้จับจ่ายราชการแผ่นดิน ให้พระยานครศรีธรรมราช แต่งพระหลวงขุนหมื่นซึ่งสัตย์ซื่อมั่นคงดีนั้น ออกไปว่ากล่าวชักชวนเกลี้ยกล่อมโดยเมตตาจิต ให้ผู้มีชื่อเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ตามถิ่นฐาน ที่ภูมิลำเนาให้บริบูรณ์มั่งคั่ง ได้มากน้อยเท่าใดให้บอกบาญชีเข้าไปยังกรุงให้แจ้ง

อนึ่งให้ตรวจดูปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธ ให้รู้ว่าดีและชำรุดมีอยู่มากน้อยเท่าใด ซึ่งชำรุดนั้นพิจะตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นเป็นราชการได้ ก็ให้ตกแต่งซ่อมแปลงขึ้นให้ดีไว้สำหรับเมืองสืบไป ปืนใหญ่น้อยซึ่งดีอยู่มิได้ชำรุดและดินประสิวนั้นก็ให้ว่าแก่หมู่พนักงาน ให้เอาปืนโทรมน้ำมันและเอาดินประสิวออกตากแดดจงเนืองๆ อย่าให้ดินอับราปืนเป็นสนิมคร่ำคร่าอยู่แต่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่งให้ตรวดูเรือรบเรือไล่ในอัตรานอกอัตราสำหรับเมือง มีจำนวนอยู่มากน้อยเท่าใด ดีและชำรุดประการใด ซึ่งชำรุดอยู่นั้นก็ให้ว่ากล่าวเร่งรัดแก่หมู่พนักงาน เร่งตกแต่งซ่อมแปลงลิ่มยาลาพอนขึ้นไว้ให้ดีจงทุกลำทุกหมู่พนักงาน อย่าให้เรือรบเรือไล่ชำรุดทรุดโทรมอยู่แต่ลำหนึ่งได้ แล้วให้เร่งทำร่มเงาเอาขึ้นแทงคานน้ำไว้จงทุกลำ อย่าให้เรือรบเรือไล่ตากแดดกรำฝนผุเปื่อยเสียราชการแต่ลำหนึ่งได้ ถ้าถึงเทศกาลอ้ายสลัดศัตรูและญวนเหล่าร้ายจะเข้ามากระทำเบียดเบียนจับกุมผู้คนลูกค่าวานิช ข้าขอบขัณฑสีมาซึ่งสัญจรไปมาค้าขายประการใด ก็ให้แต่งเรือรบเรือไล่นายเรือปลัดเรือไพร่พลรบพลกรรเชียง สรรพไปด้วยปืนใหญ่น้อยกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธครบตามเกณฑ์ อกลาดตระเวนจงทุกอ่าวทุ่ง บรรจบถึงด่านแดนหัวเมืองต่อกันจงกวดขันทั้งกลางวันกลางคืน ถ้าได้ข่าวว่าอ้ายสลัดศัตรูและญวนเหล่าร้ายเล็ดลอดเข้ามาจับกุมผู้คนประการใด ก็ให้ออกก้าวสกัดติดตามรบพุ่ง แล้วให้บอกข่าวถึงหัวเมืองต่อกัน ให้แต่งเรือรบเรือไล่ออกช่วยกันก้าวสกัด ติดตามรบพุ่งจับกุมเอาอ้ายสลัดและญวนเหล่าร้ายให้เข็ดขามย่อท้อ อย่าให้อ้ายสลัดศัตรูและญวนเหล่าร้ายเล็ดลอดเข้ามาจับผู้คนข้าขอบขัณฑสีมาไปแต่คนหนึ่งไปเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าและพระยานครศรีธรรมราชกรมการพนักงานประมาทละเมินเสีย มิได้แต่งเรือรบเรือไล่ออกลาดตระเวนโดยพระราชกำหนดนี้ และอ้ายสลัดศัตรูญวนเหล่าร้ายเล็กลอดเข้ามาจับผู้คนไปได้ประการใด พระยานครศรีธรรมราช กรมการพนักงานก็คงจะมีโทษโดยพระราชกำหนด

ประการหนึ่งเมืองแขกทั้งปวงยังไม่ราบคาบ ให้แต่งหลวงขุนหมื่นทแกล้วทหารโดยควร กอบไปด้วยปืนกระสุนดินประสิวเครื่องสาตราวุธครบมือ ออกไปตรวจการตระเวนด่านปลายด่านแดนหัวเมือง สอดแนมเอาข่าวราชการให้รู้จงได้ ถ้าได้ข่าวว่าเมืองแขกมิได้ตั้งอยู่ในสุจริต คบคิดกันจะยกเข้ามากระทำประทุษร้ายประการใด พอกำลังข้าหลวงกองตระเวนจะรบพุ่งจับกุมเอาตัวได้ ก็ให้รบพุ่งจับกุมเอาตัวจงได้ ถ้าแขกเหลือกำลัง ให้บอกหนังสือไปยังหัวเมืองให้แต่งกองออกช่วยรบพุ่งเอาชัยชำนะจงได้

อนึ่งทุกวันนี้การณรงค์สงครามยังไม่สงบ ให้พระยานครศรีธรรมราช กรมการคิดอ่านปรึกษาหารือจัดดแจงบำรุงซ่องสุมหมู่โยธาทวยหาร ให้ชำนิชำนาญในการยุทธไว้จงสรรพ ถ้าเห็นพรรคพวกสมกำลังของผู้ใดองอาจสามารถแกล้วหาญ ก็ให้จัดบำรุงแต่งตั้งเป็นหลวงขุนหมื่นนายกองนายหมวด ควบคุมเลขอาทมาตไว้เป็นหมวดเป็นเหล่าจงพร้อมมูล มีการณรงค์สงครามขุกค่ำคืนประการใด จะได้เกณฑ์เอาทันท่วงทีราชการโดยสะดวก

อนึ่งให้พระยานครศรีธรรมราชปรึกษาหารือด้วยกรมการทั้งปวง จัดแจงชำระดูพระอัยการ และพระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่บทใดข้อใดซึ่งต้องด้วยขนบธรรมเนียมแผ่นดิน ควรคงเคยพิจารณาว่ากล่าวประการใด ก็ให้คงไว้บังคับบัญชาว่ากล่าวโดยพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินสืบไป ถ้าพระอัยการและพระราชกำหนดกฎหมายบทใดข้อใดเคลือบแคลงอยู่ จะเอาไว้พิจารณาว่ากล่าวมิได้ ก็ให้จัดแจงบอกส่งเข้ามาขอลอกจำลองออกไปใหม่ไว้บังคับบัญชาสำหรับการแผ่นดินสืบไป

ประการหนึ่ง ให้พระยานครศรีธรรมราชว่าราชการบ้านเมืองพร้อมด้วยปลัดยกกระบัตรกรมการจงเป็นยุกติ์เป็นธรรม ให้เป็นเอกจิตเอกฉันท์น้ำหนึ่งใจเดียว อย่าให้มีความฉันทาโทสาริษยาถือเปรียบแก่งแย่งกันให้เสียราชการแผ่นดินไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่งจะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเนื้อความของทวยราษฎรทั้งปวง โดยมูลคดีประการใด ให้ควรตั้งอยู่ในคติทั้ง ๔ คือ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ โมหาคติ อย่าให้กอบไปด้วยความอิจฉาริษยา ความโกรธ ความจองเวรด้วยภัยต่างๆ ความหลง อย่าให้อาสัจอาธรรม์เห็นแก่หน้าบุคคลและอามิสสินจ้างสินบน เข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย กลับเท็จเป็นจริง กลับจริงเป็นเท็จ ทำกลบเกลื่อนเนื้อความให้ฟั่นเฟือน ให้ทวยราษฎรทั้งปวงมีความยากแค้นเดือดร้อนผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ประการหนึ่ง ให้พระยาศรีธรรมราชมีน้ำใจโอบอ้อมอารีแก่สมณะชีพราหมณาจารย์ อาณาประชาราษฎรไพร่พลเมืองลูกค้าวานิช ให้ชักชวนกันทำบุญให้ทาน จำเริญเมตตาภาวนา สดับตรับฟังพระธรรมเทศนารักษาศีลห้าเป็นนิจศีล ศีลแปดเป็นอดิเรกศีลจงเนืองๆ และควรให้ตั้งอยู่ในทศกุศลกรรมบถ โดยพระราชกำหนดซึ่งโปรดพระราชทานออกไปไว้ ก็จะพาตัวไปสู่สุคติภูมิอันประเสร็ฐ

อนึ่งเมืองนครเป็นเมืองใหญ่ ราชการพนักงานมีเป็นอันมาก ถ้ากรมการที่ใดว่างอยู่ยังไม่มีตัว ก็ให้พระยานครศรีธรรมราชปรึกษาด้วยหลวงปลัดกรมการจัดแจงเอาผู้มีชื่อ ซึ่งมีสติปัญญาสัตย์ซื่อมั่นคงดีนั้น มาตั้งแต่งขึ้นเป็นกรมการให้ครบตำแหน่ง ถ้าจัดแจงได้ผู้ใดเป็นกรมการที่ใด ให้บอกส่งตัวผู้นั้นเข้าไปให้รับเอาตราตั้งต่อเจ้าพนักงาน ณ กรุง

อีกประการหนึ่งให้ตรวจดูพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ พระวิหารการเปรียญ วัดวาอาราม แห่งใดตำบลใดซึ่งชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่นั้น ให้ชักชวนพระหลวงขุนหมื่นกรมการและอาณาประชาราษฎรผู้มีศรัทธาบุรณปฏิสังขรณ์วัดพระขึ้นให้สุกใสรุ่งเรือง ถวายพระราชกุศลสืบไป อย่าให้วัดพระชำรุดปรักหักพังเศร้าหมองอยู่ได้

อนึ่งข้าวเป็นกระทู้ราชการ ถ้าถึงเทศกาลทำนาให้ตักเตือนว่ากล่าวแก่อาณาประชาราษฎร ให้ชักชวนกันทำไร่นาจงเต็มภูมิให้ได้ผลเมล็ดข้าวจงมาก จะได้เป็นกำลังราชการและทำบุญให้ทานเป็นก่ารกุศลสืบไป

อนึ่ง ถ้าและพระยานครศรีธรรมราชจะมีใจปฏิพัทธ ยินดีในสัตรีภาพผู้ใดอันมีบิดามารดาญาติวงศ์พงศาปกครองอยู่ โดยปกติก็ให้ตกแต่งผู้ไปว่ากล่าวสู่ขอตามธรรมเนียม ถ้าบิดามารดาญาติวงศ์พงศายอมยกให้ปันโดยปกติสุจริต จึงให้รับมาเลี้ยงดูตามประเพณีคดีโลก อย่าให้ทำข่มเหงฉุดคร่าลากเอาลูกสาวหลานสาวของอาณาประชาราษฎร ผู้หวงแหนโดยพลการของอาตมาตามอิฏฐารมณ์ ให้ราษฎรมีความวิบัติเดือดร้อน ผืดด้วยพระราชบัญญัติแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

อนึ่งส่วยสาอากรซึ่งขึ้นในท้องพระคลังหลวง ณ กรุง บรรดามีอยู่ ณ เมืองนครแขวงหัวเมืองขึ้นแก่เมืองนครเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด ถ้าถึงงวดถึงจำนวนจะได้ส่ง ก็ให้พระยานครศรีธรรมราชว่าแก่กรมการพนักงานให้ว่ากล่าวเร่งรัดแก่นายที่นายอากร ให้เร่งคุมส่วยของหลวงเข้าไปส่งยังเจ้าจำนวน ณ กรุง จงทุกงวดทุกจำนวน อย่าให้ส่วยของหลวงค้างเกินล่วงงวดล่วงจำนวนไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และจำนวนเงินทอดเงินปลงของหลวง ซึ่งค้างอยู่เก่ามากน้อยเท่าใด ก็ให้พระยานครศรีธรรมราช ว่ากล่าวเร่งรัดส่งเข้ามาให้ครบจงเสร็จสิ้นเชิง อย่าให้พระราชทรัพย์ของหลวงค้างเกินอยู่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ซึ่งว่ากล่าวมาทั้งนี้ตามกฎหมายอย่างธรรมเนียมโดยประมาณ ให้พระยานครศรีธรรมราชพึงอ่านพระราชกำหนดโดยพระราชโอวาทนี้จงเนืองๆ ให้เจนปากเจนใจไว้จงทุกข้อทุกกระทง จะได้บังคับบัญชากิจราชการสะดวกสืบไป ถ้าแหละราชการผันแปรโดยปกติเหตุและปัจจัยเหตุประการใด ก็ให้คิดอ่านผ่อนปรนผันแปรข้อราชการให้ชอบจงทุกประการ สุดแต่อย่าให้เสียราชการแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวไปแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

กฎให้ไว้ ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๓ ปีมะแมตรีศก


....................................................................................................................................................


เชิงอรรถ - กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระยานครศรีธรรมราชน้อยนี้ ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา เห็นจะในราวต้นแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงอสัญกรรมเมืองจุลศักราช ๑๒๐๑ ปีกุนเอกศก แจ้งอยู่ในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ที่ได้พิมพ์ต่างหากจากหนังสือนี้
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:9:43:29 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com