กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

พระราชพิธีเดือนห้า


....การพระราชพิธีในเดือน ๕ ที่มีมาในกฎมนเทียรบาลไปเริ่มกล่าวถึงการออกสนานใหญ่ คือสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานทีเดียว หาได้กล่าวถึงการเถลิงศกสงกรานต์ ที่เป็นส่วนพระราชกุศลอย่างใดไม่ ส่วนจดหมายถ้อยคำขุนหลวงหาวัดซึ่งเป็นคู่ยันกัน ก็หาได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก สระสนานหรือคเชนทรัศวสนานในเดือน ๕ ไม่ ไปกล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์อย่างเดียว พิเคราะห์ดูโดยอนุมานเห็นว่า กฎมนเทียรบาลเป็นธรรมเนียมเก่า ชั้นต้นการพระราชกุศลอยู่ข้างจะเหินห่างไม่ใคร่จะมีมากนัก การพิธีอันใดยังไต่ตามทางลัทธิพราหมณ์มากกว่าจะเจือปนพระพุทธศานา เป็นต้นว่า การบรมราชาภิเษก เมื่อสอบสวนดูโดยละเอียดตามพระราชพงศาวดาร ก็เห็นได้เป็นแน่ว่า ตลอดลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมหาราช การบรมราชาภิเษกหาได้เกี่ยวด้วยพระราชพิธีสงฆ์ไม่ แต่จะวินิจฉัยให้ละเอียดในที่นี้ก็จะชักให้ยาวความไป เพราะเป็นเหตุที่เพียงแต่ยกมาเปรียบ เมื่อมีโอกาสอื่นซึ่งสมควรจะอธิบายข้อความนั้นให้แจ่มแจ้งจึ่งจะอธิบายภายหลัง คงต้องการในที่นี้แต่เพียงว่าการพระราชพิธีซึ่งเจือปนเป็นการพระราชกุศล พึ่งจะมีมาชุกชุมขึ้นเมื่อเปลี่ยนบรมราชวงศ์เชียงรายแล้วโดยมาก เพราะฉะนั้นในกฎมนเทียรบาลจึงหาได้กล่าวการพระราชกุศลในเดือนห้านี้ไม่

ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัด ซึ่งมิได้กล่าวถึงการสระสนาน หรือคเชนทรัศวสนานนั้นเล่า ก็เป็นด้วยหนังสือนั้นกล่าวถึงปัจจุบันกาล ในเวลาอายุของท่านผู้แต่ง การพระราชพิธีสระสนานในชั้นหลังลงมาตลอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เกือบจะมีแผ่นดินละครั้งคล้ายๆกับสักกลับ(๑) เดินสวนเดินนา ที่จะได้ซ้ำสองไม่มี มีแต่เว้นว่างไปไม่ห่าง การคเชนทรัศวสนานซึ่งแห่กันอยู่เป็นปรกติทุกวันนี้ เป็นการเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นก็น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะไม่ได้เคยเห็นสระสนานหรือเห็นแต่จำไม่ได้เลย และถือว่าไม่เป็นพระราชพิธีประจำเดือน จึ่งได้ยกเสียมิได้กล่าว กล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์ ซึ่งเป็นการใหม่ทำอยู่ในเวลานั้น


....................................................................................................................................................

(๑) สักกลับ คือพิธีสักไพร่หมายหมู่ ถ้าแผ่นดิน ๑ สักท้องแขน ถึงแผ่นดินใหม่สักหลังแขน กลับกันให้สังเกตง่าย




ฝีพระหัตถ์ในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์



พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

การพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก เป็นพิธีของพราหมณ์พฤติบาศ ได้ทำในเดือนห้าครั้งหนึ่ง เดือนสิบครั้งหนึ่ง เป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง ว่าทำเพื่อให้เจริญสิริสวัสดิมงคลแก่ช้าง ซึ่งเป็นราชพาหนะและเป็นกำลังแผ่นดิน และบำบัดเสนียดจัณไร ในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวงด้วย แต่การพระราชพิธีนี้ เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นๆหลายอย่าง คือเป็นต้นว่าเมื่อทำการจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ช้าง ม้า ก็ต้องรดน้ำมนต์ช้าง ม้า เมื่อจะเอาไปรดเทซ่าๆกับโรงเช่นนั้น ก็ดูไม่เป็นประโยชน์อันใด และผู้รดจะเหน็ดเหนื่อยกว่าจะทั่ว จึงเห็นว่าถ้าปลูกเกยขึ้น แล้วจัดให้ช้างม้าเดินมาเป็นกระบวน พราหมณ์และรนาชบัณฑิตซึ่งเป็นผู้จะประน้ำมนต์นั่งคอยอยู่บนเกย เมื่อกระบวนม่ถึงก็ประพรมไปจนตลอดกระบวนง่ายกว่า ทั้งจะได้ทอดพระเนตรตรวจตราชมเชยราชพาหนะทั้งปวงปีละสองครั้งด้วย อนึ่งธรรมดาพระมหานครใหญ่ ก็ต้องตระเตรียมให้พรักพร้อมด้วยเครื่องสรรพศัสตราวุธและพลมหารให้พร้อมมูลอยู่ เมื่อมีราชการศึกสงครามอันใด ก็จะได้จับจ่ายกำเกณฑ์ไปโดยง่ายโดยเร็ว เป็นการตรวจตราเครื่องศัตราวุธและไพร่พลอย่างริวิ้วคราวหนึ่ง

อนึ่ง ตามแบบอย่างแต่เดิซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศเป็นต้น จนถึงในกฎมนเทียรบาลความก็ลง ว่าในพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกและสนานใหญ่นี้ เป็นเวลาที่ประชุมท้าวพระยาข้าราชการทั้งในกรุงและหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา ทั้งเจ้าประเทศราชเข้ามาเฝ้า กำหนดถวายดอกไม้ทองเงินเครื่องบรรณาการ เป็นการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่ง เวลานั้นด็ควรที่จะประชุมพลโยธาทวยหาญทั้งปวงให้พรักพร้อมเป็นการป้องกันพระนครด้วย แสดงพระเดชานุภาพให้หัวเมืองประเทศราชทั้งปวงเป็นที่เข็ดขาม ยำเกรงพระบารมีด้วย เพราะฉะนั้นการสนานใหญ่นี้ จึงได้มีทั้งกรุงสุโขทัยและกรุงทวาราวดี มิได้เว้นว่างเหมือนอย่างพิธีสัมพัจฉรฉินท์ที่มียิงอาฏานาบ้าง ไม่ได้ยิงบ้าง

วิธีออกสนามซึ่งมีมาในหนังสือนพมาศนั้นว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเษก พระศรีมโหสถซึ่งเป็นปโรหิตใหญ่ขึ้นนั่งเหนือตั่งอันหุ้มด้วยเงิน ทูลเบิกท้าวพระยา และรับสนองพระโอษฐ์ตรัสปราศรัยสามนัดแล้วเสด็จขึ้น ต่อนั้นไปมีการฟ้อนรำและเลี้ยงท้าวพระยาทั้งปวง ในการประชุมนี้ ข้างในร้อยดอกไม้เป็นรูปต่างๆบรรจุเมี่ยงหมากถวาย ให้พระราชทานลูกขุนทั้งปวง ต่อรุ่งขึ้นพราหมณ์จึงได้ตั้งพระรชพิธีบูชาธนัญชัยบาศ ที่สถานพระเทวกรรม บรรดาพระหลวงในกรมช้างกรมม้าโปรยข้าวตอกดอกไม้ รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึงได้เสด็จออกพระที่ชัยชุมพล พร้อมด้วยพระอัครชายา พระราชวงศานุวงศ์ สนมกำนัลนาง ส่วนข้าเฝ้าทั้งปวงนั้นนั่งบนร้านม้าห้าชั้น เป็นหลั่นลดจามผู้ใหญ่ผู้น้อย ภรรยาข้าราชการนั่งตามระหว่างช่องสีมาหน้าพระกาฬศาลหลวง ราษฎรทั้งปวงมาคอยดูกระบวนในรางเรียงท้องสนาม ได้เวาสมควรจึงให้เดินกระบวน กระบวนช้างก่อนแล้วจึงกระบวนม้า เดินสนานนั้นสามวัน วันแรกเดินพระยาช้างและม้าระวางต้น วันที่สองเดินช้างม้าระวางวิเศษ วันที่สามเดินช้างม้าระวางเพรียว เวลาเมื่อแห่แล้วมีการมหรสพขับร้อง เวลาค่ำมีหนัง จุดดอกไม้เพลิง สมโภชพระเทวกรรม ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ การที่เสด็จออกพระที่นั่งอินทราภิเษกคือต้องกันกับเรื่องที่ถือน้ำแล้วถวายบังคมสมโภชเลี้ยงลูกขุน การพระราชพิธีในเวลากลางคืนอีกคืนหนึ่งนั้น ก็คือการทอดเชือกดามเชือก แห่ช้างม้าสามวันนั้นก็อย่างสระสนานตามที่ว่านั้นดูเหมือนที่กรุงสุโขทัยจะมีทุกปีไปไม่มีเวลาขาด

ส่วนข้อความที่ได้จากกฎมนเทียรบาล ดูยุ่งยิ่งเข้าใจยากไปกว่าหนังสือนพมาศ เห็นจะเป็นด้วยภาษาที่จดนั้นจะเจือคำเงี้ยวเป็นไทยเหนือมาก หนังสือนพมาศเป็นตัวไทยใต้ เมื่อพระนครลงมาตั้งอยู่ข้างใต้ ถ้อยคำที่พูดจากันภายหลังก็กลายเป็นสำนวนไทยใต้ไป กฎมนเทียรบาลซึ่งเป็นของไทยเหนือแต่ง ถึงแม้ว่าเข้าใจยากกว่าหนังสือนพมาศซึ่งแต่งไว้ก่อนแล้ว เพราะเปลี่ยนสำนวนที่พูดไปตามภูมิประเทศ ในกฎมนเทียรบาลนั้นลงกำหนดไว้ว่า เดือนห้าขึ้น ๕ ค่ำออกสนานใหญ่ ซึ่งบอกกำหนดว่าขึ้น ๕ ค่ำนี้ ดูคลาดกันอยู่กับวันที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเป็นสระสนานแห่สามวัน ก็คงต้องเกี่ยวถึงวันห้าค่ำอยู่เอง

ข้อความที่ว่านั้นมัวๆรางๆ ดูว่าย้อนไปย้อนมา สังเกตดูก็จะเป็นสองเรื่องปนกัน แต่ผู้ที่คัดลอกต่อๆ กันมาไม่เข้าใจเนื่อความก็ลงปนกันเลอะไป เห็นจะเป็นเสด็จออกถวาบบังคมเลี้ยงขุนนางนั้นครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้ออกสนามแห่สระสนานอีกสามวัน อย่างเช่นพระร่วง การที่เสด็จออกถวายบังคมเลี้ยงขุนนางนั้น ว่าในพระบัญชรชั้นสิงห์ตั้งฉัตรเก้าชั้น เจ็ดชั้น ห้าชั้น สามชั้น สองชั้น ชั้น ๑ ที่ประทับเสด็จสมเด็จหน่พระพุทธเจ้าอยู่เฉียงฝ่ายซ้าย ที่ว่านี้เห็นจะเป็นฝ่ายซ้ายที่ประทับ คือถ้าเป็นมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท คงจะอยู่ตรงโรงถ่ายรูปกระจกออกมาได้แนวกับมุขเด็จ ส่วนสมเด็จพระอุปราชและเจ้านายอื่นๆไม่มีพลับพลา นั่งเฝ้าหน้าทิมดาบ แต่ทิมดาบนี้ไม่ปรากฏว่าคดหรือไม่คดอย่างไร บางทีจะเป็นโรงยาวๆสองหลัง เช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำไว้ที่พระที่นั่งวิมานรัถยาที่จังจันทรเกษม ก็ว่าเลียนอย่างเก่า หรือที่วังหน้าเมื่อยังไม่มีท้องพระโรงที่เรียกพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยก็มีทิมมหาวงศ์เป็นที่เฝ้า เพราะธรรมเนียมพระราชวังแต่ก่อนไม่มีท้องพระโรงอย่างเช่นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อภายหลังมีพระที่นั่งทรงปืนใช้แทนท้องพระโรง ก็เป็นพระที่นั่งตั้งลอยออกมาต่างหาก เหมือนพระที่นั่งศิวโมกข์ในวงหน้า ทิมที่เฝ้านี้คงจะเป็นสองหลังซ้ายขวา มีระหว่างเป็นที่แจ้งอยู่กลาง และคงจะไม่ยกพื้นสูงเหมือนอย่างทิมดาบคดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้ด้วย จึงได้มีกำหนดว่าที่ประทับสมเด็จพระอุปราชสูงสองศอก มีหลังคา มีม่านพนักอินทรธนูพระราชกุมารกินเมืองสูงศอกหนึ่ง มีหลังคาลดลงมาอีกชั้นหนึ่ง พระราชกุมารพระเยาวราชเตียงสูงคืบหนึ่ง แต่พระราชนัดดาออกชื่อไว้ แต่ไม่ได้ความว่านั่งอย่างไร ไปว่าแต่หน้าหลังเฉยๆ หรือจะล้อมๆ กันอยู่เหล่านั้น

ตรงหน้าพระที่นั่งตั้งเตียงสำหรับพระอาลักษณ์นั่งสนองพระโอษฐ์สูงสิบศอก ต่อนั้นลงไปจึงมีผู้นั่งต่ออาลักษณ์ลงไปอีก ไม่ได้ความว่าจะเป็นปลัดทูลฉลองหรือใคร วิธีซึ่งใช้อาลักษณ์สนองพระโอษฐ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลียนมาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้อาลักษณ์ทูลเบิกและรับพระบรมราชโองการคราวแรกในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง แต่ไม่ต้องนั่งเตียง ถ้าเสด็จออกตามที่ว่ามานี้ ก็เห็นจะเป็นออกเฝ้าถวายบังคมเลี้ยงลูกขุน ส่วนการออกสนามก็มีเค้าที่เห็นได้ชัด เช่นมีขุนหาญทั้งสิบขี่ช้างยืนที่เป็นต้น เป็นอย่างแห่สระสนาน ครั้นจะแปลหรือพิจารณาข้อความในกฎมนเทียรบาลลงให้ชัดแจ้ง ก็จะเสียเวลาและผิดๆถูกๆ เพราะรัวๆรางๆเป็นโคลงจีนทีเดียว

ส่วนในจดหมายของขุนหลวงหาวัด ในเดือนห้านี้ก็ไม่ได้พูดถึงสระสนานเช่นได้กล่าวมาแล้ว ไปพูดถึงเอาต่อเดือนสิบซึ่งไม่มีเรื่องอื่นจะว่า พูดย่อๆแต่ว่าเดือนสิบจึงรำขอและรำทอดเชือกดามเชือก สนานช้างต้นม้าต้น เห็นว่าในตอนหลังนี้จะเลิกเสียไม่ได้แห่แหนอันใดทั้งสองคราว เพราะฉะนั้นธรรมเนียมที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้จึงยังไต่ตามแบบกรุงเก่าในท่อนปลายนี้สืบมา คือมีพระราชพิธีทอดเชือดามเชือกทั้งสองคราว แต่ไม่มีการออกสนาม เว้นไว้แต่นานๆแผ่นดินหนึ่งจึ่งได้มีเสียคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นพระเกียรติยศ หรือให้เป็นการสนุกเล่นแบบกันคราวหนึ่ง การซึ่งเลิกออกสนามแห่สระสนานเสียนี้ ก็ด้วยตำราที่แรกตั้งขึ้นประสงค์การอย่างหนึ่ง ครั้นต่อมาการกลายไปเป็นอย่างหนึ่ง

แรกคิดนั้นเห็นเป็นประโยชน์ แต่ครั้นเมื่อการเคลื่อนคลายไปเสียก็กลับเป็นโทษ คือเมื่อพิเคราะห์การแห่สระสนานในครั้ง ๑๒๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในครั้งพระร่วงเมืองสุโขทัยนั้น เดินช้างเดินม้าเปลี่ยนกันทั้งสามวันเช่นกล่าวมาแล้ว ซึ่งเดินเช่นนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าช้างม้าพาหนะมีมาก ถ้าจะเดินวันเดียวให้หมดก็จะต้องเปลืองเวลามาก หรืออยากเล่นให้เป็นสามวันตามธรรมดาไทยๆ ชอบสาม ชอบห้า ชอบเจ็ด ก็ยังคงจะมีช้างม้ามาก จึงได้แบ่งออกเป็นกระบวนได้สามกระบวนไม่ซ้ำกัน ศัสตราวุธที่จะใช้แห่ก็ต้องมีมาก เป็นการตระเตรียมไพร่พลให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ปีหนึ่งได้ริวิ้วใหญ่ถวายตัวเสียสองครั้ง พาหนะและไพร่พลจะทรุดโทรมเสื่อมถอยไปอย่างไร หรือบริบูรณ์ดีอยู่ ก็ได้ทอดพระเนตรตรวจตราทุกปี บรรดาคนทั้งปวงซึ่งได้เห็นกำลังพลทหาร และพาหนะของพระเจ้าแผ่นดินพรักพร้อมบริบูรณ์อยู่ ก็เป็นที่ยำเกรงไม่ก่อเหตุการณ์อันใดขึ้นได้ จึงมีคำกล่าวมาแต่โบราณว่า พระราชพิธีนี้เป็นพิธีที่สำหรับทำให้ประชุมชนทั้งปวงมีใจสวามิภักดิ์รักพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นมงคลแก่ราชพาหนะ เป็นที่เกรงขามแก่ข้าศึกศัสตรู การก็เป็นจริงเช่นนั้น

แต่ซึ่งกลับเป็นโทษไปจนต้องเลิกเสียนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าช้างม้าพาหนะที่มีอยู่ในกรุงไม่พอที่จะเข้ากระบวนแห่ อย่าว่าสามพลัดเลย แต่พลัดเดียวก็เต็มกระบวน สระสนานที่เคยมีมาแต่ก่อนก็ต้องเอาช้างหัวเมืองเข้ามา นั่นก็เป็นความลำบากเกิดขึ้น เพราะจะเล่นพิธีอย่างหนึ่งแล้ว ศัสตราวุธที่จะใช้ในกระบวนแห่ก็ไม่มีพอ จะทำอาวุธเครื่องเหล็กขึ้นก็ไม่เป็นที่ไว้ใจกันหรือราคาจะแพงมาก ต้องทำอาวุธไม้ อาวุธไม้นั้นก็ไม่มีประโยชน์อันใดนอกจากที่จะถือแห่ให้เห็นงามๆ ก็เป็นอันป่วยการเปลืองเงินเปล่ายิ่งกว่า ทำเครื่องละคอนที่ยังได้เล่นหากินอยู่ได้เสมอ เครื่องอาวุธเหล็กเข้ากระบวนแห่ พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าทำเครื่องอาวุธไม้เป็นการป่วยการเช่นกล่าวมานี้ ส่วนคนที่จะใช้ในกระบวนแห่นั้นเล่า แต่โบราณมาเขาจะใช้คนที่เป็นหมู่ทหารซึ่งประจำรักษาพระนคร และระดมทหารนอกจากเวรประจำมาให้เข้ากระบวนทัพถือเครื่องศัสตราวุธเป็นการฝึกใหญ่ปีละสองครั้ง เมื่อได้เข้ากระบวนฝึกหัดอยู่ทุกปี ก็คงจะเรียบร้อยคล่องแคล่วกว่าที่ทอดทิ้งไม่ได้ฝึกหัด และเวลาบ่ายที่เสด็จขึ้นแล้วก็มีมวยปล้ำกระบี่กระบองต่อไป เป็นการฝึกหัดศัสตราวุธในการทหารแท้ทั้งนั้น ตกมาภายหลังเมื่อสิ้นการศึกสงครามแล้ว ทหารประจำเมืองก็เอาลงใช้เป็นพลเรือนเสีย ไม่ได้เคยถูกต้องศัสตราวุธ ไม่ได้เคยเข้ากระบวนทัพจัดเอามาเข้ากระบวนก็เป็นการกะร่องกะแร่งรุงรัง คนจ่ายเดือนประจำพระนครไม่พอ ต้องเกณฑ์เอาคนนอกเดือนเข้ามาแทนทหารระดมอย่างแต่ก่อน มาบ้างไม่มาบ้าง คนแห่ไม่พอ เดินไปพอหน้าพลับพลาแล้ว ก็ต้องกลับมาเดินกระบวนหลังต่อไปใหม่ ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดในการที่จะตรวจตราผู้คน และไม่เป็นพระเกียรติยศที่จะเป็นที่เกรงขามอันใด เพราะใครก็เห็นว่ากระบวนหน้าวิ่งมาเป็นกระบวนหลัง กลับเสียพระเกียรติยศไป

ส่วนขุนนางผู้ที่ต้องแห่นั้นเล่า แต่ก่อนตัวเสนาบดีจตุสดมภ์มนตรีทั้งปวงล้วนเป็นแต่แม่ทัพชำนิชำนาญในการขี่ช้างขี่ม้า ทั้งมีบ่าวไพร่สมกำลังที่ได้เคยไปการศึกสงคราม เมื่อมาเข้ากระบวนเดินสนานก็ไม่เป็นการเดือดร้อนอันใด ภายหลังมาขุนนางไม่ชำนิชำนาญในการทัพศึก ประพฤติตัวเป็นพลเรือนไปหมด จะถูกขี่คอช้างเข้าก็กลัวกระงกกระเงิ่น จะไปขี่เฉยๆไม่ฝึกหัดก็กลัว จะฝึกหัดก็อาย ว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องฝึกหัด บ่าวไพร่สมกำลังก็เอามาใช้สอยอยู่ในบ้านบ้าง เก็บเอาเงินบ้าง จะเรียกหเป็นการจรก็ไม่ใคร่จะได้ แลพประกวดประชันกันไปจนเกินกว่าที่มีกำลังจริงๆ ต้องเที่ยวหยิบยืมบ่าวไพร่ของผู้อื่นมาใช้อย่างนั้น ก็ต้องแจกจ่ายให้ปันเปลืองเงินปลืองผ้าเข้าไปอีก การสระสนานจึงได้ต้องเป็นอันเลิก คงได้มีอยู่แผ่นดินละครั้งพอเป็นพิธีหรือเป็นพระเกียรติยศ

แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่มีสระสนาน อันที่แท้นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดในการพระราชพิธีอย่างเก่าๆมาก ได้ทรงลองหลายอย่าง จนถึงที่ไปส่งพระผู้เป็นเจ้าที่เทวสถาน เป็นกระบวนช้างเป็นต้น แต่ทรงพระปรารภไม่สำเร็จอยู่สองเรื่อง คือเรื่องพิธีอาสวยุช ตำราพราหมณ์หายเสีย กำลังคิดจัดการใหม่ก็พอสวรรคตเสีย เรื่องหนึ่งสระสนานใหญ่ทรงอยู่เสมอไม่ขาดว่า ถ้าได้ช้างเผือกใหม่จะมีสระสนาน แต่ครั้นเมื่อทรงพระปรารถกับสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อไร ท่านก็ออดแอดบิดเบือนไปทุกครั้ง จนตกลงเป็นจะให้ขี่เสลี่ยงก็ยังบ่นตุบๆตับๆอยู่ เผอิญช้างเผือกก็ไม่ได้มา เป็นอันเลิกกันไป

เมื่อว่าที่แท้การพระราชพิธีทั้งปวง ถ้าเป็นพิธีเก่าแท้มักจะมีเหตุที่เป็นการมีคุณจริงอยู่ในพระราชพิธีนั้น แต่เมื่อการรวมๆลงมาก็กลาบเป็นแต่การทำไปตามเคยเพื่อสวัสดิมงคล จนเป็นการที่เรียกกันว่าพิธีสังเขปหรือต่างว่า เลยขาดประโยชน์ที่ได้จากความคิดเดิมนั้นไป ความคิดเรื่องถือสวัสดิมงคลนี้ มักจะเผลอไปถือเอาสิ่งที่ไม่มีคุณ หยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นมงคล เหมือนกับกลัวจัณไรไม่มีตัว หยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นจัณไร ไม่เลือกค้นหาสิ่งที่เป็นจริง ถึงมีอยู่ในอาการที่ประพฤติก็ไม่ใคร่รู้สึก ไปถือสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงว่าเป็นความจริงเสียโดยมาก เหมือนอย่างเช่นเข้าในใต้ถุนถือว่าจัณไร ก็ถ้าเป็นเรือนฝากระดานหรือเรือนฝากระแชงอ่อนอย่างไทยๆ ปลูกอยู่กับที่เป็นพื้นโคลนฉำแฉะ คนอยู่บนเรือนถ่ายอุจาระปัสสาวะ และกวาดขยะฝุ่นฝอยทิ้งลงมาที่ใต้ถุนเรือน ผู้ได้เข้าไปในใต้ถุนเรือนเช่นนั้น ก็คงพบแต่สิ่งซึ่งโสโครกเปื้อนเปรอะไปทั้งสิ้น นับว่าเป็นจัณไร มิใช่จัณไรเพราะอยู่ภายใต้ผู้อื่นอยู่ข้างบน จัณไรเพราะเปื้อนเปรอะเห็นปานนั้น แต่ผู้ที่ถือนั้นไม่ถือแต่เฉพาะเรือนเช่นนั้น ถือทั่วไปไม่ว่าเรือนดีเรือนเลวอันใด เอาแต่ชื่อใต้ถุนเป็นจัณไร

ส่วนที่เป็นมงคลนั้นเล่า เช่นกับอาบน้ำรดน้ำมนต์ ถ้าผู้ใดอาบน้ำรดน้ำมนต์ชำระกายให้บริสุทธิ ก็ย่อมจะเป็นที่สบายตัวสบายใจ รู้สึกความหมดจดดีกว่าที่เปื้อนเปรอะอยู่ แต่ผู้ที่ปรารถนามงคลเชื่อว่า น้ำที่เสกเป่าแล้วนั้นถูกตัวนิดหน่อยก็เป็นสวัสดิมงคล ไม่ต้องคิดถึงการที่ชำระกายให้บริสุทธิ์ ที่ว่านี้เป็นแต่การภายนอก เมื่อพิจารณาตามคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน เช่นมาในมงคลสูตรเป็นต้น สวัสดิมงคลย่อมมาด้วยความประพฤติของผู้ที่ปรารถนามงคล ไม่ได้มาโดยมีผู้มาเสกเป่าให้ หรืออ้อนวอนขอร้องได้ ความจริงเป็นอยู่เช่นนั้น แต่หากผู้ซึ่งจะประพฤติตามทางมาของสวัสดิมงคลไม่ได้ตลอด ความปรารถนาตักเตือนเร่งรัดเข้า ก็ต้องโวยวายขวนขวายไปอย่างอื่นหรือทำแต่พอเป็นสังเขป เพราะการสิ่งใดที่เป็นการไม่จริง ย่อมง่ายกว่าการที่จริง คนทั้งปวงก็ลงใจถือเป็นแน่นอนเสียตามที่แก้ขัดไปนั้น ว่าเป็นการใช้ได้จริง แล้วก็บัญญัติเพ้อๆตามไป เช่นกินมะเฟืองกินน้ำเต้าเสียสง่าราศีอะไรวุ่นไป เป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นใหม่จากผู้ที่เข้าใจซึมซาบในวิธีที่เขาลดหย่อนผ่อนผันลงมาว่าเป็นความจริง

การออกสนามใหญ่ คือสระสนานนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูตามความจริงก็เห็นว่าเป็นการมีคุณแก่พระนครมาก เป็นเหตุที่จะให้ข้าศึกศัตรูครั่นคร้ามขามขยาดได้จริง แต่ต้องทำอย่างเก่า ให้มีตัวทหารมีช้างมีม้าจริงๆ ถ้าจะเป็นการหยิบๆยืมๆร่องแร่งอย่างเช่นทำกันมาแล้ว ไม่แห่ดีกว่าแห่ พรรณนามาด้วยวิธีสระสนานที่แห่ขึ้นเพราะเหตุใด และเลิดเสียเพราะเหตุใด ยุติเพียงเท่านี้ ฯj


พิธีทอดเชือกดามเชือก

บัดนี้จะได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกซึ่งมีทำอยู่เสมอมิได้เว้นว่าง ถึงไม่ได้แห่สระสนานคเชนทรัศวสนานทั้งอย่างเก่าอย่างใหม่ พิธีทอดเชือกดามเชือกนี้ก็ยังทำเสมออยู่ เมื่อพิเคราะห์ดูคำว่าทอดเชือกอย่างหนึ่ง ดามเชือกอย่างหนึ่งนั้น จะแปลว่ากระไร วิธีที่เรียกว่าทอดเชือกนั้น คือเชือกบาศที่สำหรับคล้องช้างเป็นขดๆอยู่ จับขึ้นทั้งขดแยกออกเป็นสองส่วนตั้งกางไว้ เรียกว่าทอดเชือd เชือกที่กางไว้นั้นกลับพับลงวางเป็นขดๆตามธรรมเนียมเรียกว่าดามเชือก บางทีคำว่าทอดเชือกนั้นจะตรงกันกับว่าคลี่เชือก ดามเชือกนั้นจะตรงกันกับคำว่าขดเชือก ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นพิธีที่ถึงกำหนดตรวจเชือกบาศหกเดือนครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะไปทำราชการ คลี่ออกดูเมื่อชำรุดเสียหายอันใดก็จะได้ซ่อมแซมแก้ไข เมื่อดีอยู่ก็จะขดเข้าไว้อย่างเดิม

แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีผู้ใดที่จะคิดเห็นเช่นนั้น เพราะเหตุว่าผู้ที่จะคลี่เชือกออกดูนั้น เชื่อเสียแล้วว่าเชือกดีอยู่ก็เอาออกตั้งกางๆ ไว้พอเป็นสังเขป ไม่ได้บอกเสียก่อนว่า "ไม่ต้องตรวจดอกหนาเชือกดีอยู่ ทำเท่านี้ก็พอ" ลูกศิษย์ลูกหาที่เห็นต่อๆมา ก็เข้าใจซึมซาบว่า การที่ทำสังเขปย่อๆ นั้นเป็นเต็มตำราแล้ว เมื่อนึกแปลไม่ออกว่าทำเช่นนั้นประสงค์จะเอาประโยชน์อย่างไร ก็ต้องไหลไปตามทางที่เป็นประโยชน์อันไม่มีรูป คือว่าเป็นสวัสดิมงคลเท่านั้น สวัสดิมงคลจะมาด้วยอะไรก็นึกไม่ออก และไม่ต้องนึก เพราะผู้ใหญ่ท่านทำมา การที่มีวิธีบูชาโปรยข้าวตอกรำพัดชาอันใดต่อไปนั้น ก็เป็นอยู่ในเรื่องบูชาไหว้ครู

การพระราชพิธีนี้ได้ลงมือทำการทอดเชือกในวันเดือนห้า แรมสามค่ำเวลากลางคืน ดามเชือกในวันแรมสี่ค่ำเวลาเช้าครั้งหนึ่ง ในเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลาค่ำทอดเชือก ขึ้น ๕ ค่ำเวลาเช้าดามเชือกอีกครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีทั้งสองคราวนี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ทำที่หอเชือก ไม่ได้ไปทำที่เทวสถานเหมือนอย่างว่ามาในเรื่องนพมาศ ชะรอยที่กรุงเก่าก็คงจะทำที่หอเชือกเหมือนกันเช่นนี้ แต่หอเชือกที่กรุงเทพฯซึ่งตั้งอยู่ที่สนามหลวง ตรงหน้าวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เป็นที่รกเรี้ยวเหมือนตั้งอยู่ในกลางกองฝุ่นฝอย จึงเป็นที่ไม่สมควรที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเข้าในพระราชพิธีนั้นด้วย ก็เคยยกมาทำที่อื่นได้ ได้ยกมาหลายครั้ง เหมือนอย่างในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าฝึกหัดขี่ช้างไหว้ครู ก็ได้ยกมาทำที่โรงละคอนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ถึงว่าเมื่อทำพิธีอยู่ที่โรงเชือกแต่ก่อนมา ก็ว่ามีเจ้านายเสด็จไปมิได้ขาด จนในร่างรับสั่งทุกวันนี้ก็ยังมีว่าให้จัดอาสนะพระเจ้าพี่ยาเธอน้องยาเธอที่จะเสด็จไปเข้าพระราชพิธีไปทอดตั้งสองเวลา อย่างให้ขาดได้ การที่เจ้านายเสด็จนั้นพึ่งจะมาเลิกไม่ได้เสด็จ ในชั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอหลังๆ และพระเจ้าราชวงศ์เธอ เพราะไม่ได้ฝึกหัดวิชาช้างม้าเหมือนอย่างแต่ก่อน

ตามคำที่เล่าว่า เมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าลูกเธอต้องฝึกหัดทรงช้างให้ชำนิชำนาญทุกองค์ จนถึงฝึกทรงบาศทิ้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในจเวลาเย็นๆทุกวันมิได้ขาด เจ้านายซึ่งทรงฝึกหัดวิชาช้างเหล่านี้ต้องเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น ข้าราชการซึ่งจะต้องขี่ช้างยืนสนาน ปีใดจะมีสระสนาน ก็ต้องเข้าพระราชพิธีในวันแรมสามค่ำ เวลากลางคืน ไม่ว่าผู้ใดเคยไหว้ครูแล้วหรือยังไม่ได้ไหว้ครู คงต้องไปเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น

ลัทธิหมอช้างอย่างไทยถือเสนียดจัณไรจัดนัก มีวิธีหลายอย่างซึ่งถือว่าเป็นการอัปมงคล ที่ผู้ซึ่งเขาว่าครอบหมอมอญไม่ถือ เช่นหลวงคชศักดิ์เดี๋ยวนี้เป็นต้น ในการพระราชพิธีนี้หวงแหนอย่างยิ่ง ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปในโรงพิธีเป็นอันขาด และไม่ให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีเข้าไปในโรงพิธี ด้วยกลัวว่าจะไปเลียนวิธีท่าทางออกมาทำเล่น ถือกันว่าทำให้เสียจริตได้ ดูก็ข้างจะจริง เช่นรำพัดชาถ้านั่งอยู่ดีๆ ใครลุกขึ้นรำก็บ้าแน่ ถ้าจะตั้งพระราชพิธีแห่งใดก็มีม่านผ้ากั้นวงล้อม จนปี่พาทย์ราดตะโพนก็ไม่ให้เข้าไปอยู่ในโรงพิธี ใช้ตะโกนบอกหน้าพาทย์ออกมาข้างนอก

แต่เมื่อว่าตามจริงแล้ว พระราชพิธีนี้อยู่ข้างจะน่าสนุกดีอยู่ การในโรงพิธีนั้น ตั้งเตียงเทวรูปและตั้งกลศสังข์เป็นบันไดสามขั้น ตามแบบพิธีพราหมณ์ทั้งปวงเช่นกล่าวมาแล้ว เตียงเพดานชั้นต้นตั้งรูปพระอิศวร พระนารายณ์ มหาวิฆเนศวร เตียงลดลงมาตั้งกลศสังข์เบญจคัพย์ที่หน้าเทวรูป ตั้งเตียงวางเชือกบาศที่ปิดทองสามเตียง เชือกบาศปิดเงินเตียงหนึ่ง มีเครื่องกระยาบวชที่หน้าเตียงนั้นทั้งสี่ ตรงหน้าเตียงเชือกบาศทั้งสี่นี้ออกมา มีอีกเตียงหนึ่งวางเครื่องช้างชนักขอเชือกรำพัดชา ตรงหน้าเตียงนั้นออกมามีบายศรีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำโหรต้องหาฤกษ์เวลาที่จะลงมือทำพิธีทุกครั้ง เริ่มแต่กระสูทธิ์ อัตมสูทธิ์ บูชาเบญจคัพย์ บูชากลศบูชาสังข์ตามแบบแล้ว จนถึงสรงน้ำพระ ประโคมพิณพาทย์เชิญพระขึ้นภัทรบิฐ จุดแว่นเวียนเทียน สมโภชเจิมพระเทวรูปแล้ว จึงได้รดน้ำสังข์บรรดาผู้ซึ่งไปประชุมอยู่ในโรงพิธีนั้น แล้วอ่านเวทพรมน้ำเชือกบาศ เวลานั้นประโคมพิณพาทย์สาธุการถึงเจ็ดลา แล้วตัวพระครูพฤติบาศ และเจ้ากรม ปลัดกรม กรมช้างเข้าประจำหน้าเตียงเชือกคุกเข่ายกเชือกบาศขึ้นกางไว้เป็นทอดเชือก ต่อนั้นไปให้นายท้ายช้างคนหนึ่งมาหมอบที่กลางโรง พระครูพฤติบาศซึ่งเป็นหมอเฒ่าจึงเอาชนักมาวางคร่อมหลัง เอาด้ามขอสอดในพรมชนักปลายด้ามขอขึ้นข้างบน นายท้ายช้างที่หมอบนั้นมือกำยื่นขอไว้ จึงให้พราหมณ์พฤติบาศสองคนอ่านดุษฎีสังเวยอย่างเก่าที่ขึ้นว่า อัญขยมบังคมภูวสวะ เป็นต้น จบลาหนึ่งเป่าสังข์

ในเวลาเมื่ออ่านดุษฎีจบเป่าสังข์นั้น บรรดาผู้ซึ่งประชุมในที่นั้น โปรยข้างตอกดอกไม้อย่างเช่นไหว้ครูละคอน ข้าวตอกดอกไม้นั้นมีพานทองสองพาน พานเงินสองพาน พานทองนั้นเป็นของสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรย พานเงินเป็นของข้าราชการ ว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะท่านเสด็จเสมอไม่ขาด ถึงว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ไม่เสด็จ ก็ยงัมีพานข้าวตอกดอกไม้ทองคู่หนึ่ง เงินคู่หนึ่ง อยู่ดังนี้เสมอไม่ได้ขาดจนทุกวันนี้

ครั้นอ่านดุษฎีสังเวยจบสามลาแล้ว จึงสมมติเจ้ากรมปลัดกรมกรมช้างคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรำพัดชาเป็นคนคล่องแคล่วชำนิชำนาญว่าเป็นพระนารายณ์ เมื่อแปลพระพักตร์เป็นช้าง ลงมาสอนสอนวิชาคชกรรมให้แก่คนสี่คน เมื่อไปปราบช้างเอกทันต์แล้วมานั้น เมื่อแรกลงมือรำ พิณพาทย์ทำเพลงคุกพาทย์รัว กราบสามครั้ง กราบนั้นอยู่ข้างกระดุกกระดิกมาก ไม่ใช่กราบธรรมดา เข้าเพลงพิณพาทย์ แล้วจึงนั่งท่าเรียกว่าพุทธรา พิณพาทย์ตีเพลงตระบองกัน เมื่อเสร็จแล้วรัวกราบอีกเป็นคราวที่สาม แล้วจึงไปนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งมีช้างม้า ยกมือขึ้นจีบบนศรีษะเอนตัวเข้าไปที่เชือกบาศเรียกว่าไหว้ครู พิณพาทย์ทำเพลงเหาะ เสร็จแล้วรัวกราบอีกเป็นครั้งที่สี่ ต่อนั้นไปพิณพาทย์ทำเพลงชุบรำส่องแว่น แล้วแผลงกลับจับขอพายซ่นยินและฉะพายตามวิธีเพลง จะว่าให้เข้าใจนอกจากที่เห็นไม่ได้ เมื่อเสร็จแล้วคุกพาทย์รัวกราบอีกเป็นครั้งที่ห้า ต่อนี้ไปพิณพาทย์เปลี่ยนเป็นรุกร้นเดินส่องแว่นและออกแผลงอีก เปลี่ยนขอจับเชือกบาศใหม่ รำท่าซัดบาศเหวี่ยงเชือกให้พ้นตัวออกไปข้างหนึ่งสามรอบ แล้วคลายออกเหวี่ยงให้พ้นข้างหนึ่งอีกสามรอบแล้วให้คลายออก เป็นเสร็จการ ลงนั่งคุกพาทย์รัวกราบอีกครั้งหนึ่ง เป็นสิ้นวิธีรำพัดชา

เมื่อเวลาที่รำเชือกบาศนั้น มีนายท้ายช้างอีกคนหนึ่งนั่งจับสายกระแชง คือท้ายเชือกบาศ สมมติว่าเป็นควาญช้างอยู่จนตลอดเวลารำ การที่รำพัดชานี้ ถือว่าถ้าผู้ใดได้เห็นเป็นสิ้นเสนียดจัณไร พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆที่ทรงชำนิชำนาญในการช้าง เช่นพระนารายณ์มหาราช พระมหาบุรุษเพทราชาเป็นต้น เสด็จขึ้นพระพุทธบาท ก็ทรงรำพัดชาเหนือกระพองช้าง ถวายพระพุทธบาททุกครั้ง เป็นเสร็จการพระราชพิธีในเวลาค่ำ

การพระราชพิธีดามเชือก ในวันขึ้นสี่ค่ำเวลาเช้าก็เหมือนกันกับเวลาค่ำ แปลกแต่พับเชือกบาศที่กางไว้นั้นเรียกว่า ดามเชือก แต่ไม่ได้มีการเสด็จหรือมีผู้ใดไปประชุมดังเช่นเวลาค่ำ แต่เดิมมาในการพระราชพิธีนี้มีเงินที่พราหมณ์จะได้ตำลึงเดียว นอกนั้นได้แต่ผ้าขาวที่รองอาสนะเทวรูป และรองเชือก ทั้งของบูชาต่างๆ ฯj


แห่สระสนานใหญ่

การแห่สระสนานใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้แบบอย่างไว้ว่าอย่างไร พบแต่ริ้วสระสนานในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีขาลโทศก ๑๑๙๒ เดินแห่ ๓ วัน คือวันขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ตั้งกระบวนหน้าวัดชนะสงคราม ผ่านหน้าพระราชวังบวรฯ ลงมาทางท้องถนนชัย กระบวนในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ก็คงเหมือนกันกับครั้งนี้ จะแปลกแต่กระบวนพระยาช้าง พระยาม้า ที่มีตามกาลเวลา กับเสนาบดีที่ไม่ชราก็คงจะขี่ช้าง ริ้วกระบวนมีดังนี้

ตำรวจถือธงห้าชายออกหน้า มีสารวัดธงคนหนึ่ง ต่อนั้นเป็นกระบวนพระยาช้าง กระบวนที่ ๑ พระยาช้าง พระเทพกุญชร ธงสามชายคู่หนึ่ง ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๒๐ สารวัดธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๕ คู่ สารวัดทวน ๑ แล้วเเส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๕ คู่ เดินสายนอก สายใน ธงฉาน ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัดกลอง ๑ แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัดแตร ๑ สารวัดกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ ตัวพระยาช้างเทพกุญชรนั้นมีข่ายคนถือกั้นสี่ด้าน คนถือข่าย ๘ คน กระฉิ่งเกล็ก ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ ถือเครื่องยศ ๖ คน คือกล้วยโต๊ะ ๑ อ้อยโต๊ะ ๑ มะพร้าวโต๊ะ ๑ หญ้าโต๊ะ ๑ หม้อน้ำสองหม้อ ใช้เครื่องเงินทั้งนั้น ต่อนั้นไปช้างพังผูกเกณฑ์ตะพัด คือมีเครื่องที่สำหรับหัดช้างให้เดินฝีเท้าเรียบช้างหนึ่ง ช้างพัดตามคู่ ๑ ช้างพังทูนบาศเป็นช้างเชือกคู่ ๑

ต่อนั้นไปกระบวนพระบรมฉัททันต์ ลดลงกว่าพระเทพกุญชร คือมีธงสามชายคู่ ๑ สารวัดธง ๑ ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๕ คู่ สารวัดธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ คู่ สารวัดทวน ๑ แส้หวาย ๘ คู่ กระบองกลึง ๕ คู่ สายนอก สายในธงฉานคู่ ๑ กลองชนะ ๕ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัดกลอง ๑ แตรงอน ๔ คู่ แตรฝรั่ง ๒ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัดแตร ๑ สารวัดกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ คนถือข่าย ๘ กระฉิ่งเกล็ด ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ เครื่องยศ ๖ ช้างพังผูกเครื่องเกณฑ์ตะพัด ๑ พังตามคู่ ๑ ช้างเชือกทูนบาศคู่ ๑

กระบวนที่ ๓ พระบรมคชลักษณ์ เหมือนกับกระบวนที่ ๒ กระบวนที่ ๔ พระบรมไอยราลดธนูลงคง ๑๐ คู่ ทวน ๑๕ คู่ กลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีสังข์ กระบวนที่ ๕ พระบรมนาเคนทร์ เหมือนกันกับกระบวนที่ ๔ กระบวนที่ ๖ พลายไอยราพต ลดธงมังกรลงคงแต่ ๓ คู่ แส้หวายคงแต่ ๖ คู่ กระบองกลึงคงแต่ ๔ คู่ ไม่มีกลองชนะ ช้างพังนำ ๑ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ พลายไอยราพตเป็นช้างดั้ง มีกลางช้างถือเส้า มีแส้หางม้าและเครื่องยศสาม พังผูกเกณฑ์ตะพัดตาม ๑ กระบวนทที่ ๗ เจ้าพระยาปราบไตรจักร กรบวนที่ ๘ พลายมณิจักร กระบวนที่ ๙ พลายอัษฎาพงศ์ ในกระบวนที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ นี้เหมือนกันกับกระบวนที่ ๖ เป็นช้างดั้งทั้งสี่ กระบวนที่ ๑๐ พลายชัยนาเคนทร์ ธงมังกรคู่ ๑ ธนู ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ สารวัด ๑ กระบวนที่ ๑๑ พลายมงคลรัตนาศน์ กระบวนที่ ๑๒ พลายแสนพลพ่าย กระบวนที่ ๑๓ พลายศิลป์นารายณ์ กระบวนที่ ๑๔ พลายสกลฤทธิ์ กระบวนที่ ๑๕ พลายเอกราวุธ กระบวนที่ ๑๖ พลายประกายมาศ กระบวน ๑๗ พลายศรพระกาล กระบวนเหล่านี้เหมือนๆกันกับที่ ๑๐ ตัวช้างแต่งอย่างพระยาช้าง หมอควาญซึ่งขี่พระยาช้างนุ่งสองปักลาย คาดราดตะคด สวมเสื้อครุยลอมพอก ถ้าพระยาช้างพลายใช้สีชมพู พระยาช้างพังใช้สีขาว

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระยาเพทราชา บโทนขัดดาบ ๓๐ คู่ ตัวพระยาเพทราชาขี่ช้างพังมีสัปทนกั้น ทนายขัดดาบริ้วหลัง ๒๐ คู่ ทนายตามแถวละยี่สิบคนห้าแถวเป็นร้อยคน ต่อนั้นไปถืออาวุธต่างๆ เดินเป็นสี่สายๆละสี่สิบคนรวมคนในกระบวนพระยาเพทราชา ๒๐๐ คน กระบวนพระยากำแพง บโทน ๒๕ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๑๕ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๖ คน ๕ แถว ๘๐ คน อาวุธต่างๆตามหลัง ๔ แถวๆละ ๓๕ คน รวมกระบวนนี้ ๑๗๐ คน ที่ ๓ กระบวนพระยาพระกฤษณรักษ์ บโทนขัดดาบนำ ๒๐ คู่ ทนายขัดดาบตาม ๑๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๒ คน ๕ แถว ๖๐ คน อาวุธต่างๆสี่สายๆละ ๒๙ รวม ๑๑๖ คน ต่อนั้นไปกระบวนเจ้าพระยามหาเสนา บโทน ๖๐ คู่ กระฉิ่ง ๔ เจ้าพระยามหาเสนาขี่เสลี่ยงแปลง คนหาม ๘ มีบังตะวัน ทนายขัดดาบข้างหลัง ๔๐ ทนายตามแถวละ ๔๐ ห้าแถว ๒๐๐ คน อาวุธตาม ๔ แถวๆละ๘๐ คน รวมกระบวนนี้ ๓๒๐ คน กระบวนเจ้าพระยาธรรมา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา เป็นกระบวนเสลี่ยงแปลงเหมือนกันทั้งสามกระบวน มีบโทน ๕๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๓๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๓๒ ห้าแถว ๑๖๐ อาวุธต่างๆตาม ๔ แถวๆละ ๖๙ รวมเป็นกระบวนละ ๒๗๖ คน ขุนนางที่ไปเสลี่ยงนี้สวมเสื้อครุยลอมพอก แต่ที่เป็นกระบวนช้างไม่สวม

ต่อกระบวนเสลี่ยงนี้ไปเป็นกระบวนช้าง ที่ ๑ เจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนเท่าเจ้าพระยามหาเสนา มีสัปทนบังตะวัน กระฉิ่งเหมือนกัน กระบวนที่ ๒ เจ้าพระยาพระคลัง เท่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนที่ ๓ พระยาศรีพิพัฒน์ ที่ ๔ พระยาราชสุภาวดี ที่ ๕ พระยาจ่าแสนยากร เท่าเจ้าพระยาธรรมา กระบวนที่ ๖ พระยาสุรเสนา บโทน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๒๗ คู่ ทนายตามแถวละ ๒๖ คน ๕ แถว ๑๓๐ อาวุธตามแถวละ ๕๔ คนสี่แถวรวม ๒๑๖ คน กระบวนที่ ๗ พระยามหาอำมาตย์ กระบวนที่ ๘ พระยาท้ายน้ำ กระบวนที่ ๙ พระยาสีหราชเดโช กระบวนที่ ๑๐ พระยาราชมนตรี กระบวนที่ ๑๑ พระพงศ์อมรินทร์ กระบวนที่ ๑๒ พระยาราชมนตรี กระบวนที่ ๑๓ พระยาเกษตรรักษา กระบวนที่ ๑๔ พระยาพิชัยบุรินทรา กระบวนที่ ๑๕ พระยาไกรโกษา กระบวนที่ ๑๖ พระยานครเขื่อนขันธ์ กระบวนที่ ๑๗ พระยาศรีสรไกร กระบวนที่ ๑๘ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี กระบวนเท่ากันกับพระยาสุรเสนา

เมื่อกระบวนเหล่านี้มาถึงหน้าพลับพลา ขุนนางผู้ขี่ช้างถวายบังคม แล้วเลี้ยวเข้าไปยืนเรียงประจำอยู่หน้าพลับพลา แล้วโปรดให้เรียกช้างน้ำมันมาผัดพาฬล่อแพนอยู่ในสามช้างสี่ช้าง ผู้ซึ่งขี่ช้างนำมันนั้นใช้เจ้ากรมปลักกรมในกรมช้าง มีพระยาราชวังเมืองเป็นต้น ต่อผัดพาฬล่อแพนแล้ว จึงได้เดินกระบวนโคกระบือม้ารถต่อไป

กระบวนโค ธงเสือนำกระบวน ๑ นำริ้วคู่ ๑ ปฏัก ๑๐ คู่ ตะพด ๑๐ คู่ พิณพาทย์ตีสามหามสี่หว่างริ้วสำรับหนึ่ง คนจูงโคๆละ ๔ โค ๕ ตัว ๒๐ คน กระบวนกระบือเท่ากัน

กระบวนม้า ธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนำริ้ว ๒ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ สารวัดธง ๑ ธนู ๑๐ สารวัดธนู ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ สารวัดทวน ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ แส้หวาย ๔ คู่ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ กระบองกลึงคู่ ๑ สายในปี่กลองมลายู ๑๘ คน สำรับ ๑ กลองชนะ ๕ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ ขุนหมื่นกรมม้าขี่ม้านำ ๑ ม้าต้นคนจูง ๔ สารวัดกรมม้า ๑ ถือเครื่องยศ ๒ เจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่ม้าตามคู่ ๑ แล้วธงตะขาบคั่นคู่หนึ่ง กระบองกลึง ๒ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ ขุนหมื่นม้านำ ๑ ม้าตาม ๒ จูงม้าต้น ๔ ๔ สารวัด ๑ เครื่องยศ ๒ เหมือนกันทุกกระบวนทั้ง ๑๙ แล้วถึงพิณพาทย์จีนคั่น ๑๔ คน

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนขุนนางขี่ม้า ที่ ๑ พระยาศรีสุริยพาห บโทนขัดดาบสองแถว ๓๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๐ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆละ ๒๐ คน อาวุธต่างๆสี่แถวๆละ ๔๐ คน เป็น ๑๖๐ คน กระบวนที่ ๒ พระยาเทพวรชุน กระบวนที่ ๓ พระยาราชนิกูล กระบวนที่ ๔ พระยาพิชัยสงคราม กระบวนที่ ๕ พระยารามกำแหง กระบวนที่ ๖ พระยาราชโยธา กระบวนที่ ๗ พระยาเสนาภูเบศร์ กระบวนที่ ๘ พระยาณรงค์วิชัย กระบวนที่ ๙ พระยาอภัยสงคราม กระบวนที่ ๑๐ พระยาราชวังสรรค์ มีกระบวนเท่าๆกันกับพระยาศรีสุริยพาห สวมเสื้อเข้มขาบกั้นสัปทนทั้งสิ้น

ต่อนั้นไปกระบวนรถอีกสาม กระบวนที่ ๑ พระยาจุฬาราชมนตรีขี่รถเก๋งม้าคู่กั้นสัปทน มีคนจูงม้าชักรถ ๒ แขกวรเทศแทนบโทนนำหน้า ๓๐ คน ตามเท่ากันกับขุนนางขี่ม้า ที่ ๒ พระยาศรีราชอากร ขี่รถจีนเรียกว่ารถเกี้ยวคนจูง ๒ กันสัปทน ๑ บโทนใช้จีน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๗ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆละ ๒๑ คน อาวุธต่างๆสี่แถวๆละ ๕๔ คน เป็นคน ๒๑๖ คน ที่ ๓ พระยาวิเศษสงคราม ขี่รถฝรั่งสี่ล้อเทียมม้าคู่ คนจูง ๒ กั้นสัปทน ๑ ฝรั่งแทนบโทนแห่หน้า ๓๐ คู่ กระบวนตามเหมือนพระยาจุฬาราชมนตรี กระบวนม้ากระบวนรถนี้ไม่ได้ยืนหน้าที่นั่ง เมื่อผ่านพ้นไปแล้วจึงให้เรียกม้าห้อ ม้าห้อนั้นกำหนดว่า ๑๒๐ ม้า แต่จะเป็นม้าต่างหากหรือม้าในกระบวนที่เดินแห่แล้วกลับลงมาห้อ แล้ววนกลับมาอีกเล่านั้นไม่ทราบเลย รับประกันไม่ได้

การแห่สระสนานใหญ่เช่นนี้ ไม่ได้แห่เวลาเย็นเหมือนคเชนทรัศวสนาน ใช้แห่แต่เวลาเช้ากว่าจะสิ้นกระบวนเสด็จขึ้นเกือบตกบ่าย เวลาเสด็จขึ้นแล้วข้าราชการที่ต้องแห่สระสนาน ยืนช้างอยู่หน้าพลับพลานั้น ลงจากช้างมารับพระราชทานเลี้ยงที่ที่พัก แล้วมีมวยมีกระบี่กระบองไปจนเวลาเย็น เสนาบดีเป็นผู้ตกรางวัล ต่อเวลาเย็นเลิกการเล่นทั้งปวงแล้วจึงได้กลับบ้าน ตามที่เล่ากันมาว่าในเวลาแห่สระสนานนั้น คนดูเป็นผู้ชายน้อย ด้วยต้องเข้ากระบวนเสียโดยมาก เวลาแต่ก่อนนี้คนในกรุงเทพฯก็ยังไม่มากเหมือนอย่างทุกวันนี้ ดูคงจะบางตาไปได้บ้างจริง อาวุธเครื่องแห่ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ที่ทำเป็นอาวุธเหล็กจริงขึ้นนั้น เมื่อเสร็จการสระสนานแล้ว พระราชทานเงินหลวงให้ตามราคา รวบรวมมาไว้ในคลังสรรพยุทธ คงยังได้ใช้ในราชการแห่แหนมาจนทุกวันนี้ เพราะการสระสนานต้องลงทุนรอนมาก และเป็นการเล่นพิธีเช่นนี้ จึงได้มีแต่แผ่นดินละครั้ง ภายหลังมาในสองรัชกาลนี้ก็ไม่ได้มี ฯj


คเชนทรัศวสนาน

เรื่องคเชนทรัศวสนานนี้ พึ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นเหตุนั้นมีสองเรื่อง เรื่องหนึ่งคือในหนังสือนพมาศซึ่งกล่าวว่าในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอรุณมหาราชสุโขทัย ได้มีการแห่สนานช้างต้นม้าต้นปีละครั้งดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว และการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกที่ยังคงมีอยู่เป็นพิธีพราหมณ์ ไม่มีการอันใดซึ่งเกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา ก็การพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นพิธีประจำพระนคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มเติมให้เกี่ยวในพระพุทธศาสนาลงอีกหลายอย่าง การพระราชพิธีนี้ อยู่ข้างจะเป็นช่องเหมาะมีที่อ้างอิงตัวอย่างว่าเป็นการพิธีมงคลมีมาแต่โบราณ จึงได้ทรงเทียบเคียงการเก่ามาตั้งเป็นแบบฉบับขึ้น

ข้อซึ่งนับว่าเป็นการเนื่องในพระพุทธศาสนานั้น คือได้มาจากทีฆาวุชาดก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสยกเรื่องมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะระงับความแตกร้าวกันในหมู่พระสงฆ์ มีเนื้อความตามนิทานชาดกนั้นว่า ในปางก่อนมีกษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าพรหมทัต ผ่านสมบัติในเมืองพาราณสี เป็นพระราชธานีนครใหญ่ มีกษัตริย์อีกองค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าทีฆีติโกศล ผ่านสมบัติในโกศลราฐ มีเขตแดนใกลบ้กับเมืองพาราณสี ด้วยจารีตของขัตติยซึ่งถือว่าที่ไปปราบปรามกษัตริย์ผู้อื่น ถึงแม้จะไม่มีเหตุอันใดพอที่จะยกขึ้นกล่าว นอกจากที่ไม่ได้อ่อนน้อมยอมอยู่ในใต้อำนาจ ไม่เป็นการผิดธรรมนั้น พระเจ้าพรหมทัตได้ตระเตรียมกองทัพพรักพร้อมจะไปตีเมืองโกศลราฐ พระเจ้าทีฆีติโกศลทราบข่าวศึก เห็นว่ากำลังน้อยจะต่อสู้มิได้ ก็พาพระมเหสีหนีออกจากพระนครก่อนกองทัพยังไม่มาถึง แปรเพศเป็นปริพาชกเข้าไปอาศัยช่างหม้ออยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตยกกองทัพไปถึงเมืองโกศลราฐไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็เก็บทรัพย์สมบัติกวาดครอบครัวกลับคืนพระนคร

พระเจ้าทีฆีติโกศลกับพระมเหสีอาศัยอยู่กับช่างหม้อ ไม่นานพระมเหสีก็ทรงพระครรภ์ ด้วยอำนาจพระราชโอรสซึ่งปฏิสนธิในครรภ์มีบุญสมภารใหญ่ จึงบันดาลให้พระมเหสีปรารถนาจะใคร่ดูจตุรงคเสนาสี่เหล่าอันมีอาวุธพรักพร้อมอย่างในยุทธภูมิ และอยากดื่มน้ำล้างพระแสงทรงของพระเจ้าแผ่นดิน จึงทูลแก่พระราชสามี พระเจ้าทีฆีติโกศลก็ขัดข้องในพระหฤทัย ด้วยสิ้นอำนาจเสียแล้ว จึงไปแจ้งความแก่พราหมณ์ปโรหิตซึ่งเป็นที่ไว้ใจ พราหมณ์ปโรหิตผู้นั้นชำนาญในการสังเกตนิมิต เข้าใจว่าพระราชโอรสนั้นจะมีบุญญาธิการ จึงรับธุระมาทูลพระเจ้าพรหมทัตขอให้ประชุมพลจตุรงค์ และให้ชำระพระแสงเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่พระนคร พระเจ้าพรหมทัตก็โปรดให้จัดการตามคำปโรหิตกราบทูล

พระราชเทวีพระเจ้าทีฆีติโกศล ก็ได้เห็นจตุรงค์เสนาและได้ดื่มน้ำล้างพระแสงสมดังความปรารถนา อยู่มามินาน พระราชเทวีก็ประสูติพระราชโอรส ประกอบด้วยธัญญลักษณสมบัติ จึงขนานนามว่า ทีฆาวุกุมาร ครั้นเจริญขึ้นแล้ว พระบิดามารดามิได้ไว้พระหฤทัย ด้วยอาศัยอยู่ในเมืองปัจจามิตร ถ้ามีผู้รู้เหตุผลภัยมาถึง ก็จะพลอยพาให้พระโอรสถึงความพินาศด้วย จึ่งได้พาทีฆาวุกุมารไปฝากนายหัตถาจารย์ไว้ นายหัตถาจารย์ก็บำรุงพระราชกุมารจนเจริญวัย

การที่พระเจ้าทีฆีติโกสลมาอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสีนั้นไม่มิด มีผู้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้พนักงานฆ่าโจรไปจับพระเจ้าทีฆิติโกศลและพระมเหสีผูกมัดมา จะพาไปยังที่สำเร็จโทษ เมื่อทีฆาวุกุมารได้ทราบเหตุก็รับติดตามมาพบพระบิดามารดาที่กลางทาง เมื่อพระเจ้าทีฆิติโกศลเห็นโอรส ก็ทำเพิกเฉยเสียเหมือนไม่รู้จัก แล้วตรัสเปรยๆว่า ทีฆาวุเอ๋ยเจ้าอย่าเห็นแก่การสั้น และอย่าเห็นแก่การยาว เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร ฝ่ายเจ้าพนักงานฆ่าโจรไม่ทันสังเกตเนื้อความนั้น ก็เข้าใจเสียว่าพระเจ้าทีฆีติโกศลตรัสเพ้อไปด้วยความกลัวภัยเป็นอย่างพิกลจริต แต่ทีฆาวุกุมารรู้ว่าพระบิดาให้โอวาท ก็กำหนดจำไว้มั่นคง ฝ่ายพวกพนักงานฆ่าโจรก็พาสองกษัตริย์ไปประหารด้วยอาวุธ บั่นเป็นท่อนๆไว้ในสี่ทิศตามธรรมเนียมฆ่าโจร เมื่อพวกฆ่าโจรสำเร็จโทษสองกษัตริย์เสร็จแล้ว ทีฆาวุกุมารจึงเก็บดอกไม้ไปบูชานบนอบประทักษิณพระศพเสร็จแล้ว ให้สินบนแก่พวกพนักงานฆ่าโจร ให้ช่วยเก็บศพพระบิดามารดาเผาเสียแล้วก็อาศัยอยู่กับนายหัตถาจารย์ต่อมาจนเจริญใหญ่ นายหัตถาจารย์จึงได้นำเข้าไปถวายตัวให้ทำราชการในพระเจ้าพรหมทัต ด้วยบุญญาภินิหารของทีฆาวุกุมาร บันดาลให้พระเจ้าพรหมทัตโปรดปรานใช้สอยอย่างสนิทชิดชอบพระอัธยาศัยทุกประการ

ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปประพาสป่า โปรดให้ทีฆาวุกุมารเป็นสารถี ทีฆาวุกุมารขับรถพระที่นั่งไปโดยเร็วจนกระบวนล้าหมดตามเสด็จไม่ทัน เมื่อไปในราวป่าถึงต้นไทรใหญ่ร่มชิด พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้หยุดรถประทับพักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไทร โปรดให้ทีฆาวุกุมารนั่งลง แล้วเอนพระเศียรพาดตักทีฆาวุกุมารบรรทมหลับไป ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดว่า พระเจ้าพรหมทัตนี้ฆ่าบิดามารดาเราเสีย ครั้งนี้เป็นช่องที่เราจะตอบแทนได้แล้ว เราจะประหารชีวิตพระเจ้าพรหมทัตเสียบ้าง

คิดแล้วเอื้อมไปชักพระแสงออกจากฝักจะฟันพระเจ้าพรหมทัต แล้วได้สติคิดถึงโอวาทของพระบิดาว่า เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร เราจะล่วงละเมิดคำสอนของบิดานั้นไม่ควร คิดแล้วสอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แล้วกลับคิดอีกว่าเมื่อไรเล่าจะได้ช่งเช่นนี้ เราจะตอบแทนเสียให้ทันท่วงทีดีกว่า จึงชักพระแสงออกจากฝักจะประหารพระเจ้าพรหมทัตอีก แล้วมีสติระลึกถึงโอวาทพระบิดายั้งไว้ได้อีก สอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แต่ทำดังนี้อยู่หลายครั้งจนพระเจ้าพรหมทัตบรรทมตื่นขึ้น ตรัสถาม ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ถือโทษโปรดให้ชีวิตข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะกราบทูลความเรื่องนี้ พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงอนุญาตประทานความสัตย์แก่ทีฆาวุกุมาร ทีฆาวุกุมารก็ถวายสัตย์แก่พระเจ้าพรหมทัตว่า จะไม่ประทุษร้ายกันแล้วจึงได้เล่าเหตุถวายตามที่เป็นนั้นทุกประการ พระเจ้าพรหมทัตก็มิได้มีพระหฤทัยรังเกียจ โปรดให้อภัยแก่ทีฆาวุให้ขับราชรถกลับคืนยังพระนคร

แต่นั้นมาพระเจ้าพรหมทัตก็โปรดปรานทีฆาวุกุมารยิ่งขึ้น ชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์ศฤงคารคล้ายกับลูกหลวงเอก อยู่ไม่นานนักก็โปรดให้ทีฆาวุไปครองโกศลชนบท ซึ่งเป็นที่เดิมของบิดา ครั้นอยู่นานมา พระเจ้าพรหมทัตสวรรคต ไม่มีพระราชโอรส ทีฆาวุกุมารก็ได้รับราชสมบัติในเมืองพาราณาสี ดำรงพิภพทั้งสองพระนคร เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป



Create Date : 17 มีนาคม 2550
Last Update : 17 มีนาคม 2550 13:42:41 น. 1 comments
Counter : 9893 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


มีข้อความในทีฆาวุชาดกดังนี้ จึงถือว่าการซึ่งประชุมจตุรงคเสนาสี่หมู่ และชำระพระขรรค์เป็นการสวัสดิมงคลให้เจริญความสัตย์และระงับเวรแต่โบราณมา เป็นพระราชพิธีเนื่องกันทั้งถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และการพระราชพิธีนี้เรียกชื่อติดกันว่า ขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล

มีข้อความในทีฆาวุชาดกดังนี้ จึงถือว่าการซึ่งประชุมจตุรงคเสนาสี่หมู่ และชำระพระขรรค์เป็นการสวัสดิมงคลให้เจริญความสัตย์และระงับเวรแต่โบราณมา เป็นพระราชพิธีเนื่องกันทั้งถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และการพระราชพิธีนี้เรียกชื่อติดกันว่า ขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเพิ่มเติมการพระราชกุศลขึ้นเป็นพิธีสงฆ์ ตั้งที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรกระบวนแห่ พระแท่นมณฑลที่ใช้ในการพระราชพิธีนี้ ใช้เครื่องช้างเครื่องม้าตั้งแทน คือตั้งม้าทองใหญ่เรียงติดๆกันไปสามม้า ข้างเหนือตั้งพระที่นั่งกาญจนฉันท์ที่สำหรับทรงพระชัยนำเสด็จ พระที่ตั้งให้การพระราชพิธีนี้ใช้พระชัยเงินองค์น้อยของพระพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเคยใช้ในการช้างๆเป็นอันมาก และพระชัยเนาวโลหะน้อย มีหม้อน้ำสำริดติดเทียนเล่มหนึ่ง ตั้งใบหนึ่ง หีบเครื่องพิชัยสงคราม ๒ หีบ ใต้กูบวางเครื่องช้างชนักต้น หลังพระที่นั่งกาญจนฉันท์นี้ผูกราวบันไดแล้วพาดพระแสงขอ คือพระแสงเจ้าพระยาแสนพลพ่าย พระแสงขอเกราะ พระแสงขอธารพระกร พระแสงของ้าวดับเพลิง พระแสงขอต่างๆนี้ อย่างละองค์หนึ่งบ้างสององค์บ้าง รวมด้วยกันเป็นพระแสงขอ ๑๑ องค์

มีม้ากลางตั้งพระคชาธารปักบวรเศวตฉัตร ๗ ชั้น ประดับด้วยเครื่องพระคชาธาร มีราวพาดพระแสงสองข้าง คือพระแสงทวนคู่ ๑ พระแสงตรีด้ามยาวคู่ ๑ พระแสงง้าวคู่ ๑ พระแสงหอกซัดคู่ ๑ แพนหางนกยูงคู่ ๑ พระแสงซึ่งตั้งพระราชพิธีถือน้ำแล้วเชิญไปตั้งบนพระคชาธาร คือพระแสงศรสาม พระขรรค์ชันศรี พระขรรค์เนาวโลหะ พระแสงเวียต พระแสงฟันปลาฝักประดับพลอยแดง พระแสงทรงเดิมฝักมุก พระแสงฝักทองเกลี้ยงเครื่องประดับเพชร พระแสงตรีเพชร พระแส้หางช้างเผือก พระแสงทั้งนี้ตั้งบนพานทองสองชั้น แต่ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ผูกควบคันเศวตฉัตร หีบพระแสงจีบกับพระแสงปืนสั้นวางอยู่กับพื้นพระคชาธาร มาข้างตะวันตกตั้งเครื่องม้าพระที่นั่ง คือพระที่นั่งอานเทพประนม ๑ อานครุฑกุดั่น ๑ อานฝรั่งปักทอง ๑ เป็น ๔ เครื่อง พระแส้สององค์ ตั้งเต้าลอนทองเหลืองสี่เต้า และบาตรน้ำมนต์ด้วย พระสงฆ์ที่สวดมนต์ใช้พระราชาคณะไทยนำ พระครูปริตรไทย ๔ พระราชาคณะรามัญนำ พระครูปริตรรามัญ ๔

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไม่ใคร่ขาด เพราะใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงจุดเครื่องนมัสการ ทรงศีลแล้ว อาลักษณ์อ่านคำประกาศ คำประการนั้นเริ่มว่า ขอประกาศแก่พระสงฆ์และเทพยดา ว่าพระเจ้าแผ่นดินได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระราชดำริถึงการแต่ก่อน เคยทำพระราชพิธีซึ่งเรียกว่า ขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล ชำระอาวุธและดื่มน้ำพระพิพัฒน์ ซึ่งเรียกว่าพระราชพิธีธรรมิกมงคล ให้เจริญความสามัคคี ซื่อตรงต่อแผ่นดิน ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง ช่วยกันปราบปรามหมู่ปัจจามิตรรักษาพระราชอาณาเขต เป็นการยั่วยวนใจให้หมู่ทหารทั้งปวงเกิดความกล้าหาญ เคยทำปีละสองครั้งเป็นกำหนด ทรงพระราชดำริถึงพระคุณพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณสืบมา จึงได้บำเพ็ญพระราชกุศลและให้ตั้งการพระราชพิธีเพื่อจะให้บรมราชาพาหนะทั้งปวงเป็นสุขสบาย ด้วยอำนาจที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล และการพระราชพิธีนี้บันดาลให้คชตระกูลทั้งปวงมาสู่พระบารมี คือช้างนั้น ช้างนั้นออกชื่อพระยาช้างทั้งปวงเต็มตลอดสร้อย จนถึงพระยาปราบไตรจักร พลายปานพลแสน พลายเล็บครบ และช้างวิเศษพลายพังอยู่ในกรุง อีกช้างต่อช้างเถื่อนพลายพังทั้งปวงที่อยู่กรุงเก่าและกองนอกหัวเมือง ม้าก็ว่าชื่อม้าระวางบรรดาที่มีอยู่ จนตลอดถึงม้าเกราะทองซ้ายขวา ม้าแซงนอกซ้ายขวา แล้วจึงได้ว่ถึงเรื่องนิทานที่มาในขันธวินัย คือทีฆาวุกุมาร โดยย่อ ดังได้กล่าวพิสดารมาข้างต้นแล้วนั้น ลงท้ายก็เป็นคำขอพรตามแบบประกาศทั้งปวง แปลกบ้างเล็กน้อยตามเหตุผลของพระราชพิธี แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์

รุ่งขึ้นเวลาเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปักปะรำ ปะรำละสามห้อง สี่ปะรำเรียงกันเป็นระยะ เป็นที่จตุรงคเสนาสี่หมู่มายืน วิธีจัดจตุรงคเสนาสี่หมู่นี้จัดตามแบบซึ่งมีมาในวินัย ที่ว่าพระสงฆ์ดูกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์ มีคำอธิบายว่าเสนานั้นคืออย่างไร จึงได้ชี้แจงวิธีซึ่งจัดทหารเข้ากองเป็นทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพพลเดินเท้า ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตก็ได้ทรงยกมาว่าไว้ในหนังสือนครกัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง เป็นวิธีจัดทหารเป็นหมู่เช่นกับเซกชัน แล้วรวมกันเป็นกัมปรนีเป็นเยยิเมนต์เป็นแบ็ดตะเลียนขึ้นไปตามลำดับ แต่ตำราที่ค้นได้กันนี้ คงจะไม่พอตลอดที่จะรู้ได้ทั่วถึงว่าวิธีจัดทหารอย่างโบราณนั้น เขาจัดหมวดจัดกองกันอย่างไร เพราะไม่ประสงค์ที่จะว่าให้เป็นตำราทหาร ประสงค์แต่จะว่า ว่าเมื่อภิกษุดูกองทหารเช่นนั้นเท่านั้นนับว่าเป็นกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์ เหมือนกับกำหนดว่าภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้ตั้งแต่ห้ามาสกหรือสองสลึงเฟื้องขึ้นไปเป็นต้องอทินนาทานปาราชิก

แต่ฝ่ายเราที่ต้องการจะยกมาจัดเอาอย่างบ้างนั้น ด้วยความประสงค์ที่จะให้เหมือนกับจตุรงคเสนาที่พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลได้เห็นนั้นอย่างหนึ่ง และเป็นการพระราชพิธีอยู่ ถ้าเข้าบาล่ำบาลีอยู่บ้าง ดูเป็นมงคลมากขึ้น จึงจัดอย่างย่อๆเพียงเซกชันหนึ่ง ตามที่ปรากฏชัดเจน แต่ที่แท้พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลจะได้ดูริวิ้วใหญ่ คงจะไม่ใช่ดูย่อๆเช่นนี้เป็นแน่ ถ้าเรามีริวิ้วใหญ่ประชุมทหารหมู่ใหญ่เมื่อใด จะนับว่าเป็นสวัสดิมงคลยิ่งกว่าดูจตุรงคเสนานี้ได้เป็นแน่

จตุรงคเสนาที่จัดมายืนในเช้าสี่หมู่นี้ คือปะรำหนึ่งพลช้าง ๓ ช้าง ผูกสัปคับเขน มีหมอควาญประจำ บนสัปคับมีทหารปืนนกสับนั่งช้างละสองคน พลล้อมเชิงถือดาบสองมือประจำเท้าช้างเท้าละ ๒ เป็น ๘ คน ปะรำที่ ๒ พลม้า ๓ ม้า นายทหารม้าขี่ ๓ คน พลล้อมเชิงถือง้าว เครื่องม้าผูกแพนหางนกยูง ปะรำที่ ๓ พลรถ ๓ รถ รถนั้นเป็นรูปเกวียนทาเขียวๆ มีเพดาน เทียมโคผูกเครื่องอาวุธต่างๆ มีเสนารถคนหนึ่ง สารถีคนหนึ่ง คนล้อมรถถือดาบเขนรถละ ๔ คน ปะรำที่ ๔ พลเดินเท้าสามพวกๆละ ๑๒ คน พวกหนึ่งถือดาบเชลย พวกหนึ่งถือทวน พวกหนึ่งถือตรี รวมทั้งสี่ปะรำเป็นคน ๙๓ คนนับเป็นกัมปะนีหนึ่ง เมื่อใช้ทั้งสี่อย่างปนกันหรือเป็นอย่างละเซกชันในหมู่ทหารพวกหนึ่งๆ เมื่อเวลาเลี้ยงพระสงฆ์แล้ว เคยโปรดให้กระบวนเสนาทั้งสี่หมู่นี้เดินไปเดินมาตามถนนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์

เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว พระพฤติบาศเชิญหม้อสำริดซึ่งตั้งอยู่ในพระราชพิธี ลงมาอ่านเวทพระอุเทน เป่าสังข์ถึงเจ็ดลา แล้วเชิญพระแสงซึ่งไปตั้งในพระราชพิธีนั้นลงชุบในหม้อ น้ำในหม้อนี้สำหรับส่งข้างใน ถวายพระอัครมเหสีและพระสนมกำนัล เสวยและรับพระราชทาน แต่ภายหลังมานี้ดูรวมๆกันไปอย่างไรไม่ทราบ ด้วยลัทธิที่ถือกันว่ามีครรภ์ กินน้ำมนต์แล้วตกลูกมีหนามาก อีกนัยหนึ่งเพ้อกันไปว่า เป็นน้ำล้างศัสตราวุธจะเข้าไปบาดลูกบาดเต้า หรือเป็นลูกของท่านไม่ต้องถือน้ำ ดูอุบๆอิบๆกันอยู่อย่างไรไม่เข้าใจชัด อยู่ในเป็นถ้าเวลาถือน้ำ ใครมีครรภ์ก็ไม่ไปถือน้ำโดยมาก จนคนนอกวังพลอยถือด้วยก็มีชุม ส่วนคนในวังที่เป็นคนดีไม่เชื่อถือตำรานี้ เวลามีครรภ์อ่อนๆไปถือน้ำ ก็ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายอย่างใด เว้นไว้แต่เวลาที่มีครรภ์แก่ ไม่งามที่จะเข้าประชุมจึงได้งดเว้นก็มีอยู่บ้าง อีกนัยหนึ่งพึ่งได้ทราบมาว่า มีผู้ถือกันว่าทารกที่เกิดมาในครรภ์นั้นเป็นสัตว์ไม่มีบาป ถ้ามารดาถือน้ำมีใจทุจริตคิดประทุษร้ายอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะพาให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปนั้นพลอยเป็นอันตรายด้วย ความคิดอันนี้เป็นการผิดมากไปยิ่งกว่าที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นสองอย่างหรือสามอย่าง

คือข้อซึ่งว่ามีครรภ์อยู่กินน้ำมนต์มักจะทำให้ลูกตก ที่ถือเช่นนี้ไม่เลือกว่าน้ำมนต์อันใด น้ำพระพิพัฒน์นี้ก็นับว่าเป็นน้ำมนต์ ซึ่งพระสงฆ์ได้สวดปริตรแล้วอย่างหนึ่งเหมือนกันจึงถือด้วย เหตุที่ถือกันขึ้นนี้คงจะเกิดขึ้นด้วยน้ำสะเดาะที่เวลาคลอดลูกขัดข้องไม่สะดวก ก็มักจะมีผู้หลักผู้ใหญ่หรือมดหมอเสกน้ำสะเดาะให้กิน คาถาที่เสกน้ำสะเดาะนั้นมักจะเป็น ยะโตหัง ภะคินิ อริยายะชาติยา ชาโต เป็นต้น หรือมีคาถาที่เป็นภาษาไทย แต่งอย่างมคธซึมซาบต่างตามลัทธิที่เคยถือมา ก็สวดปริตรทั้งปวง เช่นสิบสองตำนาน เจ็ดตำนาน ก็คงมีบทว่า ยะโตหัง ภะคินิ ด้วยกลัวจะไม่รั้งรอจะไปช่วยผลักช่วยรุนออกมาเสียแต่ยังไม่ถึงกำหนด ก็เอาเถิดว่าเป็นคนขี้เชื่อก็เชื่อไป อีกอย่างหนึ่งซึ่งกลัวว่าเป็นน้ำศัสตราวุธ จะไปบาดเด็กในท้องนั้น ก็เป็นการถือยับถือเยินด้วยความขลาด ให้เสียวไส้ไป ดูก็ไม่กระไรนัก การที่ถือว่าเป็นลูกของท่านไม่ต้องถือน้ำนั้น ก็เป็นอย่างซึมซาบเซอะซะเหลวเลอะไป เพราะเจ้านายลูกเธอเขาก็ต้องถือน้ำด้วยกันทั้งสิ้น ดูก็เป็นเซอะซะไปเสียไม่สู้กระไรนัก

แต่ข้อซึ่งกลัวว่ามารดามีใจทุจริต จะพาให้ทารกซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปพลอยเป็นอันตรายด้วย จึงไม่ถือน้ำ เป็นการทำวินัยกรรมแก้ไขหลีกเลี่ยงนั้นเป็นการโกงมาก และโกงก็ไม่รอดตัวด้วย ใครผู้ใดจะเป็นประกันได้ ว่าคำสาบานและน้ำพระพิพัฒน์ ได้ถวายสัตย์และดื่มไว้แล้วหกเดือนล่วงมานั้น จะจืดสิ้นพิษสงลงในหกเดือนเป็นแน่แล้ว หรือจะมีผู้ใดมารับประกันว่าให้คิดการทุจริตอย่างไรๆก็คิดไปเถิด แต่ให้เว้นดื่มน้ำพระพิพัฒน์เสียคราวหนึ่งแล้ว จะไม่มีอันตรายอันใดเลย ก็ถ้าหากอันตรายที่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์ในเวลามีครรภ์อยู่นั้น จะทำอันตรายแก่ตัวมารดาซึ่งมีใจทุจริตได้ น้ำพระพิพัฒน์ที่ดื่มมาแต่ก่อนๆก็คงจะตามมาทำอันตรายได้เหมือนกัน จึงเห็นว่าการที่ถืออย่างหลังนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าพูดออกก็เห็นเป็นการโกงไม่งามเลย มีดีอยู่ท่าเดียวแต่เพียงว่าเวลามีครรภ์ไม่สมควรจะเข้าในที่ประชุม มีความอับอาย เป็นสนิทกว่าอย่างอื่นหมด

ก็แต่น้ำซึ่งทำในพระราชพิธีคเชนทรัศสนาน ซึ่งไม่มีผู้บริโภคนี้จะเป็นมาแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบ คงเป็นด้วยเหตุที่ถือลัทธิเล็กน้อยเหล่านี้นั้นเอง ยังคงอยู่แต่ถ้าพระอัครมเหสี พระราชเทวี หรือเจ้าจอมอยู่งานคนใดมีครรภ์ ก็ออกไปที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ดูจตุรงคเสนาและรับน้ำสังข์ ซึ่งพราหมณ์พฤติบาศมารดให้เป็นธรรมเนียม สืบมาจนทุกวันนี้ เป็นเสร็จการในเวลาเช้า

ครั้นเวลาบ่ายจึงได้ตั้งกระบวนแห่ เดินแห่คเชนทรัศวสนานก็อย่างสระสนานนั้นเอง เป็นแต่ย่อเตี้ยๆลงพอสมควร คือ

กระบวนแรก ธงห้าชายนำ ๑ ธงมังกร ๑๕ คู่ ธนูหางไก่ ๕ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๕ คู่ แล้วธงมังกรอีก ๕ คู่ จึงถึงกลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีจ่ากลอง พระที่นั่งกาญจนฉันท์ผูกช้างพลายมีชื่อ ทรงพระเทวกรรม เดินข้างช้างแส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่

กระบวนที่ ๒ ช้างดั้ง เมื่อยังไม่มีทหารช้างก็แต่งกระบวนมีพลล้อมเชิง เหมือนอย่างเช่นที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้า แต่ครั้นเมื่อมีทหารช้างแล้ว เปลี่ยนเป็นกระบวนทหาร มีธง แตร ออกหน้าช้างทหาร ๖ ช้างผูกสัปคับเขน มีทหารประจำกลางสัปคับ ๒ หมอ ๑ ควาญ ๑ มีทหารเดินเท้าคั่น ๖ ตับ ๆ ละ ๒๔ คน เป็นกระบวนหนึ่ง

กระบวนที่ ๓ ธงห้าชายนำกระบวน ธงสามชายนำริ้ว ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ ธงเสือปีก ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ มีจ่าปี่จ่ากลอง แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์ ๑ คู่ ช้างพังนำผูกเครื่องสักหลาด แส้หวายข้างช้าง ๘ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ จึงถึงพระยาช้าง เครื่องยศตาม กล้วยอ้อยมะพร้าวหญ้า หม้อน้ำสอง แส้หางม้าคู่หนึ่ง ช้างพังทูนบาศตามคู่หนึ่ง ต่อนั้นพระยาวานรเผือก คนหามไม้คานสอง สัปทนกั้นหนึ่ง มีโต๊ะเครื่องยศสอง เป็นกระบวนหนึ่ง กระบวนเช่นนี้พระยาช้างมีอยู่กี่ช้างในเวลานั้น ก็จัดกระบวนขึ้นตามรายตัว จำนานคนก็เกือบๆจะเท่ากัน ลดบ้างเล็กบ้าง แต่พระยาวานรนั้น เฉพาะมีแต่กระบวนช้างเผือกพัง ที่ว่านี้อยู่ข้างจะเป็นอย่างหมาย แต่ที่จริงนั้นมักจะเห็นเต็มกระบวนอยู่เพียงสองกระบวนหรือสามกระบวน ที่พระยาช้างเหลือกว่านั้นมักจะเดินต่อๆกันมาเปล่าๆโดยมาก

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนช้างโท เครื่องแห่ก็คล้ายๆกันกับกระบวนก่อน เป็นแต่ลดน้อยลงไป ให้กลองชนะเขียว ยกแตรสังข์จ่ากลอง คงแต่จ่าปี่ประโคมอย่างที่เรียกว่าสี่ไม้ กระบวนโทนี้ก็เกณฑ์เป็นตัวรายช้างอีก แต่ก็มีกระบวนเดียวเดินต่อๆกันทุกครั้ง

ถัดนั้นจึงถึงพระที่นั่งละคอ ถ้าหน้าแล้งคือเดือน ๕ ผูกเครื่องแถบกุดั่น หน้าฝนคือเดือน ๑๐ ผูกเครื่องลูกพลูแถบกลม ผูกพนาศน์พระที่นั่งทั้งสองคราว

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระราชวังบวรฯ มีช้างพังสีประหลาด ซึ่งพระราชทานไปแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวช้างหนึ่ง แต่งกระบวนอย่างโท ช้างพลายอีกช้างหนึ่ง ผูกพระคชาธารปักเศวตฉัตรห้าชั้น มีคนฟ้อนแพนกลางช้าง เป็นสิ้นกระบวนช้าง

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนม้า มีธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนำริ้วคู่ ๑ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงตะขาบคั่นทวน ๑๐ คู่ ปี่กลองมลายูเดินหว่างริ้ว กลอง ๔ ปี่ ๒ ฉาบ ๔ กลองชนะ ๕ คู่ มีจ่าปี่ กระบองกลึง ๕ คู่ ทหารม้าเกราะทอง ๒๔ เดินสองแถว ตัวนายกรมม้าสวมเสื้อเยียรบับโพกสีขลิบทองนำคู่ ๑ แล้วจึงถึงม้าพระที่นั่งคนจูง ๔ กระฉิ่งสอง เครื่องยศ ๒ แส้ ๑ ม้าที่ใช้เดินอยู่ใน ๖ ม้าเป็นกำหนด ม้าพระที่นั่งตัวหนึ่ง มีเจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่นำม้าคู่ ๑ ทุกม้า แต่ไม่มีกระบวนธนูและทวน แยกเป็นกระบวนใช้เดินต่อๆกัน ก็มีแต่กระฉิ่งเกล็ดเครื่องยศคั่น

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนม้าวังหน้าสองม้า ปลายกระบวนพิณพาทย์จีนสำหรับหนึ่ง

สิ้นกระบวนม้าแล้ว ถึงกระบวนโค ธงเสือปีกนำกระบวน ๑ นำริ้ว ๒ ประฏัก ๑๐ คู่ ธงเสือปีกคั่นคู่ ๑ ตะพด ๑๐ คู่ กลองแขกหว่างกระบวนสำรับหนึ่ง จึงถึงโค ๖ โค คนจูงโคละ ๔ สิ้นกระบวนโคแล้ว กระบวนกระบือเหมือนกันกับกระบวนโค แต่มักจะควบเป็นกระบวนเดียวกันโดยมาก

ต่อนั้นเป็นกระบวนรันแทะเทียมโค เหมือนอย่างที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้าสามรันแทะ ต่อไปจึงเป็นรถพระที่นั่งทรงที่นั่งรองซึ่งใช้อยู่เป็นปรกติ

ต่อไปเป็นกระบวนทหารปืนใหญ่สามบอก มีธง ขลุ่ย กลอง หมดทหารปืนใหญ่แล้วถึงทหารปืนเล็ก มีแตรวง ทหาร ๒๐๐ กระบวนเหล่านี้เดินลงไปถึงท้ายป้อมมณีปราการ มีเกยข้างถนนสองเกย เกยข้างตะวันออกราชบัณฑิตคอยประน้ำพระพุทธมนต์ เกยข้างตะวันตกพราหมณ์สองคนคอยรดน้ำสังข์ กระบวนทั้งปวงเดินเลี้ยวทางถนนท้ายสนม แต่ทหารปืนเล็กเดินเวียนกลับเข้าไปในสนามมายืนรายหน้าพลับพลา

เมื่อเดินกระบวนสิ้นแล้ว ถ้าเป็นเดือน ๕ แต่ก่อนเคยมีผัดพาฬหน้าปะรำสองข้าง คนออกผัดพาฬบ้าง ขี่ม้าล่อแพนบ้าง บางปีก็มีช้างหนึ่ง บ้างปีก็มีสองช้าง แต่ก่อนๆมีทรงโปรยทานเวลานั้นด้วย ใช้ทรงโปรยด้วยไม้ทานตะวันออกไปถึงกลางสนาม คนเข้าแย่งกันในเวลาผัดช้าง ดูมันช่างไม่กลัวเกรงกันเลย จนไปมีเหตุขึ้นครั้งหนึ่ง กำลังคนเข้าไปแย่งทานอยู่ ครั้งนั้นพระบรมไอยเรศกำลังคลั่งมันจัด เห็นคนกลุ่มๆ อยู่ก็วิ่งผ่านไปในกลางคน คนก็ต่างคนต่างวิ่งหนีไป แต่คนหนึ่งนั้นกำลังคว้ามะนาวอยู่ ล้มถลาไป พระบรมไอยเรศตรงเข้าเหยียบศีรษะแบนกับที่ แต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงโปรยทานในเวลาผักช้างต่อไปอีก

เมื่อช้างนำมันกลับแล้ว จึงถึงม้าห้อ ม้าห้อนั้นใช้ม้าซึ่งเข้ากระบวนทั้งสิ้น ยกเสียแต่ม้าพระที่นั่ง มีจำนวนกำหนดว่า ๕๐ แต่ม้าในกระบวนก็ไม่ครบ ๕๐ เมื่อห้อไปถึงท้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์แล้วก็เดินจูงกลับมาทางห้างวิสหลุย(๑) มาห้อหน้าพลับพลาอีกจนครบจำนวน ๕๐ เป็นการเกรียวกราวเอิกเกริกสนุกสนานกันมาก ทั้งผัดช้างและม้าห้อ แต่เดือน ๑๐ เป็นฤดูฝน สนามเป็นหลุมเป็นโคลนไม่ได้มีผัดช้าง ม้าห้อนั้นบางปีก็ได้ห้อ บางปีก็ไม่ได้ห้อ

ครั้นวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ เจ้าพนักงานจัดบายศรีไปตั้งสมโภชเวียนเทียนพระยาช้างและช้างวิเศษช้างพระที่นั่งม้าพระที่นั่งทุกโรง เป็นเสร็จการพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

คำตักเตือนสำหรับการพระราชพิธีนี้ แต่ก่อนๆมาเคยเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ทุกๆคราวมิได้ขาด แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เพราะประทับห่างที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ จึงไม่ใคร่จะได้เสด็จพระราชดำเนิน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่จะมาเฝ้าตามปกติ จะเข้ามาแต่เย็นหน่อยหนึ่ง เผื่อว่าถ้าเสด็จออกจะได้เฝ้าหน้าพลับพลาและบนพลับพลาให้แน่นหนาตามแบบอย่าง การตักเตือนนอกนั้นก็ไม่มีอันใด นอกจากที่จะเตือนกรมยุทธนาธิการว่า ถ้าจัดการริวิ้วให้ได้คนมากๆจริงๆ จะเป็นการสวัสดิมงคลแก่พระนคร และเป็นที่เกรงขามแก่ศัตรูหมู่ปัจจามิตร เป็นเหตุให้ราษฎรมีความสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระเจ้าแผ่นดิน ยิ่งกว่ามีพระราชพิธีสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานเป็นแท้ ฯj


.......................................................................................................................................................

(๑) นายหลุยซาเวีย ภายหลังได้เป็นขุนภาษาบริวัติ เรียกกันในรัชกาลที่ ๔ ว่าวิสหลุย ตั้งห้างขายของที่ตึกแถว ๒ ชั้นของหลวง อยู่ตรงมุมวังสราญรมย์ ตึกยังอยู่จนทุกวันนี้
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:13:41:20 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com