กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ว่าด้วยตำนานสามก๊ก





คำนำ

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จประทับอยู่ด้วยสมเด็จพระโอรส ณ วังบางขุนพรหม มาแต่รัชกาลที่ ๖ ทรงประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้เชิญพระศพเข้าไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แล้วดำรัสสั่งให้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง กำหนดจะพระราชทานเพลิงพระศพในต้น พ.ศ. ๒๔๗๑

สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตฯ ทรงปรารภการพระกุศลอันจะทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนี ดำรัสปรึกษาข้าพเจ้าถึงเรื่องหนังสือซึ่งจะทรงพิมพ์เป็นมิตรพลี สำหรับประทานในงานพระเมรุ โปรดเรื่องสามก๊ก ด้วยทรงพระดำริว่าเป็นหนังสือซึ่งนับถือกันมาว่าแต่งดีทั้งตัวเรื่องเเละสำนวนที่แปลเป็นภาษาไทย ถึงได้ใช้เป็นตำราเรียนอยู่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกวันนี้จะหาฉบับดีไม่ได้เสียแล้ว ด้วยเป็นแต่พิมพ์ต่อๆกันมามิได้ชำระต้นฉบับที่พิมพ์ในชั้นหลัง ดำรัสว่าหากราชบัญฑิตยสภารับชำระต้นฉบับ และจัดการพิมพ์ใหม่ให้ทันได้ทั้งเรื่อง ก็จะทรงรับบริจาคทรัพย์พิมพ์เรื่องสามก๊กเป็นหนังสือสำหรับประทานเรื่องหนึ่งในงานพระเมรุสมเด็จพระชนนี ข้าพเจ้าได้ฟังมีความยินดี รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาจะต้องรับพระประสงค์ ด้วยเรื่องสามก๊กเป็นหนังสือสำคัญ และเป็นหนังสือเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ จะหาผู้อื่นมารับพิมพ์ทั้งเรื่องยากยิ่งนัก ถ้าพ้นโอกาสนี้แล้ว ก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเมื่อใดจะได้ชำระและพิมพ์หนื่อสือเรื่องสามก๊กให้กลับคืนดีดังเก่า ข้าพเจ้าจึงกราบทูลรับจะถวายให้ทันตามพระประสงค์

เมื่อกราบทูลรับแล้วพิเคราะห์ดู เห็นว่าการที่จะพิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ครั้งนี้ มีข้อสำคัญควรคำนึงอยู่ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งคือนักเรียนทุกวันนี้การเรียนและความรู้กว้างขวางกว่าแต่ก่อน หนังสือสามก๊กฉบับพิมพ์ใหม่จนต้องให้ผู้ได้ความรู้ยิ่งขึ้นกว่าอ่านฉบับที่พิมพ์ไว้แต่เดิม จึงจะนับว่าเป็นฉบับดี สมกับที่พิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ความข้อนี้เห็นทางที่จะทำได้มีอยู่ ด้วยอาจตรวจสอบหนังสือต่างๆ หาความรู้อันเป็นเครื่องประกอบหนังสือสามก๊กมาแสดงเพิ่มเติม และการส่วนนี้เผอิญมีผู้สามารถอยู่ในราชบัณฑิตยสภา คือ อำมาตย์โทพระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) ซึ่งเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีนและได้เคยอ่านหนีงสือจีนเรื่องต่างๆมาก รับเป็นผู้เสาะหาความรู้ทางฝ่ายจีน และมีศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ อีกคนหนึ่งรับช่วยเสาะหาทางประเทศอื่น ตัวข้าพเจ้าเสาะหาทางฝ่ายไทย ช่วยกันค้นคว้าหาความรู้เนื่องด้วยเรื่องหนังสือสามก๊ก อันยังมิได้ปรากฏแพร่หลายมาแต่ก่อนได้อีกหลายอย่าง

ถ้าว่าตามแบบที่เคยทำมา ความรู้ที่ได้เพิ่มเติมเช่นนี้มักแสดงไว้ใน "คำนำ" หรือ "คำอธิบาย" ข้างหน้าเรื่อง แต่ความอันจะพึงกล่าวด้วยเรื่องสามก๊ก ถ้าเรียบเรียงให้สิ้นกระแสซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทางความรู้ เห็นจะเป็นหนังสือมากเกินขนาดที่เคยลงในคำนำหรือคำอธิบาย เมื่อคิดใคร่ครวญว่าจะทำอย่างไรดี ข้าพเจ้าหวนรำลึกถึงครั้งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ทรงบไพญพระกุศลฉลอิงพระชันษาครบ ๖๐ ปี เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ โปรดให้พิมพ์หนังสือบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประทานเป็นมิตรพลี ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้แต่งเรื่องตำนานอิเหนาพิมพ์เพิ่มเป็นภาคผนวชถวายอีกเล่มหนึ่ง สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯโปรด งานพระเมรุครั้งนี้ข้าพเจ้าก็นึกปรารถนาอยู่ว่าจะรับหน้าที่การทำอย่างใดอย่างหนึ่ง พอสนองพระคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯซึ่งได้มีมาแก่ตัวข้าพเจ้าตลอดจนเหล่าธิดาหาที่จะเปรียบปานได้โดยยาก ก็นึกขึ้นได้ว่าถ้าลงแรงแต่งตำนานหนังสือสามก๊กพิมพ์เพิ่มเป็นภาคผนวชถวายบูชาพระศพ เหมือนอย่างเคยแต่งเรื่องตำนานละครอิเหนาถวายเมื่อพระองค์ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ เห็นจะสมควรยิ่งกว่าอย่างอื่น อันนี้แลเป็นมูลเหตุให้ข้าพเจ้าแต่งตำนานหนังสือสามก๊กซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

ความสำคัญอีกข้อหนึ่งนั้น คือการที่จะชำระต้นฉบับและพิมพ์เรื่องสามก๊กฉบับงานพระเมรุครั้งนี้ ด้วยหนังสือสามก๊กเป็นเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ และจะต้องพิมพ์ให้แล้วภายในเวลามีกำหนด ตัวพนักงานการพิมพ์หนังสือซึ่งมีประจำอยู่ในราชบัณฑิตยสภาไม่พอการ ต้องหาบุคคลภายนอกช่วย เผอิญได้มหาเสวกโทพระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว. สำเริง อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นนักเรียนมีเกียรติมาแต่ก่อน มีแก่ใจรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ด้วยเห็นว่าการพิมพ์หนังสือสามก๊กจะเป็นสาธารณประโยชน์อย่างสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ ฯ ทรงพระดำริ ข้าพเจ้าจึงได้มอบการให้พระยาพจนปรีชาทำตั้งแต่ชำระต้นฉบับตลอดจนตรวจฉบับพิมพ์ และให้รองอำมาตย์ตรี ขุนวรรณรักษ์วิจิตร (เชย ชุมากร(เปรียญ)) รองบรรณรักษ์ในหอสมุดวชิราวุธเป็นผู้ช่วยในการนั้น(๑)

หนังสือซึ่งใช้เป็นต้นฉบับชำระ ใช้หนังสือสามก๊กฉบับหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกฉบับ ๑ หนังสือนี้ที่ในหอพระสมุดฯมีไม่บริบูรณ์ ต้องเที่ยวหาตามบรรดาท่านผู้ที่สะสมหนังสือ ทั้งฝ่ายในพระบรมมหาราชวังและฝ่ายหน้า ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณด้วยไม่ว่าท่านผู้ใด เมื่อได้ทราบว่าต้องการฉบับเพื่อจะพิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ก็ยินดีให้ยืมตามประสงค์ทุกราย ที่ยอมยกหนังสือนั้นให้เป็นสิทธิ์แก่หอพระสมุดฯทีเดียวก็มี อาศัยเหตุนี้จึงได้ฉบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลมาครบครัน นอกจากนั้นให้เอาหนังสือฉบับเขียนของเก่าสอบด้วยอีกฉบับ ๑ บรรดาฉบับเขียนที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ ฉบับของกรมหลวงวรเสรฐสุดา ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสประทานไว้ในหอพระสมุดฯเป็นบริบูรณ์ดีกว่าเพื่อน ได้ใช้ฉบับนี้สอบกับฉบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลเป็น ๒ ฉบับด้วยกัน และยังได้อาศัยฉบับพิมพ์ภาษาจีนด้วยอีกฉบับ ๑ สำหรับสอบในเมื่อมีความบางแห่งเป็นที่สงสัย หรือต้นฉบับภาษาไทยแย้งกัน แต่ชี้ไม่ได้ว่าฉบับไหนถูก

เนื่องในการชำระต้นฉบับนั้น ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าสิ่งวซึ่งควรจะเพิ่มเติมเข้าในฉบับพิมพ์ใหม่ให้ดียิ่งขึ้นด้วย ไม่ต้องแก้หนังสือฉบับเดิมมีอยู่บ้างอย่าง เป็นต้นว่า ศักราชซึ่งอ้างถึงในฉบับเดิม บอกเป็นปีรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินตามประเพณีนับศักราชอย่างจีน ไทยเราเข้าใจได้ยาก จึงให้คำนวนเป็นพุทธศักราชพิมพ์แทรกลงไว้ให้เข้าใจง่ายขึ้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งในฉบับเดิมความบางแห่งกล่าวเข้าใจยาก ได้ให้ลงอธิบายหมายเลขให้พอเข้าใจความง่ายขึ้น อนึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นว่าหนังสือไทยเรื่องต่างๆซึ่งพิมพ์กันในปัจจุบันนี้ ที่นับว่าดีมักมีรูปภาพ และรูปภาพเรื่องสามก๊กจีนก็ชอบเขียนไว้ พอจะหาแบบอย่างได้ไม่ยาก จึงได้เลือกรูปภาพให้หนังสือสามก๊กจีนจำลองมาพิมพ์รูปภาพตัวบุคคลไว้ในสมุดตำนานนี้ และพิมพ์รูปภาพแสดงเรื่องไว้ในหนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุให้เป็นฉบับมีรูปภาพ ผิดกับฉบับอื่นซึ่งเคยพิมพ์มาแต่ก่อนด้วย

การพิมพ์นั้นได้ตกลงให้โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ เพราะฝีมือดีและทำเร็ว ฝ่ายรองเสวกเอก พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตสิริ) ผู้เป็นเจ้าของโรงพิมพ์ เมื่อทราบว่าสข้าพเจ้าแต่งตำนานเป็นภาคผนวชจะพิมพ์อีกเรื่อง ๑ มาขอพิมพ์เป็นส่วนของตนถวายในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯครั้งนี้ ส่วนการทำรูปภาพนายพลตรี พระยาภักดีภูธร เจ้ากรมแผนที่ทหารบก รับทำแม่พิมพ์ตลอดจนรับพิมพ์แผนที่ประเทศจีนสมัยสามก๊ก สำหรับหนังสือตำนานเล่มนี้ด้วย

นอกจากที่ได้พรรณนามา ยังมีท่านผู้อื่นได้ช่วยเมื่อแต่งหนังสือนี้ ขอแสดความขอบคุณ คือท่านกุยชิโร ฮายาชี อัครราชทูตญี่ปุ่น ได้ช่วยสืบเรื่องแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาญี่ปุ่น พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตรกะ) ได้ช่วยเขียนอักษรไทยเทียมจีน และรองอำมาตย์ตรี สมบุญ โชติจิตร นายเวรมหาดวิเศษราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้เขียนและพิมพ์ดีดหนังสือให้ข้าพเจ้าด้วย

ราชบัณฑิตยสภามั่นใจว่า ท่านทั้งหลายบรรดาที่ได้รับประทานหนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ตลอดจนผู้ซึ่งได้อ่านด้วยประการอย่างอื่น คงจะถวายอนุโมทนาในการที่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรวรพินิตฯ ได้โปรดให้พิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งเนื่องในการกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนีครั้งนี้ทั่วกัน


(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
นายกราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๓๑ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๐


....................................................................................................................................................

(๑) เดิมให้อำมาตย์โท พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล(เปรียญ)) เลขานุการราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้ตรวจฉบับพิมพ์ แต่พระพินิจฯทำงานเหลือกำลังจนอาการป่วย จึงผ่อนงานนี้ให้ทำเพียงแต่สารบารพ์



ตำนานหนังสือสามก๊ก


๑. ว่าด้วยหนังสือสามก๊ก



หนังสือสามก๊กไม่ใช่พงศาวดารสามัญ จีนเรียกว่า "สามก๊กจี่" แปลว่าจดหมายเหตุเรื่องสามก๊ก เป็นหนังสือซึ่งนักปราชญ์จีนคนหนึ่งเลือกเอาเรื่องในพงศาวดารตอนหนึ่งมาแต่งขึ้น โดยประสงค์จะให้เป็นตำราสำหรับศึกษาอุบายการเมืองและการสงคราม และแต่งดีอย่างยิ่ง จึงเป็นหนังสือเรื่องซึ่งนับถือทั่วไปในประเทศจีน และตลอดไปจนถึงประเทศอื่นๆ

ต้นตำนานของหนังสือสามก๊กนั้น ทราบว่าของเดิมเรื่องสามก๊กเป็นแต่นิทานสำหรับเล่ากันอยู่ก่อน เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ. ๑๑๖๑ - ๑๔๔๙) เกิดมีการเล่นงิ้วขึ้นในเมืองจีน พวกงิ้วก็ชอบเอาเรื่องสามก๊กไปเล่นด้วยเรื่องหนึ่ง ต่อมาในสมัยราชวงศ์หงวน (พ.ศ. ๑๘๒๐ - ๑๙๑๐) การแต่งหนังสือจีนเฟื่องฟูขึ้น มีผู้ชอบเอาเรื่องพงศาวดารมาแต่งเป็นเรื่องหนังสืออ่าน แต่ก็ยังไม่ได้เอาเรื่องสามก๊กมาแต่งเป็นหนังสือ(๑) จนถึงสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง (พ.ศ. ๑๙๑๑ - ๒๑๘๖) จึงมีนักปราชญ์จีนชาวเมืองฮั่งจิ๋วคนหนึ่ง ชื่อ ล่อกวนตง คิดแต่งหนังสือเรื่องสามก๊กขึ้นเป็นหนังสือ ๑๒๐ ตอน ต่อมามีนักปราชญ์จีนอีกสองคน คนหนึ่งชื่อเม่าจงกังคิดจะพิมพ์หนังสือสามก๊ก จึงแต่งคำอธิบายและพังโพย(๒)เพิ่มเข้า แล้วให้นักปราชญ์จีนอีกคน ๑ ชื่อกิมเสี่ยถ่างอ่านตรวจ กิมเสี่ยถ่างเลื่อมใสในหนังสือเรื่องสามก๊ก ช่วยแก้ไขคำพังโพยของเม่าจงกัง แล้วแต่งคำอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเองเป็นทำนองคำนำ(๓) มอบให้เม่าจงกังๆไปแกะตัวพิมพ์ตีพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กขึ้น หนังสือสามก๊กจึงได้มีฉบับพิมพ์แพร่หลายในประเทศจีน แล้วได้ฉบับต่อไปถึงประเศอื่นๆ



๒. ว่าด้วยแปลหนังสือสามก๊ก

ได้ลองสืบสวนดูเมื่อจะแต่งตำนานนี้ ได้ความว่าหนังสือสามก๊กได้แปลเป็นภาษาต่างๆถึง ๑๐ ภาษา(๔) คือ

๑. แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๕
๒. แปลเป็นภาษาเกาหลี พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๒
๓. แปลเป็นภาษาญวน พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒
๔. แปลเป็นภาษาเขมร แปลเมื่อใดหาทราบไม่ ยังไม่ได้พิมพ์
๕. แปลเป็นภาษาไทย เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๔๕
๖. แปลเป็นภาษามาลายู พิมพ์(๕)
๗. แปลเป็นภาษาละติน มีฉบับอยู่ในรอยัลอาเซียติคโซไซเอตี แต่จะแปลเมื่อใดไม่ปรากฏ
๘. แปลเป็นภาษาสเปญ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๓
๙. แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘
๑๐. แปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์(๖) เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๙

ตำนานการแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทย มีคำบอกเลฃ่าสืบกันมาว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีพระราชดำรัสสั่งให้ แปลหนังสือพงศาวดารจีนเป็นภาษาไทย ๒ เรื่อง คือ เรื่องไซ่ฮั่นเรื่อง ๑ กับเรื่องสามก๊กเรื่อง ๑ โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลัง ทรงอำนวยการแปลเรื่องไซ่ฮั่น แลให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน)อำนวยการแปลเรื่องสามก๊ก คำที่เล่ากันมาดังกล่าวนี้ ไม่มีในจกหมายเหตุ แต่เมื่อพิเคราะห์ดู เห็นมีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าเป็นความจริง ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเอาพระราชธุระขวนขวายสร้างหนังสือต่างๆขึ้นเพื่อประโยนช์สำหรับพระนคร หนังสือซึ่งเป็นต้นฉบับตำราในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทั้งรวบรวมของเก่า ที่แต่งใหม่ แลที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๑ มีมาก แต่ว่าในสมัยนั้นเป็นหนังสือเขียนในสมุดไทยทั้งนั้น ฉบับหลวงมักมีบาจนแผนกแสดงว่าโปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีใด แต่หนังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับสามก๊ก ๒ เรื่องนี้ ต้นฉบับที่ยังปรากฏอยู่มีแต่ฉบับเชลยศักดิ์ ขาดบานแผนกข้างต้น จึงไม่มีลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญว่าแปลเมื่อใด

ถึงกระนั้นก็ดี มีเค้าเงื่อนส่อให้เห็นชัดว่า นังสือเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ทั้ง ๒ เรื่อง เป็นต้นว่า สังเกตเห็นได้ในเรื่องวพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่ง ซึ่งสมมติให้พระอภัยมณีมีวิชาชำนาญการเป่าปี่ ก็คือเอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดู คำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับคำเพลงปี่ของพระอภัยมณีก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าถ่ายมาจากกันเป็นแท้ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๑ สุนทรภู่เป็นข้าอยู่ในกรมพระราชวังหลัง คงได้ทราบเรื่องไซ่ฮั่นมาแต่เมื่อแปลที่วังหลัง

ส่วนเรื่องสามก๊กนั้นเค้าเงื่อนก็มีอยู่เป็นสำคัญในบทละครนอกเรื่องคาวี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บนหนึ่ง ว่า

เมื่อนั้น
ไวตทัตหุนหันไม่ทันตรึก
อวดรู้อวกหลักฮักฮึก
ข้าเคยพบรบศึกมาหลายยก
จะเข้าออกยอกย้อนผ่อนปรน
เล่ห์กลเรานี้อย่าวิตก
ทั้งพิชัยสงครามสามก๊ก
ได้เรียนไว้ในอกสารพัด
ยายกลับไปทูลพระเจ้าป้า
ว่าเรารับอาสาไม่ข้องขัด
ค่ำวันนี้คอยกันเป็นวันนัด
จะเข้าไปจับมัดเอาตัวมา

พึงเห็นได้ในบทละครนี้ ว่าถึงรัชกาลที่ ๒ หนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาไทยได้อ่านกันจนนับถืออยู่แล้ว สมกับอ้างว่าแปลในรัชกาลที่ ๑ ใช่แต่เท่านั้น มีเค้าเงื่อนที่พอจะสันนิษฐานต่อไปอีก ความนับถือเรื่องสามก๊กดังในพระราชนิพนธ์นั้น เป็นมูลเหตุให้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องอื่นๆในรัชกาลภายหลังต่อมา ข้อนี้มีจดหมายเหตุเป็นหลักฐานอยู่ในบานแผนก ว่าถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้แปลเรื่องเลียดก๊กอีกเรื่อง ๑ แลปรากฏนามผู้รับสั่งให้เป็ยพนักงานการแปล ล้วนผู้มีศักดิ์สูงแลทรงความสามารถถึง ๑๒ คน คือ กรมหมื่นนเรศร์โยธี ๑ เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ ๑ เจ้าพระยายมราช ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ๑ พระทองสื่อ ๑ จมื่นวัยวรนาถ ๑ นายจ่าเรศ ๑ นายเล่ห์อาวุธ ๑ หลวงลิขิตปรีชา ๑ หลวงวิเชียรปรีชา ๑ หลวงญาณปรีชา ๑ ขุนมหาสิทธิโวหาร ๑ พึงวสันนิษฐานว่าเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นหนังสืออันสมควรแปลไว้เพื่อประโยชน์ราชการบ้านเมือง เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้แปลเรื่องไซ่ฮั่นแลสามก๊ก ยังมีหนังสือเรื่องห้องสินกับเรื่องตั้งฮั่นอีก ๒ เรื่อง ฉบับพิมพ์มี่ปรากฏอยู่ไม่มีบานแผนกบอกว่าเมื่อใด แต่สำนวนแต่งเป็นสำนวนเก่า อาจแปลเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นได้ ด้วยเรื่องห้องสินอยู่ข้างหน้าต่อเรื่องเลียดก๊ก แลเรื่องตั้งฮั่นอยู่ในระวางเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊ก

แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ปรากฏว่าได้แปลหนังสือพงศาวดารจีนเรื่องใดเรื่องหนึ่งในรัชกาลที่ ๓ น่าจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ ว่าในรัชกาลแต่ก่อนมาได้สร้างหนังสือเพื่อประโยชน์ในทางคดีโลกมากแล้ว หนังสือคดีธรรมยังบกพร่องอยู่ เปลี่ยนไปทรงอุกหนุนการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย จึงมีหนังสือเรื่องต่างๆซึ่งแปลจากภาษาบาลีเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เป็นอันมาก แต่อย่างไรก็ดีบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ นอกจาก ๔ เรื่องที่ออกชื่อมาแล้ว เป็นหนังสือแปลตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มาทั้งนั้นได้ลองสำรวจเมื่อแต่งตำนานนี้ มีจำนวนหนังสือพงศาวดารจีนที่ได้แปลและพิมพ์เป็นภาษาไทยถึง ๓๔ เรื่อง คือ

แปลในรัชกาลที่ ๑

๑. เรื่องไซ่ฮั่น แปลเมื่อก่อน(๗) พ.ศ. ๒๓๔๙ เป็นหนังสือ ๓๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒. เรื่องสามก๊ก แปลเมื่อก่อน(๘) พ.ศ. ๒๓๔๘ เป็นหนังสือ ๙๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นสมุด ๔ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๒

๓. เรื่องเลียดก๊ก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๒ เป็นหนังสือ ๑๕๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นสมุด ๕ เล่ม

๔. เรื่องห้องสิน สันนิษฐานว่าแปลเมื่อรัชกาลที่ ๒ เป็นหนังสือ ๔๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัขชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๕. เรื่องตั้งฮั่น สันนิษฐานว่าแปลในรัชกาลที่ ๒ เป็นหนังสือ ๓๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ เป็นสมุด ๑ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๔
๖. เรื่องไซ่จิ้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ เป็นหนังสือ ๓๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบระดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๗. เรื่องตั้งจิ้น สันนิษฐานว่าจะแปลเนื่องกันกับเรื่องไซ่จิ้น เป็นหนังสือ ๓๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๘. เรื่องน่ำซ้อง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเป็นหนังสือ ๕๔ เล่มสมุดไทย รงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๙. เรื่องซุยถัง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ให้จีนบั้นกิมกับจีนเพงแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ กล่าวกันว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(จี่) วัดประยูรวงศาวาสเป็นผู้แต่งภาษาไทย เป็นหนังสือ ๖๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอสมิธพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลื้ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๓ เล่ม

๑๐. เรื่องน่ำปักซ้อง หลวงพิศาลศุภผลให้จีนบั้นกิมแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๘ เป็นหนังสือ ๒๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๑.เรื่องหงอโต้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ เป็นหนังสือ ๒๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๒. เรื่องบ้วนฮวยเหลา สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระบาบรมหมาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (คราวเดียวกับเรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ) เป็นหนังสือ ๑๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๓. เรื่องโหงวโฮ้วเพงไซ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (คราวเดียวกับเรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ) เป็นหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๔. เรื่องโหงวโฮ้วเพงหนำ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เป็นหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๕. เรื่องซวยงัก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตกับจีนบั้นอั๋นแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นหนังสือ ๓๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นสมุด ๓ เล่ม

๑๖. เรื่องซ้องกั๋ง สมเเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นหนังสือ ๘๒ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นสมุด ๕ เล่ม

๑๗. เรื่องเม่งเฉียว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (เมื่อปีใดไม่ปรากฏ) เป็นหนังสือ ๑๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หลวงพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นสมุด ๒ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๕

๑๘. เรื่องไคเภ็ก เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯให้หลวงพิพิธภัณฑวิจารย์(๙) แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๑๙. เรื่องซ่วยถัง ใครแปลหาทราบไม่ เป็นหนังสือ ๒๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์ศิริเจริญพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๖เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๐. เรื่องเสาปัก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นสมุด ๓ เล่ม

๒๑. เรื่องซิยินกุ้ยเจงตัง สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล (ในคราวเดียวกับเรื่องซิเตงซันเจงไซ) เป็นหนังสือ ๑๒ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๒. เรื่องซิเตงซันเจงไซ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้จีนโตแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒๓. เรื่องเองเลียดต้วน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๒๐ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๔. เรื่องอิวกังหนำ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล เป็นหนังสือ ๑๔ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๕. เรื่องไต้อั้งเผ่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ เป็นหนังสือ ๒๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒๖. เรื่องเซียวอั้งเผ่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๑๓ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์อุดมกิจเจริญพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๗. เรื่องเนียหนำอิดซือ สันนิษฐานว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้แปล เป็นหนังสือ ๒๖ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๒๘. เรื่องเม่งมวดเชงฌ้อ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ให้หลวงพิชัยวารีแปลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ เป็นหนังสือ ๑๗ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์หมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๒๙. เรื่องไซอิ๋ว พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตศิริ) ให้นายตีนแปล และนายเทียนวรรณาโภเรียบเรียง เป็นหนังสือ ๖๕ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นสมุด ๔ เล่ม

๓๐. เรื่องเปาเล่งถูกงอั้น นายหยอง อยู่ในกรมทหารปืนใหญ่แปล นายเทียนวรรณาโภเรียบเรียง เป็นหนังสือ ๑๘ เล่มสมุดไทย โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ เป็นสมุด ๒ เล่ม


แปลในรัชกาลที่ ๖

๓๑. เรื่องเชงเฉียว พระโสภณอักษรกิจ(เล็ก สมิตศิริ) ให้จีนภาคบริวัตร(โซวคือจือ)แปล พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์(ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา)เรียบเรียง (ประมาณขนาด ๑๒ เล่มสมุดไทย) โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๓๒. เรื่องง่วนเฉียว นายซุ่ยเทียม ตันเวชกุลแปล (ประมาณขนาด ๔๖ เล่มสมุดไทย) โรงพิมพ์เดลิเมล์พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นสมุด ๒ เล่ม

๓๓. เรื่องบูเซ็กเทียน คณะหนังสือพิมพ์สยามแปล (ประมาณขนาด ๑๘ เล่มสมุดไทย) แลพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นสมุด ๑ เล่ม

๓๔. เรื่องโหวงโฮ้วเพ็งปัก แปลพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ (ประมาณขนาด ๑๘ เล่มสมุดไทย) แลคณะหนังสือพิมพ์ศรีกรุงรวมพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ เป็นสมุด ๒ เล่ม (๑๐)

หนังสือเรื่องต่างๆ ที่แปลจากพงศาวดารจีนดังพรรณนามา ถ้าลำดับเทียบกับสมัยในพงศาวดารจีน ตรงกันดังแสดงต่อไป

๑. พระเจ้าอึ่งตี่ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๐๐ ปี แต่ก่อนพุทธกาล ๓๒๕๔ ปี เรื่องไคเภ็ก

๒. พระเจ้ากิมเต๊กอ๋องฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๘๔ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๒๐๕๔ ปี เรื่องไคเภ็ก

๓. พระเจ้าจวนยกตี่ฮองเต้ ครองราชสมบัติ ๗๔ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๙๗๐ ปี เรื่องไคเภ็ก

๔. พระเจ้าตี่คอกฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๗๐ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๙๒ ปี เรื่องไคเภ็ก

๕. พระเจ้าจี่เต้ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๙ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๒๒ ปี เรื่องไคเภ็ก

๖. พระเจ้าเงี้ยวเต้ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๐๐ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๘๑๔ ปี เรื่องไคเภ็ก

๗. พระเจ้าสุ้นเต้ฮองเต้ ครองราชสมบัติอยู่ ๔๘ ปี แต่เมื่อก่อนพุทธกาล ๑๗๑๒ ปี เรื่องไคเภ็ก


๑. ราชวงศ์แฮ่

พระเจ้าอู๋เต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกียด รวม ๑๗ พระองค์ จำนวนรัชกาล ๔๒๓ ปี ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ๑๖๖๒ ถึง ๑๒๔๐ เรื่องไคเภ็ก


๒. ราชวงศ์เซียง

พระเจ้าเซียงทางปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าติวอ๋อง รวม ๒๘ พระองค์ จำนวนรัชกาล ๖๕๐ ปี แต่ก่อนพุทธกาล ๑๒๔๐ ถึง ๕๙๐ ปี เรื่องไคเภ็กตอนปลาย เรื่องห้องสินตอนต้น


๓. ราชวงศ์จิว

พระเจ้าจิวบูอ๋องปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าจิวหมั้นอ๋อง รวม ๓๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๘๘๘ ปี ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ๕๙๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๙๗ เรื่องห้องสิน เรื่องเลียดก๊ก


๔. ราชวงศ์จิ้น

พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซาซีฮ่องเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๔๐ ปี ตั้ง พ.ศ. ๒๙๘ ถึง ๓๓๗ เรื่องไซ่ฮั่นตอนต้น


๕. (๑) ราชวงศ์ฮั่น

พระเจ้าฮั่นโกโจปฐมกษัคตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าจูเอ๋ง รวม ๑๓ พระองค์ จำนวนรัชกาล ๒๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๓๓๗ ถึง ๕๕๑ เรื่องไซ่ฮั่นตอนปลาย


แทรก

อองมั้งครองราชสมบัติ ๑๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๒๒ ถึง ๕๖๖ เรื่องตั้งฮั่นตอนต้น

วายเอียงอ๋องครองราชสมบัติ ๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๖๖ ถึง ๕๖๗ เรื่องตั้งฮั่นตอนต้น


๕. (๒) ราชวงศ์ฮั่น

พระเจ้ากองบู๊สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเหี้ยนเต้ รวม ๑๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๙๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๕๖๘ ถึง ๗๖๓ เรื่องตั้งฮั่นตอนปลาย เรื่องสามก๊กตอนต้น


๖. ราชวงศ์วุย

พระเจ้าโจผีปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าโจฮวน รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๔๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๗๖๓ ถึง ๘๐๗ เรื่องสามก๊กตอนกลาง


๗. ราชวงศ์จิ้น

พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้ากองเต้ รวม ๑๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๕๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๘๐๗ ถึง ๙๖๒ เรื่องสามก๊กตอนปลาย เรื่องไซ่จิ้น เรื่องตั้งจิ้น เรื่องน่ำซ้อง


เอกราชภาคเหนือและภาคใต้


๘. ราชวงศ์ซอง

พระเจ้าซองเกาโจ๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าสุนเต้ รวม ๗ องค์ จำนวนรัชกาล ๕๙ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๙๖๓ ถึง ๑๐๒๑ เรื่องน่ำซ้อง


๙. ราชวงศ์ชี

พระเจ้าชีเกาเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าฮัวเต้ รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๒๒ ถึง ๑๐๔๔ เรื่องน่ำซ้อง


๑๐. ราชวงศ์เหลียง

พระเจ้าเหลียงบูเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกงเต้ รวม ๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๕๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๔๕ ถึง ๑๑๐๐ เรื่องน่ำซ้อง


๑๑. ราชวงศ์ตั้น

พระเจ้าตั้นบูเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเอ๋าจู๊ รวม ๕ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๐๐ ถึง ๑๑๓๒ เรื่องน่ำซ้อง


๑๒. ราชวงศ์ซุย

พระเจ้าอ๋องบุนเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าเกงเต้ รวม ๓ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๓๒ ถึง ๑๑๖๑ เรื่องส้วยถัง เรื่องซุยถัง


๑๓. ราชวงศ์ถัง

พระเจ้าถังตี้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าถังเจียวจง รวม ๒๐ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๙๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๖๑ ถึง ๑๔๕๐ เรื่องซุยถังตอนปลาย เรื่องเสาปัก เรื่องซิยินกุ้ย เรื่องซิเตงซัน เรื่องไซอิ๋ว เรื่องบูเซ็กเทียน


๑๔. ราชวงศ์เหลียง

พระเจ้าเหลียงไทโจ๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้ามะเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๕๐ ถึง ๑๔๖๖ เรื่องหงอโต้ว


๑๕. ราชวงศ์ถัง

พระเจ้าจังจงฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าฮุยเต้ รวม ๔ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๓ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๖๖ ถึง ๑๔๗๘ เรื่องหงอโต้


๑๖. ราชวงศ์จิ้น

พระเจ้าเกาโจ๊ฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าชุดเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๗๘ ถึง ๑๔๙๐ เรื่องหงอโต้ว


๑๗. ราชวงศ์ฮั่น

พระเจ้าเคี้ยนอิ้วปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าอึนเต้ รวม ๒ องค์ จำนวนรัชกาล ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๐ ถึง ๑๔๙๔ เรื่องหงอโต้


๑๘. ราชวงศ์จิว

พระเจ้าไทโจ๊วเกาเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าตรองเต้ รวม ๓ องค์ จำนวนรัชกาล ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๔ ถึง ๑๕๐๓


๑๙. ราชวงศ์ซ้อง

พระเจ้าไทโจ๊วฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซองกงจงฮองเต้ รวม ๑๖ องค์ จำนวนรัชกาล ๓๑๗ ปี ตะงแต่ พ.ศ. ๑๕๐๓ ถึง ๑๘๑๙ เรื่องน่ำปักซ้อง เรื่องบ้วนฮวยเหลา เรื่องโหงวโฮ้วเพงไซ เพงหนำ เพงปัก เรื่องซวยงัก เรื่องซ้องกั๋ง เรื่องเปาเล่งถูกงอั้น


๒๐. ราชวงศ์หงวน

พระเจ้าง่วนสีโจ๊วฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าง่วนซุนเต้ รวม ๘ องค์ จำนวนรัชกาล ๙๒ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๒๐ ถึง ๑๙๑๑ เรื่องง่วนเฉียว


๒๑. ราชวงศ์เหม็ง

พระเจ้าฮ่องบู๊ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าชงเจง รวม ๑๖ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๗๖ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๑๑ ถึง ๒๑๘๖ เรื่องเม่งเฉียว เรื่องเองเลียดต้วน เรื่องเจงเต๊กอิ้วกังหนำ เรื่องไต้อั้งเผ่า เรื่องเซียวอั้งเผ่า เรื่องเนียหนำอิดซือ


๒๒. ราชวงศ์เชง

พระเจ้าไทโจเกาฮองเต้ปฐมกษัตริย์สืบราชวงศ์ถึงพระเจ้าซุงทุง รวม ๑๐ องค์ จำนวนรัชกาล ๒๑๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๘๗ ถึง ๒๔๕๔ เรื่องเม่งมวดเชงฌ้อ เรื่องเชงเฉียว


เรื่องพงศาวดารจีนที่ได้แปลภาษาไทยนั้น ไม่ใช่แต่แปลเป็นหนังสืออ่านอย่างเดียว บางเรื่องถึงมีผู้เอาไปแต่งเป็นกลอนและเป็นบทละคอน ได้ลองสำรวจดูที่มีฉบับอยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนครขณะเมื่อแต่งตำนานนี้ มีทั้งพิมพ์แล้วและยังไม่ได้พิมพ์หลายเรื่องหลายตอน คือ


บทละคอนรำ

๑. เรื่องห้องสิน ตอนพระเจ้าติวอ๋องไปไหว้เทพารักษ์ที่เขาอิสาน จนถึงพระเจ้าบู๊อ๋องตีได้เมืองอิวโก๋ หลวงพัฒนพงศ์ภักดี(ทิม สุขยางค์) แต่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๔ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๒. เรื่องไต้ฮั่น ตอนพระเจ้าบู๊ฮองเต้ให้นางเต๊กเอี๋ยงกงจู๊เลือกคู่ จนถึงเตียวเห่าไปล่าเนื้อในป่า หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๓. เรื่องสามก๊ก
(ก) ตอนพระเจ้าเลนเต้ประพาสสวน จนถึงตั๋งโต๊ะเข้าไปขู่พระเจ้าเหี้ยนเต้ หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๑๖ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ข) ตอนอองอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๒เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ค) ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๒ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

(ฆ) ตอนจิวยี่คิดอุบายจะเอาเมืองเกงจิ๋ว หมื่นเสนานุชิต(เจต) แต่งลงพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖

(ง) ตอนจิวยี่รากเลือด หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

(จ) ตอนนางซุนฮูหยินหนีกลับไปเมืองกังตั๋ง หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๔. เรื่องซุยถัง ตอนเซงจือเกณฑ์ทัพ จนถึงนางย่งอั่นกงจู๊จับนางปักลันกับทิก๊กเอี๋ยนได้ หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๕. เรื่องหงอโต้ว ตอนฮองเฉาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากวางเผ็ง หลวงพัฒนพงศ์ฯ แต่งให้เจ้าพระยามหินทร์เล่นละคอน เป็นหนังสือเล่มสมุดไทย ๑ ยังไม่ได้พิมพ์

๖. เรื่องบ้วนฮวยเหลา ตอนพวกฮวนตีด่านเมืองหลวง จนถึงนางโปยเหลงจะทำร้ายเพ็งไซอ๋อง หลวงพัฒนพงศ์ฯแต่งให้เจ้าพระยามหินทร์ฯเล่นละคอน เป็นหนังสือ ๖ เล่มสมุดไทย ยังไม่ได้พิมพ์

๗. เรื่องซวยงัก ตอนกิมงิดตุดตีเมืองลูอันจิ๋ว กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงพระนิพนธ์ (สันนิษฐานว่าเพื่อให้เจ้าคุณจอมมารดาเอมเล่นละคอน) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒


บทละคอนร้อง
(เล่นบนเวทีอย่างละคอนปราโมไทย)

๑. เรื่องสามก๊ก
(ก) ตอนนางเตี้ยวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะ ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า นายสะอาด พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

(ข) ตอนตั๋งโต๊ะหลงนางเตี้ยวเสี้ยน ผู้แต่งใช้นามว่า เหม็งกุ่ยปุ้น พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘

(ค) ตอนเล่าปี่แต่งงาน จนจิวยี่ราดเลือก ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า ทิดโข่ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑


กอนสุภาพ
(แต่งตามแบบสุนทรภู่)

๑. เรื่องห้องสิน ขุนเสนานุชิต(เจต) แต่งค้างอยู่ เป็นหนังสือ ๓ เล่มสมุดไทย

๒. เรื่องสามก๊ก ตอนนางเตี้ยวเสี้ยนลวงตั๋งโต๊ะ หลวงธรรมาภิมณฑ์(ถึง จิตรกถึก)แต่ง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙


Create Date : 15 มีนาคม 2550
Last Update : 26 ธันวาคม 2550 13:19:45 น. 1 comments
Counter : 3464 Pageviews.  
 
 
 
 
๓. ว่าด้วยสำนวนแปลหนังสือสามก๊ก

ลักษณะการแปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทยแต่โบราณ (หรือแม้จนชั้นหลังมา) อยู่ข้างลำบาก ด้วยผู้รู้หนังสือจีนไม่มีใครชำนาญภาษาไทย ผู้ชำนาญภาษาไทยก็ไม่ใคร่รู้หนังสือจีน การแปลจึงต้องมีพนักงานเป็นสองฝ่ายช่วยกันทำ ฝ่ายผู้ชำนาญหนังสือจีนแปลความออกให้เสมียนจดลง และผู้ชำนาญภาษาไทยเอาความนั้นเรียบเรียงแต่งเป็นภาษาไทยให้ถ้อยคำและสำนวนความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีผู้ซึ่งทรงความสามารถ เช่นกรมพระราชวังหลังและเจ้าพระยาพระคลัง(หน)เป็นต้น จนเมื่อชั้นหลังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้อำนวยการแปล ท่านผู้อำนวยการบางทีจะไม่ได้เป็นผู้แต่งภาษาไทยเองทุกเรื่อง แต่ก็เห็นจะต้องสันนิษฐานทักท้วงแก้ไขทั้งข้อความและถ้อยคำที่แปลมากอยู่ ข้อนี้พึงสังเกตได้ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่แปลนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงอำนวยการแปล สำนวนมักดีกว่าเรื่องบุคคลสมมัญแปล แต่สำนวนแปลคงจะไม่สู้ตรงกับสำนวนที่แต่งไว้ในภาษาจีนแต่เดิม เพราะผู้แปลมิได้รู้สันทัดทั้งภาษาจีนภาษาไทย รวมอยู่ในคนเดียวเหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้

ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีน ที่ได้แปลเป็นภาษาไทยนับถือกันว่าสำนวนหนังสือสามก๊กดีกว่าเรื่องอื่น ด้วยใช้ถ้อยคำและเรียงความเรียบร้อยสม่ำเสมออ่านเข้าใจง่าย ถึงมีผู้ชอบยกเอาประโยคในหนังสือสามก๊กไปพูดเล่นเป็นภาษิต ในเมื่อจะกล่าวถึงสำนวนหนังสือเรื่องอื่นซึ่งไม่ยักเยื้อง มักกล่าวว่าเป็นสำนวนอย่าง "สามเพลงตกม้าตาย" หรือ "ได้ฟังดังนั้นก็โกรธ" ดังนี้ แต่มิใช่ติเตียนสำนวนหนังสือสามก๊ก ยอมว่าเป็นสำนวนดีด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ใช้หนังสือสามก๊กเป็นแบบสำหรับหัดเรียงความในโรงเรียน

แต่เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือสามก๊กคราวหลัง มาสังเกตเห็นขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง ซึ่งมิได้เคยรู้มาแต่ก่อน ว่าหนังสือสามก๊กนั้นสำนวนที่แต่งคำแปลเป็นสองสำนวน สำนวนหนึ่งแต่งตั้งแต่ต้นไปจนในสมุดพิมพ์เล่มที่ ๓ ตามฉบับเดิม หรือที่เปลี่ยนเป็นตอนที่ ๕๕ ในฉบับพิมพ์ใหม่นี้ แต่นั้นไปจนหมดเรื่องเป็นอีกสำนวนหนึ่งต่างหาก แต่ก็ไม่เลว แต่ไม่ดีเหมือนสำนวนที่แต่งตอนต้น(๑๑) ซึ่งหนังสือสามก๊กเป็นสองสำนวนดังกล่าวนี้ น่าจะสันนิษฐานว่าจะเป็นเพราะเจ้าพระยาพระคลัง(หน) อำนวยการแปลอยู่ไม่ทันตลอดเรื่อง ถึงอสัญกรรมเสีย (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘) มีผู้อำนวยการแปลต่อมา สำนวนจึงผิดกันไป

อนึ่ง การแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยผิดกับภาษาอื่นอีกอย่างหนึ่ง ด้วยจีนต่างเหล่าอ่านหนังสือจีนสำเนียงผิดกัน เช่นหนังสือเรื่องสามก๊กนี้ จีนต่างเหล่าต่างเรียกชื่อเมืองและชื่อบุคคลผิดกัน ดังจะแสดงพอให้เห็นเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

ราชอาณาเขตของพระเจ้าโจผี คำหลวง (คือจีนเมืองหลวงเดิม(๑๒)) เรียกว่า ไวโกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า วุยก๊ก จีนแต่จิ๋วเรียก งุ่ยก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า ง่ายโกะ จีนไหหลำเรียกว่า หงุ่ยก๊ก

ราชอาณาจักรของพระเจ้าเล่าปี่ คำหลวงเรียกว่า จ๊กโกวะ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า จ๊กก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า จ๊วกก๊ก จีนกวางตุ้งเรียกว่า ซกโกะ จีนไหหลำเรียกว่า ต๊กก๊ก

ราชอาณาเขตของพระเจ้าซุนกวน คำหลวงเรียกว่า อู๋โกวะ ฮกเกี้ยนเรียกว่า ง่อก๊ก จีนแต้จิ๋วเรียกว่า โหง๊วก๊ก จีนกวางตุ้งเยกว่า อื้อโกะ จีนไหหลำเรียกว่า โง่ก๊ก

เล่าปี่ คำหลวงเรียกว่า ลิ่วปี๋ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เล่าปี่ จีนแต่จิ๋วเรียกว่า เล่าปี๋ จีนกวางตุ้งเรียกว่า เหล่าปิ๊ จีนไหหลำเรียกว่า ลิ่วปี

โจโฉ คำหลวงเรียกว่า เฉาเช่า จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า โจโฉ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เช่าเฉา จีนกวางตุ้งเรียกว่า โช่วเชา จีนไหหลำเรียกว่า เซาเซ่า

ซุนกวน คำหลวงเรียกว่า ซุนขยง จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ซุ่นกวน จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซึงขวน จีนกวางตุ้งเรียกว่า ซุนคิ่น จีนไหหลำเรียกว่า ตุนเขียน

ขงเบ้ง คำหลวงเรียกว่า ข้งหมิ่ง จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า ขงเบ้ง จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ขงเหมง จีนกวางตุ้งเรียกว่า หงเม่ง จีนไหหลำเรียกว่า ขงเหม่ง

สุมาอี้ คำหลวงเรียกว่า ซือม่าอี๋ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า สุมาอี้ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ซือเบอี๋ จีนกวางตุ้งเรียกว่า สือหม่าอี้ จีนไหหลำเรียกว่า ซีม่าอี้

จิวยี่ คำหลวงเรียกว่า เจี่ยวหยี่ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่าจิวยี่ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า จิวหยู จีนกวางตุ้งเรียกว่า จาวหยี่ จีนไหหลำเรียกว่า จิวยี่

กวนอู คำหลวงเรียกว่า กวานอี้ จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า กวนอู จีนแต้จิ๋วเรียกว่ากวนอุ๊ จีนกวางตุ้งเรียกว่า กวานยี่ จีนไหหลำเรียกว่า กวนยี่

เตียวหุย คำหลวงเรียกว่าเจียงฟุย จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เตียวหุย จีนแต้จิวเรียกว่า เตียฮุย จีนกวางตุ้งเรียกว่า จงฟุย/จางฟุย จีนไหหลำเรียกว่า เจียงฮุย ดังนี้


หนังสือเรื่องจีนที่แปลเป็นภาษาไทย บางเรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฮกเกี้ยน บางเรื่องเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะจีนในประเทศสยามนี้มีจีนเหล่าฮกเกี้ยนกับเหล่าแต้จิ๋วมากกว่าเหล่าอื่น ผู้แปลเป็นจีนเหล่าไหน อ่านหนังสือสำเนียงเป็นอย่างใด ไทยเราก็จดลงอย่างนั้น หนังสือสามก็กที่แปลเป็นไทยเรียกชื่อต่างๆตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน เมื่อเทียบกับหนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาอื่น ชื่อที่เรียกจึงมักผิดเพี้ยนกัน เพราะเข้าเรียกตามสำเนียงจีนอย่างอื่น มักทำให้เกิดฉงนด้วยเหตุนี้

๔. ว่าด้วยพิมพ์หนังสือสามก๊กภาษาไทย

หนังสือไทยแม้พิมพ์ได้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ก็ดี มาใช้การพิมพ์แพร่หลายต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็ในสมัยเมื่อก่อนพิมพ์หนังสือไทยได้นั้น หนังสือที่แปลจากเรื่องพงศาวดารจีนมีแต่ ๕ เรื่อง คือ เรื่องห้องสิน เรื่องเลียดก๊ก เรื่องไซ่ฮั่น เรื่องตั้งฮั่น กับเรื่องสามก๊ก แต่คนทั้งหลายชอบเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่น ผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งสะสมหนังสือก็มักคัดลอกเรื่องสามก๊กไว้ในห้องสมุดของตน ด้วยเหตุนี้หนังสือสามก๊กจึงมีฉบับมากกว่าเพื่อน(๑๓)

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ หมอบรัดเลมิชชันนารีอเมริกัน ย้ายโรงพิมพ์มาตั้งที่ปากคลองบางกอกใหญ่ เริ่มพิมพ์หนังสือไทยเรื่องต่างๆขาย ได้ต้นฉบับหนังสือเรื่องสามก๊กของผู้อื่นมา ๒ ฉบับ แล้วไปยืมต้นฉบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมมาสอบกันเป็น ๓ ฉบับ พิมพ์หนังสือสามก๊กขึ้นเป็นสมุดพิมพ์ ๔ เล่มตลอดเรื่อง สำเร็จเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ขายราคาฉบับละ ๒๐ บาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้อยู่หัวทรงรับซื้อช่วยหมอบรัดเล เห็นจะราว ๕๐ ฉบับ พระราชทานพระราชโอรสธิดาพระองค์ละฉบับทั่วกัน(๑๔) เหลือนั้นก็เห็นจะพระราชทานผู้อื่นต่อไป

การที่หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือสามก๊กขึ้นครั้งแรกนั้น เมื่อมาพิจารณาดูเห็นควรนับว่าเป็นการสำคัญในทางพงศาวดาร ด้วยเรื่องสามก๊กเป็นเรื่องไทยชอบอยู่แล้ว บุคคลชั้นสูงได้เคยอ่านหนังสือก็มี และบุคคลชั้นต่ำได้เคยดูงิ้วก็มาก ครั้นเกิดหนังสือสามก๊กฉบับพิมพ์อันจะพึงซื้อหาหรือหยิบยืมกันอ่านได้ง่าย ก็ทำให้มีผู้ชอบอ่านหนังสือมากขึ้น เลยเป็นปัจจัยต่อออกไปถึงให้มีผู้พิมพ์หนังสือขายมากขึ้น และทำให้ผู้มีศักดิ์เช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นต้น เอาเป็นธุระสร้างหนังสือสำหรับให้พิมพ์มากขึ้น ที่ชอบแปลแต่เรื่องจีนเป็นพื้นนั้นก็ไม่ประหลาดอันใด ด้วยในสมัยนั้นผู้รู้ภาษาฝรั่งเศสมีน้อยนัก ถึงเรื่องจีนก็ทำให้เกิดปัญญาความรู้เจริญแพร่หลายยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงควรยกย่องหนังสือสามก๊ก ว่าได้ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาในประเทศนี้ด้วยอีกสถานหนึ่ง

หนังสือไทยที่ตีพิมพ์จับแพร่หลายเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ พอถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดบำรุงการศึกษาทรงอุดหนุนซ้ำ การพิมพ์หนังสือไทยก็ยิ่งเจริญขึ้นโดยรวดเร็ว ก็ในสมัยเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ นั้น มีโรงพิมพ์อันนับว่าเป็นโรงใหญ่อยู่ ๓ โรง คือโรงพิมพ์หลวงตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง(ตรงบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ เป็นตำแหน่งจางวางพระอาลักษณ์ ได้ทรงบัญชาการโรง ๑ โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลมิชชันนารีอเมริกัน ตั้งอยู่ที่ริมปากคลองบางกอกใหญ่โรง ๑ โรงพิมพ์ของหมอสมิธมิชชันนารีชาติอังกฤษ ตั้งขึ้นที่บางคอแหลมโรง ๑

โรงพิมพ์หลวงนั้นเมื่อชั้นแรกในรัชกาลที่ ๕ ก็พิมพ์หนังสือเรื่องพงศาวดารจีนจำหน่ายหลายเรื่อง ดังปรากฏอยู่ในบัญชีหนังสือเรื่องจีนซึ่งได้แสดงมาแล้ว แต่ต่อมาเมื่อพิมพ์หนังสือแบบเรียนสำหรับโรงเรียนหลวง แล้วต้องพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเษกษาก็งดพิมพ์หนังสืออื่น คงพิมพ์หนังสือเรื่องต่างๆขายแต่โรงพิมพ์หมอบรัดเลกับโรงพิมพ์หมอสมิธ ต่างไปขอต้นฉบับที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านจึงไกล่เกลี่ยให้หมอบรัดเลเอาปแต่หนังสือจำพวกความร้อยแก้ว เช่นเรื่องพงศาวดารจีน ไปพิมพ์ ส่วนหมอสมิธให้พิมพ์หนังสือจำพวกบทกลอน(๑๕) ต่างคนต่างพิมพ์มาเช่นนั้นหลายปี ทีหลังเกิดมีฝรั่งฟ้องหมอสมิธในศาลกงสุลอังกฤษ ว่าพิมพ์หนังสือไม่เป็นศลีไม่ธรรมจำหน่ายหาประโยชน์ โจทก์อ้างพวกมิชชันนารีอเมริกันที่รู้ภาษาไทยเป็นพยาน และขอให้เป็นผู้แปลหนังสือบทกลอนที่หมอสมิธพิมพ์บางแห่ง เช่นบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่อยู่ข้างหยาบ และบทละคอนตอนเข้าห้องสังวาส เป็นภาษาอังกฤษพิสูจน์ให้ศาลๆตัดสินให้หมอสมิธแพ้ ห้ามมิให้พิมพ์หนังสืออย่างนั้นจำหน่ายอีกต่อไป หมอสมิธก็ต้องเลิกพิมพ์หนังสือบทกลอน แต่เมื่อถูกห้ามนั้นหมอสมิธรวยเสียแล้ว(๑๖) นัยว่าแต่หนังสือพระอภัยมณีของสุนทรภู่เรื่องเดียว พิมพ์ขายได้กำไรงามจนพอสร้างตึกได้หลังหนึ่ง หมอสมิธก็ไม่เดือดร้อน ส่วนหมอบรัเลนั้นตัวเองอยู่มาในรัชกาลที่ ๕ เพียง พ.ศ. ๒๔๑๗ ก็ถึงแก่กรรม แต่บุตรภรรยายังทำการโรงพิมพ์ต่อมา พิมพ์หนังสือจำพวกความร้อยแก้วขายก็ได้กำไรมาก ครั้นนานมาไม่มีตัวผู้ที่จะจัดการก็ต้องเลิกโรงพิมพ์ การพิมพ์หนังสือขายจึงกระจายไปตามโรงพิมพ์อื่นๆซึ่งตั้งขึ้นใหม่(๑๗)

การพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊ก โรงพิมพ์หมอบรัดเลได้พิมพ์ ๓ ครั้ง แล้วโรงพิมพ์อื่นพิมพ์ต่อมาอีก ๓ ครั้ง รวมเบ็ดเสร็จได้พิมพ์ถึง ๖ ครั้งด้วยกัน แต่การพิมพ์ต่อๆมาเป็นแต่อาศัยฉบับที่พิมพ์ก่อนเป็นต้นฉบับ ไม่ได้ตรวจชำระเหมือนอย่างเมื่อหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรก และบางฉบับซ้ำมีผู้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำลงตามอำเภอใจ หนังสือสามก๊กที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดสมัยนี้ จึงวิปลาสคลาดเคลื่อนจากฉบับเดิมด้วยประการฉะนี้

๕. ว่าด้วยรูปเรื่องสามก๊ก

ข้าพเจ้าผู้แต่งตำนานนี้ ได้เคยอ่านหนังสือสามก๊กหลายครั้ง แต่อ่านครั้งก่อนๆประสงค์เพียงจะรู้เรื่องเป็นสำคัญ ต่อมาอ่านเมื่อจะแต่งตำนานนี้ จึงได้ตั้งใจพิจารณาเหตุการณ์ในเรื่องสามก๊ก ก็รู้ว่าตามที่เคยสำเหนียกมาแต่ก่อนเป็นความเข้าใจผิดอยู่หลายอย่าง บางทีผู้อ่านซึ่งเข้าใจผิดเช่นเดียวกับข้าพเจ้า หรือที่ยังไม่เข้าใจรูปเรื่องสามก๊กก็จะมีอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจะลองบอกอธิบายรูปเรื่องสามก๊กไว้ในตำนานนี้ พอให้ผู้อ่านหนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาไทยเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ประเทศจีนเมื่อเริ่มเรื่องสามก๊กนั้น กษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นเป็นใหญ่ ตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองลกเอี๋ยง ได้ครอบครองแผ่นดินจีนทั่วทั้งประเทศ และลักษณะการปกครองบ้านเมือง รัฐบาลกลางบังคับบัญชาการทุกอย่างเพียงในมณฑลราชธานี นอกนั้นออกไปเป็นหัวเมืองอำนาจการปกครองทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เป็นสิทธิขาดอยู่กับผู้เป็นเจ้าเมือง(๑๘) เป็นแต่ฟังบังคับบัญชารัฐบาลกลางที่ราชธานี เวลามีศึกสงครามที่ใด ก็เกณฑ์ให้เจ้าเมืองคุมกำลังเมืองของตนไปรบพุ่ง หรือเจ้าเมืองไหนกำเริบเป็นกบฏ ก็มีท้องตราสั่งให้เจ้าเมืองอื่นยกกำลังไปปราบปราม หรือบางเกิดจลาจลขึ้นในเมืองหลวง ให้พวกเจ้าเมืองขึ้นเข้าไปช่วยปราบปรามก็มี พวกเจ้าเมืองขึ้นมีอำนาจเช่นนั้นก็มักถือเอาประโยชน์ตน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับหน้าที่ในตำแหน่ง บางทีถึงเกิดรบพุ่งแย่งชิงประโยชน์กันหรือบังอาจขัดแข็งต่อรัฐบาลกลางเพื่อรักษาประโยชน์ตน รัฐบาลกลางจำต้องมีไหวพริบคอยระวังมิให้พวกเจ้าเมืองขึ้นมีกำลัง ถึงอาจจะละเมิดถึงต่อสู้อำนาจรัฐบาลกลางได้ วิธีการปกครองอย่างว่ามานี้จำต้องมีพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงมีอานุภาพมาก หรือมิฉะนั้นก็ต้องมีอัครมหาเสนาบดีอันมีความสามารถเป็นที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลายทั่วไป การปกครองแผ่นดินจึงจะเรียบร้อย ถ้าขาดทั้ง ๒ อย่าง บ้านเมืองก็เกิดจลาจล

หนังสือสามก๊กกล่าวความเริ่มเรื่องตั้งแต่ พระเจ้าเลนเต้ได้รับรัชทายาทเมื่อ พ.ศ. ๗๑๑ เพราะปฐมเหตุที่ประเทศจีนจะแยกกันเป็นสามก๊ก เกิดแต่พระเจ้าเลนเต้ปราศจากความสามารถ หลงเชื่อพวกขันทีในราชสำนัก พวกขันทีจึงกำเริบเอิบเอื้อมแสวงหาอำนาจในราชการบ้านเมืองด้วยอุบายต่างๆ ขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองหลวงเวลานั้นก็ไม่มีคนสำคัญอันเป็นที่นับถือยำเกรงของคนทั้งหลาย มีขุนนางบางคนที่ซื่อสัตย์คิดจะกำจัดพวกขันที ก็ติดด้วยพระเจ้าเลนเต้ป้องกันไว้ การปกครองแผ่นดินจึงวิปริตผันแปร และเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมยิ่งขึ้นเป็นอันดับมา

จนพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์ลง ราชบุตรองค์ใหญ่ชื่อห้องจูเปียนได้รับรัชทายาท นางโฮเฮามเหสีผู้เป็นชนนีเป็นผู้ว่าราชการแผ่นดิ ราชบุตรองค์น้อยนั้นชื่อห้องจูเหียบกำพร้าชนนี นางตังไทฮอผู้เป็นอัยยิกาเลี้ยงมาแต่น้อย และขวนขวายจะให้ได้ราชสมบัติแต่หาได้ไม่ นางทั้งสองจึงเป็นอริแก่กัน เมื่อพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนม์แล้ว โฮจิ้นพี่นางโฮเฮาได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ให้ลอบฆ่านางตังไทฮอเสีย แล้วคิดกำจัดพวกขันทีต่อไป แต่นางโฮเฮาป้องกันพวกขันทีไว้เหมือนอย่างพระเจ้าเลนเต้ โฮจิ้นจะทำการเองไม่ถนัด จึงมีหนังสือไปถึงตั๋งโต๊ะเจ้าเมืองซีหลงให้ยกกองทัพเข้าไปปราบพวกขันที

ก็ตั๋งโต๊ะนั้นวิสัยเป็นคนพาลสันดานชั่ว เห็นได้ช่องจะเป็นประโยชน์แก่ตนก็ยกกองทัพเข้าไปยังเมืองหลวง ครั้นพวกขันทีรู้ว่าโฮจิ้นคิดอ่านกันกับตั๋งโต๊ะจะกำจัดพวกของตน ก็ชิงทำอุบายลวงโฮจิ้นเข้าไปในวัง แล้วปิดประตูวังช่วยกันจับโฮจิ้นฆ่าเสีย ฝ่ายพรรคพวกโฮจิ้นพากันโกรธแค้น เอาไปเผาวังพังประตูเข้าไปไล่จับพวกขันที ในเวลาจับกุมฆ่าฟันกันนั้น ไฟเลยไหม้ลุกลามเกิดอลหม่านทั้งพระราชวัง ถึงพระเจ้าแผ่นดินกับราชกุมารองค์น้อยต้องพากันหนีออกจากเมืองไปอาศัยอยู่ที่อื่น

ฝ่ายตั๋งโต๊ะได้ช่องก็เข้าตัดการระงับจลาจล แล้วเลยกำจัดพระเจ้าแผ่นดินกับนางโฮเฮาชนนีเสีย ยกห้องจูเหียบราชกุมารองค์น้อยขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงนามว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ ตั๋งโต๊ะก็ได้เป็นที่ "เซียงก๊ก" สำเร็จราชการ(๑๙) เพราะเป็นผู้ยกพระเจ้าเหี้ยนเต้ขึ้นทรงราชย์ แต่พอตั๋งโต๊ะได้เป็นเซียงก๊กขึ้นก็ประพฤติพาลทุจริตต่างๆ พวกขุนนางในเมืองหลวงไม่มีใครสามารถจะกำจัดตั๋งโต๊ะได้ ก็พากันหลีกหนีไปอยู่ตามหัวเมืองเป็นอันมาก(๒๐) ก็ในพวกที่หนีตั๋งโต๊ะไปนั้นคนหนึ่งชื่อโจโฉ ไปคิดชวนเจ้าเมืองขึ้นหลายเมืองให้ยกกองทัพเข้าไปปราบตั๋งโต๊ะ แต่การไม่สำเร็จ เพราะพวกเจ้าเมืองเหล่านั้นต่างถือเปรียบเกี่ยงแย่งไม่เป็นสามัคคีกัน มัวคิดหาอำนาจบ้าง เกิดเป็นอริต่อกันบ้าง การครั้งนี้เป็นต้นเหตุอันหนึ่ง ซึ่งเจ้าเมืองต่างๆเกิดรบพุ่งชิงอำนาจและอาณาเขตกันต่อมาในเรื่องสามก๊ก

ส่วนตั๋งโต๊ะนั้น แม้พวกหัวเมืองไม่สามารถกำจัดได้ด้วยกำลังทหารก็ดี ต่อมาไม่ช้าอ้องอุ้นขุนนางในเมืองหลวงก็กำจัดได้ด้วยใช้กลสตรี แต่เมื่อกำจัดตั๋งโต๊ะได้แล้ว อ้องอุ้นไม่สามารถจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเรียบร้อยได้ และพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นก็ซ้ำเป็นกษัตริย์ปราศจากความสามารถอีกองค์หนึ่ง พรรกพวกของตั๋งโต๊ะมีลิฉุยกุยกีเป็นหัวหน้า จึงอาจทำการแก้แค้นฆ่าอ้องอุ้นเสีย แล้วบังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ ให้ตั้งพวกของตนเป็นขุนนางผู้ใหญ่มีอำนาจในเมืองหลวงต่อมา แล้วทรยศต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยประการต่างๆ ที่สุดถึงพยายามกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้

พระเจ้าเหี้ยนเต้ต้องทิ้งเมืองหลวงหลบหนี มีความเดือดร้อนเป็นสาหัส จึงมีรับสั่งให้หาโจโฉ ซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองตงกุ๋นอยู่ในเวลานั้นเข้าไปช่วย โจโฉเข้าไปปราบปรามพวกกบฏได้ราบคาบ ก็ได้เป็นที่เซียงก๊กอยู่ในเมืองหลวงต่อมา แต่ในเวลานั้นหัวเมืองกระด้างกระเดื่องมาแต่ครั้งตั๋งโต๊ะ และครั้งลิฉุยกุยกียังมีมาก พวกผู้ดีที่หนีตั๋งโต๊ะไปจากเมืองหลวงในคราวเดียวกับโจโฉก็ได้เป็นเจ้าเมืองอยู่หลายคน เมื่อโจโฉได้เป็นเซียงก๊กขึ้น ที่อ่อนน้อมต่อโจโฉก็มี ที่เฉยๆอยู่คอยดูว่าโจโฉจะทำอย่างไรก็มี

โจโฉเป็นคนฉลาดมีสติปัญญาสามารถผิดกับตั๋งโต๊ะ อาจปกครองบังคับบัญชาการบ้านเมือง และทำนุบำรุงกำลังรี้พลให้มณฑลราชธานีมีอำนาจขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่มักทำการตามอำเภอใจ ขุนนางที่มิใช่พรรคพวกของโจโฉจึงมักเกลียดชัง แต่ก็ไม่สามารถจะกำจัดได้ ด้วยคนทั้งหลายในราชธานีนิยมกันอยู่โดยมาก ว่าโจโฉทำการเพื่อรักษาราชอาณาจักร ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินอ่อนแอ แต่โจโฉใช้อำนาจเพลินไป จนถึงทำให้พระเจ้าเหี้ยนเต้ได้ความคับแค้น ถึงเอาพระโลหิตเขียนเป็นหนังสือร้องทุกข์ ขอให้ผู้มีความจงรักภักดีช่วยกำจัดโจโฉ

ความทราบไปถึงหัวเมือง พวกเจ้าเมืองที่มีกำลังและมิได้เป็นพรรคพวกของโจโฉ ก็ถือว่าโจโฉเป็นศัตรูของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนตั๋งโต๊ะ แล้วพากันกระด้างกระเดื่องขึ้น ฝ่ายโจโฉก็ถือว่าตัวเป็นเซียงก๊ก มีหน้าที่จะต้องปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน จึงเกิดรบกันขึ้น ทั้งสองฝ่ายประการอ้างเหตุใส่ความข้อเดียวกัน ฝ่ายโจโฉว่าพวกเจ้าเมืองเป็นกบฏต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฝ่ายพวกเจ้าเมืองก็ว่าโจโฉเป็นกบฏต่อพระเจ้าเหี้ยนเต้ในเวลากำลังรบพุ่งกันนั้น ต่างก็ถือว่าเป็นเจ้าของพระเจ้าเหี้ยนเต้ด้วยกัน เวลาโจโฉมีท้องตราอ้างรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกไปถึงหัวเมืองที่เป็นข้าศึก หัวเมืองเหล่านั้นก็เคารพนบน้อมต่อท้องตรา เป็นแต่ไม่ยอมฟังบังคับบัญชาของโจโฉ การที่พวกหัวเมืองต่อสู้ทหารเมืองหลวงหรือบางทีตีเข้าไปจนแดนเมืองหลวง ก็ถือว่ารบกับอัครมหาเสนาบดี หาได้คิดร้ายต่อพระเจ้าแผ่นดินไม่ ผลของการที่รบพุ่งกันนั้น ฝ่ายโจโฉมีชัยชนะปราบหัวเมืองได้โดยมาก ปราบไม่ลงแต่หัวเมืองที่ซุนกวนกับเล่าปีปกครอง

ซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋ง อันเป็นหัวเมืองใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออก ได้ครองเมืองโดยสืบสกุลและเป็นผู้อยู่ในศีลธรรม ปกครองบ้านเมืองดีจึงมีคนนิยมเข้าเป็นพวกจนมีกำลังมาก เล่าปี่นั้นเดิมเป็นคนอนาถา แต่สกุลสูงเป็นเชื้อสายในราชวงศ์ฮั่น และเป็นผู้มีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี กับเผอิญได้คนมีฝีมือไว้เป็นนายทหารหลายคน จึงมีชื่อเสียงปรากฏ และพวกเจ้าเมืองมักเชิญให้ไปช่วยในเวลาเกรงศัตรู แต่เล่าปี่เป็นคนอาภัพ แม้ได้นายทหารก็มีกำลังรี้พลน้อย มักต้องหลบหนีเอาตัวรอกเนืองๆ จึงไม่สามารถตั้งมั่นเป็นหลักแหล่ง จนได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ไปเป็นสัมพันธมิตรกับซุนกวน ช่วยกันต่อสู้โจโฉจึงรักษาตัวได้ และต่อมาจึงไปได้เมืองเสฉวนเป็นที่มั่นอยู่ทางทิศตะวันตก เรื่องราวตอนนี้แม้พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นแต่อย่างเจว็ดอยู่ในศาล ในพงศาวดารก็ยังนับว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินทั่วทั้งประเทศจีน

ครั้นโจโฉตายลง โจผีลูกโจโฉได้เป็นที่เซียงก๊กแทน เลยถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้เสียจากราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๗๖๓ แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ เรียกว่าราชวงศ์วุย ฝ่ายเล่าปี่ถือว่าเป็นสมาชิกราชวงศ์ฮั่น ก็ตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์สืบราชวงศ์ขึ้น ณ เมืองเสฉวน ซุนกวนไม่อยากยอมขึ้นแก่โจผีหรือเหล่าปี่ ตั้งตัวเป็นเอกราชขึ้นที่เมืองกังตั๋งบ้าง(๒๑) ตั้งแต่นี้ประเทศจีนจึงแยกกันเป็นสามก๊ก คือ ๓ ราชอาณาเขตเป็นอิสระแก่กัน อาณาเขตของพระเจ้าโจผีได้นามว่า "วุยก๊ก" อาณาเขตของพระเจ้าเล่าปี่ได้นามว่า "จ๊กก๊ก" อาณาเขตของพระเจ้าซุนกวนได้นามว่า "ง่อก๊ก"

เป็นอยู่อย่างนี้ไม่นานเท่าใด พอสิ้นพระเจ้าเล่าปี่พระเจ้าโจผีและพระเจ้าซุนกวนแล้ว เชื้อสายที่รับรัชทายาทสืบมาก็เสื่อมความสามารถลงด้วยกันทั้งสามก๊ก สุมาเจียวซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการวุยก๊กปราบจ๊กก๊กได้ก่อน แล้วสุมาเอี๋ยนลูกสุมาเจี๋ยวชิงราชสมบัติวุยก๊ก ตั้งราชวงศ์ใหม่เรียกว่าราชวงศ์จิ้น พระเจ้าสุมาเอี้ยนปราบง่อก๊กได้อีกก๊กหนึ่ง แผ่นดินจีนก็กลับรวมกันเป็นราชอาณาเขตเดียวสืบมา สิ้นเรื่องสามก๊กเท่านี้

ลำดับเหตุการณ์ในเรื่องสามก๊กตามศักราชเป็นดังอธิบายต่อไปนี้

- พระเจ้าเลนเต้ครองราชสมบัติ ปีวอก พ.ศ. ๗๑๑
- พระเจ้าเหี้ยนเต้ครองราชสมบัติ ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๓๓
- โจโฉรบทัพเรือกับพวกซุนกวนและเล่าปี่ ปีชวด พ.ศ. ๗๕๑
- จิวยี่ตาย ปีขาล พ.ศ. ๗๕๓
- เล่าปี่ได้เมืองเสฉวน ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๕๗
- กวนอูเสียเมืองเกงจิ๋วแก่ซุนกวน ปีกุน พ.ศ. ๗๖๒
- โจผีถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ แล้วก็ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าโจผี ปีชวด พ.ศ. ๗๖๓
- เล่าปี่ตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ณ เมืองเสฉวน ปีฉลู พ.ศ. ๗๖๔
- พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ พระเจ้าเล่าเสี้ยนรับรัชทายาทครองจ๊กก๊ก ปีเถาะ พ.ศ. ๗๖๖
- พระเจ้าโจผีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจยอยรับรัชทายาทครองวุยก๊ก ปีมะเมีย พ.ศ. ๗๖๙
- ซุนกวนตั้งตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินเมืองกังตั๋ง ลบศักราชเก่าตั้งศักราชใหม่ นับปีระกา พ.ศ. ๗๗๒ เป็นศักราชพระเจ้าซุนกวนทรงราชย์
(แต่ในหนังสือสามก๊กที่แปล เขานับเอาปีขาล เมื่อพระเจ้าซุนกวนตั้งเป็นเอกราชเป็นต้น)
- ขงเบ้งตาย ปีขาล พ.ศ. ๗๗๗
- พระเจ้าโจยอยสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮองรับรัชทายาทครองวุยก๊ก ปีมะแม พ.ศ. ๗๘๒
- สุมาอี้ตาย พ.ศ. ๗๙๔
- พระเจ้าซุนกวนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าซุนเหลี้ยงรับรัชทายาทครองง่อก๊ก ปีวอก พ.ศ. ๗๙๕
- พระเจ้าโจฮองถูกถอดจากราชสมบัติวุยก๊ก พระเจ้าโจมอขึ้นครองราชสมบัติ ปีจอ พ.ศ. ๗๙๗
- พระเจ้าซุนเหลียงถูกถอดจากราชสมบัติง่อก๊ก พระเจ้าซุนฮิวขึ้นครองราชสมบัติ ปีขาล พ.ศ. ๘๐๑
- พระเจ้าโจมอสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮวนขึ้นครองราชสมบัติวุยก๊ก ปีมะโรง พ.ศ. ๘๐๓
- พระเจ้าเล่าเสี้ยนเสียบ้านเมืองแก่วุยก๊ก ปีมะแม พ.ศ. ๘๐๖
- พระเจ้าโจฮวนถูกถอดจากราชสมบัติ สุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชสมบัติวุยก๊ก เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้น ปีระกา พ.ศ. ๘๐๘
- พระเจ้าซุนฮิวเสียบ้านเมืองแก่ราชวงศ์จิ้น ปีชวด พ.ศ. ๘๒๓
- สามก๊กรวมเข้าเป็นก๊กเดียว อยู่ในปกครองของพระเจ้าสุมาเอี๋ยนต้นราชวงศ์จิ้น ปีชวด พ.ศ. ๘๒๓


หรืออีกนัยหนึ่งถ้ากำหนดจำนวนปีเป็นต่างสมัยในเรื่องสามก๊กก็แบ่งได้เป็น ๓ สมัย คือ
- สมัยราชวงศ์ฮั่นทรุดโทรม ในรัชกาลพระเจ้าเลนเต้ ๒๑ ปี
- สมัยตั้งก๊กในรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้ ๓๐ ปี
- สมัยสามก๊ก ๖๐ ปี
คำนวนเวลาของพงศาวดารเรื่องสามก๊กรวมเป็น ๑๑๑ ปี


หนังสือสามก๊กดีอยู่ที่พลความ อันกล่าวถึงอุบายการเมืองและการสงคราม ควรนับว่าเป็นหนังสือซึ่งน่าอ่านอย่างยิ่งเรื่องหนึ่ง

๖. ว่าด้วยวินิจฉัยเรื่องสามก๊ก

ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ในตอนข้างต้น ว่านักปราชญ์จีนคนหนึ่งชื่อ กิมเสี่ยถ่าง แต่งคำอธิบายคล้ายคำนำเรื่องสามก๊กไว้ คำอธิบายนั้นมีอยู่ในหนังสือสามก๊กภาษาจีน ปรากฏว่ากิมเสี่ยถ่างแต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๑๘๗ แปลออกเป็นไทยดังต่อไปนี้(๒๒)

ข้าพเจ้าอ่านหนังสือเรื่องต่างๆเห็นเป็นเรื่องที่นักปราชญ์แต่งดี ๖ เรื่อง คือเรื่องจังจื้อเรื่อง ๑ ลีส่าวเรื่อง ๑ ซือมาเซียนกีกี่เรื่อง ๑ โต้วโพ้วลุดซีเรื่อง ๑ ซ้องกั๋งเรื่อง ๑ ไซเซียเรื่อง ๑ ข้าพเจ้าได้แต่งคำอธิบายหนังสือเหล่านั้นไว้ทุกเรื่อง ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านคำอธิบายก็ย่อมว่าข้าพเจ้าเป็นผู้รู้ถึงความคิดของผู้แต่งหนังสือนั้นๆ บัดนี้ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่องสามก๊กฉบับนี้ เห็นว่าควรนับเข้าเป็นเรื่องดีได้เรื่อง ๑ เพราะเนื้อเรื่องขยายความในพงศาวดารเป็นหลักฐานดียิ่งนัก หนังสือเรื่องอื่นๆแม้ที่นับว่าดีก็ไม่มีเรื่องใดดีถึงเรื่องสามก๊กเลย

หากมีคำถาม ว่าหนังสือเรื่องต่างๆอันเป็นเรื่องแต่งก่อนสมัยราชวงศ์จิวก็ดี และเรื่องภายหลังสมัยนั้นมาจนปัจจุบันนี้ก็ดี เขาก็แต่งโดยอาศัยพงศาวดารคล้ายสามก๊กทุกเรื่อง ดังนั้นจึงว่าดีไม่ถึงเรื่องสามก๊ก

ตอบว่าเรื่องสามก๊ก กล่าวถึงกระบวนการแย่งชิงอาณาเขตกันอย่างน่าอ่านน่าฟังยิ่งนัก เรื่องแย่งชิงอาณาเขตตั้งแต่โบราณมาจนปัจจุบันนี้ก็มีมาก แต่ไม่มีเรื่องใดน่าพิศวงเหมือนเรื่องสามก๊ก ผู้แต่งเรื่องสามก๊กมีความรู้มาก ทั้งฉลาดเรียงความ ในบรรดานักประพันธ์ตั้งแต่โบราณมาจนปัจจุบันนี้ ผู้แต่งเรื่องสามก๊กควรนับว่าเป็นชั้นเอกได้คนหนึ่ง อันเรื่องแย่งชิงอาณาเขตครั้งราชวงศ์ต่างๆที่ปรากฏในพงศาวดารมาเป็นลำดับ เรื่องอื่นๆจะเก็บเอาเรื่องออกแต่งได้ไม่ยาก แม้นักประพันธ์สามัญความรู้น้อยก็แต่งได้ ด้วยเหตุนี้หนังสือเรื่องอื่นๆจึงไม่เทียมเรื่องสามก๊ก ข้าพเจ้าอ่านเรื่องสามก๊กแล้วลิงพิจารณาเหตุการณ์บ้านเมืองครั้งนั้น ก็ไม่เห็นทางที่จะสันนิษฐานให้แปลกกับที่แต่งไว้ได้เป็นอย่างอื่น

คือเมื่อรัชกาลพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้น เป็นสมัยราชวงศ์ฮั่นทรุดโทรม อำนาจไปตกอยู่แก่ตั๋งโต๊ะ หัวเมืองทั้งปวงก็แข็งเมืองขึ้น เป็นเหตุให้เกิดรบพุ่งกัน ถ้าหากในตอนนี้เล่าปี่มีกำลังมากเหมือนอย่างว่าปลาอยู่ในน้ำ เมื่อได้เมืองเกงจิ๋วแล้ว เล่าปี่ยกไปปราบปรามหัวเมืองฮ่อปักเช่นเมืองกังหลำ เมืองกังตั๋งและเมืองจิ๋นเมืองยงเหฝ่านี้ เพียงแต่ประกาศไปตามหัวเมืองทั้งปวงก็คงยอมอยู่ในอำนาจ (เพราะเล่าปี่เป็นเชื้อสายกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น) บ้านเมืองก็จะเป็นสุขสืบไปดุจครั้งกองบู๊ (ในเรื่องตั้งฮั่น) คงไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองปรากฏเป็นสามก๊ก

ตั๋งโต๊ะชิงราชสมบัติยังสมความคิดก็ถูกฆ่าตาย แล้วอำนาจไปตกอยู่แก่โจโฉ บังอาจบังคับพระมหากษัตริย์ให้มีรับสั่งไปตามหัวเมืองตามใจตน กระแสรับสั่งก็ไม่เป็นที่เชื่อถือ แต่ถึงกระนั้นจำต้องเคารพ พระราชวงศ์ฮั่นยังปกครองแผ่นดินอยู่ ฝ่ายเล่าปี่ตกอับไม่สามารถทำนุบำรุงราชวงศ์ฮั่นให้รุ่งเรือง หัวเมืองภาคเหนือภาคใต้แห่งแม่น้ำเอี้ยงจือเกียงก็ตกอยู่ในอำนาจของโจโฉและซุนกวน ต่างพยายามแย่งชิงกัน ยังเหลือแต่หัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงใต้ (เสฉวน) สำหรับเล่าปี่จะได้อาศัย ถ้าเล่าปี่ไม่ได้ขงเบ้งเป็นกำลัง และไม่ได้ช่วยซุนกวนรบกับโจโฉที่ตำบลเชียะเปี้ย(๒๓)ในภาคตะวันออก หัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ คือเมืองฮั่นต๋งและเมืองเสฉวนนั้นก็คงต้องตกเป็นของโจโฉ เพราะเหตุที่ซุนกวนไม่สามารถต่อสู้โจโฉได้ บ้านเมืองก็คง(จะไปรวมอยู่ในอำนาจโจโฉ) กลายเป็นเมืองเมื่อครั้งอองมัง (ในเรื่องตั้งฮั่น) ชิงราชสมบัติราชวงศ์ฮั่น การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองก็คงไม่ปรากฏให้เห็นเป็นสามก๊ก

ตั้งแต่โจโฉข้ามพ้นตำบลฮัวหยงแล้ว ถึงขานยามขาไก่เลิกทัพกลับเมือง บ้านเมืองตอนนี้เริ่มรูปสามก๊ก จนพวกซุนกวนพร้อมกันสู้รบชนะข้าศึกแล้ว(๒๔) สามก๊กปรากฏเป็นสามก๊กแท้จริง แม้โจโฉทำบาปกรรมไว้มาก จนคนทั้งหลายพากันแค้นเคืองที่ประกาศโทษไปตามหัวเมืองก็มี แช่งด่าต่อหน้าก็มี ลอบทำร้ายก็มี วางยาพิษก็มี เอาไฟเผาก็มี เข้าปล้นก็มี จนโจโฉต้องตัดหนวดฟันหัก ตกม้าตกคูเมืองเกือบตายหลายครั้ง แต่ก็ไม่ตาย แม้ผู้เป็นศัตรูโจโฉมีมาก ผู้เป็นพรรคพวกช่วยเหลือก็มีมาก ดูเหมือนดินฟ้าอากาศบันดาลจะให้บ้านเมืองเป็นสามก๊ก โจโฉผู้เชี่ยวชาญในการโกงจึงยังไม่ตาย ได้อยู่ทรยศราชวงศ์ฮั่นดังแมงมุมชักใยคอยจับสัตว์ เทพยดาตกแต่งให้จิวยี่เกิดมาเป็นคู้คิดกับขงเบ้ง ก็ตกแต่งสุมาอี้เกิดมาสเป็นคู่อริกับโจโฉ ดูเหมือ(เทวดา)เกรงสามก๊กจะรวมเข้าเป็นก๊กเดียวเสียในตอนกลาง จึงให้ผู้มีปรีชาสามารถเกิดมาทำการให้แยกกันสิบไป

อันการแย่งชิงอาณาเขตนั้น ก็เคยมีมาแต่โบราณหลายครั้ง ที่มีผู้ตั้งตัวเป็นเจ้าได้ก็มี เป็น ๑๒ ก๊กก็มี เป็น ๗ ก๊กก็มี เป็น ๑๖ ก๊กก็มี เป็นไซ่ฮั่นตั้งฮั่น(๒๕)ก็มี เป็นเอกราชภาคเนือและเอกราชภาคใต้ก็มี เป็นตั้งงุ่ยไซ่งุ่ย(๒๖)ก็มี ครั้นนั้นๆผู้ที่ได้เมืองก็มี ที่เสียเมืองก็มี ที่อยู่ภาวรก็มี ที่สูญสิ้นไปโดยเร็วก็มี อย่างช้าไม่เกิน ๑๒ ปี อย่างเร็วก็ไม่ถึงปี ยังไม่มีเรื่องใดๆซึ่งผู้เจริญจะเจริญอยู่ และผู้ทรุดโทรมจะสูญสิ้นตลอดระยะเวลาช้านานถึง ๖๐ ปี เหมือนเรื่องสามก๊กนี้เลย

เรื่องสามก๊กนี้เป็นเรื่องดีจริง นักปราชญ์ได้อ่านก็ชอบใจ ใครมีปรีชาสามารถได้อ่านก็ชอบใจ ชาวบ้านร้านตลาดได้ก็ชอบใจ ทุคคตะเข็ญใจได้อ่านก็คงจะชอบใจ ครั้งกวยทองห้ามฮั่นสิ้นอย่าให้ไปช่วยพระเจ้าฮั่นโกโจ แล้วแนะนำให้ฮั่นสินแข็งเมืองไว้เป็นสามก๊ก(๒๗)แต่ครั้งนั้นฮั่นสินไม่ทิ้งความสัตย์ซื่อ ซึ่งเป็นข้าของราชวงศ์ฮั่น ห้างอี๋มีแต่ความดุร้ายไม่มีความคิด ได้ฟ่ามแจ้งไว้ใช้ก็ใช้ไม่เป็น หัวเมืองทั้งปวงไปตกอยู่ในความคิดและกำลังของราชวงศ์ฮั่นรวมเข้าเป็นก๊กเดียว เรื่องสามก๊กนี้มีลางมาแต่เมื่อตั้งราชวงศ์ฮั่นดังกล่าวมา ครั้นราชวงศ์ฮั่นทรุดโทรมจึงปรากฏเป็นสามก๊ก พระเจ้าฮั่นโกโจเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นตอนเริ่มเตริญ เล่าปี่เป็นกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่นตอนทรุดโทรม ผู้หนึ่งสามารถเอาเมืองจิ๋นได้ทั้งสามเมือง อีกผู้หนึ่งไม่สามารถเอาดินแดนโจโฉไว้ได้แต่สักคืบเดียว ทั้งนี้ก็คือดินฟ้าอากาศบันดาลให้ราชวงศ์ฮั่นรุ่งเรืองมาด้วยประการดังนั้น และให้ทรุดโทรมสูญสิ้นไปด้วยประการดังนี้แล

เดิมข้าพเจ้ากำลังสืบสวนหาหนังสือเรื่องดีๆ พอเพื่อนเขาเอาคำอธิบายเรื่องสามก๊กซึ่งเม่าจงกังแต่งมาให้ดู(๒๘) ข้าพเจ้าเห็นคำอธิบายถูกใจ จึงให้เอาเหตุผลเรื่องสามก๊กมาลงไว้ในที่นี้ ให้เม่าจงกังทำแม่พิมพ์ๆสืบไป เพื่อท่านทั้งหลายที่อ่านหนังสือเรื่องนี้เห็นความคิดข้าพเจ้ากับความคิดเม่าจงกังตรงกัน ....หมดความอธิบายของกิมเสี่ยถ่างเพียงเท่านี้ นับว่าเป็นความหวังของจีน ยังมีความเห็นของไทยวินิจฉัยเรื่องสามก๊ก ข้าพเจ้าได้ยินกล่าวกันมาแต่ก่อน แต่ว่าช้านานมาแล้ว ลืมไปเสียโดยมาก นึกได้ในเวลาเมื่อแต่งตำนานนี้สองราย

รายหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนนายร้อยมหาดเล็ก ได้เคยเห็นพระสารสาสน์พลขัณฑ์(สมบุรณ) ซึ่งเป็นตำแหน่งอนุสาสนาจารย์กรมทหารมหาดเล็กอยู่ในเวลานั้น พยายามจะแต่งหนังสือสามก๊กใหม่อีกสำนวนหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยถามว่าจะแต่ทำไม พระสารสาสน์ฯบอกว่าหนังสือเก่าแต่งสับเพร่าอยู่หลายแห่ง ได้ยกตัวอย่างตรงที่ "กวนอูกักด่าน" ซึ่งมีปัญญาว่าขงเบ้งรู้อยู่แล้วว่ากวนอูคงไม่ทำอันตรายโจโฉ เหตุใดจึงใช้ให้กวนอูไปคอยจับโจโฉ ในหนังสือสามก๊กฉบับเดิมแก้ข้อนี้ว่า เพราะขงเบ้งจับยามเห็นว่าโจโฉยังไม่ถึงที่ตาย จึงใช้กวนอูไปเพื่อจะให้ใช้คุณของโจโฉ พระสารสาสน์ฯเห็นว่าแก้เช่นนั้นไม่ถูก เหตุที่แท้นั้นเพราะขงเบ้งเห็นว่าจำจะต้องเอาโจโฉไว้ให้เป็นคู่แข่งกับซุนกวน ถ้ากำจัดโจโฉเสีย ซุนกวนมีกำลังมากอยู่แต่ก๊กเดียวก็คงทำอันตรายเล่าปี่ ที่ไหนจะปล่อยให้ตั้งตัวได้ และยังชี้ตรงที่อื่นอีกแต่ข้าพเจ้าลืมเสียหมดแล้ว เห็นพระสารสาสน์ฯเขียนหนังสือสามก๊กฉบับนั้นอยู่นาน แต่ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจจะขออ่าน ก็ทราบไม่ได้ว่าแต่งแก้เป็นอย่างไร และจะแต่งได้ตลอดเรื่องหรือไม่ สันนิษฐานว่าถ้าไม่ค้างอยู่จนพระสารสาสน์ฯถึงแก่กรรม ก็คงไปติดอยู่ด้วยไม่มีใครรับพิมพ์ จึงเลยเงียบหายไป ต้นฉบับที่พระสารสาสน์ฯเขียนไว้นั้นใครจะได้ไว้ในบัดนี้ หรือเป็นอันตรายสูญไปเสียแล้วก็หาทราบไม่(๒๙)

อีกรายหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยได้ยินคำผู้หนึ่ง จะเป็นใครก็ลืมไปเสียแล้ว กว่างว่าเรื่องสามก๊กนั้นแต่งดีจริง แต่ผู้แต่งเป็นพวกเล่าปี่ ตั้งใจแต่จะยกย่องเล่าปี่เป็นสำคัญ ถ้าหากพวกจโฉแต่งเรื่องสามก๊กก็อาจจะดำเนินความในเรื่องสามก๊กให้ผู้อ่านเข้าใจกลับกันไปได้ ว่าโจโฉเป็นผู้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ฝ่ายเล่าปี่เป็นผู้คิดร้าย เพราะมีข้อที่จะอ้างเข้ากับโจโฉได้หลายข้อ เป็นต้นแต่ชั้นเดิมที่โจโฉเป็นผู้รู้สึกเจ็บร้อนด้วยแผ่นดิน ไปเที่ยวชักชวนพวกหัวเมืองให้ช่วยกันปราบตั๋งโต๊ะซึ่งเป็นราชศัตรู และต่อมาเมื่อโจโฉจะได้มีอำนาจในราชธานีนั้น ก็เป็นด้วยพระเจ้าเหี้ยนเต้มีรับสั่งให้หาเข้าไปตั้งแต่ง มิได้กำเริบเอิบเอื้อมเข้าไปโดยลำพังตน เมื่อโจโฉได้เป็นที่เซียงกงแล้ว สามารถปกครองบ้านเมืองและปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่องให้กลับอยู่ในบังคับบัญชาของรัฐบาลกลางอย่างแต่ก่อนได้โดยมาก ถ้าโจโฉเป็นศัตรูราชสมบัติจริงจะกำจัดพระเจ้าเหี้ยนเต้เสียเมื่อหนึ่งเมื่อใดก็กำจัดได้ ที่ไหนจะยอมเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้อยู่จนตลอดอายุ และความข้อนี้อาจพิสูจน์ได้ด้วยเมื่อโจผีได้เป็นที่แทนโจโฉ ก็ชิงราชสมบัติได้โดยง่าย ส่วนเล่าปี่ที่ว่าเป็นคนดีก็ดีแต่อัธยาศัย แต่เรื่องประวัติของเล่าปี่ซึ่งปรากฏในเรื่องสามก๊ก ดูเป็นแต่เที่ยวรบพุ่งชิงบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่เห็นว่าได้ตั้งใจขวนขวายช่วยพระเจ้าเหี้ยนเต้จริงจังแต่อย่างใด คำที่กล่าวนี้เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับรูปเรื่องสามก๊กก็เห็นชอบกล ดูเหมือนจะต้องรับว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่ง ในข้อที่ผู้แต่งหนังสืออาจจะจูงใจผู้อ่านให้นิยมได้ตามประสงค์ ยกเรื่องสามก๊กนี้เป็นอุทาหรณ์ได้เรื่องหนึ่ง แม้ไทยเรามิได้เป็นพวกข้างไหน ใครอ่านเรื่องสามก๊กหรือเพียงได้ดูงิ้วเล่นเรื่องสามก๊ก ก็ดูเหมือนจะเข้ากับเล่าปี่ด้วยกันทั้งนั้น

๗. รูปภาพสามก๊ก

ไทยเรารู้เรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่นในพงศาวดารจีนฉันใด อาจจะอ้างต่อออกไปถึงรูปภาพจีน ว่าไทยเราคุ้นกับรูปบุคคลในเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าอื่นทั้งนั้นก็ว่าได้ ข้อนี้พึงสังเกตรูปภาพจีนอย่างที่เขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาผนัง ที่ชอบใช้แต่ตำหนักรักษาเหย้าเรือนกันมาแต่ก่อนก็มักเป็นรูปเรื่องสามก๊กเป็นพื้น(๓๐) ไทยดูงิ้วก็ชอบดูเรื่องสามก๊กชำนาญตากว่าเรื่องอื่น จนเห็นตัวงิ้วก็มักบอกได้ทันทีว่าเป็นบุคคลผู้ใดในเรื่องสามก๊ก แต่รูปภาพในเรื่องสามก๊กนั้นเมื่อสืบสวนหาต้นตำราได้ความรู้ว่าเป็นรูปสมมุติขึ้นทั้งนั้น น่าสันนิษฐานว่า พวกจีนเล่นงิ้วจะคิดสมมุติขึ้นก่อน โดยเอาวิสัยของตัวบุคคลตามที่ปรากฏในเรื่อง มาคิดแต่งหน้าแต่งตัวและทำกิริยาอาการให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นๆ คนดูก็รู้สึกนิยมตาม จนเลยยุติเป็นแบบแผนว่าบุคคลนั้นหน้าต้องเป็นสีนั้น มีหนวดยาวหรือหนวดสั้น หรือหน้าเกลี้ยง ส่วนเครื่องแต่งตัวนั้น รูปภาพเรื่องสามก๊กซึ่งจีนเขียนก็ดี หรือแต่งเล่นงิ้วก็ดี ได้ความว่าเป็นแบบเครื่องแต่งตัวในสมัยราชวงศ์ไต้เหม็ง คือในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๑ จน พ.ศ. ๒๑๘๖ มิใช่เป็นแบบเครื่องแต่งตัวอย่างเก่าถึงสมัยสามก๊ก ข้อนี้ก็เป็นเค้าเงื่อนชวนให้สันนิษฐานว่ารูปภาพในเรื่องสามก๊กอย่างเช่นปรากฏทุกวันนี้ น่าจะเกิดขึ้นร่วมสมัยกันเมื่อมีหนังสือสามก๊กอ่านนิยมแพร่หลาย

แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง สังเกตดูรูปภาพที่จีนทำในเรื่องสามก๊กต่างกันเป็น ๒ แบบ ถ้าเป็นรูปปั้นระบายสี มักเขียนหน้าสลับสีอย่างงิ้ว ไม่นิยมที่จะให้แม้นเหมือนสีเนื้ออย่างธรรมดา แต่ถ้าเป็นรูปเขียน เช่นเขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาหรือเขียนในฉาก มักระบายสีหน้าให้คล้ายสีเนื้อธรรมดา แม้ตัวบุคคลซึ่งในเรื่องกล่าวว่าหน้าดำหรือหน้าแดง ก็ประสานสีหน้าพอให้คล้ามหรือให้แดงกว่าผู้อื่นสักเล็กน้อย พอเป็นที่สังเกต ยกตัวอย่างดังเช่นฉากเขียนรูปกวนอู อันมีรูปจิวฉ่องกับกวนเป๋งยืนสองข้าง ซึ่งแขวน ณ ที่บูชาตามบ้านจีนเห็นอยู่แพร่หลายก็เป็นเช่นว่า ข้อที่ช่างจีนทำรูปภาพปั้นกับรูปภาพเขียนผิดกันดังว่ามา จะเป็นเพราะเหตุใดยังไม่ทราบ จีนทำหนังฉายเรื่องสามก๊กก็พยายามจะให้เหมือนคนธรรมดา เป็นแต่แต่งหน้าให้เข้าเค้าภาพสามก๊ก ทำได้ดีหนักหนา

รูปภาพ ที่พิมพ์ไว้ในหนังสือสามก๊กฉบับภาษาจีนมีเป็น ๒ ประเภทคือ ภาพรูปตัวคนประเภท ๑ ภาพเรื่องประเภท ๑ ได้จำลองภาพเรื่องำพิมพ์ไว้ตรงเรื่องในหนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุ ส่วนภาพตัวบุคคลได้จำลองมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มตำนานตอนนี้



๘. ว่าด้วยแผนที่สามก๊ก

การที่ไทยเราอ่านหนังสือสามก๊กกันมาแต่ก่อน ได้ความรู้แต่เรื่องกับกระบวนความ ส่วนแผ่นที่นั้นรู้เพียงว่าเป็นเรื่องในประเทศจีน แต่เมืองใดซึ่งปรากฏชื่อในหนังสือสามก๊กจะอยู่ตรงไหน หรืออาณาเขตก๊กไหนจะเท่าหนึ่งเท่าใดก็ไม่รู้ ด้วยไม่มีสิ่งซึ่งจะอาศัยสอบสวน ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่ตัดความนำพาของผู้อ่านด้วยเรื่องแผนที่ ครั้นมาถึงสมัยเมื่อความรู้ภูมิศาสตร์เจริญแพร่หลาย และมีแผนที่ประเทศต่างๆพิมพ์จำหน่ายพอหาได้ไม่ยาก การอ่านหนังสือเรื่องสามก๊กในสมัยหลังจึงมีผู้ซึ่งใคร่จะรู้แผนที่เรื่องสามก๊กขึ้น

จะเล่าแต่ถึงส่วนตัวข้าพเจ้าเองพอเป็นอุทาหรณ์ ได้ลองเอาแผนที่ประเทศจีนมาพิจารณาหาความรู้ในเรื่องสามก๊กก็ไม่สมประสงค์ ได้แต่เค้าเงื่อนบางอย่างว่า เห็นเป็นเงาๆเช่นมีชื่อเมืองเสฉวนปรากฏอยู่ในแผนที่ประเทศจีน ก็เข้าใจว่าเล่าปี่คงตั้งเป็นอิสระที่นั่น แล้วเลยสันนิษฐานต่อไปถึงเมืองอื่น เช่นเมืองกังตั๋งของซุนกวน ก็เห็นว่าคงเป็นเมืองเดียวกับเมืองกึงตั๋ง (ที่อยู่ใกล้กับเมืองฮ่องกง) เพราะชื่อคล้ายกัน ได้ความเข้าใจเพียงเท่านั้น ครั้นเมื่อจะพิมพ์หนังสือสามก๊กฉบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯคราวนี้ ข้าพเจ้าปรารภว่า ถ้ามีแผนที่เมืองจีนครั้งสมัยสามก๊กพิมพ์ไว้ด้วยได้จะดีหนักหนา เพราะไทยเรายังไม่รู้ตำแหน่งแห่งที่ที่บ้านเมืองในเรื่องสามก๊กโดยมาก พระเจนจีนอักษรบอกว่าแผนที่เช่นข้าพเจ้าว่านั้น พวกจีนสมัยใหม่เขาได้พิมพ์แล้ว พระเจนฯไปหาแผนที่นั้นมาให้ดู เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นแผนที่แลได้ฟังคำชี้แจงของพระเจนฯ ก็รู้สึกว่าเรื่องแผนที่ที่เป็นข้อที่ข้าพเจ้าเข้าใจผิดมาแต่ก่อน อีกอย่างหนึ่งด้วยอาณาเขตประเทศจีนเมื่อครั้งสามก๊กยังไม่กว้างใหญ่ไพศาลเหมือนเมื่อชั้นหลัง บรรดาเมืองสำคัญอันกล่าวถึง และที่สรมภูมิซึ่งรบพุ่งกันในเรื่องสามก๊กอยู่เพียงลุ่มลำน้ำเอี้ยงจือเกียงเท่านั้น เมืองเสฉวนและเมืองกังตั๋งที่ข้าพเจ้าสันนิษฐานดังกล่าวมาก็เข้าใจผิด ชื่อเมืองเสฉวนแลเมืองกังตั๋งเกิดขึ้นต่อเมื่อภายหลังสมัยเรื่องสามก๊กมาช้านาน เป็นแต่ล่อกวนตงเอาชื่อซึ่งเรียกกันอยู่ในสมัยเมื่อแต่งหนังสือสามก๊กมาใช้

อันตัวเมืองลกเอี๋ยงที่เป็นราชธานีของราชวงศ์ฮั่น แลเป็นราชธานีของราชวงศ์วุยและราชวงศ์จิ้นต่อมานั้น คือเมืองที่เรียกว่า "โห้ลำพู" ในชั้นหลัง เมืองที่พระเจ้าซุนกวนตั้งเป็นราชธานีเรียกว่าเมืองเกียนเงียบในแผนที่ คือเมืองนำกิ่งในปัจจุบันนี้ แลเมืองที่พระเจ้าเล่าปี่ตั้งเป็นราชธานีนั้น เรียกว่าเมืองเซงโต๋ ในมณฑลเอ๊กจิ๋ว ส่วนอาณาเขตสามก๊กนั้น มีหนังสือจีนเรียกว่า "ซือย่ง" แต่ชั้นหลังได้พรรณนาเทียบด้วยแผนที่ครั้งราชวงศ์ไต้เช็งไว้ดังนี้

"พระเจ้าโจผีปฐมกษัตริย์ราชวงศ์วุย ครองราชสมบัติเมื่อ ปีชวด พ.ศ. ๗๖๒ เขตแดนของพระเจ้าโจผี คือ มณฑลลิจี มณฑลโห้ลำ มณฑลซันตง มณฑลซันซี มณฑลกังซก กับภาคกลางมณฑลเซียนซี และภาคเหนือมณฑลฮูเป มณฑลเกียงชู มณฑลงางไฝ แลภาคกลางกับภาคตะวันตกมณฑลฟงเทียน(มุกเดน) จนถึงภาคตะวันตกเฉียงเหนือเมืองเกาหลี สืบมาถึงพระเจ้าโจฮวนกษัตริย์ราชวงศ์วุยองค์ที่ ๕ เสียเมืองแก่พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จิ้น เมื่อปีวอก พ.ศ. ๘๐๗ จำนวนรัชกาลราชวงศ์วุย ๔๕ ปี

พระเจ้าเล่าปี่ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จ๊กฮั่น ครองราชสมบัติเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๗๖๔ เขตแดนของพระเจ้าเล่าปี่ คือ มณฑลเสฉวนกับภาคเหนือมณฑลยงลำ มณฑลกุยจิ๋ว แลเมืองฮั่นตง มณฑลเซียนซี สืบมาจนถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยนกษัตริย์ราชวงศ์จ๊กฮั่นองค์ที่ ๒ เสียเมืองแก่ราชวงศ์วุย เมือปีมะแม พ.ศ. ๘๐๖ จำนวนกษัตริย์ราชวงศ์จ๊กฮั่น ๔๓ ปี

พระเจ้าซุนกวนปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ง่อ ครองราชสมบัติเมื่อปีขาล พ.ศ. ๗๖๕ เขตแดนของพระเจ้าซุนกวน คือ มณพลเกียงซู มณฑลเจเกียง มณฑลฮูลำ มณฑลฮูเป มณฑลฮกเกี้ยน มณฑลกวางตุ้ง มณฑลกวงซี กับเมืองญวน สืบมาถึงพระเจ้าซุนฮิวกษัตริย์ราชวงศ์ง่อองค์ที่ ๔ เสียเมืองแก่พระเจ้าสุมาเอี๋ยนปฐมกษตริย์ราชวงศ์จิ้น เมื่อปีชวด พ.ศ. ๘๒๓ จำนวนรัชกาลราชวงศ์ง่อ ๕๙ ปี"

เมื่อได้ความดังแสดงมา ข้าพเจ้าจึงให้จำลองแผนที่ประเทศจีนครั้งสามก๊กมาพิมพ์ในตำนานนี้ด้วย แต่สำเร็จได้ด้วยความพยายามของพระเจนจีนอักษร ที่รับแปลหนังสือจีนในแผนที่เป็นหนังสือไทย ใช้สำเหนียงฮกเกี้ยนให้เข้ากับหนังสือสามก๊กภาษาไทยสถานหนึ่ง แลต้องอ่านหนังสือสามก๊กภาษาไทยตรวจคัดชื่อต่างๆ อันเกี่ยวกับแผนที่มาทำเป็นอภิธานแล้วไปสอบตำราจีน ว่าที่นั้นๆหรือเมืองนั้นๆในปัจจุบันนี้เรียกอย่างไรด้วยอีกสถานหนึ่ง เป็นการลำบากแก่พระเจนฯมากทีเดียว เพราะชื่อบ้านเมืองในประเทศจีนเปลี่ยนมาเนืองๆ แม้อธิบายที่ลงไว้ในอภิธานแผนที่สามก๊ก พระเจนฯก็ว่ารับรองได้แต่เพียงชื่อที่เรียกในสมัยเมื่อราชวงศ์ไต้เช็งเป็นใหญ่ แต่จะเปลี่ยนชื่อมาในชั้นประเทศจีนเป็นริปับลิกอีกอย่างใดบ้าง ไม่มีตำราที่จะค้นให้ทราบได้ ข้าพเจ้าเห็นว่าแม้ทำได้เพียงเท่าที่พิมพ์ในหนังสือนี้ก็ต้องจัดเอาเป็นดี แลพระเจนจีนอักษรควรได้รับความขอบใจของผู้อ่าน เรื่องสามก๊กที่พิมพ์ใหม่ครั้งนี้ทั่วไป



....................................................................................................................................................

(๑) ในคำนำเรื่องสามก๊กภาษาอังกฤษของมิตเตอร์บริเวต เตเลอ ว่าหนังสือสามก๊กแต่งครั้งสมัยราชวงศ์หงวน แต่พระเจนจีนอักษรได้สอบว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่

(๒) พังโพยนั้นเป็นทำนองฟุตโน๊ต มักเรียกในภาษาไทยว่า "คำกลาง" แปลไว้ในหนังสือสามก๊กภาษาไทยหลายแห่ง แต่ว่าไม่หมดที่เม่าจงกังได้แต่งไว้

(๓) คำอธิบายของกิมเสี่ยถ่าง จะปรากฏในหนังสือนี้ต่อไปข้างหน้า

(๔) เชื่อว่าจะได้แปลเป็นภาษาอื่น ซึ่งยังสืบไม่ได้ความมีอยู่อีก เช่นภาษามองโกเลเป็นต้น

(๕) พวกเกาหลีกับพวกญวน ใช้หนังสือจีนเป็นหนังสือสำหรับบ้านเมืองอยู่แล้ว บางที่จะใช้หนังสือสามก๊กที่จีนพิมพ์อยู่ก่อนแล้วเองต่อชั้นหลัง ที่แปลเป็นภาษาเขมรนั้น เข้าใจว่าแปลจากฉบับพิมพ์ภาษาไทยที่ได้ไปจากกรุงเทพฯ ที่แปลเป็นภาษามลายูพิมพ์ที่เมืองสิงคโปร์ แต่จะได้ฉบับมาแต่ไหนและแปลเมื่อใด หาทราบไม่

(๖) หนังสือสามก๊กที่แปลเป็นภาษาละตินนั้น บาดหลวงโรมันคัทธอลิคคน ๑ ซึ่งได้มียศเป็นบิจฉอบอยู่ในเมืองจีนเป็นผู้แปล ที่แปลเป็นภาษาอังวกฤษนั้น เคยแปลมาช้านนานแล้ว แต่ว่าแปลเพียงบางตอน มิสเตอร์บริเวต เตเลอพึ่งแปลตลอดทั้งเรื่องแล้วพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จไปได้มาจากเมืองสิงคโปร์ ประทานแก่หอพระสมุดสำหรับพระนคร

(๗) กรมพระราชวังหลังทิวงคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๙

(๘) เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ถึงอสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘

(๙) พระยาโชฎึก(ฟัก) เคยเป็นหลวงพิพิธภัณฑพิจารณ์ แลเป็นผู้ชำนาญหนังสือจีน บางทีจะเป็นผู้แปลเรื่องไคเภ็ก

(๑๐) ยังมีหนังสือพิมพ์เรื่องจีน ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาไทยลงพิมพ์อีกหลายเรื่อง แต่เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด ชั่วแต่อ้างพงศาวดาร มิใช่เอาเรื่องพงศาวดารจีนมาแต่งอย่างทำนองเรื่องสามก๊ก จึงมิได้กล่างถึง

(๑๑) ข้าพเจ้าได้ชวนพระยาพจนปรีชาให้ช่วยพิเคราะห์อีกคนหนึ่ง ก็เห็นว่าเป็นสำนวนเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า

(๑๒) เมืองหลวงเดิมอยู่แถวเมืองน่ำกิ่ง เมืองปักกิ่งเป็นเมืองหลวงชั้นหลัง สำเนียงชาวปักกิ่งเพี้ยนไปอีกอย่างหนึ่ง

(๑๓) หอพระสมุดวชิรญาณได้ไว้ก็หลายฉบับ มีทั้งฉบับที่เขียนด้วยเส้นหรดาน เขียนด้วยเส้นฝุ่น และเขียนด้วยเส้นดินสอ

(๑๔) เมื่อข้าพเจ้าได้รับพระราชทานหนังสือสามก๊ก เป็นเวลาพึ่งอ่านหนังสือออก ยังจำได้ว่าอ่านสนุกมาก แต่สนุกประสาเด็ก ยังไม่เข้าใจความเท่าใดนัก

(๑๕) มีหนังสือสามก๊กหมอสมิธพิมพ์ยังปรากฏอยู่ แต่ว่ามีเฉพาะเล่ม ๑ เล่มเดียว ข้อนี้เป็นเค้าเงื่อนให้สันนิษฐานว่า ชะรอยหมอสมิธเห็นคนชอบซื้อหนังสือสามก๊กก็พิมพ์ขายบ้าง คงเกิดเกี่ยงแย่งหมอบรัดเล สมเด็จเจ้าพระยาฯจึงไกล่เกลี่ยให้พิมพ์หนังสือคนละประเภทดังกล่าว ทั้งฝ่ายก็ยอม เพราะต้องอาศัยหนังสือของสมเด็จเจ้าพระยาฯเป็นต้นฉบับอยู่ด้วยกัน

(๑๖) หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่ได้เริ่มพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๑ หมอสมิทเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม พิมพ์เรื่องพระอภัยมณีก่อนเรื่องอื่น พิมพ์ขายคราวละเล่มสมุดไทย เรียกราคาเล่มละสลึง(๒๕ สตางค์) คนตื่นซื้อ หมอสมิทได้กำไรมาก นัยว่าสร้างตึกได้หลังหนึ่ง จนหมอสมิทคิดถึงสุนทรภู่ เที่ยวสืบถามเชื้อสายหวังจะให้บำเหน็จ เวลานั้นนายพัดกับนายตาบบุตรสุนทรภู่ยังอยู่ แต่จะได้บำเหน็จเท่าใดหาปรากฏไม่

จาก "ประวัติสุนทรภู่"

(๑๗) ได้ยินว่า เมื่อหมอสมิธถูกศาลห้ามมิให้พิมพ์หนังสือบทกลอนขายนั้น บรรดาหนังสือซึ่งพิมพ์ไว้แล้ว และกำลังพิมพ์ค้างอยู่ นายเทพ ทรรทรานนท์ อยู่แพโรงเรียนราชินีเดี๋ยวนี้ รับซื้อจากหมอสมิธเอามาพิมพ์จำหน่ายที่โรงพิมพ์ของตน แล้วโรงพิมพ์อื่นจึงพิมพ์จำหน่ายบ้าง ส่วนโรงพิมพ์หมอบรัดเลนั้น หลวงดำรงธรรมสาร(มี ธรรมาชีวะ) เจ้าของโรงพิมพ์บำรุงนุกุลกิจ รับซื้อหนังสือค้างมาพิมพ์จำหน่าย แล้วโรงพิมพ์อื่นจึงพิมพ์จำหน่ายบ้าง

(๑๘) ที่เรียกว่าเมืองในสามก๊กนั้น เป็นเมืองใหญ่อย่างหลายมณฑลรวมกันก็มีเป็นแต่อย่างเมืองเดียวก็มี

(๑๙) ผูแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทย แปลศัพท์เซียงก๊กว่า "พระยามหาอุปราช" (เห็นจะเอานามซึ่งมีอยู่ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือนมาใช้) แต่ชอบใช้โดยย่อว่า "มหาอุปราช" มักทำให้ฉงนว่าจะเป็นตำแหน่งรัชทายาทหรืออย่างไร ที่แท้ตำแหน่งเซียงก๊กนั้นเป็นอัครมหาเสนาบดีที่เรียกอย่างอังกฤษว่า ปริมิเอ หรือ ไปรมมินิศเตอร เท่านั้น

(๒๐) พวกเจ้าเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องสามก๊ก ตอนหลังเป็นผู้หลีกหนีจากเมืองหลวงไปในคราวนี้หลายคน

(๒๑) ซุนกวนตั้งตัวเป็นเอกราช ใช้นามว่าวุยอ๋องก่อน ต่อเมื่อพระเจ้าเล่าปี่และพระเจ้าโจผีสิ้นพระชนม์แล้ว จึงราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์

(หนังสือใช้ว่า "วุยอ๋อง" ผมคิดว่าคงจะพิมพ์พลาดไป น่าจะเป็น "ง่ออ๋อง" มากกว่า)

(๒๒) พระเจนจีนอักษรเป็นผู้แปล แต่ข้าพเจ้า(ผู้ไม่รู้ภาษาจีน)ได้แก้ไขถ้อยคำแต่งสำนวนไทยแลยแห่ง ถ้าคลาดเคลื่อนจากภาษาจีนไปมากนัก ขออย่าติโทษพระเจนจีนอักษร

(๒๓) เชียะเปี้ย เป็นชื่อภูเขา แปลว่าชันดังกำแพง อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำซามกัง หนังสือเรื่องสามก๊กที่พิมพ์แล้วเรียกว่าที่ฝั่งแม่น้ำซามกัง

(๒๔) หมายความว่า ตอนลกซุนตีทัพพระเจ้าเล่าปี่แตกยับเยิน แล้วตีทัพพระเจ้าโจผีแตกพ่าย

(๒๕) ในเรื่องซิดก๊กไซ่ฮั่นและตั้งฮั่น ตั้งแต่พระเจ้าฮั่นโกโจครองราชสมบัติถึงอองมังกบฏ ตอนนี้เรียกไซ่ฮั่น ในเรื่องไซ่ฮั่นและสามก๊ก ตั้งแต่พระเจ้าฮั่นกองบู๊ครองราชสมบัติถึงพระเจ้าเหี้นเต้ออกจากราชสมบัติ ตอนนี้เรียกตั้งฮั่น

(๒๖) ในเรื่องไซ่จิ้น ตอนพระเจ้าแผ่นดินอ๋าวงุ่ยหนีไปแล้ว กับอู่ยุ่นไถ ตอนนี้เรียกไซ่งุ่ย เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอ๋าวงุยหนีไปแล้ว พวกขุนนางพร้อมกันเชิญพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ครองราชสมบัติ ตั้นนี้เรียกตั้งงุ่ย

(๒๗) ในเรื่องซิดก๊กไซ่ฮั่น ตอนฮั่นอ๋องรบกับฌ้อปาอ๋อง กวยทองบอกให้ฮั่นสิ้นแข็งเมืองไว้ให้เป็นสามก๊ก ฮั่นอ๋องก๊ก ๑ ฌ้อปาอ๋องก๊ก ๑ ฮั่นสินก๊ก ๑

(๒๘) สันนิษฐานว่าเม่าจงกังแต่งคำอธิบายไว้ก่อน กิมเสี่ยถ่างชำระแต่งเป็นคำอธิบายใหม่ เม่าจงกังยอมว่าดีกว่าของตนจึงให้พิมพ์

(๒๙) ถ้าใครได้ไว้ และบอกมาให้ราชบัณฑิตยสภาทราบจะขอบคุณเป็นอันมาก

(๓๐) รูปภาพเช่นนั้น ที่เป็นเครื่องประดับพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก็มีมาก


..................................................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 15 มีนาคม 2550 เวลา:17:04:53 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com