กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
อธิบายเรื่องพระบาท


เมืองพระพุทธบาท



อธิบายเรื่องพระบาท

การที่นับถือรอยพระพุทธบาทเป็นเจติยสถานดูเหมือนมูลเหตุจะเกิดขึ้นแต่ ๒ คติต่างกัน เป้นคติของชาวมัชฌิมประเทศอย่าง ๑ เป็นคติชาวลังกาทวีปอย่าง ๑ คติของชาวมัชฌิมประเทศนั้นเดิมถือกันตั้งแต่พุทธกาลว่าไม่ควรสร้างรูปเทวดาหรือมนุษย์ขึ้นไว้เซ่นสรวงสักการบูชา และคตินั้นถือกันมาจนพุทธกาลล่วงร้อยปีจึงได้เลิก เพราะฉะนั้นพระเจดีย์ที่พวกพุทธศาสนิกชนสร้างเมื่อก่อน พ.ศ. ๕๐๐ จึงทำแต่พระสถูปหรือวัตถุต่างๆ เป็นเครื่องหมายสำหรับบูชาแทนพระองค์พระพุทธเจ้า รอยพระพุทธบาทเป็นวัตถุอย่าง ๑ ซึ่งชอบทำกันในสมัยนั้น ทำเป็นรอยพระพุทธบาททั้งซ้ายขวาบ้าง ทำเป็นรอยพระพุทธบาทแต่เบื้องขวาบ้าง

แต่ฝ่ายพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์นั้น ชอบอ้างภูเขาหรือสิ่งอื่นที่เป็นเอง แต่รูปสัณฐานแปลกประหลาด ว่าพระผู้เป็นเจ้าได้บันดาลให้เป็น โดยมีเรื่องตำนานอย่างนั้นๆ เช่นที่เมืองคยามีตำบลหนึ่งไม่ห่างจากตำบลพุทธคยาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นัก เรียกว่าตำบลคยาศิระ บนเนินเขาตรงนั้นเป็นศิลาดำคล้ายรูปคนนอน และบนศิลานั้นมีรอยเหมือนรอยเท้าคนอยู่รอย ๑ เขาอธิบายเรื่องตำนานว่า เดิมมียักษ์ร้ายตนหนึ่ง พระวิษณุเทพเจ้าเสด็จลงมาปราบ เมื่อจะฆ่ายักษ์นั้นทรงเหยียบตัวไว้แล้วตัดศีรษะเสีย แล้วบันดาลให้ตัวยักษ์และรอยพระบาทกลายเป็นศิลาปรากฏอยู่ รอยนั้นเรียกกันว่า “วิษณุบาท” นับถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนไปบูชาเนืองนิตย์จนบัดนี้ ที่ว่าเป็นส่วนคติที่นับถือกันมาในมัชฌิมประเทศ แม้ในบาลีก็หามีปรากฏอ้างว่า พระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใดไม่

ส่วนคติที่ถือกันในลังกาทวีปนั้น เป็นการเกิดขึ้นชั้นหลัง อ้างว่าพระพุทธองค์ได้เหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นที่สาธุชนสักการบูชา ๕ แห่ง คือที่เขาสุวรรณมาลิกแห่ง ๑ ที่เขาสุวรรณบรรพตแห่ง ๑ ที่เขาสุมนกูฏแห่ง ๑ ที่เมืองโยนกบุรีแห่ง ๑ ที่หาดในลำน้ำนัมทานทีแห่ง ๑ มีคาถาคำนมัสการแต่งไว้ สำหรับสวดท้ายสวดมนต์อย่างเก่าดังนี้

สุวณฺณมาลิเก สุวณฺณปพฺพเต
สุมนกูเฏ โยนกปุเร
นมฺมทาย นทิยา ปญฺจปาทวรํ
อหํ วนทามิ ทรูโต.

รอยพระพุทธบาท ๕ รอยที่กล่าวนี้ เดิมชาวเรารู้แห่งแต่รอยที่เขาสุมนกูฏ (เขาที่อังกฤษเรียกว่า อะดัมสปิก) อันอยู่ในลังกาทวีปแห่งเดียว พวกลังกาอธิบายตำนานมีอยู่ในเรื่องมหาวงศ์ ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จเหาะไปลังกาทวีป ทรงสั่งสอนพวกชาวเกาะนั้นให้เกิดความเลื่อมใส แล้วจะเสด็จกลับคืนไปยังมัชฌิมประเทศ จึงทำปาฏิหาริย์เหยียบรอยพระพุทธบาท (ใหญ่ยาวราวสักวา ๑) ประดิษฐานไว้บนยอดเขา สำหรับให้ชาวลังกาบูชาต่างพระองค์ แต่ฝ่ายพวกทมิฬที่ถือศาสนาพราหมณ์อ้างว่ารอยนั้นเป็นรอยวิษณุบาท ต่างพวกต่างบูชาด้วยความเชื่อต่างกันมาจนทุกวันนี้ ส่อให้เห็นว่า น่าจะเป็นเพราะพวกลังกาเอาคติของพวกที่ถือศาสนาในมัชฌิมประเทศ กับคติของพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์มาระคลปนกัน จึงเกิดคติที่อ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ ฝ่ายพวกที่นับถือพุทธศาสนาตามลัทธิลังกาวงศ์ เช่นไทยเรา และพม่า มอญ แต่ก่อนย่อมเชื่อถือคติตามชาวลังกา ก็พากันศรัทธาพยายามไปนมัสการรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ

จนถึงรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ – ๒๑๗๑) มีพระภิกษุสงฆ์ไทยพวกหนึ่งออกไปถึงลังกาทวีป จะไปบูชารอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ พระสงฆ์ลังกาถามว่ารอยพระพุทธบาทที่มีอยู่ ๕ รอยนั้น เขาสุวรรณบรรพตก็อยู่ในสยามประเทศไทย ไม่ไปบูชารอยพระพุทธบาท ณ ที่นั้นดอกหรือ จึงต้องไปบูชาถึงลังกาทวีป พระภิกษุพวกนั้นนำมาทูลพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดฯ ให้มีตราสั่งหัวเมืองให้เที่ยวตรวจค้นดูตามภูเขาว่าจะมีรอยพระพุทธบาทอยู่ ณ แห่งใดหรือไม่ ครั้งนั้นผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีสืบได้จากพรานบุณว่า ครั้งหนึ่งไปไล่เนื้อในป่าที่ริมเชิงเขา ยิงถูกเนื้อเจ็บลำบากหนีขึ้นบนไหล่เขาเข้าเซิงไม้ไป พอบัดเดี๋ยวเห็นเนื้อตัวนั้นวิ่งออกจากเซิงไม้ไปเป็นปกติดังเก่า พรานบุณนึกแปลกใจจึงขึ้นไปดูบนไหล่เขานั้น เห็นมีรอยอยู่ในศิลาเหมือนรูปเท้าคนขนาดยาวสักศอกเศษ และมีน้ำขังอยู่ในนั้น ก็สำคัญว่าเนื้อคงหายบาดแผลเพราะกินน้ำนั้น จึงตักเอามาลองทาตัวดู กลากเกลื้อนที่เป็นอยู่ช้านานก็หายหมด ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรีไปตรวจเห็นมีรอยจริงดังพรานบุณว่าจึงบอกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา

พระเจ้าทรงธรรมเสด็จออกไปทอดพระเนตร ทรงพระราชดำริว่าคงเป็นรอยพระพุทธบาทตรงตามที่ลังกาบอกมาเป็นแน่แท้ ก็ทรงโสมนัสศรัทธาด้วยเห็นว่าเป็นบริโภคเจดีย์เนื่องชิดติดต่อถึงพระพุทธองค์ ประเสริฐกว่าอุเทสิกเจดีย์เช่นพระพุทธรูป ซึ่งเป็นของสร้างขึ้นโดยสมมติ จึงโปรดฯให้สร้างเป็นมหาเจดียสถาน มีพระมณฑปสวมรอยพระพุทธบาท และสังฆารามที่พระภิกษุสงฆ์บริบาล และสร้างบริเวณพระราชนิเวศน์ที่เชิงเขาพระพุทธบาทแห่ง ๑ ที่ท่าเจ้าสนุกริมลำน้ำสักแห่ง ๑ สำหรับประทับเวลาเสด็จไปบูชา แล้วโปรดฯ ให้ช่างฝรั่ง (ฮอลันดา) ส่องกล้องทำถนนแต่ท่าเรือขึ้นไปจนถึงสุวรรณบรรพต เพื่อให้เป็นทางมหาชนไปมาได้โดยสะดวก และทรงพระราชอุทิศที่โยชน์ ๑ โดยรอบพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชา กัลปนาผลซึ่งได้เป็นส่วนของหลวงในที่นั้น สำหรับใช้จ่ายในการรักษามหาเจดียสถานที่พระพุทธบาท และโปรดฯ ให้บรรดาชายฉกรรจ์อันตั้งภูมิลำเนาอยู่ในเขตที่ทรงพระราชอุทิศนั้นพ้นจากหน้าที่ราชการอื่น จัดให้เป็นพวกขุนโขลนข้าพระปฏิบัติรักษาพระพุทธบาทแต่อย่างเดียว ที่บริเวณซึ่งทรงพระราชอุทิศนั้นก็ได้นามว่าเมืองปรันตปะ เรียกกันเป็นสามัญว่าเมืองพระพุทธบาท และเกิดเทศกาลมหาชนขึ้นไปบูชาพระพุทธบาทกลางเดือน ๓ ครั้ง ๑ กลางเดือน ๔ ครั้ง ๑ แต่นั้นมา

แท้จริงรอยพระพุทธบาทอันเป็นที่มหาชนบูชาในประเทศนี้ มีมาก่อนพระเจ้าทรงธรรมแล้วช้านาน และมีอยู่หลายแห่ง ทำเป็นรอยพระพุทธบาทขนาดต่างกัน ๔ รอย อุทิศต่อพระพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ เช่นที่เขาในแขวงเมืองเชียงใหม่ก็มี ทำเป็นรอยพระบาททั้งซ้ายขวา เช่นศิลาแผ่นใหญ่ซึ่งเดิมอยู่ในเมืองชัยนาท เดี๋ยวนี้อยู่ในวัดบวรนิเวศฯ และที่เรียกว่า “พระยืน” อยู่ในมณฑปใกล้พระแท่นศิลาอาสน์ก็มี ทำแต่รอบพระพุทธบาทข้างขวาข้างเดียวนั้นมาก จะกล่าวถึงแต่แห่งสำคัญ คือ ที่พระเจ้าลิไทกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วงทรงสร้างไว้บนเขานางทองในแขวงจังหวัดกำแพงเพชร มีอักษรจารึกเป็นรอยสำคัญรอยหนึ่ง อีกรอยหนึ่งจะเป็นผู้ใดสร้างหาปรากฏไม่ เดี๋ยวนี้อยู่ที่วัดพระรูปตรงศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรีข้าม พระบาทรอยนี้จำหลักบนแผ่นกระดานไม้แก่น ด้านหลังจำหลักรูปภาพเรื่องมารวิชัย แต่ตรงที่พระพุทธรูปทำเป็นพระพุทธอาสน์ หาทำพระพุทธรูปไม่ เป็นเค้าเงื่อนข้อสำคัญแสดงว่ารอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในประเทศนี้ ชั้นเดิมถือตามคติชาวมัชฌิมประเทศ คือสร้างขึ้นเป็นวัตถุที่บูชาแทนพระพุทธรูป มิได้อ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้

เพราะฉะนั้นการที่พบรอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณบรรพต เมื่อรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมจึงเป็นมูลเหตุให้คนทั้งหลายโดยมากเกิดเลื่อมใสศรัทธา โดยเชื่อมั่นว่า พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาถึงประเทศนี้ ต่อมาก็เกิดเจดียสถานที่เชื่อถือกันว่าเป็นพระพุทธบริโภคขึ้นอีกหลายแห่ง คือพระพุทธฉายและพระแท่นดงรังเป็นต้น แต่มหาชนเลื่อมใสศรัทธาที่พระพุทธบาทยิ่งกว่าเจดียสถานแห่งอื่นๆ ทั้งนั้น แม้พระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้เสวยราชย์ ณ กรุงศรีอยุธยาต่อรัชการพระเจ้าทรงธรรมมาก็เสด็จไปทรงสักการบูชาและสมโภชเป็นนิจ บางพระองค์ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัตถุสถานเพิ่มเติม มีปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๓ – ๒๑๙๘) โปรดฯ ให้แต่งธารทองแดงเป็นที่ประพาส และสร้างตำหนักที่ปีระทับเวลาเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทขึ้นที่ธารทองแดงนั้น ขนานนามว่าตำหนักธารเกษมแห่ง ๑ ตกแต่งพระตำหนักท่าเจ้าสนุก (แปลงเป็นเครื่องก่ออิฐถือปูน) แห่ง ๑ และให้ขุดบ่อน้ำทำศาลารายตามริมถนนหลวงทางขึ้นพระบาท สำหรับให้มหาชนไปมาได้อาศัยทุกระยะ และยังมีของโบราณซึ่งปรากฏอยู่ในบริเวณพระพุทธบาท มีเค้าเงื่อนว่าจะเป็นของสร้างครั้งพระเจ้าปราสาททอง แต่มิได้ลงในหนังสือพระราชพงศาวดารก็อีกหลายสิ่ง คือพระวิหารหลวง และกำแพงแก้วทำด้วยเครื่องศิลาอ่อน รอบชั้นทักษิณพระพุทธบาทเป็นต้น

ถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑) ปรากฏว่าโปรดฯ ให้สร้างถนนเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน ตั้งแต่เมืองลพบุรีไปจนถึงเขาสุวรรณบรรพตสาย ๑ ให้สร้างอ่างแก้วและกำแพงกันน้ำตามไหล่เขา ชักน้ำฝนให้ไหลไปลงอ่างแก้วขังน้ำไว้ให้มหาชนบริโภคอย่าง ๑ ในรัชกาลสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ พ.ศ. ๒๒๔๖ – ๒๒๕๑) ปรากฏว่าทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑป (พระมณฑปซึ่งสร้างครั้งพระเจ้าทรงธรรมทำเป็นยอดเดียว สร้างมาได้ ๗๐ ปีเศษ เห็นจะชำรุดทรุดโทรม) โปรดฯ ให้เปลี่ยนเครื่องบนแปลงเป็นพระมณฑป ๕ ยอด สิ่งอื่นทำนองก็จะปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม เพราะความกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราช (ชื่อแตงโม เป็นชาวเมืองเพชรบุรี ที่เป็นผู้สร้างวัดใหญ่ ณ เมืองเพชรบุรีนั้น) ขึ้นไปช่วยปฏิสังขรณ์ จึงทรงมอบงานทั้งปวงให้สมเด็จพระสังฆราชบเป็นผู้อำนวยการดังนี้ แต่การปฏิสังขรณ์พระมณฑปครั้งนั้นค้างวอยู่ถึงรัชกาลสมเด็จพระภูมินทราธิบดี (พระเจ้าท้ายสระ พ.ศ. ๒๒๕๑ – ๒๒๗๕) ทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา ให้เอากระจกเงาแผ่นใหญ่ ประดับฝาผนังข้างในพระมณฑป และปั้นลายปิดทองประกอบตามแนวที่ต่อกระจก ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความดังนี้

(เรื่องฝามณฑปพระพุทธบาทนี้ เมื่อพระมงคลทิพมุนี มุ่ย วัดจักรวรรดิราชาวาสเป็นเจ้าหน้าที่รักษาพระพุทธบาท ซ่อมฝาผนังข้างในพระมณฑปในรัชกาลพระมงกุฎเกล้าฯ ได้กะเทาะปูนที่โบกฝาผนังออกโบกใหม่ เห็นอิฐที่ก่อผนังเป็นโค้งและมีรอยก่ออิฐอุดโค้งนั้นเสียทุกด้าน ข้อนี้น่าสันนิษฐานว่าพระมณฑปที่สร้างครั้งพระเจ้าทรงธรรมเห็นจะเป็นมณฑปโถง จะมาก่อแปลงเป็นโค้งเมื่อครั้งทำเครื่องบนใหม่ในรัชกาลพระเจ้าเสือ และมาก่ออุดเป็นฝาขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์ต่อมา จึงให้ประดับด้วยกระจกเงา)

ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๒ (พระเจ้าบรมโกศ พ.ศ. ๒๒๗๕ – ๒๓๐๑) ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวแต่ว่าทรงพระราชศรัทธาเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททุกปี และว่าครั้งหนึ่งจำเริญงาช้างต้นพระบรมจักรพาฬถึงไส้งาเกรงช้างจะเป็นอันตราย จึงโปรดฯ ให้ทำเครื่องสดผูกช้างนั้นปล่อยถวายเป็นพระพุทธบูชาที่พระพุทธบาทดังนี้ แต่สถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่ ณ พระพุทธบาทส่อให้เห็นว่าจะได้ทรงปฏิสังขรณ์ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศอีกครั้งหนึ่ง มีสิ่งที่สร้างใหม่เล่ากันมาเป็นแน่นั้น คือบานประตูพระมณฑป ว่าสร้างเป็นบานมุกในครั้งรัชกาลพระเจ้าบรมโกศทั้ง ๘ บาน ความที่แต่งพรรณนาในฉันท์บุณโณวาท (ที่หอพระสมุดฯ พิมพ์) ก็พรรณนาสิ่งซึ่งมีอยู่ในรัชกาลพระเจ้าบรมโกศทั้งนั้น

ถึงรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ (พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ พ.ศ. ๒๓๐๑ – ๒๓๑๐) เมื่อพม่าเข้ามาตั้งล้อมกรุงฯ ในปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ เดิมพวกจีนที่อยู่ในกรุงฯ อาสาต่อสู้ข้าศึก จึงจัดให้กองจีนตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลคลองสวนพูล ต่อมาจีนพวกนั้นคบคิดกันประมาณ ๓๐๐ คน คุมกันขึ้นไปยังพระพุทธบาท ไปเลิกทองคำที่หุ้มพระมณฑปน้อยอันทรงรอยพระพุทธบาท และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑป เอามาเป็นอาณาประโยชน์แล้วเลยเผาพระมณฑปเสีย เพื่อจะให้ความสูญ พระมณฑปพระพุทธบาทก็เป็นอันตรายยับเยิน ถึงครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีติดการศึก ก็ไม่มีเวลาที่จะได้สร้างพระมณฑปพระพุทธบาทให้คืนดีดังแต่ก่อน

มาจนถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เสด็จขึ้นไปทรงอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑปพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ ให้พระยาราชสงครามเป็นนายช่างปรุงเครื่องบนพระมณฑปขนขึ้นไปจากกรุงเทพฯ ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระราชศรัทธารับแบกตัวลำยองเครื่องบนตัว ๑ ทรงพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือขึ้นไป จนถึงพระพุทธบาท ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ข้าราชการทั้งนายไพร่ที่ขึ้นไปทำการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้น บานมุข ๘ บาน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็โปรดฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ตามแบบอย่างที่พระเจ้าบรมโกศได้ทรงสร้างไว้ ยังปรากฏอยู่จนทุกบัดนี้ แต่ฝาผนังข้างใน (พระมงคลทิพมุนีว่าเมื่อกะเทาะปูนฝาผนังออก เห็นรอยถือปูนผนังเป็น ๓ ชั้น ชั้นแรกถือปูนแล้วทาสีแดง ชั้นที่ ๒ ปิดทองทึบ ชั้นที่ ๓ เขียนลายทอง เขียนลายทองนั้นทราบได้แน่ว่าเขียนในรัชกาลที่ ๕ เนื่องต่อการที่เสด็จไปสักการบูชาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๓๔๑๔ จึงสันนิษฐานว่าครั้งปฏิสังขรณ์ครั้งรัชกาลที่ ๑ เห็นจะ) เป็นแต่ล่องชาดไม่ได้คาดแผ่นกระจกเงาดังแต่ก่อนอีกต่อมา นกจากพระมณฑปสิ่งอื่นที่ชำรุดทรุดโทรมก็ได้โปรดฯให้ซ่อมแซมในรัชกาลที่ ๑ ทั่วไป เพราะฉะนั้นในรัชกาลที่ ๒ ของที่ทรงบูรณะในรัชกาลที่ ๑ ยังบริบูรณ์อยู่จึงไม่ปรากฏว่าได้มีปรากฏว่าได้มีการปฏิสังขรณ์อย่างใดอีก(๑)

ในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏว่าได้ทรงปฏิสังขรณ์เครื่องพระมณฑปใหญ่ และมีเหตุไฟเทียนบูชาไหม้ม่านแล้วเลยไหม้พระมณฑปน้อยที่สวมรอยพระพุทธบาท ต้องทำใหม่ และบางทีจะปิดทองฝาผนังในคราวนี้ นอกจากนี้หาได้ทรงสร้างสิ่งใดไม่ กล่าวกันว่าเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเลื่อมใส ดำรัสว่าพระพุทธเจ้าได้ประทานพระธรรมเทศนาในหัตถิปโทปมสูตร สํยุตตนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ หน้า ๕๔) ว่าขนาดรอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ในรอยเท้าช้างฉันใด เหมือนกับธรรมทั้งหลายก็ย่อมอยู่ในอัปมาทธรรมดังนี้ ถ้าพระพุทธองค์ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้จริงไซร้ ก็จะทรงอุปมาว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ในรอยเท้าของพระตถาคต เพราะรอยพระพุทธบาทใหญ่โตกว่า ๒ เท่ารอยเท้าช้าง เล่ากันมาดังนี้ แต่กรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ ๓ นั้นทรงเลื่อมใสพระพุทธบาทมาก เมื่อเสด็จกลับจากปราบขบถเวียงจันทน์ ทรงอุทิศถวายเครื่องสูงที่แห่เสด็จในการสงครามคราวนั้นไว้เป็นพุทธบูชา และทรงสร้างพระเจดีย์ตามแบบพระธาตุพนมไว้ด้วยองค์ ๑

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องตำนานพระพุทธบาทจะเป็นอย่างไรก็ตาม พระพุทธบาทเป็นมหาเจดียสถานอันประชาชนเลื่อมใสศรัทธามากมาแต่โบราณ แม้เป็นอุเทสิกเจดีย์ก็ควรทำนุบำรุง จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์ สิ่งที่ทรงสร้างใหม่ก็มีหลายสิ่ง คือพระมงกุฎภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์ ๑ และโปรดฯ ให้สร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่และสร้างพระมณฑปน้อย เปลี่ยนของซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๓ ให้งดงามมั่นคงกว่าเก่า ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑปเป็นเสื่อเงิน แลทรงสร้างเทวรูปศิลาที่เขาตกด้วย ในรัชกาลที่ ๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาท และทรงยกยอดพระมณฑปและบรรจุพระบรมธาตุที่พระมงกุฎภัณฑเจดีย์ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓

ถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ๔ ครั้ง เสด็จชั้นก่อนมีรถไฟเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ ครั้ง ๑ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕ ครั้ง ๑ เมื่อทำทางรถไฟแล้วเสด็จพระราชดำเนินอีก ๒ ครั้ง ในรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และซ่อมผนังข้างในพระมณฑปให้เขียนเป็นลายทอง และบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑปนั้นเดิมเป็นบันได ๒ สาย โปรดฯ ให้สร้างเติมอีกสาย ๑ เป็น ๓ สาย และหล่อศีรษะนาคด้วยทองสัมฤทธิ์ที่เชิงบันได เติมของครั้งรัชกาลที่ ๑ ด้วย ต่อมาถึงปลายรัชกาล เครื่องพระมณฑปชำรุดมาก โปรดฯ ให้หล่อใหม่ ให้พระพุฒาจารย์ (มา) วัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นที่พระมงคลทิพมุนี ตำแหน่งผู้รักษาพระพุทธบาท เป็นนายงานทำการจนสำเร็จ ยังแต่จะยกพระจุลมงกุฎเหนือพุ่มข้าวบิณฑ์พระมณฑป สิ้นรัชกาลเสียก่อน ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นไปยกยอดพระมณฑปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ และโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ต่อมาจนสำเร็จ เรื่องตำนานพระพุทธบาทมีดังแสดงมา.


.........................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ข้าพเจ้าได้กล่าวว่า พระมณฑปน้อยไฟไหม้ ได้ทรงสร้างใหม่ในรัชกลที่ ๒ นั้นผิดไป มาได้หลักฐานภายหลังว่าไฟไหม้พระมณฑปน้อยต่อรัชกาลที่ ๓


.........................................................................................................................................................


คัดจาก ประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


Create Date : 13 กรกฎาคม 2550
Last Update : 13 กรกฎาคม 2550 11:20:13 น. 2 comments
Counter : 2530 Pageviews.  
 
 
 
 
มาเกี่ยวความรู้ค่ะ..แต่ยังอ่านไม่จบ..ทำเครื่องหมายไว้แล้ว ต้องกลับมาอีกรอบ..ขอบคุณนะคะที่แวะไปที่บล๊อคป้าปุ้ม..
เลยถือโอกาสนำรูป "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์" มาฝากค่ะ








 
 

โดย: Tante-Marz วันที่: 14 กรกฎาคม 2550 เวลา:23:52:40 น.  

 
 
 
ขอบพระคุณครับป้าปุ้ม

blog เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ มีรูปเสียที
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=22-03-2007&group=1&gblog=15
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 15 กรกฎาคม 2550 เวลา:9:03:02 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com