กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระราชหัตถเลขาอันเป็นมูลเหตุที่ตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ

ว่าด้วยเหตุที่ตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ

เมื่อในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่ยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหกลาโหม กราบบังคมทูลถวายที่ดินของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ผู้บิดาแปลง ๑ อยู่ริมน้ำหน้าวัดประยูรวงศาวาส ยาวตามลำน้ำ ๑๔ วา ๒ ศอก ยื่นขึ้นไป ๑๒ เส้น ๑๔ วา ๒ ศอก ที่ตรงนี้ฝรั่งเคยเช่าเป็นห้างที่ไว้สินค้ามาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ นับว่าเป็นทำเลที่ดีสำรับการค้าขาย ด้วยในเวลานั้นยังไม่ได้ตัดถนนออกไปนอกพระนคร การไปมาค้าขายใช้แต่ทางเรือเป็นพื้น

พระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับที่ดินรายนี้แล้ว พระราชทานเงินพระคลังข้างที่ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไปสร้างตึก ๓ หลัง สำหรับให้เช่าเป็นที่ไว้สินค้า ๒ หลัง เป็นที่สำหรับผู้ดูการอยู่หลัง ๑ มีกำแพงล้อมรอบ ทุนที่พระคลังข้างพี่ออกไปครั้งแรกเป็นเงิน ๑๗,๖๐๐ บาท เมื่อสร้างแล้วทราบว่าพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (ยิ้ม) แต่ยังเป็นพระภาษีสมบัติบริบูรณ์เช่า แต่จะเก็บค่าเช่าเท่าใด ใครเป็นผู้เก็บเงินนั้นส่ง ณ ที่ใดหาปรากฏไม่

ตึกหน้าวัดประยูรวงศ์นี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริจะพระราชทานแก่บรรดาพระราชโอรสธิดา ให้มีส่วนเป็นเจ้าของและได้รับส่วนผลประโยชน์จากค่าเช่าเสมอกัน ได้ร่างพระราชประสงค์ลงไว้ในสมุดดำ ดังนี้


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระราชนิพนธ์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อันเป็นมูลเหตุที่จะสร้างหอพระสมุดวชิรญาณ


สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าแผ่นดินสยาม เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๔ ในพระราชวงศ์ ซึ่งตั้งกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ ขอประกาศไว้ แก่ท่านทั้งปวงผู้ควรจะได้รู้ความในหนังสือนี้ ให้ทราบว่า ที่ตำบลหน้าวัดประยูรวงศาวาส เนื่องติดกับที่ซึ่งเป็นที่หลวงของแผ่นดินสร้างไว้สำหรับแขกเมือง หรือให้อังกฤษเช่าเรียกว่า “บริตติศแฝกตอรี่” นั้น มาข้างตะวันออกตามแนวน้ำเป็นใต้ที่นั้น แต่เป็นเหนือถนนหน้าวัดนั้นกำหนดยาว ๒ เส้น กว้าง ๑๔ วา ๒ ศอก

เดิมเป็นที่ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ วรุตพงศ์นายก สยามดิลกโลกานุปาลนนาถฯ ครั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัยแล้ว ได้มีการปลงศพในที่นั้น ครั้นการศพแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธ มหาบุรุษรัตโนดมบรมราชุตมัค มหาเสนาบดี (วร)คชสีห์สิงหมุรธาธร (จักรรัตนสหจร สุรศรขรรค พิเศศสัญจรธารินทร์) ทักษิณนครคามรัษฎานุกิจการ ทวยหญสมุหมาตยานุพินัย (ยุติธรรมาภิธยาไศล สยามโลกานุปาลนนาถ ปรเมนทรมหาราชวราญาจักโรประการ ปรีชาญาณวรยศธาดา) อภัยพิริยบรากรมหาหุ(๑) สมุหพระกลาโหม ได้มีความเมตตากรุณาแก่บุตรชายหญิงเล็กๆ ของข้าพเจ้า จึงได้ยกที่นั้นให้แก่ข้าพเจ้า เพื่อเป็นของกลางในบุตรข้าพเจ้า แล้วรับว่าจะช่วยสร้างเป็นตึกให้คนเช่าอยู่และไว้สินค้า และทำการต่างๆ ตามแต่จะมีผู้เช่า เพื่อจะให้เกิดนิพัทธผลเป็นของกลางแก่บุตรข้าพเจ้าต่อไป

ข้าพเจ้าจึงได้ออกเงินของตัวข้าพเจ้าเอง มิใช่เงินพระคลังสำหรับแผ่นดิน ให้ไปเป็นทุนสร้าง ๒๒๐ ชั่ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ฯ จึงได้รับเอาเงินนั้นไปทำทุน ได้สร้างเป็นตึก ๓ หลัง หลังหนึ่งเป็นรูปปั้นหยารีตามแนวน้ำ โดยยาว ๘ วา ๒ ศอก กว้าง ๖ วา ๒ ศอก ๔ ห้อง มีเฉลียงด้านรีสองด้านหลัง ๑ เป็นตึกยาวรีตามแนวถนนหน้าวัด โดยยาว ๒๘ วา กว้าง ๖ วา ๑๘ ห้องมีเฉลียงบังสาดด้านเดียวยาวไป ๑๑ ห้อง แล้วมีเฉลียงใหญ่ลงไปถึงพื้นดินยาว ๔๒ วา กว้าง ๓ วา ๒ ศอก ๗ ห้อง อีกหลัง ๑ เป็นตึกรูปรีอยู่ด้านเหนือของที่นั้น โดยยาว ๑๔ วา กว้าง ๔ วา ๙ ห้อง ด้านหน้ารอมฝั่งน้ำมีกำแพงวงรอบ

บัดนี้ที่อันนั้นก็มีผู้เช่าแล้วคิดค่าเช่าเหมาเป็นปีละ ๓๐ ชั่ง ถ้าจะคิดแบ่งเป็นเดือนก็จะต้องแบ่งปีละ ๑๒ เดือนเสมอไป อย่างเดือนในยุโรปที่ไทยเรียกว่าเดือนฝรั่ง ไม่มีอธิกมาส ปี ๑ นับ ๓๖๕ วันเป็นปี ต่อไปที่ ๔ จึงใช้ ๓๖๖ วัน เมื่อคิดดังนี้แล้ว เงินค่าเช่าถ้าคิดเป็นเดือน ก็เดือนละ ๒๐๐ บาท เมื่อยกภาษีให้เจ้าภาษีโรงชักเป็นของแผ่นดินเสียเดือน ๑ ใน ๑๒ เดือนแล้ว คงค่าเช่าปี ๑ ซึ่งจะได้แก่เจ้าของโรงเพียงปีละ ๒๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เงินทุนซึ่งจ่ายไปสร้างตึก ๒๒๐ ชั่งนั้น ข้าพเจ้าขอแบ่งออกเป็น ๔๔ ส่วน ส่วนละ ๕ ชั่ง ค่าเช่าที่เหลือจากเสียภาษี ๒๐๐ บาทนั้น เป็น ๒๒๐๐ บาท ข้าพเจ้าของชักออกปีละ ๘๘ บาท ตั้งไว้เป็นกลางสำหรับซ่อมแซมโรงไปทุกปี คือเป็น ๑ ชั่ง ๒ ตำลึง เงินเหลือนั้น ๒๑๑๒ บาท แบ่งออกเป็น ๔๔ ส่วน เป็นส่วนละ ๔๘ บาท คือเป็น ๒๖ ชั่ง ๘ ตำลึง เมื่อแบ่งเป็นเดือน ส่วน ๑ ก็ได้เดือนละ ๔ บาทเสมอกันทุกเดือน ส่วน ๔๔ ส่วนนี้ข้าพเจ้าจะแจกให้บุตรชายหญิงของข้าพเจ้าบ้างคนละส่วนๆ เป็นพื้นไป ทั้งที่เกิดแล้วและยังจะเกิดต่อไป ก็ถ้าจำนวนบุตรชายหญิงของข้าพเจ้าจะมีต่ำกว่าจำนวน ๔๔ ส่วนนี้ ก็จะยกให้แก่พี่หรือน้อง หรือหลานของข้าพเจ้าลางคนที่ได้งานได้การ จะเป็นคุณเป็นที่พึ่งแก่บุตรของข้าพเจ้าต่อไป หรือจะให้ซ้ำแก่บุตรบ้าง คนที่ได้การได้งานเป็น ๒ ส่วน หรือจะยกไว้เป็นส่วนกลางสำหรับจะได้ซ่อมแซมโรงนั้นต่อไป การยังไม่ตัดสินลงได้เป็นแน่

แต่ข้าพเจ้าจะเขียนคำประกาศนี้ไว้สำหรับส่วนทุกส่วนๆ แล้วจึงจะหมายในปลายว่าส่วนนี้ข้าพเจ้าให้แก่ผู้นั้นๆ เป็นสำคัญ ผู้นั้นก็เป็นเจ้าของส่วนหนึ่งๆ ซึ่งจะนับไว้ในหนังสือว่าส่วนที่ ๑ ที่ ๒ ไปจนส่วนที่ ๔๔ และจะมีตรามงกุฎดวงเล็กประทับตัวเลขนับส่วนนั้นเป็นสำคัญอีกดวง ๑ ด้วย ผู้ที่ได้ส่วนดังนี้เมื่อรักษาส่วนนั้นไว้เป็นของตัวก็ให้ได้ส่วนค่าเช่าเดือนละ ๑ ตำลึง ปรือปีละ ๑๒ ตำลึงเสมอไป ด้วยลักษณะเดือนและปีที่ไม่มีอธิกมาสดังว่าไว้ข้างต้นนั้น

ถ้าผู้ที่ได้ส่วนไว้ด้วยหนังสือสำคัญนั้นแล้ว มีความร้อนรนจะต้องการเงิน ๕ ชั่ง หรือหย่อนกว่า ๕ ชั่ง ตามใจจะขายแก่ผู้อื่นเสียก็ได้ แต่เมื่อจะขายและยกให้ต้องจดหมายลงชื่อตราของผู้นั้นให้ไปเป็นสำคัญผู้ที่ซื้อและผู้ที่ได้ไปจึงจะเป็นเจ้าของส่วนนั้นได้ ถ้าผู้ที่มิใช่ผู้ซื้อไปปละผู้รับต่อไป คือตัวผู้ที่ได้รับจากข้าพเจ้าทีเดียวนั้นได้ส่วนไปเป็นของตัว แล้วจะไม่มีตัวลง ถ้าข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ ขอคืนมาให้แก่ข้าพเจ้า ถ้าข้าพเจ้าไม่มีตัวแล้ว บุตรชายหญิงของข้าพเจ้าบรรดาที่มีส่วนอยู่ ยังมีอยู่เท่าไรก็ตาม ถ้าผู้ถือส่วนก่อนไม่ได้ลงชื่อลงตรายกให้แก่ผู้ใดแล้ว ขอเสียอย่าเอาส่วนนั้นว่าเป็นมรดก คงคืนมาให้เจ้าของเดิมคือข้าพเจ้าและบุตรหลานเจ้าของเดิม คือบุตรหลานของข้าพเจ้า

ถ้าผู้ได้ส่วนไปแต่ข้าพเจ้านั้นเป็นคนสูบฝิ่น ถ้าข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่จะเร่งเอาคืน ถ้าไม่มีตัวข้าพเจ้าแล้ว บุตรหลานของข้าพเจ้าที่ถือส่วนอยู่ที่เป็นคนไม่ได้สูบฝิ่นด้วยกันจงอย่านิ่งเสีย จงไปชำระเรียกเอาคืนมาไว้เป็นส่วนกลางสำหรับซ่อมแซมโรง หรือจะให้แก่ผู้ใดก็ตาม ผู้ที่สูบฝิ่นแล้วจะเอาส่วนนั้นไปยกให้ก็ดี ขายให้ก็ดี แก่ผู้ใดไม่เป็นสิทธิ์ได้ ถึงผู้ซื้อไปเสียเงินก็ชื่อว่าสมคบคนสูบฝิ่น ไปทวงเงินเอาแต่ผู้ขายนั้นเถิด ส่วนคงคืนเป็นของบุตรหลานข้าพเจ้าตามซึ่งข้าพเจ้าบังคับไว้นี้ ถ้าอำนาจของบุตรหลานข้าพเจ้าที่มีส่วนอยู่จะวิวาทกับคนสูบฝิ่น และผู้จะรับมรดกไม่ได้ ขอเมตตาพระกรุณาของผู้ครองแผ่นดินที่เป็นธรรมจงเป็นที่พึ่งด้วย เพราะของทุนเดิมเป็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสั่งไว้ดังนี้ด้วยไม่ยินดีให้คนสูบฝิ่นเป็นเจ้าของในโรงของกลาง ซึ่งข้าพเจ้าได้สร้างไว้ให้เป็นที่อาศัยแก่บุตรหลานของข้าพเจ้า และซึ่งว่าด้วยคนสูบฝิ่นนั้นว่าไม่ให้เป็นเจ้าของก็ดี ไม่ให้ผู้อื่นรับมรดกก็ดี ว่าแต่ในผู้ที่ดีรับส่วนแต่ข้าพเจ้า ให้คนที่ได้ซื้อส่วนได้เสียเงินให้แก่บุตรหลานข้าพเจ้าแล้ว ได้ส่วนไปจะสูบฝิ่นก็ดี จะตายลงของควรจะเป็นมรดกก็ดี ก็สุดแต่ความเที่ยงธรรมของแผ่นดินจะโปรด

ในเมื่อส่วนข้าพเจ้าแจกไปแก่บุตรข้าพเจ้าคนละส่วนๆ ดังนี้ เมื่อการผันแปรไป ส่วนได้แก่ผู้ใดอื่นก็ดี ข้าพเจ้าขอไว้ให้แก่ผู้ที่มีส่วนทั้งปวงให้มีความสมัครสโมสรสามัคคี อย่าถือเปรียบแก่งแย่งแก่กันและกัน ใครเป็นผู้ใหญ่มีสติปัญญา จงหมั่นไปตรวจตราดูที่ดูของนั้นอยู่เนืองๆ ถ้าเห็นว่าสิ่งไรชำรุดก็อย่างนิ่งเฉยปล่อยให้ชำรุดจนค่าเช่าตกไป จงมาปรึกษาหารือบรรดาผู้ได้ส่วนให้รู้ทั่วกันไป หรือแต่งคนไปดูให้เห็นพร้อมกันทุกรายแล้ว จงปรึกษาหารือกันยกหรือแบ่งค่าเช่าทุกเดือนออกรวบรวมไว้ในมือผู้ที่ควรเชื่อถือได้ กว่าจะพอเพื่อจะซ่อมแซมแก้ไขให้ของคงคืนเป็นปรกติดี และการเล็กน้อยคือจะต้องฉาบปูนหรือทาสีและอื่นๆ ตามประสงค์ของผู้เช่าและผู้จะเช่านั้น ก็ให้เรี่ยรายกันเล็กๆ น้อยๆ ทำไปทุกปี หรืออีกอย่าง ๑ ให้ผู้ได้ส่วนทั้งปวงพร้อมใจกันตั้งผู้หนึ่งซึ่งควรจะเป็นที่ไว้ใจได้ ให้เป็นผู้ที่จะเรียกตามคำจีนว่าเถ้าแก่ใหญ่ดูแลอยู่เป็นนิตย์ เมื่อการสิ่งใดไม่เรียบร้อยให้ผู้นั้นช่วยว่ากล่าวเชื่อมโยงให้สมัครสโมสรกัน

ถ้าผู้เช่าแย่งชิงกันหลายรายค่าเช่าจักจำเริญขึ้นไปได้ ก็จงเฉลี่ยให้ได้กำไรทั่วกันทุกส่วน ก็ถ้าแม้นผู้เจ้าของส่วนมาสมัครสโมสรกันที่นั้นชำรุดทรุดโทรมไป หรือด้วยเหตุอื่นเหตุไรค่าเช่าตกไป ก็จงเฉลี่ยลดให้เสมอทั่วกัน ก็ถ้าแม้นเหลือกำลังที่จะทะนุบำรุงซ่อมแซมไปแล้ว เมื่อจะพร้อมใจกันขายที่นั้นกับสิ่งที่ชำรุดเหลืออยู่แก่ผู้ใดก็ตาม เมื่อขายขาดทีเดียวดังนี้แล้ว เงินค่าที่ค่าของนั้นก็จงแบ่งกันปันกันตามผู้ได้ส่วน หนังสือประจำส่วนทุกฉบับผู้ซื้อจงเรียกเอาไปเสีย บังคับในหนังสือนี้เป็นเลิกแล้วเถิด

ถ้าตระกูลบุตรหลานข้าพเจ้าจะสาบสูญสิ้นไปไม่มีใครทะนุบำรุงรักษาได้แล้ว หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ของนั้นที่นั้นจะตกอยู่เป็นของแผ่นดินแล้ว ถ้าผู้ครองแผ่นดินยังถือพระพุทธศาสนาถือธรรมเนียมไทยอยู่ ก็จะต้องบำเพ็ญพระราชกุศลหรือก่อสร้างพระบารมีด้วยการบำเพ็ญทาง เป็นที่รุ่งเรืองเจริญพระเกียรติยศไม่ใช่หรือ เมื่อไม่มีเจ้าของตามที่ข้าพเจ้าสั่งแล้ว ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงระลึกถึงข้าพเจ้าอยู่ และทรงพระราชศรัทธาจะเอาเป็นส่วนบำเพ็ญพระราชกุศลแล้ว ข้าพเจ้าก็มีความยินดีนัก แต่ขอพระราชทานแสดงความขอบใจไว้ว่า ข้าพเจ้ามีความปรารถนาว่าค่าเช่านั้น ขอให้พระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งมีเมตตากรุณามากปฏิบัติให้เป็นคุณแก่คนทั้งปวงรับเป็นธุระ แล้วเก็บค่าเช่าเอาตามเดือนได้แล้ว จัดซื้ออิฐจ้างคนก่อซ่อมแซมถนน หรือจะซื้อไม่สักไม้แก่นทำสะพานข้ามคลองที่คนเดินมาก หรือจะให้ค่าจ้างหมอค่ายารักษาคนไข้ในโรงทาน หรือจะจ้างครูอาจารย์สอนหนังสือสอนเลขแก่เด็กๆ ที่ยังไม่รู้วิชาเลขวิชาหนังสือก็ดี หรือจะเอาไปจ่ายปฏิสังขรณ์วัตถุเจดียสถาน ซึ่งข้าพเจ้าได้สร้างไว้ในที่นั้นๆ คือ พระศรีรัตนเจดีย์ พระพุทธปรางปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธรัตนสถาน และสถานอื่นในพระพุทธนิเวศในพระบรมมหาราชวังก็ดี หอพระพุทธรูป หอพระอัฐิในวังนันทอุทยานก็ดี พระเจดีย์พระวิหารพระอุโบสถและกุฎีวิหารในพระอารามที่ข้าพเจ้าสร้าง คือพระเจดีย์พระองค์ทิศตะวันตกในวัดพระเชตุพน และวัตถุทั้งในวัดบวรนิเวศ วัดบรมนิวาส วัดมกุฎกษัตริย์ วัดโสมนัสวิหาร วัดสมอราย วัดประทุมวนาราม วัดชัยพฤกษ์มาลา วัดเขมาภิรตาราม วัดมหาพฤฒาราม ในแขวงกรุงเทพฯ ใกล้แขวงกรุงเทพฯก็ดี พระปฐมเจดีย์เมืองนครชัยศรีก็ดี พระธาตุจอมเพชรยอดเขาสระบัว พระเจดีย์ยอดเขาหลวงเขาพนมขวด และพระเจดีย์ และพระพุทธรูปในถ้ำหลวง พระพุทธรูปและวัตถุอื่นๆ ในวัดมหาสมณารามเมืองเพชรบุรีก็ดี พระเจดีย์แลพระวิหารหลวงวัดสุวรรณดาราราม พระพุทธรูปใหญ่ในพระวิหารหลวงวัดพนัญเชิง พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหาร กุฏิศาลาเสนาสนารามที่ริมวังจันทรเกษม และที่วัดชุมพลนิกายารามเกาะบางปะอินแขวงกรุงเก่าก็ดี พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระอุโบสถ พระวิหารกุฎีศาลาวัดกรวิศรารามท้ายวังเมืองลพบุรีก็ดี พระมกุฎพันธนะเจดีย์ที่บนลานพระพุทธบาท แลพระวิหารน้อยทั้งพระพุทธรูปปากถ้ำประทุนและพระธรรมยุติก์ พระเสลเจดีย์ในถ้ำประทุน พระพุทธรูปในถ้ำวิมานจักรีแขวงพระพุทธบาทก็ดี วัตถุสถานทั้งปวงที่ออกชื่อมานี้ เมื่อชำรุดทรุดโทรมไปเมื่อใด ก็จงแบ่งค่าเช่าที่เกิดแต่โรงนั้นไปซ่อมแซมบ้างโดยสมควร

แต่ในมณฑปและวัตถุสถานอื่นๆ ในบริเวณพระพุทธบาทนั้นอย่าเลย เพราะจะมีผู้ศรัทธาจะสร้างจะทำนั้นมากแล้ว และซึ่งว่าให้ปฏิสังขรณ์สิ่งซึ่งข้าพเจ้าได้สร้างได้ทำไว้นั้น ก็เพื่อจะให้รักษาชื่อข้าพเจ้าต่อไปเป็นเกียรติยศ เพราะฉะนั้นจะถือว่าไหนๆ ก็เป็นบุญเหมือนกัน แล้วจะคิดยักย้ายไปจ่ายไปทำสิ่งอื่นๆ ในที่อื่นอารามอื่น ข้าพเจ้าไม่ยอม อนึ่งถ้าเอาผลค่าเช่าโรงนั้นไปจ่ายเป็นสิ่งของไทยธรรมต่างๆ หรือข้าวปลาอาหารต้มแกงถวายพระสงฆ์ในอารามนั้นๆ เป็นของประจำวัดก็ดี เป็นของทำบุญถวายพระสงฆ์ในการมงคลอวมงคลเมื่อใดเมื่อหนึ่งก็ดี อย่าเลย เพราะพระสงฆ์นั้นจะมีผู้ศรัทธาอุตสาหะถวายอยู่นั้นมากมายหลายพวกหลายแห่งแล้ว ข้าพเจ้ารักทำในที่จะเป็นเกียรติยศแก่ชื่อข้าพเจ้าอย่างหนึ่ง รักทำในที่ซึ่งไม่ใคร่จะมีใครทำ คืออนุเคราะห์รักษาคนไข้ในโรงทาน และสอนหนังสือสอนเลขแก่เด็กๆ ที่ยังไม่รู้หนังสือและเลข หรือสร้างขึ้นและปฏิสังขรณ์ถนนหนทางสะพานศาลา ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชนทั้งปวง ทั้งชีและคฤหัสถ์ชาววัดชาวบ้านไม่ว่าใคร(๒)


แต่พระราชนิพนธ์นี้ยังค้างอยู่ไม่จบ จะเป็นด้วยต่อมาจะทรงพระราชดำริเป็นอย่างอื่น หรือด้วยเหตุใดหาทราบไม่ แต่สมุดร่างพระราชประสงค์นี้ซุกซ่อนอยู่ในหนังสือห้องอาลักษณ์ ไม่มีผู้ใดระลึกได้ จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์มาได้ ๗ ปี ถึงปีกุนสัปตศก พ.ศ. ๒๔๑๘ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กราบบังคมทูลว่า ตึงซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างที่หน้าวัดประยูรวงศ์นั้น ตั้งแต่พระพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ผู้เช่าเดิมบอกคืน ทิ้งชำรุดทรุดโทรมอยู่ ห้างมูเลอร์ไมสเนอร์จอขอเช่า ถ้าจะให้เช่าจะต้องลงทุนซ่อมแซมอีก จะโปรดประการใด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้สืบสวนเรื่องเดิม จึงไปค้นพบร่างหนังสือพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ที่ตึกหน้าวัดประยูรวงศ์นั้น ถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถยังมิได้พระราชทานแก่พระราชโอรสธิดา แต่เมื่อปรากฏพระราชดำริมีอยู่ก็จะทรงจัดการให้เป็นไปตามพระราชดำริ ให้บรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เป็นเจ้าของ และได้รับผลประโยชน์เสมอกันทุกพระองค์ แต่ส่วนทุนที่จะต้องลงไปในค่าซ่อมแซมเป็นเงิน ๔๘๐๐ บาทนั้น ถ้าจะเฉลี่ยเรียกจากเจ้านายก็รำคาญพระราชหฤทัยอยู่ ด้วยเจ้านายเหล่านั้นยังไม่ได้รับผลประโยชน์ และไม่เคยทรงทราบว่าจะได้เป็นเจ้าของ พอได้ทรงทราบก็จะต้องเสียเงินไปก่อน ดูเป็นที่อนาถพระหฤทัย พระองค์เป็นประธารในพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงรับลงทุนด้วยเงินพระคลังข้างที่ แล้วมีผลประโยชน์ที่จะแบ่งเมื่อใด ก็จะพระราชทานหนังสือสำหรับที่พร้อมกับส่วนแบ่ง แก่บรรดาพระเจ้าลูกลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้จ่ายเงินพระคลังข้างที่ไปซ่อมแซมตึกนั้นจนแล้ว และให้ห้างมูเลอร์ไมสเนอร์เช่าต่อมา

ถึงปีขาลสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๔๒๑ เก็บเงินค่าเช่าใช้พระคลังข้างที่ครบแล้ว และมีเงินเหลืออยู่ในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำหนังสือพระราชทานกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ ๕๘ ส่วน เท่าจำนวนพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระองค์อยู่ในเวลานั้น เงินค่าเช่าก็แบ่งเป็น ๕๘ ส่วน ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นวันเชิญพระบรมอัฐิเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณประจำปี เมื่อพระราชโฮรสธิดาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานหนังสือประกาศพระราชกำหนด และหนังสือกรรมสิทธิ์แก่บรรดาเจ้านายซึ่งจะได้มีส่วนเป็นเจ้าของ ต่อหน้าพระบรมอัฐิ ส่วนของพระองค์ก็มีด้วยส่วน ๑ แต่พระราชทานส่วนนั้นแด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แต่นั้นมา เมื่อขึ้นปีใหม่ถึงกลางเดือน ๑๑ ในวันทำบุญพระบรมอัฐิ ก็โปรดให้เจ้าพนักงานนำค่าเช่าตึกแบ่งเป็นส่วนเสมอกัน มาพระราชทานแก่เจ้านายผู้เป็นเจ้าของตึก ต่อหน้าพระที่นั่ง พระบรมอัฐิทุกปีมา

ตั้งแต่เจ้านายได้รับพระราชทานหนังสือกรรมสิทธิ์ เป็นเจ้าของที่ตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ และได้รับพระราชทานเงินส่วนแบ่ง ความรู้สึกได้มีในบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแต่แรกว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับพระราชทานในเรื่องตึกหน้าวัดประยูรวงศ์รายนี้ ได้ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ปกครองตระกูลวงศ์ สนององค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสืบมาเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว เป็นผลประโยชน์อันกอปรด้วยศิริมงคล จะเอาไปใช้สอยในอาณาประโยชน์ส่วนพระองค์ให้หมดสิ้นสูญไปเปล่าหาควรไม่ ควรจะรวมเงินผลประโยชน์นั้นประกอบการซึ่งเป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ยังหาได้ทรงพระดำริจะทำการอย่างใดไม่

จนถึงปีมะโรงโทศก พ.ศ. ๒๔๒๓ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ กรมหลวงพิชิตปรีชากร กับสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทั้ง ๓ พระองค์นี้ทรงปรึกษากันทำจดหมายประทานบรรดาเจ้านายเจ้าของตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ ทรงแนะนำว่า ซึ่งเจ้านายมีพระประสงค์จะทรงจ่ายเงินค่าเช่าในการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกอปรด้วยผลประโยชน์อันควรนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า ควรจะเข้าทุนกันจัดตั้งหอพระสมุดสำหรับราชตระกูลขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ บรรดาเจ้านายเจ้าของตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ทรงเห็นชอบพร้อมกัน จึงตั้งหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นด้วยเหตุนี้


.........................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) สร้อยราชทินนามที่วงไว้นั้นในประกาศนี้ไม่มี คัดจากหนังสือเรื่องตั้งพระยากรุงรัตนโกสินทร์มาเติมไว้
(๒) พระราชนิพนธ์หมดเพียงนี้


.........................................................................................................................................................


คัดจาก ประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


Create Date : 13 กรกฎาคม 2550
Last Update : 13 กรกฎาคม 2550 8:39:03 น. 0 comments
Counter : 1645 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com