กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๕ ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช มีรเหตุการณ์สำคัญๆ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องหนึ่งคือหม่อมไกรสรต้องโทษประหาร ซึ่งเกิดเป็นกระทู้ในพันทิปหลายครั้งมาแล้ว เรื่องนี้ในกระทู้นี้จะแสดงความตามหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

เหตุการณ์ที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองอีกเรื่อง เป็นเรื่องราชทูตฝรั่งเข้ามาขอทำสัญญา ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องต่อไปถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ ที่แสดงถึงพระสติปัญญา ปรีชาสามารถ ความสุขุมลุ่มลึกของพระองค์ท่านในการแก้ไขปัญหาอย่างละมุ่มละม่อม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง "ความทรงจำ" ในตอนนี้ว่า

".... เมื่อเขียนถึงตรงนี้นึกขึ้นถึงคำราชทูตฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเอาใจใส่ศึกษาพงศาวดารประเทศทางตะวันออกนี้ เคยแสดงความเห็นแก่ฉันว่า สังเกตตามเรื่องที่ฝรั่งมาทำหนังสือสัญญาเมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น เมืองไทยใกล้จะเป็นอันตรายมากที่เดียว ถ้าหากไม่ได้อาศัยพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไข ประเทศสยามก็อาจจะไม่เป็นอิสระสืบมาได้ คำที่เขาว่านี้พิเคราะห์ในพงศาวดารก็สมจริง ในชั้นนั้นมีประเทศที่เป็นอิสระอยู่ทางตะวันออกนี้ ๕ ประเทศด้วยกันคือ พม่า ไทย ญวน จีน และญี่ปุ่น นอกจากเมืองไทยแล้ว ต้องยอมทำหนังสือสัญญาด้วยถูกฝรั่งเอากำลังบังคับทั้งนั้น ที่เป็นประเทศเล็กเช่นพม่าและญวนก็เลยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเมื่อปลายมือ ที่เป็นประเทศใหญ่หลวง เช่นเมืองจีนก็จลาจลและลำบากยากเข็ญสืบมาจนทุกวันนี้ กลับเอาตัวรอดได้แต่ประเทศญี่ปุ่นเพราะเขามีคนดีมากและมีทุนมากด้วย ถึงกระนั้นก็ต้องรบราฆ่าฟันกันเองแล้วจึงตั้งตัวได้ มีประเทศสยามประเทศเดีวที่ได้ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งโดยฐานมิตร และบ้านเมืองมิได้เกิดจลาจลเพราะทำหนังสือสัญญา ...."



....................................................................................................................................................................................


ถึงปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๑๐ พุทธศักราช ๒๓๙๑ เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลนี้ ครั้นมาถึงเดือนอ้าย พระยาธนูจักรรามัญทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย กล่าวโทษกรมหลวงรักษรณเรศว่า ชำระความไม่ยุติธรรม กดขี่บุตรชายว่าเป็นผู้ร้ายย่องเบาลักเอาเงินทองสมิงพิทักษ์เทวาไป สมิงพิทักษ์เทวาเป็นโจทก์ จึ่งโปรดให้ประชุมเสนาบดีชำระความใหม่ ก็ได้ความจริงว่าบุตรพระยาธนูจักรมิได้เป็นผู้ร้าย ผู้ร้ายนั้นคือบุตรเขยของสมิงพิทักษฺเทวาเอง ทรงขัดเคืองกรมหลวงรักษรณเรศเป็นอันมาก ตรัสบริภาษว่า ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หวังจะให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยปฏิบัติราชกิจการต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในยุติธรรมกดขี่หักหาญถ้อยความให้วิปริตผิดๆ เช่นนี้คงหลายเรื่องหลายคราวมาแล้ว ก็เพราะด้วยอ้ายพวกละครชักพาให้เสียคน

จึงโปรดฯ เกล้าให้ตุลาการค้นหาความอื่นขึ้นมาชำระอีกต่อไป ได้ความว่า กรมหลวงรักษรณเรศชำระความของราษฎรมิได้เป็นยุติธรรมสมกับที่ไว้วางพระราชหฤทัย ด้วยพวกละครและข้าในกรมรับสินทั้งฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลย แล้วหักความเอาชนะจงได้ ในกรมเองก็เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ลอยกระทงก็ขึ้นไปลอยถึงกรุงเก่าบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง ทำเลียนธรรมเนียมในหลวงทรงลอย พวกละครก็ให้ห่มแพรสีทับทิมใส่แหวนเพชรเลียนหม่อมห้าม อีกทั้งเกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้องก็มาก ผู้ใดไม่มาเข้าฝากตัวก็พยาบาทเคียดแค้น ตั้งแต่ริเล่นละคร ก็ไม่ได้บรรทมข้างใน อยู่แต่ที่เก๋งข้างท้องพระโรงด้วยพวกละคร จึงรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกกันไต่ถามค้นความ ก็ได้ความสมพ้องว่าได้เป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แต่เอามือคนละครและพระหัตถ์ท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน เท่านั้น

แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตุลาการถามกรมหลวง ว่าเป็นทรงชุบเลี้ยงเจ้าใหญ่นายโตถึงเพียงนี้ เล่นการเช่นนี้สมควรอยู่หรือ กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกเมียนั้นหาเกี่ยวข้องแก่การแผ่นดินไม่ ตุลการถามอีกข้อ ๑ ว่า ที่เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมากนั้นจะคิดกบฏหรือ กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่าไม่ได้คิกกบฏ จึงถามต่อไปว่า ถ้าไม่ได้คิดกบฏก็แล้วเกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกไว้เหตุใด กรมหลวงรักษรณเรศจึงตอบว่า คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปแล้ว ก็จะไม่ยอมเป็นข้าของใคร ตุลาการถามอีกข้อ ๑ ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วจะเอาเจ้านายพระองค์ใดเป็นวังหน้า กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่าคิดอยู่ว่าจะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ จึงจดคำถามตุลาการแลคำให้การของกรมหลวงรักษรณเรศขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงวินิจฉัยต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริปรึกษาด้วยพระราชวงศานุวงศ์เสนาบดีว่า กรมหลวงรักษรณเรศมีความผิดหลายอย่าง ทั้งบังเอาเงินเบี้ยหวัดและเงินวัดพระพุทธบาทปีหนึ่งหลายสิบชั่งไปเป็นอาณาประโยชน์ ครั้นจะเลี้ยงไว้ต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เห็นควรอย่างไรดี พระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีกราบทูลว่า แม้จะไม่เอาโทษปล่อยไปเสีย ด้วยจะชุบเลี้ยงไว้ต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เหมือนตีอสรพิษให้หลังหักระแวดระวังยาก

ถึงวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ตุลาการทำกระทู้ซักถามกรมหลวงรักษรณเรศว่า ที่ตัวได้เป็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึงได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ปรารถนาถึงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวระลึกถึงความหลังดู แต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และกรมหมื่นสุรินทรรักษ์กับตัวก็ได้ทำราชการมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ สมเด็จพระบรมชนกนาถ จนถูกหนังสือทิ้งฟ้องกล่าวหามาด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้สำคัญพระราชหฤทัยว่าได้เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกันมา ฝ่ายกรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ยังอยู่แต่ตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงไว้วางพระราชหฤทัยให้ช่วยราชการแผ่นดินต่อมา ตัวประพฤติการคดๆ โกงๆ เอาสินบนในการชำระถ้อยความและตั้งขุนนาง ก็ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่บ้าง ได้ทรงเตือนสติหลายครั้งหลายคราว ว่าอย่าทำให้ราษฎรเขาติฉินนินทาหมิ่นประมาทได้ อย่าให้ชื่อชั่วช้าตราตรึงอยู่กับแผ่นดิน เหมือนตัวประพฤติการที่ไม่อยู่กับเมียดังนี้ ก็มีผู้มาพูดว่าทั้งผู้ชายผู้หญิง ข้างผู้ชายนั้นกรมขุนรามอิศเรศเป็นต้น จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชา ฝ่ายผู้หญิงนั้นเมียของตัวที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็มาเล่าให้ฟังออกเซ็งแซ่ ว่าตัวไม่อินังขังข้อกับลูกเมีย ไปหลงรักอ้ายคนโขนคนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึงทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่งเตากวางรักงิ้ว จะซ่องเสพผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะทรงห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวว่า กระทำดังนี้ไม่ดีไม่งามความก็จะอื้ออึงออกไป เหมือนจะแกล้งประจานให้ญาติได้รับอัปยศ แล้วทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนกรมหลวงเทพพลภักดิ์ก็ประพฤติไม่อยู่กับลูกเหมือนกัน สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในราชวงศ์ก็ทรงทราบทุกพระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์ประการใดไม่ คราวนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิได้เอาพระราชหฤทัยเป็นธุระ ด้วยสำคัญว่าเขาประพฤติให้เหมือนพี่ชาย เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเกือก เป็นคนอุบาทว์บ้านอุบาทว์เมือง แล้วมิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยโลภเจตนา ให้ขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งขายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง หาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดทักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่างว่าแต่มนุษย์เขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดให้ถอดเสียจากกรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร ลงพระราชอาญาแล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ที่วัดปทุมคงคา ณ วันพุธเดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำนี้ บ่าว ๓ คน กับขุนวุทธามาตย์ขุนศาลคน ๑ เป็น ๔ คนด้วยกัน เอาไปประหารชีวิตที่สำเหร่ในวันเดียวกัน

ความผิดข้อใหญ่ของหม่อมไกรสรอยู่ที่หมายจะเอาราชสมบัติ เมื่อสิ้นแผ่นดินแล้ว เมื่อพิจารณาดูก็เหมือนจะทรงป้องกันอันตรายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่ารัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ให้แผ่นดินร่มเย็นเป็นสุขต่อไปนั้น คงมีแต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นเท่านั้น มีเหตุหลายอย่างที่ส่อให้เห็นพระจำนงในพระราชหฤทัยจะให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อไป เช่นโปรดฯ ให้กระบวนแห่เสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจัดอย่างแห่เสด็จกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อย้ายมาทรงครองวัดนิเวศฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อครั้งทรงบูรณะพระปรางวัดอรุณาชวราราม พระปรางค์เดิมเป็นของโบราณสูง ๘ วา โปรดให้ก่อหุ้มขึ้นใหม่สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว เดิมทำเป็นยอดนภศูลตามแบบพระปรางค์ที่เคยสร้างกันมา ครั้นใกล้ถึงถึงวันฤกษ์จะยกยอดพระปรางค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ไปยืมมงกุฎที่หล่อไว้สำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดบนยอดนภศูล ทรงพระราชดำริอย่างไรจึงทำเช่นนี้ หาได้ตรัสให้ใครทราบไม่ และการเอามงกุฎขึ้นต่อยอดนภศูลก็ไม่เคยมีแบบอย่างมาแต่ก่อน คนในสมัยจึงพากันสันนิษฐานว่า มีพระราชประสงค์จะให้คนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า “มงกุฎ” จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไปข้างหน้า



ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเมื่อทรงเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ฯ ก็ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษต่อมิชชันนารีอเมริกัน พวกมิชชันนารีอเมริกันกับพวกบาทหลวงฝรั่งเศส แม้มีเจตนาจะมาสั่งสอนเผยแพร่คริสต์ศาสนาเหมือนกันก็ตาม แต่วิธีปฏิบัติต่างกันเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง พวกบาทหลวงโรมันคาทอลิกวางตัวเป็น “พระ” พยายามบำรุงศาสนาตั้งวัด และอุปถัมภ์บำรุงการฝึกสอนผู้คนให้เข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนาเป็นสำคัญ ส่วนพวกมิชชันนารีอเมริกันถือโปรเตสตันส์ วางตัวเป็น “ครู” ใช้วิธีทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆ เช่นรักษาความเจ็บไข้และสอนวิชาความรู้อารยธรรม ให้คนทั้งหลายเลื่อมใสเสียก่อน จึงสอนศาสนาต่อไป เพราะฉะนั้นพวกมิชชันารีอเมริกันจึงเข้ากับไทยได้สะดวกกว่าพวกบาทหลวง ในครั้งนั้นมีพวกคนชั้นสูงสมัยใหม่ ปรารถนาจะศึกษาวิชาอย่างฝรั่งหลายคน เช่น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้านวม กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท ใคร่จะทรงศึกษาวิชาแพทย์อย่างฝรั่งพระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ใคร่จะทรงศึกษาวิชาทหารพระองค์ ๑ หลวงนายสิทธิ (ช่วง) ใคร่จะศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นคน ๑ ได้ศึกษาวิชาตามประสงค์ต่อพวกมิชชันนารีอเมริกัน ส่วนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงคุ้นเคยกับพวกมิชชันนารีตั้งแต่เสด็จประทับอยู่วัดสมอรายแล้ว แต่ไม่ปรากฏชัดว่าได้ทรงศึกษาวิชาอันใดจากพวกมิชชันนารีในชั้นนั้น

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงปรารภถึงการบ้านเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๕ จีนรบแพ้อังกฤษและต้องทำหนังสือสัญญายอมให้อังกฤษกับฝรั่งชาติอื่นเข้าไปมีอำนาจในเมืองจีน เวลานั้นในบ้านเมืองไทยโดยมากยังเชื่อตามคำพวกจีนที่กล่าวกันว่าที่แพ้สงครามอังกฤษเพราะไม่ทันได้เตรียมตัว รัฐบาลจีนจึงต้องยอมทำหนังสือสัญญาพอให้มีเวลาตระเตรียมที่จะสู้รบต่อไป แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงพิเคราะห์แล้วทรงพระดำริเห็นว่าถึงคราวโลกวิสัยจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ฝรั่งจะมามีอำนาจขึ้นทางตะวันออกนี้ และประเทศอาจจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากยิ่งขึ้นในวันหน้า จึงเริ่มทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับมิสเตอร์ แคสเวลมิชชันนารีอเมริกัน หรือที่คนไทยในสมัยนั้นเรียกท่านว่า หมอหัศกัน มิสเตอร์แคสเวลไม่ยอมรับค่าจ้าง แต่ทูลขอโอกาสให้สอนคริสต์ศาสนาได้ที่วัดบวรนิเวศน์ฯ เป็นทำนองท้าพิสูจน์ความศรัทธาของพุทธบริษัทวัดบวรนิเวศน์ฯ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณก็ประทานอนุญาตให้สอนได้ตามประสงค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับมิสเตอร์แคสเวล จนทรงสามารถจะอ่านเขียนและตรัสเป็นภาษาอังกฤษได้ดียิ่งกว่าใครๆ ที่เป็นชาวไทยด้วยกันในสมัยนั้น

การที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงศึกษาภาษาอังกฤษในครั้งนั้น ทำให้ฝรั่งชาวต่างชาติเข้าใจว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสในการฝรั่งไปด้วย ถึงกับชักชวนพระองค์ให้ทรงเข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนา ดังปรากฏในหนังสือจดหมายโต้ตอบที่พระองค์ทรงมีไปถึงพระสหาย เป็นเค้าความดังนี้


Dated a place of sea surface 130 261 N. latitude
And 1010 31 E. longitude in Gulf of Siam
18th November Anbo Christi 1849
In touring or voyage of the undersigned

To Mr. & Ms Eddy of New York, Unite States
Sri & Madam


I have the honour to acknowledge the cheerfully receipt of your kind letter which was finest manuscript of the latter or lady, dated Waterford Sar Co. state of New York October 6th 1848 from the hand of my & your friend Doctor S.R. House on the 19th June inst, in which time there was the most awful & dangerious fatal disease of Cholera or “Jala sandy” just visiting our country & abating our people of Bangkok during four weeks or one month commencing 16th & 17th June inst.

For this consequence of the distress I beg to confess myself that I could do no attention to reply your address and farther forgot until the present date completely four months ago. Now I am however in my happy voyage to deliver my letters & some presents suitable to be forwarded for my foreign friends on board exporting ship ready to be sailing away from the anchor place of our Gulf, I just saw your letter remaining in my writing box from which your letter has led me in recollection to write you here myself very soon without hesitation.

I observed certainly by your letter’s content of this date that my second letter accompanied some triffing articles of this country (I had sent to be presented to you for showing of foolish manufacture of our poor & ignorant people according to direction of my friend Dr. S.R.House) committed on board ship bounding to Canton to be forwarded to America via China where we hear that the vessels of America are frequently visiting, was not yet reached your hand, as it (my second letter together some presents) was just put away on June or July ultimo, before your letter’s date about three months, and I trust you would write me again on its receipt.

Allow me to say truly without any near case of falsehood or anigma1 &c. as the truth is most important subject of all religion in the world, though many sinners whoever are thinking themselves to be skilful, think it (the truth) that useless some time, yet it is indeed the highest head of holy morality. Therefore I beg to say truly what in my mind. Your letter’s content is generally regarding the surpriseble & admirable qualities & conducts of Missrs Mattoon & S.R.House for introduction to astonishment of my mind which may be fore way to be easily converted to Christianity. But such the words were much more said & related here by every one of Missionaries many while so that it is now very common, as the Siamese people did know certainly that such influence of opparation of the Christian countrymen was just occurred by the ways by which they accustomed to introduce this Christianity to savage & barburious countries very easily according to the late system of Columbus &c then this Missionaries who were learned of such knowledges of religion having no situation for their life by their knowledges in their mother country as there were many most preachers & teacher of the same system got their rooms in churches of all Christian countries so that the progresses of search their lives support by gethering money from gentle & induligent2 Pious people in hands of their employers who let the people be glad to pay for spreaching of their most respected religion to other country which they think very benighted. But the wiseman like myself and other learned have had know that this religion of Christ was but ancient superstition of the Jew who were near of Barburious, but it war introduced to Europe before these lights of undoubtable knowledge of wonderful sciences were shoned there on, so that it was the verneetical3 system of Europians until the present days. We communicate whit English and American friend for knowledge of sciences & arts, not for any least admiration or astonishment of vulgar religion as we know that there are very plenty of the men of knowledge who were learned & profissers of various sciences Astronomy Geography Grammartical navigation &cc. abusing & refusing all content of Bible & stated that they do not believe at all. Be not trouble for such introductory writing, if I would believe such system I would be converted to Christianity very long are before you have heard my name perhaps. Besides the conversation concerning religion, it will be your displeasure for more word. My many Christian friends generally think that I communicating with Eurian4 & American friends for being wonderful for their all conducts every ways for this evidence they think that they may introduce me to their religion every easier that other rather that if I were converted to it then afterward many more of noblemen & people of this country might be converted & introduced to Christianity very soon & easily as I am hight priest of Buddhist & conductor of this nation to the system of the action of merits for eternal happiness. The people might follow me like in the account of Sandawed Island &c. Such vulgar desire of those my friends was for they accustomed to do to the savage & Barburious nation like those occanican of Sandawed Island &c. But our country is not like those nation as here were longly some knowledges of morality & civility bearing legible wonderful accurate system & believable consequences more admirable than the same Jewish system though this was corrupted & mixed with most reproveable superstitions of Brahmines & forest &cc.

I beg to say truly that I was thankful to you much for you wish my happiness both internal & eternal.5 So that you wrote all your mind that the undoubtable way saving the lives of all creatures to eternal happiness. But I not receive you such advice as my faith is but that the moreality & virtues of action & mind which were subjects of all religions of whole world is to be proper course for obtain eternal happiness. What is the Christ who was appeared to us not more than an extraordinary person in whom the wonder of the same superstitious ignorant people had placed on the same period & respected foolishly by other nation from the shilly presumption which carried in due course. I beg to return only man thouson thank to you for your kindness & mercy upon me even for my for my eternal life.

Here are many gentlemen who formerly believed in the cosmogony & cosmography according to Brahmanical work which the old ancient Buddhist authors of book have adopted to their system without hesitation. They took contrary contest with many subjects of Europian or enlightened Geography astronomy Horology navigation chemistry &c. On their first hearing or receipt. They thought that such the system & knoeledges were but the inflences of imagination of heathen or propounded subject from the Christ and his disciples. Afterward they have examined accurately & exemplified with many reason, arguments & circumstands. Now the skilful gentlemen & wise men of our country generally believed all foresaid sciences & pleased with them much so that a few of them including myself endevoured to study language of English proposing the knowledge of reading & perusing their book of scientific action or arts to be immated6 & introduce to our country whatever would come under their power. But no one of such learned personages is doubting that lest Christianity might be best system or religion or lest Jesus might be genueut7 or real son of God or saviour of liar to the same ignorant nation where he has met with his borth. His prediction from the words of profets &c. All in disbelieve of these wisemen. Be not trouble to lead us in such system, we have heard most words of here missionaries both old & modern saying in various ways the Bible and it various Elements or commentaries are accustomed to read much. I beg to say but the importance which may be useful between you & me.

I am sorry to say that I could not get opportunity to be out of our kindom owing to the reprovable custom & police8 of our country which were enacted by our Goverments both ancient & Modern who were deeped in most profound darkness of ignorant pleasures & desires from which we think we will not be able to lead them out during their life & our time. On hearing of your desire that I may pay visit New York &c. I was most sorry for I know the opportunity would not be to me during my life for arrival the same with my body. The exact description of New York I have read in some books & heard frequently from mouth of my teacher and friend so that I was desirious long are to visit, my whealth or property is as much as enough or sufficient for let me meet9 all countries of the Europes America but how shall I do to our governments but I am glad that my manuscript has some time opportunity to visit the same state.

I was very glad to hear that you power to do many branches of businesses. I beg therefore to offer myself to you to be your true friend as I am longly desirious of obtaining some extraordinary faithful and grateful person of your country to be my agent, to whom I might order some needable articles to be shipped from America to Siam & I should do to him in such a way or case but have no one before now I am glad to have yourself to be my agent.

I have heard from my agents of Singapore who stated to me that at least 30 ships of America visit the same port. But I am sorry that the American vessels do not visit Siam sometime. Therefore I beg to ask you for my a single purpose. I desire to have one Lithographic press (instrument of printing on stone) with all its compliment10 or implement. Will you please to obtain for me one from your country? Please write me soon by overland let me know how much prices would required for it if less that $200 Dollars then I must request or solicite you to advance for me & take it & put in certain ship which you know that would be bounded to Singapore and you write information to me with the values of articles. Than I will return my order to me agent of Singapore to wait upon the same ship of America & accept the same & pay the prices immediately as soon as the ship would sail away safely without any delay or detain for money. Will you please to comfort me in China where American ships visit continually I cannot pay for things that were said but the names that were lost by piraters of China as I know that all ships have the securities or assurints who might pay for lost at ocean wherefore do not send me articles which I order you by hand of Missionaries or other who would land on China or Chinese shore as I know that there are many more piraters who spoil foreign vessels very often but in Singapore there will be not any calamity for protection of English government & I have faithful agents thereon too wherefore I wish you to send me ordered things to the same port. I beg to denote the names of my care your letters for me or deliver your articles to be present or sell to me per ship visiting the same port.

My Chinese agent of Singapore named thus Tan Tock Sing Esquire or kongsee.

My English agent named thus Messrs. Hamilton & Grey & Co. Singapore.

Please write answer to me for this me reqest as very soon as possible. I am earnestly desirious of obtaining the Lithograghic press which have heard that is cheaper than that of England.

Be not sorry or angry to me for the foresaid religious subject, I said so for I am uwilling your thouble in your endevvouring which would be not furnished at all. Please pardon me for those words if they displeased you, but be graceful11 to me as I am native of poor country and be glad for my kindness & respect to you who offer your infriendship upon me firstly by sending me the printing Ink.

Remember me your friend have the honour to be your agent here if some things which lies in my power may required


Prince T.Y. Chaufa Mongkut
The High priest & head of the church
named Wat Pawaraniwes in Bangkok
modern capital of Siam



P.S. Please read carefully and overlook all mistaken in writing as I was most hurried in
my manuscripts in this letter T.Y.M.

………………………………….

1 enigma
2 indulgent
3 veneratical เห็นจะหมายความว่า system of Veneration
4 Europian
5 external
6 intimated
7 genuine
8 policy
9 visit
10 complement
11 “graceful” ในที่นี้หมายความว่า indulgent



มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้คำแปลพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ดังนี้


แห่งหนึ่งในทเล ๑๓-๒๖- แล๊ดติจู๊ดเหนือ
แล ๑๐๑-๓- ลองติจุ๊ดตะวันออก ในอ่าวสยาม
วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๙ (พ.ศ. ๒๓๙๒)
ในระหว่างเที่ยวหรือเดินทางของผู้เซ็นนามข้างท้าย

จดหมายมายัง มิสเตอร์แลมิสซิซ เอ๊ดดี แห่งนิยอร์ก ยูไนเตตเสตต ให้ทราบ


ข้าพเจ้ามีเกียรติได้รับโดยปิติซึ่งจดหมายกอปรด้วยเมตตาของท่าน เป็นลายมืองามที่สุดของมิสซิซเอ๊ดดี เขียนที่เมืองวอร์เตอฟอร์ด ซาร์.โค. เสตตแห่งนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ (พ.ศ. ๒๓๙๑) จดหมายฉบับนั้น ข้าพเจ้าได้รับจากมือมิตรของท่านแลของข้าพเจ้า ดอกเตอร์ เอส.อาร์.เฮาส์. เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ปีนี้ ในขณะที่กำลังเกิดอหิวาตกโรค หรือ “ชลสันดี”1อย่างร้ายแรง ซึ่งพึ่งจะมาเยี่ยมประเทศเรา แลลดจำนวนราษฎรในกรุงเทพฯ ลงไปภายใน ๔ อาทิตย์หรือ ๑ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ แลที่ ๑๗ เดือนมิถุนายนปีนี้

เพราะความเดือดร้อนนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงต้องขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนหนังสือตอบจดหมายท่านได้ แลซ้ำลืมมาจนวันนี้ รวมเวลา ๔ เดือนบริบูรณ์ แต่ในบัดนี้ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในการเดินทางอย่างสุขสบาย เพื่อจะพาจดหมายของให้ซึ่งเหมาะสมแก่การที่จะส่งไปให้มิตรชาวต่างประเทศของข้าพเจ้าไปฝากเรือซึ่งจะพาออกนอกประเทศ เรือนั้นพร้อมจะออกแล่นจากที่ทอดสมอในอ่าวของเรา ข้าพเจ้าพึ่งเห็นจดหมายของท่านในหีบเขียนหนังสือของข้าพเจ้า จดหมายนั้นเป็นเครื่องเตือนให้ข้าพเจ้ารีบเขียนมาถึงท่านจากที่นี่โดยเร็วปราศจากความรั้งรอ

ข้าพเจ้าสังเกตถ่องแท้จากเค้าความในจดหมายท่านลงวันที่ ๖ ตุลาคมนี้ว่า จดหมายฉบับที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าส่งไปพร้อมกับของบางอย่างในประเทศนี้ (ข้าพเจ้าได้ส่งไปกำนัลท่านเพื่อให้เห็นฝีมือโง่เขลาของราษฎรเราผู้ต่ำต้อยแลอับความรู้ ตามคำแนะนำแห่งมิตรของข้าพเจ้าคือ ดอกเตอร์ เอส.อาร์.เฮาส์) จดหมายแลของเหล่านั้นได้มอบไปกับเรือซึ่งจะออกไปเมืองกวางตุ้ง แล้วเลยไปอเมริกาผ่านไปทางเมืองจีน อันเป็นที่ซึ่งเราได้ยินว่ากำปั่นของประเทศอเมริกาเคยมาเสมอๆ แต่จดหมายแลของเหล่านั้นยังไม่ถึงมือท่าน เพราะจดหมายนั้น (คือฉบับที่ ๒ ของข้าพเจ้าพร้อมด้วยของให้บางอย่าง) พึ่งจะส่งลงเรือเมื่อเดือนมิถุนายน หรือ กรกฎาคมปีก่อน ก่อนวันซึ่งท่านลงไว้ในจดหมายของท่านประมาณ ๓ เดือน ข้าพเจ้าหวังว่าเมื่อท่านรับจดหมายฉบับนี้แล้ว ท่านคงจะเขียนตอบมาอีก

ท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพูดจริงปราศจากข้อความใดๆ ซึ่งใกล้กับความเท็จ หรือเคลือบคลุมเป็นต้น เพราะความสัตย์ย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในศาสนาทั้งสิ้นในโลก แม้ผู้ทำบาปเป็นอันมากซึ่งทะนงตนว่าเฉลียวฉลาด นึกว่าสิ่งนั้น (ความสัตย์) เป็นของซึ่งบางทีก็หาประโยชน์มิได้ ถึงกระนั้นความสัตย์ก็ยังเป็นยอดแห่งธรรมะบริสุทธิ์2 เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอกล่าวตามความจริงที่อยู่ในใจข้าพเจ้า ข้อความในจดหมายของท่านนั้น มักกล่าวถึงความน่าพิศวงแลน่าชมแห่งคุณสมบัติของมิสเตอร์แมตตูน แลมิสเตอร์ เอส.อาร์.เฮ้าส์ เพื่อให้เป็นเครื่องนำความมหัศจรรย์ใจให้เกิดแก่ข้าพเจ้า ซึ่งอาจเป็นทางเบื้องต้นชักจูงให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปถือคริสต์ศาสนาโดยง่าย แต่คำพูดเช่นนั้นมิชชันนารีทุกคนได้พูดแลบรรยาย ณ ที่นี้มามากแล้ว กว่าที่ท่านกล่าวพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นของชินหู เพราะไทยเรารู้แน่แล้วว่าการเผยแพร่ศาสนาของชาวเมืองคริสเตียนนั้น ได้กระทำโดยประการที่เคยนำคริสต์ศาสนาไปสั่งสอนชาวป่า แลชาวประเทศมิลักขะได้ง่ายดายตามวิธีของโคลัมบัสเป็นต้น อนึ่งพวกมิชชันนารีผู้มีความรู้ทางศาสนาดังได้กล่าวแล้ว ไม่มีตำแหน่งที่จะหาเลี้ยงชีพในเมืองมารดาของตนโดยวิชาที่มีอยู่ เพราะว่ามีนักเทศน์แลครูสอนศาสนาวิธีเดียวกันมากเกินกว่าจำนวนวัดที่มีในประเทศคริสเตียนทั้งหมด จึงต้องดำเนินการหาเลี้ยงชีพด้วยอาศัยรับเงินของผู้มีใจกอปรด้วยปรานี ยอมสละง่าย ซึ่งผู้จ้าง (ของมิชชันนารี) บันดาลให้มีความยินดียอมเสียเงิน เพื่อให้มีผู้นำศาสนาที่นับถือของตนไปเทศน์สั่งสอนในเมืองอื่นๆ ซึ่งตนเห็นว่าราษฎรอยู่ในความมืดมนไร้ปัญญาคือความสว่าง แต่คนมีปัญญาเช่นข้าพเจ้าแลคนอื่นที่มีความรู้ทราบดีแล้วว่า คริสตศาสนาเป็นเพียงแต่การงมงานเชื่อลัทธิโบราณของพวกยิวผู้ใกล้จะเป็นมิลักขะ แต่ว่าได้มีผู้นำเข้าไปแพร่หลายในยุโรปก่อนแสงสว่างแห่งความรู้อันไม่มีข้อสงสัย คือวิทยาศาสตร์อันมหัศจรรย์ ได้เกิดขึ้นในยุโรป ดังนั้นคริสต์ศาสนาจึงเป็นลัทธิที่นับถือของชาวยุโรปมาจนทุกวันนี้ เราติดต่อกับมิตรชาวอังกฤษแลอเมริกันนั้นก็เพื่อความรู้ในทางวิทยาศาสตร์แลศิลปะศาสตร์ หาใช่ติดต่อเพราะชื่นชมแลอัศจรรย์ใจในศาสนาสามานย์นั้นไม่ เพราะเราทราบแล้วว่ามีคนเป็นอันมากซึ่งรอบรู้วิชา แลเป็นอาจารย์ในวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่นดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ไวยากรณ์ แลการเดินเรือเป็นต้น พวกนี้ติฉินแลปฏิเสธทุกข้อที่กล่าวไว้ในไบเบอล แลแสดงว่าไม่เชื่อถือเลย ขอท่านอย่ามัวกังวลเขียนแนะนำมาในเรื่องเช่นนั้น ถ้าข้าพเจ้าเชื่อลัทธินั้น ข้าพเจ้าก็คงจะเข้าอยู่ในศาสนาคริสเตียนเสียก่อนที่ท่านได้ยินนามข้าพเจ้านานแล้วกระมัง นอกจากนั้นการสนทนาซึ่งเกี่ยวกับศาสนา อาจเป็นเครื่องเดือดร้อนแก่ท่านโดยข้อคำที่อาจกล่าวแก่กันต่อไป มิตรข้าพเจ้าหลายคนที่เป็นคริสเตียนมักคิดกันว่า ข้าพเจ้ามีความติดต่อกับกับมิตรชาวยุโรปแลชาวอเมริกัน ก็เพราะพิศวงในความประพฤติของผู้นั้นๆ ไปทุกๆ ทาง ข้อนี้เป็นเหตุให้พากันคิดว่าอาจชักจูงข้าพเจ้าไปเข้าศาสนาของเขาได้ง่ายกว่าคนอื่น และถ้าข้าพเจ้าเป็นคริสเตียนแล้ว ภายหลังพวกขุนนางแลราษฎรประเทศนี้อีกเป็นอันมาก ก็จะพากันเลื่อมใสตาม แลอาจชักนำไปเป็นคริสเตียนได้โดยเร็วอย่างสะดวก ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้ามีสมณศักดิ์สูงในพุทธศาสนา เป็นผู้นำหน้าชาติในการบุญเพื่อสู่ความสุขนิรันดร เพราะฉะนั้นราษฎรก็คงทำตามข้าพเจ้า เหมือนกับเรื่องเกาะแซนดอเวดเป็นตัวอย่าง ความปรารถนาอันสามานย์ของพวกมิตรข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ โดยที่พวกนั้นๆ เคยกระทำกับพวกชาวป่าแลชาติมิลักขะ เช่นเดียวกับทำแก่ชาวแซนดอเวดเป็นต้นมาแล้ว แต่คนในประเทศของเราไม่เหมือนกับคนเหล่านั้น เพราะได้มีความรู้ในเรื่องธรรมะแลจรรยามานานแล้ว ธรรมะแลจรรยาของเรานั้น แม้ว่าได้มีลัทธิพราหมณ์แลลัทธิชาวป่าเป็นต้นมาปะปน ทำให้เสียไปบ้าง ก็ยังเป็นลัทธิอันแจ่มแจ้งถูกต้องอย่างน่าพิศวง มีผลน่าเชื่อแลชื่นชมยิ่งกว่าลัทธิของชาติยิวที่ได้กล่าวมาแล้ว

ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยจริงใจว่า ข้าพเจ้าขอบใจท่านในการที่ท่านปรารถนาให้ข้าพเจ้ามีความสุขทั้งภายในแลภายนอก ท่านจึงได้เขียนแนะนำมาในสิ่งซึ่งท่านเชื่อมั่นแล้วเต็มความคิด ว่าเป็นหนทางอันปราศจากข้อสงสัย ที่จะช่วยชีวิตสัตว์โลกให้มีความสุขนิรันดร แต่ข้าพเจ้ารับทำตามคำแนะนำของท่านไม่ได้ เพราะความเชื่อของข้าพเจ้ามีว่า ธรรมะแลคุณความดีโดยกิริยาแลใจ อันเป็นน้ำเนื้อของศาสนาทั้งปวงในโลกนั้น เป็นทางถูกต้องที่จะได้รับความสุขนิรันดร ใครคือไครสต์ผู้ปรากฏแก่เราว่าไม่ยิ่งไปกว่าบุคคลแปลประหลาดคนหนึ่ง ผู้ซึ่งความพิศวงของฝูงชนไร้ปัญญา มัวเชื่อลัทธิงมงายได้ยกย่องขึ้นในสมัยโน้น แลชนชาติอื่นก็ได้นับถือตามๆ กันไปโดยความเขลา จนความเชื่อโดยเดาเอาอย่างโง่ๆ ก็ได้ส่งสืบกันมา ข้าพเจ้าแสดงความขอบใจมายังท่านสักพันครั้ง ตอบแทนความเมตตากรุณาของท่าน แม้ความเมตตากรุณานั้นจะเป็นไปเพื่อชีวิตนิรันดรของข้าพเจ้า

ที่นี่มีผู้ดีหลายคนซึ่งแต่ก่อนได้เชื่อในเรื่องสร้างโลก แลโลกสัณฐานตามตำราพราหมณ์ ซึ่งคนแต่งหนังสือเรื่องพุทธศาสนาครั้งโบราณได้นำเข้ามาไว้เป็นลัทธิในพุทธศาสนาโดยไม่รั้งรอผู้รู้อย่างเก่าของเรานั้น เมื่อแรกได้ยินหรือรับความรู้ของชาวยุโรป ก็ได้โต้เถียงคัดค้านวิชานั้นๆ เช่นภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิชาวัดเวลา วิชาเดินเรือ แลเคมีสตรีเป็นต้น พวกนั้นพากันคิดไปเสียว่า ลักษณะแลความรู้เรื่องวิทยานั้นๆ คือปัญญาเดาๆ ของชนชาติมิจฉาทิษฐิชักจูงให้เป็นไป หรือเป็นข้อความซึ่งได้รับอธิบายมาจากไครสต์แลจากสานุศิษย์ของไครตส์ ครั้นภายหลังได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ แลคิดค้นหาตัวอย่างด้วยเหตุผลด้วยคำชี้แจง แลด้วยรูปการอย่างอื่นๆ บัดนี้ผู้มีความเฉลียวฉลาดแลผู้มีปัญญาในประเทศเรา มีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์อันกล่าวมาแล้ว แลมีความยินดีในวิชานั้นๆ เป็นอันมาก กระทั่งบางคนรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ได้พากันพยายามศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อจะได้มีความรู้ อ่านตำราภาษาอังกฤษในเรื่องวิทยาศาสตร์แลศิลปะศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้คุ้นเคยแลชักนำความรู้นั้นๆ มาสู่ประเทศของเรา ตามแต่จะสามารถนำมาได้ แต่ไม่มีใครเลยสักคนเดียวในพวกที่มีความรู้เช่นที่กล่าวนั้น จะระแวงว่าคริสต์ศาสนาอาจเป็นลัทธิหรือศาสนาดีที่สุด หรือว่าเยซูเป็นบุตรจริงๆ ของพระเจ้า หรือผู้ช่วยมนุษยชาติได้ พวกนั้นเป็นแต่ลงความเห็นว่าเยซูเผอิญไปมีกำเนิดในชาติโง่เขลาเบาปัญญา จึงเป็นเครื่องใช้ล่อลวงกันในชาตินั้น การทำนายในเรื่องเยซูตามคำกล่าวของผู้ทายทั้งสิ้นนั้น ผู้มีความรู้เหล่านี้ไม่มีใครเชื่อเลย โปรดอย่างต้องลำบากเพื่อชักจูงเราให้เชื่อในลัทธินั้น เราได้ฟังคำบรรยายเป็นอันมากจากพวกมิชชันนารีซึ่งอยู่ที่นี่ ทั้งพวกเก่าแลพวกใหม่กล่าวชี้แจงโดยทำนองต่างๆ กัน คัมภีร์ไบเบอลแลอรรถกถาต่างๆ นั้นก็ได้เคยอ่านมามากแล้ว ข้าพเจ้าขอกล่าวแต่ข้อความสำคัญซึ่งอาจเป็นประโยชน์ระหว่างท่านกับข้าพเจ้าเท่านั้น

ข้าพเจ้าเสียใจที่จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถหาโอกาสออกนอกพระราชอาณาจักรได้ เพราะขัดกับประเพณีหรืออุบายอันน่าติเตียนของประเทศเรา ซึ่งรัฐบาลของเราทั้งสมัยเก่าแลสมัยใหม่ได้บัญญัติไว้ รัฐบาลนั้นเป็นผู้ซึ่งจมลึกอยู่ในความชอบใจแลความปรารถนาอันมืดไปด้วยความไม่รู้ อันเราคิดว่าเราไม่สามารถจะนำให้ออกมาพ้นได้ตลอดชีวิตของท่านนั้นๆ แลในสมัยของเราเมื่อได้ยินว่าท่านแสดงปรารถนาให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมกรุงนิวยอร์กแลกรุงอื่นๆ ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นที่สุด เพราะทราบว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสตลอดชีวิตที่จะไปถึงนิวยอร์กด้วยร่างกายของข้าพเจ้าได้ เรื่องที่กล่าวถึงนิวยอร์กโดยละเอียดนั้น ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วในหนังสือบางเล่ม แลได้ยินเสมอๆ จากปากครูแลมิตรข้าพเจ้าทางนี้ เหตุดังนั้นข้าพเจ้าจึงปรารถนามานานแล้วที่จะไปเยี่ยมเยียนกรุงนั้น ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าก็พอที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ในยุโรปแลอเมริกาได้ แต่จะทำประการใดกับรัฐบาลของเราได้เล่า แต่ข้าพเจ้ายินดีอยู่ว่า ลายมือของข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมประเทศอเมริกาได้บ้างบางคราว

ข้าพเจ้ายินดีหนักหนาที่ได้ยินว่า ท่านสามารถกระทำธุระได้หลายสาขา เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าขอมอบตัวข้าพเจ้าต่อท่านเพื่อเป็นมิตรอันแท้จริงของท่าน เพราะข้าพเจ้าต้องการมานานแล้วที่จะมีบุคคลในเมืองท่านผู้กอปรด้วยความซื่อตรงแลเห็นแก่ข้าพเจ้าโดยแท้เที่ยง เพื่อให้เป็นเอเย่นต์ของข้าพเจ้า ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้สั่งให้หาสิ่งของที่ต้องการส่งบรรทุกเรือจากอเมริกามาถึงสยาม แลถ้ามีความต้องการเมื่อไร ข้าพเจ้าจะได้สั่งผู้นั้นให้จัดการเช่นที่ว่า แต่ยังหามีใครก่อนนี้ไม่ บัดนี้ข้าพเจ้ายินดีที่จะได้ท่านเปนเอเย่นต์ของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าได้ทราบจากเอเย่นต์ทางสิงคโปร์บอกเข้ามาว่า กำปั่นแห่งประเทศอเมริกาอย่างน้อย ๒๐ ลำมาเยี่ยมท่าเมืองสิงคโปร์ แต่ข้าพเจ้าเสียใจที่กำปั่นอเมริกาไม่เข้ามาเยี่ยมสยามบ้าง ดังนั้นขอให้ท่านช่วยให้สมประสงค์ข้าพเจ้าสักอย่างเถิด คือข้าพเจ้าต้องการจะมีเครื่องพิมพ์หินสักเครื่องหนึ่ง (เครื่องสำหรับตีพิมพ์ด้วยแผ่นหิน) พร้อมทั้งเครื่องประกอบให้ครบชุด ขอท่านจงช่วยหาซื้อให้ข้าพเจ้าสักเครื่องหนึ่งจากประเทศของท่าน ท่านจงเขียนถึงข้าพเจ้าโดยเร็วทางบก3 เพื่อให้ทราบว่าเครื่องพิมพ์นั้นราคาเครื่องละเท่าไร ถ้าราคาต่ำกว่า ๒๐๐ เหรียญแล้ว ข้าพเจ้าต้องขอให้ท่านออกเงินรองไปก่อน แลจัดส่งบรรทุกกำปั่นลำใดลำหนึ่งซึ่งท่านทราบว่าจะมาแวะสิงคโปร์ แล้วท่านจงแจ้งข่าวมายังข้าพเจ้าล่วงหน้า บอกชื่อเรือชื่อกัปตัน ทั้งบอกราคาสิ่งของมาด้วย ข้าพเจ้าจะได้มีคำสั่งไปถึงเอเย่นต์ของข้าพเจ้าที่อยู่เมืองสิงคโปร์ ให้คอยเรือชื่อนั้นๆ ของประเทศอเมริกา แลให้คอยรับแลใช้เงินค่าสิ่งของทันที ก่อนเวลาเรือจะออกแล่นไปโดยปลอดภัย ไม่มีความเนิ่นช้าหรือผัดผ่อนในเรื่องเงินเลย ขอท่านจงช่วยให้สมประสงค์ของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ แต่ว่าข้าพเจ้าไม่เอเย่นต์สักคนในเมืองจีน ซึ่งกำปั่นอเมริกันมาเสมอๆ ข้าพเจ้าจะใช้เงินค่าสิ่งของที่บอกมาแต่ชื่อ แต่สิ่งของได้หายเสียแล้วเพราะถูกจีนสลัดชิงไปนั้นไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าทราบว่ากำปั่นทั้งสิ้นมีประกันภัย จะมีผู้ใช้ค่าเสียหายกลางทะเลให้ เหตุฉะนั้นท่านอย่างส่งสิ่งของที่ข้าพเจ้าสั่งฝากมากับพวกมิชชันนารี หรือผู้ใดที่จะขึ้นบกที่เมืองจีน หรือผู้ขึ้นที่ฝั่งทะเลเมืองจีนเลย ด้วยข้าพเจ้าทราบว่ายังมีพวกสลัดอีกมาก ซึ่งมักทำลายกำปั่นชาวต่างประเทศบ่อยๆ นัก แต่ที่สิงคโปร์จะไม่มีเหตุอันตรายเช่นนั้น เพราะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษ แลทั้งข้าพเจ้าก็มีเอเย่นต์ซื่อตรงอยู่ที่นั่นแล้วด้วย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าประสงค์ให้ท่านส่งของซึ่งข้าพเจ้าสั่ง มาที่ท่าเมืองสิงคโปร์ ข้าพเจ้าขอบอกชื่อเอเย่นต์ที่สิงคโปร์ ผู้ซึ่งท่านควรสลักกลังส่งหนังสือที่มีมาถึงข้าพเจ้า หรือมอบให้ส่งของที่ท่านส่งมากำนัลหรือขายให้ข้าพเจ้า อันจะส่งมาโดยกำปั่นที่จะมาสู่ท่าเมืองสิงคโปร์

เอเย่นต์จีนของข้าพเจ้าที่สิงคโปร์ ชื่อดังนี้ ตันต๊อกเสง เอส ไควร์ หรือกงสี

เอเย่นต์ชาวอังกฤษของข้าพเจ้า ชื่อดังนี้ เมสเยอร์ แฮมิลตัน แล เกรแลกัมปนี สิงคโปร์

โปรดเขียนตอบเรื่องที่ข้าพเจ้าวานนี้โดยเร็วที่สุด ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เครื่องพิมพ์หิน ซึ่งได้ยินว่าราคาถูกกว่าที่ขายกันในเมืองอังกฤษ

ท่านอย่างเสียใจหรือโกรธข้าพเจ้าในเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว ถึงข้อความในเรื่องศาสนา ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้าไม่เต็มใจให้ท่านลำบากในการพยายามชักชวน ซึ่งคงไม่เป็นผลสำเร็จได้เลย ถ้าถ้อยคำที่ข้าพเจ้าเขียนนั้นทำให้ท่านขุ่นใจ ท่านจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า จงเห็นแก่ข้าพเจ้าในฐานที่เป็นเพียงชาวประเทศซึ่งต่ำต้อย แลจงยินดีในความเมตตาแลความนับถือของข้าพเจ้าที่มีต่อท่าน ผู้แสดงมิตรจิตมายังข้าพเจ้าก่อน โดยประการที่ส่งหมึกสำหรับตีพิมพ์มาให้

ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นมิตรของท่านผู้มีเกียรติจะเป็นเอเย่นต์ของท่านในประเทศนี้ ถ้ามีสิ่งใดอยู่ในความสามารถของข้าพเจ้า ซึ่งท่านต้องการ


(พระอภิธัย) ปรินซ์ ท.ญ. เจ้าฟ้ามงกุฎ
ผู้ทรงสมณศักดิ์เป็นอธิการแห่งอาราม ซึ่งมีนามว่า
วัดบวรนิเวศน์ ในกรุงเทพฯ อันเป็นนครหลวงปัจจุบัน
แห่งสยาม



ป.ล. โปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง แลให้อภัยที่เขียนผิดในหนังสือนี้ทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าเขียน
ด้วยความรีบร้อนที่สุด (พระอภิธัย) ท.ญ.ม.

.........................................................

1 “ชลสันดี” คำนี้ผู้แปลไม่เคยพบ แลพบใครที่พบ ครั้นจะเขียนว่า ชลสันธี ก็เกรงจะเป็นการเดาเกินไป
2 “HOLY” คำนี้ความเดิมแปลว่าหมด ซึ่งอาจแปลว่าสมบูรณ์ แต่ไกลกว่าอัตถะที่เข้าใจกันโดยมากในสมัยนี้ ในที่นี้จึงแปลว่า บริสุทธิ์ ซึ่งดูใกล้กับความหมาย
3 “ทางบก” เห็นจะทรงหมายความว่าส่งมาทางยุโรป





Create Date : 08 เมษายน 2551
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:51:32 น. 8 comments
Counter : 4429 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงศึกษาภาษาอังกฤษ และทรงรู้ลึกซึ้งยิ่งกว่าคนไทยนั้นสมัยนั้น ปรากฏพระเกียรติคุณแพร่หลายออกไปยังนานาประเทศ ด้วยพวกมิชชันนารีและฝรั่งที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯ บอกเล่าต่อๆ กันไป จนมีชาวประเทศอื่นๆ ทั้งที่ใกล้และห่างไกลจนยุโรป อเมริกา เขียนจดหมายมาถวาย ทูลถามความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศนี้เป็นอันมาก ก็มีพระราชหัตถเลขาตอบตามประสงค์ ลายพระหัตถเลขาครั้งนั้นยังปรากฏอยู่จนถึงทุกวันเป็นอันมาก มักจะทรงแต่งตามโวหารสำนวนไทยดังที่นั้นมาแสดงเป็นตัวอย่างนั้นแล้ว

ถึง ปีจอโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ พุทธศักราช ๒๓๙๓ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เซอรเจมสบรุ๊ค (Sir James Brooke) เป็นทูตเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาที่นายร้อยเอกเฮนรี เบอนีเข้ามาทำไว้เมื่อ ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ พุทธศักราช ๒๓๖๙ ต้นรัชกาล ลักษณะการพูดจากันในระหว่างไทยกับทูต ฝรั่งต่างชาติแต่เดิมนั้น เป็นความลำบากด้วยเรื่องภาษาด้วยยังไม่มีผู้ใดในประเทศนี้ที่รู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย มีแต่ล่ามที่รู้ภาษาอังกฤษและภาษามลายู ทูตที่เข้ามาต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษให้ล่ามแปลเป็นภาษามลายู แล้วให้ล่ามมลายูของไทยแปลเป็นภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง ครั้งเอตมัน รอเบิตทูตอเมริกันเข้ามาทำหนังสือสัญญาเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๗๕ ได้อาศัยพวกมิชชันนารีอเมริกันที่เข้ามาตั้งอยู่ในบ้านเมือง พอรู้ภาษาไทยแล้วเป็นล่าม คราวมิเตอร์โยเสฟบัลเลสเตีย ทูตรัฐบาลอเมริกันเข้ามาเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๙๓ เพื่อขอแก้สัญญาซึ่งเอตมัน รอเบิต ทำไว้นั้น ได้อาศัยขุนปรีชาชาญสมุทร ซึ่งมิชชันยารีอเมริกันฝึกหัดภาษาอังกฤษไว้เป็นล่าม ครั้นถึงคราวเซอรเจมสบรุ๊คเข้ามาขอแก้สัญญาคราวนี้ หนังสือที่มีไปมาหากันใช้ภาษาอังกฤษเป็นคราวแรก


Sir James Brooke, Rajah of Sarawak


เวลานั้นเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงก็ติดภาระหน้าที่ต่างกันไป ดังปรากฏในพระราชดำริในจดหมายเหตุเรื่องเซอรเจมสบรุ๊คเข้ามาทำสัญญา ตอนหนึ่งว่า “การครั้งนี้ก็เป็นการฝรั่ง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทราบอย่างธรรมเนียมฝรั่งมาก ควรจะเอาเปนที่ปฤกษาใหญ่ได้ ก็แต่ว่าติดประจำปืนอยู่ที่เมืองสมุทรปราการ จมื่นไวยวรนารถเล่า ก็เปนคนทันสัดในอย่างธรรมเนียมฝรั่ง ก็ลงไปรักษาเมืองสมุทรปราการอยู่ แต่ทว่าเห็นจะได้พูดจาปฤกษาหาฤๅกับเจ้าพญาพระคลังแล้ว ก็เห็นจะถูกต้องกันกับเจ้าพญาพระคลัง ยังแต่พญาอุไทยธรรมราช ก็เปนบุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราชอายุก็เป็นผู้ใหญ่อยู่บ้า ง สารพัดจะรู้การครั้งเจ้าพญานครศรีธรรมราชเจราจากับฝรั่งทุกสิ่งทุกประการ ก็ต้องลงไปอยู่เมืองสมุทรปราการ ให้พญาศรีพิพัฒน์แต่งคนดีมีสติปัญญาเข้าใจความ เชิญกระแสพระราชดำริห์ลงไปปฤกษา เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พญาอุไทยธรรมราชที่เมืองสมุทรปราการ พญาสูรเสนาที่เมืองเขื่อนขันธ์ด้วย แลกระแสพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยที่อยู่กรุงเทพฯ แลที่ลงไปรักษาราชการอยู่ ณ เมืองสมุทรปราการ เมืองนครเขื่อนขันธ์ก็ดี ให้ประชุมปฤกษาหาฤๅจงพร้อมมูลปรองดองกัน อย่าได้ถือทิฐิมานะเกี่ยงแย่งให้เสียราชการไป”

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรแล้ว ยังต้องทรงกังวลด้วยเรื่องราชทูตอังกฤษมาขอแก้สัญญาเป็นพระราชภาระอันใหญ่ยิ่ง อีกทั้งเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ซึ่งทรงวางพระราชหฤทัยและพอจะรับราชการสนองราชกิจเรื่องนี้ได้ ต้องติดภารกิจสำคัญน้อยใหญ่มิได้อยู่ประจำพระนครใกล้ชิดพระองค์ ให้เป็นเครื่องพออุ่นพระหฤทัยได้เลย จะทรงเหลียวทางใดย่อมทรงอ้างว้างวิตกในพระราชหฤทัยเป็นธรรมดา ครั้งนั้นได้อาศัยอาศัยมิชชันนารีอเมริกันชื่อมิสเตอร์ โจนส์ ที่เรียกกันในพื้นเมืองนี้ว่า Dr.ยอนส์คน ๑ กับฝรั่งครึ่งชาติชื่อ เจมสเฮส์ ซึ่งเรียกกันว่า เสมียนยิ้ม อีกคน ๑ ซึ่งทั้ง ๒ คนก็ไม่ชำนาญภาษาไทย เป็นผู้แปลและแต่งภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปถวายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ซึ่งเรียกในจดหมายเหตุเรื่องเซอรเจมสบรุ๊คเข้ามาทำสัญญาว่า “ทูลกระหม่อมพระ” ทรงตรวจทุกฉบับ การส่งภาษาตอบโต้ในการทูตครั้งนั้นจึงเป็นไปได้โดยสะดวก และอุ่นพระราชหฤทัยปลดเปลื้องพระราชภาระครั้งนี้ไปได้

แต่เซอร์เจมสบรุ๊คก็ไม่ได้เข้าเฝ้า และแก้สัญญาอย่างที่ตั้งใจไว้ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวร คราวเสด็จสวรรคต เซอร์เจมสบรุ๊กต้องกลับออกไปเปล่าเหมือนอย่างทูตอเมริกัน แต่ครั้งนี้ผิดกับครั้งก่อนๆ มา เหตุเพราะแต่เดิมประเทศจีนไม่ยอมทำสัญญาทางไมตรีกับต่างประเทศ จนเกิดรบกันขึ้นกับอังกฤษเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๘๕ และพ่ายแพ้ต่ออังกฤษจำต้องยอมทำสัญญา เป็นเหตุให้ฝรั่งได้ใจ เห็นว่าต้องใช้อำนาจทางเดียวจึงจขะบังคับให้พวกชาวประเทศตะวันออกแถบนี้ยินยอมทำสัญญาตามประสงค์ เซอร์เจมสบรุ๊กกลับออกไปเมื่อ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ศกนั้น

เมื่อเซอร์เจมสบรุ๊คกลับออกไปครั้งนี้ นำความคิดดังกล่าวนั้นไปเสนอต่อรัฐบาลอังกฤษ ขอให้ส่งเรือรบเข้ามาบังคับให้ไทยทำสัญญา เดิมรัฐบาลอังกฤษจะทำเช่นนั้น แต่เผอิญประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตพอดี เรือรบอังกฤษที่เข้ามาครั้งนั้นก็พอทันเวลาพระราชพิธีพระบรมศพเป็นการถวายความเคารพ แล้วกลับออกไป

จุลศักราช ๑๒๑๒ พุทธศักราช ๒๓๙๓ นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรไม่สบายพระองค์มาตั้งแต่เดือน ๑๐ บรรทมไม่หลับ ให้ทรงคลื่นเหียน เสวยพระกระยาหารไม่ถึงประมาณตามปกติได้ ไม่สบายพระองค์เสด็จออกได้บ้าง มิได้บ้าง มาหลายเดือน ครั้นรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือน ๒ ขึ้น ๗ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๙ มกราคม พระโรคมากขึ้น พระบังคนเบาก็ขุ่นข้นเป็นตะกอน พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายหน้าฝ่ายในมีความร้อนใจ พร้อมกันกันปรึกษาให้แพทย์ประกอบพระโอสถ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แล้วก็พากันนอนประจำซองอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนทุกแห่ง พระโรคไม่คลาย พระอาการประทังอยู่ กำลังพระกายทรุดไปทีละน้อย ๆ

ณ วันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจอโทศก จุลศักราชยังเป็น ๑๒๑๒ ตรงกับวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ (พุทธศักราช ๒๓๙๔ ตามปฏิทินในสมัยปัจจุบันนี้) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาขุนนางที่ทรงใช้สอยสนิทเข้าไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท คือ พระยาราชสุภาวดี พระยาศรีพิพัฒน์ (บุญศรี) ในที่บรรทมพระมหามณเฑียร แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมดำรัสว่า ทรงพระประชวรครั้งนี้พระอาการมาก เห็นจะเป็นพระโรคใหญ่เหลือกำลังแพทย์จะเยียวยา แล้วทรงพระราชดำริมีพระราดำรัสว่า กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ขอบขัณฑเสมาอาณาจักรกว้างขวาง พระเกียรติยศก็ปรากฏไปทั่วนานประเทศ ถ้าทรงพระมหากรุณาพระราชทานอิสริยยศมอบให้พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งพอพระทับ ให้ขึ้นเสวยราชสมบัติแทนพระองค์ต่อไป แต่ตามชอบอัธยาศัยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวนั้น เกลือกเสียสามัคคีรสร้าวฉาน ไม่ชอบใจไพร่ฟ้าประชาชนและคนมีบรรดาศักดิ์ผู้ทำราชกิจทุกพนักงาน ก็จะเกิดการอุปัทวภยันตรายเดือดร้อน แต่ทพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจะได้ความลำบากเพราะมิได้พร้อมใจกัน ด้วยกำลังทรงพระมหากรุณาธิคุณเมตตากับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเป็นอันมาก ทรงพระกรุณาดำรัสให้จดหมายกระแสพระราชโอการปฏิญาณยกพระนามพระรัตนตรัยสรณคมน์ อันอุดมเป็นประธานพยานอันยิ่งให้เห็นจริงในพระราชหฤทัยแล้ว ทรงพระราชดำรัสยอมอนุญาตให้เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษา พระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุนายก กับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงมีสามัคคีรสปรึกษาพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร เป็นศาสนูปถัมภก ยกพระบวรพุทธศาสนา และปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรรักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแท้แต่จะเห็นดี ประนีประนอมพร้อมใจกันยกพระบรมวงศ์องค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธฺปัตย์ถวัลราช สืบสันตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด อย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้าอย่าให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร

จดหมายกระแสพระราชโองการนี้ ได้พระราชทานให้นำออกมาส่งแก่เสนาบดี แต่ ณ วันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ

ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลาบ่าย ๕ โมง รับสั่งให้หาท่านพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็กเข้าไปเฝ้าในที่ มีพระราชโองการถามว่า พระยาพิพัฒน์ได้เอาจดหมายที่ทรงอนุญาตนั้นออกไปปรึกษาหารือเสนาบดีแล้วหรือ เข้าว่ากระไรบ้าง ท่านพระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลว่า ได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมทุกคนพากันเศร้าโศก และเห็นว่าโปรดดังนี้เป็นพระเดชพระคุณที่สุดแล้ว ปรึกษากันว่าพระโรคนั้นยังไม่ถึงตัดรอน แพทย์หมอยังพอฉลองพระเดชพระคุณได้อยู่ ซึ่งจะยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร จะช่วยกันฉลองพระเดชพระคุณว่าราชการแผ่นดินมิให้มีเหตุการณ์ภัยอันตรายขึ้นได้

จึ่งรับสั่งให้ท่านพระยาศรีพิพัฒน์ขยับเข้าไปให้ชิดพระองค์ ให้ลูบดูพระองค์ทั่งทั้งพระสรีรกาย แล้วดำรัสว่าร่างกายทรุดโทรมถึงเพียงนี้แล้ว หมอเขาว่ายังจะหายอยู่ ไม่เห็นด้วยเลย การแผ่นดินไปข้างหน้าไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่า ท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่ายๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่าก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อย ๒ พระองค์ ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่า ท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง ท่านฟ้าน้อยเล่า ก็มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่างๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการเข้าจะไม้ชอบใจ จึ่งโปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่เห็นพร้อมเพรียงกัน การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดีใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ให้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไปจะไม่มีผู้ช่วยทะนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้ราชการแผ่นดินมีอยู่ ๔ หมื่นชั่ง ขอสักหมื่นชั่งเถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขา ขอเงินรายนี้ให้ช่วยทะนุบำรุงวัดที่ทรุดโทรมและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย

ท่านพระยาศรีพิพัฒน์รับพระราชโองการแล้วก็ร้องไห้ ถอบออกมาจากที่เฝ้า และการซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริอนุญาตให้จัดแจงเจ้านายผู้จะดำรงทรงแผ่นดินในพระราชอาณาจักรแทนพระองค์ต่อไป โดยตามน้ำจำพระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีข้าทูลละอองธุลีพระบาท และจนถึงความนิยมชมชื่นแห่งอาณาประชาราษฎรทั้งปวง จะมีจิตจำนงปลงเห็นพร้อมกัน ไม่เอาแต่ตามพระราอัธยาศัย อนึ่งมิได้รอไว้ให้เนิ่นช้าจนเวลาพระอาการหนักลง ไม่ทรงดำริได้โดยปกตินั้น ก็เป็นการมหัศจรรย์ยิ่งนัก ยากที่พระมหากษัตริย์พระองค์อื่นจะทรงได้ เพราะพระบรมราชวิสัยเป็นอุดมบัณฑิตมหาสาธุสัปปุรุษผู้ประเสริฐ มีพระมหากรุณาแก่นิกรมหาชนหาที่สุดมิได้

เมื่อพระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่พระยาศรีสุริยวงศ์นั้น คงตระหนักพระราชหฤทัยแล้วว่าเสนาบดีคงปรึกษากันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเป็นแน่ ด้วยต่อมาอีกวันหนึ่ง โปรดฯ ให้เขียนพระราชปรารภให้กรมขุนเดชอดิศร นำความไปกราบทูลกรมหมื่นนุชิตชิโนรสซึ่งเป็นเจ้าคณะสงฆ์ เพราะทรงทราบว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเคารพนับถือทั้ง ๒ พระองค์นี้มาก พระราชปรารถในพระราชสาส์นั้นว่าทรงรำคาญพระราชหฤทัยอยู่ที่มีพระสงฆ์ไทยพากันไปเลื่อมใสห่มผ้าตามพระมอญ ดูเสียเกียรติยศของบ้านเมือง ถ้าหากสมเด็จพระบรมชนกนาถยังเสด็จอยู่ เห็นจะไม่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ท่านทั้ง ๒ ช่วยปลกเปลื้องความรำคาญพระราชหฤทัยครั้งนี้ด้วย

ตรงนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยว่า ตรมเรื่องตำนานการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งนิกายสงฆ์ธรรมยุติกา ชั้นเดิมเมื่อทรงผนวชแปลงเป็นรามัญนิกาย ทรงร่วมสังวาสแต่เฉพาะกับพระมอญในคณะของพระสุเมธมุนี มิได้ร่วมสังวาสกับพระมอญทั้งไป เป็นแต่ทรงครองแหวกอย่างพระมอญ ครั้นต่อมาเมื่อทรงตั้งระเบียบวัตรปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติกา ทรงถือพระวินัยตามพระไตรปิฎกเป็นหลัก วัตรปฏิบัติอย่างใดที่พระสงฆ์สยาม (มหา) นิกาย หรือพระสงฆ์รามัญนิกายประพฤติ ถ้าทรงสอบสวนเห็นว่าถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติก็คงไว้ ถ้าเห็นว่าผิดก็เลิกหรือทรงแก้ไขไปตามที่ทรงพระดำริว่าถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ ด้วยเหตุนั้นจึงเป็นนิกายธรรมยุติกา เพราะวัตรปฏิบัติผิดกับพระมหานิกายและพระรามัญ เป็นแต่ห่มผ้าเหมือนพระมอญ

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดระเบียบสงฆ์ธรรมยุติกาอย่างไร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ ไม่ได้ทรงรังเกียจ “ในทางธรรม” คือวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ธรรมยุติกา ข้อนี้พึ่งเห็นได้ด้วยทรงตั้งพระสงฆ์ธรรมยุติกาเป็นพระราชาคณะมาแต่ก่อนก็หลายรูป ในกระแสรับสั่งทรงอ้างข้อรังเกียจแต่ “ ในทางโลก” คือห่มผ้าเป็นพระมอญ แต่ข้อใหญ่ใจความที่ทรงพระราชวิตกนั้น เห็นจะเป็นด้วยทรงเกรงว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์ จะใช้พระราชานุภาพให้แปลงพระสงฆ์มหานิกายเป็นธรรมยุติทั้งบ้านทั้งเมือง จึงร้อนพระราชหฤทัย

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณได้ทรงทราบก็เข้าพระหฤทัยในพระราชวิตก จึงทรงเขียนคำสารภาพถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราชความว่า ที่ทรงจัดการต่างมา มีพระประสงค์แต่จะประพฤติพระธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ โดยทรงเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง เมื่อทราบว่าการบางอย่างเป็นที่ไม่ชอบพระราชอัธยาศัยก็จะไม่ฝ่าฝืน แล้วตรัสสั่งให้พระสงฆ์ธรรมยุติกากลับห่มคลุมอย่างมหานิกายตามเดิม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงพอพระราชหฤทัย มิได้แสดงความรังเกียจต่อไป และครั้งนั้นได้ให้สงฆ์เข้าไปอธิฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขอให้พระโรคสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหาย ให้ทรงพระชนมายุยืนยิ่งนาน

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรครั้งนี้นั้น พระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ปรึกษาพร้อมกันให้เกณฑ์บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเข้ามาประจำซองรักษาพระราชนิเวศน์ ตั้งกองป้องกันไว้ทั่วพระนคร อย่าให้มีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งในระหว่างอันนี้ได้ ด้วยพระเดชพระคุณพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่อำนาจเสนาบดีรักษาอยู่หามีเหตุการณ์สิ่งใดไม่ ไพร่บ้านพลเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุข

มีความปรากฏในพงศาวดารถึงเรื่องเหตุการณ์วุ่นวายเล็กๆ น้อยๆ ว่าเมื่อตอนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกประชวร แม้รู้กันอยู่ว่าจะไม่กลับคืนดีได้ ท่านทั้ง ๒ ก็ยังไม่ปรารภถึงกรณีที่จะเปลี่ยนรัชกาลเพราะเกรงพระราชอาญา ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังว่าราชการแผ่นดินอยู่ แต่การที่ท่านผู้ใหญ่ทั้ง ๒ คือเจ้าพระยาพระคลังและพระยาศรีพิพัฒน์นิ่งเฉยอยู่นั้น ต่อมาเป็นเหตุให้เกิดระแวงหวาดหวั่นกันไปต่างๆ ถึงกรมขุนพิพิธภูเบนทร์เรียกระดมพวกข้าในกรมเข้ามารักษาพระองค์ ด้วยเกรงจะถูกจับเหมือนหม่อมไกรสร เจ้าพระยาพระคลังทราบความจึงปรึกษากับพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่และเป็นผู้เฉียบแหลมในราชการยิ่งกว่าผู้อื่นในเวลานั้น พระยาศรีสุริยวงศ์รับจัดการแก้ไข ให้ไปเอาทหารบรรทุกเรือขึ้นมาจากปากน้ำ แล้วไปทูลกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ให้ปล่อยข้าในกรมไปเสียให้หมด กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็ต้องทำตาม

ครั้นถึงเดือน ๔ ข้างขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า พระโรคนั้นก็ทวีมากขึ้นทุกวัน ถ้าสวรรคตในพระราชมณเฑียร ท่านผู้ใดมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหม่ก็จะรังเกียจ จึ่งรับสั่งให้ท่านพระยาศรีพิพัฒน์คุมช่างกระทำพระแท่น และพระสูตรพระวิสูตร มาตั้งและกั้นในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานองค์ข้างตะวันตก แล้วเสด็จออกมาประทับอยู่ที่พระแท่นทำใหม่นั้น

ครั้นถึงวันพุธเดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ยังเป็นปีจอโทศกจุลศักราช ๑๒๑๒ ท่านเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม ให้จมื่นราชามาตย์พลขันธ์ไปเผ้าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จครองสิริราชสมบัติ จะโปรดรับหรือมิโปรดขอให้ทราบด้วย จึ่งมีรับสั่งว่า ท่านผู้หลักผู้ใหญ่พร้อมใจกันอัญเชิญแล้วก็ต้องรับ แต่ขอให้ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ด้วยอีกพระองค์ ๑ เจ้าพระยาพระคลังได้ทราบกระแสรับสั่งแล้วจึงข้ามฟากไปพระราชวังเดิมกราบทูลสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ให้ทรงทราบไว้ด้วย แล้วจึงสั่งขุนอักษรสมบัติเสมียนตรากรมท่า คุมทหารปืนปากน้ำนาย ๑ พระนนทบุรีคุมเลขทหารปืนปากน้ำนาย ๑ พระอินทรอาษาคุมลาวเมืองพนัสนิคมนาย ๑ รวม ๓ นาย ไปตั้งกองจุกช่องล้อมวงนั่งยามตามเพลิงรักษาอยู่รอบวัดบวรนิเวศ มิให้ผู้คนแปลกปลอมเข้าไปได้

ถึง ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ ตรงกับวันที่ ๒ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๙๔ เวลา ๘ นาฬิกา ๕ บาทเศษ เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เมื่อประสูติ วันจันทร์เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ศักราช ๑๑๕๙ ปีมะแมนพศก ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๓๐ ได้ราชสมบัติเมื่อพระชนม์ได้ ๓๗ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๒๗ พรรษา สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา คิดอายุโหราได้ ๖๓ ปีกับ ๑๑ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชบุตร ๒๒ พระราชบุตรี ๒๙ รวม ๕๑ พระองค์ สิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพียงเท่านี้



....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 8 เมษายน 2551 เวลา:9:49:47 น.  

 
 
 
ขอบคุณครับที่กรุณาค้นคว้าเรื่องเบื้องลึกในยุคเก่ามาให้ทราบกัน เพื่อให้คนไทยรู้ความเป็นไปของชาติไทย
 
 

โดย: อนุชาติ บุนนาค (anuchartbunnag ) วันที่: 6 มิถุนายน 2551 เวลา:16:52:28 น.  

 
 
 
*-* ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: mew junjira.mew@hotmail.com IP: 125.25.131.112 วันที่: 19 มิถุนายน 2551 เวลา:1:00:53 น.  

 
 
 
ตามมาอ่านค่ะพี่กัมม์
 
 

โดย: biebie999 IP: 124.121.50.127 วันที่: 25 สิงหาคม 2551 เวลา:18:32:21 น.  

 
 
 
ขอบคุณค่ะ
 
 

โดย: Put the Kettle On วันที่: 8 กันยายน 2551 เวลา:3:32:23 น.  

 
 
 
ขอบคุณคะ

คุณ อนุชาติ บุนนาค
mew junjira.mew@hotmail.com
น้องบี
Put the Kettle On
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 31 ตุลาคม 2551 เวลา:20:32:09 น.  

 
 
 
ขอบคุณครับ
 
 

โดย: kool83 IP: 124.121.187.35 วันที่: 10 กรกฎาคม 2554 เวลา:21:57:43 น.  

 
 
 
あなたの 知識 は本当に ユニーク|重要な|重要|アピール|役立つ|有用|エキサイティング|興味深いです。
全員+レビューのダブルプレゼント付 店内全品ポイント10倍 //www.irepairit.com
 
 

โดย: 全員+レビューのダブルプレゼント付 店内全品ポイント10倍 IP: 94.23.252.21 วันที่: 4 ธันวาคม 2558 เวลา:20:15:39 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com