กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๔ ประกาศพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย เจริญรุ่งเรืองจนถึงที่สุด จนกระทั่งศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศนี้และเจริญรุ่งเรืองขึ้น จะด้วยเหตุที่เกิดจากพุทธบริษัทเองหรือเหตุจากภายนอก หรือจะเป็นเพราะทั้งสองอย่างก็ตาม พระพุทธศาสนาก็มาเจริญรุ่งเรืองในประเทศลังกาต่อมา จนกระทั่งล้มสลายไปอีกจนถึงไม่มีพระสงฆ์ที่จะอุปสมบทแก่ราษฎรได้อีกต่อไป ในพงศาวดารกล่าวว่าได้มีสมณทูตเข้ามาในเมืองไทยเพื่อขอพระสงฆ์ออกไปอุปสมบทให้ ครั้งนั้นพระอุบาลีและคณะได้ออกไปทำการสืบอายุพระพุทธศาสนาในลังกา ทำการอุปสมบทราษฎรให้ เกิดเป็นวงศ์ที่เรียกว่า "อุบาลีวงศ์" ต่อมา และด้วยเหตุหลายอย่างก็ทำให้เกิดนิกายมอญขึ้นในลังกาด้วยอีกวงศ์หนึ่ง

ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกจากอินเดีย เลื่อนมาเป็นลังกา และพม่า (โดยมีทุ่งพระเจดีย์เป็นหลักฐาน) ตามลำดับ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ การศึกษาพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมากในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นใหม่ ปรับปรุงการศึกษาเล่าเรียนให้ได้ผลดียิ่งขึ้นดังได้กล่าวแล้วในตอนที่ ๓ อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ คือ การประกาศพระพุทธศาสนา จนถึงลังกาส่งสมณทูตเข้ามาขอให้ตั้งนิกายธรรมยุติในแผ่นดินลังกา และจากเหตุที่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับลังกานั้น เป็นผลให้มีการสืบค้นพระไตรปิฎกที่ยังขาดพร่องในเมืองไทย และพระไตรปิฎกในเมืองไทยนี้ก็ถึงบริบูรณ์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง



....................................................................................................................................................


ครั้นถึงปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๙๘ พุทธศักราช ๒๓๗๙ การที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรณาญทรงทำความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นกับวัดสมอราย และในพระพุทธศาสนาอย่างนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุให้พวกที่ยังถือมิจฉาทิฐิมีจิตริษยายิ่ง ถึงตั้งข้อสังเกตสงสัยว่า คนพอใจไปประชุมที่วัดสมอรายกันมากขึ้นโดยลำดับนั้น เพราะประสงค์จะยกย่องสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นในทางการเมือง ขืนปล่อยไว้ชะรอยจะเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินต่อไป ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราช ก็ไม่ทรงระแวงสงสัยในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นแต่อย่างใด แต่ทรงรำคาญพระราชหฤทัยที่เกิดกล่าวข่าวลือแพร่กระจายอออกไปอย่างนั้น



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่จึงตรัสปรึกษาพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) ถึงหนทางแก้ไขให้การว่ากล่าวนั้นระงับได้โดยเร็ว พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) กราบทูลความเห็นว่า ถ้าหากโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จมาประทับอยู่ใกล้ๆ เสีย ความสงสัยที่เลื่องลือนั้นจะระงับไปเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริเห็นชอบในอุบายของพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) ประกอบกับมีเหตุพอเหมาะแก่การจัดการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ครั้งนี้ ด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณซึ่งโปรดฯ ให้เป็นพระราชาคณะแล้ว แต่ยังไม่ได้ทรงครองวัดให้เหมาะกับฐานานุรูป และในเวลานั้นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวสน์ฯ ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพทรงสร้างใหม่ที่ในพระนครยังว่างอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณขึ้นเสมอเจ้าคณะรอง มีฐานานุกรม ๗ รูป ตั้งกระบวนแห่อย่างธรรมเนียมแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วเชิญเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ฯ ตั้งแต่นั้น เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเพระชันษาได้ ๓๒ ปี ทรงผนวชได้ ๑๒ พรรษา ทรงผนวชแปลได้ ๑๑ พรรษา ถึงเกณฑ์ที่จะทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ได้แล้ว



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อโปรดฯ ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ นั้น ทรงระวังที่จะมิให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอโทมนัสน้องพระหฤทัยอย่างมาก เป็นต้นว่า เมื่อแห่เสด็จตามประเพณีแห่พระราชาคณะไปครองวัดจากวัดสมอรายนั้น โปรดฯ ให้จัดกระบวนตามแบบกระบวนแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักกับท้องพระโรงให้เสด็จประทับ และทรงทำนุบำรุงด้วยประการอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณก็ทรงพอพระหฤทัยที่ได้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ ด้วยเมื่อประทับอยู่วัดสมอรายนั้น วัดนั้นมีพระราชาคณะและพระสงฆ์มหานิกายปกครองแต่เดิมมา ทรงจัดวางระเบียบธรรมยุติกาได้แต่เพียงวัตรปฏิบัติส่วนตัวพระภิกษุ แต่จะจัดต่อไปถึงระเบียบสงฆ์ เช่นทำสังฆกรรมยังขัดข้องอยู่ เพราะอยู่ปะปนกับพระสงฆ์ต่างสังวาสกัน และข้อที่สุดคือวัดสมอรายมีเสนาสนะไม่พอที่จะสามารถรับพระสงฆ์ธรรมยุติกาได้หมด ยังต้องแยกกันอาศัยอยู่ตามวัดต่างๆ

การที่เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ จึงแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ลงได้ วัดบวรนิเวศน์ฯสามารถรับพระสงฆ์ธรรมยุติกามาอยู่ในวัดเดียวกันได้ ทั้งพระบวชใหม่ก็ได้บวชเป็นธรรมยุติกาทั้งนั้น ในไม่ช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์ฯ ก็เป็นธรรมยุติทั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจึงทรงจัดวางระเบียบการคณะสงฆ์และการปกครองวัด ตลอดจนการสั่งสอนสัปบุรุษราษฎรทั่วไปตามคติธรรมยุติกาได้ตามพระประสงค์ แอละด้วยทรงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราชพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ จึงทรงแสดงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ธรรมยุติกาได้อย่างสะดวกเปิดเผย ตั้งแต่เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ฯ และทรงจัดวางระเบียบนิกายสำเร็จแล้ว ก็ทรงอุตสาหะคิดค้นวิธีศึกษาพระปริยัติธรรมต่อมา ทรงพระราชดำริวิธีแก้ไขวิธีเรียน ซึ่งแบบเดิมให้เรียนภาษามคธควบคู่กับพระธรรมวินัยตามคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักสูตรในการสอบไล่ปริยัติธรรมเป็นลำดับขึ้นไป ทรงดำริเห็นว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควรใช้ ทรงเปลี่ยนเป็นให้เรียนที่ละชั้นแบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นแรกเรียนแต่ไวยากรณ์ภาษามคธขึ้นไปจนจบคัมภีร์มงคลทีปนี กวดขันให้มีความรู้ในภาษามคธให้แตกฉานเป็นปัจจัยเสียก่อน ตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง แล้วจึงให้ศึกษาพระธรรมวินัยด้วยการอ่านคัมภีร์ต่างๆ ต่อไป

ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในวัดบวรนิเวศน์มีขึ้นเป็นลำดับ พระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ว่าทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกจะทรงฟื้นพระพุทธศาสนาเลื่องลือแพร่ออกไปจนถึงเมืองลังกา จนกระทั่งปีชวดโทศก จุลศักราช ๑๒๐๒ พุทธศักราช ๒๓๘๓ มีพระภิกษุลังกานามว่ากกุธะภิกษุ กับคฤหัสถ์ชาวลังกาอีกคน ๑ เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่าจะมาเที่ยวนมัสการพระมหาเจดียสถานในประเทศนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้มีรับสั่งไต่ถาม ก็ได้ทูลชี้แจงวัตรปฏิบัติแม่นยำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ทรงรับทำนุบำรุงไว้ที่วัดบวรนิเวศน์ฯ ต่อมามีพระลังกา ๓ รูป สามเณร ๑ รูปตามเข้ามาอีก รวมทั้งสิ้น ๕ รูปเที่ยวบูชามหาเจดียสถานอยู่ในประเทศไทยนี้ ๒ ปี

ถึงปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ พุทธศักราช ๒๓๘๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระกฐินวัดบวรนิเวศน์ฯ พวกพระลังกานี้ถวายพระพรลาจะกลับไปบ้านเมือง แลขอรับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ได้กลับไปโดยสะดวก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชจึงทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ว่าการพระศาสนาในลังกาจะเป็นเช่นไร ไม่ได้ไปสืบสวนให้ทราบช้านานหลายปีแล้ว และอีกประการหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฎกของไทยยังบกพร่องอยู่ ควรจะสอบสวนกับฉบับที่มีในลังกา ถ้าแต่งพระภิกษุสงฆ์เป็นสมณทูตไปลังกาสักความหนึ่ง เห็นจะดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเลือกพระภิกษุที่จะส่งไปเป็นสมณทูต และโปรดให้มีสมณลิขิตไปถึงสังฆนายกเมืองลังกา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเลือกได้พระภิกษุธรรมยุติกา ๕ รูป คือ

๑. พระพุทธญาณ
๒. พระอมโร (ภายหลังเป็นที่พระอมราภิรักขิต ชื่อเกิด)
๓. พระสุภูติ (ภายหลังเป็นที่พระสมุทมุนี ชื่อสังข์)
๔. พระคัมภีร์
๕. พระพุทธวีร

แล้วทรงโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงแต่งสมณลิขิตเป็นภาษามคธ เมื่อทรงแต่งเสร็จและทรงแปลถวาย ได้ให้พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กอ่านทูลเกล้าฯ ถวายหน้าพระที่นั่งจนสิ้นข้อความ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงรับสั่ง “ว่าดีแล้ว ให้เอาตามร่างนี้เถิด”

สมณลิขิตมีไปจากกรุงเทพฯ

ลิขิตพระเถระราชาคณะฐานานุกรม อันสถิตอยู่ ณ วัดบวรนิเวศพระอารามหลวง อันตั้งอยู่ในทิศอีสานแห่งพระราชวังสมเด็จพระบรมบพิตรธรรมิกราชาธิราช อันเสด็จถวัลยราชย์ ณ กรุงรัตนโกสินทรเทพมหานครบวรราชธานี แว่นแคว้นสยามรัฐชนบท ขอเจริญเมตตามายังประชุมชนชาวสิงหฬทวีป บรรดาที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นบัณฑิตมีปัญญาควรจะได้รู้ลิขิตนี้ มีพระเถรานุถระที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ ณ ที่นั้นเป็นประธานให้ทราบ

ด้วยเมื่อพระพุทธศาสนกาลล่วงแล้ว ๒๓๘๓ พระวัสสา กาละครั้นจิตรมาสสุกปักษ์ (ข้างขึ้นเดือน ๕) มีภิกษุองค์ ๑ ชื่อ กกุสนธะ กับคฤหัสถ์คน ๑ ชื่อกรามบุกวนบันดะ โดยสารเรือข้ามมาจากเมืองเกาะหมาก ขึ้นที่ท่าปเหลียน แขวงเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นกรุงเทพฯ แจ้งความกับพระยาพัทลุงว่า จะใคร่เข้ามาถวายนมัสการพระเจดียฐาน แลฟังข่าวคราวพระบวรพุทธศาสนาในสยามประเทศนี้ จะใคร่เข้ามาให้ถึงกรุงเทพฯ จึงพระยาพัทลุงส่งตัวภิกษุกับอุบาสกสิงหฬนั้นมายังเมืองสงขลา พระยาสงขลารับพาเข้ามายังกรุงเทพฯ กราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราชให้ทรงทราบ จึงทรงพระราชดำริว่า อันชาวสิงหฬทวีปนี้ ก็ได้ทรงสดับมาแต่ก่อนว่าเป็นนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกันกับชาวสยามประเทศนี้ แต่บัดนี้ก็ไม่ได้ไปมาถึงกันนานแล้ว จะดีร้ายประการใดหารู้แจ้งถนัดไม่ ภิกษุองค์นี้เล่า จะเป็นคนมีศีลอัธยาศัยบริสุทธิ์หรือๆจะมีความเศร้าหมองประการใด อยู่ในทวีปของตนมิได้จึงมา ก็ไม่รู้ชัด แต่ทว่าเมื่อมีปฏิญาณว่าเป็นภิกษุแล้ว ยังมิได้เห็นความผิดก็ควรอนุเคราะห์ด้วยอาคันตุทานโดยสมควร ตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน จึงมีพระราชดำรัสให้เจ้าพนักงานไต่ถามลัทธิข้อปฏิบัติ ภิกษุสิงหฬก็ให้การข้อพระวินัยสิกขาบทถูกต้องอยู่ แลคติปฏิบัติเล็กน้อยก็ร่วมกันกับเราทั้งปวงซึ่งอยู่ในวัดบวรนิเวศพระอารามหลวงโดยมาก จึงมีพระราชดำรัสให้ราชบุรุษนำมามอบไว้อยู่ในที่สภาคฐาน พระราชทานอาคันตุกภัตรตามธรรมเนียมที่เคยพระราชทานแต่ภิกษุอันมาแต่ต่างประเทศ

กกุสนธะภิกษุกับกรามบุกบันดะ วิงวอนแก่เราว่า ภิกษุชาวสิงหฬ ๓ รูป กับสามเณร ๑ คฤหัสถ์ ๒ คน มาด้วยกันแต่สิงหฬทวีป ยังตกค้างอยู่ ณ เมืองเกาะหมาก จะใคร่เข้ามา ณ กรุงเทพฯ ยังหาได้เรือซึ่งจะเข้ามาไม่ จะขอพึ่งพระบารมีให้พวกนั้นได้มาถึงพร้อมกัน เราจึงได้เอาความนั้นขึ้นมาถวายพระพรสมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชให้ทรงทราบ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เสนาบดีมีท้องตราออกไปให้ขุนนาง ณ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพังงา ๒ เมือง จัดแจงเรือให้รับภิกษุสามเณรคฤหัสถ์ชาวสิงหฬเหล่านั้นเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ในเดือนภัทรบท กาฬปักษ์ (ข้างแรมเดือน ๑๒) ในปีนั้น มีพระราชดำรัสให้พาเอามาอยู่ในอารามนี้พร้อมกัน แต่คฤหัสถ์สิงหฬคน ๑ชื่อ เลกำมะหะมะยะ ป่วยหนักมาแต่กลางทางแล้ว มาถึงกรุงเทพฯ อยู่ได้ประมาณ ๑๕ วันถึงแก่ความตาย แลเมื่อคนชาวสิงหฬอยู่ในพระอารามนี้ ก็ปฏิบัติสม่ำเสมอถ้วนถี่เรียบร้อยอยู่ ไม่เห็นโทษอันหนึ่งอันใด ถึงข้อวัตรปฏิบัติในธรรมวินัย ซึ่งยักเยื้องผิดกันอยู่บ้าง ครั้นเมื่อว่ากล่าวด้วยเหตุผลก็เห็นด้วย ก็อ่อนน้อมประพฤติตามอยู่บ้าง วิงวอนให้เราพาไปนมัสการพระเจดียฐานในกรุง มีพระปฏิมากรแก้วมรกตเป็นต้น นอกรุงมีพระปฐมเจดีย์และพระพุทธบาทเป็นต้น หลายตำบล ตามอัชฌาสัยมิได้ขัดขวาง แต่เที่ยวนมัสการที่ต่างๆ อยู่ถึง ๒ เดือนเศษ แล้วกลับมาอยู่ในพระอารามหลวงนี้ อำลาจะใคร่กลับไปแต่ปีหลังยังหาโอกาสที่จะส่งไปไม่ สิทธิธัตถะสามเณรนั้นวิงวอนแก่เราว่า จะใคร่คืนอุปสมบทเข้าเป็นภิกษุอีก เราเห็นว่าเป็นคนลาสิกขามาแต่ประเทศอื่น หารู้ว่าจะต้องออกจากความเป็นภิกษุด้วยเหตุไรไม่ จะสืบสาวดูให้แน่นอนสิ้นรังเกียจของพระสงฆ์ทั้งปวงก่อน จึงจะอุปสมบทได้ ครั้นมาวิสาขมาส (เดือน ๖) กกุสนธะกับสามเณรสิทธัตถะนั้นป่วยเป็นโรควสูริกาพาธ (คือออกฝีดาษ) เราได้ให้แพทย์มารักษา สิทธัตถะสามเณรออกเม็ดยอดหนามาก เป็นไข้ตัดแพทย์รักษามิได้ อยู่ได้ ๗ วันถึงแก่ความตาย แต่กกุสนธะภิกษุนั้น แพทย์พยาบาลหายเป็นปรกติ ในระหว่างนี้ภิกษุแลคฤหัสถ์ชาวสิงหฬซึ่งมานี้ ป่วยไข้คนละเล็กละน้อย เราก็ได้รักษาพยาบาล ก็คลายหายขึ้นได้เป็นปรกติ อนึ่ง เมื่อพระภิกษุชาวสิงหฬจะประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นของมีในประเทศนี้ เราก็ได้สงเคราะห์หาให้ตามสมควรโดยทางธรรม แลความซึ่งเราทั้งหลายได้ปฏิบัติในธรรมแลอามิสทั้งปวงประการใดๆ ก็เห็นอยู่กับตาแจ้งอยู่กับใจของภิกษุชาวสิงหฬซึ่งได้มาอยู่นั้นแล้ว

ครั้นมา ณ อัสสะยุชมาส กาฬปักษ์ (ข้างแรมเดือน ๑๑) ดิถี ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราชเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระกฐินทานในพระอารามนี้ พระสงฆ์สิงหฬได้ไปอยู่ในที่ประชุมพร้อมกันด้วย มีพระราชปฏิสันถารปราศรัยไต่ถามพระสงฆ์สิงหฬโดยสมควร พระสงฆ์สิงหฬทั้ง ๔ รูปถวายพระพรว่าจะขอพึ่งพระบารมีให้ได้กลับไปโดยสะดวก จึงทรงพระราชดำริว่า จะให้ภิกษุสิงหฬเหล่านี้โดยสารเรือแขกฝรั่งอังกฤษไป ก็จะไม่สบายเพราะเป็นคนถือทิฐิต่างกัน ถ้าได้ไปกับกำปั่นกรุงเทพฯ เห็นจะได้ความสุขสมควร อนึ่งเล่า ข่าวคราวพระพุทธศาสนาในเกาะลังกาก็นานแล้วหาได้ทรงสดับไม่ ถ้าหากว่าพระพุทธศาสนายังเป็นปรกติมีอยู่ พระสงฆ์ข้างโน้นจะมา พระสงฆ์ข้างนี้จะไป ให้เป็นสมณไมตรีรู้ข่าวดีร้ายถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะสมควรนักหนา จึงมีพระราชดำรัสโปรดว่า พระสงฆ์ชาวสิงหฬจะกลับไปก็ไปเถิด ให้ไปกับกำปั่นหลวงซึ่งจะไปจำหน่ายสินค้าเมืองบัมใบ อนึ่งพระสงฆ์ไทยองค์ใดที่มีจิตศรัทธา จะไปนมัสการเจดีย์แลสืบข่าวพระพุทธศาสนาบ้าง ก็ให้โดยสารเรือกำปั่นหลวงไปด้วยตามปรารถนาเถิด บัดนี้กำปั่นหลวงชื่อจินดารัตนคุลิกา (แปลว่าจินดาดวงแก้ว) จะไปจำหน่ายสินค้า ณ เมืองบัมใบ เราทั้งหลายจึงได้ไปคิดอ่านกับจมื่นไวยวรนาถอำมาตย์ พนักงานแต่งเรือกำปั่น ทำให้โอกาสแก่พระสงฆ์ซึ่งจะไปนั้นเสร็จแล้ว เราทั้งหลายได้พาพระสิงหฬเข้าถวายพระพรลาสมเด็จบรมธรรมมิกราชาธิราชในพระราชนิเวศน์ ได้ทรงถวายไทยธรรมไตรจีวรบริขาร แลปาไถยทานเสบียงอาหาร สมควรแก่คมิกภิกษุตามธรรมเนียม แลพระราชทานเสื้อผ้าเงินตรากับคฤหัสถ์สิงหฬที่เป็นศิษย์ตามมาด้วยตามราชประเพณีแล้ว ก็มีพระราชดำรัสโปรดให้ลงกำปั่นไป พวกภิกษุสิงหฬว่าแก่เราจะใคร่ได้สมณสาส์นออกไปเป็นสำคัญ เราทั้งหลายเห็นว่าเมื่อภิกษุสิงหฬเข้ามานั้นหาได้สมณสาส์นของพระสังฆนายกในลังกาเข้ามาไม่ เป็นแต่มาเองตามลำพัง ครั้นจะจัดแจงให้มีสมณสาส์นสมเด็จพระสังฆราชเป็นการใหญ่ออกไปยังไม่ควร เพราะมิได้รู้ว่าภิกษุซึ่งมานี้เป็นภิกษุชั่วหรือดีของชาวลังกาไม่ ภิกษุเหล่านี้อ้อนวอนขอแต่หนังสือสำคัญของเจ้าคณะมาเป็นพยาน เราจึงให้ลิขิตอันนี้มาโดยมิได้จำเพาะต่อผู้ใด

อนึ่ง ภิกษุชาวลังกาเมื่อมาอยู่ที่นี่ มาวิสาสะคุ้นเคยกับภิกษุในอารามนี้หลายรูป ได้ชักชวนภิกษุที่คุ้นเคยชอบอัชฌาสัย ว่าถ้ามิเชื่อข่าวคราวพระพุทธศาสนาในลังกาก็ให้ไปด้วยกัน ถ้าพระสงฆ์ไทยไปถึงประเทศนั้น ก็จะมีผู้นับถืออยู่ดอก ครั้งนี้ภิกษุ ๕ รูป คือ พระพุทธญาณภิกษุ ๑ พระอมรภิกษุ ๑ พระสุภูติภิกษุ ๑ พระคัมภีร์ภิกษุ ๑ พระพุทธวีรภิกษุ ๑ สมัครจะใคร่ออกไปนมัสการพระเจดียฐานในสิงหฬทวีป ด้วยภิกษุสิงหฬที่จะออกไปครั้งนี้ กับอุบาสก ๕ คนรับเป็นไวยาวัจกรปฏิบัติพระสงฆ์ออกไปด้วย เมื่อจะออกไปนั้น พระสงฆ์ในวัดบวรนิเวศบ้าง ทายกอุบาสกอุบาสิกาบ้าง ได้จัดแจงเครื่องสักการบูชาต่างๆ เป็นกัปปิยภัณฑ์บ้าง อกัปปิยภัณฑ์บ้าง มอบให้ในมือกัปปิยการก ๕ คนนำไปถวายนมัสการพระเจดียฐานในเกาะลังกา มีพระทันตธาตุเป็นต้น ก็เมื่อภิกษุแลคนกัปปิยการกไปถึง ท่านทั้งปวงชาวสิงหฬผู้ควรจะอนุเคราะห์แล้ว ขอท่านทั้งหลายช่วยอนุเคราะห์ทำนุบำรุงให้ภิกษุเหล่านี้ได้ถวายนมัสการพระทันตธาตุ เจดียฐานตามปรารถนา ถ้าที่ใดอยู่ไกลภิกษุเหล่านี้จะไมมิได้ จะฝากของไว้ให้เอาไปบูชา ก็ช่วยอนุเคราะห์รับเอาไว้นำไปให้ถึงด้วย

อนึ่ง ในกรุงเทพฯ นี้ สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช แลพระราชวงศานุวงศ์กับทั้งอำมาตย์มนตรีเศรษฐีคหบดีที่มีทรัพย์สมบัติแลมีศรัทธาปัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า พระปริยัติธรรมเป็นมูลรากแก้วอย่างยิ่งแห่งพระพุทธศาสนา จึงได้มีอุตสาหะบริจาคทรัพย์สร้างพระคัมภีร์บาลีอรรถกถาฎีกาแลศรัทธาวิเศษไว้เป็นอันมาก แลการที่จะชำระหนังสือนั้น เป็นธุระของเราพวกภิกษุพหุสูตได้ช่วยชำระดูแลเป็นอุปการอยู่ เมื่อสร้างจนสิ้นฉบับในแว่นแคว้นสยามประเทศแล้ว เราทั้งหลายก็ได้ส่งภิกษุแลคฤหัสถ์ซึ่งไปชนบทจาริกในประเทศอื่น ให้ช่วยหาฉบับคัมภีร์ที่ไม่มีในประเทศนี้ ยืมมาทำฉบับจำลองไว้แล้ว ต้นฉบับก็ส่งคืนไปยังประเทศเดิม จนครั้งนี้ภิกษุสิงหฬเข่าไป ณ กรุงเทพฯ ได้เห็นคัมภีร์โยชนาฎีกาสังคหะ ฎีกาอภิธาน มงคลทีปนี ฎีกาคัณฐาภรณ บอกแก่เราว่าในสิงหฬทวีปหามีไม่ จะใคร่ได้ฉบับไป เราก็ได้สร้างคัมภีร์ทั้งปวงนั้นมอบให้ไปเป็นฉบับกลาง ตามแต่จะลอกคัดต่อไปทั่วทั้งทวีปอย่าให้ใครหวงห้าม แต่ในกรุงเทพฯ นั้น คัมภีร์ที่ขาดอยู่ส่วนหนึ่งสองส่วน ไม่บริบูรณ์ก็หลายคัมภีร์ ที่มีแต่ชื่อจดไว้แต่โบราณ ไม่มีตัวเลยนั้นก็มี ชื่อคัมภีร์เหล่านั้นได้จดหมายให้พระสงฆ์สิงหฬแลพระสงฆ์ไทยที่ออกมานี้รู้อยู่ทุกรูปแล้ว คัมภีร์ใดที่แต่งไว้เป็นมคธภาษาประหลาดกว่าฉบับที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ เราทั้งหลายก็ต้องการจะใคร่ยืมมาลอกทั้งสิ้น เมื่อภิกษุไทยเหล่านี้ออกไปถึงเที่ยวสืบหา ขอท่านทั้งปวงจงได้เห็นแก่พระพุทธศาสนาด้วยช่วยอนุเคราะห์แนะนำหาให้ ว่าคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้มีอยู่ที่นั่นที่นี่ อย่าหวงแหนกำบังด้วยความรังเกียจเลย เมื่อมาคัดลอกแล้ว ๑ ปี ๒ ปี จะฝากฉบับคืนไปคงตามเดิม ถ้าท่านทั้งหลายจะมิเชื่อ ก็ให้ภิกษุสิงหฬที่มีอุตสาหะกำกับฉบับเข้ามาด้วยเถิด ภิกษุชาวสิงหฬองค์ใดๆ จะใคร่สมัครเข้ามานมัสการเจดียฐาน แลชนบทจาริกเพื่อผาสุกวิหารประการใดในสยามประเทศนี้ ก็อย่าให้มีความรังเกียจใจเลย ให้เข้ามาตามสบายในเรือกำปั่นหลวงซึ่งมานี้เถิด ไม่ต้องเสียค่าเช่าระวาง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แล้วก็จะได้การสงเคราะห์ด้วยธรรมแลอามิส สมควรแก่อาคันตุกะเหมือนอย่างภิกษุซึ่งมาก่อน เมื่อจะกลับไปก็คงจะไปได้โดยสะดวกอย่างนี้ แลข้อความทั้งนี้ก็ได้มีหนังสือเจ้าพนักงานมาถึงอังกฤษเจ้าเมืองที่ ๑ ที่ ๒ ให้ทราบด้วยแล้ว

เราทั้งหลายพระเถรานุเถระ แลพระภิกษุสงฆ์ในวัดบวรนิเวศแลอารามซึ่งเป็นวัดขึ้นทั้งปวง ได้ประพฤติพระพุทธศาสนาตามพระธรรมวินัย เล่าเรียนคันถธุระ วิปัสสนาธุระ บำเพ็ญอยู่ต่างๆ อย่างเช่นภิกษุสิงหฬซึ่งเข้ามาได้จดหมายออกไปนั้น ได้บุญกุศลประการใดๆ ตามสติกำลัง ขอแผ่ส่วนกุศลไปถึงพระเถรานุเถระ อุบาสกอุบาสิกาหมู่คฤหัสถ์ แลมนุษย์เทพยดาในสิงหฬทวีป ให้อนุโมทนาจงเจริญสุขสวัสดิ์ สำเร็จความปรารถนาอันปราศจากโทษในชั่วนี้ชั่วหน้าจงทุกประการเถิด ความที่ได้เกิดประสบพบพระพุทธศาสนาอันนี้เป็นบุญลาภอันยิ่งหาสิ่งเสมอมิได้ ขอท่านทั้งปวงจงประกอบไปด้วยความไม่ประมาทในกุศลธรรมทุกเมื่อเถิด ลิขิตมา ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ (พุทธศักราช ๒๓๘๕)


สมณทูตออกไปครั้งนี้ได้กลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะเบญจศก จ.ศ. ๑๒๐๕ พุทธศักราช ๒๓๘๖ สมณทูตที่กลับมาคราวนี้ยังมีสมณสันเทศกลับมาด้วยหลายฉบับ ต้นหนังสือเป็นภาษามคธ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ทรงแปลเป็นภาษาไทยพร้อมด้วยพระอมรโมฬี (คือสมเด็จพระสังฆราช (สา)) และพระศรีวิสุทธิวงศ์ (คือพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์)) ขอแสดงตัวอย่างฉบับที่สำคัญๆ ต่อพงศาวดารเพียง ๒ ฉบับ ดังนี้


สมณสันเทศ ของสังฆนายก วัดบุบผารามแลอุโบสถาราม เมืองสิงขัณฑนคร

พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย คือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งปวงนี้ พระองค์เป็นนายกผู้หนึ่งผู้เดียวแห่งสัตว์โลกทั้งปวง พระองค์เสด็จทรงนั่ง ณ บัลลังก์ภายใต้ไม้พระมหาโพธิ แล้วได้ถึงพระโพธิญาณอันอุดม พระองค์ทรงพิจารณาแล้วรู้ว่า นานไปข้างหน้า ศาสนาของพระองค์จะมาตั้งอยู่ในลังกาทวีปนี้ นานประมาณ ๕๐๐๐ ปี พระองค์ทรงทราบดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จมายังเกาะลังกานี้ในเดือนที่ ๙ แต่กาลเมื่อพระองค์ได้ตรัสมา ได้เสด็จทรงนั่ง ณ ที่ตั้งมหิยังคณเจดีย์ ทรงทรมานยักษ์แลเสนายักษ์ให้พ่ายแพ้หนีไปเสียแล้ว จึงทำประเทศอันนี้ให้ควรเป็นที่ตั้งแห่งพระศาสนาของพระองค์ ครั้นภายหลังพระองค์ทรงพระมหากรุณาเสด็จมายังสิงหฬทวีปนี้อีก เสด็จทรงนั่งเข้าสมาบัติในที่กัลยาณีเจดีย์ แลทีฆวาปีเจดีย์ แลมุติงคณเจดีย์แล้ว ๆได้เหยียบพระบาทไปเหนือยอดเขาสุมนกูฏ แลได้เสด็จประทับบรรทมกลางวันในถ้ำทิวาคูหา แล้วได้เสด็จมานั่ง ณ ที่เจดีย์ในดิสสมหาวิหาร แล้วมายังที่เมืองอนุราธเสด็จทรงนั่งในที่พระมหาโพธิ์แลที่มริจิวัฏฏิยเจดีย์ แลที่เหมมาฬิกเจดีย์แลที่ถูปารามเจดีย์แลที่เชตะวันเจดีย์แลที่เสลเจดีย์แลที่ขีรสถูป แล้วเสด็จไปนั่งที่เจดีย์นาคทวีป สิริเป็นที่ประเทศพระองค์ได้ทรงบริโภคประทับนั่ง ๑๖ แห่งด้วยกัน ยังเป็นเจดียฐานปรากฏอยู่จนเท่าทุกวันนี้ พระองค์เสด็จนั่งสักครู่หนึ่งในที่แห่งหนึ่ง ทรงเข้าสมาบัติต่างๆ แล้วก็เสด็จกลับไปชมพูทวีป พระองค์ทรงทรมานอยู่กระทำพุทธกิจทั้งปวงให้สำเร็จแล้ว พระองค์ทรงบรรทมเหนือพระแท่นที่นิพพานในระหว่างไม้รังทั้งคู่อันอยู่ในป่ารังใกล้เมืองกุสินาราย เป็นของกษัตริย์มลราชทั้งหลาย เวลานั้นพระองค์ได้ตรัสเรียกท้าวสุชัมบดีเทวราชตรัสฝากพระศาสนาของพระองค์ กับทั้งเกาะลังกาอันนี้ด้วย ว่าท่านจงรักษาไว้ให้ดีทุกเมื่อเถิด ท้าวเทวราชได้รับคำของพระองค์นั้นแล้ว จึงได้มอบกิจอันนี้ให้แก่เทวบุตรผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่ออุปะละวัณณะเทวบุตร ช่วยระบธุระรักษาสืบไปด้วยอานุภาพของตนนั้น พระราชบุตรเป็นเชื้อกษัตริย์ชื่อวิชัยจึงมาถึงเกาะลังกานี้ ได้ฆ่ายักษ์เสียเป็นอันมาก ได้เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต้นในเกาะลังกาอันนี้ ได้ทำการสงเคราะห์แก่คน สร้างเมืองขึ้นในเกาะลังกาอันนี้แล้วเสวยราชสมบัติ เมืองนั้นชื่อเมืองอนุราธ สร้างขึ้นก่อนเมืองทั้งปวงในเกาะลังกา สนุกนักหนาดังเมืองอาฬกมัณฑาในชั้นจตุมหาราช

ครั้นสืบๆ มากษัตริย์องค์หนึ่งเป็นบุจนพระเจ้ามุตตะสิวะ ชื่อว่าเทวานัมปิยดิส เมื่อบิดาล่วงแล้วได้อภิเษกในลังกา กษัตริย์องค์นี้เธอมีบุญมาก ในกาลพระเจ้าเทวนัมปิยดิสนั้น สาวกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งชื่อมหามหินทเถระ ท่านออกจากชมพูทวีปมายังเกาะลังกานี้ ได้มาส่องสว่างแก่ฝูงคนๆ ได้เห็นคุณพระพุทธศาสนา ครั้นสืบมาในกาลกษัตริย์องค์นั้น กิ่งไม้มหาโพธิ์เป็นที่ได้ตรัสแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กษัตริย์อโศกมหาราชได้ตัดส่งมาประดิษฐานไว้ในเกาะลังกาทวีปนี้ ครั้นกาลสืบมานานโดยลำดับกษัตริย์ต่อมาหลายชั่ว กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อกิตติศิริเมฆได้เสวยราชสมบัติในเกาะลังกา ครั้งนั้นพระทันตธาตุมาแต่เมืองกลิงคราฐ มาประดิษฐานไว้ในเกาะลังกานี้ด้วย อันหนึ่งเล่าพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อวสภเถระ เป็นศิษย์พระสารีบุตร ได้เชิญเอาพระศิวาธาตุมายังเกาะลังกานี้ เอาบรรจุในพระสถูปแก้วอินทนิลที่เทวดาทำถวายในที่มหิยังคณะเจดีย์ แล้วกลบเสียด้วยศิลาแลปูน เพื่อจะมิให้เป็นอันตรายทำให้เป็นสถูปสูงขึ้น ภายหลังมากษัตริย์องค์หนึ่งชื่อกากวัณณดิส ได้พระนลาตธาตุมาก่อพระเจดีย์ไว้ที่ริมสระชื่อเสรุ กษัตริย์อีกองค์หนึ่งชื่อทุฏฐคามินีอภัย ได้พระธาตุมาประมาณโทณะหนึ่ง จึงได้สร้างเหมมาฬิกเจดีย์ อนึ่ง พระรากขวัญเบื้องขาวกับพระธาตุอื่นๆ เป็นอันมาก กษัตริย์เทวนัมปิยดิสได้เชิญมาบรรจุสร้างมหาเจดีย์ชื่อถูปารามดังนี้ แลที่พระเจดียฐานในเกาะลังกานี้ มีขึ้นหลายตำบลเป็นที่อันประเสริฐใหญ่ๆ กษัตริย์ในลังกาแต่ก่อนๆ นับถือรักใคร่ทำนุบำรุงพระสัมมาสัมพุทธศาสนานี้ด้วยดีนักหนา อุตส่าห์รักษาดังหนึ่งพระชนมชีพของพระองค์

ครั้นกาลสืบมาภายหลัง กษัตริย์ในเกาะลังกานี้เองที่ประมาท ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม ปฏิบัติมิดีทำให้พระพุทธศาสนาทรุดโทรมเสื่อเสียไปจนถึงเชื้อสายพระสงฆ์สิ้นเสีย จะอุปสมบทกันต่อๆ ไปมิได้ มาถึงกษัตริย์ทรงพระนามชื่อว่ากิตติศิริราชสีหะได้เสวยราชสมบัติ ชาวเมืองทั้งปวงให้พระองค์ทรงราชอุตสาหะ ให้ทูตไปรับเอาพระภิกษุสงฆ์มาจากสยามประเทศ เป็นอาณาเขตพระเจ้าสาเมนทราธิบดี ครั้งนั้นพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก มีพระอุบาลีเถระเป็นประธาน มาจากสยามประเทศถึงเกาะลังกาอันนี้แล้ว จึงให้อุปสมบทแก่กุลบุตร มีพระสังฆราชองค์เดิมเป็นต้น พระอุบาลีมหาเถระเจ้าองค์นั้น ท่านได้ให้พวกเราชาวลังกาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ให้ได้ทำศาสนกิจทั้งปวง พร้อมมูลทุกอย่างตามคติของท่าน เบื้องหน้าแต่นั้นมาจนเท่าทุกวันนี้ เราทั้งหลาย พระเถรานุเถระ เป็นศิษย์ของท่านนั้นได้บำเพ็ญข้อปฏิบัติสืบๆ มา ตั้งอยู่ในเกาะสิงหฬสมัครสโมสรพร้อมเพรียงกันดีอยู่

เดี๋ยวนี้เราทั้งหลายได้พึ่งความเมตตากรุณาแห่งท่านพระยาอังกฤษผู้เป็นอิสระในลังกาทวีปนี้ ท่านช่วยทำนุบำรุงเกื้อหนุนมิได้ลำบากด้วยจตุปัจจัย ได้อยู่ตามสุขสบายยิ่งนัก อันท่านผู้รักษาแผ่นดินคนนี้ท่านเกิดในเกาะอิงเกลนดา เจ้านายของท่านให้มาเป็นใหญ่อยู่ในที่นี้ ท่านเป็นคนดีนัก ย่อมปฏิบัติให้เจริญแก่โลกแลพระศาสนาทุกเมื่อ อนึ่ง ขุนนางคนใช้ทั้งปวงนั้น ก็เฉลียวฉลาดในราชกำหนดกฎหมาย ขนบธรรมเนียมมั่นคงนักหนา ย่อมปฏิบัติบำรุงพระศาสนาแลโลกด้วยดีโดยยุติธรรมทีเดียว บัดนี้คนชาวลังกาทั้งปวงที่ได้เคยนับถือพระพุทธศาสนามานั้น ก็ได้มีความศรัทธาเลื่อมใสปฏิบัติยินดีในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญบุญต่างๆ อยู่ทุกเมื่อดอก ในลังกาทวีปเดี๋ยวนี้พระพุทธศาสนายังคงเป็นไปดีโดยปกติทุกแห่งทุกตำบล ไม่เสื่อมเศร้าหมอง ฝูงชนในสยามประเทศทั้งปวงจงรู้ดังเราบอกไปนี้เถิด ถ้าเชื่อแล้วจงวางใจอย่างคลางแคลงเลย

แต่ปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ามา ๒๓๘๕ ปี ถึงฤดูร้อนเดือนผคุณมาส วันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ เวลาประมาณสัก ๑๘ ชั่วโมง คือเวลาย่ำค่ำแล้ว พระสงฆ์สยาม ๕ องค์ พระพุทธญาณองค์ ๑ พระอมรองค์ ๑ พระสุภูติอันเป็นบ่อเกิดแห่งคุณองค์ ๑ พระคัมภีระองค์ ๑ พระพุทธวีระองค์ ๑ มาแต่สยามประเทศกับคฤหัสถ์ไวยาวัจกร ๕ คน มาถึงเมืองนี้อันเป็นเมืองศิริวัฒนะ คือสิงขัณฑเสละอันนี้ ประดับปราสาทอันแวดล้อมด้วยกำแพงอันหนาแลป้อมแลเชิงเทินแลศาลาเป็นที่มาชื่นชมยินดี มีถ้องแถวตึกกว้านร้านเรือนประดับด้วยวิหารใหญ่ทั้งสอง อันงามด้วยเครื่องประดับอาราม คือเรือนปฏิมาเจดีย์แลกุฎีพระสงฆ์ สนุกสนานดังชั้นจาตุมหาราชิกา มีหมู่ผู้คนไปมามั่งคั่งเกลื่อนกล่นด้วยสมบัติมีประการต่างๆ คนปฏิบัติพระพุทธศาสนานับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นของตัว มีศรัทธาเลื่อมใสอยู่ในเมืองนั้นมากมายหนักหนา

ครั้นได้รู้ว่าภิกษุชาวสยามมาถึงที่ใกล้แห่งเมืองอันนี้แล้ว ก็ชวนกันชื่นชมยินดีรีบเร็วพลัน ปูลาดถนนหนทางเดินด้วยผืนผ้า แล้วป่าวร้องคนประโคมให้ตีเครื่องพิณพาทย์พร้อมกัน ทั้งภิกษุแลทายกชาวเมืองเป็นอันมากออกมาต้อนรับภิกษุ ๕ องค์ แวดล้อมด้วยหมู่มหาชนแห่แห่นนำเข้าไปในเมืองโดยท้องถนนทางใหญ่ ได้ให้ไปอยู่บุบผารามวิหารที่เป็นของพระเจ้ากิตติศิริราชสีหะทรงสร้างไว้ ได้เป็นที่อยู่แห่งพระอุบาลีมหาเถระมาแต่ก่อน ในบุบผารามวิหารนั้น พระมหาเถระชื่อสุมังคละเป็นพระมหาสังฆนายกทรงพระคุณดังต้นกัลปพฤกษ์ให้สำเร็จสมบัติทั้งปวงแก่ชาวสิงหฬ พระมหาเถระอีกองค์หนึ่งชื่อศิรินิวาส มีจิตอันสงบสงัดอยู่วัดโปราณุโปสถาราม เป็นพระอนุสังฆนายก ยังพระมหาเถระอีกองค์หนึ่งชื่อวิปัสสี ย่อมยินดีในประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง อยู่วัดบุบผาราม เป็นพระอนุนายกรองลงมา ภิกษุสยามประเทศ ๕ องค์นั้น ได้พบปะพระมหาสังฆนายกสุมังคละมหาเถระองค์นั้นแล้ว ท่านจัดแจงให้อยู่ที่นั้นสบายดี ครั้นแล้วพระสงฆ?ทั้งปวง คือมหานายกที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในวัดบุบผารามแลอุโบสถาราม แลในไหยคีรีวิหาร ทั้ง ๓ แห่ง ก็ได้พบปะพูดจากันด้วยภิกษุสยาม ๕ องค์นี้ คฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี ได้ปฏิบัติภิกษุ ๕ องค์นี้ตามกำลัง พวกเราพระเถรานุเถระภิกษุหนุ่มแก่ปานกลางทั้งปวง ครั้งนี้ได้เห็นภิกษุสยามมีข้อปฏิบัติงามเป็นที่เลื่อมใส ก็มีความชื่นชมยินดียิ่งนักทุกองค์ด้วยกัน

อนึ่ง เราทั้งปวงได้รับหนังสือข่าวสาส์นที่ท่านให้นำไปแต่สยามประเทศนั้น มาชุมนุมกันอ่านฟังแล้ว ก็ได้ชื่นชมยินดีรับคำสั่งของท่านทุกประการ อนึ่ง ส่วนบุญที่ท่านพระเถรานุเถระในสยามประเทศอุทิศให้ไปในหนังสือนั้น พวกเราทั้งปวงได้ฟังก็มีใจเต็มไปด้วยปีติปราโมทย์อนุโมทนาแล้ว เราพระเถรานุเถระทั้งปวงปรึกษาพร้อมกัน นำเอาความทั้งปวงเข้าไปแจ้งแก่ท่านพระยาอังกฤษผู้รักษาแผ่นดินให้ทราบทุกประการแล้ว ท่านก็ให้รับรองให้สงเคราะห์แก่พระสงฆ์สยาม ๕ รูปนั้นตามน้ำใจไม่ขัดขวาง ในเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนะนี้ อลงกตงามดีดังมณเฑียรทิพแห่งเทพยดา มีที่สำคัญอันหนึ่งคือพระทันตธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประดิษฐานไว้ในห้องสุวรรณปทุม อันตั้งอยู่ในผอบประดับแก้ว ๗ ชั้น ตั้งอยู่บนพุทธอาสน์อันประเสริฐกุก่องด้วยแก้วต่างๆ อันนายช่างนิรมิตด้วยดี ด้วยสุวรรณมณีมุกดามีราคาจะนับมิได้ อยู่ในภายในห้องอันประเสริฐแห่งปราสาท ๒ ยอด อันพระทันตธาตุองค์นี้เดี๋ยวนี้ชาวสิงหฬนับถือนัก ดังอง๕พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันทรงพระชนม์อยู่กับเราเป็นนิตย์เหมือนกัน เราทั้งปวงกับท่านพระยาอังกฤษเจ้าแผ่นดินพร้อมใจกัน ยอมให้ภิกษุสยาม ๕ องค์กับทั้งคฤหัสถ์ไวยาวัจกร ๕ คน ได้เห็นได้ชมถนัดแลให้นมัสการตามสบาย อนึ่ง เครื่องบูชาทั้งปวงคือ ดอกไม้ทอง ดอกไม้เงิน และประทีปธูปเทียนสิ่งของต่างๆ ที่ส่งออกมาแต่สยามประเทศ เพื่อจะให้บูชาพระทันตธาตุนั้น ก็แต่ล้วนงามดีมีราคาจะนับมิได้ เมื่อยังมิได้บูชาตราบใด ท่านพระยาอังกฤษผู้รักษาแผ่นดิน ให้ช่วยกันรักษาไว้ให้ดีมิให้มีอันตราย ครั้นถึงวันเปิดพระทันตธาตุออก ก็ให้นำเอาของทั้งปวงนั้นไปให้แก่ภิกษุสยามให้บูชา ณ เรือนพระทันตธาตุเสร็จแล้ว ในวันอื่นๆ ภิกษุแลคฤหัสถ์ที่มาแต่สยามประเทศเหล่านั้น ก็ได้ไปนมัสการบูชาหลายเวลา

ภิกษุชาวสยามประเทศไปอยู่ในเมืองสิงขัณฑะนี้ไม่ช้า อยู่ได้ ๑๕ วันเท่านั้น จะใคร่กลับ พวกเราอ้อนวอนให้อยู่ช้าๆ ก็หายอมอยู่ไม่ พวกเราพระเถรานุเถระทั้งปวงได้เอาเนื้อความนั้นไปแจ้งแก่ท่านพระยาอังกฤษเจ้าเมืองให้ทราบ ท่านพระยาอังกฤษก็ยอมตามใจพระภิกษุสยามให้มาตามปรารถนา พวกเราทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตที่มีศรัทธา ก็ได้จัดแจงไทยธรรมบูชาปฏิบัติตามกำลัง แล้วจัดแจงเครื่องธรรมบรรณาการ คือ ผอบพระบรมธาตุ แลพระพุทธรูปถวายเข้ามาในพระเจ้าสาเมนทราธิบดี แลพระมหาเถระผู้ใหญ่ ๒ พระองค์ตามกำหนดในของที่ส่งเข้ามาแล้วนั้น แลเมื่อจัดแจงของทั้งนี้ก็ได้แจ้งแก่ท่านพระยาอังกฤษให้ทราบด้วยแล้ว จึงมอบให้ในมือภิกษุสยามนำเข้ามา แลเครื่องธรรมบรรณาการเหล่านี้เป็นแต่พระสังฆนายกพระอนุนายก ๓ อง๕ข้างบุบผารามฝ่ายเดียวได้ส่งมา แล้วพวกเราได้จัดแจงกันส่งเสียลงมาตามหนทางทุกตำบล ให้ปฏิบัติถวายอาหารทานแลที่พักแรมในที่นั้นๆ ตามมีตามได้ตลอดถึงท่า

ข้อหนึ่งซึ่งมีมาในลิขิตของพระเถรานุเถระเจ้าทั้งหลาย ว่าจะต้องประสงค์หนังสือคัมภีร์ฉบับแปลกประหลาดกว่าที่มีในสยามประเทศนั้น พวกเราทั้งปวงได้ทราบสิ้นแล้ว แต่ว่าครั้งนี้ภิกษุสยามด่วนไปเร็วนัก การเป็นโอกาสที่จะได้ไปเที่ยวหาหนังสือนั้นไม่มี เพราะว่าบัดนี้หนังสือพระคัมภีร์เป็นอันมาก หาได้อยู่ในเมืองสิงขัณฑะไม่ ท่านผู้อื่นท่านเอารักษาไว้ในชนบทบ้านนอกต่างๆ หลายแห่งหลายตำบลแยกย้ายกันอยู่ จะต้องไปประมวลเอามาให้พร้อมมูลแล้ว จึงจะดูชื่อตามบัญชีที่จดหมายไปแต่สยามประเทศนั้นสอบสวนดู ถ้าเห็นคัมภีร์แปลกประหลาดจึงจะค่อยจัดแจงส่งเข้ามาให้ได้ต่อครั้งหลัง แลการจะจัดแจงอย่างนี้ก็เป็นธรรมอยู่ดอก พวกเราทั้งปวงปรารถนาอยู่จะรับเอาเป็นธุระอย่างวิตกเลย

ครั้งนี้โคผู้ผู้สำรวม คือภิกษุสิงหฬองค์หนึ่งชื่อสิทธัตถะ มีความรักใคร่ชอบใจ จะใคร่ไปมาด้วยภิกษุสยามให้ถึงสยามประเทศให้จงได้ เมื่อภิกษุองค์นั้นไปถึงประเทศโน้นแล้ว ขอท่านพระเถรานุเถระทั้งปวงอันอยู่ในสยามประเทศจงได้เป็นที่พึ่งแก่เธอนั้นด้วย ทุกอย่างทุกประการเถิด ด้วยว่าในประเทศโน้นคนเชื้อชาติเดียวกันไม่มี เว้นไว้แต่สพรหมจารีใครจะมาเป็นที่พึ่งเล่า แต่ทว่าเมื่อไรเธอจะใคร่กลับไป การที่จะส่งคืนกลับไปนั้นก็คงเป็นธุระของท่านทั้งปวงด้วย ขอให้เธอได้ไปแลมาได้โดยสะดวกเถิด ฯ

อนึ่ง บุญทั้งปวงพวกเราภิกษุผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายทั้งปวง ได้กระทำแลสะสมด้วยการที่ปราศจากอามิส มีปฏิบัติวินัยแลเล่าเรียนเป็นต้นก็ดี ด้วยการประกอบด้วยอามิสมีให้ทานบูชาเป็นต้นก็ดี บุญทั้งปวงนี้เราได้ทำเนืองๆ เป็นนิตย์ไป เราขออุทิศส่วนกุศลแต่บุญทั้งปวงนั้นให้แก่ท่านทั้งหลายชาวประเทศไกล ขอเชิญท่านทั้งปวงจงปราศจากทุกข์โรคพิบัติอันตรายทุกเมื่อ นานไปข้างหน้าพระโลกนาถชื่อเมตไตรยบังเกิดในโลกนี้แล้ว ขอท่านทั้งปวงจงได้พบได้เห็นแล้ว แลได้ฟังธรรมมีศรัทธาเลื่อมใสออกบรรพชาในพระศาสนานั้นแล้ว แลปฏิบัติจนบรรลุถึงพระอรหันต์พ้นทุกข์ทั้งปวงด้วยกันเถิด

อนึ่ง สมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช พระเจ้าสาเมนทราธิบดีผู้ทรงอุปการเกื้อหนุนแก่พระบวรพุทธศาสนา จึงมีพระเดชานุภาพราชสิริอิสริยยศเหมือนพระเจ้าธรรมาโศกราช จงทรงพระชนม์ยืนอยู่นานด้วยดี อนึ่ง ขอชัยมงคลจงบังเกิดมีแก่หมู่อำมาตย์มุขมนตรีแลประชาชนชาวสยามประเทศทั้งปวงเถิด

หนังสือสันเทศฉบับนี้ เราทั้งหลายคือพระสังฆนายกอนุนายก ๓ องค์กับพระสงฆ์ทั้งปวง อันอยู่ในบุบผารามแลอุโบสถาราม ๒ อารามด้วยกัน พร้อมกันจัดแจงแต่งฝากมายังสยามประเทศ ท่านทั้งหลายจงรู้เนื้อความตามในหนังสือนี้เถิด ถ้าว่าเชื่อแล้วจงยินดีให้สำเร็จการทั้งปวงด้วย

หนังสือสันเทศฉบับนี้ มา ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๕ ค่ำ เดือนผคุณมาสต้นฤดูคิมหันต์ พระพุทธศาสนกาล ๒๓๘๕ พรรษา ภิกษุสิงหฬได้ฝากมากับภิกษุสยามแล้ว


สมณทูตที่ส่งออกไปคราวนี้มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ประกอบกับคำเล่าลือในข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติและวัดบวรนิเวศน์ฯ ทำให้ภิกษุสงฆ์ในเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาเกิดความนิยมเลื่อมใสศรัทธา ได้มีหนังสือสมณสันเทศเข้ามาขอสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณส่งพระเถระออกไปเป็นพระอุปัชฌาย์จัดการบรรพชาอุปสมบทตั้งวงศ์ธรรมยุติกา ดังเช่นสมณสันเทศต่อไปนี้


สมณสันเทศของพระสงฆ์ชาวเมืองโคลัมโบ ขอให้ตั้งวงศ์ธรรมยุติกา

หนังสือข้าพเจ้าภิกษุสงฆ์ชาวกุลุมพูในเกาะลังกาประชุมกันมากกว่า ๒๐ องค์ มีพระโสภิตะศิริธรรมเถระอันเป็นอธิบดีในบริเวณทั้ง ๕ มีวัดกิลุตุเป็นต้น ขอเขียนถวายฝากข่าวคราวมายังท่านผู้มีอายุ พระวชิรญาณเถระอันเป็นอธิบดีแก่นิกายอันน้อยอยู่ในสยามประเทศที่อยู่แห่งพระเจ้าสาเมนทาธิบดี อันบรรทุกเต็มด้วยถาระ คือคุณมีศรัทธาแลศีลแลธุดงค์แลความมักน้อยสันโดษเป็นต้น อันประเสริฐยิ่งวิเศษแลปราศจากมลทินแลไพบูลย์ ให้ทราบ

ด้วยกาลบัดนี้ในสิงหฬทวีปมีสมณนิกายเป็น ๒ หมู่มานานแล้ว คือว่าก่อนแต่นี้ไป กษัตริย์สิงหฬผู้บำรุงพระศาสนา ได้ไปนิมนต์เอาพระสงฆ์เป็นวงศ์สยามภิกษุ มีพระอุบาลีมหาเถระเป็นประธานมาแต่สยามประเทศแล้ว จึงได้มาอุปสมบทแลสั่งสอนศาสนประเวณีแก่คฤหัสถ์บรรพชิตชาวสิงหฬทั้งปวงสืบๆ มาจนถึงทุกวันนี้ วงศ์อันนั้นได้เรียกว่าอุบาลีวงศ์เป็นนิกายอันหนึ่ง ครั้นมาภายหลังเล่า มีคนพวกหนึ่งเป็นชาติเปสะการะสกุลต่ำช้า ไม่ควรจะบวชเป็นภิกษุให้คนมีชาติมีตระกูลกราบไหว้บูชา หลายคนด้วยกัน เป็นอุบาสกบ้าง เป็นสามเณรแก่บ้าง ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไพล่พลัดไปได้ถึงเมืองอัมมะระบุระอันเป็นราชธานีของพม่า แล้วถือเพศแห่งภิกษุคืนมายังเกาะสิงหฬทวีปนี้ แล้วปฏิญาณตัวว่าเป็นภิกษุ มีผู้คนเข้านับถือด้วยเป็นอันมาก เป็นนิกายอันหนึ่งชื่อมะรัมมะวงศ์ แลนิกายทั้งสองนี้ไม่ชอบพอกันเข้าเลย ย่อมเป็นข้าศึกแก่กันแลกันอยู่เป็นนิจ ไม่ได้ร่วมสามัคคีในสังฆกรรมเป็นอันเดียวกันแต่เดิมมาคุมเท่าบัดนี้ แลหมู่นิกายทั้งสองนั้นมีมานะต่อกัน ถือเราถือเขาไม่ใคร่จะอ่อนน้อมตามบัญญัติที่มีในบาลีแลอรรถกถา

ฝ่ายพวกข้าพเจ้าทั้งหลายถึงบวชในนิกายอุบาลีวงศ์แล้ว พิจารณาดูเป็นกลางๆ ไม่เข้าข้างใคร ก็เห็นว่านิกายทั้งสองนี้ปฏิบัติผิดๆ ถูกๆ อยู่ด้วยกัน ข้าโน้นผิดอย่างนั้น ข้างนี้ผิดอย่างนี้ จะหาดีกว่ากันไปไม่ เรื่องที่ผิดอยู่นั้นก็ดูเป็นน่าสงสัยรำคาญแก่ผู้ปฏิบัติจะให้เห็นบุญจริงๆ ครั้นจะทำไปตามเห็นในหนังสือ เพื่อนฝูงพวกเดียวกันที่ไม่ปรารถนาต้องร่วมกันก็กล่าวติเตียนนินทาเพราะไม่มีที่พึ่งพาคติเป็นที่อ้าง ทั้งพวกอุบาลีวงศ์ที่ได้เป็นใหญ่ในเมืองสิงขัณฑะ ให้บรรพชาอุปสมบททั่วทุกแห่งทุกตำบลในวงศ์เดียวกันกาลบัดนี้เล่า ก็ปฏิบัติพานจะจืดจางหาเหมือนท่านแต่ก่อนไม่ มีเหตุต่างๆ น่ารำคาญน่าสงสัยไม่สู้สบาย

บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้พบพระสงฆ์ลังกาที่ท่านเข้าไปอยู่ในสยามประเทศถึง ๒ ปี ข่าวคราวอย่างไรของพระสงฆ์แลคฤหัสถ์ที่ปฏิบัติพระพุทธศาสนาในเมืองโน้น ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าทั้งปวงฟังได้ทราบทุกอย่างทุกประการแล้ว แลข้าพเจ้าทั้งปวงได้ได้ฟังข้อกิจการสัมมาปฏิบัติต่างๆ ในพวกพ้องของท่านที่อยู่ในวัด ๒ – ๓ แห่งมีวัดบวรนิเวศเป็นต้น ข้าพเจ้าทั้งปวงชอบใจนัก ทั้งได้เห็นได้พบภิกษุ ๕ องค์ที่ออกมาครั้งนี้ด้วย ได้พูดจาสังสนทนากันแล้ว พวกข้าพเจ้า ๒๐ เศษ จึงได้พร้อมกันปรึกษาว่า แม้ไฉนหนอเราทั้งหลายจะได้ปฏิบัติในจารีตศีลแลการวินัยกิจทั้งปวงให้เหมือนพระสงฆ์พวกนี้จงทุกประการ ถ้าได้ดังนั้นแล้วจะดีนัก ข้าพเจ้าทั้งปวงเกิดจิตศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนักทีเดียว เป็นความจริงด้วยความบาลีอรรถกถาอย่างไรพวกท่านก็ว่าอย่างนั้น มิได้ดื้อดึงถือคติอาจารย์มากกว่าอรรถาธิบายในพระคัมภีร์

เหตุดังนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายอ้อนวอนมาถึงท่านผู้มีอายุ พระวชิรญาณเถระ จงได้มีความเอ็นดูกรุณาแก่ชาวสิงหฬ ที่ถือพระพุทธศาสนาโดยใจซื่อสัตย์สุจริตเหมือนอย่างพวกข้าพเจ้า ๒๐ เศษนี้เถิด ขอโปรดได้จัดพระเถระองค์หนึ่งซึ่งฉลาดในพระธรรมวินัย อาจเป็นอาจารย์อุปัชฌาย์ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรต่อไปให้เป็นประธาน มีภิกษุสัก ๑๐ องค์เศษเป็นบริวารออกมายังลังกานี้ ให้มาตั้งปฏิบัติประเวณีอย่างพวกท่านปฏิบัติ อยู่ในที่นี้อีกสักเหล่าหนึ่งก็จะดีนักหนา จะดีกว่านิกายทั้งสอง คือ อุบาลีวงศ์แลมะรัมมะวงศ์ ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้อีกเป็นแท้ จะมีผู้นับถือตามด้วยมากอยู่ ครั้งนี้ผู้เห็นผู้รู้ในสิงหฬที่ได้ฟังข่าวคราวที่ภิกษุเข้าไปยังสยามประเทศเล่าให้ฟังแล้ว ก็พากันซ้องสาธุการสรรเสริญแต่พวกหมู่คณะของท่านมีมากนัก ด้วยการรู้การเรียนด้วยข้อปฏิบัติศาสนกิจทั้งปวง ข้าพเจ้าทั้งหลายขอเชิญท่านช่วยคิดอ่านตามประทีปคือสติปัญญาของท่าน ให้มาส่องสว่างให้คนได้เห็นดวงแก้วทั้งหลายอันบรรทุกอยู่ในภาระ คือพระศาสนาแห่งพระทศพลในเกาะลังกานี้เถิด หนังสือข่าวคราวทั้งปวงอันนี้ พระโสภิตะศิริธรรมเถระ ขอถวายพระบรมธาตุแก่พระวชิรญาณเถระ ๖ พระองค์ใส่เจดีย์งาฝากมาด้วยแล้ว


สมณทูตซึ่งออกไปเมื่อครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ยังไม่ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกกลับเข้า เนื่องจากเหตุที่แจ้งไว้ในสมณสันเทศ ของสังฆนายก วัดบุบผารามแลอุโบสถาราม เมืองสิงขัณฑนคร นั้นแล้ว ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๘๗ พระปลัดสังข์ วัดบวรนิเวศฯ (คือพระสุภูติ)ออกไปหาพระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง ได้คัมภีร์ที่ยังขาดฉบับจากเมืองลังกามาเพิ่มเติมหลายคัมภีร์ พระไตรปิฎกในประเทศนี้จึงบริบูรณ์แต่ในรัชกาลนั้นเป็นต้นมา และตั้งแต่นั้นต่อมาก็มีชาวลังกาทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ไปมาติดต่อกับวัดบวรนิเวศฯ มิได้ขาด

มีคำกล่าวแต่โบราณมาว่า ในรัชกาลที่ ๑ แม้ใครมีฝีมือรบพุ่งการศึกก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ แม้ใครมีฝีปากในโคลงกลอนกาพย์ฉันท์ก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ แม้ใครมีจิตศรัทธาการบุญการกุศลสร้างวัดวาอารามก็เป็นคนโปรด หากคำกล่าวนี้เป็นจริงดังว่า ลองพิจารณาในเรื่องสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงฟื้นพระพุทธศาสนาและการบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยปรากฏมาแต่ก่อนเช่นนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชจะทรงรักใคร่ทรงเมตตากรุณาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้สักปานใด



เจ้าสัว (พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)


....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



Create Date : 08 เมษายน 2551
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:49:37 น. 0 comments
Counter : 2562 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com