กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๓ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และธรรมยุติ

กระทู้ก่อนหน้านี้แสดงถึงพระบารมีในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไปแล้ว ในกระทู้นี้จะวกเข้าพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่งนะครับ

ตามคติโบราณซึ่งมาจากชมพูทวีปนั้น ในการถวายพระเกียรติยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ" ซึ่งถวายแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทางฝ่ายอาณาจักรอย่างหนึ่ง และ "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทางฝ่ายพุทธจักรอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นทั้งพระมหาจักรพรรดิและพระมหาธรรมราชา พระองค์ได้ทรงรับพระนามพิเศษว่า "ปิยะทัสสี" ซึ่งแปลว่าอันเป็นที่รักของเทพยดา และในสมัยเดียวกันนั้น พระเจ้าดิส ครองอนุราชบุรีในลังกาทวีป ผู้ทรงรับพระพุทธศาสนาประดิษฐานในประเทศลังกาเป็นปฐม ก็ได้รับพระนามพิเศษว่า "เทวานัมปิยะดิส" ซึ่งมาความหมายอย่างเดียวกัน

สำหรับในเมืองไทยนี้ การถวายพระนามพิเศษแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีฝ่ายพุทธจักรมีขึ้นครั้งแรกเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทย พระเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงพระราชศรัทธาสละราชสมบัติออกทรงผนวชคราวหนึ่ง เมื่อลาผนวชแล้วพระมหาสวามีสังฆราช ซึ่งมาแต่ลังกา ถวายพระนามว่า "พระเจ้าศรีตรีภพธรณีชิต สุริยโชติมหาธรรมิกราชาธิราช" นับว่าเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระองค์แรก แต่ต่อมาพระนาม "พระมหาธรรมราชา" กลายเป็นชื่อตำแหน่งไปเสีย ไม่ได้ยึดตามคติโบราณเดิม จึงเกิดพระมหาธรรมราชาขึ้นหลายองค์โดยไม่ปรากฏในพงศาวดารว่าทรงบำเพ็ญพระบารมีทางฝ่ายพุทธจักรแต่อย่างใด

ตามเรื่องในพงศาวดารที่มีมาในเมืองไทยนี้ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงรอบรู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ได้แก่สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระเจ้าลิไทย) มีพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา หรือพระเจ้าติโลกราช พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นต้น ก็เป็นการสาธยายพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีมาแต่ก่อน

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระบารมีฝ่ายพุทธจักรนั้นผิดกับทั้งสองพระองค์ซึ่งเคยบำเพ็ญมา ทรงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นจนเลื่องลือไปยังนานาประเทศ ความคิดเห็นของผมเองเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงถึงที่ "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" ตามคตินิยมโบราณ จึงขออนุญาตใช้เป็นชื่อกระทู้ตอนที่ ๓ นี้นะครับ ในอันดับแรกจะขอเล่าถึงวิธีการศึกษา ตลอดไปจนถึงทรงนิกายธรรมยุติขึ้นในประเทศนี้เสียก่อนนะครับ



....................................................................................................................................................


ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ เมื่อแรกทรงผนวชก็เป็นไปตามคตินิยมในสมัยนั้น ตามประเพณีมีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ระเบียบการศึกษาของพระราชกุมาร เมื่อศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นจบแล้ว พอพระชันษาถึงเกณฑ์ ๑๔ ปีก็ทรงผนวชเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรมเบื้องต้นครั้งหนึ่งก่อน เมื่อทรงพระเจริญถึง ๒๑ ปี ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาพระศาสนาและวิชาขั้นสูงอีกครั้ง จึงจะเป็นการสำเร็จการศึกษา การศึกษาเล่าเรียนในพระพุทธศาสนามีเป็น ๒ อย่าง คือเรียนคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยศึกษาพระไตรปิฎกให้รอบรู้พระธรรมวินัยเรียกว่า “คันธุระ” อย่าง ๑ เรียนวิธีที่จะพยายามชำระจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีวิปัสสนากรรมฐานเรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” อย่าง ๑ การเรียนคันธุระต้องใช้เวลาหลายปีเพราะต้องเริ่มจากศึกษาภาษามคธก่อน ต่อเมื่อรู้แล้วจึงค่อยอ่านพระไตรปิฎกได้เข้าใจ เจ้านายทรงผนวชส่วนมากตั้งพระทัยจะผนวชแต่พรรษาเดียว จึงไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาคันธุระ จึงมักเรียนวิปัสสนาธุระซึ่งอาจเรียนได้ด้วยไม่ต้องศึกษาภาษามคธก็ได้ และถือกันกันว่า ถ้าเรียนวิปัสสนาธุระชำนาญแล้ว อาจจะทรงคุณวิเศษในทางวิทยาคมเป็นประโยชน์ในชาติขัตติยะตลอดจนวิชาพิชัยสงคราม จึงนับถือกันมาเช่นนี้แต่กรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า สมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงผนวชโดยเลือกศึกษาวิปัสสนาธุระ ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวช สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดฯ ให้ทำตามเยี่ยงอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวช ทรงรับอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักในวัดมหาธาตุฯ ปรนนิบัติทำอุปัชฌายวัตร ๓ วัน แล้วเสด็จไปจำพรรษาทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย และตั้งพระทัยจะทรงผนวชอยู่พรรษาเดียว ตามเยี่ยงอย่างที่เคยมีมา

แต่เมื่อเกิดเหตุสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต และราชสมบัติได้แก่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ส่วนพระองค์ก็จะต้องทรงเพศสมณะต่อไปไม่มีกำหนด ตามมูลเหตุที่เป็นมาดังนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริเห็นว่าฐานะของพระองค์หากทรงเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง จะเป็นที่กีดขวาง ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชที่นิยมในพระองค์ก็ยังมีอยู่ จึงทรงพระดำริว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมืองอีกต่อไป และทรงเปลี่ยนพระสงค์ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาให้รอบรู้ตามสมควรแก่หน้าที่ของสมณะเพศ ในเวลานั้นได้ทรงเริ่มศึกษาวิปัสสนาธุระมาแล้วบ้าง จึงตั้งพระหฤทัยขะมักเขม้นเรียนให้ได้ความรู้วิปัสสนาธุระอย่างถ่องแท้ ไม่ช้าก็ทรงทราบสิ้นตำราที่พระอาจารย์สอน ความข้อใดที่ทรงสงสัย ตรัสถามพระอาจารย์ก็ไม่สามารถชี้แจงถวายให้กระจ่างสิ้นทรงสงสัยได้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณก็เกิดท้อพระหฤทัยในการศึกษาวิปัสสนาธุระ พอออกพรรษาจึงเสด็จกลับมาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ ตั้งต้นทรงศึกษาคันธุระหมายพระหฤทัยจะให้สามารถอ่านพระไตรปิฎกหาความรู้ที่ทรงสงสัยในความข้อต่างๆ ให้ได้ด้วยพระองค์เอง พระวิชาปรีชา (ภู่) เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญในภาษามคธอย่างยิ่งในตอนนั้น เป็นพระอาจารย์สอนภาษามคธถวาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ซึ่งตั้งพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะทรงศึกษาอยู่แล้ว กอรปกับพระสติปัญญา และพระอาจารย์ซึ่งเชี่ยวชาญ ทรง ๓ ปีก็รอบรู้ภาษามคธถ่องแท้ผิดกับผู้อื่นเป็นที่อัศจรรย์

จนกิตติศัพท์เลื่องลือถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ครั้งหนึ่งทรงตรัสถามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ว่าจะแปลพระปริยัติธรรมถวายทรงฟังได้หรือไม่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณถวายพระพรรับว่าจะสนองพระเดชพระคุณตามพระราชประสงค์

การเรียนภาษาบาลีเป็นข้อสำคัญในการสืบอายุพระพุทธศาสนา หากไม่มีผู้รู้ภาษาบาลี ก็ไม่มีผู้สามารถล่วงรู้พระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก ถ้าสิ้นความรู้ในพระไตรปิฎกแล้ว พระพุทธศาสนาย่อมเสื่อมสูญไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้พระราชาธิบดีผู้เป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกแต่โบราณมา ไม่ว่าจะแห่งใดที่นับถือศาสนาพุทธ จึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้พระบาลีในพระไตรปิฎกให้มีฐานันดร พระราชทานอุปการะด้วยประการต่างๆ จึงเกิดวิธีสอบพระปริยัติธรรมเพื่อให้ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้เพียงใด เมื่อปรากฏว่ารูปใดมีความรู้ถึงเกณฑ์กำหนด ก็จะทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปนั้นให้เป็นมหาบาเรียน ครั้นต่อมาพรรษาอายุถึงภูมิเถระก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามสมควรแก่คุณธรรมและความรู้ เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนพระปริยัติธรรมสืบๆ กันมา

ประเพณีการสอบพระปริยัติธรรมแต่เดิมนั้น กำหนดว่าถ้าแปลพระสุตตันตปิฎกได้ ได้เป็นเปรียญตรี ถ้าแปลพระวินัยได้ด้วย ได้เป็นเปรียญโท ถ้าแปลได้ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัย และพระปรมัตถ์ได้ ได้เป็นเปรียญเอก ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระสังฆราช (มี) ปรารภว่าวิธีสอบพระปริยัติธรรมอย่างเดิมหละหลวม ผู้มีความรู้ต่ำก็อาจจะเป็นเปรียญเอกได้ จึงจัดหลักหลักสูตรให้กวดขันขึ้น แก้วิธีสอนพระปริยัติธรรมเป็น ๙ ประโยค และผู้เข้าแปลต้องแปลได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไปจึงนับว่าเป็นเปรียญ การสอบพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม เป็นการสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วย คือให้พระภิกษุสามเณรที่เข้าแปลอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลี แล้วแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องอภิธานและในทางไวยากรณ์ภาษาบาลี จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “แปลหนังสือ” หรือ “แปลพระปริยัติธรรม” กำหนดเป็น ๙ ประโยคคือ

ประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบท ต้องสอบให้ได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค เมื่อสอบได้จึงนับว่าเป็นเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ
ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีบั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี และเปรียญชั้นสูงนับตั้งแต่ประโยค ๔ นี้เป็นต้นขึ้นไป
ประโยคที่ ๕ สอบคัมภีร์บาลีมุตกวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่าบาลีมุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมภีร์สารัตถสังคหะ ครั้นภายหลังกลับไปสอบคัมภีร์บาลีมุตกวินัยวินิจฉัยสังคหะเช่นเดิมอีก สอบได้นับเป็นเปรียญโท
ประโยคที่ ๖ สอบมังคลัตถทีปนีบั้นปลาย สอบได้ยังคงนับว่าเป็นเปรียญโทอยู่เหมือนเปรียญ ๕ ประโยค จึงเรียกกันอย่างสามัญว่าเป็นประโยคแปลบูชาพระ
ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา เรียกกันโดยย่อว่า สามน สอบได้เป็น เปรียญเอก ส หมายความว่าเปรียญชั้นเอกสามัญ
ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็น เปรียญเอก ม หมายความว่าเปรียญชั้นเอกมัชฌิมา
ประโยคที่ ๙ เดิมสอบคัมภีร์สารัตถทีปนี ภายหลังเปลี่ยนมาสอบคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้ได้เป็น เปรียญเอก อุ หมายความว่าเปรียญชั้นเอกอุดม

การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรจึงนับว่าเป็นราชการแผ่นดินที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทรงบำเพ็ญด้วยอยู่ในพระราชกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การสอบพระปริยัติยังหามีกำหนดปีเป็นยุติไม่ เพราะเป็นสมัยเมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองยังมีศึกสงครามเนืองๆ ต่อเมื่อเป็นเวลาว่างการทัพศึกสงครามบ้านเมืองสงบสุข ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนมีความรู้ถึงภูมิจะเป็นเปรียญได้มีมาก จึงโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เมื่อมีรับสั่งแล้ว สังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมกันสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรฉลองพระเดชพระคุณราชการแผ่นดินปฏิบัติดูแลตามตำแหน่ง ฉะนั้นในสองแผ่นดินต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นานๆ จึงมีการสอบพระปริยัติธรรมสักครั้งหนึ่ง ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงพระราชดำริเห็นว่าการเล่าเรียนเจริญขึ้นมาก จึงโปรดให้กำหนดการสอบพระปริยัติธรรม ๓ ปีครั้งหนึ่ง และได้ใช้เป็นเกณฑ์ในแผ่นดินต่อๆ มา

แต่เดิมการสอบพระปริยัติธรรมสอบที่วัดอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ต่อทรงมีพระราชศรัทธาจะทรงฟัง จึงโปรดให้เข้ามาประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ ฤดูสอบพระปริยัติธรรมโดยปรกติมักจะสอบเมื่อออกพรรษแล้ว ปีใดจะสอบพระปริยัติธรรม เจ้ากรมธรรมการก็รับสั่งสั่งหมายบอกไปยังเจ้าคณะสงฆ์แต่ต้นปี ฝ่ายเจ้าคณะสงฆ์ทั้งคณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะรามัญ เมื่อทราบหมายรับสั่งก็บอกไปยังเจ้าอาวาสผู้ครองพระอารามใหญ่น้อยให้ทราบ ฝ่ายเจ้าอาวาสเมื่อทราบว่าจะมีการสอบพระปริยัติในปีนั้นก็ให้สอบซ้อม แล้วเลือกสรรผู้ซึ่งจะให้เข้าสนามเอาชื่อส่งเจ้าคณะ มีคติถือกันมาแต่โบราณว่า พระภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในพระอารามหลวงซึ่งเป็นเสนะสนะของหลวง ได้รับพระราชทานนิตยภัตรทั่วทุกรูป ได้พระราชทานราชูปถัมภ์ด้วยประการต่างๆ มิให้เป็นที่อนาทรร้อนใจในการกินอยู่ ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์สามเณรก็มีหน้าที่เฉลิมพระราชศรัทธา ขวนขวายศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนา

เหตุที่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงตรัสชวนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ เข้าสอบความรู้เป็นเปรียญพระปริยัติธรรมนั้น เมื่อคิดดู แต่ก่อนนั้นเจ้านายที่ทรงผนวชอยู่นานๆ และเล่าเรียนทางคันธุระ อย่างเช่นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้น ก็หาเคยได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมในสนามไม่ นี่หากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไม่ตรัสชวน ก็เชื่อแน่ว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ จะไม่ทรงเข้าสอบพระปริยัติธรรมในสนามเช่นเดียวกัน เหตุที่เข้าสอบ คงเพราะสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณใฝ่พระหฤทัยทรงศึกษาพระพุทธศาสนานั้นเป็นความดีสมควรจะทรงอุดหนุน เพื่อให้เป็นกำลังช่วยทำนุบำรุงทางฝ่ายพุทธจักร และเป็นเกียรติยศแก่พระราชวงศ์ให้ปรากฏในพระปรีชาสามารถเป็นที่นับถือในสังฆมณฑลโดยไม่ขัดขวางทางฝ่ายอาณาจักร ข้างฝ่ายพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอก็เห็นจะทรงพระดำริเป็นทำนองเดียวกัน จึงทรงรับเข้าแปลพระปริยัติธรรมในครั้งนั้น

เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงพระราชศรัทธาโปรดให้ประชุมคณะพระมหาเถระผู้สอบในพระที่นั่งอัมรินทราวินิจฉัย และเสด็จออกทรงฟังแปลทุกวัน วันแรกเป็นการสอบแปลคัมภีร์ธรรมบทซึ่งเป็นการสอบความรู้ชั้นประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงแปลพักเดียวได้ตลอดประโยคที่ ๑ ไม่มีที่พลั้งพลาดให้พระมหาเถระคณะผู้สอบต้องทักท้วงเลย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฟังแปลดังนั้นก็ทรงยินดี ดำรัสว่าเห็นความรู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ธรรมบทแล้ว ไม่ต้องแปลประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ ก็ได้ ให้แปลคัมภีร์มงคลทีปนีบั้นต้นสำหรับประโยคที่ ๔ ทีเดียวเถิด ในวันที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จเข้าแปลประโยคที่ ๔ และวันที่ ๓ แปลคัมภีร์บาลีมุตสำหรับประโยคที่ ๕ ก็ทรงแปลได้โดยสะดวกไม่มีที่ขัดขวางพลั้งพลาดให้พระมหาเถระได้ทักท้วงทั้ง ๒ ประโยคเช่นกัน

แต่เมื่อเสร็จการแปลในวันที่ ๓ นั้น ปรากฏว่าผู้กำกับกรมธรรมการ กรมหมื่นรักษรณเรศ ตรัสถามพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมฬีโลกฯ ผู้สอบซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญในพระปริยัติธรรม ว่า “นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน” สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณได้ทรงทราบก็ทรงน้อยพระหฤทัย ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันนั้น ว่าที่เข้าทรงแปลพระปริยัติธรรมนั้น ทรงเจตนาแต่สนองพระเดชพระคุณ มิได้ปรารถนาลาภยศสักการประการใด ได้แปลทรงฟัง ๓ วันแล้ว เห็นว่าพอจะเฉลิมพระราชศรัทธาแล้ว ขออย่าให้ต้องแปลต่อไปเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชได้ทรงทราบความขุ่นข้องที่เกิดขึ้น ก็ทรงบัญชาตามพระหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ และพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยค ให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา

กรมหมื่นรักษรณเรศอยู่ในฝ่ายที่ประสงค์จะให้ราชสมบัติได้แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ แสดงเจตจำนงจะอยู่ในสมณเพศต่อไป และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันอย่างเดิม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ไม่ทรงรังเกียจกินแหนงในพระราชหฤทัยในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงอุดหนุนเพื่อให้เจริญพระเกียรติยศทางฝ่ายพระพุทธจักรดังกล่าวมาแล้ว และยังได้พระราชทานวอประเวศวังแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณซึ่งเคยทรงเมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยา กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่กรมหมื่นรักษรณเรศยังถือทิษฐิ ทรงแคลงพระทัยว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจะทรงเป็นเสี้ยนหนามต่อราชบัลลังก์ คอยกลั่นแกล้งด้วยอุบายต่างๆ เพื่อมิให้ผู้คนนับถือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจึงถูกกรมหมื่นรักษรณเรศให้ร้ายด้วยประการต่างๆ จนกระทั่งผลกรรมที่ก่อไว้ย้อนมาสู่ตัวเองต้องราชภัยเป็นอันตรายลงไป ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

เมื่อเสร็จการแปลพระปริยัติธรรมแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิญาณก็เสด็จกลับไปประทับวัดมหาธาตุฯ ตามเดิม ทรงศึกษาคันธุระด้วยตั้งพระหฤทัยจะเรียนพระพุทธศาสนาให้รอบรู้อย่างถ่องแท้ มิได้ทรงหมายฐานันดรยศในสังฆมณฑลแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเมื่อทรงแตกฉานในภาษาบาลีถึงสามารถจะอ่านพระไตรปิฎกเข้าพระหฤทัยได้โดยพระเองแล้ว ก็ทรงพยายามพิจารณาหลักฐานพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกต่อมา เมื่อทรงพิจารณาถึงพระวินัยปิฎกก็ปรากฏแก่พระญาณว่า วัตรปฏิบัติเช่นที่พระสงฆ์ทั่วไปประพฤติกันอยู่นี้ ผิดแบบผิดแผนในพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติในพระไตรปิฎกอยู่มากหลายประการ เมื่อจะทรงอุปสมบทก็ได้สมาทานว่าจะประพฤติตามธรรมพระวินัยของสมเด็จพระพุทธเจ้า เมื่อไม่เป็นไปได้ดังนั้นก็ทรงเห็นว่าลาผนวชออกเป็นอุบาสกจะดีกว่า

วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยในสมัยนั้น มีเรื่องเล่ากันมาแต่โบราณ ว่าเมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์เชิญพระไตรปิฎกมาแต่ลังกาทวีปนั้น เรือมาถูกพายุพักพลัดกันไป เรือลำที่ทรงพระวินัยปิฎกพลัดไปเมืองมอญ พระสงฆ์ในเมืองมอญจึงถือพระวินัยปิฎกเป็นสำคัญ ส่วนเรือที่ทรงพระสุตตันตปิฎกพลัดมาเมืองไทย พระสงฆ์ฝ่ายไทยจึงถือพระสุตตันตปิฎกเป็นสำคัญ แต่มิใคร่เอาใจใส่ในพระวินัยเคร่งครัดนัก เรื่องเล่าตามตำนานนี้ไม่มีเค้ามูลทางประวัติโบราณคดีแต่ความจริงก็ปรากฏเช่นนั้น เป็นเช่นนี้มาแต่โบราณ ใช่ว่าพระสงฆ์ไทยจะเป็นอลัชชีหรือหาความรู้มิได้ แต่พระสงฆ์ไทยเชื่อถือคติปัญจอันตรธารในบริเฉจท้าวคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งในลังกาทวีปมากเกินไป ในบริเฉทนั้นอ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เมื่อถึงกลียุค (คือยุคปัจจุบันนี้) พระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงเรื่อยๆ สติปัญญาและความศรัทธาอุตสาหะของคนทั้งหลายก็จะเลวลงทุกที จนไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ ที่สุดเมื่อพุทธกาลใกล้จะถึงห้าพันปี แม้พระสงฆ์ก็จะมีแต่ผ้าเหลืองคล้องคอ หรือผูกข้อมือไว้พอรู้ว่าเป็นพระเท่านั้น ตามคติคัมภีร์นี้เป็นเหตุให้เชื่อกันว่า พระพุทธศาสนาที่เราถือกันมีแต่จะเสื่อมทรามลงเป็นธรรมดา พ้นวิสัยที่ใครจะแก้ไขให้คืนดีได้

ในขณะที่ทรงวิตกและยังไม่เห็นหนทางแก้ไขได้ดังนั้น ก็ทรงได้ยินกิตติศัพท์ทราบว่ามีพระราชาคณะที่พระสุเมธมุนี (ซาย พุทธวงศ์) พระเถระฝ่ายรามัญบวชมาแต่เมืองมอญคณะกัลยานี ซึ่งมาอยู่ที่วัดบวรมงคล เป็นผู้ชำนาญในพระวินัยปิฎก และประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเสด็จไปทรงสนทนาธรรมกับพระสุเมธมุนี พระสุเมธมุนีก็ทูลอธิบายระเบียบวัตรปฏิบัติของพระมอญคณะกัลป์ยานีที่ท่านอุปสมบทให้ทรงทราบโดยละเอียดพิสดาร สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงพิจารณาสิ่งที่พระสุเมธมุนีทูลอธิบายวัตรปฏิบัติเทียบกับพระวินัยปิฎกทรงทรงศึกษาด้วยพระองค์เองมาแล้ว เห็นว่าไม่ห่างไกลจากพระพุทธบัญญัติก็ทรงยินดี ทรงตระหนักในพระหฤทัยว่าสมณวงศ์มีทางที่จะรอดไม่เสื่อมสูญเสียอย่างที่ทรงพระวิตกอยู่แต่ก่อนแล้ว จึงเกิดความเลื่อมใสใคร่จะประพฤติวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ

แต่ยังมีความขัดข้องด้วยเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จะทรงประพฤติให้ผิดกับระเบียบแบบแผนของพระสงฆ์ในวัดนั้นก็เป็นการละเมิด และคนทั้งหลายจะเกิดความเข้าใจผิดได้ต่อไป ครั้นถึงปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ พุทธศักราช ๒๓๗๒ เหมือนพรรษาแรกที่ทรงผนวช เวลานั้นมีพระภิกษุหนุ่มเป็นลูกผู้ดีบ้าง ที่ได้เคยถวายตัวเป็นสานุศิษย์ศึกษาอยู่ในวัดมหาธาตุ และเลื่อมใสในพระดำริสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ได้ตามเสด็จมาอยู่วัดสมอรายก็มี อยู่วัดอื่นแต่ไปประชุมศึกษาวัตรปฏิบัติในพระองค์ที่วัดสมอรายก็มี จึงเริ่มเกิดเป็นคณะสงฆ์ผู้แสวงหาสัมมาปฏิบัติตามธรรมบัญญัติขึ้นแต่นั้นมา

แต่ก่อนนั้นประเพณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองห่างไกลถึงต้องเสด็จประทับแรมนั้น แม้เพียงเสด็จไปทรงบูชาพระพุทธบาท หรือเสด็จทรงทอดกฐินหลวงถึงเพียงพระนครศรีอยุธยา หยุดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี เมื่อไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายและขุนนางก็ไม่มีใครเสด็จออกไปเที่ยวตามหัวเมือง นอกจากจะมีราชการจำเป็นจริงๆ เพราะเห็นเป็นการฝ่าฝืนพระราชปฏิบัติ เกรงจะทรงระแวงผิดทางราชการบ้านเมือง จึงอยู่กันแต่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ เมื่อเสด็จประทับอยู่วัดสมอรายนั้น ทรงฟื้นพระศาสนากำหนดวัตรปฏิบัติขึ้นสำหรับคณะสงฆ์ผู้แสวงสัมมาปฏิบัติแล้ว ใครจะทรงศึกษาธุดงควัตรให้บริบูรณ์ตามพระวินัยที่บัญญัติไว้พระไตรปิฎก ทรงดำริว่าพระองค์ทรงสมณะเพศมิได้ยุ่งเกี่ยวกับทางการเมือง จึงถวายพระพรลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จธุดงค์ตามหัวเมืองห่างไกล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพิจารณาแล้วก็โปรดเกล้าฯ พระราชบรมราชานุญาตไม่ขัดขวาง จึงเสด็จไปทรงบูชาพระมหาเจดีย์ตามหัวเมือง

ปรากฏในพงศาวดารว่าเสด็จไปทรงบูชาพระปฐมเจดีย์ ครั้งนั้นพระปฐมเจดีย์เป็นพระมหาเจดีย์ที่สำคัญของบ้านเมืองแต่ปรักหักพังมาก จะขอพระราชทานปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ให้บริบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพระดำริเห็นว่า บ้านเมืองยังไม่บริบูรณ์และในแขวงจังหวัดนั้นก็ยังเป็นป่าเป็นดงรกชัฏ ถึงปฏิสังขรณ์ให้ดีขึ้น ก็ไม่อาจจะรักษาไว้ให้ดีได้ จึงทูลห้ามปรามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณไว้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเห็นชอบ แต่ก็ตั้งพระปณิธานไว้ว่าถ้าหากพระองค์ทรงมีกำลังเมื่อไรจะบำรุงบ้านเมืองและปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์นี้ให้จงได้

ในระหว่างปีนี้เที่ยวเสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่นมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลนครสวรรคต ครั้งนี้ในพุทธศักราช ๒๓๗๖ เสด็จธุดงค์ถึงเมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นปรากฏในพงศาวดารว่าจะโปรดสมโภชพระพุทธชินราช เครื่องมหรสพก็ไม่แต่ตัวหนังที่วัดอยู่ในวัด คนเล่นหามีไม่ พวกมหาดเล็กที่ตามเสด็จครั้งนั้นจึงชวนกันรับเล่นหนังถวายเป็นการสมโภช และพระองค์ก็ทรงอำนวยการ จึงกลายเป็นประเพณีสืบมาในรัชกาลต่อมาๆ

การเสด็จธุดงควัตรตามหัวเมืองของพระองค์ท่าน ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนาสถานที่ต่างๆ และทำให้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ความทุกข์ความสุขของราษฎรในหัวเมืองเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้ทรงตระหนักมาแต่ครั้งนั้นว่าทางราชการในพระนครไม่ค่อยทราบความเป็นไปในบ้านเมืองตามความเป็นจริง เมื่อได้ทราบอัธยาศัยความคิดอ่านของราษฎรตามหัวเมืองที่ทรงธุดงค์ไปถึงนั้น ครั้นได้สมัครสมาคมคุ้นเคยกันแล้ว ฝ่ายราษฎรก็พากันชอบพระอัธยาศัย เกิดความนิยมรักใคร่นับถือกันแพร่หลายกันมาแต่ครั้งนั้น

อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ไทย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จไปธุดงค์ตามที่ต่างได้ทอดเห็นโบราณสถานหลายแห่งที่ทีแบบอย่างต่างๆ กันมาสมัย และยังได้โบราณวัตถุเป็นต้นว่าศิลาจารึกจากเมืองสุโขทัย ก็ทรงเกิดใฝ่พระหฤทัยในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของไทยมาตั้งแต่นั้น เหมือนอย่างทรงนำทางให้ผู้อื่นทั้งไทยและชาวต่างชาติศึกษาตามเสด็จต่อมา ความรู้เรื่องโบราณคดีของประเทศไทยจึงได้เจริญแพร่หลาย แม้จนทุกวันนี้หากใครจะศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของไทย ก็ยังได้อาศัยพระบรมราชาธิบายของพระองค์ท่านซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นแนวทางแทบทุกคน

ถึงปีมะโรงจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๙๔ พุทธศักราช ๒๓๗๕ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต ข้าในกรมเจ้านายต่างกรมหลายพระองค์เข้าใจว่าเจ้านายของตนจะได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลต่อจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ พากันเตรียมตัวจะเป็นขุนนางวังหน้าจนเกิดกิตติศัพท์ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงปรึกษาพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) ในการนั้น พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) กราบบังคมทูลว่าถ้าเช่นนั้นควรโปรดเกล้าให้เลื่อนกรมเจ้านายขึ้นตามราชประเพณีในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ให้ปรากฏเสียว่าจะได้เป็นเพียงนั้น ข้าในกรมจะได้ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงและการณ์ที่เลื่องลือวุ่นวายก็จะสงบลงเอง


พระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ)


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วยทรงเจตนาจะไม่ตั้งเจ้านายเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมเจ้านายขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุนหลายพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี ก็ทรงรับกรมเป็น กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในครั้งนี้ด้วย แต่ได้ทรงเว้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ไว้ จะว่าขัดข้องด้วยทรงพระผนวชเป็นภิกษุอยู่ก็มิใช่ เพราะเมื่อกรมหมื่นนุชิตชิโนรสทรงรับกรมก็ทรงสมณเพศมีเป็นตัวอย่างอยู่ สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชรัชทายาย ไม่สมควรแก่เจ้านายพระองค์อื่น นอกจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระวชิรญาณ แต่ติดอยู่ด้วยทรงผนวชอยู่จะตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่รัชทายาทก็ขัดข้องด้วยทางฝ่ายพระศาสนา จะให้ทรงรับกรมก็ไม่เข้ากับสาเหตุที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมเจ้านายในครั้งนั้น จึงให้งดเสีย


สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์
(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)


วัดสมอรายที่ทรงประทับอยู่นี้ เขตวัดติดต่อกับวัดคอนเซปชั่น (Immaculate Conception Church) ของโรมันคาทอลิก เวลานั้นสังฆราชปาลกัวต์ยังเป็นบาทหลวงเจ้าอธิการของวัด ท่านบาทหลวงชอบไปเฝ้าทูลถามความรู้เรื่องภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเนืองๆ จนทรงคุ้นเคย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ จึงโปรดฯ ให้สอนภาษาละตินถวายเป็นการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้กัน เป็นมูลเหตุที่ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศนับแต่นี้ไป จะได้ทรงศึกษาอยู่เท่าไรไม่ปรากฏ แต่สังเกตได้จากพระราชหัตถเลขาเมื่อเสวยราชย์แล้ว มักทรงใช้ภาษาละตินเนืองๆ เห็นได้ว่าจะทรงทราบไวยากรณ์ของภาษาละตินพอสมควร

เมื่อทรงประทับอยู่วัดสมอนั้นแต่แรกเริ่มนั้น มีพระสงฆ์ซึ่งถือวัติปฏิบัติตามเสด็จราวสัก ๒๐ รูป ตามเสด็จมาอยู่วัดสมอรายบ้าง คงอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯบ้าง หรืออยู่วัดอื่นๆ บ้าง มาประชุมทำสังฆกรรมที่วัดสมอราย และตั้งเป็นธรรมยุติกนิกายขึ้น เมื่อกิตติศัพท์พระเกียรติคุณที่ทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก และพระปฏิภาณในการแสดงธรรมเทศนาเลื่องลือแพร่หลายออกไป ก็มีพระภิกษุสามรเณรพากันมาถวายตัวเป็นศิษย์ และบวชแปลงเป็นธรรมยุติกามากขึ้น พวกคฤหัสถ์ก็พากันเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติและการแสดงธรรมของพระองค์ ไปถือศีลฟังธรรม ตลอดจากจนนำบุตรหลานมาฝากฝังให้เล่าเรียนเป็นลูกศิษย์มากขึ้นโดยลำดับ จนวัดสมอรายเกิดเป็นสำนักคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงสำนักหนึ่ง ปรากฏกิตติศัพท์เลื่องลือถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราช วันหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นปีใดแน่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จเข้าไปถวายเทศนาพระธรรมในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จสิ้นพระธรรมเทศนาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชตรัสว่า “ชีต้นบวชมานานแล้ว ควรเป็นพระราชาคณะได้” แล้วพระราชทานพัดแฉกพื้นตาดให้ทรงถือเป็นพัดยศต่อมา

....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



Create Date : 08 เมษายน 2551
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:49:28 น. 0 comments
Counter : 3062 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com