กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


....................................................................................................................................................



พระประวัติ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระนามในพระสูติบัตรเมื่อแรกประสูติ คือ เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ ทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา” และต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา” และ ในปีพ.ศ. ๒๔๗๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา” และเมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาล ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์”

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ประสูติได้ไม่นาน สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงย้ายจากกรุงลอนดอนไปประทับที่เมืองเซาท์บอน ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออก จากนั้นไปประทับ ณ เมืองบอสคัม ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านใต้ของประเทศอังกฤษ จนพระชันษาได้ ๖ เดือน จึงตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี เสด็จกลับประเทศไทย

ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้ตามเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับที่ประเทศเยอรมนี และในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ประสูติที่โรงพยาบาลเมืองไฮเดลเบิร์ก

ในปีพ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงร่วมในพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และประทับอยู่จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ระหว่างนั้น ดร.ฟรานซิส บี แซร์ (Dr.Francis B. Sayre) ชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศ เคยเล่าถวายสมเด็จพระบรมราชชนนกว่า ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งชื่อ ซองโซเลย์ (Champ Soleil) ที่ดูแลเด็กอย่างถูกหลักอนามัย เพราะเจ้าของเป็นแพทย์ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงได้ทรงนำพระธิดาและพระโอรสพระองค์ แรกไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ โดยทรงฝากให้อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กแห่งนั้นเป็นเวลาหลายเดือน ทรงเริ่มรับสั่งภาษาฝรั่งเศสได้

ปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงนำครอบครัวไปประทับที่เมืองบอสตัน (Boston) ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงศึกษาด้านจิตวิทยา การทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนส์อยู่ระยะหนึ่ง สมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเริ่มศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค (Park School)

เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงสำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard) ในปีพ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้ทรงนำครอบครัวเสด็จกลับประเทศไทย และประทับ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม สมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จึงทรงเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนราชินี

ภายหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จทิวงคตในปีใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ยังประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระบรมราชชะนีทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระโอรส พระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ทรงเข้าศึกษาในสถาบันรับเลี้ยงเด็ก ซองโซเลย์ (Champ Soleil) อีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลา ๒ เดือน เพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศส จากนั้นจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา “เมียร์มองต์” (Miremont)

ในปีพ.ศ. ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ และรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมา และเพื่อให้สมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงทรงเช่าบ้านค่อนข้างใหญ่ที่เมืองพยุยี (Pully) ซึ่งอยู่ติดกับเมืองโลซานน์ เพื่อเป็นที่ประทับและพระราชทานนามว่า “วิลล่าวัฒนา” (Villa Vadhana)

พ.ศ. ๒๔๗๘ ทรงเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสตรี ชื่อ Ecole Superieure de Jeunes Filles de la Ville de Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับจากชั้น ๖ ๕ ๔ ๓ ๒ ๑ ทรงสามารถสอบเข้าชั้น ๕ ในระดับมัธยมศึกษานี้ได้ ระหว่างนี้ทรงเรียนภาษาเยอรมัน และภาษาละตินด้วย

ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑ ทรงย้ายไปศึกษาต่อที่เจนีวา ในลักษณะของนักเรียนประจำที่ International School of Geneva ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านการศึกษา ในการสอบเลื่อนชั้นแต่ละปี ทรงทำคะแนนได้ผลงดงามมาก โดยทรงสอบผ่านชั้นสูงสุดเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลายได้ระดับดีเยี่ยมเป็นที่ ๑ ของโรงเรียน และที่ ๓ ของทั้งประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ได้เสด็จนิวัติพระนครเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยมีสมเด็จพระราชชนนี พระอนุชา และสมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์โดยเสด็จด้วยในครั้งนั้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ จึงเสด็จเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ ในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี และได้รับ Diplome de Chimiste A เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑

ในระหว่างที่ทรงศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซานน์ ได้ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรของสังคมศาสตร์ - ครุศาสตร์ Diplome de Sciences Sociales Podagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา แม้เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเคมีแล้ว ก็ยังทรงศึกษาวิชาวรรณคดีและปรัชญาต่อไปอีกด้วยความสนพระหฤทัย


ทรงงาน

เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๙๓ สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่าพระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระเยาว์ จึงได้ทรงแนะนำให้ทรงงานเป็นอาจารย์ ซึ่งทรงเริ่มต้นเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศสที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส ทรงสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึง พ.ศ. ๒๕๐๑

ใน พ.ศ.๒๕๑๒ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอพระราชทานพระกรุณาให้เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงรับงานสอนและงานบริหารโดยทรงเป็นหัวหน้าสาขาสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส และผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ อันประกอบด้วยภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น จีน และรัสเซีย ทรงสอนวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสแก่นักศึกษาชั้นปีต่าง ๆ และทรงดูแลการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ได้ทรงจัดทำหลักสูตรระดับปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส จนสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ หลักสูตรนี้นับว่าเป็นหลักสูตรที่ผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม และในระหว่างที่ทรงปฏิบัติงานในฐานะพระอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบทูลเชิญเป็นองค์บรรยายพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕

เนื่องจากพระภารกิจด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษต่อไปอีก นอกจากนั้นยังทรงรับเป็นองค์บรรยายพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศสในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย ต่อมาเมื่อทรงทราบปัญหาของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่องการขาดแคลนอาจารย์ เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดห่างไกลและมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานพระเมตตาเสด็จไปทรงสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส โดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี ดังเช่นอาจารย์คนอื่น ๆ

ระหว่างที่ทรงงานเป็นพระอาจารย์ ได้ทรงร่วมกิจกรรมทางวิชาการหลายด้าน เช่น ทรงเป็นกรรมการสอบชิงทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงเป็นประธานออกข้อสอบภาษาฝรั่งเศสในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยหลังจากที่ปฏิบัติงานด้านการสอนมาจนกระทั่งเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงทรงได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่ง ศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้วยพระปรีชาญาณจากประสบการณ์ที่ทรงงานสอนภาษาฝรั่งเศสมาเป็นระยะเวลานาน จึงทรงตระหนักถึงปัญหาความต่อเนื่องในการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จึงได้ทรงริเริ่มก่อตั้งสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปรับปรุงวิธีการสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ทรงดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ จากนั้นก็ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาคมฯ มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความรอบรู้ทางวิชาการและการอุทิศพระองค์เพื่อการศึกษาของสมเด็จพระพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในหลายสาขาวิชา และทรงได้รับการเทิดทูลพระเกียติจากรัฐบาลและองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (Unesco)

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจอันทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นอเนกประการ ทรงมีน้ำพระทัยเสียสละสูงส่งต่อปวงพสกนิกร ทรงเกื้อกูลอุปถัมภ์งานในหลายด้านอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งงานที่ทรงรับสืบทอดจากสมเด็จพระบรมราชชนนี และงานที่ทรงสนพระทัยด้วยพระองค์เอง ดังจะเห็นจากหน่วยงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ กองทุน หรือโครงการต่างๆ ที่ทรงรับอุปถัมภ์ จึงนับได้ว่า ทรงเป็นพระบรมวงศ์ที่พสกนิกรชาวไทยเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม

....................................................................................................................................................



ประกาศ
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.



พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร


มีพระราชโอการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็นสมเด็จพระโสทรเชษฐภคินีอันสนิทแต่พระองค์เดียวที่ทรงร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งเป็นผู้ที่ทรงเคารพนับถือในฐานะที่ทรงมีอุปการคุณมาแต่หนหลัง ดังมีข้อความปรากฏอยู่ในประกาศสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า นั้นแล้ว ต่อมาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ก็ยังใฝ่พระหฤทัยมั่นคงอยู่มิได้ทอดทิ้งในอุปการกิจ ที่มีแก่พระองค์ โดยเจตจำนงมุ่งหมายแต่จะทรงให้พระเกษมสุข และทรงพระเจริญยิ่งด้วยพระราชอิสริยยศในมไหศูรยสมบัติ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ในหลายวาระ และทรงรับเป็นพระธุระในการส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งได้ปฏิบัติวัฏฐากสมเด็จพระบรมราชชนนีอย่างใกล้ชิดในที่ทุกสถาน และรักษาพยาบาลในเมื่อทรงพระประชวรโดยมิได้มีความเบื่อหน่ายย่อหย่อน ด้วยมีพระประสงค์จะแบ่งเบาพระราชภาระ ทำให้ทรงความพระราชกังวล และวางพระราชหฤทัยในการส่วนสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เป็นอันมาก

นอกจากนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ยังมีพระหฤทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณา ปรารถนาที่จะให้ประชาชนทุกชนชั้นได้มีวิชาความรู้ มีฐานะความเป็นอยู่และมีสุขภาพอนามัยที่ดีถ้วนหน้า จึงทรงพระอุตสาหะรับเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ โดยมิได้ทรงคิดเห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้งทรงรับเป็นพระธุระบริหารกองทุนการกุศลสมเด็จย่า ทรงเป็นประธานมูลนิธิโรคไตมาแต่แรกเริ่ม และทรงรับมูลนิธิ ตลอกจนสมาคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การสังคมสงเคราะห์ และการสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกเป็นจำนวนมาก ได้ทรงปฏิบัติบริหารกองทุนมูลนิธิที่ทรงเป็นประธานและบริหารอยู่ โดยเต็มพระสติกำลังปรีชาสามารถ และได้พระราชทานความช่วยเหลือนานัปการแก่มูลนิธิและสมาคมที่อยู่ในพระอุปถัมภ์ ทำให้กิจการต่างๆ ของกองทุน มูลนิธิ และสมาคมเหล่านั้น ดำเนินก้าวหน้ามาด้วยความมั่นคง และก่อเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง พระเกียรติคุณด้านนี้เป็นที่ประจักษ์เด่นชัด ด้วยเหตุนี้สถาบันอุดมศึกษาในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศมากแห่ง จึงได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาวิชาต่างๆ และเหรียญสดุดีพระกิตติคุณ

มาบัดนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญด้วยวัสสายุกาลวัยวุฒิ กอปรด้วยพระอัธยาศัยซื่อตรง ดำรงพระองค์มั่นอยู่ในสุจริตธรรมสัมมาจารี มีความกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งทรงพระคุณแก่บ้านเมืองปรากฏอยู่เป็นอเนกปริยาย สมควรที่จะสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น โดยอนุโลมตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามจารึกตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ขอจงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิ์ พิพัฒน์มงคล อิฐศุภผลธนสารสมบูรณ์ วรเกียรติคุณอดุลยยศ ปรากฏยั่งยืนนานเทอญ


ประกาศ ณ วันที่ ๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๘ เป็นปีที่ ๕๐ ในรัชกาลปัจจุบัน



....................................................................................................................................................



คัดจากหนังสือเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เนื่องในโอกาสมหามงคลเจริญพระชนมายุ ๗ รอบ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๐



Create Date : 08 มกราคม 2551
Last Update : 10 มกราคม 2551 7:34:05 น. 7 comments
Counter : 2210 Pageviews.  
 
 
 
 
ขอบคุณมากๆคะคุณกัมม์ที่นำมาฝาก
 
 

โดย: ตัวหนอน (sawkitty ) วันที่: 8 มกราคม 2551 เวลา:13:10:39 น.  

 
 
 
ได้ความรู้มากค่ะ และทำให้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ขออนุญาตทำlinkให้นักเรียนได้อ่านนะคะ
 
 

โดย: kanni_m วันที่: 8 มกราคม 2551 เวลา:20:21:55 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณสาว คุณkanni_m

ยินดีอย่างยิ่งครับ
ขอบพระคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 10 มกราคม 2551 เวลา:7:36:24 น.  

 
 
 

เป็นความรู้ที่เหมาะกับนักเรียน นักศึกษา นักค้นคว้า และนักเขียนมากครับ
 
 

โดย: yyswim วันที่: 22 เมษายน 2551 เวลา:9:09:16 น.  

 
 
 
คิดถึงพระองค์ท่าน
 
 

โดย: mo IP: 203.146.136.87 วันที่: 24 เมษายน 2551 เวลา:17:31:27 น.  

 
 
 
คิดถึงพระองค์ท่าน
 
 

โดย: ฺำิBeN IP: 61.19.42.68 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2551 เวลา:10:56:27 น.  

 
 
 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him
 
 

โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:23:10:59 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com