ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ภูเก็ตจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น เมื่อเติบโตแบบ ชาญฉลาด โดย ศิวพงศ์ ทองเจือ มรภ.ภูเก็ต

เครดิต ข้อมูลจาก : งานประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

(//www.pkru.ac.th/news_modal.php?id_new=3517)

ภูเก็ตจะน่าอยู่ยิ่งขึ้น เมื่อเติบโตแบบ"ชาญฉลาด"

(Smart Growth in Phuket for Livable and SustainableCity)

บทสัมภาษณ์โดย "ศิวพงศ์ ทองเจือ" บันทึกเมื่อ06 ต.ค. 2558


บทนำ

10หลักการออกแบบสำหรับชุมชนน่าอยู่” (10Principle for Liveable Communities) ถูกเขียนขึ้นโดยสถาบันสถาปนิกอเมริกัน และถูกเผยแพร่ผ่านแวดวงวิชาการอย่างแพร่หลายในระดับนานาชาติอาจารย์ศิวพงศ์ ทองเจือ นักวิชาการสถาปัตยกรรมผังเมืองอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีม.ราชภัฏภูเก็ต ได้นำหลักการดังกล่าวมาแปลเป็นบทความภาษาไทย เผยแพร่ผ่าน Blog เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งในวงการสถาปนิก และประชาชนทั่วไปขานรับแนวคิดของชุมชนเมืองน่าอยู่ อันสอดคล้องกับนิยามการวางผังเมืองยุคใหม่ที่ว่า...ต้องเติบโตอย่างชาญฉลาด (Smart Growth)

สำหรับจังหวัดภูเก็ตแม้จะเป็นเกาะขนาดเล็กที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัดในขณะเดียวกันกลับมีอัตราการเจริญเติบโตของชุมชนเมืองที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ปริมาณที่มากขึ้นเช่นนี้ได้มาพร้อมกับการสนับสนุนองค์ประกอบทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทิศทางหรือไม่และการพัฒนาเหล่านี้จะผลักดันให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองน่าอยู่จริงหรือ ตามทัศนะของอาจารย์ศิวพงศ์ ทองเจือนักคิดผู้ได้รับการยอมรับด้านการออกแบบผังเมืองมากที่สุดคนหนึ่งของภูเก็ตจะมาเจาะลึกในเรื่องดังกล่าว โดยแยกประเด็นวิพากษ์ตาม 10หัวข้อของหลักการออกแบบทางกายภาพที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในฝั่งตะวันตกทั้งยังเหมาะกับการใช้เป็นเข็มทิศนำทางให้กับนักออกแบบสถาปนิกที่กำลังดีไซน์ชุมชนต่างๆ ของภูเก็ต

1. การออกแบบภายใต้สัดส่วนของมนุษย์ (Designon A Human Scale)

ปัญหาของการออกแบบสภาพแวดล้อมที่มักพบกันบ่อยคือ ไม่ค่อยคำนึงถึงความเชื่อมโยงที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริงในหลักของการออกแบบชุมชนเมือง ต้องใส่ใจกับทุกรายละเอียดปลีกย่อยเพราะพื้นที่ทุกตารางเมตรควรใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ขนาดทางเท้าที่คนสามารถเดินสวนกันได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวางขนาดช่องของเลนจักรยานและทางรถยนต์ต้องพอเหมาะกับการจอดและสัญจรทุกอย่างจะต้องสัมพันธ์กันหมดและมีขนาดที่พอเหมาะ หรือในกรณีอาคารสูงหลายชั้นมีผู้อาศัยจำนวนหลายพันคน แต่มีพื้นที่ใช้สอยของทางเท้าที่จำกัด ก็ควรที่จะเพิ่มอาณาบริเวณพื้นที่ส่วนกลางสาธารณะเหล่านี้รวมถึงทางเท้าและทางลาดที่มีคุณภาพเชื่อมต่อกับชุมชนภายในย่านและละแวกใกล้เคียง

2. สิทธิในการเลือกหนทางเลี้ยงชีพ (ProvideChoices)

การเลือกที่อยู่อาศัยตามจำนวนประชากรและขนาดรายได้หรือขนาดของครอบครัว เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะในปัจจุบันที่อยู่อาศัยบนทำเลดีๆใกล้ห้างสรรพสินค้าหรือใจกลางเมืองจะมีราคาสูงหลักการข้อนี้ค่อนข้างจะเป็นหลักคิดแบบอุดมคติว่าหากชุมชนเมืองจะสามารถจัดสรรพื้นที่ให้ผสมผสานรองรับผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้และอาชีพหลากหลาย มาอยู่ในละแวกไม่ห่างกันจนเกินไปมีที่อยู่อาศัยในราคาประหยัดถึงราคาปานกลางให้เลือกซื้อสร้างสิทธิความเท่าเทียมให้กับคนในชุมชน ช่วยลดช่องว่างของชนชั้นต่างๆให้มีสิทธิในการอยู่อาศัยพื้นที่ใจกลางเมืองที่มีราคาแพง ใกล้ห้างสรรพสินค้าเป็นต้น ถ้าลองมาดูที่ภูเก็ตขณะนี้มีการย้ายที่อยู่อาศัยออกจากเขตเมืองสู่ชานเมืองโดยที่พื้นที่เหล่านั้นไม่มีห้างสรรพสินค้ารองรับที่หลากหลายและอสังหาริมทรัพย์ชานเมืองก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่ประชาชนยังต้องเดินทางด้วยรถยนต์เพื่อมาซื้อของห้างสรรพสินค้าในเมืองแต่บ้านของตนเองอยู่ชานเมือง สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องรถติดและการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์ที่กระจัดกระจายออกไปนอกเมืองมากขึ้น เนื่องจากชนชั้นล่างถึงกลางไม่สามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้ เพราะราคาที่อยู่อาศัยและที่ดินราคาแพงเกินไป

3. การสนับสนุนและกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (EncourageMixed Use Development)

หลักการในข้อนี้จะเชื่อมโยงกับข้อสองคือ ให้มีที่อยู่อาศัย ที่ทำงานสำนักงาน อยู่ใกล้กันมีร้านค้าปลีกห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ในระยะ 400 - 500 เมตร ในชุมชนเมืองเพื่อที่จะให้คนเดินโดยไม่ต้องใช้ยานพาหนะ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาพักกลางวัน สมาชิกในชุมชนสามารถออกมาจากที่พักที่ทำงาน แล้วพบร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ เปิดให้บริการสองข้างทางหรืออาจจะเดินเท้า ปั่นจักรยาน จากที่ทำงานกลับที่พักได้ในระยะที่ไม่ไกลเกินไปรวมถึงหากมีสวนสาธารณะในรัศมีของการเดิน จะช่วยลดการพึ่งพารถยนต์ ลดมลพิษส่งเสริมสุขภาพให้กับสมาชิกชุมชน หากแนวคิดนี้เกิดขึ้นได้ความน่าอยู่จะมาจากการใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น และมีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายไม่สูญเสียเวลาไปกับการเดินทางไปมา และช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดซึ่งในส่วนนี้จังหวัดภูเก็ต บริเวณเมืองกะทู้เมืองป่าตองจะโดดเด่นมากตามหลักการข้อนี้




4. การปกปักรักษาศูนย์กลางชุมชนเมือง (PreserveUrban Centers)

เมื่อย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วใจกลางเมืองภูเก็ต ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่จับจ่ายใช้สอย คือโซนห้างโรบินสัน ตลาดเกษตร และโซนตลาดสดดาวน์ทาวน์ ตามผังเมืองบริเวณเหล่านี้เป็นศูนย์กลางของเมืองมีความสำคัญในการขนส่งอาหารแม้ว่าตอนนี้จะไม่คึกคักและมีการเปิดธุรกิจเพิ่มเติมในพื้นที่เช่นในอดีตแต่ก็ควรที่จะรักษาธุรกิจหลักๆ ไว้ เพราะหากปิดตัวไปจังหวัดภูเก็ตจะสูญเสียใจกลางเมืองสำคัญ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นตามหลักการสร้างชุมชนน่าอยู่เพราะประชาชนควรจะมีทางเลือกในการใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่เท่าเดิม หรือน้อยลงซึ่งเชื่อว่าพื้นที่เหล่านี้ยังคงมีความหวัง หากมีการลงทุนเพิ่มเติมหรือปรับปรุงของเดิมให้ทันสมัย เช่น เปิดตลาดนัด คอมมูนิตี้มอลล์ให้เป็นแลนด์มาร์คที่น่าจดจำ อาทิ ไลม์ไลท์ อเวนิว ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่โดยผู้ประกอบการสามารถหาจุดเด่น จุดขายที่ดึงคนให้สนใจและมีการวางแผนกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน น่าจะช่วยกระตุ้นให้กลับมาคึกคักได้อีกอีกพื้นที่ซึ่งอยากให้มีการเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้น คือ สวนสาธารณะสะพานหินซึ่งหากเพิ่มเติมแหล่งช้อปปิ้งหรือคอมมูนิตี้มอลล์ก็จะยิ่งช่วยรักษาศูนย์กลางเมืองทั้งสามแห่งที่ตั้งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกันให้เป็นที่นิยมไปอีกนาน

5. การมีระบบคมนาคมขนส่งหลากหลายทางเลือก (VaryTransportation Options)

ระบบขนส่งมวลชนสี่ประเภทคือ หนึ่ง ทางเท้า สอง เลนจักรยาน สาม ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และ สี่ รถยนต์จังหวัดภูเก็ตให้ความสำคัญมากที่สุด คือ รถยนต์ รองลงมาจะเป็นขนส่งมวลชนเลนจักรยาน และทางเท้าแทบจะให้ความสำคัญน้อยที่สุด จึงกลับกันกับประเทศพัฒนาแล้วที่ลดการตัดถนนใหม่ ไม่มีการสร้างทางยกระดับเพิ่มตอนนี้ที่อเมริกาได้รื้อย้ายทางด่วนให้น้อยลง เพื่อปลูกเป็นพื้นที่ไร่นาในเมืองจะใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลักส่วนเลนจักรยานอยากให้เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกันมากขึ้นด้านทางเดินเท้าต้องขยายกว้างเพียงพอกับการใช้งาน ดังนั้นจึงมองว่าสิ่งที่เมืองกำลังให้ความสำคัญเรื่องการสร้างทางลอดเพิ่มขึ้น หรือตัดถนนเส้นใหม่เป็นเรื่องที่สนับสนุนระบบคมนาคมทางเลือกที่ดีระดับหนึ่งแต่หากเพิ่มเติมในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะอื่นๆควบคู่กันไปด้วยเพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนซึ่งจะทำให้การจราจรมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น

6. การออกแบบสรรค์สร้างพื้นที่ว่างสาธารณะให้มีชีวิตชีวา(Build Vibrant Public Spaces)

สนับสนุนให้มีการสร้างแลนด์มาร์คเพิ่มขึ้นให้เป็นที่พูดถึงน่าจดจำ และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มาเยือนต้องการที่จะเดินทางมาท่องเที่ยว ถ่ายรูปสำหรับภูเก็ต คนทั่วไปจะนึกถึงชายหาด กับแหลมพรหมเทพแต่ตอนนี้ทางภูเก็ตได้ยกระดับเมืองเก่าภูเก็ตให้เป็นจุดที่ห้ามพลาดของผู้มาเยือนส่งผลให้เกิดแลนด์มาร์คสำคัญใจกลางเมือง รวมถึงหอชมวิวเขารังแห่งใหม่ซึ่งมีผู้สนใจมาเที่ยวมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็วนั่นพิสูจน์ให้เห็นว่าจังหวัดภูเก็ตต้องการแลนด์มาร์คแห่งใหม่เพื่อปลุกชีวิตชีวาให้กับพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถใช้สอยร่วมกันได้และเกิดความภูมิใจในถิ่นฐานของตน นักท่องเที่ยวก็อยากที่จะกลับมาเยือนอีกครั้ง

7. การออกแบบสร้างสรรค์ละแวกชุมชนให้มีอัตลักษณ์ (Create ANeighborhood Identity)

ชุมชนแต่ละแห่งมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันตอนนี้ชุมชนต่างๆ ของภูเก็ตค่อนข้างมีอัตลักษณ์ที่น่าสนใจและสามารถศึกษาเทคนิคหรือวิธีการนำเสนอจากประเทศอื่นๆ เช่นที่กรุงโซลประเทศเกาหลีใต้ ที่นั่นมีสถานีรถไฟฟ้าถูกออกแบบตกแต่งตามเอกลักษณ์ของเมืองนั้นๆมีกำแพงเป็นลายกราฟฟิตี้ บ่งบอกถึงตัวตนของเมืองและพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมากสร้างความแตกต่างให้ผู้มาเยือน เกิดความประทับใจแรกเห็นคำว่าอัตลักษณ์ไม่ใช่เพียงเฉพาะบ้านเรือน แต่หมายรวมถึงการแต่งกายหรือวิถีชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วยถ้าภูเก็ตสามารถทำให้แต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นจะสร้างประโยชน์ให้ชาวบ้านได้อย่างมาก ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ทั้งระบบ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของชุมชน มีการเดินทาง การซื้อของที่ระลึกอาหาร ที่พัก เมื่อรายได้สะพัด คนในชุมชนก็เกิดความสุข เพราะอยู่ดี กินดีมีอาชีพมั่นคง



8. การพิทักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ProtectEnvironmental Resources)

ข้อนี้เป็นความพยายามกระชับรูปทรงเมืองไม่สร้างอาคารที่กระจัดกระจายและเว้นการรุกล้ำเขตพื้นที่เกษตรกรรมตามแนวถนนที่สร้างใหม่จะเน้นสร้างสิ่งปลูกสร้างในขอบเขตของเมืองเท่านั้นเพราะจะช่วยประหยัดในเรื่องการขนส่งอาหารเข้าเมือง ลดระยะการเดินทางไปมา สิ่งแวดล้อมก็จะไม่โดนทำลายจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและบังคับใช้อย่างเข้มงวดสำหรับองค์ประกอบนี้ต้องสนับสนุนการดำเนินนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือของภาคเอกชนกับประชาชน ที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเพื่อความยั่งยืนของพื้นที่การเกษตรและแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพของเมือง

9. การสงวนภูมิสถาปัตยกรรม (ConserveLandscapes)

การออกแบบพื้นที่ว่างสาธารณะที่สัมพันธ์กับธรรมชาติเก็บรักษาบริเวณที่มีพื้นที่สวยงาม การสร้างแนวถนน ที่มีต้นไม้อยู่สองฝั่งข้างทางสร้างความภูมิใจในเรื่องของมุมมองทางสุนทรีภาพที่ภูเก็ตบริเวณทิวต้นสนตลอดสองข้างทางเมื่อข้ามสะพานสารสินเป็นจุดที่องค์ประกอบครบถ้วนตามหลักภูมิทัศน์เมืองของถนนสายหลักซึ่งเราเรียกว่า"ประตูเมือง" หรือ เกตเวย์ นี้คือการรักษาภูมิทัศน์เอาไว้ให้เป็นจุดขายเป็นเกตเวย์ที่น่ามอง และประทับใจ สร้างมุมมองที่น่าจดจำการรักษาภูมิทัศน์ธรรมชาติดั้งเดิมมีส่วนสำคัญต่อคุณค่าเมือง ซึ่งไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่มีความสำคัญต่อองค์ประกอบทางภูมิทัศน์มากเกินไปหรือลบล้างภาพความทรงจำของคนในชุมชน แต่ควรเก็บไว้ให้สวยงามและแต่งเติมให้ดูดีเป็นระเบียบยิ่งขึ้น

10. การออกแบบเพิ่มความน่าสนใจ และเป็นที่จดจำ (DesignMatters)

การออกแบบสิ่งที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเช่น สะพานสารสิน (เดิม) ยกระดับให้ดีกว่าเดิมทั้งด้านการใช้สอย และเป็นแลนด์มาร์คเพราะช่วยเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่สร้างจุดเด่นให้กับเกาะภูเก็ตเพิ่มความน่าสนใจและให้ผู้มาเยือนรวมถึงคนในพื้นที่ใช้พื้นที่ตรงนั้นทำกิจกรรมต่างๆจากเดิมที่เป็นเพียงทางสัญจรอย่างเดียว

บทสรุปทิ้งท้าย

อาจารย์ศิวพงศ์ทิ้งท้ายความเห็นว่า “ชุมชนที่น่าอยู่จะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย และการออกแบบอย่างชาญฉลาด (SmartGrowth) หรือ สมาร์ทโกท คือหัวใจสำคัญที่สุดของแนวคิดที่เล่ามาหลายสิ่งหลายอย่างที่เรากำลังทำอยู่อาจจะเหมาะสม เกิดผลลัพธ์ในเชิงบวก หรือผิดพลาดขอให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนศึกษาข้อมูลจากประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้วเป็นบทเรียนในอดีตเมืองเหล่านั้นก็เคยลองผิดลองถูกมาก่อนกว่าที่จะมีชุมชนในฝันที่พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี การเติบโตจากการสร้างสรรค์ชุมชนเมืองต้องใช้เวลาและต้องผ่านกระบวนการมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ตามบริบทของท้องถิ่นเรามักจะอยากได้การท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแต่ความจริงแล้วมองว่าความน่าอยู่ (Livable) ต้องเกิดขึ้นให้ได้ก่อนจากนั้นความยั่งยืน (Sustainable) จะตามมาแน่นอนครับ”

ข้อมูลจาก : งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

(//www.pkru.ac.th/news_modal.php?id_new=3517)

ติดต่อขอรับคำปรึกษาด้านการออกแบบผังเมืองชุมชนได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีม.ราชภัฏภูเก็ต โทร076 240 474-7 ต่อ 4100 หรือพูดคุยโดยตรงกับ อาจารย์ศิวพงศ์ ทองเจือ ที่ www.facebook.com/siwaphong.thongjua.9?fref=ts










Create Date : 09 ตุลาคม 2558
Last Update : 9 ตุลาคม 2558 17:07:25 น. 0 comments
Counter : 2033 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.