...ความรู้สามารถเรียนทันกันได้...
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2559
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
31 สิงหาคม 2559
 
All Blogs
 
จิตวิทยาของการสูญเสีย



จิตวิทยาของการสูญเสีย

มนุษย์เรามีสัญชาตญาณรุนแรงที่ติดตัวเรามาสองอย่าง อย่างแรกคือ กลัวการสูญเสีย อย่างที่สองคือ กลัวความผิดพลาด คำพูดนี้เป็นความจริงหรือไม่ เรามาดูตัวอย่างในชีวิตจริงกันดู

สมมุติให้คุณมีเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทตอนจะเกษียณอายุซึ่งในตอนนั้นไม่สามารถทำงานใดๆได้อีกแล้ว คุณต้องเลือกระหว่างการฝากเงินในธนาคารซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำแต่เงินต้นปลอดภัย กับการลงทุนในกองทุนรวมที่ผลตอบแทนสูงกว่าให้คุณได้ชีวิตที่สะดวกสบายกว่าแต่มีโอกาสขาดทุน คุณจะเลือกลงทุนแบบไหน

เมื่อเราเกษียณอายุและไม่สามารถหาเงินมาเพิ่มได้อีก การสูญเสียในสิ่งที่มีอยู่จะถูกให้ราคามากกว่าค่าเสียโอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีกว่ามาก ในขณะที่หากเราอายุยังน้อย เรายังสามารถหาเงินมาชดเชยกับความสูญเสียได้มาก เราจะให้ราคากับค่าเสียโอกาสมากกว่าการรักษาเงินต้นให้ปลอดภัย

การสูญเสียนั้นไม่มีใครชอบมันแน่นอนครับ ลองคิดดูครับว่าถ้าวันหนึ่งเราเกิดประสบอุบัติเหตุแล้วต้องเสียขาไป เราจะรู้สึกอย่างไร ตรงกันข้าม คนที่เกิดมาไม่มีแขนขาตั้งแต่เกิด จิตใจจะรับมือกับภาวะนี้ง่ายกว่า แถมยังออกมาให้กำลังใจคนแขนขาดีๆอย่างเราได้ด้วย เพราะว่าคำว่าการสูญเสียนั้นมีเงื่อนไขสำคัญมากๆข้อหนึ่งคือ “เราต้องเคยมีมันมาก่อน” ถ้าเราไม่เคยมีมัน เราจะไม่รู้สึกเสียใจแต่อย่างใด “ความไม่มี” ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจเท่ากับการเคยมีแต่ “สูญเสีย”

ทีนี้เรามายกตัวอย่างทางการเงินกันบ้าง สมมุติให้เราได้เงินเดือนมา 20,000 บาท แต่ถูกหักค่าประกันสังคม ภาษี ไป 2,000 บาท เหลืออยู่ 18,000 บาท เราจะรู้สึกแย่กว่าการได้เงินเดือน 18,000 บาท แต่ไม่ถูกหักอะไรเลย ในกรณีแรก เรารู้สึกว่าเงิน 20,000 บาทนี่เป็นเงินของเรานะมาหักนู้นนี่ไปทำไม ในกรณีหลัง 2,000 บาทที่เราถูกริดรอนไป ไม่ปรากฏอยู่ในความรู้สึกสูญเสียของเรา

ความรู้สึกสูญเสียจะยิ่งรุนแรงมากถ้าของที่เสียไปไม่สามารถได้คืน ถาวร มีอยู่น้อย มีความสำคัญมาก ให้ความสุขได้มาก สร้างขึ้นใหม่ได้ยาก ยิ่งความสูญเสียยิ่งมาก ปฏิกิริยาของเราต่อการสูญเสียก็จะยิ่งมาก บางครั้งก็มากพอที่จะทำให้เราเสียของอื่นดีๆที่เรามีอยู่เช่น เพื่อน ทรัพย์สิน เงินทอง สุขภาพ เวลา ไปเพิ่มเติมเพราะด้วยความที่ใจยังไม่สามารถยอมรับความสูญเสียนั้น และต้องการได้คืนมา

คนจนหรือคนรวยก็มีสิทธิ์เสียใจจากความสูญเสียได้พอๆกัน แต่ของที่มีค่าของแต่ละคนนั้นย่อมไม่เหมือนกัน เงินทองและบ้านอาจเป็นของสำคัญของคนยากจน ในขณะที่สุขภาพร่างกาย อาจมีความสำคัญกว่าสำหรับคนร่ำรวย ยิ่งเรามีสิ่งใดน้อย เราจะหวงแหนปกป้องมันอย่างมาก และจะเสียใจมากเมื่อจะต้องสูญเสียไป ความเสียใจจากความสูญเสียจึงไม่เหมือนกันแม้ในกรณีเดียวกัน แต่ทุกคนมีสิทธิที่จะสูญเสียหรือเสียใจได้เท่าเทียมกัน

ความผิดพลาดก็น่ากลัวสำหรับเราพอกัน เพราะมันสามารถนำมาสิ่งความสูญเสีย เสียเงิน เสียเวลา เสียหน้า เสียโอกาส ดังนั้นพอๆกับการหลีกเลี่ยงการสูญเสีย เราก็มีสัญชาตญาณที่คอยระมัดระวังความผิดพลาดเป็นอย่างมาก

การป้องกันความเสียใจคงไม่ใช่การป้องกันการสูญเสียหรือความผิดพลาดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะความสูญเสียบางอย่างเป็นเรื่องที่เราป้องกันไม่ได้ เราจึงควรเตรียมแผนการบรรเทาความเสียหายเมื่อเกิดความสูญเสียไว้ด้วย แผนการบรรเทาความเสียหายนั้นมีได้หลายวิธี ตั้งแต่ การซ้อมรับมือ การกระจายความเสี่ยง การประกันชีวิต ประกันภัย ประกันสุขภาพ หรือการตัดความเสียหายก่อนจะลุกลามเกินควบคุม ซึ่งทั้งหมดนี้ จะต้องทำไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย จึงจะได้ผลดี

คนไทยหลายคนนั้นยังไม่เคยได้รับอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ดีในชีวิต แต่เขาจะทนได้และไม่ขวนขวายใดๆเพราะเมื่อไม่เคยได้ ก็ไม่อยากจะได้ และไม่รู้สึกได้ถึงความสูญเสีย แต่ถ้าให้คนต่างชาติที่เคยได้มีมาตรฐานที่ดีในการดำรงชีวิตมาอยู่ในเมืองไทย ผมคิดว่าหลายคนคงรู้สึกได้ว่า เขาสูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่เคยมีไปและจะต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านั้นคืนมา

การลงทุนหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ที่เราจะต้องทำผิด และขาดทุนครับ ดังนั้นการเตรียมซ้อมพร้อมรับมือกับมันจึงเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นนิสัย เงินที่คุณไม่สามารถเสียมันไปได้นั้นไม่ควรเอามาเป็นเงินลงทุน และทุกการลงทุนเราจะต้องมีการจัดการป้องกันความเสี่ยงให้กับมันเป็นอย่างดี

แต่ความสูญเสียก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่แง่เสียหายหรือเรื่องร้ายๆเท่านั้นครับ สำหรับใครที่เคยมีประสบการณ์ของความสูญเสียมาก่อน อย่างน้อยความสูญเสียก็สอนให้เรารู้ว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญต่อเรา และคอยเตือนเราให้รักษาสิ่งดีๆที่เรายังมีเหลือ และมีแผนการตระเตรียมและการจัดการที่ดีขึ้น หากเราไม่ต้องการที่จะพบมัน


ความสูญเสียบางครั้งก็สามารถเป็น “กำไร” ให้กับนักลงทุนได้ครับ





Create Date : 31 สิงหาคม 2559
Last Update : 31 สิงหาคม 2559 16:21:25 น. 0 comments
Counter : 1386 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Querist
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




Friends' blogs
[Add Querist's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.