...ความรู้สามารถเรียนทันกันได้...
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2559
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
26 สิงหาคม 2559
 
All Blogs
 
กฏ 80-20 ของ วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Federico Damaso Pareto)





กฏ 80-20 ของ วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Federico Damaso Pareto)

จำได้ว่าสมัยที่เรียนปริญญาตรี มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้พูดถึงกฏ 80-20 ของวิลเฟรโด พาเรโต ซึ่งตั้งแต่วันนั้นมาจนวันนี้ จำได้ไม่รู้ลืม.. เพราะกฏ 80 – 20 นี้ มันเป็นเรื่องจริงในทุกๆ สถานการณ์จริงๆ

กฏนี้มีอยู่ว่า “อะไรก็ตามที่มีอยู่เต็ม 100% นั้น 80% จาก 100% จะถูกครอบครองโดย 20% และอะไรก็ตามที่เหลืออีก 20% จะถูกครอบครองโดย 80%” เขียนเองก็งงเอง ยกตัวอย่างเลยแล้วกัน เช่นว่า ทรัพย์สินของคนไทย 100% ใน 100% นั้น ทรัพย์สินจำนวน 80% ถูกครอบครองโดยคน 20% และทรัพย์สิน 20% ที่เหลือ ถูกครอบครองโดยคน 80% เฉลี่ยๆ กันไป หรืออาจจะเช่นว่า สมมติร้านค้ามีสินค้า 100 ชนิด จำนวนสินค้าที่ขายได้ทั้งหมด 100% นั้น 80% ของที่ขายได้มาจากสินค้าเพียง 20 ชนิด และสินค้าที่ขายได้ 20% ที่เหลือ คือ สินค้า 80 ที่เหลือ.. หลักการนี้ ตัวเลขมันอาจจะไม่ตายตัวขนาดว่า 80-20 เสมอไป อาจจะ 70-30 หรือ 90-10 ก็เป็นไปได้

ประเด็นก็คือ ถ้าเราเชื่อว่าหลักการนี้เป็นความจริง การที่เราต้องการความสำเร็จ เราก็ต้องทำอะไรให้สวนทางกับคนอื่น อย่างนั้นหรือ หากกฏนี้เป็นความจริง มันควรต้องเป็นแบบนั้น ซึ่งหากจะนิยามให้ชัดๆ ผมไปได้คำจำกัดความที่น่าจะ “ชัดเจน” จากหนังสือที่อาจารย์กุศยา ลีฬหาวงศ์ ท่านได้แปลไว้ โดยท่านใช้คำว่า “การคิดแบบสองชั้น” ซึ่งมัน “โดน” มากๆ ทีเดียว ผมคิดว่าหมายถึง “การที่คนบางคนคิดแบบตลบหลังคนส่วนใหญ่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบ”

“การคิดแบบสองชั้น” ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินกว่าคนธรรมดาจะเข้าใจ แต่ผมเชื่อว่าต้องมีคน “ชี้ทาง” ให้เกิดความเข้าใจใน “ชุดความคิด” (mind-set) นี้ และจากสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผมได้พบเจอมา ปรากฏว่า “ผู้ที่ประสบความสำเร็จ” มักจะเป็นผู้ที่มีความคิดส่วนกระแส ผมยกตัวอย่างว่า นักลงทุนที่เก่งกาจบนโลกใบนี้ เช่น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” หรือ “แอนโทนี โบลตัน” ผมสัมผัสได้ว่า เค้าน่าเข้าใจสิ่งนี้ หรือแม้แต่เฮีย “เจ้าของร้านตู้สติ๊กเกอร์” ที่อยู่ในช่วงบทต่อท้ายของ “หมีส้ม เล่ม 2” เค้าก็น่าจะเข้าใจเรื่องนี้นะ..

“การคิดแบบสองชั้น” ผมขอลองอธิบายมุมความคิดอันเล็กน้อยของผมเอง ก็คือ “โอกาสในการทำการงานใดๆ ถ้ามีผู้ที่เข้ามามากแล้ว ความได้เปรียบ ในการเข้าถึงโอกาสก็จะหายไป ผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้ ก็อาจจะเริ่มกระทำการในทิศทางที่ตรงกันข้ามหรือหยุดรอเวลาที่เหมาะสม” มันก็คงคล้ายๆ กับเราขับรถไปเที่ยวหัวหิน หากไปในวันหยุดยาวแล้วนั้น เราก็อาจจะไม่ได้เที่ยว แต่ไปเจอคนมากมายกับรถติดแทน เราก็เลยเลือกที่จะอยู่กรุงเทพฯ หรือการที่เราขายน้ำผลไม้ในถนนเส้นหนึ่ง แล้วปรากฏว่าขายดีมาก หลังจากนั้นก็มีคนมากมาย มาขายกาแฟ ผลไม้ หรือไก่ทอด ทำให้น้ำผลไม้ของเรายอดขายตกลงไปมากจนอยู่ไม่ได้ หรือ “ตลาดของเราอาจจะวายไปแล้ว” เราจึงชิงตัดหน้าขายบูทของเราในราคาสูงก่อนที่ราคาบูทจะร่วงลงมาในวันที่คู่แข่งมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งในแง่ของการลงทุน ผมว่ามันมีอะไรที่คล้ายกัน..

ผมได้มีโอกาสรู้จักผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เก่งกาจท่านหนึ่ง ท่านมักจะทำตัว “อินดี้” หรือสวนกระแสเสมอ เมื่อในวันเยาว์ ผมขอเล่าเรื่องในวันนั้นให้ฟัง ก็แล้วกันครับ..

ผม : ช่วงนี้ปลูกตึกขายเป็นยังไงบ้างครับ
เฮีย : ช่วงนี้ยังไม่ปลูก ต้นทุนสูง ค่าแรงแพง
ผม : ต้นทุนอะไรสูงเหรอครับ
เฮีย : ต้นทุนทุกอย่างสูง ช่วงนี้คนมาปลูกตึกกันเยอะ รออีกสักพัก
ผม : ทำไมต้องรอสักพักครับ
เฮีย : ช่วงนี้เศรษฐกิจค่อนข้างดี วัตถุดิบมีราคาแพง ที่ดินก็แพง
ผม : เศรษฐกิจดีก็น่าจะดีสิครับ
เฮีย : เศรษฐกิจดีมันก็ดีอยู่ แต่ถ้าวันไหนมันทรุด แล้วเราออกไม่ทัน อันนี้จะลำบาก เพราะปลูกตึกขาย รอบนึงใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี ถ้าของตายคามือ ทุนจมขาดทุนมหาศาล
ผม : แล้วจะทำอย่างไรล่ะครับ
เฮีย : ก็ต้องรอให้เศรษฐกิจมันแย่ลงมาเสียก่อน ตอนนั้นคนร้อนเงินก็เอาที่ดินมาขายราคาไม่แพง วัตถุดิบขายไม่ออกราคาก็ถูกลง ค่าแรงคนงานก็ถูกเพราะคนตกงาน พอสร้างเสร็จ ถึงเศรษฐกิจไม่ดีเราก็ยังขายได้ เพราะต้นทุนเราถูกกว่าเจ้าอื่น เค้าอาจจะสร้างตอนที่ต้นทุนแพง
ผม : งั้นประเด็นก็คือเรื่องของต้นทุน
เฮีย : ใช่แล้ว ต้นทุน คือ เรื่องสำคัญ เพราะในเรื่องของ “คุณภาพ” ทุกคนเข้าถึงได้หมด สำคัญแต่ว่า “คุณภาพ” ที่ได้มา เราต้องจ่ายไปในราคาเท่าไหร่ ราคาของสินค้าช่วงที่มีราคาแพง อาจจะสูงกว่าช่วงที่ราคาตกต่ำ ได้ถึง 30-50% ทีเดียว

ผมเองหลังจากได้ฟังในวันนั้น ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพิ่งจะมาเข้าใจก็เมื่อไม่กี่ปีมานี้ (ตอนที่โดนวิกฤตซับไพร์ม) แต่จากที่ผมสัมผัส ผมคิดว่าในขณะที่เฮียกำลังนั่งเฉยๆ รอจังหวะ น่าจะมีคนจำนวนมาก กำลังพุ่งเข้าไปฉกฉวย เพื่อให้ได้อะไรติดมือมาคนละเล็กคนละน้อย และเฮียซึ่งคร่ำหวอดในวงการ อาจจะรู้สึกว่าคนจำนวนมากเหล่านั้น กำลังทำตลาดพัง พังเพราะอะไรกันนะ ผมลองๆนึกดู อาจจะเป็นเพราะ,,

“พังเพราะแย่งกันปลูก แย่งกันผลิต ทำให้ผู้ขายวัตถุดิบหรือเจ้าของที่ แห่กันขึ้นราคา ทำให้ต้นทุนสูง” หรืออาจจะ“พังเพราะเมื่อหลังจากผลิตเสร็จพร้อมๆกัน ความต้องการไม่เพียงพอกับสิ่งที่แห่กันผลิต ทำให้แต่ละรายยอมกดราคาลงเพื่อไม่ให้ของเหลือ ทำให้ต้องขายขาดทุน และตลาดก็พังลงมา”

อันที่จริงในตลาดหลักทรัพย์ ผมก็เห็นบางบริษัทขายสินทรัพย์ช่วงที่ราคาพีค และยอมลดราคาเช่าเพื่อแลกกับการทำสัญญาเช่าระยะยาว (เพราะราคากำลังอยู่ในระดับสูง) มีการขอวงเงินกู้จากธนาคารเอาไว้มากมายแต่ยังไม่ใช้ (และไม่ยกเลิกวงเงินด้วย หม้จะไม่ได้ใช้ ยอมเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาวงเงินนั้นเอาไว้ แสดงถึงความจงใจทำบางอย่าง) พอช่วงเศรษฐกิจตก ทรัพย์สินก็มีราคาถูกลงมาก ก็เอาวงเงินกู้ที่มี ไปหักคอคนที่ “เจ๊ง” ซื้อสินทรัพย์มาในราคาถูกๆ (ราคาสินทรัพย์ในเวลาที่เค้าซื้อมีราคาเพียง 30-40% ของราคาในช่วงพีค) ในขณะที่สินทรัพย์บางส่วนยังคงได้ค่าเช่าในราคาสูงเพราะทำสัญญาระยะยาวไว้ อันนี้ผู้บริหารท่านั้นก็บริหารงานได้เยี่ยมจนทำให้บริษัทเป็นกลุ่ม 20% เหมือนกัน

ทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่บทต่อไปที่ค่อนข้างสำคัญในแง่ของการลงทุน โดยที่ผมจะอธิบายในเรื่อง “วัฏจักร” แต่สำหรับในบทนี้ ผมเชื่อว่า เฮีย คือ 20% ซึ่งอันที่จริงแล้ว กฏ 80-20 มีความหมายที่ลึกซึ้งและกว้างไกลกว่านี้มากมาย สิ่งที่ผมได้หยิบยกมา เป็นเพียงการประยุกต์ กฏ 80-20 กับการอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ในด้านของการลงทุนเท่านั้นเอง..







Create Date : 26 สิงหาคม 2559
Last Update : 29 สิงหาคม 2559 9:39:09 น. 0 comments
Counter : 1401 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Querist
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




Friends' blogs
[Add Querist's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.