Group Blog
All Blog
### การสร้างความสงบของใจ ###
















“การสร้างความสงบของใจ”

หน้าที่ของผู้ที่อยากจะสร้างความสงบของใจ

จึงอยู่ที่การหยุดความคิดปรุงเเต่ง

 จะหยุดความคิดปรุงเเต่ง โดยสั่งว่าต่อไปนี้จะไม่คิด

มันก็สั่งไม่ได้ พอสั่งไม่คิดปั๊บมันก็คิดต่อ

พระพุทธเจ้าจึงต้องสอนให้ใช้อุบายเครื่องมือ

ที่จะหยุดความคิดปรุงเเต่ง คือให้ไปคิดกับเรื่อง

ที่ไม่ทำให้ความคิดเกิดความอยากตามมาอย่างต่อเนื่อง

 เช่นให้คิดอยู่กับคำเดียว เช่นพุทโธๆ

ถ้าบริกรรมพุทโธๆ ไปภายในใจได้ ความคิดก็จะไม่มีตามมา

 แต่ถ้าไม่มีกำลังที่จะอยู่กับพุทโธ ก็จะมีความคิดแทรกเข้ามาได้

 ถ้าปล่อยให้ความคิดแทรกเข้ามาระหว่าง ที่เจริญพุทโธๆ

 ก็จะไม่ได้รับความสงบ จะต้องอยู่กับพุทโธเพียงอย่างเดียว

ไม่ให้ความคิดแทรกเข้ามาได้

 เบื้องต้นอาจจะแทรกเข้ามาเพราะว่า

 ตอนเริ่มต้นนี้พุทโธยังไม่มีกำลังยังไม่ต่อเนื่อง

 แต่ถ้าเราพยายามบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ ให้มันต่อเนื่อง

ให้มันเป็นไปอยู่เรื่อยๆ ต่อไปความคิดก็จะแทรกเข้ามาน้อยลงไปๆ

 แล้วก็จะไม่แทรกเข้ามา หรือถ้าเราไม่ถนัด

ที่จะอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ ใจเรายังอยากที่จะปรุงเเต่ง

 เราก็ปรุงเเต่งด้วยการสวดมนต์ก็ได้ ท่องคาถา

พระสูตรใดก็ได้ ท่องพระธัมมจักก็ได้ ท่องสติปัฏฐานสูตรก็ได้

เวลาเราท่องไปๆ ใจเราก็จะไม่สามารถที่จะไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้

อย่างพระที่บวชท่านก็มีอุบายให้ท่องพระปาฏิโมกข์

 เป็นพระวินัย เป็นศีล ๒๒๗ ข้อ ของพระภิกษุ

ถ้าท่องพระปาฏิโมกข์ก็จะไม่ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้

เพราะใจจะต้องจดจ่อ จะต้องคิดอยู่กับพระวินัยแต่ละข้อ

ตั้งแต่ปาราชิก ๔ ขึ้นไปจนครบ ๒๒๗ ข้อ

ถ้าท่องอย่างต่อเนื่องไม่คิดอะไร ใจก็เย็นจะสบาย

ใจก็จะมีสติที่เข็งแรง พอท่องเสร็จแล้วจะนั่งสมาธิต่อเลยก็ได้

จะบริกรรมพุทโธไปอย่างเดียวต่อก็ได้ หรือจะดูลมหายใจต่อก็ได้

ถ้าท่องมามากแล้วเหนื่อย อยากจะหยุดท่อง

 ใจไม่อยากจะคิดแล้ว ใจอยากจะอยู่เฉยๆ

อยากจะรู้ก็ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว

แล้วคอยสังเกตดูไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

ให้รู้อยู่กับหายใจเข้า - ออกของลม เหมือนกับคนที่เขาเฝ้าอยู่ที่ประตู

เขาก็จะดูคนที่เดินเข้าเดินออก เขามีหน้าที่ดูตรงนั้นเท่านั้นเอง

ดูว่าใครกำลังเดินเข้ามา ใครกำลังเดินออกไป ไม่ไปทำหน้าที่อื่น

 อยู่ตรงประตูนั้นเฝ้าดูคนเดินเข้าเดินออก การดูลมก็เป็นลักษณะนั้น

ก็ให้ดูลมเข้า ดูลมออก ลมมันต้องเข้าแล้วมันถึงจะออก

 ออกแล้วมันถึงจะเข้า ก็ให้รู้อยู่แค่นี้ว่ากำลังเข้าหรือกำลังออก

แล้วก็รู้ว่ามันหยาบหรือละเอียด หยาบก็คือแรง

เวลานั่งไปใหม่ๆ ลมจะแรง แต่นั่งไปนานๆ เข้าจิตเริ่มสงบ

ลมก็จะละเอียดลงไป เบาลงไป ลมละเอียดหรือลมหยาบ

 หายใจสั้นหรือหายใจยาว ร่างกายนี้บางเวลาเขาก็จะหายใจยาว

 ถ้าสงบมันก็จะหายใจยาว แต่ถ้าไม่สงบตื่นเต้นตกใจมันก็จะหายใจสั้น

 ก็ให้รู้ตามความจริงเท่านั้นเอง ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ภาวนา

ที่จะไปควบคุมบังคับลมให้สั้นให้ยาวให้หยาบให้ละเอียด

 เพียงแต่ใช้ลมเป็นที่ผูกใจเป็นที่ทำงานของใจ

เพื่อไม่ให้ใจไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ

คำว่ากรรมฐานก็คือที่ตั้งของงานนี่เอง กรรมแปลว่างาน

ฐาน ก็คือที่ตั้ง การภาวนานี้ก็เป็นการทำงาน คือเอาจิตมาทำงาน

เพื่อที่จะได้ไม่ไปคิดเรื่องราวต่างๆ กรรมฐานจึงเป็นที่ตั้งของงาน

ก็มีหลายชนิดด้วยกัน ลมก็เป็นที่ตั้งของงานอย่างหนึ่ง

พุทโธก็เป็นที่ตั้งของงานอย่างหนึ่ง ที่ทำงานของใจ

 ส่วนพระปาฏิโมกข์ หรือพระสูตร สวดมนต์คาถาต่างๆ อันนี้ก็เป็นงาน

 งานที่จะทำให้ใจนิ่งใจสงบ ใจระงับจากความคิดปรุงเเต่งนี่เอง

 ถ้าสามารถที่จะบังคับใจให้ทำงานเหล่านี้ได้

ผลก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

 จิตก็จะต้องรวมเข้าสู่ความสงบ เวลาจิตสงบก็จะเย็น จะสบาย จะนิ่ง

 จะเป็นอุเบกขา จะสักแต่ว่ารู้ แต่จะไม่มีความคิดปรุงเเต่งจะรู้เฉยๆ

ความคิดหยุดทำงานชั่วคราว

 เวลานั่นก็จะเป็นเวลาที่ได้เสพกับความสุข ที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขต่างๆ

ที่ได้รับผ่านทางร่างกาย ถ้าได้พบกับความสุขแบบนี้แล้ว

ก็จะเกิดฉันทะ วิริยะ คือเกิดความยินดีความพอใจ

เกิดความขยันหมั่นเพียรที่จะสร้างความสุขแบบนี้ให้มีเพิ่มมากขึ้น

ให้มีนานขึ้น เพราะในเบื้องต้นนี้จะสงบได้ชั่วคราวเดี๋ยวเดียว

 เบื้องต้นท่านก็เรียกว่า ขณิกสมาธิ คือสงบได้แวบเดียว ขณะเดียว

 จิตรวมลงปั๊บแล้วก็ถอนออกมา

 แต่ขณะที่รวมลงนั้นมันจะเกิดความรู้สึกที่มหัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง

เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่กว่าการถูกล๊อตเตอรี่รางวัลที่ ๑

หรือได้แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี มันจะมีความรู้สึกสุขอย่างมาก

พอออกจากสมาธิแล้วมันก็รู้แล้วว่า นี่แหละคือความสุขที่แท้จริง

 ความสุขที่ไม่ต้องไปวุ่นวายกับใคร

ความสุขที่ไม่ต้องหาเงินหาทองแทบเป็นแทบตาย

 ความสุขที่ไม่ต้องมีร่างกาย ที่จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย

มาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือ

ความสุขนี้มีได้ด้วยการมีสติ มีกรรมฐาน มีที่ตั้งของงาน

 มีพุทโธ มีบทสวดมนต์ มีบทพระสูตรต่างๆ สวดพระปาฏิโมกข์

 อันนี้แหละที่จะทำให้ใจเข้าสู่ความสุขความสงบ

แล้วพอทำได้ครั้งหนึ่งแล้ว จะรู้ว่าจะทำได้ไปเรื่อยๆ

อยู่ที่ว่าจะมีความพยายามบากบั่นหรือไม่

 เพราะการจะเข้าไปในแต่ละครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นของง่าย

ในช่วงระยะเริ่มแรก แต่เมื่อทำเข้าไปบ่อยๆ แล้ว

 กำลังของสติจะมีเพิ่มมากขึ้นไป

แล้วก็จะสามารถเข้าสู่ความสงบได้ง่ายขึ้นได้เร็วขึ้น

 จนต่อไปนี้จะเข้าไปได้อย่างทันทีทันใด

 ก็เหมือนกับการทำอะไรต่างๆ เช่นเวลาขับรถยนต์

 เวลาขับรถก็จะรู้สึกว่ามันยากเหลือเกิน

มันมีอะไรจะต้องเรียนรู้มากมาย ไหนจะต้องเข้าเกียร์

ไหนจะต้องเหยียบครัช ไหนจะต้องเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรค

 ไหนจะต้องจับพวงมาลัย มันรู้สึกว่างานมันมาก

เวลาขับใหม่จึงรู้สึกว่า ยาก แต่เราขับไปเรื่อยๆ

พอเกิดความชำนาญขึ้นมาแล้ว ทีนี้ก็ไปได้อย่างรวดเร็ว

หรือการเรียนพิมพ์ดีดก็เหมือนกัน เบื้องต้นก็คอยจิ้มทีละนิ้วๆ ไป

ซ้อมไปเรื่อยๆ ให้เกิดความชำนิชำนาญ พอชำนาญแล้ว

ทีนี้ไม่ต้องสั่งเลย เพียงแต่เห็นตัวหนังสือนิ้วก็จะกดเเป้น

 อยากจะพิมพ์ตัวไหนก็สามารถพิมพ์ได้เลย

เพราะความชำนิชำนาญนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่ตรงไหน

 ความยากก็อยู่ตรงที่ไม่เคยชินเท่านั้นเอง

ใจของเรานี้มันเคยชินอยู่กับการคิดปรุงเเต่ง

เคยชินอยู่กับการคิดเรื่อยเปื่อยแล้วก็ชินอยู่กับการตอบสนองตัณหา

ที่เกิดจากความคิดต่างๆ

พอคิดถึงเรื่องอะไรมันก็จะเกิดความอยากกับเรื่องนั้นทันที

แล้วมันก็จะไปทางทำตามความอยาก

 ทีนี้พอจะให้มันหยุดทำอย่างนี้ มันก็เลยรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากเย็นมาก

 ไม่ให้คิด ให้คิดอยู่แต่เรื่องที่ไม่เคยคิดที่ไม่ชอบคิด

เช่นให้สวดมนต์อย่างนี้ ให้บริกรรมพุทโธอย่างนี้ มันก็จะไม่ชอบ

มันชอบคิดเรื่องอื่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

เรื่องลาภยศ สรรเสริญ เรื่องคนนั้นเรื่องคนนี้

 พอจะให้มันมาไม่คิดมันก็เกิดความอึดอัดใจขึ้นมา

อันนี้แหละที่มันยาก ยากเพราะว่าไม่เคยทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ

 แล้วก็ต้องหยุดทำในสิ่งที่เคยทำมา

 เหมือนกับคนที่จะต้องเปลี่ยนมือ เคยถนัดมือขวา

แล้วพอดีมือขวาเสียไป ใช้งานไม่ได้ ต้องมาใช้มือซ้ายแทน

เวลาใช้ใหม่ๆก็รู้สึกว่ายาก แต่ถ้าใช้ไปได้เรื่อยๆ แล้ว

ต่อไปก็จะเกิดความถนัดขึ้นมา

 แม้แต่คนไม่มีมือเขายังใช้เท้าแทนมือได้

บางคนใช้เท้าวาดเขียนสวยกว่า คนใช้มือวาดอีก

 เพราะเขาฝึกใช้เท้าเขียนไปเรื่อยๆ

ผู้ที่เขียนจริงๆ ไม่ใช่มือไม่ใช่เท้า

มือเท้านี้เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเอง

ผู้ที่เขียนก็คือจิต ความคิดปรุงเเต่งนี่เอง

 ปรุงเเต่งสั่งให้มือหรือเท้าขยับไปทางไหน ทางซ้าย ทางขวา

ทางข้างบนหรือข้างล่างขึ้นหรือลง

ใหม่ๆ เวลาใช้เครื่องมือที่ไม่เคยใช้มันก็จะใช้ไม่ได้คล่องแคล่วว่องไว

 แต่พอใช้ไปเรื่อยๆ ซ้อมไปเรื่อยๆ ต่อไปก็เกิดความชำนาญขึ้นมา

อันนี้ก็เหมือนกันเรื่องของการทำใจให้สงบก็เป็นแบบเดียวกัน

 ใจไม่เคยทำความสงบกัน ชอบทำแต่ความคิดปรุงเเต่งกัน

 พอให้มาหยุดความคิดปรุงเเต่ง มันก็เลยรู้สึกว่ายาก

 ถ้าเป็นภาษาวิศวะก็คือมันก็มี โมเมนตัมของมันอยู่

 เราจะหยุดโมเมนตัมนี้ จะทำอย่างไรก็ต้องฝืนต้องดันมัน

 เราต้องพลังที่เท่ากับโมเมนตัมถึงจะหยุดมันได้

ถ้าพลังที่จะหยุดมันอ่อนกว่ามันก็ยังผลักดัน ไปตามทางของมันอยู่

 ทีนี้ในเบื้องต้นสติของเรานี้มันอ่อนกว่าพลังของความคิดปรุงเเต่ง

 ความคิดปรุงเเต่งมันก็ยังฉุดลากให้ไปคิดได้

 ทั้งๆที่นั่งสมาธิอยู่ตรงนี้แหละ พุทโธอยู่ตรงนี้แหละ

พุทโธไปคำสองคำมันก็ไปแล้วมันมีกำลังมากกว่า

 มันจะดึงไปเรื่อยๆ เราก็ต้องพยายามฝืนมัน

พยายามสร้างสติด้วยการเจริญสติทั้งวันเลย

อย่ามาเจริญสติเฉพาะเวลานั่งเท่านั้น เพราะจะไม่มีกำลังพอ

นั่งไปแล้วจะไม่เกิดผล พอไม่เกิดผลก็ไม่มีความอยากจะนั่ง

นั่งไปแล้วไม่ได้อะไร แล้วบางทีก็มีคนสอนว่าไม่ต้องนั่งหรอก

ไปปรุงเเต่งเลยไปปรุงเเต่งไปทางปัญญาเลย

 ฆ่ากิเลส ละตัณหาด้วยปัญญาเลย แต่ก็เป็นปัญญาแบบสัญญา

 คือเวลาไม่เจอกิเลสก็จำได้ เวลาเจอกิเลสก็ลืมเลย

เวลาพิจารณาว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็พิจารณาได้

แต่พอไปเจอกิเลสเข้า ลืมไปหมดเลย

เช่นพิจารณาว่าลาภยศ สรรเสริญ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พอมีคนเอาลาภยศ สรรเสริญมาล่อใจหน่อยแล้วไปเลย

ใครมาเสอนเงินทองให้ก้อนหนึ่งให้ไปทำโน่นทำนี่หน่อยก็ไปเลย

 ใครมาเสนอตำแหน่งให้หน่อยก็ไปเลย

แต่ถ้าจะเป็นปัญญาจะหยุดกิเลสได้นี้

ต้องเป็นปัญญาที่มีสมาธิ เป็นผู้สนับสนุน

เพราะเวลาใจมีสมาธินี้มันมีความสุขอยู่แล้ว มันพออยู่แล้ว

 มันรู้ว่าไม่มีอะไรจะสุขจะดีเท่าความสุขที่ได้จากสมาธิ

เวลาใครจะเอาอะไรมาล่อ เอาเงินทองมาล่อมันไม่ไป

เพราะมันพิจารณาด้วยปัญญาแล้วว่ามันเป็นของชั่วคราว

 ได้มาแล้วเดี๋ยวมันก็ต้องหมดไป

 ขึ้นขี่หลังเสือเวลาลงจากหลังเสือก็จะถูกเสือกัด

เวลาได้ตำแหน่งก็ดีอกดีใจ แต่เวลาพ้นจากตำแหน่ง

มันก็เศร้าสร้อยหงอยเหงา

เวลามีตำแหน่งก็มีหน้ามีตามีบริษัทมีบริวาร

พอเวลาพ้นจากตำแหน่งแล้วก็ไม่มีใครเขาเหลียวแล

ถ้าพิจารณาด้วยปัญญาแล้วมีสมาธิมาสนับสนุน มันก็ไม่เอาดีกว่า

อยู่อย่างนี้ดีกว่า

ดังนั้นก่อนที่จะใช้ปัญญา ก่อนที่จะใช้ความคิดทำลายตัณหา

ความอยากที่เป็นตันเหตุของความทุกข์ได้

จึงต้องมีสมาธิเป็นผู้สนับสนุนก่อน

ถ้ามีสมาธิแล้วทีนี้ก็จะไม่อยากได้อะไรอย่างจริง

เพราะพิจารณาด้วยปัญญาแล้วก็จะเห็นว่ามันเป็นของชั่วคราว

 เวลาหมดไปนี้มันเป็นเวลาเศร้า เวลาทุกข์

ถ้าไม่อยากเศร้า ไม่อยากทุกข์ก็อย่าไปเอามันดีกว่า

อยู่แบบไม่มีอย่างนี้ดีอยู่แล้ว สบายอยู่แล้ว สุขอยู่แล้ว

 ไปหาเหามาใส่หัวทำไม คนที่มีสมาธิจะไม่ค่อยหิวกับลาภยศสรรเสริญ

จะไม่หิวกับอะไรต่างๆ แต่มันยังมีความอยากอยู่

เพราะว่ามันยังไม่ได้ถูกกำจัดด้วยปัญญาเท่านั้นเอง

 ถ้าไม่มีปัญญาก็อาจจะถูกความอยากหลอกไปได้

ถ้าไม่ระมัดระวัง เช่นคนที่มีอิทธิฤทธิปาฏิหารย์

มีความสามารถพิเศษ ก็อาจจะเป็นเหยื่อของตัณหาได้

เวลามีโอกาสที่จะได้ลาภยศ สรรเสริญ

 ด้วยการใช้อิทธิฤทธิปาฏิหารย์ของตน

ก็อาจจะไปติดกับกับตัณหาความอยากได้

นี่ก็เป็นเพราะว่าอิทธิฤทธิปาฏิหารย์นี้มันไม่ใช่เป็นสัมมาสมาธิ

 มันไม่ได้เป็นสมาธิที่ทำให้ใจมีความอิ่มมีความพอ มีความสุข

มันต้องเป็นสัมมาสมาธิคือจิตต้องเป็นอัปปนา เป็นอุเบกขา

 สักแต่ว่ารู้ อยู่กับความว่าง สงบ มีความอิ่มมีความพอ

ถ้ามีสมาธิแบบนี้แล้วจะไม่หิวกับอารมณ์ต่างๆ

แต่เวลาออกจากสมาธิมา ความอิ่มมันก็จะค่อยๆ จางหายไป

แล้วความอยากความหิวก็จะตามมาได้

แต่ถ้ามีปัญญามาคอยเตือน เวลาเกิดความอยากว่า

อย่าไปอยาก อยากแล้วจะทุกข์ก็จะหยุดได้

เพราะยังมีความอิ่มความพอ ที่ประคับประคองอยู่ในใจ

อยู่ช่วยคอยดึงใจไว้ไม่ให้ไปติดกับความอยาก

ดังนั้นการที่เราจะใช้ปัญญาเพื่อทำลายกิเลสตัณหา

ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์นี้ เราต้องทำใจให้สงบก่อน

 และการที่จะทำใจให้สงบก็ต้องมีสติก่อน

สติเป็นต้น สมาธิเป็นปลาย คือสติเป็นเหตุของสมาธิ

แล้วสมาธิก็จะเป็นผู้สนับสนุนปัญญา

ในการที่จะต่อสู้กับตัณหาความอยากต่างๆ

ถ้าปัญญาไม่มีสมาธิเป็นผู้สนับสนุน

ปัญญาก็จะไม่มีกำลังพอที่จะละตัณหาความอยากได้

 ปัญญานี้มีอยู่ ๓ ระดับด้วยกัน

 ระดับที่๑ ที่ ๒ เรียกสุตมยปัญญากับจินตามยปัญญา

 สุตะก็คือปัญญาที่เกิดจากการได้ยินได้ฟัง

อย่างในขณะนี้เรากำลังได้ยินได้ฟังเรื่องของปัญญา

 เรื่องของการดับกิเลส แต่เรายังไม่สามารถดับกิเลสได้ ละตัณหาได้

เพราะมันยังไม่ได้เป็นภาวนามยปัญญา

ไม่ได้เป็นปัญญาขั้นที่ ๓ ชนิดที่ ๓

ชนิดที่ ๑ ที่ ๒ นี้เป็นปัญญาแต่ไม่มีน้ำหนักพอที่จะไปสู้กับตัณหาได้

 รู้ว่าตัณหาเป็นต้นเหตุของความทุกข์

 รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยากได้เป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา

แต่ก็ยังหยุดตัณหาไม่ได้

จินตามยปัญญาก็แบบเดียวกับสุตมยปัญญา

คือหลังจากที่เราได้ยินได้ฟังแล้วเรานำเอาไปใคร่ครวญ

พิจารณาต่อเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ลืม

อันนี้เรียกว่า จินตามยปัญญา ก็คอยเตือนว่าอย่าไปติดกับตัณหา

 แต่พอมีตัณหาเกิดขึ้นก็สู้มันไม่ได้ เพราะยังไม่มีภาวนามยปัญญา.

.................................

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๖

“หัวใจของการรักษาโรคทุกข์ใจ”













ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 พฤศจิกายน 2558
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2558 16:06:03 น.
Counter : 1126 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ