Group Blog
All Blog
### เหตุที่จะทำให้เรามีที่พึ่งทางใจ ###














“เหตุที่จะทำให้เรามีที่พึ่งทางใจ”

ภัยของใจก็คือความแก่ ความเจ็บ ความตายของร่างกาย

การพลัดพรากจากของรัก

และการเผชิญกับของที่ไม่รัก ไม่ชอบ

การปฏิบัติธรรม การบำเพ็ญจิตตภาวนาจึงจำเป็น

จะต้องอยู่ในรูปแบบของคนแก่ ของคนเจ็บ ของคนตาย

คือจะไม่ใช้ร่างกายเป็นที่พึ่ง

เพราะว่าสักวันหนึ่งร่างกายนี้จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย

 จะต้องสูญเสียพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบไป

 จะต้องเผชิญพบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ

ใจจึงต้องซ้อมอยู่ กับเหตุการณ์เหล่านี้ก่อน

อยู่แบบคนแก่ อยู่แบบคนเจ็บ อยู่แบบคนตาย

อยู่แบบคนยากจน อดยากขาดแคลนอดมื้อกินมื้อ

ที่อยู่อาศัยก็อยู่แบบคนขอทานอยู่กัน

พอหลบแดดหลบฝนได้

แต่ไม่หรูหรา ไม่สวยงามไม่มั่งคั่งไม่พร้อม

กับเครื่องให้ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

นี่คือการบำเพ็ญการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

ที่จะเป็นที่พึ่งของใจ

 ถ้าเรายังรักความสุขทางร่างกายอยู่

ยังยึดหรือยังอาศัยร่างกายเป็นที่พึ่งอยู่

 เวลาที่ร่างกายไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับเราได้

เราจะพึ่งอะไร เราก็จะปราศจากที่พึ่ง

พอเราไม่มีที่พึ่ง เราก็จะต้องทุกข์

ต้องเดือดร้อนอย่างแน่นอน

 นี่คือเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้พวกเรา มาบำเพ็ญ จิตตภาวนากัน

 มาเจริญสติ สมาธิ ปัญญา ด้วยการปลีกวิเวก

ด้วยการสำรวมอินทรีย์ สำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย

สำรวมกาย วาจา ใจ ด้วยการรักษาศีล ๘

หรือศีลของนักบวช

 เพื่อที่จะได้ตัดการพึ่งพาอาศัยร่างกาย

ให้หันมาพึ่งพาอาศัยธรรมะคือสติ สมาธิ เเละปัญญา

 เพื่อที่จะทำให้เกิดที่พึ่งทางใจขึ้นมา

ถ้าใจมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาแล้ว

ใจก็จะมีธัมมัง สระณัง คัจฉามิ มีธรรมะเป็นที่พึ่งของใจ

ธรรมะนี้ก็เป็นอกาลิโก

เมื่อมีธรรมะอยู่ในใจแล้วใจก็จะมีที่พึ่งไปตลอด

เป็นที่พึ่งที่แท้จริงเป็นที่พึ่งที่ถาวร

ไม่เหมือนกับร่างกายที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เป็นที่พึ่งได้ชั่วคราว พอร่างกายไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้

ความสุขความปลอดภัยจากความทุกข์ก็จะหายไป

ความทุกข์ต่างๆ ก็จะไหลเข้ามาสู่ใจ

ดังนั้นถ้าเรารู้ว่า เราจะต้องเผชิญกับภัยต่างๆ

 ในวันข้างหน้าแล้วเราไม่อยากจะต้องทุกข์กับภัยต่างๆ

 เราก็จะต้องขวนขวาย สร้างที่พึ่งทางใจขึ้นมาให้ได้

ถ้าเราขวนขวายถ้าเราพยายามปฏิบัติ

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติ และได้ทรงสั่งสอน

ไม่นานเราก็จะได้ที่พึ่งทางใจ

เช่นเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้กันอย่างแน่นอน

 เพราะเป็นเรื่องของเหตุและผล

ไม่ใช่เรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล

 เรื่องของพรหมดลบันดาล

สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดลบันดาลที่พึ่งทางใจให้กับเราได้

เช่นการที่เรากราบไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นพระพุทธรูป

แล้วเราก็อธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ

ปกป้องคุ้มครอง รักษาให้เรา ไม่ต้องเผชิญ

กับทุกข์ภับอันตรายต่างๆ การขอการอธิษฐานแบบนี้

ไม่ได้เป็นเหตุที่จะทำให้เราได้ที่พึ่งที่จะปกป้อง

 พิษภัยอันตรายต่างๆที่จะเกิดขึ้น

แต่การปฏิบัติคือการเจริญจิตตภาวนา

 เจริญสติ สมาธิ ปัญญา

 อันนี้แหละเป็นเหตุที่จะทำให้เรามีที่พึ่งทางใจได้

 ทำให้เราปลอดภัยจากภัยอันตรายต่างๆ

ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และก็มีผู้ที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว

 ได้ปฏิบัติมาแล้ว ได้ผลมาแล้ว ก็คือพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ที่มีที่พึ่ง

เป็นผู้ที่ปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งหลาย

เช่นความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ความสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่รักที่ชอบไป

 หรือการเผชิญกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบ

พวกเราก็จะได้ผลเช่นเดียวกัน ถ้าเหตุคือการปฏิบัติ

เป็นเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ได้บำเพ็ญได้ปฏิบัติกัน

ดังนั้นสิ่งที่เราควรที่จะดูหรือตั้งเป็นเป้าหมายก็คือเหตุ

 อย่าไปตั้งเป้าหมายที่ผล เพราะว่าจะทำให้เราไม่ปฏิบัติกัน

 มัวแต่ไปนั่งรอผลขอผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์

อันนี้จะไม่มีวันที่จะได้ผล ผลจะเกิดต่อเมื่อ

เราตั้งจิตตั้งใจของเรา ลงไปที่เหตุ

คือการกระทำทางกาย ทางวาจาและทางใจนี่เอง

 คือเริ่มด้วยการรักษาศีล ๘ สำรวมกาย วาจา ใจ

ให้ตั้งอยู่ในความสงบให้ฐานออกจากการแสวงหา

ที่พึ่งทางร่างกาย แสวงหาความสุขผ่านทางร่างกาย

 แล้วก็ให้หันเข้ามาแสวงหาความสุข

ผ่านทางการเจริญจิตตภาวนา

 ผ่านการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา

คือให้เราหันเข้ามาหาธรรมะเป็นที่พึ่งของใจ

 ถ้าเรารักษาศีล ๘ ได้ เราไปปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังได้

 อยู่ห่างไกลจากสิ่งยั่วยวนกานใจต่างๆ

 ที่จะเข้ามาทางทวารทั้ง ๕ คือทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ใจก็จะสามารถเข้าสู่ความสงบได้

 ถ้าใจยังต้องรับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านทางทวารทั้ง ๕ อยู่

 ใจก็จะหาความสงบไม่ได้ เพราะจะมีเหตุการณ์ต่างๆ

คอยเข้ามารบกวนใจอยู่เรื่อยๆ นั่นเอง

ดังนั้นการบำเพ็ญจิตตภาวนา การเจริญสมณธรรม

การเจริญธรรมะให้เป็นที่พึ่งของใจ

 จึงจำเป็นที่จะต้องอยู่ในสถานที่สงบสงัดวิเวก

ห่างไกลจากเเสงสีเสียง จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆ

 แล้วเมื่ออยู่ในที่วิเวกแล้ว ก็จำเป็นจะต้องอยู่ตามลำพัง

อย่าไปคลุกคลีกัน ปกติบางทีเราก็อยู่ในที่วิเวก

แต่ไม่ได้อยู่คนเดียว อยู่ด้วยกันหลายคน

 เช่นอยู่ในสำนักปฏิบัติธรรมก็มีหลายคนไปอยู่ร่วมกัน

สถานที่สงบสงัดวิเวก แต่ถ้าเรามาคลุกคลีกัน มาสังคมกัน

มาจับกลุ่มคุยกัน ทำกิจกรรมที่ไม่พึงกระทำ

 เช่นการหาความสุขจากการดื่มน้ำปานะมากจนเกินเหตุเกินผล

แทนที่จะเอาเวลาไปบำเพ็ญ ไปเดินจงกรมนั่งสมาธิ

 ก็มารับประทานดื่มน้ำชากาแฟ ขนมนมเนยกัน

 อย่างนี้ก็ยังถือว่ายังใช้ร่างกายเป็นที่พึ่งอยู่

ยังหาความสุขผ่านทางร่างกายอยู่

 หรือเวลาสนทนากันคุยกันก็เป็นการแก้ความเหงา

 เพราะโดยปกติถ้าใจไม่สงบ เวลาอยู่คนเดียวจะรู้สึกว้าเหว่

 อ้าวว้างเปล่าเปลี่ยว ก็อยากจะมีคนอื่นมาสนทนา

เพื่อจะได้แก้ความว้าเหว่ ซึ่งเป็นความทุกข์อีกรูปแบบหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อเวลาไปอยู่ในสถานที่วิเวกก็ไม่ควรที่จับกลุ่มกัน

ไม่ควรคลุกคลีกัน ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องคลุกคลี

แบบไม่ส่งใจออกหากันให้สำรวมใจไว้ข้างใน

เช่นเวลามาทำกิจกรรมต่างๆ เช่นมาทำความสะอาด

ทำอาหาร ล้างถ้วยล้างชามหรือทำกิจกรรมอะไรที่จำเป็น

จะต้องทำพร้อมกัน ก็ทำด้วยการมีสติ

ให้ใจอยู่กับการภาวนาต่อไป ให้อยู่กับการเจริญสติ

 ถ้าใช้การบริกรรมพุทโธก็ให้ใช้การ บริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ

พร้อมกับการทำกิจกรรมต่างๆ อย่าปล่อยให้ใจ

ออกไปพบปะสนทนากันคุยกัน ถ้าพอออกไปคุยกันแล้ว

 ก็ถือว่าไม่ได้บำเพ็ญไม่ได้เจริญสติ ผลก็จะไม่เกิดขึ้น

 แล้วกว่าจะเสร็จกิจกรรม ใจก็อาจจะฟุ้งซ่านขึ้นมา

 กว่าจะกลับไปที่พักของตนเพื่อบำเพ็ญก็จะต้องใช้เวลานาน

กว่าที่จะสงบความฟุ้งซ่านของใจได้

แต่ถ้าเวลามาทำกิจกรรมรวมกันแล้ว

มีสติคอยควบคุมใจไม่ให้คิด

ไม่ให้ส่งออกไปหาคนนั้นคนนี้

 ไม่ให้สนทนาเรื่องนั้นเรื่องนี้กัน

ถ้าจำเป็นจำต้องพูดก็พูดให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น

ถ้าไม่มีความจำเป็น ก็ไม่ต้องพูดเลย

บริกรรมพุทโธๆไป

 หรือถ้าใช้การดูร่างกายเป็นเครื่องเจริญสติ

 ก็เฝ้าดูการเคลื่อนไหว เฝ้าดูการกระทำของร่างกายไป

อย่าไปดูการกระทำของผู้อื่นให้ดู การกระทำของเราเป็นหลัก

 ถ้าดูการกระทำของผู้อื่นก็ดูเพียงเพื่อให้รู้ว่า

 เราไม่ไปชนกับเขาหรือไม่ไปทำอะไร

ที่เกิดความเสียหาย กับผู้อื่นเท่านั้น

 แต่เราจะคอยดูการเคลื่อนไหว

ของร่างกายของเราไปเป็นหลัก

 ไม่ว่าร่างกายจะทำอะไรอยู่

 ก็ให้อยู่กับการกระทำของร่างกายนั้น

เช่นกำลังเดินก็ให้อยู่กับการเดิน

กำลังนั่งทำอะไรก็ให้อยู่กับการนั่ง ทำอะไรไป

 อย่าส่งใจไปคิดถึงเรื่องอื่น

อย่าไปส่งใจไปคิดถึงอดีตที่ผ่านมาแล้ว

หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ให้ใจอยู่ในปัจจุบัน

ก็คืออยู่ในเหตุการณ์ที่ร่างกายกำลังกระทำอยู่

 อย่างนี้ก็เป็นการเจริญสติ เป็นการบำเพ็ญ

ในขณะที่มีความจำเป็นที่จะต้องมาร่วมทำภารกิจร่วมกัน

ถ้าทำแบบนี้ก็จะไม่ขาดทุน ถ้าเสร็จภารกิจก็แยกกันไป

อยู่กันคนละทิศคนละทางอยู่กันคนละมุม

หามุมของตนหามุมที่สงบสงัด

เพื่อจะได้เดินจงกรมนั่งสมาธิต่อไป

เพราะการกระทำการปฏิบัติแบบนี้เท่านั้นแหละ

ที่จะทำให้ผลที่เราต้องการเกิดขึ้นได้

ก็คือธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ธรรมะขั้นต่างๆ

ที่จะปกป้องคุ้มครองรักษาใจของเรา

ไม่ให้ทุกข์กับภัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง

นี่แหละเป็นหน้าที่ของพวกเรา ของพวกเรา

ที่จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย

จะต้องสูญเสียสิ่งต่างๆ ที่เรารักเราชอบไป

จะต้องประสบพบกับสิ่งต่างๆ ที่เราไม่รักเราไม่ชอบ

 ถ้าเราไม่มีธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ

 เวลาเราพบกับเหตุการณ์เหล่านี้เราจะทุกข์มาก

อย่างเมื่อวานก็สุภาพสตรีท่านหนึ่งก็มีความทุกข์มาก

 เพราะว่าจะต้องไปรับการผ่าตัด ทำใจไม่ได้ปลงไม่ได้

ใจมีความเครียดมีความวิตกมีความกังวล

นี่ก็เพราะว่าไม่ได้เจริญสติไม่ได้เจริญสมาธิ

ไม่ได้เจริญปัญญาขึ้นมานั่นเอง

ถ้าได้เจริญแล้วจะรู้จักวิธีปฏิบัติ กับความเจ็บไข้ได้ป่วย

จะรู้ว่าการปล่อยวางร่างกาย การพิจารณาด้วยปัญญา

ให้เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 เป็นเหมือนกับวัตถุชิ้นหนึ่ง เราไม่ได้เป็นร่างกาย

เราเป็นเพียงผู้ที่มาเป็นเจ้าของชั่วคราว

เป็นผู้ที่มาควบคุมมาสั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ

แต่เราไม่สามารถไปควบคุมเรื่องของความแก่ ความเจ็บ

ความตายของร่างกายได้ เราเพียงแต่สั่งให้ร่างกายเรา

ทำนั่นทำนี่ไปไหนมาไหนในเวลาที่ร่างกาย เป็นปกติ

ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่เวลาที่ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วนี้

 เราจะไม่สามารถที่จะทำอะไรได้

 เราต้องทำใจอย่างเดียวเท่านั้น คือต้องปล่อยวางร่างกาย

 ร่างกายทำอะไรไม่ได้ก็ปล่อยให้เขาอยู่เฉยๆ

ไปตามสภาพของเขา ถ้ารักษาได้ก็รักษาไป

ถ้าต้องผ่าตัดเพื่อที่จะรักษาให้หายก็ต้องผ่าไป

ถ้าผ่าแล้วไม่หายหรือผ่าแล้วตายก็ต้องปล่อย

ให้เขาเป็นไปตามเรื่องของเขา เพราะว่าในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว

 ร่างกายก็ต้องตายไปอยู่ดี

ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยครั้งนี้แล้วไปรักษา

รักษาแล้วหายก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นอีก

 จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วยอีกจะไม่ตายอีก

ไม่ใช่รักษาครั้งนี้ก็เพียงแต่ยืดเวลาของร่างกาย

ห้อยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง เท่านั้นเอง

แต่ในที่สุดมันก็จะต้องไปเจอโรคภัยไข้เจ็บแบบที่รักษาไม่ได้

มีแต่จะต้องตายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ถ้ามีสติ มีสมาธิมีปัญญาแล้ว ใจจะวางเฉยได้

ใจจะปล่อยวางร่างกายได้ จะเห็นว่าร่างกายนี้

เป็นเหมือนกับ รถยนต์คันหนึ่ง

 ส่วนใจนี่เป็นเหมือนผู้ขับรถยนต์

เมื่อถึงเวลาที่คนขับกับรถยนต์จะต้องแยกทางกัน

คนขับก็ออกจากรถมาเท่านั้นเอง

 ปล่อยให้รถไปตามเรื่องของเขา

 แต่ถ้าไม่เคยศึกษาไม่เคยปฏิบัติ

จะไม่รู้จักวิธีออกจากรถยนต์

ถ้าจะเปรียบเทียบอีกอย่างหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องของใจกับร่างกาย

 ก็เปรียบเหมือนกับคนที่โดยสารเครื่องบิน

 แต่เป็นเครื่องบินที่แบบว่าจะต้องตกเพียงอย่างเดียว

ขึ้นเครื่องบินเครื่องนี้แล้วเดี๋ยวก็จะต้องตก

วิธีที่จะออกจากเครื่องบินนี้ก็คือ

ต้องออกจากเครื่องบินนี้เพียงอย่างเดียว

ก็คือเตรียมร่มชูชีพเอาไว้ ถ้ามีร่มชูชีพ

 เวลาเครื่องบินจะตกก็กระโดดออกจากเครื่องได้

แล้วก็ใช้ร่มชูชีพพาให้ลงสู่พื้นดินได้อย่างปลอดภัย

การมีธรรมะนี้ก็เป็นเหมือนกับการมีร่มชูชีพนี่เอง

 ร่างกายนี้ก็เป็นเหมือนเครื่องบินที่ไม่ช้าก็เร็วที่จะต้องตก

 คือจะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตายอย่างแน่นอน

ไม่มีทางอื่น ดังนั้นการที่เราจะมัวมาคอยแก้เครื่องบิน

 พยายามรักษาเครื่องบินไม่ให้มันตก

 รักษาอย่างไรมันก็รักษาไม่ได้

อย่าไปเสียเวลามันต้องตกแน่ๆ

เอาเวลามาหาเครื่องชูชีพดีกว่า

 ถ้าเรายังไม่มีเครื่องชูชีพรีบหาเสีย

 มันอยู่ในเครื่องบินนี่แหละลองหาดู

พอเราได้ร่มชูชีพแล้วทีนี้เราก็จะสบายใจ

 มันจะตกเมื่อไหร่เราก็ไม่เดือดร้อน

ดีกว่ามัวแต่มาคอยรักษา มาซ่อมเครื่องบินไม่ให้มันตก

 รักษาอย่างไรในที่สุดมันก็จะต้องตก.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

“ที่หลบภัยของใจ”









ขอบคุณที่มา fb.พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 พฤษภาคม 2559
Last Update : 28 พฤษภาคม 2559 11:13:56 น.
Counter : 733 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ