Group Blog
All Blog
### ฟังเทศน์ ฟังธรรม ###












“ฟังเทศน์ ฟังธรรม”

วันนี้เราก็ได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง

เพื่อมาสนทนา มาฟังเทศน์ ฟังธรรม

เพื่อเป็นการเสริมสติปัญญา ความรู้ความฉลาด

 ที่จะนำพาให้เราอยู่ห่างไกลจากความทุกข์

เพราะว่าความทุกข์ของเรานั้น ไม่ได้เกิดจากอะไร

 เกิดจากการที่เราขาดสติปัญญาการรู้เหตุรู้ผลนั้นเอง

 ก็คือรู้เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา

ความทุกข์ที่เราพบกันมีกันอยู่นี้

 เกิดจากความอยากของเราเอง

ไม่ได้เกิดจากสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้

สิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้ ไม่สามารถทำให้เรา

เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาได้

 แต่สิ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ใจ

ก็คือความอยากของเรา ที่เกิดจาก

ความไม่รู้ความจริงอันนี้นั่นเอง

ความไม่รู้ว่าความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์

 เลยทำให้เราผลิตความทุกข์ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ

เพราะว่าเราอยากให้สิ่งต่างๆ

เป็นไปตามความต้องการของเรา

 คือเราต้องการทุกสิ่งทุกอย่างให้มั่นคงถาวร

ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่เราไม่รู้ว่า

สิ่งต่างๆที่เราต้องการให้มั่นคงถาวร

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มั่นคงไม่ถาวร

 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 ดังนั้นเราจึงต้องพบกับความทุกข์

เพราะว่า เราไม่ได้สิ่งที่เราปรารถนากัน

เราได้สิ่งที่เราไม่ปรารถนากัน

 ก็คือความไม่ถาวรความไม่มั่นคง

การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ

เราจึงอยากให้เขาไม่เปลี่ยนแปลง ให้เขามั่นคง

ให้เขาอยู่อย่างถาวร แต่มันก็ยิ่งทำให้เรา

เกิดความทุกข์ใจขึ้นมามากขึ้น

 เพราะเราไม่รู้ว่าความทุกข์ใจของเรานั้น

 เกิดจากความอยากของเรานั่นเอง

มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว

 ที่ทรงสามารถรู้ความจริงอันนี้ได้

ทรงรู้ว่าความทุกข์ของพระองค์นั้น

เกิดจากความอยากของพระองค์เอง

 เช่นทรงเห็นว่าร่างกายของพระองค์ จะต้องแก่

จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย จะต้องตายไป

ความอยากของพระองค์ก็อยากจะให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 ก็เลยทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 การที่พระองค์ทรงเสด็จออกจากพระราชวัง

ก็ทรงหาวิธีที่จะทำให้ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 หรือวิธีที่ทำให้พระองค์ไม่ต้องทุกข์กับความแก่

กับความเจ็บ กับความตาย

หลังจากที่ได้ทรงบำเพ็ญจิตตภาวนา จนพระทัยสงบลง

 ก็ทรงเห็นว่าความทุกข์ต่างๆนั้นหายหมดไป

แต่เวลาที่ทรงเสด็จออกจากความสงบ

พอเริ่มเห็นร่างกายของพระองค์

ก็ทรงเกิดความทุกข์พระทัยขึ้นมา

 เพราะเห็นร่างกายทีไร ก็ทรงเห็นว่าร่างกายนี้

จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตายไป

แต่หลังจากที่ได้ทรงวินิจฉัยด้วยสติด้วยปัญญา

 ก็ทรงพบว่าเวลาที่พระองค์ ไม่มีความทุกข์ใจนั้น

 เป็นเวลาที่พระองค์ไม่มีความอยาก

 เช่นเวลาอยู่ในความสงบ จิตหยุดคิดปรุงแต่ง

 ความอยากต่างๆที่เกิดจากความคิดปรุงแต่งนั้นก็หายไป

 ความทุกข์ต่างๆที่เกิดจากความอยาก ก็หายไป

จึงทรงได้พบความจริงขึ้นมาว่า

ความทุกข์นี้ดับได้ด้วยการหยุดความอยาก 

การที่จะหยุดความอยาก ก็ทรงพิจารณาว่า

 ต้องยอมรับความจริง ว่าร่างกายนี้

เป็นสิ่งที่จะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย

ไม่มีร่างกายของใครที่ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

และทรงพิจารณาอีกก็ทรงเห็นว่า

 ร่างกายนี้ก็ไม่มีตัวตน ไม่ได้เป็นสมบัติของผู้ใด

ร่างกายนี้เป็นสมบัติของธาตุ ๔ คือดินน้ำลมไฟ

 มาจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

ที่มาในรูปแบบของอาหาร

ตอนต้นก็มาในอาหารทางสายเลือด

 เวลาที่ร่างกายก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาอยู่ในครรภ์ของมารดา

 มารดาก็หล่อเลี้ยงร่างกายนี้ด้วยสายเลือด

ด้วยน้ำเลือดที่เป็นอาหารอันละเอียด

พอร่างกายที่ก่อร่างสร้างตัวมาได้รับอาหารอย่างต่อเนื่อง

 ได้รับธาตุ ๔ อย่างต่อเนื่อง

 ร่างกายก็เริ่มมีอวัยวะต่างๆปรากฏขึ้น

ปรากฏมีผม มีขน มีเล็บ มีฟัน มีหนัง

มีเนื้อ มีเอ็น มีกระดูก มีอวัยวะ ๓๒ ประการ

แล้วพอร่างกายนี้เจริญเติบโตจนไม่สามารถอยู่ในครรภ์ได้

ก็ต้องคลอดออกมา พอคลอดออกมาก็มารับธาตุ ๔ เพิ่มเติม

 มารับธาตุลมด้วยการหายใจเข้าออก

 มารับธาตุน้ำธาตุดินธาตุไฟ

ด้วยการรับประทานอาหาร ทั้งอาหารเหลว

และอาหารหยาบตามลำดับ

ตามกำลังของร่างกายที่จะรับได้

ในเบื้องต้นก็รับอาหารเหลว

แล้วพอเจริญเติบโตขึ้นไปมากขึ้น

ก็เริ่มรับประทานอาหารหยาบ คืออาหารที่มีกาก

 แล้วก็เลยมีการขับถ่ายเศษอาหาร

ปฏิกูลออกมาจากทางร่างกาย มีการขับถ่ายน้ำออกมา

 น้ำที่เข้าไปก็มีออกมา นี่คือระบบการไหลเวียน

ของธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ในระยะแรกๆของการมีชีวิตอยู่ การเข้าของธาตุ ๔ นี้

จะมีมากกว่าการออกของธาตุ ๔ ร่างกายจึงเพิ่มน้ำหนัก

ขึ้นไปเรื่อยๆ มีรูปร่างใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ

เพราะปริมาณของธาตุที่เข้าไปนั้น

มีมากกว่าปริมาณของธาตุที่ออกมา

 แต่พอไปถึงขีดการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว

ปริมาณของธาตุ ๔ ที่เข้าออกก็เริ่มจะอยู่ตัว

 ปริมาณเข้าไปกับปริมาณ ออกมาก็จะเท่ากัน

แล้วก็จะเริ่มมีปริมาณที่เข้าก็จะมีน้อยกว่าปริมาณที่จะออก

 ร่างกายก็จะเริ่มเสื่อมโทรมลง ชำรุดทรุดโทรมลง

 น้ำหนักก็จะลดลงไป

พอถึงเวลาที่ไม่มีการไหลเวียนเข้าออกของธาตุ ๔

คือลมไม่ไหลเข้าไม่ไหลออก ไม่ไหลเข้ามีแต่ไหลออก

 ธาตุ ๔ ก็จะมีแต่ไหลออก ธาตุน้ำก็จะไหลออก

 ธาตุลมก็จะไหลออก ธาตุไฟก็จะไหลออก

 เหลือไว้แต่ธาตุดินที่เป็นร่างกายที่แห้งกรอบ

 หลังจากที่ได้เน่าเปื่อยจนแห้งกรอบ

และในที่สุดก็ผุพังไป กลายเป็นดินไป

ถ้าเอาไปเผาไฟก็จะกลายเป็นขี้เถ้า

 เหลือแต่เศษกระดูกที่ไฟไม่ได้ไหม้เท่านั้นเอง

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเกี่ยวกับร่างกาย

 จึงทรงเห็นว่าร่างกายนั้นเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนอยู่ในร่างกาย

คำว่าสัตว์ บุคคล ตัวตนนี้ออกมาจากใจ

ใจเป็นผู้ให้คำนิยามของคำว่าสัตว์

ของคำว่าบุคคล ตัวตน ใจเป็นผู้มาครอบครองร่างกาย

ใจใช้ร่างกายประกอบภารกิจต่างๆ

ตามความต้องการ ตามความอยากของใจ

ผู้ที่ได้รับผลจากการกระทำ ก็คือใจ

ใจได้รับความสุข ได้รับความทุกข์

จากการกระทำของตนผ่านทางร่างกาย

 ถ้าร่างกายสามารถทำตามสิ่งที่ใจอยากได้

 ใจพบกับความสมหวัง ใจก็จะมีความสุข

 ถ้าร่างกายไม่สามารถทำตามที่ใจต้องการได้

ใจก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

แล้วเวลาที่สิ่งที่ใจได้มาต้องจากไปหรือต้องเปลี่ยนไป

 ใจก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

 ใจจึงไม่อยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป

 ไม่ต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างหมดไป

เพราะใจไม่ต้องการความทุกข์ แต่ใจไม่รู้ว่า ทำอย่างไร

ก็ไม่สามารถที่จะยับยั้ง ไม่ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

เปลี่ยนไปหมดไปได้ ใจไม่รู้ว่าใจสามารถ

อยู่กับการเปลี่ยนแปลงของทุกสิ่งทุกอย่าง

ของการดับไปของทุกสิ่งทุกอย่างได้ โดยไม่มีความทุกข์ใจ

ถ้าใจไม่ไปอยากให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ดับไปไม่เปลี่ยนไป

ถ้าใจปล่อยวางให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามเรื่องของเขา

ใจก็จะไม่ทุกข์กับสิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกนี้

นี่คือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้

ด้วยการวินิจฉัยด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยเหตุด้วยผล

จึงทำให้พระองค์สามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

เพราะทรงเห็นว่าความทุกข์ของพระองค์นี้

เกิดจากความอยากของพระองค์เอง

 พระองค์จึงไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

เพราะพระองค์ทรงหยุดความอยากได้

เพราะทรงเห็นว่าความอยากนี้

 เป็นอันตรายเป็นพิษเป็นภัยกับจิตใจ

 เหมือนกับการทุบศีรษะของตนเอง

ถ้าพวกเรารู้ว่าการที่ศีรษะเราปวด

เพราะว่าเราเอาค้อนมาทุบศีรษะ เ

ราก็คงจะไม่เอาค้อนมาทุบ เราก็คงจะหยุดทุบศีรษะกัน

 อย่างพวกเราทุกคนนี้ก็ไม่ได้เอาค้อนมาทุบศีรษะกัน

 เพราะเรารู้ว่าถ้าเอามาทุบศีรษะ

ก็จะต้องปวดศีรษะอย่างแน่นอน ฉันใด

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็นก็อย่างนั้น

แต่เป็นค้อนทางจิตใจ

ความอยากนี้เป็นเหมือนค้อนที่ทุบจิตใจ

 ให้เกิดความทุกข์ทรมานใจ เมื่อทรงรู้ก็ทรงหยุดทุบจิตใจ

ด้วยความอยากต่างๆเท่านั้นเอง

ความรู้นี้เป็นความรู้ที่ลึกลับพอสมควร

เพราะไม่มีใครในโลกนี้สามารถรู้ได้เลย

 ก่อนที่พระพุทธองค์ จะทรงตรัสรู้ความรู้อันนี้

พระองค์ก็ทรงไปศึกษากับครูบาอาจารย์หลายท่านด้วยกัน

 แต่ก็ไม่มีใครที่จะสามารถ ดับความทุกข์ได้อย่างถาวร

 ดับได้ก็เฉพาะเวลาที่เข้าไปในสมาธิเท่านั้น

เวลาเข้าไปในสมาธิใจก็หยุดทุบ ศีรษะของตน

 ตอนนั้นใจสงบ ใจก็ไม่ได้มีความอยากต่างๆ

 ไม่มีกามตัณหา ไม่มีภวตัณหา ไม่มีวิภวตัณหา

พอไม่มีก็เลยไม่มีความทุกข์ใจ มีความสุขใจ

 แต่ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากที่ออกจากสมาธิมาแล้ว

ทำอย่างไรไม่ให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

พอเห็นความแก่ความเจ็บความตาย

 ก็เกิดความทุกข์ใจไม่สบายใจขึ้นมา

แต่ก็ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร

มีพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

 ที่หลังจากไม่สามารถหาความจริงอันนี้ ได้จากผู้อื่นแล้ว

จึงทรงต้องศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เอง

 จนในที่สุดก็ได้พบความจริงอันนี้

 ตอนต้นก็หลงทางไป ไปคิดว่าความทุกข์ใจอยู่ที่ร่างกาย

 อยู่ที่การรับประทานอาหาร ก็เลยทรงคิดว่า

 การรับประทานอาหารนี้ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ก็เลยทรงหยุดรับประทานอาหาร แต่ทรงหยุดรับประทาน

 จนกระทั่งร่างกายจะตายไป

 ก็ยังมีความทุกข์ใจอยู่เหมือนเดิม

 คิดถึงความแก่ความเจ็บความตายของร่างกาย

ก็เกิดความทุกข์ใจเหมือนเดิม

จึงทรงเห็นว่าการหยุดรับประทานอาหาร

ไม่ได้เป็นทางที่จะดับความทุกข์ใจได้

การทรมานร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ

ที่ฤๅษีชีไพรต่างๆได้ปฏิบัติกัน

ก็ไม่ใช่วิธีการที่จะดับความทุกข์ใจได้

พระองค์เลยยุติการอดพระกระยาหาร

แล้วทรงกลับมาเสวยพระกระยาหาร

เพื่อจะได้มาแก้ปัญหาที่ทรงคิดว่า

อยู่ในพระทัยของพระองค์เอง

อยู่ตรงที่สงบและไม่สงบ เวลาสงบมันไม่ทุกข์

 แต่เวลามันไม่สงบมันทุกข์ แล้วมันทุกข์เพราะอะไร

 เวลาที่มันไม่สงบมันทำอะไร ก็ทรงพิจารณาเห็นว่า

 เวลามันไม่สงบ เวลาเห็นอะไรมันเกิดตัณหาขึ้นมา

เกิดความอยากขึ้นมา เวลาที่มันสงบ มันไม่มีตัณหา

ไม่มีความอยาก มันเป็นอุเบกขา มันวางเฉยได้

 แต่เวลาที่มันไม่สงบ มันจะปรุงแต่ง

เกิดตัณหาความอยากขึ้นมา

ดังนั้นหลังจากที่พิจารณาช่วงที่มีสมาธิ กับไม่มีสมาธิ

ก็เห็นว่าแตกต่างกัน

ตรงที่มีความอยากหรือไม่มีความอยากนี่เอง

 พระองค์จึงทรงพิจารณาทดสอบดู

 เวลาไม่มีความอยากเป็นอย่างไร

ก็ทรงเห็นว่าเวลาไม่มีความอยาก ใจสบาย ใจเป็นอุเบกขา

 มีความสุขไม่เดือดร้อนกับเหตุการณ์ต่างๆ

แต่เวลาที่มีความอยาก อยากให้เป็นอย่างนั้น

 อยากให้เป็นอย่างนี้ ก็จะเกิดความไม่สบายใจ

เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา พระองค์จึงทรงเห็นว่า

ความอยากนี้แลที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์

และสิ่งที่จะทำให้ใจไม่อยากได้ก็คือ

 ต้องเห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา

 ก็คือว่าไม่มีอะไรที่เราสามารถไปควบคุมบังคับ

 ไปสั่งให้เขาเป็นไปตามความอยากของเราได้

เช่นไม่สามารถสั่งให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายได้

 ร่างกายอย่างไรก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปอย่างแน่นอน

ถ้าอยากให้เขาไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

ก็จะไม่สบายใจจะทุกข์ใจ

 ถ้าไม่ได้ไปอยากให้เขาไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

คือใจปล่อยวางร่างกาย วางเฉย

ร่างกายจะเป็นอะไร ก็ปล่อยให้เขาเป็นไป

ใจก็จะไม่ทุกข์ไม่มีปัญหาอะไร

แต่การที่ใจจะปล่อยได้ ก็ต้องเห็นว่า

มันเป็นสิ่งที่เราไปทำอะไรไม่ได้

ไปเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้

ไปเปลี่ยนให้เขาไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายไม่ได้

เพราะทรงเห็นว่าการที่จะหยุดความอยากนั้น

ต้องเห็นว่า เขาเป็นสิ่งที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้

สิ่งต่างๆในโลกนี้เราจะไปควบคุมบังคับให้เขาอยู่ไปตลอด

 ให้ดีไปตลอด ให้เจริญไปตลอด ไม่ให้มีการเสื่อม

ไม่ให้มีการดับไป เป็นสิ่งที่เราทำกันไม่ได้

ทุกคนรู้ว่าในโลกนี้มีความทุกข์

รู้ว่าความทุกข์นั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลง

เกิดจากการเสื่อม เกิดจากการดับของสิ่งต่างๆ

แต่ไม่รู้ว่าความทุกข์นี้ต้นเหตุเกิดจากความอยากของตน

 ไปคิดว่าเกิดจากการเสื่อมของสิ่งต่างๆ

 เราจึงพยายามหาวิธีที่จะยับยั้งการเสื่อมต่างๆ

อย่างเช่นร่างกายของเรา

คนที่มีความสามารถมีเงินมีทอง

 ก็พยายามทุ่มเทเงินทอง

 ให้กับการหาวิธีดูแลรักษาร่างกาย

 ไม่ให้เสื่อมไม่ให้แก่ไม่ให้ตายไป

แต่มีเงินมากน้อยเพียงไร ศึกษามากน้อยเพียงไร

 ก็ไม่มีใครสามารถที่จะห้ามไม่ให้ร่างกาย

ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายได้ เพราะว่าเขาไม่เห็นว่า

ร่างกายนี้เป็นอนัตตา เป็นธรรมชาติ

เหมือนกับเราไม่สามารถที่จะไปห้ามพายุให้เกิดขึ้นได้

 ห้ามไม่ให้น้ำท่วมเกิดขึ้นได้

 ห้ามไม่ให้มีภัยพิบัติต่างๆเกิดขึ้นได้

ก็เพราะว่าเขาเป็นสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจของเรานั่นเอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๔๖๑ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๖

“ฟังเทศน์ ฟังธรรม”





ขอบคุณข้อมูลจาก fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 24 กรกฎาคม 2559
Last Update : 24 กรกฎาคม 2559 10:56:23 น.
Counter : 629 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ