Group Blog
All Blog
### ความสงบเป็นความสุขที่แท้จริง ###








“ความสงบคือความสุขที่แท้จริง”

ธรรมมะขั้นที่สูงนั้น ก็คือการเจริญด้วยปัญญา

ให้จิตที่ยังมีกิเลสครอบงำอยู่ ที่มีกิเลส คืออุปทาน

 ยังยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆอยู่นั้น

ให้ใช้ปัญญาเข้าไปทำลายเสีย

 ทำลายความยึดมั่นถือมั่น

ที่เราเรียกว่าการเจริญวิปัสสนา

 คือการพยามกำหนดดูสภาวะธรรมทั้งหลาย

ให้เห็นว่าเป็นของที่ไม่น่ายึดไว้ ไม่น่าติดพัน

 เช่นขันธ์ห้า คือเป้าหมายอันใหญ่โต

ที่กิเลสนั้นลากใจผูกใจไว้ ให้ติดอยู่กับขันธ์ห้า

 คืออุปทานความยึดมั่นในขันธ์ห้า

ความยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ห้า ว่าเป็นเราเป็นของเรา

ขันธ์ห้าประกอบด้วยรูปขันธ์ รูปขันธ์ก็คือร่างกาย

 เวทนาขันธ์ก็คือความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์

 สัญญาขันธ์ ก็คือการจำได้หมายรู้

เราเห็นรูปเราก็จำได้ว่า อันนี้เป็นรูปของใคร

 เป็นรูปของนายก. รูปของนายข.

ได้ยินเสียง เราก็จำเสียงนี้ได้ว่า เป็นเสียงของใคร

 อันนี้ก็เป็นหน้าที่ของสัญญาคือการจำได้หมายรู้

สังขารคือความคิดปรุงแต่ง คิดไปได้สองทางด้วยกัน

คิดไปทางธรรมะก็ได้ คิดไปทางโลกก็ได้

ถ้าคิดไปทางโลก ก็คิดไปแบบว่า

เออเดี๋ยววันนี้ไปเที่ยวสักหน่อย ไปกินเลี้ยงสักหน่อย

อะไรอย่างนี้ ถ้าคิดไปทางธรรมมะก็ อ้อวันนี้วันพระ

เราไปเข้าวัดดีกว่าไปจำศีล ไปอดข้าวเย็น

 ไปทรมานใจตัวเอง เพื่อที่จะพัฒนาจิตใจ

ให้เกิดความเข้มแข็ง ให้เกิดกำลังที่จะต่อต้าน

ต่อสู้กับกิเลส ความโลภ ความอยากทั้งหลาย

ถ้าเราไม่มีกำลัง ไม่มีขันติ ไม่มีศีล เป็นเครื่องช่วยแล้ว

ก็ยากที่จะสู้กับความโลภ ความอยากทั้งหลายได้

ดังนั้น สังขารก็เป็นสังขารที่เป็นธรรมมะก็ได้

เป็นกิเลสก็ได้ ที่เราเรียกว่าเป็นมรรค หรือเป็นสมุทัย

ถ้าคิดไปในทางสั่งสมกิเลส ไปทางความโลภความโกรธ

 ไปทางที่อยากจะสนุกสนานเฮฮา

กับเรื่องกามสุขทั้งหลาย อันนี้ก็ถือว่า

เป็นสังขารไปทางสมุทัย เป็นการไปสั่งสมความทุกข์ใจ

ถ้าสังขารที่คิดว่าไปหาที่สงบๆดีกว่า

 ไปอยู่ตามสถานที่ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 คือให้หาที่นั่งที่นอนอันสงบสงัดวิเวก

อย่าไปคลุกคลีกัน อย่าไปนั่งจับกลุ่มคุยกัน

คุยกันไปก็ฟุ้งไป และก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 สู้ไปอยู่ตามลำพังของเรา

แล้วก็ตั้งสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก

อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีสัมมาสติ

 เป็นผู้ที่เจริญเข้าสู่สัมมาสมาธิ

 เป็นผู้ที่เจริญมรรคนั่นเอง

ความคิดอันนี้จึงเป็นตัวสำคัญ

ถ้าคิดในทางธรรมมะเราก็เรียกว่าปัญญา

ถ้าคิดไปในทางโลกเราก็เรียกว่ากิเลส

ทีนี้โดยธรรมดาแล้ว จิตใจของเรานั้น

ไม่ค่อยคิดไปทางมรรคเท่าไหร่

ไม่คิดไปทางปัญญาเท่าไหร่ เพราะโดยนิสัยเดิมแล้ว

 จิตใจของเรานั้น ถูกกิเลสครอบงำมานานมาก

 จนกระทั่งฝังเป็นนิสัยลึกเข้าไป

 จนกระทั่งเป็นถึงสันดานเลยก็ว่าได้

เรื่องของการไปเที่ยวรู้สึกว่ามันรวดเร็วมาก

ใครโทรศัพท์มาชวนนี่ แทบไม่ต้องรอเลย

แต่ถ้าใครจะมาชวนเข้าวัดเข้าวานี่

ต้องตั้งหลักตั้งท่ากันเป็นเดือน เป็นปี

 กว่าจะเข้าวัดกันได้สักครั้งหนึ่ง

นั่นก็เป็นเพราะว่าเราขาดธรรมมะ

เราไม่ค่อยได้พัฒนา

 ไม่ได้ส่งเสริมให้คิดไปทางด้านธรรมมะ

นั่นก็เป็นเพราะเราไม่เคยสัมผัสผลของธรรมะมาก่อน

เราไม่เคยได้สัมผัสกับความสุข

อันเกิดจากการทำบุญทำทาน

 เราไม่เคยสัมผัสกับความสุขจากการรักษาศีล

 เราไม่เคยสัมผัสกับความสุข

ที่เกิดจากความสงบของสมาธินั่นเอง

แต่เมื่อเราได้เริ่มสัมผัสกับสมาธิแล้ว

 เราต้องพยายามระมัดระวัง ควบคุม

ดูสังขารความคิดปรุงของเรานี้

ให้ไปในทางที่เราต้องการให้ไป

ขณะที่เราออกจากสมาธิแล้ว เราควรที่จะดูจิตใจเรา

 ดูสังขารตัวนี้ ดูว่าสังขารตัวนี้จะพาให้เราคิดไปในทางไหน

ถ้าคิดว่าเมื่อก่อนนี้เคยเข้าวัดแค่วันพระ

 อาทิตย์หนึ่งก็เข้าจำศีลอยู่เพียงครั้งเดียว

 ต่อไปนี้อยากจะขอลองอยู่สักอาทิตย์หนึ่งเลย

หรืออยู่สักสิบวัน สักเดือนหนึ่งหรือพรรษาหนึ่ง

อะไรอย่างนี้เป็นต้น เพิ่มเวลาให้กับตัวเอง

ในการประพฤติปฏิบัติธรรม

 ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว แสดงว่า

เราเริ่มจะเดินทางไปในทางที่ถูก

ทางที่เราเรียกว่ามรรคผลนิพพานนั่นเอง

เราต้องการไปสู่ความสงบ

 เราต้องเจริญรอยตามที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้

 คือทางแห่งศีล สมาธิ และ ปัญญา

พยายามหาที่สงบวิเวก อย่างที่วัดนี้เราก็มีห้องพัก

 ที่เราเรียกว่าห้องอินทรีย์สังวรนั่นแหละ

เป็นสถานที่สำหรับผู้ที่อยากจะควบคุมจิตใจ

 ควบคุมอินทรีย์ อินทรีย์ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้

 ไม่ให้ไปดู ไปสัมผัสกับ รูป เสียง กลิ่น รส

 เครื่องสัมผัส ต่างๆ ที่ไปยั่วยวนกวนใจ ให้เกิดกิเลส

ให้เกิดความอยาก ถ้าไปเห็นสิ่งเหล่านั้นแล้ว

บางทีอยู่วัดได้ไม่กี่วัน ก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องออกไป เ

พราะคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ตัวเองเคยสัมผัสมา

 เคยมีความสุขกับสิ่งเหล่านั้นมา

แต่ลืมนึกถึงความทุกข์ที่มันมีอยู่กับสิ่งเหล่านั้นไป

เพราะความสุขของกามสุขนั้น

มันเป็นความสุข แบบยาขมเคลือบน้ำตาล

 เวลาอมเข้าไปใหม่ๆ ก็หวาน

แต่พอน้ำตาลที่เคลือบอยู่หมดไป ก็เจอแต่ความขมขื่น

ความสุขของทางโลกมันก็เป็นอย่างนั้น

 เวลาได้อะไรมาใหม่ๆ ก็รู้สึกว่ามันมีความสุขดี

มันเพลิดเพลินดี พอต่อไปเมื่อเกิดความจำเจแล้ว

มันก็เริ่มเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมาเป็นต้น

เพราะฉะนั้นเวลาเรามีสมาธิแล้ว

ท่านบอกให้เจริญปัญญาต่อไป

 ให้พิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้

ให้เห็นโทษของกามสุข เพราะขณะที่เราได้สมาธินั้น

 มันเป็นเพียงชั่วขณะเดียว พอเราออกจากสมาธิแล้ว

 กิเลสที่มันเคยชอบเรื่องกามสุข มันยังมีอำนาจ

ที่จะฉุดลากเรากลับไปได้อย่าคิดว่า

 คนที่นั่งทำสมาธิแล้ว จะไม่ไปเที่ยวผับนะ

 ไปได้ ถ้าเราลองปล่อยมันไป มันก็อ้างว่า เพื่อนมาชวนไป

เกรงใจก็ต้องไป มีนะ เพราะทำแต่สมาธิ ไม่ใช้ปัญญา

 ถ้าใช้ปัญญาแล้ว มันจะมีกำลังต้านทาน

 จิตมันสามารถที่จะดึง ไม่ให้ถูกฉุดกระชากไปได้

ต้องพยายามเจริญวิปัสสนา คือไตรลักษณ์อยู่เสมอ

ให้เห็นว่า ความสุขของทางโลก มันเป็นของไม่เที่ยง

 มันเป็นทุกข์ เป็นเหมือนยาขมเคลือบน้ำตาล

มันสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แล้วมันก็เบื่อ มันก็เซ็ง

ต้องหาความสุขใหม่ๆ แปลกๆ อยู่เรื่อย

ซึ่งความจริงแล้ว มันก็ไม่มีอะไรใหม่ในโลกนี้

ของต่างๆ มันก็มีอยู่ในโลกนี้ตั้งแต่ดั้งเดิม

 มันประกอบขึ้นด้วยดิน น้ำ ลม ไฟ

แล้วเราก็เอามาผสมปรุงแต่ง ให้เป็นรูปร่างแปลกๆ

ให้มีเสียงแปลกๆ แล้วก็เกิดความลุ่มหลง

 สนุกสนาน ไปกับมันเท่านั้นเอง

พอเพลิดเพลินกับมันสักระยะ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย

 ก็ต้องหาของแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมาอีก

เหมือนเสื้อผ้า แฟชั่น ที่เราใส่กันนี้

 เดี๋ยวมันก็สั้นเดี๋ยวมันก็ยาวขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนี้

 แฟชั่นของคนเรามันก็หมุนไป เวียนมาอยู่อย่างนี้

มันไม่มีที่สิ้นสุด มันวนไป เวียนมา เหมือนกับวัฏฏะ

วนไป วนไป เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่มันไม่ได้เปลี่ยนไป

 เพื่อให้เราดีขึ้น ให้เราได้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้

มันกลับวนไป เพื่อจะผูกเรา มัดเรา

ให้ติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้

แต่สังขารร่างกายของเรานี้ มันไม่เที่ยงแท้ แน่นอน

 มันค่อย ๆ แก่ลงไปเสื่อมลงไป

 เราจะไปตามสังคม ตามแฟชั่น ก็ไม่ไหว

พอแก่เข้า แก่เข้ามันก็รู้สึกว่า

มันอยู่กันคนละโลกกับเขาแล้ว

 ตอนนั้นบางทีก็ต้องทำใจแล้ว

 ทำใจตอนนั้นบางทีก็อาจจะลำบาก

 เพระไม่เคยทำมาก่อนก็อาจจะทำไม่ได้

บางคนอายุ ๗๐ หรือ ๘๐ ก็ยังเข้าสังคมอยู่

ยังแต่งหน้าทาปากอยู่เพราะว่าจิตใจ มันถูกสิ่งเหล่านี้ดูดไว้

 ดึงไว้ มันก็ต้องทำอย่างนั้น จนกระทั่งถึงวันตาย

ผลก็คือ เวลาตาย ระดับจิตก็ยังอยู่ในระดับเดิม

ไม่ได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น ให้ดีขึ้น

 ให้เป็นจิตที่ได้สัมผัสกับความสุข ที่มีความละเอียด

 เป็นความสุขแท้ๆ ความสุขล้วนๆ

 ก็ไม่เคยได้มีโอกาส ได้ปรากฏขึ้นมา

แต่ถ้าเราได้เข้าวัด เข้าวา

 ได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมได้ยิน ได้ฟังธรรม

อย่างที่ญาติโยมได้มาฟังกันในวันนี้

ญาติโยมก็พอรู้อยู่ว่า สิ่งไหนที่ญาติโยมจะต้องทำ

ก็คือการรักษาจิตใจ พยายามรักษาจิตใจให้สงบ ให้นิ่ง

 ให้ได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าวันหนึ่ง ทำแต่สองอย่างเท่านั้น

 ได้ก็เป็นสิ่งที่เลิศเลยทีเดียว ก็คือนั่งสมาธิกับเดินจงกรม

พอลุกจากนั่งสมาธิ ก็เดินจงกรมต่อ

กำหนดควบคุมจิตใจต่อ คือไม่ปล่อยให้ใจไปคิด

 ไปปรุงเหมือนสมัยก่อน คิดว่าอยากจะไปโน่น อยากจะมานี่

อยากจะทำโน่นอยากจะทำนี่

บอกไม่เอา มันเป็นของไม่เที่ยงทั้งนั้น

มันเป็นทุกข์ทั้งนั้นเคยทำมามากต่อมากแล้ว

เคยไปมามากต่อมากแล้ว มันไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก

แต่ถ้าเราควบคุมจิตใจ ให้นิ่ง ให้สงบ ให้ปล่อย ให้วาง

 ไม่ไปยึด ไปเกาะไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องของใคร อันนั้นแหละ

 คือสิ่งที่วิเศษสำหรับจิตใจของเรา

ถ้าเราสามารถทำอย่างนี้ได้ในวันๆ หนึ่ง

แต่ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทำเพียงสองอย่างนี้เท่านั้น

 เพราะว่าหน้าที่ รับผิดชอบ ของแต่ละคนก็มีอยู่

เช่น ดูแล รักษา ร่างกาย ของเรานี้

 แต่สิ่งเหล่านี้ เราสามารถทำควบคู่ ไป

กับการปฏิบัติธรรมได้

คือทุกขณะที่เราทำงานเหล่านี้

ให้เรามีสติอยู่กับสิ่งที่เราทำ

 มันก็เหมือนกับเราปฏิบัติธรรมอยู่

เหมือนกับเราเดินจงกรมอยู่ ขณะเราเดินกวาดบ้าน

ถ้าเรามีสติ อยู่กับไม้กวาด ที่เรากวาดอันนี้ก็ถือว่า

 เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการตั้งสติ รักษาจิตใจ

ไม่ให้จิตใจลอยไปหาความวุ่นวาย ไม่ให้จิตใจคิดปรุง

 ให้เกิดความฟุ้งซ่าน


ถ้าเราพยายามรักษาใจ ให้อยู่กับตัวเรา

ให้มันนิ่งอยู่ ไม่ให้ไปไหน จิตก็จะไม่ฟุ้งซ่าน จิตก็จะสงบ

 จะสบาย ไม่ว่าจะทำอะไร ในอิริยาบถสี่

จิตก็จะมีแต่ความสุข ความสบาย

 เพราะจิตใจ มีสติ คอยควบคุมอยู่

มีปัญญาคอยต่อสู้กับกิเลส ไม่ปล่อยให้กิเลสหลอก

 ฉุดลาก ไปหาสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์

หรือสิ่งที่เราเคยสัมผัสมาแล้ว ผ่านมาแล้ว

 มันก็ไม่ได้ มีดีอะไรเท่าไหร่

สู้สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้ไม่ได้

คือพยายามรักษาใจให้สงบอยู่ตลอดเวลานั้นเอง

เพราะความสงบนั้นก็คือความสุขที่แท้จริง

คนเรามีความสงบนี่ มันอิ่มนะ

บางทีข้าวปลาอาหาร เมื่อก่อนเคยรับประทานมาก

 ตอนหลังนี้จะไม่ค่อยหิวเท่าไร

 รับประทานพอมันอยู่ท้องก็พอแล้ว

เพราะเดี๋ยวนี้ เวลารับประทานอาหาร

 จิตใจไม่ได้ไปสัมผัสกับรสกับชาด รสชาติเหล่านั้น

มันไม่ได้มีความหมาย เมื่อเปรียบเทียบกับความสุข

ที่มีอยู่กับจิตใจ ของผู้ที่มีความสงบ มันต่างกันมาก

 เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหาร

 เมื่อก่อนรับประทานอาหารเพื่อความสุขจริงๆ

รับประทานเพื่อรสชาติ เพื่อสีสันของมัน

อาหารนี่จะต้องจัดให้มันสวย ให้มันงาม

พระที่ท่านฉันในบาตร บางทีท่านก็คลุกมันเข้าไปเลย

 เอาแกงใส่เข้าไป เอาข้าวใส่เข้าไป

เอาของหวาน ทองหยิบ ฝอยทอง

องุ่น แอปเปิ้ลผลไม้หั่นเป็นชิ้นๆ แล้วก็คนเข้าไป

 ให้เป็นอันเดียวกัน อร่อยนะ ลองรับประทานดูซิ

 เดี๋ยวมันก็ลงไปรวมกันอยู่ในท้อง มันไม่ได้ไปไหนหรอก

 จะได้ลองกินอาหารที่แปลกๆ

 อย่างนี้เขาเรียกว่าเปิบพิสดาร

แล้วเราจะสบาย กับเรื่องอาหาร การกิน

ไม่ต้องไปแย่งอะไรกับใครเขา เพราะเรารู้ว่า

 มันก็มีแค่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม มีอยู่แค่ สี่รสเท่านี้เอง

 กินก็ไม่ได้กินเพื่อรสชาติ เพื่อความอร่อยอะไร

เรากิน เพื่อที่จะรักษาร่างกายนี้ ให้อยู่ไปวันๆหนึ่ง

ไม่ให้ได้เจ็บไข้ได้ป่วย กินเพื่อระงับความหิวที่เกิดขึ้น

 เนื่องจากการขาดอาหาร

เรารับประทานครั้งเดียวก็สามารถอยู่ได้ถึง ๒๔ ชั่วโมง

เรื่องของกิเลสนี่แปลก

รับประทานอาหารเพิ่งเสร็จใหม่ๆ

 พอมีใครมาพูดเรื่องอาหารขึ้นมา

บางทีก็อดที่อยากจะกินอีกไม่ได้

อันนี้มันเป็นความอยากของกิเลสมัน ไม่มีความจำเป็น

 ที่นี้เราจะแก้ เราจะทำลาย กิเลสนี่ ก็ต้องใช้เหตุผล

 บอกว่ากินไปทำไม เพิ่งกินไปอิ่มๆ เมื่อกี้นี้เอง

ท้องมันยังย่อยไม่เสร็จเลย จะกินอะไรอีก

 ไว้พรุ่งนี้ค่อยกินก็แล้วกัน ถ้าอยากจะกิน

 อันนี้เป็นการใช้เหตุ ใช้ผล

ดับกิเลส ปัญญาเป็นเหตุ เป็นผล

 เป็นความจริง แต่กิเลสเป็นความปลอม

 ไม่มีความจำเป็นจะต้องกิน แต่หิว แต่อยากจะกิน

อันนี้เป็นความปลอม เป็นตัวที่สร้างปัญหา

ให้กับคนเราทั้งหลาย

ถ้าทุกคนมีเหตุ มีผลแล้ว

โลกเราสามารถอยู่กันได้ ด้วยความผาสุก

เพราะว่าของต่างๆ ในโลกนี้มันมีมาก

มากเสียกว่าที่เราจะต้องการ

 แต่เพราะความอยากของกิเลส มันมีความรู้สึกว่า ไม่พอ

มันคิดว่า มีมากเท่าไหร่ ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

 มันก็เลยสร้างปัญหา ให้สงครามเกิดขึ้น

ก็เพราะกิเลสพาให้เกิดขึ้น

ถ้าทุกคนเป็นชาวพุทธ เชื่อได้ว่าโลกเรานี้

จะอยู่กันได้อย่างสันติสุข

ไม่มีเหตุที่จะต้องไปรุกราญผู้อื่น

 ไม่มีเหตุที่จะไปเบียดเบียนผู้อื่น

เพราะชาวพุทธเรานั้น อยู่ง่าย กินง่าย

 แล้วก็กินน้อยด้วยเรียกว่า มักน้อยสันโดษ

กินเท่าที่จำเป็น บริโภคเท่าที่จำเป็น

เสื้อผ้ามีสักสองชุด ก็อยู่ได้แล้ว

ชุดขาวนี่สลับผลัดเปลี่ยนกัน

วันนี้ใส่ชุดนี้ อีกชุดหนึ่งก็เอาไปซัก

พอพรุ่งนี้ เราก็เปลี่ยนมัน

อย่างของพระนี่ ท่านก็มีแค่สามผืนก็อยู่ได้แล้ว

เรียกผ้าไตรจีวร มีผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง

แล้วก็ผ้าห่มกันหนาวอีกผืนหนึ่ง

 ความจริงใช้แค่สองผืนเท่านั้นเอง

ผ้าห่มกันหนาวใช้เวลาหน้าหนาว ฤดูหนาว

โดยปกติมีอยู่สองผืนก็อยู่ได้แล้ว

อย่างที่อาตมาห่มนี่ ผ้าจีวรนี่เรียกว่าผ้าห่ม

แล้วก็ผ้านุ่งอีกผืนหนึ่ง

 พูดถึงความจำเป็น ของเรื่องเหล่านี้แล้ว มันไม่มาก

 มนุษย์เรานี่ ถ้าอยู่กัน ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

 อยู่ตามความจำเป็น ไม่ต้องมีอะไรมากมาย

 ตู้เสื้อผ้าไม่ต้องมีหรอก ร้านขายตู้เสื้อผ้าก็เจ๊งไปเลย

 ไม่รู้จะเอาเสื้อผ้าที่ไหนมาเก็บ

แต่สังคมเรามันก็แปลก ต้องมีหลายชุดด้วยกัน

 วันหนึ่งมี ชุดเช้า ชุดกลางวัน ชุดเย็น ชุดนอน

ใส่กันเป็นแบบว่าเล่นไปเลย

แล้วก็ต้องมาลำบาก กับการดูแล รักษา

ต้องซักกันอยู่อย่างนี้ ปัญหาต่างๆ นานา จึงเกิดขึ้นมา

 เพราะว่า ขาดความพอดีขาดปัญญา 

ถ้าเรา ใช้เหตุ ใช้ผล ใช้ปัญญาแล้ว

 สังคมเราจะอยู่กันได้ ด้วยความสงบผาสุก

เพราะว่า ความสุขที่แท้จริงนั้น

 มันมีอยู่ในตัวของเราแล้ว

คือความสงบของจิตใจนั้นเอง

 เพียงแต่ว่า เราไม่เคยมาควบคุมตัวนี้เลย

ปล่อยให้ตัวนี้ ถูกฉุด กระชาก ลากไป

ด้วยพลังอำนาจของกิเลส มันก็เลยหาความสุขไม่ได้

มีแต่ความรุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลา ร้อนเพราะความโลภ

 ร้อนเพราะความโกรธ ร้อนเพราะความหลง

พระพุทธเจ้าบอกว่าจิตใจของคนเรานั้น

 ร้อนเพราะรูป ร้อนเพราะเสียง ร้อนเพราะกลิ่น

ร้อนเพราะรส ร้อนเพราะเครื่องสัมผัส เห็นแล้วตาลุกวาว

ได้ยินแล้วตาลุกวาว อยากจะได้ขึ้นมา

มันทำให้เกิดความร้อนขึ้นมา

 เมื่อเกิดความอยากแล้ว ก็อยู่ไม่สุขนั่นเอง

แต่ถ้าเราใช้ปัญญา ใช้ธรรมมะ เข้ามาสอนจิตใจ

 และบอกเราว่าอย่าไปหลงเลย

ในโลกนี้น่ะ ต่อให้มีเงิน กี่ร้อยล้าน กี่พันล้าน

มันก็ซื้อความสุข ที่พระพุทธเจ้าสอนพวกเราไม่ได้

เรามีอยู่แล้วในตัวเราเอง เพียงแต่ทำให้มันเกิดขึ้นเถิด

 แล้วเราจะไม่ต้องไปวุ่นวายกับอะไรทั้งสิ้น

เราจะมีความสุขตลอดไปเลยทีเดียว

 เพราะความสุขอันนี้เมื่อเรามีแล้ว เรามีสติปัญญา

 เราสามารถรักษามันไว้ได้

มันเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง

สมบัติภายนอกนั้น

มันถูกเขาขโมยไปได้นะ มันเสื่อมได้

รถจอดทิ้งไว้เดี๋ยวนี้ คนก็ยังขโมยไปได้

ข้าวของที่เรามีอยู่ ขโมยก็ยังเข้าไปขโมยได้ถึงในบ้าน

 สามีของเรา ภรรยาของเรา ยังเสียไปได้เลย

อย่าว่าแต่อะไร แต่อันนี้แหละ

ที่ไม่มีใครสามารถ จะเอาจากเราไปได้

ความสุขที่เกิดจากความสงบสุขอันนี้

ก็ขอฝากญาติโยม ให้พยายามผูกใจไว้ คิดถึงเรื่องนี้

 และพยายามทุ่มเท

ชีวิต จิตใจ สติ ปัญญา ความพากเพียร

เพื่อที่จะยึดครองความสุข

คือความสงบของจิตอันนี้ ไว้ให้ได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๑ พรรษา ๒๕๔๐ (กำลังใจ ๑)

“กามสุขเป็นทุกข์”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 กรกฎาคม 2559
Last Update : 23 กรกฎาคม 2559 8:38:22 น.
Counter : 1301 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ