จงทำสิ่งที่คุณทำได้...ด้วยสิ่งที่คุณมี...ณ จุดที่คุณยืนอยู่ - ธีโอดอร์ รูสเวลท์
Uploaded with ImageShack.us
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
10 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
จดหมายจากท่านว.วชิรเมธีถึงโดม วุฒิชัย





ว. วชิรเมธี พระเมธีหนุ่มแห่งยุคสมัย

(ภาพจากนิตยสาร GM)




"บัวเหล่านั้น" ภาพโดย filmgus





เพลงพุทธคุณ

ขับร้องโดย โยธิน พรหมดี

ประพันธ์โดย ศรันย์ ไมตรีเวช (ดังตฤณ)



งามรุ่งเรืองบรรเจิดจับตาลึกซึ้งแปลก
เพียงแรกแลบันดาลปีติเอ่อพ้นพรรณนา
เห็นลีลาพาใจให้เย็นระงับนิ่ง
ทุกทุกสิ่งรอบรายกลับกลายภิรมย์สิ้น
ความไร้มลทินอันยากเปรียบปาน
ความสราญวิมลแห่งผู้รู้
สุดแห่งยอดครู องค์สัพพัญญูเอก


ความซับซ้อนโอฬารที่มีที่เป็นอยู่
ครวญคิดดูเหมือนไร้ผู้อาจหยั่งรู้สิ้นแล้ว
แม้พบปราชญ์ผู้แพรวปัญญาแสนเรืองรอง
ได้เรียนลองไตร่ตรองนานช้ารู้จำพ่าย
เพียงผู้ได้เป็นนายแห่งปัญญา
จึงกาจกล้าท่วงทันสัจจะนั้น
เลิศยิ่งสามัญ ปัญญาพระพุทธส่อง


กลางหนทางวิบากยังมีศาลาร่ม
ให้ชื่นชมธาราแห่งความการุณย์อันแท้
ซาบซึมแผ่ผ่านใจอันร้อนด้วยไฟใหญ่
ดับเชื้อไฟให้สิ้นสุดลงสิ้นทางต่อ
แบกรับกรรมเพียงพอแค่ชาตินี้
ได้จบทีเพราะมีเส้นทางไว้
ให้ได้โพล่งพลันสู่การรับรู้ใหม่
พระผู้จอมธรรมตถาคตพระองค์นั้น…


------------------------


ผมได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกขณะที่อยู่เพียงลำพังที่ต่างจังหวัด

ได้ยินครั้งแรกก็รู้สึกว่าไพเราะจับใจ

ทั้งที่ฟังไม่ค่อยค่อยออกว่ามีถ้อยคำและเนื้อหาอะไรบ้าง

แต่เสียงผู้ร้องและเสียงดนตรีร่มรื่นสงบเย็น

ผมมารู้ทีหลังว่าคุณดังตฤณเป็นผู้ประพันธ์เพลงนี้

นานกว่าจะได้รู้เนื้อเพลงทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง

และถึงวันนี้ผมก็ยังร้องเพลงนี้ไม่ได้

แต่ทุกครั้งที่ได้ฟังก็ยังรู้สึกไพเราะจับใจทุกครั้งไป



-------------------------------



ระหว่างวันที่ 9 - 16 กันยายน นี้Double A Book Tower จะจัดงานครบรอบ 1 ปี "Double A Book Tower 1st Anniversary Celebration" ขึ้น ในงานมีการลดราคาหนังสืออย่างมโหฬาร และมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย

คลิกดูรายละเอียดได้ที่ //www.doubleabooktower.com



(สำหรับ วันที่ 14 ก.ย. เวลา 16.30 – 18.00)


พบปะพูดคุยกับ ขุนเขา ริมน้ำ นักเขียนอิสระ เจ้าของสำนักพิมพ์อิราโต้ พับลิชชิ่ง
กับผลงานเขียนเรื่อง ตราบโลกนี้ยังหมุนรอบตัว, มุมมองชีวิต และอุ่นรัก อุ่นเหงา

พร้อมแขกรับเชิญ โดม วุฒิชัย ในหัวข้อ “เรียนรู้รัก..เข้าใจชีวิต”

ร่วมเจาะลึก โดย คุณวริศวรรณ บุญวงษ์ (นุช ตี 10)



---------------------------



เรื่องนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร ขวัญเรือนฉบับ 858 ปักษ์หลัง สิงหาคม 2550)
ตอนแรกคิดว่าจะไม่เอาเรื่องนี้มาลงบล็อกแล้ว
แต่มาคิดอีกทีและตัดสินใจอีกทีเลยเอามาอัพบล็อกดีกว่า
อย่างน้อยก็เผื่อสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่าน
และบางทีอาจได้เห็นความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง

หากใครอ่านเรื่องนี้แล้วก็กรุณาคลิกข้ามไปได้เลยนะครับ !


----------------------------------------------------------





จดหมายจากท่านว.วชิรเมธี







เจริญพร คุณโดม วุฒิชัย

ก่อนอื่นอาตมภาพคงต้องขออภัยเป็นอย่างสูง ที่ทอดเวลาออกไปอย่างเนิ่นช้าเหลือเกินสำหรับการตอบจดหมายของคุณโยม แต่การที่ช้าออกไปนั้นมีเหตุผลอยู่อย่างน้อย ๓ ประการ นั่นคือ (๑) เมื่อแรกที่จดหมายมาถึงนั้น เป็นช่วงเวลาที่อาตมภาพเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจยังประเทศภูฏานเป็นเวลา ๒ อาทิตย์ (๒) หลังกลับมาเมืองไทยแล้วก็ยังคงมีศาสนกิจรัดตัวมากเสียจนแทบหาเวลาลงนั่งเขียนอะไรยาวๆ ได้ยากเหลือเกิน

สภาพเช่นนี้ทำให้เข้าใจท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมากว่า ทำไมในช่วงหลังท่านจึงใช้วิธีพูดแทนการเขียนและในที่สุดก็เลิกเขียนหนังสือแต่ใช้วิธี “พูดหนังสือ” แทนอย่างสิ้นเชิง และ (๓) ต้องการสังเกตปรากฏการณ์ “จตุคามรามเทพ” ให้ถึงที่สุดก่อนว่า เมื่อกระแสนี้ขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ

ซึ่งมาถึงนาทีนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าการทอดเวลาออกไปด้วยเหตุผลในข้อ ๓ นั้น นับว่ามีคุณมหาศาล เพราะทำให้อาตมภาพได้ทันอยู่ ทันดู ทันรู้ ทันเห็น “ปาฏิหาริย์” ของจตุคามรามเทพอย่างหมดเปลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็การได้เห็นหลวงปู่นริศ รำและร้องมโนราห์, เห็นหลวงหนุ่ยยิงปืน กรีดหน้า ประทับทรง และแสดงอุปเทห์ (วิชาพิศดาร) เพิ่มขึ้นอีกมากมาย เห็นอดีตเสือดำที่มาบวชเป็นพระเสกน้ำมนต์พิสดารจนล้นออกจากบาตร เห็นพระอาจารย์อ๊อดเสกตะกรุดลูกปืนผสมจตุคามฯ เห็นพระสงฆ์จำนวนหนึ่งขึ้นไปเสกจตุคามบนเครื่องบินโบอิ้ง, F 16 และในเรือรบหลวงของแผ่นดิน กระทั่งว่าเดินทางไปเสกกันตามสถานที่สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในอินเดีย อินโดนีเซีย นอร์เวย์ และท่ามกลางทะเลลึกซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสะดือทะเล และเหนืออื่นใดก็คือ ได้ทันเห็นบันใดขึ้นพระธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราชทรุด พระมหาธาตุเอียง (ทรุด) อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปรากฏการณ์อันสะท้อนให้เห็นถึง “ปาฏิหาริย์” แห่งการเสกจตุคามรามเทพเหล่านี้เอง ที่ในที่สุดได้เป็น “ตัวเร่ง” ให้กระแสจตุคามฯ ทรุดฮวบลงอย่างรวดเร็ว และในที่สุดนำมาสู่การตรวจสอบของมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระแสแห่ง “มโนธรรม” ของสังคมจากผู้รู้เริ่มตีกลับ ทำให้เสียงแห่งความถูกต้องดีงาม เริ่มมีคนได้ยิน และสุดท้ายนำไปสู่ภาวะ “ขาลง” อย่างรวดเร็วของจตุคามรามเทพอย่างที่เห็นในวันนี้

บางครั้ง การรอคอยด้วยความอดทนและด้วยความเข้าใจในบางกรณี ก็ทำให้เราได้เห็นการคลี่คลายของปัญหาต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

สำหรับ “ปุจฉา” ที่คุณโยมถามมานั้น อาตมภาพขอตอบตามลำดับดังต่อไปนี้

(๑) การปลุกเสกที่แท้จริงในความหมายของพุทธศาสนานั้น คืออะไร ?

วิสัชนา : คำว่า “ปลุกเสก” ไม่เคยมีอยู่ในสารบบคำสอนของพุทธศาสนา ดังนั้น จึงไม่มีความหมายพิเศษที่จะต้องตอบและจะต้องตีความ ขอให้เข้าใจสั้นๆ เพียงว่า การ “ปลุกเสก” นั้น มีขึ้นมาในพุทธศาสนาแบบไทยๆ ของเรานี่เอง

(๒) บรรดาสาวกที่กำลังเรียกร้องศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ และบรรดาเกจิอาจารย์ทั้งหลายที่รับปลุกเสกจตุคามรามเทพเดือนชนเดือนไม่มีวันว่างเว้นนั้น เคยตั้งคำถามกับตัวเองไหมว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรแก่สาวกและแก่ชาวโลก ?

วิสัชนา : พระสงฆ์ที่รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นอย่างดี คงไม่ทำในสิ่งซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน ท่านเหล่านั้น อาจไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า แก่นพุทธศาสน์คืออะไร หน้าที่ของพระสงฆ์คืออะไร

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพที่แพร่หลายในหมู่สงฆ์ นับว่า มีคุณูปการอย่างสำคัญไม่น้อยก็ตรงที่ ในแง่หนึ่งมันได้สะท้อนให้เห็นภาวะ “ด้อยการศึกษา” ในหมู่พระสงฆ์อย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง คุณูปการข้อนี้ หากพินิจให้ดีก็น่าจะเป็นเหตุผลอันเพียงพอที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ครั้งมโหฬารของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และภาวะด้อยการศึกษาที่ว่านี้สะท้อนออกมาอย่างไม่ปิดบังว่ามันได้เกิดขึ้นและกินลึกเข้าไปถึงพระสงฆ์ทุกระดับชั้น

และนั่นจึงทำให้เราตอบคำถามได้อีกข้อหนึ่งว่า ทำไมเป็นเมืองพุทธ แต่ไทยกลับยิ่งทรุดลง เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว เมืองพุทธที่เราเป็นกันอยู่นั้น มันเป็นเมืองพุทธแบบไทยๆ แท้ๆ เลย แทบไม่ใช่พุทธในความหมายของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แบบที่เคยเข้าใจกันมาแต่เดิม

(๓) ที่พระพุทธเจ้าทรงเปรียบมนุษย์กับดอกบัวนั้น ท่านเปรียบกับบัวสามเหล่าหรือสี่เหล่าแน่ ?

วิสัชนา : ในพระไตรปิฎกแปลไทยฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๙ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบมนุษย์กับบัว ๓ เหล่า ดังนี้

“...เมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี (กิเลส) ในตาน้อย มีธุลีในตามาก...มีอุปมาเหมือนในกออุบล ในกอปทุม หรือในกอบุณฑริก ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ยังไม่พ้นน้ำ จมอยู่ในน้ำ (เหล่าที่ ๑)ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อยู่เสมอน้ำ (เหล่าที่ ๒)ดอกอุบล ดอกปทุม ดอกบุณฑริก บางดอกที่เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ ไม่แตะน้ำ (เหล่าที่ ๓)...”


และข้อความต่อมาตรัสขยายความตอนนี้ออกไปอีกเล็กน้อยว่า
“พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีธุลีในตาน้อย มีธุลีในตามาก มีอินทรีย์แก่กล้า มีอินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการทราม สอนให้รู้ได้ง่าย สอนให้รู้ได้ยาก บางพวกมักเห็นปรโลก (โลกหน้า) และโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี บางพวกมักไม่เห็นปรโลกและโทษว่าเป็นสิ่งน่ากลัวก็มี ฉันนั้น...”ส่วนบัว ๔ เหล่านั้น เป็นทัศนะของพระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์ผู้อธิบายพระไตรปิฎก) ซึ่งท่านขยายความบัว ๓ เหล่านั้นออกเป็นบัว ๔ เหล่าโดยให้คำอธิบายไว้ดังนี้

๑) อุคติตัญญู = บัวพ้นน้ำ ที่พอต้องแสงอาทิตย์แล้วก็บานในวันนี้

๒) วิปจิตัญญู = บัวเสมอน้ำ ที่จะบานในวันรุ่งขึ้น

๓) เนยยะ = บัวจมอยู่ในน้ำ ที่จะขึ้นมาบานในวันที่ ๓

๔) ปทปรมะ = บัวใต้น้ำ เปรียบเหมือนบัวที่มีโรค ไม่มีโอกาสขึ้นมาบาน เป็นอาหารของปลาและเต่า

ในทัศนะของพระพุทธเจ้า ทรงเปรียบมนุษย์เหมือนบัว ๓ เหล่าและตรัสย้ำอีกว่า มนุษย์นั้น เมื่อจำแนกด้วยคุณภาพการมีโอกาสรู้ธรรมแล้วก็มีเพียงสองประเภทคือ ประเภทหนึ่งสอนให้รู้ได้ง่าย และอีกประเภทหนึ่งสอนให้รู้ได้ยาก
หากสังเกตให้ดีจะไม่ทรงใช้คำว่า “ไม่สามารถสอนได้” แต่ทรงใช้คำว่า “สอนให้รู้ได้ยาก” เท่านั้น

ในทัศนะของผู้เขียน คิดว่า พระอรรถกถาจารย์อธิบายเพิ่มเติมพวกที่ “สอนให้รู้ได้ยาก” นั่นเอง แยกออกมาเป็นอีกพวกหนึ่งว่า เป็นบัวเหล่าที่ ๔ คือ ปทปรมะ ซึ่งหมายถึงพวกบัวใต้น้ำ คำว่า “สอนให้รู้ได้ยาก” นั้น เรามีสิทธิ์คิดต่อไปได้ว่า บางคนกว่าจะรู้ได้คงต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายภพชาติ แต่เมื่อพิจารณาในช่วงชีวิตนี้ เขาอาจไม่มีโอกาสสอนให้รู้ได้เลย เช่น อาจารย์ของพระสารีบุตรที่ชื่อสัญชัย ปฏิเสธการไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่เกิดร่วมยุคสมัยกันและมีพระสารีบุตรซึ่งเป็นศิษย์เอกชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ท่านปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาดว่าไม่ไปฟังพระพุทธเจ้า เพราะท่านก็ “หนึ่งในตองอู” เหมือนกัน หรือท่านพระเทวทัตที่บวชอยู่กับพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ยอมรับการสอนจนกระทั่งวาระสุดท้ายจึงสำนึกตัวได้

พระอรรถกาจารย์คงพิจารณาเห็นมนุษย์ในประเภทที่ “สอนให้รู้ได้ยาก” อย่างนี้เอง ว่าเป็นดุจบัวเหล่าที่ ๔ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบัวสามเหล่าหรือสี่เหล่า ก็ทำให้เราได้เข้าใจความจริงอย่างหนึ่งว่า ในโลกนี้นั้น มีมนุษย์ที่สอนให้รู้ได้ง่ายและสอนให้รู้ได้ยาก (ซึ่งไม่พบคำว่าไม่สามารถสอนให้รู้) อยู่ และสอนให้รู้ได้ยากนั้น อาจกินความไปถึงว่า ในชาตินี้ถ้ายังไม่รู้ ก็อาจเป็นชาติต่อไปที่เขาพอจะรู้อะไรขึ้นมาได้บ้าง ดังกรณีของพระเทวทัตที่ทรงทำนายว่า ในอนาคตจะกลับมาเกิดเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งชื่อ “อัฐฐิสสระ” นี่คือตัวอย่างของพวก “สอนให้รู้ได้ยาก” แต่หากมองเฉพาะชาตินี้ท่านก็เป็นบัวเหล่าที่ ๔
ทัศนะของพระอรรถกาจารย์ จึงไม่ขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องบัว ๓ เหล่า เพราะบัวเหล่าที่ ๔ นั้น ท่านเพียงแต่ขยายความออกไปจากนัยะที่พระพุทธเจ้าทรงทิ้งเอาไว้ให้นั่นเอง

(๔) คุณโดมเขียนไว้อีกว่า “...ผมชอบใจที่ท่าน (ว.วชิรเมธี) บอกว่า ทุกวันนี้ คนไม่ขาดที่พึ่งกันหรอก พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่พึ่งนั้น ยังอยู่ครบ แต่สิ่งที่ชาวบ้านทั่วไปขาดคือ “ความรู้” ...เมื่อรู้ผิด ก็ไม่อาจเรียกว่า ความรู้ได้ใช่ไหมครับ”

วิสัชนา : ถึงนาทีที่เขียนจดหมายตอบนี้ ผู้เขียนก็ยังคงยืนยันว่า สิ่งที่สังคมไทยขาดอย่างยิ่งก็คือ “ความรู้” เราไม่ได้ขาดที่พึ่งในลักษณะที่จะทำให้คนเกิดความอบอุ่นมั่นใจ แต่ที่พึ่งที่เราขาดไปก็คงเป็น “ที่พึ่งทางปัญญา” นั่นแหละ ไม่ใช่ที่พึ่งทางจิตใจอย่างแน่นอน และอาการขาดความรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดที่พึ่งทางปัญญานั้น เป็นกันระบาดอยู่ทั่วไปในทุกวงการของสังคมไทยทั้งทางการเมือง การศาสนา การเศรษฐกิจ และสังคม

การขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านการเมืองนั้น ก็สังเกตได้จากคุณภาพของนักการเมืองไทย ที่จนป่านนี้ เราก็ยังมองไม่เห็นนักการเมืองระดับรัฐบุรุษเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา หากทอดตามองนักการเมืองไทยเราจะพบแต่นักเลือกตั้งซึ่งเล่นการเมืองเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง และนักธุรกิจการเมืองซึ่งเล่นการเมืองเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง

เรามองไม่เห็นนักการเมืองที่มีวิธีคิดระดับรัฐบุรุษอยู่ในวงการเมืองของไทย วันนี้ การเมืองไทยคงมีแต่นักการเมืองสองประเภทเท่านั้นคือนักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ ทางเลือกทางการเมืองจึงมีเพียงสองทางตามประเภทของกลุ่มผู้ถือครองอำนาจ ในการเมืองไทย เรายังไม่เคยเห็นนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลในระดับที่สามารถมองภาพรวมของสังมคมไทยในระยะยาวไกลออกไปถึง ๑๐๐ ปีข้างหน้าได้

เมื่อปีที่แล้ว (๒๕๕๐) ผู้เขียนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและได้แวะเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน ระหว่างนั้นมีการประชุมกันเพื่อสร้างตึกใหม่หลายหลัง ในการสร้างตึกของมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งนี้มีการถกเถียงกันยาวนานร่วมปี เพราะพวกเขาคิดกันว่า ๑๐๐ ปีที่แล้วฮาร์วาร์ดเป็นอย่างไร ๑๐๐ ปี ที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร และอีก ๑๐๐ ปี ข้างหน้าควรจะเป็นอย่างไรต่อ แค่สร้างตึกไม่กี่หลัง เขาคิดกันอย่างน้อย ๓๐๐ ปี มองอดีต มองปัจจุบัน และคาดการณ์ถึงอนาคตอย่างลึกซึ้งรอบคอบ เพื่อการสร้างตึกคราวนี้เขาระดมนักวิชาการ ปัญญาชน ศิษย์เก่าของฮาร์วาร์ดมาถกกันอยู่เป็นปีและประชุมกันหลายอาทิตย์

นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า “วิสัยทัศน์” และการรู้จัก “มองภาพรวม” ของสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เพราะคิดกันยาวไกลขนาดนี้ใช่หรือไม่ จึงทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน และอเมริกันชนจึงเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของโลกในแทบทุกภูมิภาค

จนกล่าวกันในวงการการตลาดระดับโลกว่า แบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดของโลกไม่น่าจะใช่เบนซ์ เป๊บซี่ โค้ก หรือไมโครซอฟ หากแต่เป็น “ฮาร์วาร์ด” ต่างหาก ฮาร์วาร์ดจึงมีค่าเท่ากับปัญญา (ฮาร์วาร์ด=ปัญญา) เมื่อไหร่สังคมไทยจะสามารถสร้างแบรนด์ทางปัญญาเช่นนี้ได้บ้าง ทั้งๆ ที่เรามีต้นทุนที่ดีที่สุดทางปัญญาคือพุทธศาสนา แต่คำถามคือ เราใช้ต้นทุนทางปัญญานี้กันอย่างไร ? และทำไมเมื่อคนไทยนับถือพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาแห่งปัญญา จึงเอาประโยชน์จากพุทธศาสนาได้เพียงระดับกากหรือกระพี้ คือ ติดอยู่เพียงเครื่องรางของขลังและลาภสักการะอย่างหน้ามืดตามัว ?

ในเมืองไทย ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นนักการเมืองไทย ที่เคยมีวิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของสังคมไทยไกลเกิน ๑๐๐ ปีเลย เคยเห็นแต่นักการเมืองที่คิดถึงแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด (เฉพาะหน้า) และครั้งต่อไป และคิดกันแต่เพียงว่า รัฐบาลหน้าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสม ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินนักการเมืองคนไหนลุกขึ้นมาประกาศว่า อีก ๓๐ ปี ๕๐ ปี จากนี้เป็นต้นไป สังคมไทยจะก้าวไปเป็นผู้นำทางปัญญา วิชาการ เทคโนโลยี่ เศรษฐกิจ หรือสันติภาพของโลกเลย

จำได้ว่า เมื่อสมัยที่สองของการเลือกตั้ง (หากจำผิดก็ขออภัย) บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีที่อเมริกันชนรักมากที่สุดคนหนึ่งเคยวางวิสัยทัศน์ว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เด็กระดับประถมทุกคนจะต้องรู้จักการใช้อินเทอร์เน็ตเป็น และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วในสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ แม้จะยังไม่เป็นความจริงที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่สิ่งซึ่งเราได้เห็นก็คือ เขาเป็นนักการเมืองที่คิดถึง “คนรุ่นต่อไป” ของประเทศในรอบ ๕๐ หรือ ๑๐๐ ปี ข้างหน้าเรียบร้อยแล้ว

ส่วนอดีตรองประธานาธิบดีของเขาคืออัล กอร์ ตอนนี้ มีวิสัยทัศน์ไกลถึงขนาดเสนอแผน “กู้โลก” ไม่ใช่ในรอบ ๑๐๐ ปี แต่เป็นล้านปีข้างหน้าเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ในสังคมไทยของเรา วิธีคิดที่สะท้อนการวางวิสัยทัศน์ยาวไกลในการพัฒนาประเทศไม่เคยหลุดออกมาจากปากของนักการเมืองไทยเลย และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทย ไม่มั่นคง ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา เต็มไปด้วยคอรัปชั่น และแทนที่การเมืองจะเป็นเวทีแก้ปัญหา กลับกลายเป็นรากฐานที่มาของการพัฒนาประเทศในแทบทุกด้านเสียด้วยซ้ำ

การขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านเศรษฐกิจ ก็คงเห็นแล้วว่า เราเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ (ค่าเงินบาทผันผวน) ในปี ๒๕๒๗ และปี ๒๕๔๐ แต่แล้วเหตุการณ์แบบนี้ก็ย้อนกลับมาเล่นงานเราอีกครั้งในปี ๒๕๕๐ ซึ่งค่าเงินบาทเกิดการผันผวนครั้งใหญ่จนโรงงานปิดกันระนาว ภาวการค้าขาย การลงทุนงะงักงัน คำถามก็คือ ประสบการณ์เก่าๆ ไม่ทำให้เราได้รับบทเรียนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเลยอย่างนั้นหรือ ?

เวลามีปัญหาทางการเงินการคลัง เราจึงได้เห็นแต่คนที่เคยทำให้ประเทศล้มกลุ่มเดิมนั่นเอง ออกมาเป็นแนวหน้าในการแก้ปัญหาแบบเดิมๆการขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านศาสนา แทบไม่มีอะไรให้พูดถึง เพราะความจริงนั้น มันสะท้อนความจริงอย่างเปิดเผยเสียจนไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง

การขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านสังคม ก็เช่นเดียวกันกับทางศาสนาซึ่งไม่ต้องการคำอธิบายมากนัก คิดกันง่ายๆ แค่เพียงว่า มีคนเป็นห่วงการใช้ภาษาไทยในระดับ “แอ๊บแบ๊ว” ว่าเป็นต้นทางแห่งความหายนะของประเทศแล้วกลายเป็นข่าวครึกโครมใหญ่โตทุกสื่อมวลชน ในขณะที่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นซึ่งกัดกินสังคมไทยมาอย่างยาวนานอย่างค่านิยมบริโภคนิยม วัตถุนิยมที่ทำให้คนทั้งประเทศมุ่งไปบูชาเงินกันจนเป็นสรณะอย่างใหม่ และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินโดยไม่ถามถึงคำว่า “จริยธรรม”

และการที่รายงานการวิจัยระบุว่า คนไทยรุ่นใหม่ยอมรับการโกงหรือคอรัปชั่นว่าเป็นเรื่องสามัญ ใครๆ เขาก็ทำกัน ไม่เห็นเสียหาย รวมทั้งสถาบันครอบครัวไทยเคยรายงานว่าปีหนึ่งๆ มีวัยรุ่นไทยทำแท้งอย่างน้อย ๓๐๐,๐๐๐ รายต่อปี สภาพเสื่อมโทรมของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งที่กินลึกถึงขั้น “เคลื่อยย้ายกระบวนทัศน์” ของคนทั้งสังคมอย่างนี้ คนใหญ่คนโตในสังคมไทยไม่น้อยซึ่งมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลกลับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทว่ากลับไปให้ความสนใจกับเรื่องเล็กๆ ระดับปลาซิวปลาสร้อย เช่นเรื่องภาษาและการตั้งชื่อเล่นเด็กๆ เกิดใหม่ นี่ไม่สะท้อนภาวะขาดปัญญาทางสังคมแล้วจะเรียกว่าอะไร

สังคมไทยของเรา เป็นสังคมอุดมอวิชชามาอย่างยาวนาน ความข้อนี้ปรากฏอยู่แม้แต่ในพระราชนิพนธ์แปล “พระมหาชนก” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่มีกี่คนที่ตระหนักรู้ เราพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วยการ “รักษาตามอาการ” แต่มีน้อยคนที่มากที่คิดถึงการยกเครื่องสังคมไทยในระดับการยกเครื่องทั้งระบบ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรายังขาดที่พึ่งทางปัญญาอย่างที่กล่าวมานั่นเอง

(๕) คำถามสุดท้ายของคุณโดมก็คือ “...ตอนที่พระโมคคัลลาน์กับพระสารีบุตรยังเป็นพราหมณ์ศึกษาอยู่กับอาจารย์สัญชัย ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ เมื่อทั้งสองได้พบกับสาวกของพระพุทธเจ้าและได้รับคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงอยากชวนอาจารย์ของตนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน ...อาจารย์สัญชัยปฏิเสธและกล่าวว่า “ในโลกนี้ มีคนโง่มากกว่าหรือคนฉลาดมากกว่า” ลูกศิษย์ก็ตอบว่า “ก็คนโง่นะสิครับท่านอาจารย์” อาจารย์สัญชัยตอบไปทันทีว่า “ถ้าเช่นนั้น คนโง่จงมาสำนักเรา คนฉลาดจงไปสำนักพระพุทธเจ้า”

ท่าน (ว.วชิรเมธี) มีความคิดเห็นต่อคนเป็นอาจารย์สัญชัยในเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ ?


วิสัชนา : ผู้เขียนมีความเห็นว่า คนอย่างอาจารย์สัญชัย ยังคงมีอยู่มากมายในสังคมไทย ในวันนี้ กล่าวคือ อาจารย์สัญชัย = คนไทยที่มองเห็น “ความด้อยการศึกษา” ของเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมโลก แล้วคิดด้วยกโลบายว่า นั่นเป็น “จุดแข็ง”

(แทนที่จะมองว่าเป็น “จุดอ่อน” ของสังคมไทยหรือของเพื่อนมนุษย์ที่ยังจมอยู่ในอวิชชาแล้วคิดหาทางแก้ไขร่วมกัน) ที่จะทำให้ตัวเองร่ำรวยมั่งคั่งต่อไปได้อย่างยาวนานจากการ “หลอก” เพื่อนร่วมชาติด้วยกันให้ “งมงาย” หนักข้อขึ้นไปอีก ทั้งเป็นความงมงายทางการเมืองด้วยการหลอกว่าการเลือกตั้งมีค่าเท่ากับประชาธิปไตย งมงายทางการบริโภค (ผ่านการตลาด)ด้วยการกระตุ้นให้อยากแล้วหลอกให้ซื้อและปลูกฝังกันว่าชีวิตที่ดีงามคือชีวิตที่มีเงินสูงสุดโดยที่ไม่มีการถามถึงคุณภาพของเงิน งมงายทางสังคมด้วยค่านิยมที่ว่า การโกงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาเพราะ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” และงมงายทางจิตวิญญาณ ด้วยการสร้างเครื่องรางของขลัง และเทพอีกสารพัดชนิดที่จะเสด็จอุบัติตามจตุคามรามเทพกันขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ออกมาเผยแผ่ให้แก่ชาวพุทธและเพื่อนร่วมชาติ แล้วบอกว่านั่นคือ ความเจริญของพุทธศาสนาและนั่นคือการทำให้คนหันหน้าเข้าหาพระและวัดมากขึ้น)*1


อาจารย์สัญชัยที่เป็นศาสดาเก่าของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ตายไปกว่าสามพันปีแล้ว แต่ “วัฒนธรรมคนอย่างอาจารย์สัญชัย” ที่คอยหากินจากคนที่ด้อยโอกาสกว่าตนด้วยตัณหาและเล่ห์เพทุบายนั้น ยังคงเฟื่องฟูและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่งในสังคมไทย และที่น่าตกใจที่สุดก็คือ เดี๋ยวนี้คนอย่างอาจารย์สัญชัย อยู่ในเสื้อคลุมของพระสงฆ์ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

คุณโดม ขึ้นต้นจดหมายว่า “จดหมายจากยุคสมัยอันเศร้าหมอง” ก็เพราะมองเห็นแต่ปัญหามากมายที่ครอบงำสังคมไทยอยู่โดยทั่วไป ซึ่งนั่นเป็นสิทธิที่เราทุกคนควรจะรู้สึกไปในทำนองนั้นได้เป็นธรรมดา เพราะสภาพการณ์แวดล้อมประจักษ์อยู่แก่ตาของเราเช่นนั้น แต่ในทัศนะของผู้เขียนกลับเชื่อมั่นว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในยามที่สังคมอินเดียโบราณเข้าถึงจุดที่วิกฤติที่สุด และท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า “จุดเยือกแข็งยังคงมีอยู่ท่ามกลางเตาหลอมเหล็ก” หลวงพ่อชาเคยกล่าวว่า “ในสังสารวัฏก็มีนิพพาน ในความสกปรกก็มีความสะอาด” ด้วยเหตุดังนั้น ผู้เขียนจึงมองโลกในแง่ดีว่า ท่ามกลางยุคสมัยอันหม่นหมองนี้เอง หากรู้จักมองอย่างลึกซึ้ง เราจะค้นพบทางออกอันผ่องใสจากวิกฤติของสังคมไทอย่างแน่นอน

อย่างน้อยที่สุด วิกฤติจตุคามรามเทพ ก็ช่วยให้เราได้เรียนรู้ว่า ภาวะด้อยการศึกษาของชาวพุทธซึ่งหมายรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ มีความเข้มข้นแค่ไหนเพียงไร รู้แค่นี้ เห็นแค่นี้ หากความรู้นี้นำเราไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์และการศึกษาของคนไทยโดยรวม ก็นับว่า เราค้นพบนิพพานกลางสังสารวัฏระดับหนึ่งแล้ว

ขออนุโมทนาที่คุณโยมโดม เขียนจดหมายอันทรงคุณค่าเช่นนี้มาถึงอาตมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โอกาสหน้าคงได้อ่านจดหมายเช่นนี้อีกบ่อยๆ

ขอเจริญพร

ว.วชิรเมธี

พรรษกาล/ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๐



*1 มีอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบจากจตุคามรามเทพแล้วสรุปด้วยความยินดีว่า กระแสจตุคามรามเทพ ทำให้วัยรุ่นไทยหันหน้าเขาวัดมากขึ้น งดการมั่วสุมตามแหล่งอบายมุขแต่มาชุมนุมกันด้วยเรื่องเทพแทน

ผู้เขียนสงสัยต่อตัวผู้วิจัยว่า งานวิจัยเช่นนี้ ก่อให้เกิดความยินดีทางวิชาการได้อย่างไร ในเมื่อวัยรุ่นไทยเหล่านั้นเข้าวัดก็จริง แต่ไม่ได้เข้าไปหาพระเพื่อฟังและศึกษาธรรม ทั้งไม่ได้เข้าวัดด้วยศรัทธาปสาทะในศาสนา หากแต่เข้าไปหา “เทพที่อยู่ในวัด” ต่างหาก

การที่คนเข้าวัด แต่ไปศรัทธาพ่อมดหมอผีในวัดโดยแทบแยกไม่ออกว่าอย่างไหนพระอย่างไหนผี และการที่คนศรัทธาในเทพของต่างศาสนาอย่างงมงายซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพุทธศาสนา คือ ภาวะที่สะท้อนความวิปริตทางเชื่อของชาวพุทธไทย

อาการผิดสำแดงทางพุทธศาสนาอย่างนี้ ทำไมงานวิจัยชิ้นนั้นจึงมองไม่เห็น นี่เป็นข้อน่าเป็นห่วงมากว่า คุณภาพการศึกษาของไทยและคุณภาพของครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ เป็นอย่างไร ?


-----------------------------------------------------------




ถ้าหากการแบ่งวรรคตอนทำให้ถ้อยคำตกหล่นหรือความหมายผิดไป
ผมขอน้อมรับผิดทุกประการ
เพราะตอนที่นำจากเวิร์ดมาลงในบล็อกนั้น
ต้องมีการเว้นวรรคหรือขยับวรรคตอน
เพื่อให้สะดวกแก่การอ่านในบล็อก

พ่อพเยีย



Create Date : 10 กันยายน 2550
Last Update : 10 กันยายน 2550 10:30:46 น. 16 comments
Counter : 2658 Pageviews.

 
ขอบคุณที่นำเพลงมาให้ฟังค่ะ


โดย: ชมจันทร์ IP: 202.29.77.2 วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:10:34:28 น.  

 
สวัสดีครับพี่โดม

โห....คุณพ่อบูตามาตอบตั้งยาว
แต่ผมไม่อยากให้พ่อบููเล่นคอมเลยครับ
เพราะคุณพ่อยังเจ็บอยู่ และน่าจะมาจากการเล่นคอมนี่แหละครับ


................

ผมชอบศิลปะ และชอบธรรมะครับ
เลือกไม่ได้
แอบแวะเว็บโป๊ด้วย อิอิอิ
ภรรยาชอบแซวว่าตกลงคุณจะธรรมะหรืออธรรม 555

ผมว่าทางไหนก็ได้ที่ทำให้เราเข้าใจชีวิต

ท่าน ว.วชิรเมธี นำเรื่อง บัว 4 เหล่า ไปขยายต่อในนิตยสาร Helth & cuisine ด้วยครับ ท่านเขียนประจำในนิตยสารเล่มนี้ด้วย
ภรรยาซื้อมา แต่ผมอ่านก่อนเป็นประจำ

..............


ใจผมแอบเชียรไว้ ว่าอยากเห็นพี่โดมปุจฉา
แล้วให้ท่าน ว. วิสัชชนา
เป็นคอลัมน์ประจำในขวัญเรือนไปเลยครับ

แอบหวังนะครับ
เพราะชอบทั้งการตั้งคำถาม และการตอบคำถามจริงๆครับ





โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:11:53:18 น.  

 


เรื่องภาพ นับว่าเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งค่ะ
ชอบภาพไหนไปจกมาได้ตามสะดวก


โดย: filmgus วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:11:54:19 น.  

 
ขออนุญาตเอาคอมเม้นท์ของคุณพ่อบูและหนูปลายแปรงมาไว้หน้านี้แล้วค่อยตอบนะครับ พอดีเพิ่งอัพบล็อกอีกแล้ว...ครับท่าน


คุณพ่อพเยียครับ
ช่วงนี้หมอให้พ่อพักการพิมพ์ครับ
บอกว่าอ่านได้แต่ขอให้งดพิมพ์
เพราะรู้สึกร้างที่สะบักครับ

แต่หลายครั้งก้อดจะพิมพ์ได้ลูก

อ่านบทความวันนี้แล้ว
พ่อรู้สึกเช่นกันว่า
คนเราในสังคม
หันมองจ้องไปที่กระพี้มากกว่าแก่น พ่อคิดว่าแก่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ถูกคนส่วนมากหลงลืมไป

การที่คนแห่แหนกันเข้าไป
รับของต่างๆจนเป็นเหตุให้ล้มตาย วิวาท และเจ็บป่วย

มันช่างสวนทางกับแก่นหรือจาคะการบริจาคดังที่อ้างกัน

จริงๆครับ

วันนี้พ่อเห็นภาพดอกบัว
ค่อยๆอ่านตามไปช้าๆอย่างตั้งใจ
สภาพสังคมปัจจุบัน
ช่างไม่แตกต่างจากบัวกอนี้จริงๆ

ปัญหาต่างๆรุมเร้าเราทุกวัน
จริงอยู่นะครับคุณโดม
ว่าเราอาจไม่ได้รับผลกระทบนั้นโดยตรง

แต่พ่อคิดว่า เวลาที่เราเห็นสิ่งที่ไม่จรรโลงใจ ความรุนแรงต่างๆ
มันก็ทำให้ใจเราอ่อนล้าได้เช่นกันครับ

อย่างไรก็ตาม
พ่อยังคิดเสมอว่า
บัวนั้นมีเหง้า รากหยั่งลึก
อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการบูชา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พ่อมั่นใจว่า แม้น้ำจะแห้งขอด แต่เมื่อวันหนึ่งเมื่อฝนตกลงมาโอบเอื้อบัวแห้งๆกอนั้น บัวกอเดียวกันนี้เองก็จะสามารถแงหน่ออ่อน ขึ้นมาเเติบโตได้อีกนะลูก

ขอบคุณสำหรับความคิดดีๆที่ลูกแบ่งปันครับ
ด้วยรัก



โดย: พ่อบู (be-oct4 ) วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:8:42:47 น.




ห่างไกล ไม่ห่างกัน 17
พี่โดม....

ทำไงดีล่ะ...มีเรื่องปรึกษา
คือว่า...ไปแอบขอวัชพืชงามๆที่บ้านคุณสเลเตเอาไว้น่ะ...ประมาณว่ากิเลสครอบงำจนตัวสั่นขนาดเห็นแค่รูปนะ....

แล้วทีนี้ก็ตัวอยู่ตั้งริมฝั่งทะเลแล้ว ต้นไม้ก็อยู่ตั้งฝั่งเจ้าพระยา...

จะมีวาสนาชุบชูกิเลสหรือเปล่าเนี่ย...
ถ้า...ถ้าว่า...ฝากบ้านเพิงพเยียเลี้ยงจะดีไหมหนอ...
เพราะอยู่ฝั่งเจ้าพระยาเหมือนกันนิ....

แล้วปลายแปรงค่อยไปสอยมาบ้านปลายฟ้าทีหลัง...จะดีไหมหนอ...

คือว่า...เห็นแล้วอยากเอามาแทนวัชพืชเจ้ากระดุมทองของป้าพิศที่ตอนนี้ระบาดเข้าเรือกสวนไร่นาเขาจนป้าแกไม่กล้าบอกใครๆว่าแกเป็นคนเอามาแพร่ในปลายวา....
ป้าพิศไปขโมยมาจากหน้าอำเภอ สองก้าน...แล้วเขามาทำถนนก็รุนดินหน้าบ้านกวาดตั้งกะต้นทางไปปลายทาง...

ผลก็กล่ายเป็นวัชพืชแห่งปลายวา....

อ้อ....พระพุทธเจ้ากะไอน์สไตน์น่ะอ่านอีกรอบละเพราะเพิ่งได้หนังสืองานศพพุทธโอวาทก่อนนิพพานมาอ่านคู่....

กิเลสอีกละ...บ้านปลายฟ้าหาหนังสืออ่านไม่ได้..
คอยดูเถอะ...ไปทอดกฐินรอบนี้ต้องให้ยายเม้าท์ทอดกฐินหนังสือให้ปลายแปรงสักเข่งแล้ว...



โดย: ปลายแปรง วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:9:12:22 น.





โดย: พ่อพเยีย IP: 124.121.20.184 วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:12:08:29 น.  

 


โดย: J IP: 203.154.114.253 วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:12:09:36 น.  

 
ศรัทธา ท่าน ว.วชิรเมธี มานานแล้วครับ สาธุ


โดย: PaTueng วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:12:49:40 น.  

 
สวัสดีครับคุณชมจันทร์

ดีใจที่คุณชอบเพลงนี้...

สวัสดีครับคุณกะว่าก๋า

ถือโอกาสถามความหมายของชื่อเสียเลยนะ ว่า "กะว่าก๋า" แปลว่าอะไรครับ ?

ไม่ง่ายสำหรับผมเลยที่จะตั้งปุจฉากับท่านว. วชิรเมธีเป็นประจำ

เพราะผมไม่มีภูมิรู้ที่จะไปตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์แล้วให้ท่านตอบ (นี่พูดจริงๆนะครับไม่ได้แกล้งถ่อมตัว)

แต่ที่เขียนจดหมายฉบับน้ขึ้นมาถามท่าน เพราะรู้สึกต่อสิ่งรอบๆตัวขึ้นมาจริงๆ เลยเขียนในคอลัมน์ที่ผมเขียน ไม่คิดฝันว่าจะได้คำตอบจากท่านจริงๆหรอกครับ

พอดีบรรณาธิการเธอนำจดหมายในคอลัมน์ผมไปให้ท่านว.วชิรเมธีอ่าน จึงทำให้มีจดหมายฉบับนี้จากท่าน

ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับคำตอบอย่างกระจ่างชัดและได้แพร่ไปถึงคนอื่นที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอีก



สวัสดีครับคุณ filmgus

ขอบคุณสำหรับน้ำใจ(ให้จกภาพ)
อันแสนดี เดี๋ยวต้องเลือกๆดูก่อนว่าจะเอามามาใช้อะไรได้บ้าง


สวัสดีครับคุณพ่อบูที่เคารพอย่างสูง

คราวต่อไปคุณพ่อบูไม่ต้องตอบผมก็ได้นะครับ
ถ้าหมอห้ามพิมพ์

เพราะคุณพ่อบูอายุมากแล้ว
85 กะรัตยังแจ๋วอย่างนี้

ถือว่าเป็นปรากฏการณ์พิเศษแล้วครับ

ต้องกราบขอบพระคุณสำหรับความคิดเห็นดีๆให้ได้คิดอยู่สเมอ


สวัสดีจ้ะปลายแปรง

ไม่ต้องอ้อมค้อมหรอกจ้ะ

ยินดีและเต็มใจรับฝาก

บอกกับสเลเตได้เลย

เดี๋ยวกลับไปตะกั่วป่าจะพกไปให้

หรือขึ้นเหนือจะมาแวะเอา

เลือกเอาทางใดทางหนึ่งตามสะดวกจ้ะ




โดย: พ่อพเยีย วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:13:11:02 น.  

 
กะว่าก๋า...ไม่มีความหมายครับ
ผมตั้งเพราะชอบตัวอักษร ก.ไก่
ตรงกับชื่อของตัวเองครับ
ก๋า...มาจากก๋ากั่นครับ

......................

ผมคิดว่าท่าน ว.ท่านรอบรู้ครับ
ในหนังสือบางเล่มของท่าน ท่านพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้งด้วยซ้ำ

พระนักวิชาการในบ้านเราน้อยมากครับ ที่โดดเด่นมีไม่มาก

ชอบตรงท่านเขียนหนังสือได้น่าอ่าน อ่านง่าย เข้าใจง่ายครับ




โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:14:05:14 น.  

 


สวัสดีค่ะ อาโดมและพี่ๆ ทุกท่าน

เคยอ่านแล้วในขวัญเรือน อยากอ่านอีกในบล็อกแต่คงต้องขอเวลาอีกนิด งานยุ่งค่ะ เลยขอแค่มาสวัสดีก่อน


โดย: หทัยชนก (Nok_Noah ) วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:17:47:15 น.  

 
จะบอกแต่เมื่อวานแล้ว...ลืมค่ะ
ภาพของคุณ filmgus สวยมากค่ะ ชอบๆๆๆ

พ่อพเยียคะ...ขอบคุณสำหรับข่าวที่ส่งมาในวันนี้
และคำอธิบายเรื่องเดินจงกรมค่ะ
การปฏิบัติธรรม ยากแค่ไหนก็ต้องพยายาม
เคยไปเจอคำพูด(เหน็บแนม)ที่ว่า "ดีกว่าหายใจทิ้งไปวันๆ"
ฟังแล้วจี๊ด... โดนใจจัง ไม่อยากมีชีวิตที่เหลือแบบ "หายใจทิ้งไปวันๆ"
ก็จะพยายามทำตัวดีๆ ทำเรื่องดีๆค่ะ

หนูประทับใจวิสัชนาของท่านว.วชิรเมธีทั้งในขวัญเรือนและจีเอ็มมาก
เมื่อไปหาหนังสือของท่านมาอ่านก็ได้พบว่า
หนังสือเหล่านี้ซึ่งท่านเขียนเมื่อราว 5-6 ปีล่วงมาแล้ว
เมื่อเทียบกับปัจจุบัน(ในจีเอ็มและขวัญเรือน)มีความต่างอย่างชัดเจน
คำพูดของท่านในปัจจุบัน สุขุมลุ่มลึกมากด้วยปัญญา น่าเคารพยกย่องยิ่ง
อ่านแล้วอิ่มเอมใจจริงๆค่ะ

พ่อพเยียจ๊ะ..นิทานเล่มสองของหนูตั้งครรภ์แล้วนะ
อีก 5 เดือนจะคลอด
ฝากถึงพี่หนอนฯด้วยจ้ะ...ดีใจๆๆๆ



โดย: ตะเบบูญ่า IP: 58.8.63.139 วันที่: 10 กันยายน 2550 เวลา:18:54:09 น.  

 
สวัสดีค่ะพ่อพเยีย
ไม่มีอะไรคุยค่ะ

ขอทักทายตะเบบูญ่านิดนึง
ยินดีที่นิทานเล่มสองตั้งครรภ์แล้ว
อีก 5 เดือนจะคลอด
พี่หนอนฯ รอลุ้นก็แล้วกันนะ


โดย: หนอนเมืองกรุงฯ วันที่: 11 กันยายน 2550 เวลา:2:22:39 น.  

 
แวะมาทักทายคุณโดม..ครับผม
...เต็มอิ่มกับถ้อยธรรมของท่านว.วชิรเมธี....


โดย: โฟล์คเหน่อ วันที่: 11 กันยายน 2550 เวลา:5:17:20 น.  

 
โฆษณาบล็อกลืมขออนุญาต
"ขอบคุณค่ะ"
คนสวย


โดย: บุญสิตา (ดาวกระพริบฟ้า ) วันที่: 11 กันยายน 2550 เวลา:6:26:02 น.  

 
ชอบมากและเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ จดหมายจากคุณโดม วุฒิชัย และจดหมายตอบจากท่านว.วชิรเมธี
คนไทยทุกวันนี้งมงายมากขึ้น โดยไม่เข้าใจแก่นแท้ และหลักคำสอนของพุทธศาสนา

ช่วยกันนะคะ สอนลูกสอนหลาน บอกคนรอบข้าง เพื่อให้สิ่งดีงามเกิดขึ้นและคงอยู่กับคนไทยตลอดไป

อนุโมทนาค่ะ


โดย: ซวงยี่ IP: 58.10.68.153 วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:17:00:14 น.  

 
อยากได้เพลงนี้จังครับต้องทำยังไง บอกด้วย หรือว่าส่งมาให้หน่อยครับ siamgood@hotmail.com


โดย: ยุท IP: 58.9.139.203 วันที่: 14 พฤษภาคม 2551 เวลา:15:46:07 น.  

 
สอนใจของทุกคนได้ดีมากเลยค่ะ


โดย: เจน IP: 202.149.25.241 วันที่: 28 มกราคม 2552 เวลา:19:16:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ่อพเยีย
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]







ด้วยความยินดี...
หากมีผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่าย,บทความ
หรือข้อเขียนต่างๆ
ใน Blog นี้ไปใช้
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด
สามารถทำได้เลยทันที
โดยไม่ต้องขออนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

เว้นเสียแต่ว่า…
ถ้านำไปพิมพ์จำหน่าย
กรุณาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วย

อ่านเรื่องของ "ปะการัง" ที่นี่



โหลดเพลง คลิปวีดีโอ นิยาย การ์ตูน


www.buzzidea.tv
Friends' blogs
[Add พ่อพเยีย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.