Group Blog
 
All Blogs
 
เสรีไทยสายสื่อสาร

บันทึกจากอดีต

เสรีไทยสายสื่อสาร
พ.สมานคุรุกรรม

จากบันทึกของ พลเอก หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ กองทัพพายัพ ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นผู้นำในการติดต่อกับกองทัพจีน เพื่อร่วมมือกันขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น ได้ระบุไว้ว่าในคณะผู้ติดต่อระหว่าง กองพลที่ ๓ ของไทย กับ กองพลที่๙๓ ของจีน ที่ชายแดนด้านสหรัฐไทยเดิมนั้น มีนายทหารคนสนิทคือ ร้อยโท สมาน วีระไวทยะ. ผู้บังคับหมวดสื่อสาร กองทหารสื่อสารกองพลที่ ๓ ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง ในตำแหน่งนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการกองพล และเป็นผู้จดบันทึกการประชุมอีกด้วยทุกคราว

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นนายทหารสื่อสาร แล้ว แผนการที่จะติดต่อกับกองทัพจีนทางด้านกองทัพพายัพ ก็ต้องยุติลง พลตรี หลวงหาญสงคราม ได้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองพลอิสระที่ ๓๗ ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา และ ร้อยเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ได้ย้ายไปเป็น ผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร กองพลอิสระที่ ๓๗ ด้วยเช่นกัน

พันเอก สมาน วีระไวทยะ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานคราวนี้ ไว้ในหนังสือที่ระลึกงาน พระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงหาญสงคราม เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๑๒ ไว้ดังนี้


เมื่อกระผมได้ไปรายงานตัว กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓๗ แล้ว กระผมก็ได้รับคำสั่งจากท่าน พลตรี หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพล(อิสระ) ๓๗ ว่า

“…….ให้ไปปฏิบัติงานร่วมกับพวกเสรีไทยที่มาจากอังกฤษและอเมริการในกรุงเทพฯ โดยให้ไปรายงานตัวกับ พันโท ขุนสุรพลพิเชษฐ ผู้อำนวยการสื่อสารที่กรุงเทพ แล้วเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง…”

กระผมได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ก็ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการสื่อสาร ให้เข้าปฏิบัติงานประจำอยู่กับหน่วยสื่อสารพิเศษ ของกองบัญชาการพิเศษ(ใต้ดิน) ในฐานะเป็นนายทหารฝ่ายการข่าวสื่อสาร และนายทหารฝ่ายระหัส

กระผมได้ไปทำงานอยู่กับหน่วยงานพิเศษเรียกว่า กองบัญชาการผสมไทย-อังกฤษ และ ไทย-อเมริกัน (FORCES 136 & MISSION 207) ซึ่งหน่วยงาน ๑๓๖ (SEAC COMMAND) นี้ตั้งอยู่ที่บ้านถนนศรีอยุธยา แต่หน่วยงาน ๒๐๗ ตั้งอยู่ที่ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒)

และหน่วยงานของกระผมนี้เรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานลับจริง ๆ คือเป็นทั้งสถานีวิทยุลับที่ใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุชนิดที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งกระผมเองเป็นนายทหารสื่อสาร ยังไม่เคยเห็นมีใช้ที่ไหนแม้ในกองทัพญี่ปุ่น เครื่องวิทยุก็มีมากมายหลายชนิด ทั้งใช้ไฟฟ้า ใช้เครื่องทำไฟชนิดน้ำมันเบนซินและไอน้ำ นอกนั้นยังมีการปกปิดการทดลองเครื่อง ทั้งออกอากาศและไม่ออกอากาศ

สำนักงานตั้งอยู่ที่บ้าน พลตรี หม่อมหลวง จวง เสนีวงศ์ กลางสวนลึกในตรอก เล็ก ๆ ของซอยองครักษ์ (บางกระบือ) ภายในบ้านที่ใช้เป็นสำนักงานและสถานีลับนี้ มีอาวุธทุกชนิด ล้วนแต่เป็นของใหม่ซึ่งคนไทย-ทหารไทยยังไม่เคยใช้ทั้งนั้น เช่น ปืนคาร์ไบน์ ปืนกลมือเสจนท์ เอมทรี ฯลฯ และอื่น ๆ เตรียมสู้ตาย ภายในบ้านก็ดัดแปลงเป็นที่ต่อต้าน ต่อสู้ และที่หลบภัยอย่างมั่นคง ประกอบกับมีรั้วสังกะสีสูงมาก ซึ่งไม่มีผู้ใดอาจปีนเข้าไปได้ รอบบ้านก็เป็นบริเวณสวนกว้างขวาง เต็มไปด้วยท้องร่องและมูลดิน กว้างใหญ่เกินกว่าที่ใครจะกระโดดข้ามได้ เมื่อประกอบกับการดัดแปลงทำเป็นมูลดินป้องกันกระสุนไว้ตามขอบรั้วโดยรอบแล้ว ก็เป็นป้อมที่แข็งแรงเราดี ๆ นี่เอง ยิ่งกว่านั้นภายในรั้วสังกะสียังขึงสายไปแรงสูงไว้ด้วย

กระผมได้ชื่อระหัสว่า “ ดริลล์ (DRILL) “ ซึ่งจะแปลเป็นไทยได้หลายอย่าง แต่เขาให้เข้าใจว่าเป็นชื่อผ้าชนิดหนึ่ง เพราะสายงานของกระผมนั้นมีชื่อสถานีเป็นผ้าบ้าง แพรบ้าง สักหลาดบ้าง ทั้งนั้น ทำงานติดต่อกับ กัลกัตตา ซีลอน (ลังกา) ฟิลิปินส์ และอื่น ๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในประเทศไทย พม่า ญวน ลาว สิงคโปร์ มลายู อินโดนีเซีย บอเนียว ฯลฯ ทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง และติดต่อกับสถานีวิทยุลับในทุกจังหวัดของประเทศไทย ติดต่อเรื่องการรับส่งอาวุธ และสิ่งของจากหน่วยบัญชาการอเมริกันทั้งหมด เครื่องบิน เรือดำน้ำ ทิ้งร่ม ฯลฯ แม้กระทั่งการมาทิ้งยาที่ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งกระผมลืมจดวันที่เดือนเอาไว้

กระผมทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ก็ย้ายหน่วยไปปฏิบัติงานประจำ อยู่กับกองพลที่ ๓๗ (อิสระ) นครราชสีมา (โคราช ในค่ายสุระนารีปัจจุบัน) โดยตั้งสถานีวิทยุลับที่บ้านพักเดิมของกระผม (บ้านพักนายทหารสื่อสาร) ทำงานในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด

นอกจากการรับส่งข่าวลับแล้ว ยังต้องคอยรับของที่ส่งจากทางอากาศ และรับนายทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย และคานาเดียน นิวซีแลนด์ ที่มากระโดดร่มลงในพื้นที่ของกองพล ๓๗ ซึ่งมีมากด้วยกัน ทั้งที่โคราช ชัยภูมิ ขอนแก่น และที่อื่น ๆ

ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามราบคาบแล้ว ท่าน พลเอก หลวงหาญสงคราม (ขณะนั้นเป็น พลตรี) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ กองอำนวยการสันติภาพ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่ตึกขาวข้างสนามเสือป่า ตรงข้ามวัดเบญจมบพิตร ตอนนั้นกระผมย้ายเข้ามาสังกัดอยู่ในกรมจเรทหารบก และต่อมาได้ไปทำหน้าที่นายทหารติดต่อ ประจำกองทหารอังกฤษในประเทศไทย

แล้วท่านก็ถูกส่งไปทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานนายทหารติดต่อ จังหวัดนครปฐม ภายใต้ความอำนวยการของ พลโท หลวงหาญสงคราม อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวนอกขบวนการเสรีไทยแล้ว ท่านได้รับราชการต่อมาจนได้เลื่อนยศเป็น พันเอก และได้ถึงแก่กรรมเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๘

ในคราวที่กองทัพไทยเตรียมต่อสู้ กับกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยนี้เอง ได้มีทหารสื่อสารอีก ผู้หนึ่ง มีบทบาทสำคัญในการป้องกันพระนคร ท่านผู้นี้คือ พันตรี ชาญ อังศุโชติ ท่านได้เขียนไว้ในเรื่อง การปฏิบัติภารกิจของกองพลรักษาพระนคร ซึ่งได้ตัดตอนมา ดังนี้

หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พ้นอำนาจทางการเมืองและการทหาร ในกลางปี พ.ศ.๒๔๘๗ แล้ว กรมบัญชาการกองทัพใหญ่ ได้ปรับปรุงการจัดกองพลที่ ๑ ให้มีสภาพเป็นกองพลรักษาพระนคร ตั้งอยู่ที่สวนพุดตาลในเขตพระราชฐาน (ใกล้พระที่นั่งพิมานเมฆ และ อภิเศกดุสิต) กับให้หน่วยทหารบกที่มิได้ขึ้นตรงต่อกองพลที่ ๑ ส่วนที่อยู่ในพระนคร รวมทั้ง โรงเรียนนายร้อยทหารบก มาร่วมปฏิบัติการทางยุทธวิธี ผู้บัญชาการกองพลคือ พลตรี วีรวัฒน์ วีรวัฒนโยธิน พันเอก สนิท ไทยานนท์ เป็นเสนาธิการกองพล และตัวท่านเป็นฝ่ายเสนาธิการ

ภารกิจของหน่วยนี้ นอกจากการประสานงานกับฝ่ายทหารและคณะผู้ต่อต้านญี่ปุ่นชั้นผู้ใหญ่แล้ว ผู้บัญชาการกองพลและนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ต่างได้รับมอบให้แยกย้านกันสดับตรับฟัง ข่าวการเคลื่อนไหวของฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อเตรียมการที่จะขัดขวาง หากว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองการบริหาร และเพื่อดำเนินการขับไล่ทหารญี่ปุ่นให้ออกนอกประเทศไทย ร่วมกับฝ่าย สัมพันธมิตรภายในประเทศ และฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะเข้ามาจากต่างประเทศ ในเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

การดำเนินการต่าง ๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เปิดเผย เช่นการสร้างป้อมตามถนนสายสำคัญ ๆ ในพระนคร โดยใช้เงินราชการลับ ที่เบิกตรงมาจากกองบัญชาการต่อต้านญี่ปุ่น โดย พันตรี ชาญ อังศูโชติ กับนายทหารฝ่ายการเงิน ไปเบิกรับจากกระทรวงการคลัง และการฝึกซ้อมทหารพร้อม ๆ กับเวลาที่ทหารญี่ปุ่นทำการฝึกซ้อมในพระนคร เป็นต้น ส่วนงานที่เป็นความลับ มีผู้ทราบความเคลื่อนไหวน้อย เช่น

การส่งนายทหารนายสิบ แทรกซึมเข้าไปทำหน้าที่รับใช้ ที่บ้านพักของนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้ใหญ่ เพื่อสืบทราบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ นับตั้งแต่ตัวแม่ทัพคือ พลโทนากามูรา ลงมา เรื่องนี้ปรากฏผลว่านายทหารที่กองพลรักษาพระนคร คัดเลือกส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ สามารถรายงานข่าวกรองที่เป็นประโยชน์แก่การต่อต้านเป็นอันมาก ผู้ที่ไปปฏิบัติงานนี้ทำได้แนบเนียนมากและได้ผลดี ไม่ปรากฏว่าฝ่ายญี่ปุ่นจับได้แม้แต่รายเดียว

การส่งนายทหารแทรกซึมไปในหมู่พ่อค้าชาวจีน ซึ่งบางรายก็ให้ความร่วมมือ ในการข่าวกรองด้วยความเต็มใจ บางรายก็ให้ข่าวโดยการพลั้งเผลอหรือไม่ตั้งใจ ชาวจีนบางคนร่วมมือกับญี่ปุ่นก็มี การเลือกเฟ้นเป้าหมายที่จะเข้าไปติดต่อ ต้องทำอย่างรอบคอบมาก ผลของงานนี้ทำให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ทราบความเคลื่อนไหวของชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย จากฝ่าย พลเรือนอีกทางหนึ่ง

การสร้างสนามบินลับที่ตำบลบางพูน จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ทหารสัมพันธมิตรโดดร่มลงมา เพื่อเตรียมเข้าตีสนามบินดอนเมือง และการป้องกันสนามบินน้ำ เป็นต้น พันตรี ชาญ อังศุโชติ ได้รับนโยบายจากผู้บัญชาการกองพลรักษาพระนคร ให้จัดสร้างโรงเรือนขึ้นเป็นอาคารแบบโรงเลี้ยงไก่และสุกร กองรักษาการณ์ สถานีวิทยุสนาม ที่พักยานยนต์ โดยเงินราชการลับที่ได้เบิกรับ จากกองบัญชาการต่อต้านญี่ปุ่น

การจัดตั้งหน่วยพิเศษ กองพลรักษาพระนคร ได้คัดเลือกนายสิบพลทหารทุกหน่วยทหารต่าง ๆ ในพระนคร รวมประมาณ ๒๕๐ คน มีลักษณะกล้าหาญ เสียสละ และเก็บความลับได้ จัดตั้งเป็นหน่วยพิเศษขึ้นที่พระที่นั่งนงคราญสโมสร (บริเวณวังสวนสุนันทา) ใกล้ที่ตั้งของกองพลรักษาพระนคร หน่วยพิเศษนี้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างกวดขันมาก ภารกิจของหน่วยพิเศษเท่าที่ทราบ พอสรุปได้ คือ

การฝึกใช้อาวุธ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งร่มหรือนำมาส่งให้ โดยเรือดำน้ำ สัมพันธมิตร เช่น ปืนต่อสู้รถถัง ปืนกลมือ เครื่องยิงและลูกระเบิดขว้าง กับระเบิด และเครื่องค้นหากับระเบิด การตรวจค้นและการทำลายวัตถุระเบิด การจู่โจมเข้าจับกุมฝ่ายตรงข้ามคนสำคัญ และระวังป้องกันอันตรายให้แก่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และบุคคลสำคัญของรัฐบาล การป้องกันอันตรายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งชาวต่างประเทศและคนไทย

การหาข่าว ทหารในหน่วยพิเศษได้รับการฝึกในการหาข่าว โดยแทรกวึมเข้าไปในหน่วยราชการ และชุมนุมชนระดับต่าง ๆ กองพลรักษาพระนครจัดรถจักรยานให้

เป็นกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว ทหารในหน่วยพิเศษได้รับจ่ายจักรยาน และมีข่ายการสื่อสาร โดยใช้วิทยุที่มีใช้ในกองทัพบกไทยในขณะนั้น สามารถติดต่อกันได้รวดเร็วตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรนัดว่าจะส่งเครื่องบิน มาทิ้งยาให้ที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๘๘ หน่วยพิเศษได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยเก็บยา บังเอิญเนื่องจากอุปสรรคบางประการ จึงได้มีการเลื่อนวันทิ้ง มาเป็นวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๘๘ และการทิ้งยาและเวชภัณฑ์ในวันนั้น สัมพันธมิตรดำเนินการอย่างอาจหาญและเปิดเผยมาก ไม่มีการปิดบังแต่อย่างใด ทำให้ฝ่ายไทยเราเกิดความเข้าใจผิดกันเอง ระหว่างหน่วยพิเศษกองพลรักษาพระนคร ภายใต้การนำของ พันตรี ชาญ อังศุโชติ กับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และหน่วยสารวัตรทหาร ความลับจึงแตก และทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นรู้แน่ว่า คนไทยได้ประสานงานกับสัมพันธมิตร เตรียมที่จะดำเนินการกับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว บรรยากาศในพระนครได้เพิ่มความตึงเครียดขึ้น

นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกนายสิบพลทหาร ที่มีความเข้าใจเรื่องการค้าขาย ไปเช่าร้านขายอาหารที่เชิงสะพานเทเวศร์ (สี่เสา) จัดให้ขายข้าวแกง ส่วนภายในร้านได้จัดเป็นรังปืนกล มีอาวุธกระสุน และเครื่องสื่อสาร พร้อมที่จะรับมือกับทหารญี่ปุ่นเมื่อโอกาสมาถึง ร้านค้าแห่งนี้ได้รายงานการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น ให้กองพลรักษาพระนครทราบเสมอ

ที่บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กองพลรักษาพระนครได้เช่าบ้านหลังใหญ่ มีบริเวณกว้างขวาง ดัดแปลงเป็นรังปืนกลขนาดใหญ่ใต้พื้นดิน มีปืนต่อสู้รถถัง ปืนกลหนักหลายกระบอก มีกระสุน และเครื่องรับส่งวิทยุสนามพร้อม รังปืนกลแห่งนี้ ก่อนที่สงครามจะยุติลง นายทหารต่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เคยมาตรวจดู เพราะอยู่ในชัยภูมิสำคัญ ใกล้ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น และอยู่ใกล้ชุมทางสำคัญที่จะสกัดการเคลื่อนย้ายกำลังจากดอนเมืองเข้า พระนคร หรือจากพระนครออกไปสนามบินดอนเมืองได้

แต่สงครามก็ได้สงบลงเสียก่อน ที่จะได้ใช้ป้อมนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้สงวนชีวิตของทหารทั้งสองฝ่ายไว้ได้ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของฝ่ายญี่ปุ่นและไทย ไม่ถึงกับขาดสะบั้นไปโดยสิ้นเชิง

พันตรี ชาญ อังศุโชติ ก็จบบทความเรื่อง การปฏิบัติภารกิจของกองพลรักษาพระนคร ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับ มกราคม ๒๕๓๕ ลงแต่เพียงนี้

ท่านผู้เขียนได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ประจำกองพันทหารสื่อสารที่ ๒ ต่อมาได้เป็นผู้บังคับหมวดสื่อสาร โรงเรียนทหารสื่อสาร กองทหารสื่อสารที่ ๕ และกองทหารสื่อสาร กรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน ตามลำดับ

ท่านได้ย้ายไปรับราชการในกองบัญชาการตำรวจภูธร และตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ - ๒๕๐๓ ได้รับพระราชทานยศ นายพลตำรวจตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ และได้รับพระราชทานยศ พลโท เมื่อรับราชการในกองบัญชาการทหารสูงสุด ใน พ.ศ.๒๕๑๔

ท่านครบเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔.

#############



Create Date : 29 เมษายน 2560
Last Update : 29 เมษายน 2560 7:29:58 น. 0 comments
Counter : 1402 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.