Group Blog
 
All Blogs
 
ตอนที่ ๓๐ สงครามเมืองเหนือ

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๓๐ สงครามเมืองเหนือ

พ.สมานคุรุกรรม

ถึงปีฉลูหลังจากที่นายปานกลับจากการไปเจริญพระราชไมตรี ณ เมืองฝรั่งเศสได้ปีเดียว เจ้าพระยาโกษาธิบดี ผู้เป็นพี่ชายก็ป่วยลง ทรงพระกรุณาให้พระหลวงขุนหมื่นแพทย์ทั้งหลายไปพยาบาล แลโรคนั้นเป็นสมัยกาลแห่งชีวิตขัย ก็ถึงแก่อนิจกรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิอาจกลั้นน้ำพระเนตรไว้ได้ ทรงพระอาลัยในเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก แลเจ้าพระยาโกษาขุนเหล็กคนนี้เป็นลูกพระนม แลได้รับพระราชทานนมร่วมเสวยมาแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานฌาปนกิจตามอย่างเสนาบดี

เสร็จแล้วจึ่งมีพระราชโองการตรัสปรึกษาด้วยท้าวพระยาเสนาบดีมนนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่คิดอ่านล่อลวงเป็นหลายครั้ง ยังมิหนำซ้ำกลับแข็งเมืองต่อรบอีกเล่า แลจะละพระยาแสนหลวงไว้นั้นมิได้ จำจะยกพยุหโยธาทหารไปตีเอาเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ จะเห็นเป็นประการใด

ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลาย ก็เห็นพร้อมโดยพระราชดำรินั้น สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็มีพระราชดำรัสให้จัดกองทัพพลฉกรรจ์สี่หมื่น ช้างเครื่องสองร้อย ม้าสี่ร้อย สรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธ ปืนใหญ่น้อย กระสุนดินประสิวให้พร้อมไว้ แลดำรัสให้หานายปานผู้น้องเจ้าพระยาโกษาธิบดีอันถึงแก่อนิจกรรม ซึ่งรับอาสาออกไปได้ราชการ ณ เมืองฝรั่งเศสนั้น เข้ามาเฝ้าแล้วก็มีพรราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้นายปานเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี แลทรงพระกรุณาดำรัสว่า

“ ขุนเหล็กพี่ท่านซึ่งถึงแก่มรณภาพนั้น ชำนิชำนาญในการอันเป็นแม่ทัพ แลบัดนี้เราจะให้ท่านเป็นที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี แลจะให้เป็นแม่ทัพแทนพี่ชาย ไปตีเมืองเชียงใหม่ยังจะได้หรือมิได้ “

เจ้าพระยาโกษาปานจึ่งกราบทูลพระกรุณาว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าจะขอลองศึกดูก่อน แลจะขอรับพระราชทานพระราชอาญาสิทธิ์เหมือนพระโองการนั้น ถ้าแลเห็นจะทำสงครามได้แล้ว ก็จะขออาสาไปตีเมืองเชียงใหม่ทูลเกล้าถวายให้จงได้ “

สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดังนั้น ก็ชอบพระทัยในถ้อยคำเจ้าพระยาโกษากราบทูลนั้น ทรงพระโสมนัสดำรัสสรรเสริญสติปัญญาเป็นอันมาก แลทรงพระกรุณาพระราชทานพระแสงดาบต้นอันทรงอยู่นั้น ให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เพื่อจะให้สิทธิ์ขาดพระราชอาญาสิทธิ์ แลโปรดพระราชทานให้รับพระโองการดั่งนั้น แล้วดำรัสอนุญาตว่า ท่านจงไปลองศึกดูตามความปรารถนาเถิด

เจ้าพระยาโกษาจึ่งรับพระราชทานพระแสงดาบแล้ว ก็กราบถวายบังคมลาออกมายังศาลาลูกขุนใน จึ่งสั่งมหาดไทยกลาโหม ให้แจกพระราชกำหนดข้าทูลละอองทุลีพระบาททั้งหลาย ฝ่ายทหาร พลเรือน กะเกณฑ์พลสามพัน ให้ยกไปตั้งค่ายตำบลที่ใกล้พะเนียดโดยกว้างสามเส้น โดยยาวสามเส้นสิบวา แลให้ตัดไม้ไผ่มาตั้งค่ายเอาปลายปักลงให้สิ้น ขุดมูลดินเป็นสนามเพลาะ ปักขวากหนามตามธรรมเนียมพร้อมเสร็จ ให้สำเรจแต่วันพรุ่งรุ่งแล้วสามนาฬิกา ถ้าแลเราไปเลียบค่าย หน้าที่ผู้ใดไม่สำเร็จในเพลานั้น ก็จะลงโทษแก่ผู้นั้นถึงสิ้นชีวิต

เจ้าพระยาจักรี กลาโหม แลท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลาย ได้แจ้งพระราชกำหนดดังนั้น ก็สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก ต่างคนต่างเร่งกะเกณฑ์กันทุกหมู่ทุกกรมในวันนั้น ได้พลมาสามพันแล้วก็ให้ไปตัดไม้ไผ่อันจะมาทำเป็นเสาค่ายนั้นคนละสองท่อน แล้วก็ยกขึ้นไปยังที่ใกล้พะเนียด แบ่งปันหน้าที่กันตั้งค่ายแต่ในเพลากลางคืนวันนั้นทุกหมู่ทุกกรม แลปักเสาเอาปลายลงดินเอาต้นขึ้นสิ้น ชิดกันเป็นถ่องแถวแต่เบื้องบน เบื้องล่างนั้นห่างกันไปเป็นอันมาก แลกระทำการทั้งปวง พอรุ่งก็สำเร็จ

ในขณะนั้นขุนหมื่นเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่ง เห็นเชิงค่ายทั้งหลายห่างกันนักจึ่งปักกลับเอาต้นลงดิน แทรกเข้าเสาหนึ่งในระหว่างอันห่างนั้น แล้วว่าแต่ก่อนเขาทำมาดังนี้ แลซึ่งเอาปลายปัก ลงดินนี้ มิเคยเห็นทำมาแต่ก่อน

จึ่งเจ้าพระยาโกษาก็สั่งแก่เจ้าพนักงานทั้งหลาย ให้ตระเตรียมราชพาหนะแลเครื่องขัตติยราชาบริโภคทั้งปวง ไว้รับโดยทางชลมารค สถลมารค พร้อมเสร็จแล้ว ครั้นรุ่งเช้าแล้วเพลาสามนาฬิกา เจ้าพระยาโกษาธิบดี ก็ลงสู่เรือพระที่นั่ง นพรัตนพิมานกาญจนอลงกต มหานาวาเวไชยันต์ อันอำไพไปด้วยเศวตฉัตรพัดโบกจามร บังพระสุริเยนทร์บังแซกแซงสลอนสลับ สรรพด้วยอภิรุมชุมสายพรายพรรณ กลดกลิ้งกันชิงมาศดาษดา ดูมโหฬารเลิศพันลึกอธึกด้วยเรือกัน แลเรือท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายรายเรียงขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพร้อมเสร็จ ก็เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จพระราขดำเนินนั้น

ครั้นได้ศุภฤกษ์ก็ให้ลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ ดุริยางคดนตรีสนั่นกาหลกึกก้องกลองชนะ โครมครื้นเพียงพื้นนทีธารจะทำลาย ให้ขยายพยุหยาตราคลาเคลื่อนเลื่อนตามขบวน แห่แหนแน่นไปโดยชลมารค ตราบเท่าถึงที่ประทับตำบลเพนียด

เจ้าพระยาโกษาธิบดีก็ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง สถิตยังพลับพลาอันเป็นที่ราชาอาสน์เดียรดาษด้วยท้าวพระยาทั้งปวง แวดล้อมโดยซ้ายขวาหน้าหลัง แล้วก็ขึ้นขี่ช้างพระที่นั่ง บรมราชคชาธารสารตัวประเสริฐ เพริดพร้อมด้วยเครื่องสูงแลธงฉานธงชัย ดูไสวไพโรจน์ด้วยท้าวพระยาเสนาบดี พริยโยธาหารแห่เป็นขนัด โดยขบวนบรมราชพยุหยาตราสถลมารค เลียบค่ายไป
จึ่งเห็นไม้เสาลำหนึ่งปักเอาต้นลงดิน ก็ให้หาตัวเจ้าหน้าที่นั้นเข้ามาแล้วจึ่งถามว่า ท่านกระทำดั่งนี้จริงหรือ เจ้าหน้าที่กราบเรียนว่าจริง เจ้าพระยาโกษาจึ่งว่า

“ ตัวท่านละเมิดมิได้ทำตามพระราชโองการแห่งเรา โทษท่านถึงตาย “

แล้วก็ให้ประหารชีวิตเสีย แลให้ตัดเอาศรีษะเสียบไว้ที่ปลายไม้เสาค่ายลำนั้น แล้วก็คืนลงสู่เรือพระที่นั่งกลับเข้ามายังพระราชวัง

เจ้าพระยาโกษาทำครั้งนั้นเพื่อให้คนทั้งหลายเข็ดขาม คร้ามอำนาจอาญาสิทธิ์ขาด ในราชการงานสงครามครั้งนั้น ครั้นมาถึงพระราชวังก็ขึ้นเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ถวายพระราชโองการอาญาสิทธิ์ และพระแสงดาบคืนเสีย แล้วก็กราบทูลแถลงการทั้งปวงซึ่งไปลองศึกนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ แล้วบังคมทูลพระกรุณาขออาสาไปตีเอาเมืองเชียงใหม่มาทูลถวาย

จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังดั่งนั้น ก็ทรงโสมนัสดำรัสสรรเสริญเจ้าพระยาโกษาเป็นอันมาก แล้วก็มีพระราชโองการตรัสเหนือเกล้า โปรดให้เจ้าพระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพหลวง แลให้พระยาวิชิตภักดีเป็นยกกระบัตร พระยาสุรินทรภักดีเป็นเกียกกาย พระยาสีหราชเดโชเปแนกองหน้า พระยาสุรสงครามเป็นกองหลัง ถือพลช้างม้าพลานิกรเดินเท้าทั้งหลาย ยกขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงใหม่

ครั้นถึงอธิกมาศศุภปักษ์ดิถี ได้มหาสวัสดิพิชัยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาธิบดีแล้วท้าวพระยานายทัพทั้งหลาย ก็กราบถวายบังคมลายกกองทัพบกเรือไปจากกรุงเทพมหานคร โดยลำดับฃลมารคสถลมารค ไปพร้อมทัพ ณ เมืองเถิน แล้วก็ให้ตรวจจัดกองทัพแยกกันออกเป็นหมวดเป็นกอง ตามพิชัยสงครามพร้อมเสร็จ ยกพยุหโยธาทหารขึ้นไปโดยวิถีสถลมารคตราบเท่าถึงเมืองนคร แลหยุดยั้งตั้งค่ายมั่นอยู่ใกล้เมืองนั้น

ชาวเมืองนครได้รบพุ่งป้องกันต้านทานอยู่สามวัน กองทัพไทยก็ได้เมืองนคร แลได้ช้างม้าเครื่องศัตรวุธ แลลาวเชลยเป็นอันมาก ก็ยกตีบ้านน้อยบ้านใหญ่ตามระยะทางขึ้นไป ตีตำบลใดก็ได้ตำบลนั้น ด้วยอำนาจอาญาสิทธิ์เจ้าพระยาโกษาธิบดีแม่ทัพหลวง จะว่าราชการสิ่งใดในงานสงครามทั้งปวง ก็สำเร็จเด็ดขาดด้วยอำนาจนั้นทุกประการ

กองทัพของเจ้าพระโกษาธิบดีก็ยกไปถึงเมืองลำพูน พลลาวชาวเมืองต้านทานอยู่ได้เจ็ดวัน ก็เสียเมือง กองทัพไทยก็รุกไล่ไปจนถึงเมืองเชียงใหม่ และเข้าล้อมเมืองไว้ เจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ให้ท้าวพระยาเสนาลาว ยกกองทัพออกตีทัพไทยที่ล้อมอยู่นั้นเป็นหลายครั้ง แต่ก็แตกฉานพ่ายไปทุกครั้ง ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาแม่ทัพ ครั้นเห็นการพอจะหักเอาเมืองได้แล้ว ก็แต่งหนังสือบอกการอันได้รบพุ่งทั้งปวง เห็นพอจะเอาชัยชำนะได้แล้ว ให้ม้าเร็วยี่สิบสามม้า ถือลงไปกราบทูลพระกรุณายังกรุงเทพมหานคร

จึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทราบเหตุดั่งนั้นก็ทรงปราโมทย์ยิ่งนัก แลดำรัสให้ท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลาย ตรวจจัดกองทัพพลฉกรรจ์หกหมื่น ช้างเครื่องห้าร้อย ม้าเครื่องห้าร้อย สรระด้วยเครื่องศัสตราวุธ แลเสบียงอาหารให้พร้อมเสร็จ แล้วเสด็จไปงานพระราชการสงคราม ณ เมืองเชียงใหม่ ทางชลมารคโดยกองทัพเรือ แลให้กองทัพบกแยกไปคอยรับเสด็จที่เมืองเถิน แล้วทรงช้างพระที่นั่งพังกินรวิหค พยุหยาตราโยธาหาญไปโดยสถลมารควิถีถึงเมืองลำพูน แล้วให้มีตราตอบขึ้นไปยังกองทัพสมเด็จเจ้าพระยาว่า ทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินยกมาช่วย กองทัพที่ล้อมเมืองเชียงใหม่นั้น ให้ล้อมมั่นไว้อย่าเพิ่งหักเอาเมืองก่อน แลให้คอยท่าทัพหลวง กว่าจะเสด็จขึ้นไปถึง

ฝ่ายเจ้าพระยาโกษาแลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวง ก็ให้ตั้งค่ายหลวงแลพลับพลาที่ประทับไว้คอยรับเสด็จ จึ่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าช้างเผือก ก็เสด็จยกพยุหยาตราโยธาทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ แลเสด็จประทับอยู่ ณ ค่ายอันกองทัพทำไว้รับเสด็จนั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดีแลท้ายพระยานายทัพนายกองทั้งหลายก็เข้าเฝ้า กราบทูลข้อราชการทั้งปวงให้ทรงทราบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดำรัสให้พระโหราหาฤกษ์ แล้วมีพระราชกำหนดให้จัดช้างม้า พลาพลเดินเท้า แลทหารคนดีมีวิชาทั้งหลาย ให้พร้อมไว้แต่ในห้าวัน แลกระทำบันไดน้อยใหญ่กว่าพันอันสำหรับจะป่ายปีนปล้นเมือง แลช้างทั้งหลายนั้นก็ให้ทำเกือกหนัง เสื้อหนัง หน้าร่าห์หนัง ใส่ครบทุกตัว แลพลโยธาหาญนั้นก็ให้ตกแต่งกายใส่หมวกแลเสื้อแลรองเท้าล้วนทำด้วยหนังทั้งสิ้น เพื่อกันความร้อนจากกรวดทรายคั่วและน้ำมันยางเคี่ยว ที่ข้าศึกจะใช้ซัดราดเทลงมาจากเชิงเทิน ถ้วนทุกคน

เมื่อได้ดิถีฤกษ์จึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด้จมาหยุดยืนพระคชาธาร มีพระราชโองการตรัสให้ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลาย ขับพลทหารเอาบันไดน้อยใหญ่พาดกำแพงเมือง ป่ายปีนขึ้นไป แลให้วางปืนใหญ่ระดมยิงเข้าไปตามเชิงเทินเมืองนั้น ทุกป้อมพร้อม ๆ กัน ชาวเมืองสุดที่จะต้านทานได้ก็แตกพ่าย ทหารไทยก็เข้าเมืองเชียงใหม่ได้ในเพลารุ่งขึ้นวันนั้น แล้วก็ไล่จับพระยาแสนหลวงเจ้าเมือง แลบุตรภรรยาญาติวงศ์ได้สิ้น แลได้ตัวท้าวพระยาลาวเสนาบดีทั้งหลาย แลครอบครัวชาวเมือง ช้างม้าเครื่องศัสตราวุธ ปืนใหญ่ปืนน้อย แลสิ่งของต่าง ๆ เป็นอันมาก แล้วก็คุมครอบครัวส่งออกไปยังค่ายหลวงสิ้น

เจ้าพระยาโกษาธิบดีก็จัดสรรบุตรีเจ้าเมือง แลบุตรีท้าวพระยาเสนาลาวทั้งหลายที่มีสรีระรูปอันงามนั้นเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ทรงเลือกบุตรีเจ้าเมืองไว้เป็นพระสนม แลซึ่งบุตรีแสนท้าวพระยาลาวทั้งหลายนั้น ก็ทรงแจกพระราชทานให้แก่ท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงทั่วกัน
แลเสด็จประทับยับยั้งอยู่ประมาณสิบห้าวันกว่าหัวเมืองจะสงบ แลหัวเมืองทั้งหลายซึ่งขึ้นแก่เมืองเชียงใหม่เป็นปกติแล้ว จึ่งเลิกทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทางสวรรคโลก แลประทับแรมอยู่อยู่ ณ เมืองสุโขทัยสิบห้าวัน แลดำรัสให้กองทัพท้าวพระยาหัวเมืองปากใต้ทั้งหลายสองหมื่นเศษ คุมเอาช้างม้าพลาพลเดินเท้าอันป่วยเจ็บทุพลภาพ แลครอบครัวชาวเชลยทั้งหลายอันตีได้นั้น แยกไปลงทางท่าเรือเมืองกำแพงเพชร

แล้วก้เสด็จกรีธาพลาพลทัพหลวงจากเมืองสุโขทัย มาโดบลำดับมารควิถี ถึงเมืองพิษณุโลก แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอารามวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ถวายนมัสการพระพุทธปฏิมา แล้วกระทำมหาสักการบูชา แล้วเล่นการมหรสพสมโภชสามวัน แลเสด็จยับนั้งอยู่เมืองพิษณุโลกเจ็ดวัน จึ่งดำรัสให้กองทัพยกแยกลงไป แล้วเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองพิษณุโลก มาโดยชลมารคด้วยพระฃลวิมาน พร้อมด้วยเรือท้าวพระยาเสนาบดีพิริยโยธาหาญ แห่แหนเป็นขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลัง เสด็จถึงกรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา

เมื่อเสด็จขึ้นสู่พระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานรางวัลแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี แลท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งหลายเป็นอันมาก ตามลำดับฐานาศักดิ์

จำเดิมแต่นั้นมาพระราชกฤษฎาเดชานุภาพ แห่งพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ลือชาปรากฏไปทั่วทิศานุทิศ กรุงเทพมหานครครั้งนั้นก็เกษมสุขสมบูรณ์ยิ่งนัก.

############

ความคิดเห็นที่ 1
เสริมหน่อยนะครับ เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในความคลาดเคลื่อนในพงศาวดารครับ เพราะสงครามเชียงใหม่ในพงศาวดารเกิดในจุลศักราช ๑๐๒๓(พ.ศ.๒๒๐๔) ก็ยังใกล้เคียงกับพงศาวดารพม่าที่ว่าเสียเมืองเชียงใหม่เมื่อ จุลศักราช ๑๐๒๔(พ.ศ.๒๒๐๕) แต่เหตุการไปฝรั่งเศสในพงศาวดารไม่มีระบุปีเลยเอามาจับวางไว้ก่อนหน้าเหตุการณ์ตีเมืองเชียงใหม่ ซึ่งตามหลักฐานร่วมสมัยแล้ว คณะทูตของออกพระวิสุทสุนธร(ปาน)ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุทธยาเมื่อ พ.ศ.๒๒๒๘ แล้วกลับเข้ามาใน พ.ศ.๒๒๓๐ ครับ

ส่วนเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก)ตามหลักฐานร่วมสมัย ถึงแก่กรรมใน พ.ศ.๒๒๒๖ ก่อนโกษาปานเดินทางไปฝรั่งเศส

ผู้ที่ทำศึกไปตีเมืองเชียงใหม่ต้องเป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) แต่พงศาวดารก็เอาโกษาปานมารับบทแทน และยังเขียนให้ดูมีเกียรติยศมากมายเช่น "ให้แก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เพื่อจะให้สิทธิ์ขาดพระราชอาญาสิทธิ์ แลโปรดพระราชทานให้รับพระโองการดั่งนั้น"

คือให้คำสั่งของโกษาปานเป็น 'พระราชโองการ'

หรือการเดินทางด้วยเรือพระที่นั่งและใช้เครื่องสูงเสมอพระเจ้าอยู่หัว
"เจ้าพระยาโกษาธิบดี ก็ลงสู่เรือพระที่นั่ง นพรัตนพิมานกาญจนอลงกต มหานาวาเวไชยันต์ อันอำไพไปด้วยเศวตฉัตรพัดโบกจามร บังพระสุริเยนทร์บังแซกแซงสลอนสลับ สรรพด้วยอภิรุมชุมสายพรายพรรณ กลดกลิ้งกันชิงมาศดาษดา ดูมโหฬารเลิศพันลึกอธึกด้วยเรือกัน แลเรือท้าวพระยาข้าราชการทั้งหลายรายเรียงขนัด โดยขบวนพยุหยาตราหน้าหลังพร้อมเสร็จ ก็เหมือนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันเสด็จพระราขดำเนินนั้น"

ซึ่งไม่เคยมีขุนนางคนไหนจะกล้าตีเสมอพระเจ้าอยู่หัวครับ ต่อให้ได้รับอาญาสิทธิ์จากพระเจ้าอยู่หัวให้มีสิทธิขาดในการบัญชาการ ก็คงไม่มีการใช้เครื่องสูงเสมอพระเจ้าอยู่หัว หรือใช้ 'พระราชโองการ' เป็นแน่ครับ เรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นการเสริมแต่งขึ้นเพื่อยกยอเกียรติของโกษาปานซึ่งเป็นบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีครับ


แล้วก็อิงตามหลักฐานร่วมสมัย ตำแหน่ง 'โกษาธิบดี' หรือ 'พระคลัง' ของออกพระวิสุทธสุนธร(ปาน)น่าจะได้มาในช่วงที่พระเพทราชายึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ได้แล้วครับ เพราะในสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.๒๒๓๐ ที่ตราตอนโกษาปานกลับอยุทธยามาแล้ว ตำแหน่งโกษาธิบดีเป็นของออกญาพระเสด็จครับ เพราะในสนธิสัญญาเขียนไว้ว่า 'ออกญาพระเสดจสุเรนทราธิบดีศรีสุปราชพิริยพาหุ ผูว่าราชการณทืโกษาธิบดี'

อิงจากหลักฐานของนายพลเดส์ฟาร์ฌส์ระบุว่า ในช่วงรัฐประการออกพระเพทราชาเป็นคนตั้งออกพระวิสุทสุนธรให้เป็น 'Barcalon(พระคลัง)' แต่ตอนนี้น่าจะยังเป็นแค่ 'พระยา' เพราะอิงตามหลักฐานของพันตรีโบช็องป์ระบุว่าเมื่อพระเพทราชาครองราชย์จึงตั้งโกษาปานเป็น 'Grand Barcalon' ซึ่งก็น่าจะเป็นตำแหน่ง 'เจ้าพระยาพระคลัง' นั่นเองครับ โดยโกษาปานจะลงบรรดาศักดิ์และทินนามเวลาเขียนจดหมายว่า 'เจ้าพระญาศรีธรรมราช' ครับ

ศรีสรรเพชญ์
22 นาทีที่แล้ว
เจียวต้าย ถูกใจ

ความคิดเห็นที่ 2
ขอบคุณเช่นเคยครับ พลิก พงศาวดารฉบับนี้เเรียบเรียง ในสมัยกรุงรัตนโกสิทร์

โดย สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนครับ.

เจียวต้าย
1 นาทีที่แล้ว


Create Date : 12 กรกฎาคม 2558
Last Update : 12 กรกฎาคม 2558 19:00:44 น. 0 comments
Counter : 1027 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.