Group Blog
 
All Blogs
 
เมื่อผมถูกสัมภาษณ์

ผู้เฒ่าเล่าอดีต

เมื่อผมถูกสัมภาษณ์

เจียวต้าย

เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ หลังจากที่ผมได้เขียนหนังสือสัพเพเหระ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑ ถึงพ.ศ.๒๕๕๑ ครบ ๖๐ ปี จึงได้หยุดเขียน เพราะอายุ ๘๓ ปีแล้ว ก็ได้รับโทรศัพท์ จากนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยบอกว่า ผมได้รับการเสนอชื่อ ให้ได้รับรางวัล “นราธิป” ซึ่งจะทำพิธีมอบรางวัลในเดือน มกราคม ๒๕๕๗ ผมงงไปครู่หนึ่ง เพราะไม่ทราบว่า สมาคมทราบว่าผมเป็นนักเขียนกะเขาด้วย และได้ทราบภายหลังว่า มีผู้เสนอชื่อจากการเรียบเรียง สามก๊กฉบับลิ่วล้อ จากต้นฉบับของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ในนามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน”

แล้วผมก็รอหนังสือที่จะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านั้น ในวันหนึ่งก็ได้มีนักข่าวสาว มาสัมภาษณ์ผมที่บ้าน เพื่อจะนำไปเขียนลงในวารสาร ปากไก่ ของสมาคมฯ ฉบับพิเศษในงานวันมอบรางวัล

ซึ่งมีข้อความบางตอน ดังนี้

นักข่าวถาม เล่าเรื่องวัยเด็กให้ฟังนะคะ

ตอบ ส่วนใหญ่ประวัติของผมเขียนเล่าไว้หลายหนแล้ว มันอยู่ในหลาย ๆ แห่ง ไม่รวมกันถ้าถามก็ตอบว่า เกิดวัน ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม เทียบกับปฏิทินร้อยปี ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๓ แต่พอขึ้นทะเบียนมันเป็น ๑๙ มีนาคม ๒๔๗๔ บังเอิญ พ.ศ.เปลี่ยนเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ มันหายไปสามเดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม เขามาขึ้น พ.ศ.๒๔๘๔ เลย ฉะนั้นเวลาที่ผมจะครบเกษียณอายุ มันก็ก็ต้องเพิ่มไปอีกหนึ่งปี เพิ่มแต่ พ.ศ.เวลาไม่ได้เพิ่ม

ผมเกิดที่กระบี่เพราะคุณพ่อเป็นชาวสวน คงจะมีความรู้เยอะ ท่านไปเป็นศึกษาธิการจังหวัด ผมก็เกิดที่นั่น แต่อยู่ได้ไม่กี่ปี ก็ถึงเวลาที่เขาดุลข้าราชการออก สมัยรัชกาลที่ ๗ เขาเรียกว่าดุลยภาพข้าราชการเพื่อลดงบประมาณ ก็เลยกลับมาอยู่สวนฝั่งธนบุรี ตอนนั้นผมอายุไม่ถึงสามขวบ พอสี่ขวบคุณแม่แยกออกมาจากคุณพ่อ มาอยู่กับคุณตา ที่ถนนราชดำเนินนอก ข้างโรงเรียนนายร้อย อยู่ที่นั่นจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๑ จากโรงเรียนดำเนินศึกษา จึงย้ายมาอยู่ที่ สวนอ้อย หน้าวชิรพยาบาล เจอสงครามพอดี รายละเอียดอยู่ในหนังสือเรื่อง ชีวิตระหว่างสงคราม

มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ ถึง พ.ศ.๒๔๘๙ สอบ ม.๖ ตก ก็ลาออกจากโรงเรียน เพราะไม่มีค่าเล่าเรียน มาขายขนม แล้วก็เขียนหนังสือ ความคิดที่จะเขียนหนังสือก็คืออยากจะหารายได้เพิ่ม คิดว่าตนเองทำได้ เริ่มส่งเรื่องให้หนังสือพิมพ์ วาสารทั้งเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายสามเดือน รายล็อตเตอรี่ ส่งทุกที่ก็ได้รับการตอบรับบ้าง ลงตะกร้าบ้าง แต่ลงตะกร้าเป็นส่วนมาก ถึง พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้ลงเรื่องแรก ที่หนังสือพิมพ์โบว์แดง ของคุณ สันต์ เทวรักษ์ นักประพันธ์เอก เป็นบรรณาธิการ

นักข่าว จำชื่อเรื่องได้ไหมคะ

ตอบ ชื่อ “สุภาพบุรุษของจิตรา” นามปากกา “เพทาย” ตั้งใจว่าจะเขียนหนังสือไปจนหมดแรง ทีนี้เหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ชีวิตช่วงเขียนหนังสือมีสามตอน ตอนแรกคือก่อนเข้ารับราชการ เขียนเพราะอยากเขียนได้ลงพิมพ์พอสมควร แต่ไม่มีชื่อเสียง ประการใด และไม่ได้ค่าตอบแทนด้วย พอเริ่มรับราชการเป็นทหารเกณฑ์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗ คุณแม่เสียชีวิตแล้ว ฝึกทหารอยู่ปีหนึ่ง พอปีสองก็เป็นนักเรียนนายสิบ นักเรียนนายสิบหนึ่งปี ก็ได้เป็นนายสิบที่ กรมการทหารสื่อสาร เป็นเหล่าทหารสื่อสาร รับราชการอยู่ประมาณเกือบสี่สิบปี ตอนต้นไปเจอว่าหน่วยนี้ มีนิตยสารประจำหน่วย ชื่อ นิตยสาร ทหารสื่อสาร ทีนี้เมื่อเราอยากจะเป็นนักเขียน ได้เวทีที่มันอยู่ตรงนี้เอง ก็เขียนส่งไป ก็ได้ลงพิมพ์เสมอ

นักข่าว ตอนนั้นเขียนแนวไหนคะ

ตอบ ความจริงผมต้องการเขียนเรื่องสั้น แต่เขามีความต้องการต้นฉบับมาก ผมก็เขียน บทกลอน สารคดี เล่าเรื่องที่เป็นสาระก็มี เป็นเรื่องขำขันก็มี มันอยากจะเขียน มันก็พยายามฝึกฝน ไม่มีว่างเลย ได้ลงก็ไม่ได้ค่าตอบแทนตามเคย เพราะมันเป็นราชการ ต่อมาเขาเชิญเข้าไปประจำกองบรรณาธิการ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ ทำงานเป็นเสมียน แล้วก็ทำงานในกองบรรณาธิการด้วย ช่วยเขาคัดเลือกเรื่อง ช่วยพิมพ์ ช่วยตรวจปรู๊ฟ งานแบบนี้ทำอยู่หลายปี จนถึง พ.ศ.๒๕๓๐ ก็ได้เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ เพราะทหารใช้คนตามตำแหน่ง มันเลื่อนขึ้นมาถึงตำแหน่งนั้นจะต้องเป็นนั่น เมื่อเป็นหัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ เขาบอกว่าต้องเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสารด้วย ก็เลยทำงานแทนตัวบรรณาธิการทั้งหมด

นักข่าว ตำแหน่งทางทหารตอนนั้นเป็นยศอะไรคะ

ตอบ ยศที่ว่ามานี้ ผมเขียนหนังสือตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานเป็นนายสิบ จนกระทั่งเกษียณอายุ เป็นนายทหารเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ ถึง พ.ศ.๒๕๑๘ ยังเป็นนายร้อย ประจำกองกำลังพล กรมการทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นนายพัน มาเป็นหัวหน้าแผนก ก็เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ทำอยู่จนถึง ถึง พ.ศ.๒๕๓๕ ก็ครบเกษียณพอดี แต่ก่อนเกษียณได้ยศ พันเอก เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ โดยไม่ได้นึกฝัน

นักข่าว แล้วนามปากกามาจากไหนคะ

ตอบ นามปากกาที่ใช้ในนิตยสารทหารสื่อสาร เริ่มตั้งแต่”เพทาย”และมีเพิ่มอีกมากแยกตามประเภทของหนังสือที่เขียน พอจะเกษียณอายุ บำนาญพอใช้เพราะเป็นพันเอกแล้ว ความอยากเขียนหนังสือยังมีอยู่ ก็นึกว่าไม่มีอะไรดีกว่าการเขียนหนังสือ ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร เราเคยเขียนมามากแล้ว มีประสบการมากขึ้น รู้จักชีวิตมากขึ้น ก็เขียนเรื่องสั้น ชุดฉากชีวิต บ้าง เรื่องอื่น ๆ นามปากกาอื่นอีกบ้าง แต่อะไรที่มันจะเขียนได้นานเท่าสามก๊ก และเคยติดใจวิธีเขียนเรื่องของตัวละคร ฉบับวนิพก แบบท่าน”ยาขอบ” จึงลงมืออ่านอย่างละเอียด

ผมไปเปิดอ่านสามก๊กฉบับของ ท่านเจ้าพระยาหลายสิบเที่ยว อ่านแล้วเจอชื่อตัวละครที่ชอบใจ ก็พลิกหาอ่านต่อไปจนเจอชื่อนี้อีก จนกว่าจะตายไป หรือหายไป ก็กะว่าจะเอาตัวละครตัวนี้มาเล่าให้คนอ่านสนใจ โดยเฉพาะตัวละครที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีใครจำได้ แต่ก็ปรากฏว่าว่าตัวละครพันธุ์อย่างนั้นมันก็มีไม่มาก ก็เอามาเขียนใหม่เรียบเรียงใหม่ ไม่ลอกใคร ไม่เลียนใคร แล้วจะใช้นามปากกาอะไร “เพทาย”มันนุ่มนิ่มเกินไป สมัยหนุ่มผมชอบกินเหล้าตบตูด และเหล้าเซี่ยงชุน ป้ายแดงของบางยี่ขัน เป็นหนึ่งในจำนวนเหล้าที่ใช้บ่อย เอาเหล้า มาเปลี่ยนเป็น เล่าเซี่ยงชุน พอจะนับญาติกับ เล่าปี่ ที่เป็นพระเอกได้ “เล่าเซี่ยงชุน”จึงถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ แล้วก็แพร่หลายอยู่ในหนังสือของเหล่าต่าง ๆ ในกองทัพบกหลายฉบับ ตั้งแต่บัดนั้น และมายุติลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ครบ ๖๐ ปี ของการเขียนหนังสือ

มีเพื่อนของลูกชายมาเจอเข้า บอกลุงเรื่องนี้ขายได้ เขาก็เอาไปตั้งใจจะพิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ยาดอง ที่เขาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่ไม่สำเร็จ ไม่ทราบเพราะอะไร ก็โอนไปให้สำนักพิมพ์ คณาธร ท่านเจ้าของก็มัวแต่เขียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด ก็ไม่สำเร็จอีก ผมก็พยายามเสนอไปอีกหลายแห่ง ก็เงียบ จนมาถึงสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ก็ได้รับการพิมพ์ โดยผมตรวจปรู๊ฟเองทั้งหมด เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ ห่างจากวันเริ่มต้น ๕๐ ปี ตั้งหน้าเขียนหนังสือมาห้าสิบปีได้พิมพ์เป็นเล่มแรก ดีใจจะตายอยู่แล้ว สมเหตุสมผลแล้ว ตัวเราอายุ ๖๗ ปี มีหนังสือเป็นอนุสรณ์เล่มหนึ่ง ก็ดีใจมากแล้ว ได้ค่าเรื่องตามมาตรฐานสากลด้วย ชื่อผมมันใหม่เอี่ยม แล้วท่านก็ให้ค่าเรื่องเท่ากับคนอื่น มันก็มากพอดู สามก๊กลิ่วล้อ ๓ เล่ม ๆละ ๓๐๐๐ ฉบับ แต่ก็คงขายอยู่เป็นสิบปีละมัง

ใช้”เล่าเซี่ยงชุน”เขียนสามก๊กแล้ว ก็ยึดเป็นอาชีพ พร้อมด้วยนามปากกาอื่น ๆ “เพทาย”ก็ไปกับเขาด้วย ที่เขียนหนังสือได้จดไว้ “เพทาย”เขียนเรื่องสั้นชุด ฉากชีวิต “เทพารักษ์”เขียนสารคดี “พ.สมานคุรุกรรม” อันเป็นนามของท่านบิดา เขียนเกี่ยวกับเรื่องอดีต “วชิรพักตร์” เรื่องความหลังที่เป็นทหาร “ปภัสสร” ซึ่งเป็นฉายาเมื่อบวช เขียนบทกลอน ทั้งหมดได้เขียนอยู่ตลอดเวลาหลังเกษียณอายุ ๒๐ กว่าปี

นักข่าว จากวันที่เริ่มเขียนจนถึงวันนี้มีรวมเล่มนอกจากสามก๊กมีอีกไหมคะ

ตอบ มีอยู่ ๗ ชื่อ เป็นจำนวนหนังสือ ๙ เล่ม นิยายอิงพงศาวดารจีนทั้งนั้น

นักข่าว แล้วที่ลงใน ต่วยตูน ล่ะคะ

ตอบ ได้ลงพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๗ ครบทั้งห้านามปากกา เฉพาะ ปกิณกะสามก๊ก ของ”เล่าเซี่ยงชุน” ประมาณ ๒๐ ตอน ลูกชายเขาขอเอาไปไว้ในห้องสมุดของโรงงานน้ำตาล สระบุรี ต่อมาสำนักพิมพ์ เคล็ดไทย พิมพ์รวมเล่ม ก็มาขอให้ท่านต่วย เขียนคำนิยมให้ด้วย

นักข่าว มีเรื่องอยากเล่าฝากถึงเด็กรุ่นหลังอย่างพวกหนู หรือรุ่นต่อ ๆ ไหมคะ

ตอบ อันนี้ผมเล่าไว้ใน พันทิป เยอะ หลายครั้งที่ผมบอกว่า ชีวิตของผมมันเป็นตัวอย่าง จะเป็นนักเขียนต้องอดทน ธรรมะที่ยึดถือก็คือ ขันติ โสรจจะ ไม่อยากเด่นอยากดังกับใคร เขียนหนังสือส่งเขาไป ไม่ติดต่อมาก็ไม่เป็นไร ไม่พิมพ์ก็ไม่โกรธ ได้ค่าเรื่องเท่าไรยังไง ไม่เกี่ยง อดทนอย่างเดียว ที่ถามว่าอยากเป็นนักเขียนจะต้องเริ่มต้นยังไง คุณก็เขียนซิ วันหนึ่ง ๆ ออกไปตลาด เดินช็อปปิ้ง เห็นอะไร ก็กลับมาเขียนเล่าให้ตนเองอ่าน ก็เริ่มจากตรงนี้

สุดท้ายนักข่าวไม่ได้ถาม แต่ผมขอบอกท่านผู้อ่านว่า ที่ผมเอาเรื่องนี้มาเล่า ก็เพราะคิดว่าจำเป็นจะต้องลาจากวงการนักเขียนไปแล้ว เพราะอายุ ๘๕ ปี และเป็นโรคสมองเสื่อมหมอกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่เป็นบำเหน็จของ”เจียวต้าย”และ ”เล่าเซี่ยงชุน” ก็คือได้รับการยกย่องจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้ได้รับรางวัล”นราธิป” เมื่อปีที่แล้ว

จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ผมก็เป็นนักเขียนคนหนึ่ง ของประเทศไทยด้วย

ซึ่งผมขอบคุณและจะจดจำไว้ เช่นเดียวกับความกรุณาที่ได้รับจาก ต่วยตูน และท่าน บก.ต่วย มาในอดีต จนชั่วชีวิต.

##########



Create Date : 01 กันยายน 2558
Last Update : 1 กันยายน 2558 16:10:10 น. 0 comments
Counter : 1094 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.