คุณพีทคุง พิธันดร
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
23 ตุลาคม 2552
 
All Blogs
 
คู่มือเตรียมต้นฉบับ (สำหรับนักเขียน)

ข้อเขียนนี้ลงในเว็บ forwriter.com เพื่อเป็นคู่มือการเตรียมต้นฉบับ สำหรับนักเขียนที่จะส่งงานเขียนมารวมกันเป็นเล่มในกิจกรรมหนึ่งของเว็บครับ คุณพีทเห็นว่าสรุปเอาไว้สั้นดี (ปกติชอบเขียนยืดยาว อิๆ) เลยเอามาบันทึกไว้ตรงนี้อีกแห่ง เผื่อมีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้พบเห็น สาธุ





เนื่องจากงานนี้เราจัดหน้าและพิสูจน์อักษรกันเอง จึงต้องขอให้นักเขียนแต่ละคนตรวจทานและจัดต้นฉบับของตัวเองมาให้เรียบร้อยนะครับ จะได้พร้อมต่อการจัดพิมพ์มากที่สุด

คู่มือการเตรียมต้นฉบับสำหรับนักเขียนนี้ แบ่งเนื้อหาเป็นสามส่วนนะครับ

ส่วนแรกพูดถึงการเตรียมไฟล์และตั้งหน้ากระดาษ

ส่วนที่สองพูดถึงการใช้เครื่องหมายวรรคตอน

ส่วนที่สามพูดถึงการสะกดคำ



(1) การเตรียมไฟล์และตั้งหน้ากระดาษ


  1. พิมพ์ต้นฉบับด้วยโปรแกรมเวิร์ดจะดีที่สุดครับ

  2. ขนาดหน้ากระดาษให้ใช้ A4 แนวตั้ง ตามที่โปรแกรมให้มา

  3. ตั้งขอบกระดาษตามที่โปรแกรมให้มา (คือ บนล่างหนึ่งนิ้ว ซ้ายขวาไม่เกินนิ้วครึ่ง)

  4. ขนาดฟ้อนต์ตัวอักษรใช้ 14 หรือ 16 พอยต์เท่านั้น และใช้ขนาดเดียวกันทั้งเรื่อง

  5. รูปแบบฟ้อนต์ตัวอักษรควรใช้ Angsana, Browallia, Cordia อย่างใดอย่างหนึ่ง และใช้รูปแบบเดียวกันทั้งเรื่อง ยกเว้นมีเหตุจำเป็นให้ต้องเปลี่ยนฟ้อนต์จริงๆ

  6. บรรทัดแรกให้พิมพ์ชื่อเรื่องกลางหน้ากระดาษ บรรทัดต่อมาให้พิมพ์นามปากกาชิดขวา แล้วหลังจากนั้นถึงเป็นเนื้อเรื่อง

  7. เมื่อจบเรื่องแล้วให้พิมพ์กลางหน้ากระดาษว่า “จบ” (เพื่อให้แน่ใจว่าต้นฉบับครบถ้วน)

  8. ถ้าทำหัวกระดาษเป็น ให้ใส่ชื่อเรื่องกับนามปากกาไว้บนหัวกระดาษด้วย (ถ้าทำไม่เป็นก็ให้เว้นไป)

  9. เมื่อขึ้นย่อหน้าใหม่ ให้กดปุ่ม Tab หนึ่งครั้งเท่านั้น อย่าใช้วิธีเคาะแป้นเว้นวรรคหลายครั้ง เวลาจัดหน้าแล้วมันจะเลื่อน

  10. แต่ละย่อหน้าให้พิมพ์บรรทัดติดกันไปเลย ไม่ต้องเว้นบรรทัดว่างระหว่างย่อหน้าที่ต่อเนื่องกัน

  11. เมื่อตัดฉากเพื่อขึ้นช่วงใหม่ ให้เว้นบรรทัดว่างหนึ่งบรรทัด ไม่จำเป็นต้องพิมพ์เครื่องหมายแปลกๆ ถ้าเกรงจะสับสน ให้ใช้เครื่องหมายดอกจันสามดอกกลางหน้ากระดาษแบบนี้พอครับ


*     *     *



(2) การใช้เครื่องหมายวรรคตอน


  1. การเว้นวรรคโดยทั่วไป ให้เว้นในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่นระหว่างประโยค หรือระหว่างข้อความย่อยๆ ที่ไม่ต้องการให้อ่านติดกัน

  2. การเว้นวรรค ให้เคาะแป้นหนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้น (แล้วแต่ว่าชอบสไตล์ไหน) อย่าเคาะกระหน่ำ

  3. อย่าเคาะแป้นเว้นวรรคต้นย่อหน้า ให้ใช้ปุ่ม Tab หนึ่งครั้ง

  4. กดแป้น Enter เมื่อจบย่อหน้าเท่านั้น อย่าตัดแบ่งย่อหน้าออกมาเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ

  5. เครื่องหมายคำพูด ใช้กับถ้อยคำที่ตัวละครพูดส่งเสียงออกมาเท่านั้น ถ้าคิดในใจไม่ต้องใส่เครื่องหมายคำพูด หรือถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ใช้แบบเขาเดี่ยว ‘ตัวอย่างเช่นข้อความนี้’

  6. เครื่องหมายคำพูด ให้พิมพ์ติดกับข้อความในคำพูดโดยไม่ต้องวรรค แต่ให้เว้นวรรคนอกคำพูด “ตัวอย่างเช่นข้อความนี้ ถ้ามีเว้นวรรคภายในก็ทำได้ แต่ท้ายสุดไม่ต้องมีวรรค”

  7. เครื่องหมายวงเล็บ พิมพ์เหมือนเครื่องหมายคำพูด (ตัวอย่างเช่นข้อความนี้ ถ้ามีเว้นวรรคภายในก็ทำได้ แต่ท้ายสุดไม่ต้องมีวรรค)

  8. เครื่องหมายไปยาลใหญ่ เว้นวรรคทั้งหน้าและหลังแบบนี้ ฯลฯ (ยกเว้นเวลาอยู่ท้ายสุดในเครื่องหมายคำพูดหรือในวงเล็บ ไม่ต้องเว้นวรรคก่อนปิด ตัวอย่างเช่น “แบบนี้ ฯลฯ” หรือแบบนี้ ฯลฯ)

  9. เครื่องหมายวรรคตอนทั่วไปถ้าใช้ ให้เขียนชิดซ้ายคือไม่วรรค แต่ทางขวาให้วรรค ตัวอย่างเช่น จุลภาค, เครื่องหมายคำถาม? เครื่องหมายตกใจ! ไปยาลน้อย เช่น กรุงเทพฯ

  10. ไม้ยมก มีมาตรฐานที่นิยมใช้กันอยู่สองแบบ แบบแรกคือราชบัณฑิตฯ ใช้เว้นวรรคหน้าหลังแบบนี้ “ต่าง ๆ นานา” อีกแบบคือพิมพ์ชิดซ้ายเหมือนเครื่องหมายวรรคตอนอื่นแบบนี้ “ต่างๆ นานา”

  11. เครื่องหมายละ ประกอบด้วยจุดสามจุด (...) ห้ามขาด ห้ามเกิน มันไม่ใช่จุดเดี่ยวของใครของมัน มันเป็นเครื่องหมายวรรคตอนที่เป็นรูปสามจุดเรียงกันครับ




(3) การสะกดคำ


  1. ไม้ตรีกับไม้จัตวาให้ใช้ได้กับอักษรกลางเท่านั้น ถ้าเป็นอักษรต่ำห้ามใช้เด็ดขาด ตัวอย่างเช่น มั้ง มั้ย ว้าย ยี้ พวกนี้ห้ามใช้ไม้ตรี ให้ใช้ไม้โททั้งหมด ถ้าจำอักษรกลางไม่ได้ให้ท่อง “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง”

  2. คำที่เสียงคล้ายกันเป็นคู่ เลือกใช้วรรณยุกต์ให้ถูก เช่น คะ/ค่ะ นะ/น่ะ ยะ/ย่ะ วะ/ว่ะ จ๊ะ/จ้ะ เป็นต้น

  3. ไม้ยมก ใช้สำหรับซ้ำคำ ในบางกรณีที่เสียงมันซ้ำกันแต่ความหมายไม่ซ้ำ ห้ามใช้ไม้ยมก ตัวอย่างเช่น คนคนนั้น คำคำนี้ หน้าที่ที่ต้องทำ เป็นต้น

  4. ถ้าเขียนย่อโดยการตัดท้ายพยางค์ ต้องใส่ไปยาลน้อยเสมอ เช่น กรุงเทพฯ พฤหัสฯ

  5. คำที่ไม่รู้ว่าเขียนอย่างไร หรือไม่แน่ใจ ขอให้ตรวจสอบในพจนานุกรมเล่มใดก็ได้ เช่น ฉบับราชบัณฑิตฯ (ซึ่งมีในเว็บให้ค้นด้วย) ฉบับมติชน ฉบับ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม เป็นต้น

  6. คำที่ไม่มีในพจนานุกรมแต่จำเป็นต้องใช้เพื่อสื่อความหรืออารมณ์ในเรื่อง อย่างน้อยต้องสะกดให้ถูกอักขรวิธีไทย เช่น ใช้สระและวรรณยุกต์ให้ถูกต้อง (เช่นในเครื่องหมายคำพูดอาจจะมีคำเลียนเสียงได้ เช่น ซะ งี้ งั้น ยังไง พวกนี้ถึงไม่มีในพจนานุกรมก็ใช้ได้ แต่อย่าสะกด “งี้” หรือ “งั้น” ด้วยไม้ตรี)

  7. ถ้าต้องใช้คำทับศัพท์ พยายามสะกดให้ถูกหลักการทับศัพท์หลักใดหลักหนึ่ง

  8. ตัวเลขในนวนิยายและเรื่องสั้นนิยมเขียนเป็นตัวอักษรมากกว่า เช่น แปดนาฬิกา แต่ก็มีกรณียกเว้นมาก ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสม ตัวอย่างกรณีที่นิยมใช้ตัวเลขมากกว่า เช่น เมื่อตัวเลขมีจุดทศนิยม หรือปรากฏกับตัวอักษรย่อที่มีจุด เช่น ป.1 พ.ศ.2552 ตัวเลขรหัส ตัวเลขยาวๆ เช่นหมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น




ข้างบนนี้ผมพยายามสรุปหลักให้สั้นและเข้าใจง่ายนะครับ ถ้าสนใจคำอธิบายเพิ่มเติมในรายละเอียดและตัวอย่าง เข้าไปดูได้ที่นี่ครับ

ก่อนลงมือพิมพ์ต้นฉบับ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pitandorn&month=01-2009&date=19&group=4&gblog=3


เขียนไทยให้ถูก
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=pitandorn&month=01-2009&date=03&group=4&gblog=2



เว็บข้อมูลอ้างอิงที่มีประโยชน์ได้แก่เว็บของราชบัณฑิตยสถานครับ

หน้ารวม
//www.royin.go.th/


พจนานุกรม
//rirs3.royin.go.th/


หลักเกณฑ์การทับศัพท์ - คำชี้แจง
//www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=119&SystemMenuID=1&SystemMenuIDS=


หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ
//www.royin.go.th/th/profile/index.php?SystemModuleKey=127&SystemMenuID=1&SystemMenuIDS=



ที่หน้ารวม มุมซ้ายล่าง ยังมีหลักเกณฑ์อื่นอีกหลายอย่างครับ เช่น เครื่องหมายต่างๆ การเว้นวรรค การเขียนคำย่อ ลักษณนาม ราชาศัพท์ เป็นต้น








Create Date : 23 ตุลาคม 2552
Last Update : 23 ตุลาคม 2552 20:54:03 น. 8 comments
Counter : 7805 Pageviews.

 
คุ้นๆ นะนี่


โดย: ปณาลี วันที่: 23 ตุลาคม 2552 เวลา:21:20:31 น.  

 
เข้ามาอ่านค่ะ

ขอบคุณมาก


โดย: annie IP: 125.24.104.183 วันที่: 23 ตุลาคม 2552 เวลา:23:24:06 น.  

 
ขอบคุณสาระดีๆ จากคุณพีทจ้า ^^


โดย: นิชนันท์ วันที่: 23 ตุลาคม 2552 เวลา:23:51:12 น.  

 
(1) คุณตูน

รีไซเคิล ประหยัดทรัพยากรโลกครับ อิๆ

โครงการต่อไป จะเอา "ตารางตรวจฉาก" มาลงด้วยแหละ ไหนๆ ก็เขียนไว้แล้ว




(2) คุณแอนนี่

ยินดีและขอบคุณครับ




(3) คุณนิชนันท์

ยินดีครับ ขอบคุณที่ตามมาเยี่ยมด้วยครับ


โดย: คุณพีทคุง (ลายปากกา ) วันที่: 24 ตุลาคม 2552 เวลา:8:30:10 น.  

 
ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อมูลดีๆ


โดย: adel_ew วันที่: 24 ตุลาคม 2552 เวลา:11:03:17 น.  

 
(5) คุณเดล

ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยียนครับ


โดย: คุณพีทคุง (ลายปากกา ) วันที่: 1 พฤศจิกายน 2552 เวลา:21:54:01 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: npuiy IP: 110.164.239.184 วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:11:09:14 น.  

 
มาเยี่ยมชม และขอบคุณสำหรับข้อมูลอันเป็นประโยชน์นะครับคุณพีท


โดย: ซงย้ง วันที่: 15 มีนาคม 2553 เวลา:15:52:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พิธันดร
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




คุณพีทคุง พิธันดร
Friends' blogs
[Add พิธันดร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.