There are some things that not exist before but there is one thing that exist before.

การภาวนา เหมือนการปลูกต้นไม้

เรื่องต้นไม้มันจะโตเร็ว โตช้าของมันน่ะ มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเราไม่รู้จักหน้าที่การงานของตัวแล้ว มันก็ไปทำงานหน้าที่ของต้นไม้ มันก็ทุกข์ ไม่ทำงานหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราก็ให้ปุ๋ยมันไป ให้น้ำมันไป รักษาแมลงไม้ไป เท่านี้ ส่วนต้นไม้จะโตเร็วโตช้า เป็นเรื่องของต้นไม้ ถ้าเรารู้จักหน้าที่การงานของเราเช่นนี้ ภาวนา (ฝึกจิต) ก็สบาย ถ้าเราคิดเช่นนี้ การปฏิบัติของเราก็สบาย ง่าย สะดวก ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย นั่งมันสงบก็ดูความสงบไป ที่มันไม่สงบก็ดูความไม่สงบไป ที่มันสงบนั้น มันก็เป็นเรื่องของจิต มันเป็นอย่างนั้น ที่มันไม่สงบ มันก็เป็นเรื่องของมันอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างอื่น มันสงบแล้ว มันก็สงบไป ถ้าไม่สงบก็ไม่สงบไป เราจะไปทุกข์เพราะมันไม่สงบไม่ได้ เราจะไปดีใจเพราะจิตสงบมันก็ไม่ถูก เราจะไปเสียใจเพราะจิตมันไม่สงบก็ไม่ถูกเหมือนกัน เราจะไปทุกข์กับต้นไม้ได้หรือ ไปทุกข์กับแดดได้หรือ ไปทุกข์กับฝนได้หรือ ไปทุกข์กับอย่างอื่นได้หรือ มันเป็นเรื่องของมันอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว การภาวนาของพระโยคาวจรนั้นก็สบายแล้ว เดินทางเรื่อยๆ ไป ปฏิบัติไป ทำธุระหน้าที่ของเราไป เวลาพอสมควรเราก็ทำของเราไป ส่วนมันจะได้ จะถึง หรือมันสงบนั้น ก็เป็นวาสนาบารมีของเรา เหมือนกับชาวสวนปลูกต้นไม้ หน้าที่ของเราใส่ปุ๋ยก็ใส่มันไป รดน้ำก็รดมันไป รักษาแมลงก็รักษามันไป เรื่องต้นไม้จะโตเร็วโตช้าไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของต้นไม้ ละปล่อยทั้งสองอย่างนี้ รู้จักหน้าที่ของเรา รู้จักหน้าที่ของต้นไม้ มันถึงเป็นชาวสวนที่มีความสุขสดชื่นดีฉันใด ผู้มีปัญญา ผู้ที่ภาวนาในพุทธศาสนานี้ก็เหมือนกันฉันนั้น พอจิตคิดเช่นนี้ ความพอดีมันตั้งขึ้นมาเอง พอความพอดีมันตั้งขึ้นมาก็เลยเป็นปฏิปทา ปฏิปทาที่พอดีเกิดขึ้นมา ความเหมาะสมมันก็เกิดขึ้นมา อารมณ์เหมาะสมมันเกิดขึ้นมา ความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นมาแล้ว มันเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เป็นสัมมาปฏิปทา ปฏิบัติไม่หย่อน ปฏิบัติไม่ตึง ปฏิบัติไม่เร็ว ปฏิบัติไม่ช้า จิตใจปล่อยไปตามสภาวะของมัน อันนั้นคือภาวนาสงบแล้ว สบายแล้ว

Reference: //www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6816 (there are more in here)




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2551 20:36:15 น.   
Counter : 319 Pageviews.  

7 อย่างที่นักภาวนา มักจะไปติด

เมลจกเพื่อน //www.bloggang.com/emo/emo35.gif
======================
ที่มา : จากธรรมเทศนา หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แผ่นที่ 20 (ไฟล์ 2550519) คัดลอกบาง ตอนมาให้อ่าน ให้ฟังครับ
น่าน้อมนำมาพิจารณา ครับ

ในละวันให้สำรวจ กาย ใจ ว่ามี 7 อย่างที่นักภาวนา มักจะไปติดไปข้อง

พระพุทธเจ้า เที่ยบจิตใจที่ไหล ไปกับน้ำ เหมือนไม้ ที่ไหลไปในแม่น้ำคงคา
กระแสน้ำคือสัมมาทิฐิ ถ้ารู้หลักการปฎิบัติ จิตใจก้อจะโน้มนำไปยังนิพพานโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ติด 7 สิ่งคือ

1.ติดฝั่งซ้าย
2.ติดฝั่งขวา

คือติดธรรมที่เป็นคู่ๆ ติดสุข เกลียดทุกข์ รักดี เกลียดชั่ว

3.ไม่ถูกมนุษย์จับไว้

คือเวลาไปปฏิบัติธรรม มักจะไปกันเป็นกลุ่ม จะห่วงคนนั้น ห่วงคนนี้ บางท่านอยากให้ ลูก หลาน ปฎิบัติแต่ตนเองยังไม่ได้ปฎิบัติ

4.ไม่ถูกอมนุษย์จับไว้

บางคนอยากเด่น อยากดัง ภาวนาเพื่อหวังลาภ สักการะ บางคนภูมิใจที่มีศีลเหนือกว่าคนอื่น มีสมาธิ เหนือกว่าคนอื่น

5.ไม่ไปเกยตื้น
คือการสร้างภพเอาไว้ แล้วไปติดกับ ความว่าง เพราะคิดว่านั่นคือนิพพาน เลยไม่ได้ไปไหนต่อ

6. ไม่ถูกน้ำวน
คือหลงอยู่ใน กาม หลงแต่เพลิดเพลิน ไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ วัน ๆ แสวงหาแต่ความสุขพวกนี้ ถึงจะรู้หลัก แต่ก้อรู้ไปด้วย หลงไปด้วย เพลิดเพลินไปกับโลก

7. เน่าใน
คือพวก ที่ ทุศีล พวกศีลด่างพร้อย สำคัญมาก เพราะ จิตใจจะไม่ตั้งมั่น ไม่มีสัมมาสมาธิ มีแต่มิจฉาสมาธิ


ขอความสันติสุข ความเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้งในหลักธรรมคำสอนขององค์สำเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงบังเกิดกับทุกท่านครับ




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2551 20:18:36 น.   
Counter : 189 Pageviews.  

จิตวิทยาแห่งการอยู่คนเดียว


เรื่องการคบคนอื่นนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างเฉียบขาดมาก พระพุทธองค์ตรัสว่า

'ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากเธอหาคนที่ดีกว่าเธอ หรือดีเสมอเธอคบไม่ได้แล้วไซร้
เธอพึงท่องเที่ยวไปแต่เพียงลำพังผู้เดียว เสมือนนอแรด ยังประเสริฐกว่าการคบคนพาล
เพราะการคบคนพาลย่อมนำไปสู่วิบัติโดยแท้'


เอกบุรุษและเอกสตรีทั้งหลายย่อมเคยมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวและชื่นชมกับการอยู่คนเดียวทั้งสิ้น
ถ้าไหน ๆ จะต้องอยู่คนเดียวแล้ว ตอนต่อไปเราลองมาดูกันว่า จะอยู่คนเดียวอย่างไรให้เป็นสุข

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ความรักนั้นเป็นอย่างหนึ่ง การมีคู่เป็นอย่างหนึ่ง
มิได้หมายความว่าเมื่อไม่มีคู่แล้วจะไม่มีความรัก หามิได้เลย

คนอยู่คนเดียวนั้น ก็อาจมีความรักได้ และความรักอาจยิ่งใหญ่กว่าคนมีคู่ด้วยซ้ำ

ในขณะที่คนมีคู่นั้น ความรักจะต้องกระทบกับความต้องการที่แตกต่าง ผสมกับอารมณ์ข้างเคียงอันเกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวนานาประการ หรือมีข้อจำกัดด้วยอุปสรรคและปัญหาในการดำรงชีวิตนานา

ความรักที่เคยเต็มร้อยของคู่ในขณะที่เป็นแฟนกัน พอมาใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยากัน รักเต็มร้อยก็อาจจะเหลือน้อยลง บางคู่เหลือแค่สิบเปอร์เซ็นต์ก็มี บางคู่ก็หมดหดหายไปเลย ต้องหย่าร้าง แยกทางกัน บางคู่ต้องติดลบ กลายเป็นศัตรูกันไปก็มี

ดังนั้น เกมแห่งชีวิตคู่นั้นใช่จะสวยหรูเสมอไป มีแพ้ มีชนะ มีเสมอตัว เหมือนเกมแห่งชีวิตทั่วไป แต่ร้ายกว่าเกมอื่น ๆ ตรงที่เกมชีวิตคู่เป็นเกมแห่งหัวใจ เมื่อขาดทุนก็เสียที่ใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของชีวิต ถ้าชนะก็ได้ใจและอาจจะประมาท อันอาจเป็นเหตุให้พ่ายแพ้ได้ในอนาคต

แต่การอยู่คนเดียวไม่ต้องมีอัตราเสี่ยงเหล่านี้ คนอยู่คนเดียว จึงได้เปรียบคนที่มีคู่สามกรณี คือ

๑. ความรักของเขาย่อมไม่เจาะจงบุคคล จึงเป็นความรักที่กว้างขวางยิ่งใหญ่กว่า

๒. ความรักของเขาย่อมไม่แปดเปื้อนด้วความต้องการอารมณ์หรืออุปสรรคมากมาย เหมือนคนคู่ จึงหมดจด สะอาดกว่า

๓. ความรักของเขาย่อมไม่อยู่ในเงื่อนไขหรือพันธะผูกพัน จึงมีอิสรภาพแห่งหัวใจและเป็นสุขกว่า

ในที่สุดคนที่อยู่คนเดียว ถ้าเห็นคุณค่าและโอกาสของตน และฉลาดในการใช้โอกาสนั้นสร้างคุณค่าแล้ว ย่อมได้ประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ชีวิต จิตใจ

ดังนั้น จึงควรเรียนรู้จิตวิทยาการอยู่คนเดียว ดังนี้

หลักการอยู่คนเดียวให้เป็นสุข

ก่อนอื่นควรเข้าใจก่อนว่า การเลือกอยู่คนเดียว มิได้หมายความว่าอยู่อย่างเดียวดาย ไม่ข้องเกี่ยวกับใคร แต่การอยู่คนเดียวหมายความว่าเลือกชีวิตที่เป็นไทแก่ตน ไม่ต้องการคู่ใด ๆ มาครอบครองตน และตนก็ไม่ต้องการครองใคร ขอเป็นอิสรชนที่รับผิดชอบตัวเอง ท่ามกลางชีวิตอันหลากหลายในโลกกว้าง

การกระทำเช่นนี้ เหมาะกับบุคคลที่เป็นหรือประสงค์จะเป็นเอกบุคคล หรืออิสรชนผู้เป็นใหญ่ในตนอย่างแท้จริง ซึ่งบุคคลที่จะกระทำเช่นนี้ได้สำเร็จ ต้องมีกุศลโลบายอันเหมาะสมสามประการ คือ

๑. ตัดใจจากสัญชาตญาณดั้งเดิม

๒. เติมใจด้วยความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า

๓. ตั้งใจชำระจิตให้หมดจด มั่นคง

ซึ่งแต่ละกุศลโลบายมีรายละเอียดที่ควรเข้าใจและปฏิบัติดังนี้

การตัดใจจากสัญชาตญาณดั้งเดิม

สัญชาตญาณดั้งเดิมที่ทำให้มนุษย์ต้องการคู่ คือสัญชาตญาณด้านกามารมณ์ และสัญชาตญาณแห่งการพึ่งพิง ซึ่งเอกบุคคลต้องละให้ขาดไปจากใจ

การตัดสัญชาตญาณด้านกามารมณ์ สามารถกระทำให้ขาดไปได้ด้วยการพิจารณาถึงภาวะบีบเค้น ความเสื่อมเสีย และภัยต่อเนื่องจากกามารมณ์นานาประการ อาทิเช่น

กามารมณ์เป็นภาระ แค่คิดก็เริ่มหนักใจแล้วทั้งในด้านการแสวงหา ความสอดคล้องกับความต้องการ บางครั้งต้องยอมสูญเสียสิ่งมีค่ามากมาย เช่น ศักดิ์ศรี เงินทอง เวลา สติปัญญา เพื่อให้ได้มาซึ่งกามารมณ์นิดเดียว

กามารมณ์ เป็นของเผ็ดร้อน เมื่อรู้สึกก็เริ่มร้อน เมื่อแสวงหาอยู่ก็รุ่มร้อน เมื่อเสพอยู่ก็เร่าร้อน ครั้นเสพแล้วเสมือนว่าความร้อนจะดับ แต่เดี๋ยวก็ร้อนอีกและกลับร้อนมากกว่าเดิมด้วย

กามารมณ์เป็นความบีบเค้น เมื่อต้องการก็บีบใจให้รวนเร เปราะบาง กลวงใน ขาดความจริงใจ รู้สึกแปลแยกกับผู้ที่เราต้องการเสพกามด้วย ไม่สนิทใจเหมือนความรักปกติ ครั้นเสพกามอยู่ประสาทก็ถูกบีบ สมองก็ถูกบีบ กล้ามเนื้อก็ถูกบีบ จิตใจก็ถูกบีบ จึงทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เกร็ง กระด้าง ปรวนแปร แม้รังสีทิพย์ก็หดหายไป สติปัญญาเลอะเลือน กามจึงนำความเสื่อมเสียมาให้ชีวิตจิตใจมากทีเดียว

กามารมณ์ทำให้สังคมยุ่งเหยิง ความสำส่อนสับสน เศร้าโศกเจ็บแค้น ความปวดร้าวในความสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชีวิตคู่ ก็มักมาจากความมักมากในกามารมณ์เป็นเหตุสำคัญ

กามารมณ์เป็นภัยต่อเนื่อง คือยิ่งเสพก็ยิ่งมีมาก ไม่อาจหายได้เพราะการเสพ แต่หายได้ด้วยการตัดใจ ดังพุทธพจน์ที่ว่า


'ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีอยู่สองสิ่งในโลกนี้ ที่ไม่อาจระงับได้ด้วยการเสพ
สองสิ่งเป็นไฉน คือ กามหนึ่ง การหลับหนึ่ง'


ทั้งกามและการหลับยิ่งเสพจะยิ่งมีมาก กล่าวคือ ยิ่งเสพกาม ก็ยิ่งกระหายกาม และยิ่งนอนก็ยิ่งง่วง ซึ่งเกือบทุกคนเคยมีประสบการณ์เหล่านี้มาบ้างแล้ว

จริงอยู่ว่า กามารมณ์เป็นสัญชาตญาณดิบของสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์และเทวดา แต่ผู้ที่ประสงค์ความเป็นไท มุ่งสู่ความประเสริฐ ย่อมตัดใจการกามเสีย เมื่อตัดกามารมณ์เสียได้ จึงหลุดพ้นจากอำนาจดึงดูดของเพศตรงข้าม เป็นอิสระในตนโดยสมบูรณ์ เมื่อนั้นก็จะอยู่เหนือเพศทั้งปวง

พระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์จึงไม่มีเพศ รองลงมาคือพรหมก็ไม่มีเพศ เพศจะมีเฉพาะในเทวดา มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน เปรต และสัตว์นรกเท่านั้น โดยเฉพาะในสัตว์ ยิ่งต่ำมากก็มีเพศมาก สัตว์เซลเดียวบางชนิดมีเพศ ๒ เพศในตัวเองเลย คือมีทั้งเพศผู้ เพศเมีย จะเสพเมื่อไหร่ก็ผสมได้ทันที แต่เมื่อพัฒนาอยู่ในระดับวิวัฒนาการที่สูง กามารมณ์ก็ยิ่งน้อยลง จนสูงที่สุดย่อมไร้กามารมณ์

ก็เพราะละกามารมณ์ ได้นั้นแหละ จึงพัฒนาตนให้สูงส่งได้ เนื่องจากกามเป็นเหตุแห่งความพัวพัน ความอ่อนแอ และความเสื่อม ประสิทธิภาพของระบบประสาท จิตใจ และสภาวะทิพย์นานาประการ

ดังนั้น ถ้าจะอยู่คนเดียว เพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องตัดใจละกามเสียให้เด็ดขาด ในช่วงที่ยังเด็ดไม่ขาด ก็อยู่ให้ห่าง ๆ เพศตรงข้ามไว้ จะปลอดภัยดี

การตัดสัญชาตญาณด้านการพึ่งพิง สัญชาตญาณการพึ่งพิง เป็นสัญชาตญาณแห่งความอ่อนแอของบุคคลที่ยังไม่สมบูรณ์ในตน
การตัดสัญชาตญาณในเรื่องนี้ได้ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ถึงความเป็นจริง
และความเหมาะควร ๓ ประการ คือ


๑. ก็หากต่างคนต่างก็ต้องการพึ่งพิงกันอยู่ ต่างหวังพึ่งพิงกันไป หวังพึ่งพิงกันมาแล้ว ใครจะเป็นที่พึ่งให้แก่ใครได้อย่างแท้จริง ก็ใครจะเป็นที่พึ่งให้แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริงได้เล่าในเมื่อเขาก็ยังต้องการพึ่งพิงผู้อื่น หากจำเป็น ก็เป็นที่พึ่งที่ดีสมบูรณ์ไม่ได้ ในที่สุด บุคคลที่เป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราก็คือตัวเราเอง ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า 'ตนนั่นแหละคือที่พึ่งแห่งตน'

ดังนั้น...พอที ไททั้งหลายอย่าหมายแขวนตน ไว้กับคนอื่นหากเขาก็ยังทุกข์ ย่อมนำเราสะอื้นจงตั้งมั่นหยัดยืน ด้วยลำแข็งแห่งตน

๒. การหวังพึ่งพิงผู้อื่นทำให้เราตกเป็นทาสเขา ต้องคอยเอาอกเอาใจ กลัวความรู้สึกเขา ระแวงว่าเขาจะไม่ชอบเราด้วยเหตุนั้น ด้วยเหตุนี้ เป็นทุกข์อยู่ทุกขณะ เหมือนพระจันทร์ที่ต้องคอยแสงพระอาทิตย์อยู่เสมอ และกลัวว่าพระอาทิตย์จะจากหายไป ไม่ส่องแสงมาให้ตน

๓. การพึ่งพิงผู้อื่นทำให้เราไม่สมบูรณ์สักที เพราะมีปัญหาอะไรก็คอยพึ่งผู้อื่นอยู่เรื่อย เสมือนเด็กไม่รู้จักโต แต่ถ้าเราหันมาพึ่งตนเองก็จะต้องเริ่มพัฒนาตนให้สมบูรณ์พร้อม ชีวิตเราก็จะได้ความก้าวหน้าได้ระยะแห่งวิวัฒนาการด้วย

๔. เมื่อเราสมบูรณ์ในตนแล้ว แม้จะคบกับใครก็คบอย่างเท่าเทียมหรือสูงกว่าและมีพลังที่จะเกื้อกูลแก่ผู้อื่นได้ เสมือนพระอาทิตย์ที่ส่องแสงเลี้ยงดูสรรพสิ่งในโลกได้

ดังนั้นจงเลิกเป็นพระจันทร์เถิด แล้วเชิดดวงใจตนให้ผงาดค่อย ๆ สร้างองค์ประกอบแห่งความเป็นเอกให้สมบูรณ์ก็จะสามารถหยัดยืนด้วยลำแข้งแห่งตน และเกื้อกูลแก่คนอื่นได้ดุจพระอาทิตย์ผู้มีพลังอย่างไม่มีประมาณ

เมื่อเราตัดสัญชาตญาณแห่งกามารมณ์และสัญชาตญาณแห่งการพึ่งพิงได้แล้ว จิตใจจะเป็นอิสระระดับหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มยินดีต่อการเป็นโสด

การอยู่เป็นโสดอย่างเป็นสุขนั้น ต้องเป็นเพราะความตั้งใจของเราจริง ๆ มิใช่เป็นเพราะสถานการณ์บีบบังคับหรือหาใครมาเป็นคู่ไม่ได้ หาไม่แล้ว จะเป็นโสดแบบแห้ง ๆ

โสดแบบแห้ง ๆ คืออยู่เป็นโสดไป แต่ใจก็คอยให้ใครบางคนมาชอบอยู่ ถ้าอยู่อย่างนี้จะไม่เป็นสุข จะขาดความพึงพอใจในตนจะขาดความเชื่อมั่นในตน และเกิดความขัดแย้งระหว่างความต้องการในใจกับภาวะที่เป็น ทำให้เป็นทุกข์เปล่า ๆ

ไหน ๆ ก็ยังไม่มีคนมาชอบ หรือยังไม่ชอบใคร ก็ตั้งใจอยู่เป็นโสดแบบสด ๆ ดีกว่า

โสดสด ๆ คือโสดบริสุทธิ์ด้วยความตั้งใจ เต็มใจ ไม่ผ่านกามารมณ์ใด ๆ มาก่อน

ถ้าเคยผ่านความสัมพันธ์ทางกามมาก่อนแล้วเลิกร้างกันภายหลัง ก็อาจเป็นโสดได้บ้าง แต่เป็นโสดหารสอง โสดหารสี่ โสดหาร...ตามลำดับ

โสดหารสอง คือ เคยผ่านความสัมพันธ์มีคู่มาแล้ว แล้วเลิกร้างกันไป จึงกลับมาเป็นโสดอีก แต่เป็นโสดหารสอง เพราะไม่สดจิตใจและร่างกายไม่ผ่องใสแล้ว

โสดหารสี่ คือ ผ่านมาแล้ว และล้มเหลวมาแล้ว ๒ ครั้ง ๒ ครา ความโสดที่มีอยู่จึงเหลือความสดน้อยเต็มที เหลือเพียงโสดหารสี่

ถ้ายิ่งผ่านความสัมพันธ์มามาก ความสดใสก็ยิ่งน้อยลง เป็นปฏิภาคผกผันกันในอัตราส่วน เศษหนึ่งหารด้วยสองคูณจำนวนครั้งความสัมพันธ์ (๑/ (๒ x จำนวนครั้ง)

ไม่ว่าจะเป็นโสดแบบใดก็ตาม ขอให้เต็มใจที่จะครองโสดอย่างแท้จริง ก็จะสามารถตั้งใจที่ล้มไปแล้วให้ลุกขึ้นมาผงาดและมีกำลังขึ้นมาได้บ้าง

แต่ในขั้นนี้ แม้ใจจะเป็นอิสระอยู่บ้าง จะยังขาดความสุข ดังนั้นต้องเติมใจให้เต็มด้วยความสุขที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

การเติมใจด้วยความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า

เมื่อใจตัดกามและไม่หวังพึ่งพิงแล้วระดับหนึ่ง ต้องทำให้เป็นสุข หาไม่แล้ว ดวงใจจะรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่มีหลัก เหมือนขาดฐานที่มั่น

ความสุขที่จะมีมาแทนความสัมพันธ์ระหว่างเพศได้นั้น ต้องเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความรักระหว่างเพศ ซึ่งมีอยู่สองประการ คือ ความสุขจากความรักความเมตตาต่อมหาชน และความสุขในการอยู่ในสัมพันธภาพอันประณีตกับธรรมชาติ ซึ่งมีวิธีฝึกฝนดังนี้

การเติมความสุขด้วยความรักความเมตตาต่อมหาชน เมื่อใจเราปราศจากความต้องการทางเพศ และไม่ต้องการการพึ่งพิงแล้ว นั่นทำให้ใจเราสะอาดระดับหนึ่ง ปลอดจากเงื่อนไขแห่งความทุกข์แล้ว จากนั้นก็แผ่ความรักความเมตตาอันบริสุทธิ์ให้ตนเองจนเต็มเปี่ยม แล้วแผ่ออกไปโดยรอบให้ไพศาลก็จะบังเกิดความสุขอันยิ่งใหญ่ในทันที

ฝึกทำอย่างนี้เป็นประจำ จนชำนาญ แผ่เมตตาเมื่อใด ก็เปี่ยมสุขเมื่อนั้น

แต่การแผ่เมตตาอย่างเดียวนั้น อาจทำให้ใจอ่อน ติดดี และเกรงใจคนอื่นจนเกินพอดี ดังนั้น ควรแผ่ให้ครบธรรมสูตรต่อเนื่องจากเมตตาด้วย คือแผ่กรุณา มุทิตา อุเบกขาด้วย ก็จะทำให้ใจทรงตัวเปี่ยมสุขเอิบอิ่ม และมั่นคงยิ่ง

เพื่อให้ได้รสชาติอันแท้จริง ลองฝึกดูเลยเดี๋ยวนี้

ก่อนอื่นนั่งในท่าที่สบาย ๆ ผ่อนคลายความตึงตัวทางกล้ามเนื้อระบบประสาท และอวัยวะทุกส่วนให้หมด ปล่อยวางความคิด ความต้องการและเงื่อนไขทางใจให้สิ้น

จากนั้นระลึกว่า เมตตา '...ใจทั้งปวงจงสงบเย็นเป็นสุขเถิด...' การที่เราระลึกถึงใจทั้งปวงนี้ รังสีจากใจของเราจะขยายออกไปสัมผัสสัมพันธ์กับใจทั้งหลาย ซึ่งหาที่สิ้นสุดมิได้ มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นสิ่งต่าง ๆ ในภพภูมิต่าง ๆ ใจของเราจะขยายไป

เราไม่ต้องคิดถึงบุคคลว่าขอให้พ่อ แม่ ของเรา หรือขอให้เพื่อนของเรา เราไม่ต้องคิดถึงบุคคล เพราะถ้าคิดถึงบุคคลจิตจะแคบ จิตจะเห็นเป็นบุคคล เป็นสมมติ ให้คิดถึงใจอันเป็นปรมัตถ์

ฉะนั้น เราเอาที่ปรมัตถ์ เพราะเราต้องการฝึกจิตให้ไร้ขอบเขต 'ใจทั้งปวง จงสงบเย็นเป็นสุขเถิด' เมื่อจิตเราระลึกถึงใจทั้งปวง จิตเราขยายไปแล้ว เมื่อเรากำหนดว่า '....ใจทั้งปวงจงสงบเย็นเป็นสุขเถิด...'นั้นเป็นการแผ่สิ่งที่ดีออกไป

การขยายสิ่งที่ดีให้เติบโตในใจของเรานั้น จะทำให้คุณสมบัติของใจเราอุดมด้วยสำนึกที่ดียิ่งขึ้นต่อไป เวลาเราเห็นสัตว์ เห็นชีวิต เห็นมนุษย์ หรือแม้แต่เห็นผี เราจะไม่กลัว เราจะมีความรู้สึกเมตตา มีความรู้สึกปรารถนาดีต่อเขาให้เขาสงบเย็น

ถ้าเมตตาโดยไม่มี กรุณา ก็ไม่ดี ใจจะอ่อน ให้มีกรุณามารองรับอีกทีก็ดี กรุณาที่มารองรับ คือทำให้เห็นผลจริงจัง น้อมรำลึกว่า '...การกระทำทั้งปวงของเรา จงยังใจทั้งหลายให้สงบเย็นเป็นสุขเถิด..'

ทั้งอานุภาพจิตของเรา บุญกุศลทั้งหมดที่เกิดขึ้น และการกระทำทั้งปวงของเราด้วย จงอาบชโลมใจทั้งหลายให้สงบเย็นเป็นสุขเถิด

ถ้ากรุณาอย่างเดียวโดยไม่มีมุทิตามาต่อเนื่อง ใจจะมีห่วงหาอาลัยมาก มีแต่กรุณาอยากจะช่วยคน อยากจะเกื้อกูลเขา อาจจะอุ้มเขา มีความห่วงใยอาลัยอาวรณ์สูง เราต้องมีมุทิตามากำกับ มุทิตา คือ น้อมรำลึกว่า '...ใจที่สงบเย็นเป็นสุขแล้ว ประเสริฐจริงหนอ...'

การกระทำเช่นนี้ จะทำให้เราเคารพซึ่งกันและกัน และใจเราจะมุ่งไปสู่สภาวะที่สูงขึ้น การที่เราบอกว่า '...ใจที่สงบเย็นเป็นสุขแล้ว ที่ท่านสัมฤทธิ์ผลแล้ว ใจของเราจะอยู่ในระดับนั้น หรือสูงกว่า ในชีวิตประจำวัน เราควรยินดีด้วยกับสภาวะของเขา จิตของเราจะอยู่ในระดับเดียวกับเขา หรือสูงกว่าเขาทันที ไม่ต่ำกว่าเขา แต่ถ้าอิจฉาริษยาเขา จิตของเราจะต่ำกว่าเขา และจะอึดอัดในภาวะนั้น ดังนั้นพึงยินดีกับสิ่งที่ดีทั้งปวง

การที่เรายินดีหรือมุทิตา กับผู้ที่สงบเย็นเป็นสุข ใจเราจะมีกำลังมากขึ้น

แต่ใจตรงนี้ บางทีมันฟู มันจะรู้สึกพอง จึงต้องทรงด้วย อุเบกขาอีกที อุเบกขานี้มาจากคำว่า อุปปะ กับ อิกขะ

อุปปะ แปลว่า เข้าไปอิกขะ แปลว่า เห็น

ดังนั้น อุเบกขาแปลว่า เข้าไปเห็น เข้าไปรู้ เข้าไปกระจ่าง

เมื่อเข้าไปเห็นกระจ่างจริงแล้ว จึงเฉย จึงสงบ ที่ท่านแปล อุเบกขาว่า คือ ความเฉย ความเฉยนั้นเป็นผลของอุเบกขา ตัวอาการ ของอุเบกขานั้น คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความกระจ่าง เรารำลึกในสำนึกว่า '...อุเบกขา ใจทั้งปวง จงมีดวงตาเห็นธรรมเถิด...' ใจทั้งปวงก็หมายถึงทั้งใจเราด้วย ใจคนอื่นด้วย

ถ้าจิตทุกดวง มีดวงตาเห็นธรรมคือเห็นความจริง ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้น เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้น ใจก็สงบมั่นคง ขณะที่ขยายใจออกไปเรื่อย ๆ นั้น ก็ไม่เสียการทรงตัวเพราะมีอุเบกขาเป็นหลักอยู่ เห็นความเป็นจริงอยู่ ถ้าเมื่อใดที่เราไม่เห็นความเป็นจริง จิตจะหวั่น จะเสียการทรงตัว เพราะจะกลัวในสิ่งที่ตนไม่รู้

ถ้าจิตรู้สิ่งใด จิตจะไม่กลัวสิ่งนั้น จิตกลัวความมืด เพราะจิตไม่รู้ว่า ในความมืดมีอะไร จิตกลัวอนาคต เพราะจิตไม่รู้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร จิตกลัวบุคคล เพราะจิตไม่รู้ว่าบุคคลนั้นเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไร นั่นเพราะไม่รู้จึงกลัว แต่ถ้าเรารู้เราจะไม่กลัว ความรู้นี้คือตัวอุเบกขา พอรู้แล้วไม่กลัว จึงเฉย จึงสงบ จึงมั่นคง

ดังนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา ที่ดีต้องมีอุเบกขากำกับ และอุเบกขาที่บริบูรณ์ต้องมีเมตตา กรุณา มุทิตาประกอบการเจริญพรหมธรรมนั้นต้องเจริญให้ครบถึงอุเบกขาเสมอ แม้แค่แผ่เมตตาก็เป็นสุขแล้ว แต่ก็ไม่ควรหยุดอยู่เพียงนั้น เพราะเมตตาจะทำให้ติดดี หลงดี คือเห็นอะไรดีไปหมดจนประมาท แต่เมื่อ เจริญกรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่อุเบกขาเห็นความเป็นจริงของธรรมชาติว่ามีทั้งดี ทั้งชั่วทั้งเป็นกลางอยู่ จึงแจ่มแจ้งสัจจะ

กระนั้นอุเบกขาจะสมบูรณ์ได้ต้องเจริญมาทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา มาตลอดจนถึงอุเบกขา

การเติมความสุขด้วยสัมพันธภาพอันประณีตกับธรรมชาติ คือการดื่มด่ำล้ำลึกในธรรมชาติอันประณีต สงบ ว่าง อันเป็นบ่อเกิดแห่งสรรพสิ่ง และแผ่จิตโอบอุ้มสรรพสิ่งทั่วทั้งจักรวาล

การกระทำเช่นนี้ จะทำให้จิตใจของเราขยายขอบเขตไปอย่างไร้ความจำกัด ดวงใจที่เป็นสุขอยู่แล้ว ก็จะสุขมหาศาล อย่างประมาณมิได้

เพื่อให้ได้รับรสชาตินั้น ลองทำกันดูเลยตามขั้นตอนนี้

๑. ตัดการรับรู้จากสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

๒. กำหนดรู้ที่จิตให้แน่วแน่เป็นหนึ่งบริบูรณ์

๓. เมื่อจิตรวมเป็นหนึ่งดีแล้ว ก็แผ่จิตครอบคลุมธรรมชาติแห่งความมีอยู่ทั้งหมด

๔. น้อมใจรำลึกว่า เราคือธรรมชาติ ธรรมชาติคือเรา สิ่งทั้งปวงเป็นหนึ่งเดียว

เมื่อเราเติมใจด้วยความสุขจากเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และขยายใจแห่งความสุขสัมผัสสัมพันธภาพกับธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาลแล้ว จะเริ่มเห็นได้ชัดว่าการอยู่คนเดียวนี้มีค่า ทำให้เราเป็นอิสระเพียงพอที่จะได้ฝึกฝนและลิ้มรสความสุขอันยิ่งใหญ่นี้ได้

เมื่อได้รับความสุขแล้ว ก็ฝึกมาก ๆ บ่อย ๆ เนือง ๆ เสมอ ๆ ทุกขณะที่นึกได้ ฝึกเป็นประจำจนเป็นนิสัย จะบังเกิดผลดีอันเป็นอัศจรรย์ตามมามากมาย

ช่วงนี้จะเต็มไปด้วยความสุขอันไม่มีประมาณ รู้สึกกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ จิตใจกว้างขวาง ยิ่งใหญ่ เข้าใจธรรมชาติ และมนุษย์ชาติอย่างลึกซึ้ง ร่างกายจะโปร่งเบา หน้าตาอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใส กริยาท่าทางจะนุ่มนวล การพูดการจามีจังหวะจะโคน มีโทนเสียงอันเหมาะสม ชวนประทับใจ ระยะนี้จะมีเสน่ห์อย่างเอกอุ น่าเคารพ น่ารัก น่านับถือ น่าศรัทธา น่าเลื่อมใสยิ่งนัก จนต้องระวัง

ธรรมชาติมีปกติธรรมดาประการหนึ่งว่า ยามที่มนุษย์อยากได้อะไรมาก ๆ มักไม่ได้สิ่งนั้น ครั้นละวางสิ่งเหล่านั้น ว่างจากความอยาก และพัฒนาใจอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นแล้ว จะได้สิ่งนั้นโดยง่าย เหมือนที่โบราณกล่าวไว้ว่า

-----------คนอยากมักไม่ได้ เมื่อหมดอยากแล้วจึงได้----------------

ในทำนองเดียวกัน สมัยที่อยากมีคู่มักหาคู่ไม่ค่อยเจอ พอไม่อยากได้คู่แล้ว พัฒนาใจจนมีความสุขยิ่งใหญ่ คู่ทั้งหลายทุกประเภท จะประดังกันเข้ามาล้อมรอบ ซึ่งมีทั้งมาดี และมาไม่ดี

มาดี คือมาตามอำนาจบุญ เมื่อเราพัฒนาใจอย่างนี้ ย่อมเกิดบุญบารมีเพิ่มขึ้น อำนาจบุญย่อมเหนี่ยวนำให้ผู้ที่เคยทำบุญกับเราเข้ามาหา มารู้จัก

มาไม่ดี คือ เมื่อเรามีบุญใหญ่แล้ว เจ้าหนี้กรรมชั่วทั้งหลายก็จะเข้ามาทวง เพราะตอนนี้มีบุญพอที่จะใช้หนี้ได้แล้ว เจ้าหนี้จะรุมกันทวงวิบากกรรมชั่วคืน

มาร้ายอีกประการหนึ่ง คือ พวกกามเทพ ได้แก่เทพที่มีมิจฉาทิฐิเห็นว่า กามเป็นของดี มักชักชวนยั่วยวนผู้คนทั้งหลายให้เสพกามกัน พอใครจะละกามก็จะดลใจเพศตรงข้ามมาชวน มายวนยั่วให้เลิกล้มความตั้งใจที่จะละกามเสีย และชวนกลับไป เสพกามใหม่ดังเดิม


ใครต้องการฝึกจิตให้ยิ่งใหญ่จริง ก็เตรียมพร้อมได้เลยว่าจะเจอสิ่งเหล่านี้แน่

คราวนี้จะต้องตัดสินใจแล้วว่า จะเดินหน้าหรือจะถอยหลัง

ถ้าจะถอยกลับ ก็ต้องไปเรียนรู้ทุกข์อีกครั้ง แล้วเริ่มพัฒนาตนขึ้นมาใหม่

แต่ถ้าจะเดินหน้า ก็ปฏิบัติตามดังต่อไปนี้

ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ได้ก่อนว่า ใครคือคู่แท้ ใครคือคู่เทียม และในบรรดาคู่แท้นั้น ใครเป็นคู่ประเภทไหน คู่กัด คู่กาม คู่กรรม คู่ธรรม หรือคู่บารมี

ถ้าเป็นคู่เทียม หรือบุคคลที่เป็นมาร กามเทพส่งมาก็ส่งกลับไปได้เลย ด้วยการวางเฉย หรือปฏิเสธไปอย่างเหมาะสม

ถ้าเป็นคู่แท้ แต่ละประเภทก็ต้องตั้งตนที่ความสำรวม แล้ววินิจฉัยด้วยโยนิโสมนสิการที่จะจัดสรรเขาไว้ตามฐานะอันสมควร แล้วตั้งมั่นที่จะพัฒนาจิตใจต่อไป

ในระยะนี้หากหยุดอยู่กับที่ จะถูกอำนาจความผูกพันกระชากลากพาใจให้กำเริบเตลิดไปในคู่ได้ ต้องก้มหน้าก้มตาก้าวไปในพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง บางคนอาจจะอยากถามว่า ถ้าเป็นคู่กันแล้ว สำเร็จไปพร้อมกันไม่ได้หรือ

ตอบว่า อาจได้อยู่ แต่ทั้งคู่ต้องฝึกจิต ปฏิบัติธรรมด้วยกัน และที่สำคัญต้องแยกกันปฏิบัติ เพราะหากปฏิบัติอยู่ใกล้กันเกินไป ใจจะพะวงห่วงใย ทำให้ไม่ได้เอกภาพเต็มที่ จึงไม่อาจบรรลุความบริสุทธิ์สูงสุดได้ ด้วยเหตุนี้ แม้พระมหาโพธิสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ก็ต้องแยกกันปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่ใกล้สำเร็จสภาวะสูงสุด

ด้วยเหตุนี้เจ้าชายสิทธัตถะจึงออกมหาภิเนษกรม โดยทิ้งพระชายาไว้ในพระราชวังก่อน จนกระทั่งสำเร็จพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงเสด็จกลับมาโปรดให้พระชายาสำเร็จด้วย

หรือพระมหากัสสปะกับคู่ของท่าน แต่งงานกันแล้วตามประเพณี แต่เป็นผู้มีคุณธรรมสูงทั้งคู่ จึงมิได้เสพกามกันเลย ครั้นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก จึงชวนกันออกบวชโดยแยกกันไปปฏิบัติ พระมหากัสสปะไปปฏิบัติในสำนักพระพุทธเจ้า ส่วนคู่ท่านไปปฏิบัติในสำนักภิกษุณี จนกระทั่งสำเร็จอรหันต์ทั้งคู่จึงมาพบกันอีก

ดังนั้น ในช่วงสำคัญก่อนสำเร็จต้องแยกกันปฏิบัติ จิตใจจึงจะเป็นเอกภาพสมบูรณ์ พร้อมที่จะบรรลุสภาวะสูงสุด

สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการความสุขสูงสุดก็เช่นกัน อย่างไรเสียจะมีคู่หรือไม่มี ก็ต้องยินดีที่จะเรียนรู้และดูดซับคุณค่าของการอยู่คนเดียว จึงจะได้ประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริง

นี่คือการเติมใจด้วยความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า

เมื่อเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และแผ่จิตผสานสัมพันธ์กับธรรมชาติจนยิ่งใหญ่แล้ว ให้รักษาความสุขที่เกิดขึ้นในระดับนี้ให้ได้ และทำให้ยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง นี่คือระหว่างการเดินเข้าสู่ความบริสุทธิ์

ที่สุดของความรักนั้นคือเมตตา แต่เมตตานั้นคือจุดเริ่มต้นบนหนทางแห่งการพัฒนาจิตใจสู่ความบริสุทธิ์เท่านั้น ยังมีหนทางให้เดินอีกมาก

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนศีลธรรมเบื้องต้นว่า

๑. อย่าฆ่าสัตว์หรือทำร้ายชีวิตอื่นให้มีเมตตาต่อกัน

๒. อย่าลักทรัพย์ ให้มีกรุณาเกื้อกูลกัน

๓. อย่าผิดผัว ผิดเมีย หรือลูกใคร ให้มีมุทิตาต่อกัน

๔. อย่าพูดปด พูดเพ้อเจ้อ พูดหยาบคาย หรือพูดส่อเสียด ให้มีอุเบกขากัน

๕. อย่าดื่มสุราหรือของมึนเมาต่าง ๆ ให้ดำรงอยู่ด้วยสติสัมปชัญญะอันสมบูรณ์

ดังนั้น เมตตานั้นคือธรรมะเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เมื่อเจริญเมตตาเต็มที่แล้ก็จะได้เมตตาเจโตวิมุติ คือสามารถเพิกขอบเขตของจิตได้ และมีความสุขยิ่งใหญ่มาก แต่ความสุขนี้ยังไม่ถาวร และถ้าติดอยู่ในเมตตา ปัญญาจะไม่สมบูรณ์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า


'ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมตตาเจโตวิมุติอันบุคคลเจริญแล้วได้อย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเมตตาเจโตวิมุตติว่า มีสุภวิโมกข์ (เห็นอะไรดีงาม สวยงามไปหมด) เป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยิ่งยวดในธรรมวินัย ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์'


ดังนั้น จึงควรพักเมตตาด้วยกรุณา กรองด้วยมุทิตา กลั่นด้วยอุเบกขา แล้วแผ่จิตผสานสัมพันธ์กับธรรมชาติ จึงจะเข้าใจธรรมชาติและมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง ครอบคลุม แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ที่สุดแห่งอมตภาพ ยังต้องชำระจิตให้บริสุทธิ์จึงจะมั่นคงนิรันดร

การชำระจิตให้หมดจดมั่นคง

ความบริสุทธิ์นั้นคือ ที่สุดแห่งวิวัฒนาการของทุกสิ่ง จิตใจของทุกคนเมื่อพัฒนาถึงที่สุดก็ย่อมเข้าสู่ความบริสุทธิ์

สิ่งใดก็ตามเมื่อเข้าถึงความบริสุทธิ์แล้วย่อมสิ้นสุดพัฒนาการเพราะไม่มีอะไรให้พัฒนาต่อไปอีกแล้ว จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อีก เมื่อไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะอมตะนิรันดร ความสุขอันบริสุทธิ์จึงเป็นความสุขสถาพร อันประมาณมิได้

และนี่คือความต้องการสูงสุดของทุกชีวิต

บุคคลสามารถชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ได้ด้วยกุศโลบายรวบยอดทั้งสองขั้นตอนคือ

๑) อยู่เหนือความรัก

๒) ชำระจิตจากการยึดถือในสิ่งทั้งปวง

การอยู่เหนือความรัก ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ที่สุดของความรักนั้นคือ เมตตา แต่เมตตาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นบนหนทางแห่งความบริสุทธิ์เท่านั้น ดังนั้น แม้เมตตาจะให้ความสุขยิ่งใหญ่เพียงใดก็ต้องปล่อยวาง พัฒนาจิตใจต่อไปโดยลำดับ เพื่อเข้าสู่อุเบกขา

เมื่อเรามีเมตตาอยู่นั้น หากติดสุขในเมตตา ไม่ยอมพัฒนาต่อก็จะติดสุข ติดดี เหมือนเรายึดโปรตอน (ประจุบวก) อยู่เป็นภาวะของตน และโดยธรรมชาตินั้น เมื่อมีโปรตอนอยู่ที่ใด อิเลคตรอนอันเป็นประจุลบจะมาจับเกาะทันที

ดังนั้นถ้าติดดีจะมีความชั่วมาเกาะอาศัย เมตตานั้นแม้ปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่จะยังไม่ปลอดภัยที่สุด เพราะยังเป็นที่อาศัยของความชั่วได้ ดังนั้นต้องพัฒนาเข้าสู่อุเบกขาให้ได้

เมื่อพัฒนาอุเบกขาแล้ว เหมือนจิตใจที่เป็นนิวตรอน ว่างไม่มีประจุโดยตัวเอง

แต่โดยธรรมชาตินั้นโปรตอนจะมาอยู่กับนิวตรอน โดยมีอิเลคตรอนอยู่ด้านนอก ดังนั้นในความว่างและเป็นกลางนั้นจะมีความดีสถิตย์อยู่ โดยมีความชั่ววนเวียนอยู่ภายนอกไม่อาจเข้ามาได้

เมื่อทรงอุเบกขาได้แล้ว จากนั้นพัฒนาอุเบกขาจนถึงที่สุดก็จะได้ความว่างอันไร้ขอบเขตสากล ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่า

'ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาเจโตวิมุติ อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร มีอะไรเป็นคติ มีอะไรเป็นอย่างยิ่ง มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นที่สุด

'ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อุเบกขาเจโตวิมุติ ว่า มีความว่างอันไร้ขอบเขต (อากิญจัญญายตนะ) เป็นอย่างยิ่ง เพราะภิกษุนั้นยังไม่แทงตลอดวิมุติอันยิ่งยวดในธรรมวินัยนี้ ปัญญาของเธอจึงยังเป็นโลกีย์”


แต่การจะเข้าอุเบกขาให้สมบูรณ์ได้นั้น ต้องละความรัก ความชัง ความดีใจ ความเสียใจ ให้ได้โดยสิ้นเสียก่อน จิตจึงเห็น เข้าถึงและบรรลุความไร้ ใจจึงจะเป็นกลางวางเฉยอยู่

เมื่อเฉยแล้ว ให้สำรอกความเฉยนั้นอีกโดยลำดับ เพื่อชำระอุเบกขาให้บริสุทธิ์ถึงที่สุด ใจจะค่อย ๆ ไร้ขอบเขตมากยิ่งขึ้น จนถึงที่สุดแห่งอุเบกขาจะบรรลุความว่างสากล

ในความว่างสากลนี้นั้น ไร้ซึ่งความรัก ความชัง ความดีใจ ความเสียใจ โดยประการทั้งปวง มีแต่ความว่างและสติบริสุทธิ์บริบูรณ์ปรากฏอยู่

แต่กระนั้นภาวะนี้ก็ยังไม่ใช่ที่สุดแห่งความบริสุทธิ์ เป็นเพียงท่ามกลางหนทางสู่ความบริสุทธิ์เท่านั้น ดังนั้น จึงต้องชำระจิตใจต่อไปเพื่อความสุขอันบริสุทธิ์

ชำระจิตจากการยึดถือทั้งปวง พระผู้มีพระภาคตรัสสอนธรรมอันประณีตในระดับนี้ว่า เมื่อเข้าความว่างอันไร้ขอบเขตสากลแล้วนั้น นั่นเข้าใกล้ความบริสุทธิ์แล้ว เพียงพิจารณาด้วยปัญญาให้แทงตลอดว่า แม้ความว่างก็ไม่เป็นตน ตนไม่มีในความว่าง ปล่อยวาง แม้ความว่างอันไร้ขอบเขตนั้นเสียได้ จิตจึงหลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง บรรลุความเบิกบานร่าเริงอันไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งคือที่สุดแห่งความบริสุทธิ์ ดังพระพุทธวจนะที่ว่า

'ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรคือเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งอรหันตมรรค

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ความหมดจนแห่งปฏิปทา (มีศีลธรรมดังกล่าวแล้ว) เป็นเบื้องต้น

การกระทำให้มากในอุเบกขาเป็นท่ามกลาง

ความร่าเริงเป็นที่สุดแห่งอรหันตมรรค'


เมื่อเราพัฒนาจิตใจถึงเพียงนี้ก็จะมีความสุขอันบริสุทธิ์เบิกบานไร้ขอบเขตอยู่

เมื่อนั้นจะมีความรักหรือไม่มีความรัก จะมีคู่หรือไม่มีคู่ก็ไร้ความหมายเสียแล้ว

วิธีนี้เป็นวิธีที่เฉียบขาดที่สุดที่จะอยู่คนเดียวได้อย่างเป็นสุข และเป็นสุขยิ่งกว่าใครในโลก

หากแม้ยังไม่ถึงที่สุด ทุกขั้นที่พัฒนาตนมาก็ย่อมได้ความสงบสุขอันประณีตยิ่งขึ้นตามระดับความบริสุทธิ์ที่ตนบรรลุถึง

ความสุขนั้นจะอยู่กับความสงบเป็นสำคัญ ยิ่งสงบมากก็ยิ่งเป็นสุขมาก เพราะความสุขมีธรรมชาติเหมือนผีเสื้อ เมื่อเราไล่จับมันจะบินหนี แต่หากเราอยู่อย่างสงบเฉย มันจะบินมาเกาะเราอย่างนุ่มนวล

และความสงบนั้น จะขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ยิ่งบริสุทธิ์มากก็ยิ่งสงบมาก

ส่วนความบริสุทธิ์นั้นจะขึ้นอยู่กับการฝึกจิตชำระใจ ปล่อยวางการยึดถือในสิ่งทั้งปวง แม้ความรัก ความชัง ทั้งรูปธาตุ นามธรรม เมื่อปล่อยได้หมดจริงก็ย่อมเข้าถึงความบริสุทธิ์นิรันดร์ได้

และนั่นคือที่สุดแห่งชีวิต

-------------------------------------

คัดลอกจาก: จิตวิทยาแห่งความรักการเลือกคู่ และการอยู่คนเดียว

ไชย ณ พล, Ph.D.




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2551 20:15:32 น.   
Counter : 194 Pageviews.  

อะไรเกิดขึ้นตอนชีวิตสิ้นลง?

อะไรเกิดขึ้นตอนชีวิตสิ้นลง?

โดย ท่านอาจารย์ เอส เอน โกเอนก้า

(ต้นฉบับของบทความต่อไปนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร Sayagyi U Ba Khin)

เพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าอะไรเกิดขึ้นเมื่อตอนสิ้นชีวิต เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าความตายคืออะไร ความตายเปรียบเสมือนกับทางโค้งของแม่น้ำที่มีการกระแสการไหลของการเกิดอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่าความตายคือจุดหมายปลายทางของกระบวนการเกิดและแน่นอนนี่มันอาจจะเป็นในกรณีของพระอรหันต์ (ผู้ที่ซึ่งละกิเลสได้ทั้งปวง) หรือ พระพุทธเจ้า แต่สำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว กระแสการไหลของการเกิดนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้กระทั้งหลังจากสิ้นใจแล้วก็ตาม ความตายคือจุดจบของเหตุการณ์ของหนึ่งชีวิตและในเวลาชั่วขณะเดี๋ยวนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นละครของอีกชีวิตหนึ่ง ในด้านหนึ่งก็ความตายคือชั่วขณะจุดจบของชีวิตหนึ่งและในอีกด้านก็คือชั่วขณะของจุดเริ่มต้นของอีกชีวิตหนึ่ง ความตายเป็นเหมือนราวกับว่าพระอาทิตย์ขึ้นในทันทีที่พระอาทิตย์ตกโดยไม่มีช่องว่างของความมืดมิดในระหว่างนั้น หรือว่าชั่วขณะของความตายเปรียบเสมือนจุดจบของหนึ่งบทหนังสือและในบทต่อไปก็คือชั่วขณะของจุดเริ่มต้นของบทถัดไป


ถึงแม้ว่าไม่มีการการเปรียบเทียบที่สามารถแสดงให้เห็นถึงกระบวนการนี้อย่างแท้จริง เรายังอาจจะบอกได้ว่ากระแสของการเกิดขึ้นก็คล้าย ๆ กับรถไฟที่วิ่งอยู่บนราง มันวิ่งถึงสถานีของความตายและที่นั่นก็มีการลดความเร็วลงทีละน้อยในชั่วขณะนั้น และก็วิ่งต่อไปด้วยความเร็วเท่าเดิมโดยที่รถไฟไม่ได้หยุดที่สถานีแม้กระทั่งวินาทีเดียว สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สถานีของความตายไม่ใช่จุดหมายปลายทางแต่มันเป็นชุมทางที่ซึ่งวิ่งต่อไปในทางต่าง ๆ กันอีกถึง ๓๑ เส้นทาง ทันทีที่รถไฟมาถึงสถานี มันก็จะเคลื่อนต่อไปตามเส้นทางเหล่านี้และก็ดำเนินต่อไป ความเร็วของ “ขบวนรถไฟของการเกิดนี้” มีเชื้อเพลิงคือ กรรม หรือการกระทำในอดีต มันวิ่งไปเรื่อย ๆ จากสถานีหนึ่งไปอีกสถานีหนึ่ง จากรางหนึ่งไปอีกรางหนึ่ง และดำเนินตามเส้นทางต่อไปโดยไม่มีการหยุดเลย

การเปลี่ยนแปลงเส้นทางหรือรางรถไฟนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เสมือนกับว่าน้ำแข็งที่ละลายไปเป็นน้ำและความเย็นของน้ำเกิดขึ้นเป็นไปตามกฏของธรรมชาติ ตามกฏของธรรมชาติเหล่านี้รถไฟไม่เพียงแต่เปลี่ยนเส้นทางเองเท่านั้น มันยังคงวางพื้นแนวทางของรางต่อไปด้วยตัวของมันเอง สำหรับขบวนการเกิดนี้ชุมทางสถานีของความตายที่ซึ่งมีการเปลี่ยนเส้นทางเกิดขึ้นมีความสำคัญมาก ที่นี่ชีวิตในปัจจุบันถูกละทิ้งไป (เรียกว่า cuti จุติ การสูญหาย หรือความตาย) ความตายของร่างกายเกิดขึ้นและทันทีทันใดนั้นชีวิตต่อไปก็เริ่มต้นขึ้น (ขบวนการที่เรียกว่า patisandhi ปฏิสนธิ ตั้งครรภ์ หรือ การเกิดขึ้นของชีวิตใหม่ ) ชั่วขณะของการปฏิสนธินั้นคือผลพวงของชั่วขณะของความตาย หรือชั่วขณะของความตายทำให้เกิดชั่วขณะของการปฏิสนธิ เพราะว่าทุก ๆ ชั่วขณะของความตายทำให้เกิดชั่วขณะของการเกิดขึ้น ความตายไม่เพียงแต่คือความตาย แต่มันคือความเกิดในเวลาเดียวกัน ที่สถานีนี้ ชีวิตเปลี่ยนไปเป็นความตายและความตายเปลี่ยนไปเป็นการกำเนิด

เพราะฉะนั้นทุก ๆ ชีวิตก็คือการเตรียมตัวสำหรับชีวิตต่อๆ ไป ถ้าบางคนฉลาด เขาหรือเธอจะใช้ชีวิตนี้อย่างดีที่สุดและเตรียมตัวสำหรับความตายที่ดี ความตายที่ดีที่สุดก็คือความตายครั้งสุดท้ายที่ไม่ใช่เหมือนเป็นชุมทางสถานีแต่เป็นจุดหมายปลายทางหรือความตายของพระอรหันต์ ที่นี่มันจะไม่มีรางที่รถไฟสามารถวิ่งต่อไปได้ แต่จนกว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทางเช่นนี้ อย่างน้อยที่สุดเราสามารถทำให้แน่ใจว่าความตายต่อไปนี้จะทำให้เป็นการกำเนิดใหม่ที่ดีและสถานทีปลายทางนั้นจะถึงภายในเวลาเร็วขึ้น ทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับเราทั้งนั้น ขึ้นกับความพยายามของเรา เราคือผู้กำหนดอนาคตของเราเอง เราสร้างความราบรื่น ความหายนะ และความหลุดพ้นของเราเอง

แล้วทำอย่างไรล่ะที่เราซึ่งเป็นผู้สร้างรางรถไฟที่รองรับการเคลื่อนตัวของขบวนรถของการกำเนิด เพื่อที่จะตอบปัญหานี้ เราจะต้องเข้าใจว่าอะไรคือ กรรม (การกระทำ)

เจตนาที่ดีหรือไม่ดีของจิตใจของเราคือ กรรม ก่อนที่เราจะกระทำการใด ๆ ทางใจ ทางคำพูด หรือทางกาย เจตนาอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ที่เกิดขึ้นในจิตใจก็คือรากโคนของการกระทำ สติเกิดขึ้นเนื่องจากผัสสะที่ประตูประสาทสัมผัส(อายตนะ) แล้วสัญญา (ความจำได้หมายรู้) ประมวลผลประสบการณ์นั้น ความรู้สึก(เวทนา)จึงเกิดขึ้น และการกระทำ (สังขารการปรุงแต่ง) ก็ดำเนินไป การกระทำที่เกิดจากเจตนาเหล่านี้มีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับเจตนาที่แข็งแกร่ง ขึ้นกับความช้า ความลึก ความตื้น ความหนัก หรือเบา ฉะนั้นความรุนแรงของการกระทำนี้จะไม่เหมือนกัน การกระทำบางอย่างก็อาจเหมือนกับการขีดเส้นบนน้ำ บางอย่างก็เหมือนกับเส้นที่วาดบนทราย และบางอันก็เหมือนกับเส้นที่วาดลงบนหิน ถ้าเป็นเจตนาที่ดีมี ผลของมันก็จะมีประโยชน์ และถ้าเจตนาของมันไม่ดีการกระทำนั้นก็จะส่งผลที่มีแต่ความหายนะ

กรรมทั้งหมดไม่ได้ส่งผลสู่การกำเนิดใหม่ กรรมซึ่งตื้นบางก็จะไม่ส่งผลมากมายนัก ส่วนที่หนักหน่อยก็จะถูกใช้ไปในชีวิตปัจจุบัน มันจะไม่ส่งผลต่อไปสู่ชีวิตถัดไป ส่วนการกระทำหรือกรรมที่หนักขึ้นอาจส่งผลต่อเนื่องไปถึงชีวิตภายหน้าแต่มันไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดการกำเนิดใหม่ อย่างไรก็ตามมันสามารถเพิ่มพูนสะสมอย่างต่อเนื่องในระหว่างชีวิตปัจจุบันและชีวิตต่อไป กรรมหลาย ๆ อย่างที่เป็นกรรมหนัก (bhava-kammas) หรือ สังขารหนัก (bhava-sankharas) ที่ทำให้เกิดภพชาติ กรรมเหล่านี้ (การกระทำที่ส่งผลทำให้เกิดกระบวนการเกิดภพชาติ) มีพลังงานแม่เหล็กไฟ้ฟ้าซึ่งปรับเข้ากับกระแสสั่นสะเทือนของแนวระดับ (bhava-loka) ของชีวิตใหม่ กระแสสั่นสะเทือนของกรรมนั้นๆ จะเชื่อมต่อกับกระแสสั่นสะเทือนของโลกที่มีความรุนแรงเท่ากันและทั้งสองจะดึงดูดซึ่งกันและกันตามกฏสากล ตามแรงของกรรม

ทันทีที่หนึ่งในหลาย ๆ ภาวะกรรม (bhava-kammas) ถูกสร้างขึ้น ขบวนรถไฟของการเกิดจะถูกดึงดูดเข้าไปไม่รางใดก็รางหนึ่งใน ๓๑ ราง ณ สถานีของความตาย จริง ๆ แล้วเส้นทางหมดนี้คือ ๓๑ อณาเขตของการมีชีวิตอยู่ ทั้งหลายนั้นมี ๑๑ อณาเขตของความมักมากในกาม (kama lokas) คือ ๔ ขอบเขตของสิ่งมีชีวิตที่ต่ำและ ๗ ขอบเขตของมนุษย์และของสวรรค์ อีก ๑๖ อณาเขตสำหรับ รูปพรหม (rupa-brahma lokas ที่ซึ่งมีวัตถุละเอียดคงอยู่) และอีก ๔ อณาเขตสำหรับ อรูปพรหม ( arupa-brahma lokas อณาเขตที่ไม่มีสิ่งหรือวัตถุ คงมีแต่จิตอยู่)

ในชั่วขณะสุดท้ายของชีวิตนี้ สังขาร (bhava-sankhara ) จำเพาะหนึ่งจะผุดขึ้นมา สังขารนี้ซึ่งสามารถทำให้เกิดการกำเนิดใหม่จะเชื่อมต่อกับความสั่นสะเทือนของพื้นที่ของอณาเขตที่มีอยู่ ที่เกี่ยวข้อง ณ ขณะสิ้นชีวิตพื้นที่ทั้ง ๓๑ อณาเขตจะเปิดขึ้นมาและมันขึ้นอยู่กับว่าสังขารแบบไหนจะผุดขึ้นมาเป็นรางของขบวนการเกิดให้วิ่งต่อไป ในทางเดียวกันที่รางรถไฟสับเปลี่ยนไปสู่รางใหม่ แรงของกรรมหนัก (bhava-kamma) ก็จะเพิ่มแรงผลักดันให้เกิดการไหลของสติต่อไปในสิ่งมีชีวิตใหม่ ตัวอย่างเช่น กรรมหนักของความโกรธหรือความมุ่งพยาบาทร้าย ซึ่งมีคุณลักษณะของความร้อนและปั่นป่วน ก็จะเชื่อมต่อกับการมีชีวิตใหม่ที่ต่ำกว่า ในทำนองเดียวกันถ้าเรามีเมตตาเป็นธรรมชาติ มีความสงบสุขและความเย็น ความสั่นสะเทือนก็จะเชื่อมต่อกับภพของพรหมเท่านั้น (brahma-loka) นี่คือกฏของธรรมชาติ และกฏเหล่านี้ได้ถูกคำนวณไว้อย่างสมบูรณ์ไม่มีที่ติซึ่งไม่มีวันที่จะล่มเสียได้เลย

ในชั่วขณะที่จะตาย สังขารหนักบางอย่างก็จะค่อย ๆ ผุดขึ้นมา มันอาจจะเป็นสังขารที่ดีหรือไม่ดี ตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้เคยฆ่าพ่อหรือแม่ของบางคนหรือบางทีนักบวชบางคนในชีวิตปัจจุบันนี้ แล้วความจำของตอนฆ่านี้จะผุดขึ้นมาในชั่วขณะที่ตาย ทำนองเดียวกันถ้าเราได้ปฏิบัติกรรมฐานถึงระดับลึก สภาวะของจิตใจที่ได้จากการปฏิบัติก็จะผุดขึ้นมา
เมื่อมันไม่มีกรรมหนักที่หนาแน่นนั้นผุดขึ้นมา ก็จะมีกรรมที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าผุดมาแทน ความจำได้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจะก่อตัวเป็นกรรม ตัวอย่างเช่น เราอาจจะจำการกระทำที่ดีคือการบริจาคอาหารให้กับนักบวช หรือเราอาจจะจำเหตุการณ์ที่ไปฆ่าคนอื่น ผลกระทบของการกระทำเหล่านั้นอาจจะผุดขึ้นมา ไม่เช่นนั้นแล้ววัตถุที่เกี่ยวข้องกับกรรมบางอย่างก็อาจจะเกิดขึ้นมา เราอาจจะเห็นอาหารจานใหญ่ที่ซึ่งถูกให้เป็นทาน หรือปืนซึ่งเราใช้ฆ่าคนอื่น และนี่เรียกว่า สัญลักษ์ หรือนิมิตกรรม (kamma-nimittas)

ในอีกกรณีหนึ่งซึ่งสัญลักษ์ของชีวิตถัดไปอาจจะผุดขึ้นมา หรือที่เรียกว่าสัญลักษ์การจากไปหรือ กาตินิมิต (gati-nimitta) ถ้านิมิตรเหล่านี้ไปตรงกับแนวระดับของชีวิตใหม่ (bhava-loka) อะไรก็ตามที่กระบวนการไหลถูกดึงดูดไปหา เช่น ฉากของสรวงสวรรค์ หรือบางทีอาจจะเป็นโลกของสัตว์ ผู้ที่จะสิ้นใจนี้มักจะคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้เป็นลางบอกเหตุบ่อย ๆ คล้าย ๆ กับไฟหน้ารถไฟข้างหน้า ความสั่นสะเทือนของนิมิตรเหล่านี้ก็จะตรงกับความสั่นสะเทือนของสิ่งมีชีวิตใหม่

นักปฏิบัติวิปัสสนาที่ดีจะมีความสามารถที่จะละเว้นเส้นทางที่ซึ่งนำไปสู่ภพกำเนิดที่ต่ำกว่า เขาจะเข้าใจกฏของธรรมชาติอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติเพื่อที่จะรักษาให้ตัวเขาเองมีความพร้อมกับความตายตลอดเวลา ถ้าเขามีอายุมากหรือชราภาพก็จะมีเหตุผลมากมายที่เขาจะต้องมีสติอยู่ตลอดชั่วขณะนั้น อะไรล่ะที่เราเตรียมการณ์กันอยู่ เราปฏิบัติวิปัสสนา คงความมีอุเบกขาต่อความรู้สึกเวทนาใด ๆ ก็ตามที่จะผุดขึ้นมาในร่างกาย และเราก็หยุดพฤติการณ์ที่จะตอบโต้ต่อเวทนาที่ไม่ดี ดังนั้นจิตใจที่มักจะสร้างสังขารที่ไม่ดีใหม่ ๆ อยู่เสมอ จะถูกพัฒนาให้คงอยู่กับอุเบกขา มีอยู่บ่อย ๆ ที่เมื่อขณะตอนสิ้นชีวิตถ้าไม่มีสังขารหนักมาก ๆ ผุดขึ้นมา การตอบโต้ตามสันดานก็จะเกิดขึ้น และเมื่อสังขารใหม่เกิดขึ้นมาและอันเก่าจากที่เก็บไว้ผุดขึ้นมาบนพื้นผิวจิต มันก็จะได้รับความแข็งแกร่งขึ้น

ณ ชั่วขณะของความตาย เรามักจะต้องประสบกับเวทนาที่ไม่ดีมาก ๆ ความแก่ ความเป็นโรค และความตายคือ ความทุกข์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเวทนาที่ไม่ดีแบบหยาบ ๆ ถ้าเราไม่มีความชำนาญเพื่อที่จะสังเกตุดูเวทนาเหล่านี้ด้วยอุเบกขา เมื่อนั้นเรามักจะตอบโต้มันด้วยความรู้สึกโกรธ ปั่นป่วน รุนแรงหรืออาจจะพยาบาท ที่จะทำให้สังขารหนักมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างความสั่นสะเทือนผุดขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับนักปฏิบัติกรรมฐาน เราสามารถฝึกเพื่อหลีกเลี่ยงการตอบโต้กับความรู้สึกเจ็บปวดมาก ๆ นี้โดยการวางอุเบกขาในชั่วขณะที่ตายนั้น แล้วแม้ว่าพวกสังขารหนัก (bhava-sankharas ) ซึ่งอยู่ลึกมาก ๆ ในส่วนของกรรมที่ทำให้มีการเกิดใหม่ (bhavanga) ก็จะไม่ผุดขึ้นมาได้ โดยมากคนทั่วไปจะมีความกลัว แม้กระทั่งความสยดสยองเมื่อเข้ามาถึงความตาย ดังนั้นก็อาจจะทำให้สังขารแบบความกลัวเกิดขึ้นมาถึงพื้นผิวได้ ในทำนองเดียวกัน ความเศร้าโศก ความทุกข์ ความห่อเหี่ยวใจ หรือความรู้สึกอื่น ๆ อาจจะผุดขึ้นมาในความคิดเมื่อต้องจากผู้ที่เรารัก และเมื่อนั้นสังขารที่เกี่ยวข้องก็จะผุดขึ้นมาและมีอำนาจครอบงำจิตใจ

นักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยการสังเกตุดูเวทนาที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยอุเบกขา จะทำให้สังขารนั้น ๆ อ่อนกำลังลงและจะไม่ผุดขึ้นมาในชั่วขณะเวลาที่ตาย การเตรียมตัวจริง ๆ สำหรับการตายนี้คือ การพัฒนาพฤติกรรมอย่างซ้ำแล้วซ้ำอีกที่จะสังเกตุดูเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกายและจิตใจด้วยอุเบกขาและด้วยความเข้าใจในความเป็นอนิจจัง

ณ ขณะเวลาสิ้นชีวิต ด้วยความมีอุเบกขาที่แข็งแกร่งจะทำให้ขบวนของการกำเนิดใหม่เชื่อมต่อกับเส้นทางที่จะมีโอกาสที่จะไปปฏิบัติวิปัสสนาในชีวิตใหม่โดยอัตโนมัติ และด้วยวิธีนี้เราจะรักษาตัวเราเองจากการเกิดในภพที่ต่ำกว่าและได้อยู่ในขอบเขตที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะวิปัสสนาไม่สามารถถูกปฏิบัติในภพที่ต่ำกว่าได้

ผู้ปฏิบัติกรรมฐานซึ่งจะถึงจุดถึงแก่กรรม ถ้าโชคดีมีญาติหรือเพื่อนสนิทอยู่ใกล้ ๆ ที่สามารถช่วยรักษาสภาวะธรรมมะที่ดี ให้ปราศจากความโศกเศร้าเสียใจ คนที่ซึ่งสามารถปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานและสร้างกระแสสั่นสะเทือนของความเมตตา ซึ่งเป็นสภาวะที่เหมาะสมมาก ๆ สำหรับการสิ้นใจอย่างสงบ

ผู้ที่ไม่ปฏิบัติกรรมฐานจะสามารถได้รับการเกิดใหม่ที่ดีเหมาะสมนั้น เกิดขึ้นได้ถ้ามีการเพิ่มพูนสังขารที่ดี เช่น ความใจดีมีเมตตา มีศีลธรรมและความมีคุณภาพจิตใจดีมาก ๆ อื่น ๆ แต่สิ่งที่เป็นความสำเร็จเฉพาะสำหรับนักปฏิบัติวิปัสสนานั้นคือจะสามารถทำให้เรานั้นได้รับการเกิดใหม่ที่ซึ่งเราสามารถปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไปได้ ด้วยวิธีนี้โดยการกำจัดสังขารหนักเก่า ๆ ที่สะสมไว้เรื่อย ๆ ในส่วนลึกของจิตใจของกระแสของสติ เขาสามารถลดระยะทางของการกำเนิดใหม่ได้และถึงเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น

เราได้มาสู่ธัมมะในชีวิตนี้ก็เพราะผลบุญอย่างยิ่งใหญ่ที่เราได้สร้างไว้ในภพก่อน ๆ จงทำให้ความเป็นมนุษย์ในชาตินี้สำเร็จด้วยการปฏิบัติวิปัสสนา แล้วเมื่อไรก็ตามที่ความตายมาถึง มันจะมาพร้อมกันประสบการณ์การวางใจเป็นอุเบกขา เพื่อพาเราไปสู่ชีวิตในอนาคตที่ดี

หมายเหตุ การอุปมาอุปมัยของรถไฟที่วิ่งเปลี่ยนเส้นทางรางรถไฟไม่ควรจะเป็นการเข้าใจผิดว่าเป็น วิญญาณ เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะถูกส่งจากชีวิตหนึ่งไปสู่ชีวิตต่อไป ไม่มีสิ่งใดผ่านสู่ชีวิตถัดไปนอกจากแรงผลักดันของกรรมสังขารที่สะสมมา




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2551 20:05:13 น.   
Counter : 252 Pageviews.  

ตั้งสัจจาธิฐาน

เมลล์ที่ได้จากเพื่อนคนหนึ่ง //www.bloggang.com/emo/emo35.gif
==================
หากใครมีโอกาสได้ฟัง การสวดมนต์ทำวัตรเย็น ของคลื่นสังฆทานธรรม (FM 89.25) ซึ๋งนำสวดโดย พระกฤช นินมโล ช่วงท้าย จะนำ ญาติ โยม ตั้งสัจจาธิฐาน ผมฟังแล้ว ชอบมากและอยากเผยแพร่ เพราะเป็นการตั้งสัจจาธิฐาน ที่ชาญ ฉลาด มาก เลยอัดเทปไว้แล้ว จด ๆ ถ้อยคำมาฝากกันครับ

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก
ข้าพเจ้าขอกราบนอบน้อม บูชาพระคุณของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเปี่ยม
ด้วยพระเมตตา และพระกรุณา อันหาประมาณมิได้ ที่ทรงเสียสละ สั่งสม
พระบารมี เพื่อทรงตรัสรู้และประกาศพระธรรม นำเวไนยสัตว์ ออกจาก
สังสารวัฏ

ข้าพเจ้าขอน้อมจิต และ กาย วาจา บูชา พระบรมพระสารีริกธาตุ
ของพระพุทธองค์ ด้วยความเลื่อมใสยิ่ง

ขอตั้งสัจจาธิฐาน ด้วยอานิสงค์ ผลแห่งบุญ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำในวันนี้
ขอจงเป็นพลวปัจจัย ให้ถึงซึ่งพระนิพพาน
องค์สมเด็จพระสัมมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมอันใด ขอให้ข้าพเจ้า
มีส่วนแห่งธรรมของพระองค์นั้นด้วย
แม้ต้องเกิดอยู่ในภพชาติใดๆ ขอเกิดภายใต้ร่มเงา แห่งพระบวรพุทธ
ศาสนา มีกรรมสัมพันธ์อันดี มีโอกาสได้พบสัตตบุรุษ ผู้รู้ธรรมอันประเสริฐ
ให้เกิดท่ามกลางกัลยาณมิตร และเป็นสัมมาทิฐิทุกชาติไป ให้มีโอกาสได้ศึก
ษาพระธรรม ฟังธรรม และประพฤติธรรม จนเป็นปัจจัยตามส่ง ทั้งชาตินี้ และ
ชาติต่อๆ ไป ให้เจริญด้วยสติ และปัญญาญาณ จนถึงพระนิพพาน ในกาลอันควรเทอญ

การตั้งสัจจาธิฐาน ผมว่า เป็นการตั้งเข็ม ตั้งเป้าหมายเพื่อให้จิต นำทางไป เพราะหากเราไม่พบนิพพาน ในชาตินี้ ชาติต่อๆ ไป ใช่ว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถึงแม้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก้อใช่ว่าจะได้เกิดมาพบพระพุทธศานา ถึงแม้จะเกิดมาพบพระพุทธศานาก้อใช่ว่า จะมีสัมมาทิฐิ




 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2551   
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2551 20:00:14 น.   
Counter : 230 Pageviews.  

1  2  

phanforever
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add phanforever's blog to your web]