บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
 
กันยายน 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
23 กันยายน 2558
 
All Blogs
 
ตอน 1 - กว่าจะเป็นบังคลาเทศ




บังคลาเทศเป็นประเทศที่อยู่ไม่ไกลจากประเทศไทย จากกรุงเทพไปธากา - เมืองหลวง นับระยะทางบิน ประมาณ 955 ไมล์ (1537 กม.)  เวลาบินประมาณ 2 - 2.30 ชม. ถ้าเป็นเชียงใหม่ก็ใกล้เข้าไปอีกค่ะ ประมาณ 648 ไมล์ (1,043 กม.)

เราไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา มาเลย์เซีย สิงคโปร์ หรืออินเดีย ไปภูฏาน เนปาล ทิเบต ไปจีนโน่นกันถ้วนหน้า แต่เรากลับข้ามบังคลาเทศไป.... บังคลาเทศเหมือนอยู่ไกลแสนไกล ไม่มีทัวร์พาไปแน่ ๆ ...ไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจให้อยากไปบังคลาเทศสักครั้งกันบ้างเลยหรือ .... 

เราไม่ค่อยรู้เรื่องราวกับประเทศนี้เท่าไรนัก  ได้ข่าวทีไร ก็เป็นเรื่องน้ำท่วม หรือเรือเฟอรรี่ล่ม ผู้โดยสารเสียชีวิตทีละเป็นร้อย .... ก่อนเราจะไปเที่ยวบังคลาเทศกัน มารู้จักกับประเทศนี้หน่อยค่ะ.....

บังคลาเทศ มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ เป็นประเทศในเอเชียใต้ ตั้งอยู่ในภูมิภาคเบงกอล คำว่า "บังคลาเทศ"  แปลว่า "ประเทศแห่งเบงกอล" หรืออีกความหมาย คือ "แผ่นดินที่พูดภาษาเบงกลา" คร่าว ๆ แค่นี้ก่อนค่ะ  แต่ทีน่าสนใจยิ่ง คือประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่ผ่านอะไร ๆ มาอย่างโชกโชน





นักภูมิศาสตร์ชาวยุโรปสมัยกลาง มองว่าปากแม่น้ำคงคาเป็นสวรรค์  แม้สวรรค์จะไม่ได้อยู่ ณ ที่นี้  เบงกอลอาจเป็นส่วนที่มั่งคั่งที่สุดของอนุทวีป จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 16

ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ เป็นเรื่องของความสุดโต่ง 2 ด้าน  ...จากความสงบสุข สู่ความสับสนอลหม่าน  ... จากความอุดมสมบูรณ์ สู่ความอดอยาก ... จากความงดงามทางวัฒนธรรม สู่การทำลายล้างของสงคราม  ..ตลอดประวัติศาสตร์ของความสับสนวุ่นวาย ได้เผชิญทั้งจากสงครามภายใน และทนทุกข์จากการถูกบุกรุกซ้ำแล้วซ้ำเล่า .. ได้รู้ได้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรื่อง และความล่มสลายของศาสนาและอาณาจักรอันยิ่งใหญ่นี้  แต่ก็ได้รับประโยชน์จากการค้าและวัฒนธรรมที่นำมาจากต่างประเทศอยู่บ้าง

การก้าวผ่านเรื่องราวต่างของประเทศ ซึ่งรวมถึงอนุทวีปอินเดียทั้งหมดอาจแบ่งเป็นช่วงระยะเวลาคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ 

ยุคของมุสลิม (The Muslim Period)

ชาวอาหรับจากตะวันออกกลางได้แผ่อำนาจมายังเอเชียกลางและอินเดีย สามารถเอาชนะเบงกอล ได้ในปี 1199  ทำให้เบงกอลถูกปกครองโดยสุลต่านแห่งเดลี ศูนย์กลางอำนาจของมุสลิม ซึ่งครอบคลุมอินเดียเหนือเกือบทั้งหมด  มีการล้มล้างเปลี่ยนผู้ปกครองหลายราชวงค์  แต่การหลั่งไหลของชนมุสลิมจากเอเชียกลาง และเปอร์เซียยังมีเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้เบงกอลเข้าสู่ยุคใหม่... มีการพัฒนาเมือง สร้างป้อมปราการ พระราชวัง สุเหล่า สุสาน สวน .. ถนนหนทาง สะพาน 

ความมั่งคั่งเหล่านี้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ พื้นที่บริเวณรอบ ๆ ปากแม่น้ำใหม่ เริ่มมีความโดดเด่นในการเป็นชุมชนมุสลิม ขณะที่รอบ ๆ ปากแม่น้ำเดิมของแม่น้ำคงคา (the Hoogly) ที่ไหลผ่านโกลกัตตา (Kolkata) ยังคงนับถือศาสนาฮินดูอย่างเข็มแข็ง

นับจากปี 1520 มีชนหลายกลุ่มที่เข้ามายังอินเดียเหนือและเบงกอล รวมทั้งจากอัฟกานิสถาน ที่พัฒนาบ้านเมืองเจริญยิ่งขึ้น แต่ก็มีบางกลุ่มที่เข้ามาล้มล้างสุลต่านแห่งอินเดีย และเบงกาลี จนทำให้เบงกอลกลายเป็นจังหวัดหนึ่งของอาณาจักรโมกุล 



เบงกอลภายใต้การปกครองของอาณาจักรโมกุล

เมือง Guad ยังคงเป็นศูนย์กลางอำนาจของเบงกอล จนกระทั่งปี 1608 จึงได้ย้า่ยเมืองหลวงมาที่ธากา (Dhaka)

ภายใต้การปกครองของโมกุล ความเจริญยิ่งมีมากขึ้น มีการขยายเมืองอย่างต่อเนื่อง  ศิลปะ วรรณคดี ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซีย รุ่งเรือง  การค้าขายแผ่ขยาย ไปจนถึงการค้าขายทางทะเล  อันเป็นจุดสูงสุดของจักรวรรดิโมกุล และนำมาซึ่งยุคทองของอินเดีย .... แต่ก็ต้องมายอมแพ้แก่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ British Raj

The European Period

จากความเจริญทางการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ทำให้ชาวยุโรปเริ่มเข้ามาในภูมิภาคนี้ เริ่มจากชาวโปรตุเกส ชาวดัตช์ อังกฤษ และฝรั่งเศส มีการช่วงชิงอำนาจกัน และแผ่ขยายอิทธิพล แต่ผู้ชนะท้ายสุด คือ บริษัท British East India ที่มีบริษัทแม่อยู่ที่ลอนดอน และได้รับพระราชทานตราตั้งจาก Queen Elizabeth I ให้ผูกขาดการค้ากับอินเดีย มีการเจรจาการค้ากับเบงกอล และตั้งศูนย์ที่ Calcutta ทำให้กัลกัตตาเป็นทั้งศูนย์การค้าและการพาณิชย์ 

ต่อมามีการพยายามโจมตีถิ่นฐานของอังกฤษที่กัลกัตตา โดย Naweb Siraj Daula มหาเศรษฐีแห่งเบงกอล (Nawab of Bengal) ที่มีอายุเพียง 21 ปี  





แม้จะชนะในครั้งแรก แต่ต่อมา Robert Clive แห่งบริษัทอีสอินเดียสามารถเอาชัยชนะกลับคืนได้ ทำให้อังกฤษกลายเป็นผู้ปกครองโดยพฤตินัยของเบงกอล ผ่านทางผู้ปกครองท้องถิ่นที่เป็นเหมือนหุ่นเชิด






การล่มสลายของสุลต่านแห่ง Tipu และ Mysore ในสงครามแห่ง Seringapatam ปี 1799

นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่รัฐบาลอังกฤษเข้ามามีบทบาทในอินเดีย และท้ายสุดได้ยึดการควบคุมไปจากบริษัทอีสอินเดีย


British Raj  

มีผู้กล่าวว่า British Raj นำเบงกอลไปอีกยุคของการเจริญเติบโตและพัฒนา .. แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์หลาย ๆ คน ที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้อย่างมาก เขาเห็นว่านโยบายเผด็จการด้านการเกษตรกรรมของอังกฤษในเบงกอลตะวันออก และการสร้างระบบที่ดินศักดินา (zamindar - feudal landowner) ก็เพื่อดูดความมั่งคั่งของแผ่นดิน ทำลายโครงสร้างทางสังคม และเป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดสภาพหมดหวังในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้มีการนำการศึกษา การบริหาร การศาล แบบอังกฤษเข้ามา ....สร้างอาคารใหม่ ถนน สะพาน ทางรถไฟ ขยายความเจริญไปสู่ชนบท ทำให้กัลกัตตาเป็นศูนย์กลางการค้า การศึกษา วัฒนธรรม และศิลปะที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอนุทวีป 

ชนฮินดูยอมรับความเจริญดังกล่าวได้ ......แต่ชนมุสลิมไม่อาจยอมรับอำนาจของอังกฤษ ยังคงยืนยันที่จะเป็นเจ้าของที่ดินของตนเอง และเป็นชาวนา ความแตกต่างทางศาสนาของชาวเบงกอลนี้ ที่เป็นนัยสำคัญของความขัดแย้งในอนาคต 

ปลาย ศต.ที่ 19 ประชากรของเบงกอล ซึ่งรวมถึงแคว้นพิหาร และโอริสสาของอินเดียได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 78 ล้านคน และในช่วงเดียวกัน ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำความเสียหายอย่างมากในบริเวณที่เป็นประเทศบังคลาเทศในปัจจุบัน  

ปี 1905 Lord Curzon อุปราชแห่งอินเดีย จึงได้แบ่งแยกการบริหารเบงกอล ออกเป็นเบงกอลตะวันตกรวมอัสสัม และเบงกอลตะวันออก รวมพิหาร และโอริสสา มีเมืองหลวง คือ ธากา (Dhaka) ... 



Lord Curzon - อุปราชแห่งอินเดีย 1898 - 1905 เป็นที่จดจำเพราะได้ทำสิ่งดี ๆ หลายอย่างให้อินเดีย เช่น การสร้างโรงเรียน จัดทำระบบชลประทานแห่งชาติ ฟื้นฟูอาคารอินเดียเก่า รวมทั้งปฏิสังขรณ์ทัชมาฮาล

การแบ่งเขตบริหารนี้เปรียบเสมือนการแบ่งแยกทางศาสนาไปโดยปริยาย แม้ทั้งชนฮินดูและมุสลิมจะไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกในตอนแรก ๆ แต่ความคิดก็เปลี่ยนไป เมื่อเบงกอลตะวันออกยังคงมีความมั่งคั่ง ยังมีธากาเป็นเมืองหลวง และจิตตากองเป็นเมืองท่าที่สำคัญ 

ชนมุสลิมเกิดความกลัวว่าจะต้องส่งผลตอบแทนให้ชนฮินดูที่เป็นผู้ปกครอง จึงเกิดความกดดันที่จะเรียกร้องเอกราชของตนเอง



สมัย British Raj ที่อังกฤษปกครองอินเดียและเบงกอล



แม้จะมีความพยายามที่จะรวมเบงกอลเข้าด้วยกัน แต่ตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษต่อมา มีความรุนแรงระหว่างชนมุสลิม และฮินดู ชนมุสลิมส่วนใหญ่ต้องการแบ่งแยกจากอินเดีย และมาสร้างรัฐมุสลิมของตนเอง

จุดต่ำสุดของเบงกอลเกิดขึ้นในปี 1943 เมื่อมีประชากรถึง 4 ล้านคนอดตาย เพราะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงครั้งใหญ่ (Great Bengal Famine) 








บ้านเมืองเต็มไปด้วยผู้อพยพที่กำลังจะตาย จากความอดอยากหิวโหย แต่ British Raj ก็ยังกว้านซื้ออาหาร เพื่อไปให้หน่วยสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 .. เรือที่ขนส่งอาหารก็ถูกทำให้จมลง เพราะกลัวว่าทหารญี่ปุ่นจะยึดเรือไป ..




ชาวเบงกอลประมาณ 4 ล้านคน เสียชีวิตจาก Great Bengal Famine 1943 หลังจากที่ Winston Churchill ออกคำสั่งให้หันหัวเรือที่บรรทุกอาหารมาไปที่อื่น (www.youthconnect.in).... เป็น 1 ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ร้ายแรงที่สุด

ความอดทนที่จะเคารพการปกครองของอังกฤษก็สูญสลายไปแล้ว

Independence (อิสรภาพ)

เมื่อใกล้สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษเห็นว่าการให้อิสรภาพแก่อินเดียเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ ชนมุสลิมที่เป็นกลุ่มน้อยตระหนักว่า การปกครองคงอยู่ในมือของชนฮินดูต่อไป

เนื่องจากทางอังกฤษเห็นว่าคงไม่สามารถทำให้สภาแห่งชาติอินเดีย และสหพันธ์มุสลิมปรองดองกันได้ อุปราชแห่งอินเดีย Lord Mountbatten จึงแบ่งภูมิภาคแห่งอนุทวีปนี้ เป็นอินเดียและปากีสถาน การเป็นเอกราชประสบความสำเร็จ ในปี 1947 หากการดิ้นรนหลังสงครามกลับเป็นเรื่องที่ขมขื่นยิ่งกว่า






Lord Mountbatten, Edwina Mountbatten และเยาวหราล เนรู (Jawaharlal Nehru) ในการฉลองวันแรกของการประกาศอิสรภาพ


East Pakistan (ปากีสถานตะวันออก) 

ประเทศปากีสถานได้แบ่งออกมาเป็นปากีสถานตะวันออก และตะวันตก คั่นกลางโดยประเทศอินเดีย ..การแบ่งประเทศนี้นอกจากแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์ ยังมีเรื่องของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย .... เป็นเวลาหลายเดือนที่การอพยพผู้คนเต็มไปด้วยการนองเลือด ชนฮินดูย้ายไปอินเดีย ชนมุสลิมย้ายไปปากีสถานตะวันออกหรือตะวันตก

แม้จะได้ชื่อเป็นประเทศเดียวกัน แต่ปากีสถานทั้งสอง ก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด .. ประชาชนทางตะวันออกพูดภาษาเบงกลา อาหารหลักเป็นข้าวและปลา ....ส่วนทางตะวันตกพูดภาษา Urdu, Pushtu, Panjabi และ Sindhi มีอาหารหลักเป็นข้าวสาลีและเนื้อ ....การปกครองอยู่ทางตะวันตก แม้ทางตะวันออกจะมีประชากร และสามารถผลิตพืชเศรษฐกิจได้มากกว่า ความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมกันนี้ ทำให้เกิดกระแสความรักชาติ ..ซึ่งไม่เคยปรากฏระหว่างการดิ้นรนเพื่อเอกราชของชนมุสลิม ...ชาวเบงกาลีไม่ต้องการอยู่ในการควบคุมของปากีสถานตะวันตกอีกต่อไป


แต่ทางปากีสถานตะวันตกก็ไม่ยินยอม ประกาศว่าชาวเบงกาลีเป็นชนชั้นที่เคยถูกกดขี่มา และยังไม่พร้อมที่จะมีอิสรภาพ หากฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาวเบงกาลีไม่สามารถอดทนได้ต่อไป ก็คือ และเมื่อทางตะวันตกประกาศว่า จะมีภาษา Urdu เดียวเท่านั้น ที่เป็นภาษาประจำชาติ

จึงทำให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อใช้ภาษาเบงกาลี โดยนักศึกษา




และกลายเป็นความเคลื่อนไหวของชนทั้งชาติอย่างรวดเร็ว และโดยนัยก็คือ การเคลื่อนไหวสู่อิสรภาพ ....

แม้ทั้ง 2 ฝ่าย จะมีการเจรจาหลายครั้ง และฝ่ายตะวันออกได้ที่นั่งในรัฐสภาถึง 167 จาก 313 แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดได้ ... ตลอด 2 ทศวรรษ มีทั้งการจลาจล และสไตร์ค มีนักศึกษา และประชาชนถูกทหารในกองทัพฝ่ายตะวันตกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก (ดูเหมือนว่าไม่มีประเทศใดในโลก ที่นักศึกษามีบทบาทสำคัญทางการเมือง เท่าบังคลาเทศ แม้ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นเดิม ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอิทธิพลจากบุคคลสำคัญ ที่ร่วมในสงครามประกาศอิสรภาพ)

The Liberation War (สงครามปลดปล่อย)

วันที่ 7 มีค. 1971 ระหว่างการสวนสนาม Sheikh Mujib ผู้นำปากีสถานตะวันออก ได้ประกาศเอกราชของประเทศ ซึ่งก็คือ ประเทศบังคลาเทศ (Bangladesh) ซึ่งมีวันเกิดวันที่ 7 มีนาคม












ประเทศบังคลาเทศ หมายถึง แผ่นดินของผู้ที่พูดภาษาบังกลา - Bangla speakers) ..... วันที่ 26 มีค. Sheikh Mujib ถูกจับกุมตัว  

ขณะนั้นประธานาธิบดีปากีสถานตะวันตก คือ Ayub Khan  


กองทัพปากีสถานตะวันตกรุกเข้ามาทั่วทั้งตะวันออก หมู่บ้านถูกเผา ร้านค้าถูกปล้นสดมภ์ ประชาชนถูกฆ่าอย่างมากมาย ..มีการต่อต้านจากปากีสถานตะวันออกทั้งอย่างเปิดเผย และแบบกองโจร




กองกำลังสตรี ปี 1971



กองกำลังบุรุษ ปี 1971

เดือน พย. 1971 กองกำลังปากีสถานตะวันตกสามารถยึดธากา และเมืองสำคัญอื่น ๆ ได้ ทำให้ทั้งประเทศปากีสถานตะวันออก ต้องทนทุกข์ทรมาณจากกองกำลังนี้ .. .มีการค้นหา แย่งชิง ข่มขืน และฆ่าประชาชนอย่างต่อเนื่อง ตลอด 9 เดือนจากมีนาคม มีประชากรถึง 10 ล้านคน อพยพไปยังค่ายผู้อพยพที่อินเดีย





The Slaughter of the Intellectuals (การสังหารหมู่ปัญญาชน)

ทันทีหลังจากที่ Sheikh Mujib ถูกจับในวันที่ 26 มีนาคม 2514 (1971) สภาพเหตุการณ์ในปากีสถานตะวันออกเหมือนนรกแตก มีการกล่าวหาว่าพวกปัญญาชนเบงกาลี และฮินดู เป็นผู้นำการกบฏนี้ กองกำลังรถถังถูกส่งเข้ามาในมหาวิทยาลัยธากา และเริ่มต้นกราดยิงนักศึกษา และต่อมาเป็นชุมชนภายนอก โดยเน้นกลุ่มปัญญาชน มีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัย นักการศึกษา นักดนตรี กวี ศิลปิน นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ นักธุรกิจ นักกฏกมาย และบุคคลอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าข้อหาใด ๆ .... 




 ที่ Chuknagar : การสังหารหมู่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ใน Bangladesh Liberation War 1971

แต่ต่อมาทหารก็ไม่สามารถแยกระหว่างปัญญาชน และชาวเบงกอลทั่วไปอีกแล้ว ...มีการข่มขืนทั่วไป และอย่างเป็นระบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อล้างเผ่าพันธ์ และเปลี่ยนแปลงสัญชาติของคนบังคลาเทศ  

ใน Lonely กล่าวว่าโดยประมาณน่าจะมีผู้เสียชีวิตเกือบ 1 ล้านคน ในช่วงที่มีความขัดแย้งนี้ ... ปีต่อมานายพล Tikka Khan ผู้บัญชาการขณะปฏิบัติการสังหารหมู่ ยอมรับว่ามีการฆ่า "ปัญญาชน" แต่ก็เพียง 35,000 คน เท่านั้น

ข้อมูลจาก //combatgenocide.org/ กล่าวว่าเหยื่อของการปฏิบัติการล้างเผ่าพันธ์ครั้งสุดท้ายนี้ อยู่ระหว่าง 300,000 - 1,000,000 คน ทั้งฮินดูและมุสลิม เกือบทั้งหมดเป็นผู้คนที่อยู่ในชนบทของเบงกอล

ในระหว่างนี้ ก็มีการปะทะกันบ่อยขึ้นตามแนวชายแดนปากีสถานและอินเดีย เนื่องจากผู้นำฝ่ายตะวันออก ที่กองกำลังได้รับการฝึกและสนับสนุนจากอินเดีย มักใช้ชายแดนเป็นเขตป้องกันการโจมตีของทหารตะวันตก 

สุดท้ายวันที่ 3 พฤศจิกายน 1971 กองทัพอากาศปากีสถานตะวันตก จึงเข้าโจมตีกองกำลังของอินเดีย ทำให้เกิดสงครามระหว่าง 2 ประเทศขึ้น สงครามครั้งนี้จบอย่างรวดเร็ว วันที่ 14 ธันวาคม อินเดียสามารถได้ชัยชนะอย่างราบคาบ กองทัพปากีสถานตะวันตก ลงนามในขัอตกลงยอมจำนน วันที่ 16 ธันวาคม 2514 (1971)


After the Genocide (หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ)




หลังจาก Sheikh Mujib ได้รับการปล่อย เขาได้กลับเข้าเป็นผู้นำรัฐบาล และได้ประกาศการตั้งประเทศใหม่ เป็นอันดับที่ 139 ของโลก คือ ประเทศบังคลาเทศ (Bangladesh)






ธงชาติเมื่อหลังการประกาศเอกราช




พลังที่ยิ่่งใหญ่ที่สุดของข้าพเจ้า คือ ความรักต่อประชาชนของข้าพเจ้า ... ความอ่อนแอที่สุดของข้าพเจ้า คือ ข้าพเจ้ารักพวกเขามากเกินไป - Shiekh Mujibus Rahman -






ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นภูเขาหิมาลัย แต่ข้าพเจ้าเคยพบ Sheikh Mujib ..ทั้งในด้านบุคลิกภาพ และความกล้าหาญ ..ข้าพเจ้าได้พบเห็นภูเขาหิมาลัยแล้วในตัวตนของชายผู้นี้
(Fidel Castro - อดีตผู้นำประเทศคิวบา)


วันที่ 14 ธันวาคม เป็นวันอนุสรณ์ถึงปัญญาชนที่สละชีวิตของตนเอง ในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ (Martyred Intellectuals Day)



รูปปั้นที่ Meherpur แสดงถึงการประหารปัญญาชนเบงกาลี โดยทหารปากีสถาน ปี 1971






ก่อนจะมาเป็นบังคลาเทศ ประเทศเอกราช ผู้คนในประเทศนี้ต้องผ่านทั้งความทุกข์ยาก ทุกข์ทรมาณ และการสูญเสียอย่างมากมาย .. แต่ผู้นำการสังหารไม่เคยต้องถูกลงโทษอย่างใดเลย

ประวัติศาสตร์โดยย่อก่อนจะมาเป็นประเทศบังคลาเทศค่ะ ขอบคุณข้อมูลส่วนใหญ่จาก Lonely Planet ฉบับ Bangladesh และภาพจาก internet




Create Date : 23 กันยายน 2558
Last Update : 4 เมษายน 2559 14:38:02 น. 2 comments
Counter : 8886 Pageviews.

 
พึ่งเข้ามาอ่านเป็นครั้งแรก ช่างเป็นประวัติศาสตร์อันน่าเสร้าสะเทือนใจของชาวมุสลิมและฮินดูอย่างที่สุดค่ะ


โดย: Maeboon วันที่: 22 มีนาคม 2559 เวลา:22:21:48 น.  

 
ขอบคุณที่แวะมาอ่านค่ะ


โดย: payaichow (สมาชิกหมายเลข 1920579 ) วันที่: 4 เมษายน 2559 เวลา:14:26:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.