บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
16 ธันวาคม 2558
 
All Blogs
 
ตอน 2 - จากเชียงใหม่ถึงมามัลละปุรัม (Mamallapuram)


แล้วก็ถึงวันเดินทางของ 3 สว. ค่ะ  จากเชียงใหม่ มาลงกัวลาลัมเปอร์ แล้วเปลี่ยนเครื่องไปเจนไน ตามกำหนดจะถึง 17.10 น. คิดว่าออกจาก ตม. ก็คงประมาณ 18.00 - 18.15 น. น่าจะเร็วเพราะไม่มีกระเป๋าเช็คอิน  คงยังไม่มืด แล้วก็หารถประจำทางตามข้อมูล (ที่รู้อยู่คนเดียว) ที่ได้มา ต่อไปมามัลละปุรัมเลย ไม่แวะเจนไน เพราะต้องออกแต่เช้าไปมามัลละปุรัม ก็ไปนอนโน่นเลยดีกว่า 

แต่โชคไม่เข้าข้างเลยค่ะ  4 โมงกว่า เครื่องกำลังจะลงแล้ว.. มองเห็นบ้านแต่ละหลังได้ถนัด กัปตันก็ดึงเครื่องขึ้น  แล้วก็บินวนอีกหลายรอบ ..ปรากฏว่าลงช้าไปครึ่งชั่วโมง ออกจาก ตม. มาได้ก็จะทุ่มแล้ว ..ออกมาแล้วก็ออกมานอกอาคารผู้โดยสารขาเข้าเลย  ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นบูธแลกเงินสักที่  ..ทำไงดี ต้องหาที่แลกเงินก่อน เพราะแลกมาจากเชียงใหม่ต่ำสุดก็เป็นใบ INR500 จะขึ้นรถเมล์เดี๋ยวมีปัญหาค่ะ  กลับเข้าไปข้างในใหม่ ถามว่าที่แลกเงินอยู่ไหน  เขาบอกว่าออกประตูนะ เลี้ยวซ้าย อยู่อีกประตูหนึ่ง .. 2 สว. เฝ้ากระเป๋า อีกหนึ่งไปหาที่แลกเงิน .. ถึงประตูแล้วไม่เห็นมีเลย ถามคนแถวนั้นอีก เขาบอกให้เดินเลยไปอีก จะเห็นเอง ..แลกได้ใบร้อยมาจำนวนหนึ่งค่ะ  ตกลงที่แลกเงินอยู่เหมือนกับนอกอาคารผู้โดยสารขาเข้าเลย  ปกติน่าจะอยู่ข้างใน คอยดักผู้โดยสาร หรือพวกเรารีบกันมาก อาจดูไม่ทั่ว

วิ่งไปวิ่งมา ทุ่มกว่าเข้าไปแล้ว รีบลากกระเป๋าเพื่อต่อรถบัสไปมามัลละปุรัม  เดินอีกนิดเดียวก็ถึงประตูสนามบิน แล้วก็ถึงถนนเลย เราต้องขึ้นรถฝั่งตรงข้าม ... ตอนนั้นแหละค่ะ ที่มึนตึบขึ้นมา  ออกมาก็เจอทั้งผู้คนยืนรอรถอยู่เต็มไปหมด รถก็ติด ...มีสภาพเหมือนถนนหน้ารามคำแหงยังไงยังงั้นเลย ไม่รู้จะทำอย่างไร เราจะพาอีก 2 คนไปรอดไหมนี่  และแล้วก็เริ่มมีเสียงงึมงำ ๆ อย่างมีอารมณ์นิดส์ ๆ ว่า  "อย่างนี้เที่ยงคืน จะถึงหรือเปล่าก็ไม่รุู้"  

ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจว่า เราสมควรจะนั่งแท๊กชี่ไปมามัลละปุรัมดีกว่า แต่ก็ต้องถามผู้ร่วมทางด้วย  ก็ได้คำตอบมาว่า "ก็แล้วแต่" คือ ปกติจะไม่นั่งแท๊กซี่เข้าเมืองค่ะ แถมตอนนี้มืดแล้ว แล้วก็ไปต่างเมือง ไกลถึง 60 กม. ออกไป  .. แต่ข้อมูลจากหนังสือทั้งหลาย บอกว่ารถแท๊กซี่สนามบินไว้ใจได้  แล้วก็คงจำเป็นแล้วล่ะ เพราะที่พักหรืออะไร ๆ ที่เจนไน ไม่ได้หาข้อมูลไว้เลย  ใกล้ประตูทางออกสนามบิน มีโต๊ะเล็ก ๆ แบบโต๊ะนักเรียน บริการแท๊กซี่จากสนามบินไปสถานที่ต่าง ๆ ... เขาจะมีราคามาตรฐานไว้เลยค่ะ ว่าเจนไน - มามัลละปุรัม INR1,275 (ประมาณ 700. บาท)  

ถ้าไปไหน ถ้าถึงกลางคืน อย่างศรีลังกาถึงเกือบเที่ยงคืน นั่งแท๊กซี่เข้าเมือง ก็มีปัญหา ..บังคลาเทศ ถึงตี 2 ก็ทุลักทุเล แล้วที่เจนไนก็เหมือนกันค่ะ ขึ้นรถได้ก็โล่งอกไปเปราะหนึ่ง  แม้จะกังวล แต่ก็ไม่มากเพราะเรามีกัน 3 คน ถึงจะเป็น สว. ก็เถอะ รถก็ติด ค่อย ๆ ไปทีละนิด ๆ ผ่านอะไรบ้างก็ไม่รู้ จนถึงนอกเมือง มีทุ่งนา ที่ว่าง นานเป็นชั่วโมง จนเริ่มได้กลิ่นทะเล และเห็นชายหาดบ้าง ก็โล่งอก แท๊กซี่สนามบินไม่พาเราไปที่อื่นแน่ ๆ  (ความกลัวแท๊กซี่เริ่มหายไป ความจริงหลังใบแจ้งราคา และเป็นใบเสร็จไปในตัว  มีระเบียบข้อบังคับที่โชเฟอร์ต้องรับผิดชอบหลายข้อทีเดียว )

คงจะใกล้แล้ว โชเฟอร์ถามว่าจะพักแถวไหน ... ไม่รู้เหมือนกันค่ะ  ข้อมูลว่ามีถนนอีสราชาเป็นถนนหลักอยู่สายเดียว  แต่ที่พักมีมากที่ถนนโอทาวาได (Othavadai St.) แยกเข้าซอย มีการจอดรถดูแผนที่กันอีก



ถ้าเรามารถบัส ถึงสถานีก็เดินออกมาถนนหลัก ตอนที่หาข้อมูลไว้ คิดว่าจะหาที่พักใกล้สถานีรถบัส  แล้วก็ดู ๆ ไว้ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง ราคาเท่าไร คิดว่าใช้วิธี Walkin เอา (ให้ทำคนเดียวก็แบบนี้แหละ)  ไม่ได้คิดว่าจะถึงเอาเกืือบ 4 ทุ่ม  พอมาแท๊กซี่ก็ไม่รู้อะไรอยู่ตรงไหน ... พอถึง Mada Koil St.  เลี้ยวเข้าถนนโอทาวาได  โชเฟอร์ถามว่าพักโรงแรมอะไร ถอนหายใจหลายเฮือกเลย  เพราะที่จด ๆ มานึกไม่ออกเลย จำได้ชื่อเดียว คือ Sea Breeze Hotel ..พอบอกป๊าบก็แทบจะถึง...โชเฟอร์ก็เลี้ยวขวาเข้าโรงแรมเลย โล่งอกเป็นที่สุด อย่างน้อยก็ถึงแล้วโดยสวัสดิภาพ

ตอนไปเช็คอิน เจ้าของโรงแรมพูดอะไรเกี่ยวกับ Generator ก็ไม่ได้สนใจค่ะ ได้แต่พยักหน้า I get แล้ว  อาคารโรงแรมเป็น 2 ชั้น เขาเปิดห้องพักข้างล่างให้ ก็กว้างขวาง ดูดี  แต่สังเกตุดูแล้วเราอาจจะเป็นห้องเดียวที่พักชั้นล่าง  ก็เลยขอชั้นบนเพราะรู้สึกปลอดภัยกว่า เป็นห้องพัดลม คืนละ INR1,000  ได้ห้องแล้ว ต่างคนก็รีบอาบน้ำ เพื่อจะออกปหาอะไรกินกัน  ยังไม่ทันจะเรียบร้อย....ไฟดับ มืดทั้งโรงแรม 

มีข้อมูลว่าที่นี่ไฟดับบ่อย ให้เตรียมไฟฉาย เทียนไปด้วย  ก็เตรียมไป และได้ใช้ตั้งแต่คืนแรกเลย  ตอนนั้นเองที่นึกขึ้นมาได้ว่าเจ้าของโรงแรมพูดถึง Generator เขาก็บอกแล้วนะว่า เขาไม่มีเครื่องปั่นไฟ แต่ก็ไม่ทันนึก  ที่โรงแรมมืดสนิทค่ะ  ... ออกมาที่ถนนก็มีบางโรงแรมที่มีเครื่องปั่นไฟ สว่างไสวเชียว  ส่วนเราก็มีไฟฉายกับแสงไฟจากอาคารข้างทางที่จุดตะเกียงวอมแวม  นำทางเราไปถึงร้านอาหารได้  กลับมาไฟก็ยังดับอยู่   ในห้องพัก พัดลมไม่ทำงาน ร้อนมาก ๆ  ก็เลยขอเปลี่ยนเป็นห้องปรับอากาศ เขาขึ้นราคาจาก 1,000 รูปี เป็น 1,500 รูปี รู้สึกว่าค่าแอร์แพงตั้ง 300 บาท ... ความจริงถ้าไม่มีเครื่องปั่นไฟ ถึงเป็นห้องแอร์มันก็ร้อนอยู่ดี  แต่ก็โชคดี เพราะไม่นานไฟก็มา แล้วก็ไม่ดับเลยทั้งคืน

เช้ามาก็เลยย้ายไปพักที่ โรงแรม Sri Murugan ที่มีเครื่องปั่นไฟ ราคา 1,300 รูปี แล้วคืนนี้ไฟก็ไม่ดับเลย   

รอดไปได้ 1 วันแล้ว ก่อนจะไปชมเทวาลัย  เรามารู้จักรัฐทมิฬ นาฑู และมามัลละปุรัมกันหน่อยค่ะ  

รัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu)

ในหนังสือ Rough Guide กล่าวถึง รัฐทมิฬนาฑู ว่า "ถ้าเรานึกถึงอินเดียว่าเป็นหนึ่งของเทวาลัยโบราณ ธูปหอมกลิ่นกระจาย  ละลานตาด้วยสีเหลืองของดอกดาวเรือง  และดอกไม้สีสดอื่น ๆ พร้อม ๆ กับเสียงสวดมนต์บูชาเทพเจ้าในแสงไฟสลัว ภาพของรัฐทมิฬนาฑูจะเข้ามาแทนที่ความทรงจำอันแจ่มใสนี้ ในใจของเรา"

รัฐทมิฬนาฑู (-นา-ดู) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอนุทวีปอินเดีย  ตั้งขนานเป็นแนวยาวไปตามชายฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย  ที่เรียกว่าชายฝั่ง โคโรแมนเดล (Coromandel) ชายฝั่งนี้เริ่มจากจุดที่เรียกว่า Divi False Point ทางเหนือ ไปจนจรดเมืองกันยากุมารีทางใต้  ตามคำจำกัดความก็สามารถรวมไปถึงชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะศรีลังกาด้วย ..เป็นหนึ่งในรัฐที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศ มีเขตแดนทางทะเลติดต่อกับประเทศศรีลังกา  และอ่าวเบงกอล และเป็นดินแดนของชาวทมิฬ



รัฐทมิฬนาฑู เป็นรัฐใหญ่อันอับ 11 ของประเทศ เมืองหลักคือเชนไน (เจนไน) หรือมัทราส (Madras)  ตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22   เป็นเมืองหลักและฐานทัพเรือของอังกฤษ ปัจจุบันเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของอินเดีย  และเป็นแหล่งผลิตภาพยนตร์ภาษาทมิฬ (Kollewood)

สำหรับหลาย ๆ คน รัฐทมิฬนาฑู คือ แผ่นดินที่เป็นหัวใจของชาวฮินดู เป็นหนึ่งในอารยธรรมเก่าแก่ที่สุดของอินเดีย มีเมืองหลวงของรัฐ คือ เจนไน (หรือชื่อเดิม มัทราส) และใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ..สำหรับเจนไนคงมีเรื่องราวอีกมากมาย  แต่คราวนี้ สว. ทั้ง 3 ขอบายก่อน  ไปมามัลละปุรัมกันเลยค่ะ


มามัลละปุรัม (Mamallapuram)



จากหนังสือ "ทมิฬนาฑู อินเดียเริ่มที่นี่" กล่าวว่า จากนครเจนไนเลียบเลาะชายหาดลงมาทางใต้ราว 60 กม. หรือถัดจากกาญจีปุรัมออกมาทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 75 กม.  ติดริมฝั่งอ่าวเบงกอล คือ เมืองมหาพลีปุรัม (Mahabalipuram) หรือ ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น "มามัลละปุรัม" (Mamallapuram) อันเป็นชื่อเดิมที่ปรากฏในศิลาจารึก  นักท่องเที่ยวทั่วโลกรู้จักเมืองนี้ในฐานะ มีกลุ่มโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 

มามัลละปุรัมเป็นเมืองท่าสมัยราชวงค์ปาลวะ ซึ่งครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของอินเดียใต้ ระหว่าง ศต. 4 - 9 ที่มีโบราณสถานที่เป็นตัวอย่างชั้นเยี่ยม  เป็นเมืองหนึ่งของอำเภอกาญจีปุรัม เป็นเมืองประวัติศาสตร์  และเป็นเมืองท่าที่คึกคักในสมัย Periplusใน ศต.ที่ 1: (Periplus คือบันทึกเส้นทางการเดินเรือ Periplus ของกรีกที่บรรยายการเดินเรือ และการค้าขาย จากเมืองท่าของโรมันอียิปต์  เช่น เบเรนีซ ตามชายฝั่งทะเลแดง  และเมืองอื่น ๆ ตามชายฝั่งแอฟริการตะวันออกเฉียงเหนือ และอินเดีย) และในสมัยของปโทเลมี (Ptolemy) คศ. 140 ชาวอินเดียนโบราณที่ได้มายังประเทศต่าง ๆ ทางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้แล่นเรือมาจากเมืองท่ามามัลละปุรัม  

ต่อมา ใน ศต. ที่ 7 ก็ได้กลายมาเป็นเมืองท่าของราชวงค์อินเดียใต้แห่งปัลลวะ  ช่างปัลลวะเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว สกัดโขดหินแกรนิตที่มีกระจัด กระจายอยู่ทั่วไป ให้กลายเป็นศาสนสถานได้อย่างน่าทึ่ง 

เมืองใหม่ของมามัลละปุรัมตั้งขึ้น สมัย British Raj ในปี 1827 (พศ. 2370)  ส่วนกลุ่มโบราณสถานเมืองมามัลละปุรัม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของยูเนสโก ในปี คศ. 1984 (พศ. 2527) เหตุการณ์สึนามิ พศ. 2547 สร้างความเสียหายแก่มามัลละปุรัมไม่น้อย โดยเฉพาะร้านอาหารริมทะเลของชาวบ้าน  แต่ขณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่การค้นพบซากโบราณสถานเพิ่มเติมขึ้นในพื้นที่อีกหลายแห่ง  
บล๊อคหน้าเราไปเยี่ยมชมโบราณสถานแห่งเมืองมามัลละปุรัมกันค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก

หนังสือ "อินเดียเริ่มที่นี่ ทมิฬนาฑู" โดยศรัณย์ ทอง ปาน และวิชญดา ทองแดง

วิกิพีเดีย และหนังสือ "The Rough Guide to India"





Create Date : 16 ธันวาคม 2558
Last Update : 29 มกราคม 2559 15:29:58 น. 0 comments
Counter : 1179 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.