จัดอันดับการ์ตูนของ Pixar ทั้ง 15 เรื่อง!!
จัดอันดับการ์ตูนของ Pixar 15 เรื่อง!!



1. มีการสปอยล์เนื้อหาเล็กน้อย
2. เป็นการจัดอันดับส่วนตัว เป็นความเห็นของผมเอง ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร
3. ประเด็นของหนังแต่ละเรื่อง ไม่สนว่าผู้กำกับจงใจจะสร้างแบบนั้นหรือเปล่า เป็นมุมมองที่ผมมีต่อประเด็นในหนังเรื่องนั้นล้วนๆ คนเรามีอิสระที่จะคิดนะ!
4. Planes ไม่ใช่ของ Pixar มันผลิตโดย DisneyToon Studios  แต่เป็นส่วนแยกแขนงจาก Cars และมีจอห์น แลซเซเตอร์ที่เป็นผู้กำกับ Cars เป็นคนเขียนบทร่วมกับผู้อำนวยการสร้างด้วย ดังนั้นจึงไม่นับเป็นผลงานของ Pixar โดยตรง

เอาละ ทำความเข้าใจกันแล้ว...

ก็ไปดูอันดับหนัง Pixar ตามความชอบส่วนตัวของผมกันเลย!! 



อันดับ 15:

Cars 2

โอเค ผมไม่ได้อยากจะพูดถึงเรื่องนี้ในแง่ลบเพราะเพียงแค่นักวิจารณ์ให้คะแนนลบกับหนังเรื่องนี้ ผมรู้ว่ามีคนชอบมันอยู่หลายคน Cars 2 ไม่ได้เป็นหนังเลวร้ายอะไร เพียงแต่... ตัวละครมันน่าเบื่อสำหรับผม แม้กระทั่งเมเธอร์ ผมยังรู้สึกว่ามันได้กลายเป็นตัวละครน่ารำคาญไปในระดับหนึ่งเสียแล้ว ผมอยากจะชอบเรื่องนี้นะ พยายามจะมองมันในแง่ดีแล้วจริงๆ... แต่ความจริงคือ... บางช่วงผมเกือบหลับ...



ประเด็นที่สนใจ :

อืม... โทนแบบหนังสายลับก็ดูสนุกใช้ได้นะ


อันดับ 14:

Cars

ฉากแข่งรถเจ๋งดี พวกฉากอย่างต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ก็ละเอียดสวยงามราวกับของจริง ปัญหาคือรู้สึกว่าตัวละครไม่ค่อยน่าสนใจ ที่รู้สึกว่าน่าสนใจมีแค่เมเธอร์กับด็อคเท่านั้นเอง โดยรวมแล้วจึงสนุกแค่ “พอประมาณ”


ประเด็นที่ชอบ :

จริงๆเนื้อหาของ Cars ค่อนข้างเบสิค ไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่ก็ไม่ได้แย่อีกเหมือนกัน 

ไลท์นิ่งแมคควีนเป็นรถแข่งที่หวังจะโด่งดังและร่ำรวยจากการแข่งรถ ทุกอย่างจะต้องเร็วไปหมด วิ่งให้เร็วที่สุด โด่งดังให้เร็วที่สุด เป็นวันแมนโชว์ ไม่สนใจเรื่องทีม 

แต่สุดท้ายดันมาก่อเรื่องเมืองเล็กๆเมืองหนึ่งจนถนนพังยับ แล้วเขาก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างช้าๆ (Slow life… ไม่ได้แปลว่าชีวิตอู้ๆนะ อันนี้หลายคนเข้าใจผิด) ได้เรียนรู้ที่จะผูกมิตรกับคนอื่นบ้าง และตั้งคำถามเกี่ยวกับถ้วยรางวัลกับชัยชนะว่ามันสำคัญจริงๆหรือเปล่า... อย่างที่บอก เป็นไปตามสูตร


อันดับ 13:

A Bug’s Life

การผจญภัยในโลกกว้าง เป็น “เจ็ดเซียนซามูไร” เวอร์ชั่นมด ทุกอย่างในเรื่องดูใหญ่โตไปหมดในมุมของมด!




ประเด็นที่ชอบ : 

“คิดต่างเพื่อเปลี่ยนโลก” ไม่น่าแปลกเลยที่เรื่องนี้จะมีแก่นอยู่ตรงนี้ เพราะสตีฟ จ็อปส์เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Pixar 

ฟลิคเป็นตัวแทนของคนเล็กๆที่กล้าคิดต่าง กล้าจะเดินออกไปโลกกว้าง ผลของการคิดต่างทำให้เขาโดนดูถูกบ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าเขาไม่คิดต่างเลย พวกมดก็จะต้องเป็นทาสของตั๊กแตนที่คอยมาปล้นสดมอยู่ร่ำไป 

แต่ในแง่มุมหนึ่ง หนังก็พูดถึงการผสมผสานกันระหว่างสองแนวความคิดคือ “คิดต่าง” กับ “อนุรักษ์นิยม” ความเป็นปัจเจกบุคคลของ “คิดต่าง” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ “อนุรักษ์นิยม” ก็ช่วยทำให้คน (มด) ในสังคมเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันง่ายขึ้น ไม่มีอะไรดีอะไรเลยร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเอามาปรับใช้ให้เข้ากันได้ก็จะแข็งแกร่งมาก!


อันดับ 12:

Brave

ชวนให้นึกถึงเกมแฟนตาซี สนุกใช้ได้ ถึงไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่โดยรวมแล้วก็เล่าเรื่องดีค่อนข้างดีนะ



ประเด็นที่ชอบ :

ตอนดูครั้งแรกรู้สึกไม่ได้ชอบเรื่องนี้มากมาย เพราะติดภาพของ Pixar ซึ่งมักจะมีแนวคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ ส่วน Brave ค่อนข้างจะเล่าเรื่องตามสูตรอนิเมชั่นฝั่งฮอลลีวู้ดอย่างดิสนีย์ เรียกว่าเพลย์เซฟว่างั้น 

แต่พอมาดูอีกรอบ ผมรู้สึกว่าจริงๆแล้วมันเล่าเรื่องได้ดีโดยเฉพาะประเด็นของแม่ลูกที่ต่างคนต่างมี “ศักดิ์ศรี” แรงกล้าค้ำคอทั้งคู่ คนหนึ่งเป็นราชินี ต้องทำตามธรรมเนียมประเพณีสุดโต่ง อีกคนเป็นเจ้าหญิง ต้องทำตามอิสระของตัวเองสุดโต่ง ต่างฝ่ายต่างอยากจะเปลี่ยนแปลงอีกฝ่าย แต่สิ่งที่เมริด้าทำกับแม่ตัวเองนั้นเลวร้ายกว่า 

ขณะที่ราชินีต้องการเปลี่ยนเมริด้าให้ทำตามประเพณี แต่งงานกับลูกชายของเผ่าใดเผ่าหนึ่งเพื่อรักษาสันติสุขของแต่ละเผ่าเอาไว้ (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสมัยก่อนมักทำกัน) เมริด้าถึงขั้นใช้เวทมนตร์เปลี่ยนแม่ตัวเอง แถมยังเสี่ยงจะต้องกลายเป็นหมีไปตลอดเลยด้วย

ปัญหาของราชินีกับเมริด้าคือต่างฝ่ายต่างไม่คุยกัน ไม่คิดหาทางประนีประนอมกันจนทำให้สายสัมพันธ์แม่ลูกแทบขาดสะบั้น ถ้ามองเหตุผลกันตามจริง มุมมองของราชินี (อนุรักษ์นิยม) นั้นไม่ได้ผิด มุมมองของมิรินดา (เสรีนิยม) ก็ไม่ได้ผิดอีกเช่นเดียวกัน ผมคิดว่า ถ้าดูเรื่องนี้ไปพร้อมกับ A Bug’s Life มันคงจะเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย


อันดับ 11:

Monsters University

ภาคก่อนของ Monster, Inc. ที่ทำให้รู้จักไมค์กับซัลลิแวนมากขึ้น ผมค่อนข้างจะโอเคกับมันนะ สนุกใช้ได้ ขำพอประมาณ ภาคแรกซัลลิแวนค่อนข้างเด่น ภาคนี้จึงเน้นที่ไมค์แทน



ประเด็นที่ชอบ :

“ล้มเหลวเรื่องหนึ่งไม่ได้แปลว่าจะล้มเหลวไปตลอด”

เราเห็นจาก Monsters, Inc. ว่าไมค์ไม่ใช่มอนสเตอร์ที่น่ากลัว แต่เป็นพวกไม่คิดเล็กคิดน้อย รูปถ่ายของตัวเองจะถูกโลโก้หรืออะไรบังหน้าก็ไม่สน และมุ่งหน้าเพื่อเป้าหมายอะไรสักอย่างหนึ่งเสมอ ภาคนี้ขยายให้เด่นชัดว่าไมค์เป็นพวกมีความพยายามสูง สุดท้ายเขาได้พบความจริงว่าตัวเองไม่ได้น่ากลัว แต่นั่นไม่ได้แปลว่าอาชีพหรือความฝันจะหยุดลงแค่นั้น ในขณะเดียวกัน ซัลลิแวนอาจเป็นมอนสเตอร์ที่น่ากลัว แต่เขาก็เป็นคนล้มเหลวและไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่มีคู่หูอย่างไมค์

ประเด็นของ Monsters University จึงน่าสนใจมาก มันคือเรื่องที่ว่า คนเรามีวิถีเป็นของตัวเอง ถึงจะล้มเหลวแต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีหนทางอื่นที่จะทำความฝันให้เป็นจริง ไมค์ไปถึงฝั่งฝันอย่างที่เห็นใน Monsters, Inc. ได้ไม่ใช่เพราะสำเร็จมาตลอด แต่เพราะล้มเหลวจนเข้าใจในตัวเอง ยอมรับจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง แล้วก็เดินหน้าไปแบบไม่กลัวอะไร เดินหน้าท้าทายกับความผิดหวังไปเรื่อยๆ


อันดับ 10:

Ratatouille

ไอเดียสร้างสรรค์โดยเฉพาะเรื่อง “ผู้สร้างสรรค์ผลงาน (พ่อครัว) VS นักวิจารณ์” หรือการเปลี่ยนแปลงมุมมองของโลก แต่ปัญหาคือ... ผมไม่ผูกพันกับตัวละครไหนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะฝ่ายมนุษย์ ลินกุยนีออกจะน่ารำคาญด้วยซ้ำ

ประเด็นที่ชอบ :

ผมชอบประเด็นเกี่ยวกับนักวิจารณ์ครับ ศิลปินผู้สร้างผลงาน (หรือเชฟ) กับนักวิจารณ์นั้นมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะล้ำลึก

ในเรื่อง อังตอน อีโก้เป็นนักวิจารณ์จอมเคี่ยว แต่จริงๆแล้วนักวิจารณ์ไม่ใช่ว่าไม่รักอาหาร (หรือแม้แต่หนัง) ตรงกันข้าม พวกเขารักมันต่างหาก
นักวิจารณ์อาหารรักอาหารพอๆกับที่นักวิจารณ์หนังเองก็รักหนัง บางครั้งผลงานโดยทั่วๆไปอาจจะมีความหมายดีๆมากกว่าที่นักวิจารณ์ได้วิจารณ์ไป เพียงแต่บางครั้งนักวิจารณ์ก็อยากจะยอมเสี่ยงท้าทายเพื่อให้โลกได้มีการค้นพบอะไรใหม่ๆบ้าง 

อังตอนบอกว่า โลกนี้มักจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับพรสวรรค์ใหม่ๆหรือการสร้างสรรค์ใหม่ๆ (พวกเราคนเสพมักชอบเสพอะไรที่คุ้นเคยกันเป็นของประจำ) ดังนั้นความแปลกใหม่จึงต้องการเพื่อน และนักวิจารณ์ก็คือพันธมิตรของความแปลกใหม่ที่ว่านั่นเอง

เป็นประเด็นที่น่าขบคิดมาก


อันดับ 9:

Monsters, Inc.

ชอบที่จริงๆแล้วมอนสเตอร์กลัวเด็ก เนื้อเรื่องลงตัว แอ็กชั่นสนุก บูน่ารัก ไมค์กับซัลลิแวนเข้าขากันแม้จะไม่เท่าวู้ดดี้กับบัซ 



ประเด็นที่ชอบ :

ผมรู้สึกเหมือนมันกำลังสะท้อนภาพของบริษัทในระบบทุนนิยม ไมค์กับซัลลิแวนมุ่งหน้าสร้างตำแหน่งและชื่อเสียงให้กับตัวเองโดยสนใจแต่เรื่องผลการทำงาน (ยอดคะแนนสะสมจากเสียงร้องของเด็ก) การจัดลำดับพนักงานที่สร้างผลงานรวมถึงการให้ตำแหน่ง “พนักงานดีเด่นประจำเดือน” เป็นเรื่องที่เห็นได้ในบริษัททั่วไปในโลกเรา 

มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เลวร้ายอะไร ถ้าเผอิญว่าระบบนี้ไม่ได้สร้างให้พนักงานแก่งแย่งกันจนมีบางคนต้องการจะเล่นโกง ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องของ “การทำงาน” มากกว่าจะเป็นเรื่องของ “ความสนุก” แต่พอมาถึงตอนท้าย เมื่อพบว่าเสียงหัวเราะของเด็กมีพลังมากพอๆกับเสียงกรีดร้อง ลักษณะการทำงานก็เปลี่ยนไป การจัดลำดับพนักงานหายไป บรรยากาศของบริษัทมีความสนุกมากขึ้น บรรดามอนสเตอร์ทั้งหลายก็ไม่จำเป็นต้องแย่งชิงผลงานกันอีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวร้ายของเรื่องเห็นว่าพลังงานที่ได้จากเสียงกรีดร้องของเด็กชักจะเริ่มไม่เพียงพอ เขาจะทำอะไรก็ได้เพื่อเพิ่มเสียงกรีดร้องของเด็กแม้กระทั่งต้องลักพาตัวเด็กสักพันคน เป็นแนวคิดแบบพวกที่มุ่งแต่จะหาผลประโยชน์โดยไม่แคร์วิธีการ แต่จริงๆแล้วมันมีทางเลือกอื่นที่สร้างสรรค์มากกว่าและสะอาดกว่า ในขณะเดียวกันก็สร้างประโยชน์ให้โลกของมอนสเตอร์ได้ด้วยเช่นกัน จะเรียกพลังงานจากเสียงหัวเราะนั่นว่า “พลังงานทางเลือก” แบบที่โลกเรากำลังตามหาอยู่ก็คงได้ละมั้ง


อันดับ 8:

Toy Story 

คลาสสิค! ทุกอย่างเรียบง่ายแต่ลงตัว เป็นหนังคู่หูที่ดูสนุกตั้งแต่ต้นยันจบ



ประเด็นที่ชอบ : 

ประโยค “You are a TOY!” ที่วู้ดดี้พูดกับบัซไลท์เยียร์ ผมรู้สึกว่ามันมีความหมายมากกว่าการเตือนสติบัซว่าเขาเป็นแค่ของเล่น ไม่ใช่ตำรวจอวกาศอะไรเลย 

วู้ดดี้เคยเป็นของเล่นสุดโปรดของแอนดี้มาตลอด วันหนึ่งกลับมีบัซมาแทนที่ทำให้เขารู้สึกเศร้า ดังนั้นคำว่า “You are a TOY!” มันจึงมีความหมายกับตัววู้ดดี้ด้วย วู้ดดี้เป็นแค่ของเล่น ของเล่นก็คือของที่เด็กเล่นแล้วมีความสุข ไม่ใช่เรื่องที่วู้ดดี้จะต้องมานั่งใส่ใจเรื่องการถูกแทนที่เลยสักนิด วู้ดดี้ไม่ใช่เจ้าของแอนดี้ แอนดี้ต่างหากที่เป็นเจ้าของ และแอนดี้ก็เลือกจะชอบของเล่นอันไหนก็ได้ทั้งนั้น 

สรุปง่ายๆคือ มันเป็นการตระหนักถึงคุณค่าในความเป็นตัวเอง (ของเล่น) ตามความเป็นจริง


อันดับ 7:

Finding Nemo

การผจญภัยอันกว้างใหญ่ในโลกใต้น้ำ ดอรี่คือส่วนสนุกของเรื่อง เสียแต่รู้สึกว่าองก์สามจะขาดความลงตัวไปนิด


ประเด็นที่ชอบ : 

“การเรียนรู้คือการได้สัมผัสจากประสบการณ์จริง” มาร์ลินคือปลาการ์ตูนที่สูญเสียเมียกับไข่ลูกๆจนกลายเป็นโรคกลัวมหาสมุทรและหวงนีโม ลูกชายเพียงหนึ่งเดียวไปซะทุกๆเรื่อง 

แต่ชีวิตคือการผจญภัย 

มาร์ลินตะโกนถามดอรี่ว่า เราจะได้รู้ได้ยังไงว่ามัน (เหตุการณ์นี้) จะไม่เลวร้าย คำตอบของดอรี่คือ “ฉันไม่รู้” มันเหมือนอย่างที่ดอรี่บอก ถ้าไม่ยอมให้มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น ก็เท่ากับจะไม่เกิดอะไรขึ้นในชีวิตเลย พ่อแม่อาจจะหวงลูก แต่การไม่ปล่อยให้ลูกได้ออกไปเผชิญโลก

ภายนอก ไม่ยอมให้เกิดเรื่องเลวร้ายกับเขา เขาก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรในชีวิต บทเรียนนี้ไม่ใช่แค่กับเด็ก แต่ยังใช้ได้กับผู้ใหญ่ด้วย

ถ้าถามความเห็นผม เสี่ยงเกินไปก็ใช่ว่าจะดี แต่กลัวเกินไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา มันมีสิ่งที่เรียกว่า “Safe Zone (เขตที่เราอุ่นใจ), “Danger Zone (เขตอันตราย) และ “Challenge Zone (เขตที่ท้าทาย) แทนที่จะเลือก Safe Zone หรือ Danger Zone ไปเลย เราเลือก Challenge Zone ที่อยู่กึ่งกลางน่าจะดีกว่านะ!



อันดับ 6:

The Incredibles

Fantastic Four + หนังสายลับอย่างเจมส์ บอนด์ยุคฌอน คอนเนรีหรือโรเจอร์ มัวร์ ฉากแอ็กชั่นสุดมัน มุกตลกสุดยอด เพลงประกอบโคตรจะเจมส์ บอนด์ วิธีการใช้พลังก็สุดจะสร้างสรรค์ ทุกตัวละครมี “ช่วงเวลาที่ได้โชว์” เป็นของตัวเอง 



ประเด็นที่ชอบ :

เอาจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของความบันเทิงล้วนๆ เป็นความพิศวาสส่วนตัวของคนชอบซูเปอร์ฮีโร่และหนังสายลับ The Incredibles มีประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวซูเปอร์ฮีโร่ที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างคนธรรมดาเพราะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนตัวผมมองว่าประเด็นนี้ค่อนข้างจะธรรมดา สุดท้ายแล้วมันคือเรื่องเกี่ยวกับการยอมรับในความสามารถพิเศษของตัวเอง และสิ่งที่พื้นฐานของครอบครัวนี้เป็น... นั่นก็คือการเป็นซูเปอร์ฮีโร่

แต่ผมชอบเวลาที่โฟกัสของเรื่องไปอยู่ที่เฮเลน พาร์หรืออิลาสติเกิร์ล/มิซซิสอินเครดิเบิ้ล เธอเป็นแม่บ้านที่กลัวมากเกินไปจนต้องพยายามควบคุมสิ่งต่างๆให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย แต่ยิ่งควบคุม ชีวิตครอบครัวก็ยิ่งยุ่งเหยิงยิ่งขึ้น สามีแอบไปทำภารกิจลับ ลูกชายใช้พลังในการแกล้งคนอื่น ลูกสาวเป็นพวกขี้อายไม่กล้าเปิดเผยตัว 

ฉะนั้นการเรียนรู้จะยอมรับในสิ่งที่ครอบครัวเป็นแล้วหาทางเปิดโอกาสให้ได้โชว์ออฟในระดับที่พอดีเหมือนอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนท้าย อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าก็ได้


อันดับ 5:

Wall-E

ไซไฟ-ตลก-โรแมนติก น่าจะเป็นหนังเน้นความโรแมนติกมากสุดของ Pixar โดยเฉพาะฉากเต้นรำในอวกาศที่งดงามเหมือนงานดิสนีย์ยุค Beauty & the Beast, Aladdin



ประเด็นที่ชอบ :

หนังแบ่งเป็นสองประเด็น 

ประเด็นหนึ่งคือความรักของหุ่นยนต์ตัวเล็กๆที่ใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังมาตลอด อีกประเด็นคือเรื่องความรับผิดชอบของมนุษย์ 

ในเรื่องมนุษย์ขาดความรับผิดชอบจนทำให้อวกาศล้นโลกไปจนถึงวงโคจร การแก้ปัญหาทำได้ยากจนกระทั่งมีคำสั่งให้ออกเดินทางไปอยู่บนอวกาศตลอดกาล ไม่ต้องกลับมา สิทธิความเป็นมนุษย์ถูกลิดรอนเพื่อให้การควบคุมทำได้ง่ายขึ้น มนุษย์ถูกมอมเมาให้อยู่กับความสนุกสำราญโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์จัดการไป แม้กระทั่งเรื่องที่ในยานมีสระน้ำก็ยังไม่รู้เลยสักนิด

สิทธิอันอิสระเสรีของมนุษย์นั้นต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ถ้าเราใช้มันมากเกินไปจะกลายเป็นความยุ่งเหยิงยากจะแก้ไข ข้อดีของมนุษย์คือเรามีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง มนุษย์ก็สามารถตระหนักในความรับผิดชอบของตัวเองแล้วกลับมาทำโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้... 

เนื้อหาง่ายๆเชยๆ แต่มันก็เป็นเรื่องที่เรามองข้ามไม่ได้น่ะนะ


อันดับ 4:

Up

หยุดนะ! จะเรียกน้ำตากันไปถึงไหน! เป็นแค่การ์ตูนแท้ๆ ไอ้บ้าเอ๊ย! ประมวลความรู้สึกขณะดูออกมาได้ดังนี้... 
SmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmileySmiley



ประเด็นที่ชอบ :

“การผจญภัยคือการเปิดใจ” การผจญภัยนั้นมีหลายความหมายหลายรูปแบบ เรื่องความฝันที่จะต้องเดินทางไปให้ถึงนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วการผจญภัยอยู่รอบตัวเรา ในชีวิตประจำวันที่แสนจะน่าเบื่อ แต่ถ้าเปิดใจ มันก็กลายเป็นการผจญภัยได้เสมอ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชื่อเสียงหรือทรัพย์สมบัติ 

อย่างที่รัสเซล ลูกเสือที่ผจญภัยกับคุณปู่คาร์ลว่าไว้ “สิ่งที่น่าเบื่อ กลับกลายเป็นสิ่งที่จดจำมากที่สุด” มีการผจญภัยใหม่ๆรอเราอยู่ทุกย่างก้าว ภาพสรุปในเครดิตปิดเรื่อง เป็นตัวที่บ่งบอกถึงหัวใจสำคัญข้อนี้มากที่สุด


อันดับ 3:

Inside Out 

เป็นหนังที่ให้แรงบันดาลใจสูงมาก นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับสอารมณ์และการทำงานของความทรงจำได้อย่างน่าสนใจ การเล่าเรื่องสนุก ดราม่าเวิร์ก ตลกเวิร์ก ทุกอย่างเวิร์กเกือบหมด!



ประเด็นที่ชอบ :

“มันโอเคที่จะเศร้าบ้าง” อารมณ์สุขกับทุกข์เป็นของคู่กัน สุขทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีชีวิตชีวาขึ้น ทุกข์ทำให้เราเข้าใจคนอื่นรวมถึงรับสภาพความเป็นจริง ส่วนอารมณ์อื่นๆก็มีประโยชน์อยู่ในตัวของมัน สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่อารมณ์ทุกอารมณ์ทำงานกันได้อย่างสมดุลมากกว่า ไม่มีอารมณ์ไหนที่ไร้ประโยชน์

(อ่านบทความเกี่ยวกับ Inside Out เพิ่มเติมได้ที่นี่ >>> Inside Out : เพราะมันสำคัญกว่าการเป็นแค่หนังการ์ตูน)


อันดับ 2:

Toy Story 2

โอ๊ย สนุก! ขำกว่าภาคแรกอีก! ของเล่นในเมืองใหญ่! Star Wars! ก๊าก ฮ่าๆๆๆ... แล้วจู่ๆก็ ตูม! เพลง When She Loved Me ดังขึ้น... ฮึก... ทำไมฉากนั้นมันเศร้างี้ว้า!?



ประเด็นที่ชอบ : 

ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง” ของเล่นที่เด็กชอบในวันนี้ พอกาลเวลาเปลี่ยนก็จะถูกลืมและถูกนำไปทิ้ง 

มันก็เหมือนกับคนเราที่เคยมีความสัมพันธ์กับใครสักคน แล้วสุดท้ายก็จบลงที่การแยกทาง มันเป็นความเจ็บปวดที่ทำให้เราไม่อยากออกไปเผชิญโลก ไม่อยากรักใครอีก สุดท้ายก็ปิดใจตัวเองไปตลอด อย่างกรณีแบบในหนังคือ การไปอยู่พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นการรับประกันว่าของเล่นอย่างตัวเองจะมีคุณค่ามากกว่าการถูกเด็กทิ้งในสักวัน

แต่ถ้าเราไม่กล้าเปิดใจ (อยู่ในพิพิธภัณฑ์หรือกระจกโชว์) ตัวเรา (หรือของเล่นอย่างวู้ดดี้) ก็จะไม่ได้เห็นโลกกว้างอีกต่อไป รู้ว่าสักวันจะเจ็บปวดแต่ก็ไม่อยากพลาดการใช้ชีวิต วู้ดดี้เข้าใจเรื่องนั้น และสุดท้ายเขาก็ยืนยันที่จะเลือกเฝ้าดูแอนดี้ เด็กชายที่เขารักค่อยๆเติบโตขึ้นอย่างใกล้ชิด และยอมรับว่าสักวันแอนดี้อาจจะลืมเขาและถูกทิ้ง... นั่นคือวิถีที่มันเป็นไป ไม่ใช่ความผิดของใคร


อันดับ 1:

Toy Story 3

Great Escape “แหกคุกนรก” เวอร์ชั่นของเล่น! ไคลแม็กซ์อันทรงพลังนั่น! ตอนจบที่ลงตัวน่าประทับใจ! บัซไลท์เยียร์เวอร์ชั่นสเปน!



ประเด็นที่ชอบ :

ยิ่งนับภาค แนวความคิดของ Toy Story ก็ยิ่งลึกขึ้น 

ภาคแรกพูดถึงการยอมรับเรื่องการถูกแทนที่ ภาคสองพูดถึงการเปิดใจที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง ภาคสามแสดงให้เห็นว่าการปิดใจตัวเองนั้นสามารถเปลี่ยนตุ๊กตาหมีน่ารักให้กลายเป็นปีศาจหรือจอมเผด็จการได้อย่างไร 

เพราะรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งจนจิตใจแตกสลาย กลัวว่าตัวเองจะต้องเจ็บปวดอีก จึงต้องปิดใจตัวเองไปตลอดกาล และเพื่อไม่ให้เรื่องราวเกิดซ้ำสอง หรือรู้สึกว่าตัวเองจะต้องตกเป็นเหยื่อชะตากรรมอีก จึงเลือกจะเป็นผู้ใช้อำนาจแทนที่จะสร้างมิตรภาพ ซึ่งตรงกันข้ามกับพวกวูดดี้ที่เห็นมิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญ ไปไหนไปกัน อย่างน้อยๆถึงจะมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ แต่พวกของเล่นก็ยังมีกันและกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงสองขั้วระหว่างความรักกับความเกลียดชังอย่างชัดเจน





Create Date : 30 สิงหาคม 2558
Last Update : 30 สิงหาคม 2558 23:31:31 น.
Counter : 8994 Pageviews.

1 comments
  
หูหูหู cars 3 จะเป็นยังไงนะ
โดย: sheriff woody IP: 49.228.242.26 วันที่: 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา:23:30:15 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หมาหัวโจก
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]



All Blog