Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2563
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
22 มิถุนายน 2563
 
All Blogs
 
น่าน น้าน นาน (4)

วันนี้ สองคนพี่น้อง ออกตระเวนแถวๆ รอบที่พักครับ

เริ่มจากวัดภูเก็ต วนเวียนแถว อ.ปัว ก่อนที่จะขึ้นเหนือ ไปหามื้อเที่ยงที่ อ.เชียงกลาง แวะชมช่วงบ่ายที่วัดหนองแดง ซึ่งเป็นวัดโบราณสถานไตลื้อ ที่มีศิลปการก่อสร้างเป็นเอกลักษณ์ของตนอย่างชัดเจน



ยามเช้า หลังจากอาบน้ำล้างหน้าแล้ว เปิดหน้าต่างกระท่อมออกมา บรรยากาศที่ค่อนข้างเย็นไหลพรั่งพรูเข้ามาทันใด

มองเห็นไร่ข้าวโพดที่ชาวบ้านปลูกไกลออกไปจนจรดฝายแก้ง  ลงไปเดินเล่นสูดอากาศยามเช้าดีกว่า



กระท่อมที่พัก เป็นกระท่อมไม้ไผ่ก็จริง แต่โครงข้างล่างเป็นเหล็กกล่อง ตั้งบนเสา คสล.อีกต่างหาก ป้องกันปลวกรบกวน มี ทีวี.ผ่านดาวเทียมบริการให้ทุกหลัง แต่สองคนพี่น้องต้องการความสงบจากธรรมชาติ เลยดูแค่รู้ว่ามีช่องอะไรบ้างแล้วไม่สนใจอีก

ส่วนห้องน้ำก่ออิฐถือปูน ไม่ทาสีครับ มีเครื่องทำน้ำร้อนด้วยสิ



จากลานโล่งหน้ากระท่อม ที่สามารถจัดแคมป์ไฟ ปิ้งไก่ได้เป็นอย่างดีนั้นมีกรงเลี้ยงกระต่ายซึ่งเจ้าของรีสอร์ทตั้งไว้อยู่ใกล้ๆ ตัวเบ้อเริ่มเชียว

มองลูกตาพอคุ้นเคยกันดีแล้ว พอดีน้องลงมาสมทบ เลยชวนกันเดินยืดเส้นสายกันหน่อย



จากแท็บเล็ตของน้องผม มีแผนกต้อนรับอีกคู่หนึ่งตามมาเคล้าเคลียต้อนรับอยู่ไม่ห่างจนกระทั่งถึงวันเดินทางกลับ  ทราบจากเจ้าของรีสอร์ทว่า เพิ่งรับมาเลี้ยงก่อนที่เราไปเยือนเพียง 15 วันเท่านั้น หน้าตาดูน่ารัก น่าเอ็นดู

วันถัดไป ปรากฎว่าดีแตก ไปคาบไก่น้อยที่เลี้ยงไว้ในรีสอร์ทเช่นกัน ทำให้ฝูงไก่แจ้ที่เคยขันรับห้าทุ่มและสองยาม เงียบเชียบตั้งแต่นั้น 



ชวนกันขึ้นไปที่อาคารรับรองจัดการชงกาแฟ กับขนมมื้อเช้า ก่อนนั่งรอผัดผักรวมที่รีสอร์ทบริการให้ฟรี  หากต้องการมื้อกลางวันต้องทำความตกลงขอเป็นมื้อพิเศษต่างหาก



ระหว่างจิบกาแฟร้อน ผมถือโอกาสเก็บภาพโดยรอบบริเวณไปด้วย





ภาพวาดประดับห้องรับรองครับ



ตั้งใจว่าจะเก็บภาพตะวันขึ้นที่เหลี่ยมเขารับยามเช้าสักหน่อย  แต่ลืมข้อเท็จจริงตรงที่ ข่วงโผล่จากเหลี่ยมเขา เป็นเวลาร่วมสองโมงเช้าแล้ว แสงเลยจัดจ้า เห็นจะต้องไปเก็บภาพในช่วงฤดูหนาวกระมัง ?

ก็อีกนั่นแหละ บรรยากาศช่วงนั้นคงมีแต่เมฆหมอกเต็มท้องฟ้า มองไม่เห็นตะวันอีกเช่นเคย



ได้เวลาล้อหมุนประจำวันแล้ว

จุดแรกที่ไปแวะ ที่วัดภูเก็ต ต.วรนคร อ.ปัว อันเป็นตำบลเดียวกันกับตัวอำเภอครับ  ชื่อหรู คล้ายๆ กับชื่อจังหวัดทางใต้ของไทย 

แต่จริงๆ แล้ว เป็นวัดประจำหมู่บ้านเก็ต ตั้งอยู่บนภู เลยได้ชื่อตามนั้น



บรรดาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ท่านเจ้าอาวาสกำหนดให้อยู่นอกเขตพุทธาวาส บริเวณวัดเลยเป็นระเบียบ และไม่อนุญาตให้ตั้งแผงสลากกินแบ่งอีกด้วย

เจอสาขาสำนักที่เคยอบรมมาด้วยสิ ที่นี่ เป็นสาขา 157 โดยใช้อาคารธรรมสภาเป็นสถานที่ฝึกอบรม  เท่าที่สังเกต พี่น้องชาวบ้านจะมีความศรัทธาเหนียวแน่นในการนับถือศาสนามาก แถมเป็นชุมชนไตลื้อด้วย



เดินผ่านประตูเข้าไปยังบริเวณลานวัดอันสวยงาม ร่มรื่นดังภาพ



เจอรูปปั้นหน้าตาพิลึกพิลั่น แต่น่ารักตัวนี้ น้องผมบอกว่า เป็นตัวเหงา   ชื่อคล้ายๆ กับตัวตัว เห-รา ที่กลืนนาคลงท้อง แต่ไม่หมดตัว คงไว้แค่หัวเท่านั้น



ไปสุดที่ลานวัด ซึ่งมีรั้วกั้น มองไปยังทุ่งนาอันกว้างขวาง



มองกันชัดๆ เลยครับ มีร้านจำหน่ายกาแฟ และผลิตภัณฑ์ OTOP ของชาวบ้านตั้งอยู่เบื้องล่างด้วย



มองไปยังชุมชนบ้านเก็ต ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ติดต่อกันทีเดียว



นางแบบขอโพสต์ท่ารับกับสถานที่หน่อย เลยจัดให้ตามคำขอ



ขอแถมอีกสักรูปหนึ่งรับกับต้นตาลที่เบื้องหลัง



สงสัยตั้งแต่แรกเห็นว่า เป็นท่ออะไร ?  เลยเดินไปดูใกล้ๆ ปรากฎว่าเป็นท่อลำเลียงอาหารเลี้ยงปลาลงสู่บ่อที่อยู่เบื้องล่าง

ไอเดียเฉียบจริงๆ



เลยควักเงิน 20 บาท ค่าอาหารปลา ให้นางแบบแสดงท่า ตอบแทนการถ่ายรูปให้เมื่อสักครู่นี้ 



อาหารเม็ดไหลปรู๊ดลงตามท่อไปยังฝูงปลาที่ว่ายชุลมุลหัวแทบชนกันอยู่เบื้องล่าง

บ่อเลี้ยงปลาแห่งนี้มิใช่เป็นระบบปิดครับ มีทางระบายน้ำไปยังลำห้วยในหมู่บ้านซึ่งไหลอยู่ใกล้ๆ โดยมีตะแกรงทำด้วยไม้ไผ่ปิดกั้นอยู่



เสร็จพิธีแล้ว บันทึกภาพเป็นที่ระลึกตรงบันไดลงไปหมู่บ้านข้างล่าง และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP นั่นแหละ



อุโบสถวัดภูเก็ตครับ ขอไปนมัสการหลวงพ่อแสนปัวหรือหลวงพ่อพุทธเมตตา พระประธานประจำวัดก่อน



นมัสการหลวงพ่อแสนปัวหรือหลวงพ่อพุทธเมตตา เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตรับปีใหม่ 2563 ครับ



เดินชมภาพวาดบนผนังแสดงให้เห็นงานประเพณี วิถีชีวิตของชาวบ้านที่ผูกพันกับทางวัด



พอเดินลงมาเบื้องล่าง ผมต้องอึ้งกับภาพที่เห็นในตอนแรกว่าเป็นลานวัดชมทิวทัศน์ แต่กลายเป็นชั้นดาดฟ้าของ เทมเพิล สเตย์ ชื่อว่า ภูเก็ตสนธยา เทมเพิลสเตย์ หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ เป็นลักษณะของ โรงแรมธรรมะ สำหรับผู้ที่มาปฎิบัติธรรม หรือนักนักท่องเที่ยวนั่นเอง  ซึ่งผู้ที่เข้ามาพักจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมร่วมกับการพักผ่อน

โรงแรมธรรมะของวัดภูเก็ตถือเป็นแห่งแรก ในประเทศไทย



ร้านจำหน่ายเสื้อหม้อห้อม แต่น้องผมส่ายหัวบอกว่ามีแล้ว กลับเดินไปซื้อที่อีกร้านหนึ่งแทน  ก่อนไปเที่ยวภายในหมู่บ้านกัน



แผนที่หมู่บ้านครับ มีลายแทงแบบนี้พอคลำทางได้สะดวกหน่อย  มาสะดุดตาตรงที่บอกว่ามีเสาหลักบ้านนี่แหละ แต่คงปรักหักพังไปแล้ว



ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ซึ่งยาวนานนับหลายชั่วอายุคนทีเดียว

และทำให้ผมทราบความหมายของคำว่า ไม้เก็ต ที่เอามาทำหลังคาบ้าน และตามวัดด้วยก่อนที่จะมีวัสดุอื่นเข้ามาแทน



มีเฮินโบราณหลังใหญ่หลังป้าย บอกให้ทราบว่าเป็นศูนย์การเรียนรู้ไตลื้อบ้านเก็ต




เสียดายที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงภายในบ้าน เลยทำได้แต่เมียงๆ มองๆ อยู่รอบบ้านเท่านั้น  มาสมปรารถนาที่เฮินโบราณอีกหลังหนึ่ง หลังวัดหนองแดง อ.เชียงกลาง ในช่วงบ่าย



จากแท็บเล็ดของน้องผมครับ



ขอพักผ่อนอิริยาบทบริเวณขอบสระ ใกล้ไร่ข้าวโพดของหมู่บ้าน ก่อนออกเดินทางต่อไป



วนเวียนดูย่านชุมชนตัวอำเภอปัว เจอกำแพงเมืองโบราณบอกว่า เวียงวรนคร (เมืองพลัว)

ขอเล่าความเป็นมาสักนิด...

ปัว เริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ.1825 ภายใต้การนำของ พญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ต.ยม อ.ท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่

ต่อมา พญาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม 2 คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนคร (เมืองปัว) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

การที่ให้ชื่อว่าเมือง "วรนคร" ก็เนื่องมาจาก พญาภูคา ได้เลือกชัยภูมิที่ดี เหมาะสมในการสร้างเมือง เสร็จแล้วจึงขนานนามว่าเมือง "วรนคร" ซึ่งหมายถึง เมืองดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ภูคา

เมื่อบ้านเมืองวรนครเริ่มมั่นคงเป็นปึกแผ่น เจ้าขุนฟองก็ได้เป็นพญาแล้วเสวยราชสมบัติในเมืองวรนคร มีพระโอรส 1 พระองค์ ใส่ชื่อเบิกบายว่า "เจ้าเก้าเกื่อน"

ต่อมาไม่นานนัก พญาขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานาน และมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองภูคาหรือเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ แต่เจ้าเก้าเกื่อนไม่ค่อยเต็มใจนัก เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่าง และมอบให้ชายาคือ นางพญาแม่ท้าวคำปิน ซึ่งทรงครรภ์อยู่คอยปกครองดูแลรักษาเมืองวรนคร (เมืองปัว) แทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน

ในช่วงที่เมืองวรนคร (เมืองปัว) ว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือ พญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองปัวทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายท่ามกลางท้องไร่นั้น ชื่อว่า "เจ้าขุนใส" ปรากฏว่านายบ้านห้วยแร้งนั้น เป็นพ่อครัวพญาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับนางพญาแม่ท้าวคำปินและกุมารไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ อายุได้ 16 ปี ก็นำไปไหว้สาพญางำเมือง เมื่อพญางำเมืองเห็น ก็มีใจรักเอ็นดูรับเลี้ยงดูไว้ แลเติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองปราดภาย หลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา แล้วกลับมาเป็นพญาเสวยเมืองวรนคร (เมืองปัว) และได้รับการสถาปนาเป็น "พญาผานอง" เมืองวรนคร จึงกลายชื่อมาเป็น เมืองปัว ซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังปรากฏชื่อเมืองปัวอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ 1

พญาผานองเสวยเมืองปัวอยู่ได้ 30 ปี มีโอรส 6 คน คนแรกชื่อ เจ้าการเมือง คนสุดท้องชื่อ เจ้าใส พอพญาผานองถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็อภิเษกให้เจ้าใสผู้น้องเสวยเมืองแทน เพราะเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาด แต่อยู่ได้ 3 ปี ก็ถึงแก่พิราลัยไปอีก เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญ เจ้าการเมือง ขึ้นเสวยเมืองแทน

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด

พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับ เจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ 7 องค์ พระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวด้วย

ครั้งนั้น พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาล และได้เลือกสถานที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่ปางก่อน ดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นเนินไม่สูงนัก ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเตี๋ยนกับน้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่า

จึงได้ระดมผู้คนก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่เนินแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรจุไว้ พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า "เวียงภูเพียงแช่แห้ง" เมือปี พ.ศ.1902 โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ วิกิพีเดียไทยดอทคอม)

หมายเหตุ : อาจเป็นเพราะคนเมืองเหนือมักคุ้นเคยกับการออกเสียง ป แทนคำควบกล้ำ พร พล เช่นชาวภาคกลาง เมื่อแพร่ มักถูกเรียกว่า เมืองแป้ และเมืองพลัว จะถูกเรียกว่า เมืองปัว เช่นนี้แล



ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยัง อ.เชียงกลาง นั้น บังเอิญผ่านหน้า ธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาปัว น้องผมจึงขอบันทึกภาพธนาคารสาขานี้ มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ไม่เหมือนสาขาใดก่อน



ระยะทางระหว่าง อ.ปัว กับ อ.เชียงกลาง นั้น ไม่ไกลเท่าใดนัก อีกไม่นาน สองคนพี่น้องได้มาถึง อ.เชียงกลาง ในอดีต เคยเป็น บก.ส่วนหน้าของกองกำลังทหาร รบกับ ผกค.ในสมัยนั้นอีกด้วย

หลังจากอิ่มอร่อยกับมื้อกลางวันกับร้านอาหารตามสั่งหน้าส่วนราชการประจำอำเภอแล้ว ได้ออกตระเวนชมบ้านชมเมืองจนถึงทางแยกหนึ่งมีป้ายชี้บอกทางไปยังวัดหนองแดง จึงตัดสินใจเลี้ยวเข้าไปชมทันที

วัดหนองแดง เป็นวัดเก่าโบราณของไทยลื้อ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยลื้อ โดยช่างชาวไทยลื้อ (แคว้นสิบสองปันนา) สร้างมาประมาณ 200 กว่าปี มีการบูรณะหลายครั้ง แต่ยังคงรูปร่างลักษณะเดิมไว้มาก

ตัวอาคารผนัง สร้างด้วยอิฐก่อ หนาประมาณ 50 เซนติเมตร สูงประมาณ 3.00 เมตร ผนังก่อเรียบ หน้าต่างสันนิษฐานว่า เจาะเพิ่มเติมและใส่บานทีหลัง

ลักษณะรูปทรงหลังคา ตอนล่างลาดคลุมทั้งสี่ด้าน ตอนบนทรงจั่วตัด แบบวิหาร ทรงโรง ด้านหน้าลาดชายคาทิ้งต่อลงมาคลุมมุขหน้า และตั้งเสารับเป็นแถวสามเสา

มีที่นั่งตรงเฉลียง อิฐก่อครึ่งแผ่น สูง 50 ซม. พื้นมุขหน้าลดลงมาจากพื้นพระอุโบสถ ประมาณสองขั้นบันใด

ด้านข้างทิศเหนือ ต่อชายคาออกมาคลุมทรงประตูเล็กน้อย และเปิดทางออก เช่นเดียวกับด้านหลัง ซึ่งใช้ลักษณะต่อชายคา ออกมาคลุมเช่นเดียวกัน

กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ วันที่ 28 พฤษภาคม 2524

ข้อมูลจาก สำนักงานจังหวัดน่าน



"ลุกไหนมานิ ? กิ๋นข้าวมาล่ะยัง มากิ๋นตวยกั๋นก่ะ" เสียงทักทายจากกลุ่มแม่บ้านที่อยู่เฝ้าบริเวณวัดที่กำลังอิ่มอร่อยกับมื้อกลางวันนั้นทำให้ผมรู้สึกถึงบรรยากาศอันเอื้ออาทรในยามเด็กขึ้นมาทันที

หลังจากได้ปฏิเสธไปเพราะเพิ่่งอิ่มมื้อกลางวันไปแล้ว ยังได้ยินคำเชิญให้ดื่มน้ำคลายร้อนจากแดดที่กำลังแผดเผาอีกแน่ะ

จากรูปลักษณะอาคารของวัดและเจดีย์ที่ปรากฎอยู่ ทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศในภาพถ่ายแคว้นสิบสองปันนา



ประวัติความเป็นมาของวัดครั



ขอเข้าไปนมัสการพระประธานในโบสถ์พื่อความเป็นศิริมงคลตามธรรมเนียม



พี่น้องชาวไตลื้อให้ความนับถือเมล็ดข้าวมาก อันเป็นธัญญาหารให้ชีวิตแก่สรรพสิ่ง  จึงไม่แปลกใจ ที่มีรูปปั้นเมล็ดข้าวนี้เพื่อบูชา



จากคำบอกของแม่บ้านที่เฝ้าวัดว่ามีเฮินโนราณไตลื้อตั้งอยู่บริเวณด้านหลัง น่าเข้าไปชมด้วย  เป็นอันว่าไม่ผิดหวังล่ะ หลังจากที่พลาดโอกาสไปเมื่อช่วงเช้าที่วัดภูเก็ต อ.ปัว



ก่อนอื่นใด ต้องเจอเสาแหล่งหมานี้ก่อน อันถือว่า เป็นกริ่งประจำบ้านสมัยโบราณให้เจ้าของได้รู้ว่ามีใครมาหา (แหล่ง = ล่ามเชือกผูก ถ้าหมาดุ)

จากนั้น จะเจอ "แง๊บคันได" (ประตูปิดบันไดบ้าน) ซึ่งจะเปิดเมื่อเจ้าของบ้านอนุญาตแล้ว



เจ้าของบ้าน จะมีที่นั่งประจำอยู่ "แป้นต่อง" เวลามีแขกมาหา หรือเฝ้าลูกสาวสวยแล้วแต่กรณี

ขอเป็นนายแบบประกอบ หากมี "แลว" (ดาบ) วางไว้ใกล้ตัว จะเห็นภาพได้ดีกว่านี้



พอถึงเวลาอาหาร พ่อแม่จะไปทานบนยกพื้นซึ่งลูกหลานจัดหาให้

หากบ้านใดลูกหลานหุงหาอาหารไม่เป็น จะถูกติฉินนินทา อับอายไปทั้งหมู่บ้านนั่นแหละ เรียกว่าจำหน่ายไม่ออกทีเดียว



จากโบมไม้ที่แขวนอยู่ ทำให้ทราบว่าพี่น้องที่นี่ชอบทานข้าวเหนียว

สมัยเด็ก ผมเคยถูกยายใช้ให้คนข้าวที่ปลดจากไหนึ่งเทลงโบมให้คลายความร้อนก่อนนำลงก่องข้าวไว้ทานต่อไป คิดถึงยามนั้นจริงๆ



ใกล้ชานเรือน จะมี "ฮ้านน้ำหม้อ" (ชั้นวางโอ่งน้ำกิน) เป็นเป็นแหล่งน้ำดื่มประจำบ้าน พร้อมกระบวยที่แขวนอยู่ข้าง

จะให้เหมาะ ต้องเป็นโอ่งดินเผา เพื่อให้น้ำซึมออกมาระบายความร้อนแฝง ยิ่งเป็นโอ่งทีมีคราบตะไคร่น้ำเกาะด้วย น้ำยิ่งเย็นเวลาดื่มโดยเฉพาะหน้าร้อน  จะมีใบหรือสองใบก็แล้วแต่ หากมีน้อยใบ ต้องขยันตักน้ำใส่โอ่งเท่านั้นเอง



ใต้ฮ้านน้ำหม้อ มิได้ว่างโดยเปล่าประโยชน์ จะมี "ฮ้านผักกินม่อ" (รางไม้ปลูกพืชผักสวนครัว) ไว้ด้วย ซึ่งน้ำที่รด มาจากน้ำที่เหลือในกระบวยนั่นแหละ  ผักที่ปลูก นำไปประกอบอาหารประจำวันได้โดยไม่ต้องออกไปซื้อหาตามตลาด เรียกว่าคุ้มค่า ไม่เสียประโยชน์จริงๆ

ในภาพ ชั้นปลูกพืชผักสวนครัวถูกนำออกไปแล้ว เพราะไม่มีใครอยู่คอยรดน้ำให้ทุกวัน



เรือนข้างล่าง หรือใต้ถุนบ้าน จะเป็นที่ตั้งของ "มองตำข้าว" หรือครกกระเดื่อง เพราะสมัยก่อน ต้องตำข้าวกินเอง   มาวายตอนที่โรงสีข้าว มามีบทบาทสำคัญในหมู่บ้านนั่นแหละ และกลายเป็นข้าวสารถุงในที่สุด



ขอเก็บภาพส่งท้ายก่อนกลับมายัง อ.ปัว ครับ



ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปชมเทศกาลขึ้นปีใหม่ของพี่น้องชาวม้ง ที่ ต.ป่ากลาง แต่เห็นว่าคงไม่สะดวก เพราะผู้คนต่างไปชุมนุมกันที่นั่น เลยมุ่งหน้าต่อไปยังวัดชัยมงคล (วัดก๋ง) ต.ยม ปลายเขต อ.ท่าวังผา อันเป็นแหล่งสะสมเครื่องมือของใช้ประจำวันของพี่น้องขาวบ้าน จนสามารถตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เรียกนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศเข้าไปชมดีกว่า 



วัดศรีมงคล (วัดก๋ง) ตั้งอยู่ที่ ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน เป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2395 พระสงฆ์ที่มีชื่อที่สุดของวัดนี้คือ หลวงปู่ก๋ง (พระครูมงคลรังสี) เป็นพระสงฆ์ที่ชาวบ้านในแถบนี้ต่างให้ความเคารพนับถือ

เมื่อปี พ.ศ.2474 คณะศรัทธาชาวบ้านก๋งได้นิมนต์หลวงปู่มาอยู่ประจำที่วัดบ้านก๋ง ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา

เมื่อหลวงปู่ก๋งรับนิมนต์มาอยู่วัดบ้านก๋ง ก็ได้เริ่มพัฒนาวัดโดยชักชวนชาวบ้านบูรณะซ่อมแซมและสร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถ ฯลฯ รวมถึงอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้หมั่นเข้าวัด รักษาศีล ฟังธรรม มีความสามัคคี จนชาวบ้านต่างเคารพศรัทธา และวัดบ้านก๋งก็มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมา

หลวงปู่ได้มรณภาพเมื่อ พ.ศ.2532 สิริรวมอายุ 88 ปี พรรษา 67



ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดบ้านก๋ง คือ พระครูรังสีธรรมานันท์ ที่พัฒนาวัดบ้านก๋งสืบต่อมา

นอกจากจะเป็นแหล่งเผยแผ่พุทธธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของของ อ.ท่าวังผา เนื่องจากความงดงามของวัดและทิวทัศน์โดยรอบ

มี “พิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี” (หอคำหลวง) เป็นเรือนไม้สักทองทรงล้านนา เมื่อขึ้นไปชมด้านบนจะได้พบกับหุ่นเหมือนหลวงปู่ก๋ง และข้าวของโบราณล้ำค่าต่างๆ อาทิ พระพุทธรูป ตู้พระธรรม อาวุธ หม้อไหโบราณ ใบเกิดของคนล้านนาโบราณที่จารึกบนใบลาน เป็นต้น



ด้านหน้ายังเป็นที่ตั้งของกระท่อมไม้ไผ่ ชื่อว่า "เฮือนมะเก่า" (เรือนโบราณ) ภายในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้โบราณ สามารถเข้าไปชมและถ่ายภาพได้



ไก่ตัวเบ้อเริ่มขนาดนี้ ใส่สุ่มจะขังไว้ได้หรือ ?



ขอรำลึกถึงยามเด็กสักเล็กน้อย แต่เป็น "มองตำข้าว" ที่บ้านเพื่อนนะ 



สุขสันต์ย้อนวัยเต็มที่ล่ะ ฮ่า... 



บรรยากาศย้อนยุคแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงที่บ้านยาย ซึ่งประดับด้วยเขาสัตว์แทบทุกต้นในบ้าน

มองจนเพลิน ฟังเสียงนาฬิกาไขลานติดต้นเสา ประกอบกับกระจกหลากสีเหนือบานประตู เผลอหลับไปแทบไม่รู้ตัว 



ท้องนายามแล้ง มองเห็นทิวเขาภูคาอยู่ลิบๆ เลยจากนั้นเป็นเขต อ.สันติสุข จ.น่าน



บริเวณ "กาดอาเขต" จะสวยงามเรียกนักท่องเที่ยวช่วงเข้าหน้าฝนครับ



ขอโพสต์ที่หน้าร้านกาแฟสด "ฮักนาน่าน" สักหน่อย



กับเกวียนเมืองน่าน ซึ่งตัวเรือนเกวียนในแต่ละจังหวัดทางภาคเหนือจะแตกต่างกัน  ลองพิจารณาดูให้ดีเถิด



ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด



เราก็เข้าไปยังอุโบสถบ้างสิ คงเพิ่งผ่านพิธีสวดมนต์ข้ามปีไปไม่กี่วันนี้เอง



ขอนมัสการพระประธานในวัดเพื่อเป็นศิริมงคลตลอดปีใหม่ 2563



ตามคำขอของนางแบบครับ



เก็บภาพสุดท้ายสำหรับตัวเอง   



และรับประทานมื้อเย็นจากร้านอาหารตามสั่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้วัดนั่นแหละ ร้านอาหารติดแอร์ด้วยนะเออ... ทำเป็นเล่นไป



ขากลับผ่านวังศิลาแลง - ฝายแก้ง แต่ขอรายการนี้ไว้ทีหลัง ผ่านไปตามถนนลูกรังขึ้นเนินระหว่างสวนลำไยของชาวบ้าน ไปหยุดที่ลานพระธาตุศิลาแลง

พระธาตุศิลาแลง ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2546 เวลา 11.55 น. ได้ทำการบรรจุพระอรหันตธาตุ วัตถุมงคลตลอดกิ่งไม้มงคล 9 อย่าง ลงไว้ใต้ฐานองค์พระเจดีย์ โดยมีนายอำเภอปัว เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 ได้ประกอบพิธีบรรจุพระพิมพ์ดินเผา จำนวน 84,000 องค์ ไว้ในองค์พระเจดีย์ โดยมี พล.ท.เชิดชัย สร้อยทอง เป็นประธาน

วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้บรรจุพระไตรปิฎก โดยมีนายศักดิ์ชัย จ.ผลิต เป็นประธาน

วันที่ 2 ธันวาคม 2548 ทำพิธียกฉัตร บรรจุพระอรหันตธาตุและอัญเชิญพระพุทธรูป จำนวน 8 องค์ เข้าประดิษฐานในซุ้มตามทิศทั้ง 8 ทิศ ขององค์พระเจดีย์ โดยมี พ.อ.บุญสิน นนทิจันทร์ ผบ.นพค.11 สทภ.3 เป็นประธาน

วันมาฆบูชาที่ 13 กุมภาพันธ์ 2549 เวลา 11.09 น.ได้ประกอบพิธียกฉัตรและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยนายมนตรี ชัยกาญจนกิจ นายอำเภอปัว เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ในการประกอบพิธีทุกครั้ง ได้รับความเมตตาจาก พระเดชพระคุณ พระเทพนันทาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดน่าน เป็นประธาน พระครูวิทิตพิพัฒนาภรณ์ (ครูบามนตรี ธมฺมเมธี) วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี จ.แพร่ พระศรีสิทธิมุณี (พระมหาผล อาภากโร ป.ธ.9) วัดสังเวชวิศยาราม กรุงเทพมหานคร เป็นประธานอุปถัมป์ พระครูสุภัทรนันทคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าเหมือด เป็นประธานดำเนินงาน พร้อมพระภิกษุสามเณร กำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต.ศิลาแลง พร้อมพุทธศาสนิกชน นำโดยนายฐิติ วิริยะกุล กรรมการผู้จัดการ บ้านพิณธนา อ.เมืองฯ จ.อุตรดิตถ์ ร่วมกันก่อสร้างจนแล้วเสร็จ โดยมีนายบุญช่วย ช่างเหล็ก บ้านหัวน้ำ ต.ศิลาแลง เป็นนายช่างดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่แรกจนสำเร็จ



ผมคิดว่าช่างปั้นสิงห์เฝ้าองค์พระธาตุ ฝีมือไม่เบาเลย 



ไม่ได้โฆษณารถยนต์นะครับ เพราะมีอายุใช้งานร่วม 10 ปีแล้ว แค่จอดประกอบฉากเท่านั้นเอง เหอๆ



ถึงคราวช่างภาพ ถูกบันทึกไว้เป็นที่ระลึกบ้างสิ




ต้นดิ๊กเดียม อันเป็นลูกหลานถูกเพาะเลี้ยงจากต้นเดิมที่แพะเมืองผี จ.แพร่

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gordenia turgid Roxb

ชื่อ : กระเบียน กระดานพน จิ๊เดียม มะกอกพราน มุ่ยแดง หมุยขาว กอกฟานซ้อม

ลักษณะต้น : เป็นต้นไม้ยืนต้นสูง 4-10 เมตร เปลือกต้นและกิ่งจะมีสีน้ำตาลออกหม่นๆ และมีลักษณะตะปุ่ม ตะป่ำ ตามกิ่งจะมีหนามแหลม เป็นแบบ Thorn
ใบ : ใบเดี่ยว ยาว 3-10 เซนติเมตร รูปไข่กลับหรือรูปซ้อนใบสีเขียวเข้ม เส้นใบสีเหลืองอมเขียว ออกตรงข้ามและจะออกเป็นกระจุก 1-3 ใบ

ดอก : ดอกเดียว ออกเป็นกระจุกตามกิ่ง ดอกมีสีขาวครีม เป็นดอกที่สมบูรณ์เพศ รังไขเป็นแบบ Inferior ovary มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ดอกจะบานประมาณเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม ดอกจะทยอยบานใช้เวลาประมาณ 10 วัน จึงร่วงหมดต้น

ผล : มีลักษณะกลมขนาด 2-2.5 เซนติเมตร ผิวผลอ่อนจะมีขนนุ่มสีน้ำตาลเข้ม ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก

ต้นดิกเดียม ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนา

การสอบถามและสัมภาษณ์คนเก่าคนแก่ในท้องที่ อ.ปัว จ.น่าน เกี่ยวกับต้นดิ๊กเดียมว่า รู้จักมาตั้งแต่เด็ก มีอายุถึงปัจจุบันประมาณ 100 ปีเศษ โดยการเล่าขานสืบต่อกันมา เป็นต้นไม้ที่ “หมอเมือง” (หมอพื้นเมือง) ใช้เป็นยารักษาโรค และเขียนไว้ในตำรายาพื้นบ้าน ทุกส่วนของต้นดิกเดียว ทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคได้

เสน่ห์ของต้นดิ๊กเดียม ถ้ามีการเกา (ขูด) หรือถูกหยิก จะพบว่ากิ่งก้านบางกิ่งที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า จะมีการสั่นระริก

สำหรับคนเดินป่าอีกประการหนึ่ง คือ เวลาออกดอก ใบจะร่วงเกือบหมดต้น จะส่งกลิ่นหอมเย็นๆ ในช่วงพลบค่ำ จนถึงรุ่งเช้า ดอกที่บานจะทยอยร่วงสู่พื้น และดอกใหม่จะทยอยร่วงอีก ในช่วงพลบค่ำ เป็นเช่นนี้จนดอกบานหมดต้น

การขยายพันธ์ุ

พบทั่วไปในอินเดีย พม่า ซึ่งขึ้นประปรายตามป่าผลัดใบ ขยายพันธ์ุโดยการตอนกิ่ง สกัดราก

ประโยชน์

เนื้อไม้ ใช้ทำเครื่องเรือน

เปลือกต้น แก้ริดสีดวงทวาร

ราก แก้เสมหะเป็นพิษ แก้อาการไม่ย่อย ในเด็ก แก้พิษสุนักบ้า ใช้คุมกำเนิด

ใบ ตำพอกรักษาแผลสด

ดอก กินฆ่าพยาธิ์ ขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน

ผล กินได้

น้ำมันในเมล็ด ทาแก้แผลมะเร็ง โรคเรื้อน

ดิ๊กเดียม ในตำรายาสมุนไพรล้านนา

ตำรายาสมุนไพรของชาวไทยล้านนาภาคเหนือ นิยมบันทึกไว้ในใบลานขนาดสั้นหรือ "ปั๊ปสา" (สมุดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ในอดีต ทำด้วยกระดาษสา) นั้น ชื่อของต้นดิ๊กเดียม เช่น ดิเดียม ดิบเดียม ดิกดอย ดิกเดียม
แต่ส่วนมากนิยมเรียกว่า ดิ๊กเดียม ดังปรากฏในใบลาน เช่น ยาขางสินบาดบนลูก สินบาดไฟ สินบาดลูกในเดือนไฟ หญ้าเยี่ยวหมู อ้อยดำ

ดิ๊กเดียม ลูกฝ้ายดิบ รากคา เอาเท่ากัน ตำแล้ว เอารางเย็น ชะเอม หอยทละ ฝนใส่ “น้ำข้าวจ้าว” ยาขางราก ขางซาง ขางลิดสีดวง ขางไฟ ขางเข้าใส่ ขางเลือด

“เอาถ่านไฟผี รากหมากดูก รางปา เรียวหมอง รากผักคันถง อ้อยช้าง รางเย็น งาช้างนอแรด เขาเยือง ฝนใส่น้ำข้าวจ้าวกินแล….. เป็นขางเลือด หื้อแถบ รากดิ๊กเดียม รากหมากแคว้งเข้าแถบ ”

Cr.เพจพระองค์ครู ไตรเทพ ไกรงู ,ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์

https://watprangschool.blogspot.com/
 


เมื่อเจอของหาดูได้ยากแบบนี้ ต่างคนต่างผลัดเข้าไปสัมผัส ไปชมอย่างใกล้ชิดล่ะ



ผมลองเกากิ่งต้นดิ๊กเดีนมนี ไม่ปรากฎอาการแฮะ อาจเป็นเพราะในช่วงนั้นมีลมพัดก็ได้

จึงชวนกันกลับมาดูวังศิลาแลง - ฝายแก้ง ดีกว่า



วังศิลาแลง ได้รับการขนานนามให้เป็น “แกรนด์แคนยอนเมืองปัว” มีลักษณะเป็นธารน้ำไหลผ่านซอกหินผาที่ลำน้ำกูนไหลผ่าน และกัดเซาะจนเป็นร่องรอยตามการหมุนวนของน้ำ

วังศิลาแลง มีอีกชื่อเรียกว่า "วังบอก" ที่ชาวบ้านเรียกขานกันนานมา สาเหตุที่เรียกตามลักษณะของหิน ที่เป็นช่องทรงกระบอก ทำให้ชาวบ้านเรียกตามกันเรื่อยมาว่า "วังบอก" แล้วภายหลังก็เปลี่ยนเป็นชื่อ "วังศิลาแลง" นั่นเอง



เมื่อปี 2554 เกิดอุทกภัยน้ำป่า พักให้ฝายกั้นลำน้ำกูน ที่หล่อเลี้ยงฃุมชนบ้านหัวน้ำ ต.ศิลาแลง อ.ปัว พังทลาย

ทางกลุ่มอนุรักษ์ป่าศิลาแลงซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดซ่อมแซมฝายแห่งนี้กลับใช้งานได้อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจ จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2543



บอร์ดสรุปคำบรรยาย ที่ทำไว้ต้อนรับคณะดูงาน ยังคงอยู่ให้เห็นครับ



อีกมุมมองกับ "โขมง" ซึ่งผมขอเดาไว้ก่อนว่า เป็นคำท้องถิ่นเรียกสะพานข้ามหัวยกุนที่มีหลังคามุงอยู่ครับ



ชัดๆ กับ "โขมง" แห่งนี้



น้องขอให้ผมขับรถกลับที่พักเอง  ส่วนเจ้าตัวนั้น ขอเดินเลาะตามทุ่งเก็บภาพริมทางไปเรื่อยๆ จนถึงที่พัก



ฝีมือจากน้องผม



ภาพสุดท้ายของฝายแก้ง ในเย็นวันนั้น



ขอพักผ่อนหย่อนใจสักหน่อย



มองทวนแสงไปยังที่พักยามเย็



อีกรูปแบบของที่พัก แต่น้องผมชอบบรรยากาศแบบกระต๊อบมากกว่า 







 


Create Date : 22 มิถุนายน 2563
Last Update : 22 มิถุนายน 2563 10:46:21 น. 4 comments
Counter : 1391 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณKavanich96, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ


 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 23 มิถุนายน 2563 เวลา:4:27:01 น.  

 
ครับผม


โดย: owl2 วันที่: 23 มิถุนายน 2563 เวลา:7:28:50 น.  

 
ไปเที่ยววัดภูเก็ตหน้าฝนได้บรรยากาศเขียวๆสวยมากครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 23 มิถุนายน 2563 เวลา:14:26:29 น.  

 
ผมคิดเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะรูปที่เห็นส่วนใหญ่มักเป็นรูปในช่วงหน้าฝนแทบทั้งนั้นครับ


โดย: owl2 วันที่: 23 มิถุนายน 2563 เวลา:19:05:02 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

owl2
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add owl2's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.