เมารัก..พอทำเนา แต่เมาแล้วขับ ผิดกฎหมาย!!

สำหรับนักดื่มนักเที่ยวทั้งปวง กินเหล้าแล้วก่อนสตาร์ทรถควรรู้ไว้สักนิดว่า

เมาแล้วขับ เป็นความผิด มีโทษตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 บัญญัติว่า

"มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถ
...
(2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
..."

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า

"มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าสองปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่"

พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 10 ) พ.ศ. 2557 บัญญัติว่า

"มาตรา 142 เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถในเมื่อ
(1) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา

(2) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา 43 (1) หรือ (2) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถ ในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่

ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจกักตัวผู้นั้นไว้ดําเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จําเป็นแห่งกรณี เพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หากผู้นั้นยอมให้ทดสอบและผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืน มาตรา 43 (1) หรือ (2) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที

ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้น ยังไม่ยอมให้ทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา 43 (2)

การทดสอบตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง"

อ่านมาตั้งยาว สรุปคร่าวๆ ว่า

- เมาแล้วขับ >> จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ + พักใบอนุญาตขับขี่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ (พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง)
- เมาแล้วขับ + คนอื่นบาดเจ็บ >> จำคุก 1-5 ปี + ปรับ 20,000- 100,000 บาท + พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ (พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสอง)
- เมาแล้วขับ + คนอื่นบาดเจ็บสาหัส >> จำคุก 2-6 ปี + ปรับ 40,000-120,000 บาท + พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปีหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ (พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสาม)
- เมาแล้วขับ + คนอื่นตาย >> จำคุก 3-10 ปี + ปรับ 60,000-200,000 บาท + เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ (พรบ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสี่
- ไม่ยอมให้ตรวจแอลกอฮอล์ = สันนิษฐานว่าเมาแล้วขับ

ยังไม่รวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และกรณีที่อาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นะครับ
ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่เกิน 50 mg% เป็นจุดตัดว่าเมาแล้วขับหรือไม่

เพราะว่า ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด มีผลโดยตรงกับโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ กล่าวคือ

ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 20 mg% โอกาสเกิดอุบัติเหตุ ใกล้เคียงกับคนไม่ดื่มสุรา
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 mg% โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 2 เท่า เทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 80 mg% โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 3 เท่า เทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 mg% โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 6 เท่า เทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 150 mg% โอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มเป็น 40 เท่า เทียบกับคนที่ไม่ดื่มสุรา
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 mg% ไม่สามารถวัดได้ เนื่องจากควบคุมการทดลองไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3966/2549

การที่จำเลยขับรถยนต์สามล้อขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถยนต์สามล้อด้วยความเร็วในขณะเมาสุราจนไม่สามารถควบคุมบังคับรถได้ตามปกติแซงรถจักรยานที่ผู้ตายขี่ ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์สามล้อของจำเลยเฉี่ยวชนรถจักรยานของผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340/2554

โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าว กล่าวถึงการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 โดยชัดแจ้งแล้วการที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี ย่อมหมายถึงมาตรา 160 ตรี ที่เพิ่มเติมแล้วนั่นเอง แม้โจทก์ไม่ได้อ้าง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ก็เป็นเพียงโจทก์อ้างบทกฎหมายไม่ครบถ้วนชัดเจนเท่านั้น และถือว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี ซึ่งเพิ่มโดย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 มาตรา 11 แล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ความเข้าใจที่ว่า ดื่มนมเปรี้ยวเคี้ยวหมากฝรั่ง ดมยาดม กินลูกอมดื่มน้ำเยอะๆแล้วไปฉี่บ่อยๆ ก่อนการเป่า ช่วยลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้นั้น ช่วยได้จริง แต่..

แต่..

แต่..

ไม่ได้ช่วยถึงขนาดให้เป่าแล้วรอดเครื่องตรวจหรอกนะ

ส่วน ใส่หน้ากากกันฝุ่นอ้างว่าไม่สบาย เพื่อเลี่ยงการเป่า แผนนี้หมดสิทธิ์ใช้ละ เข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายเลยว่าเมา

วิธีที่น่าจะได้ผลมากที่สุด คือ งดการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 15 นาที ก่อนการขับขี่หรือควบคุมยานพาหนะ และไม่ควร รับประทานยา หรือใช้สเปรย์ระงับกลิ่นปากก่อนการขับรถเพราะอาจมีผลต่อการตรวจวัดได้

ในกรณีที่ถูกตรวจแล้วพบว่า มีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 mg% หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่มากนัก และผู้ที่ถูกตรวจไม่แน่ใจในผลการตรวจวัดฯ หรือคิดว่าตัวเองไม่เมาเหล้าถึงขนาดนั้น ผู้ที่ถูกตรวจมีสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่จะร้องขอการตรวจพิสูจน์ได้โดยวิธีการตรวจจากปัสสาวะ และตรวจวัดจากเลือด โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจวัด ซึ่งการตรวจวัดนี้จะกระทำภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย

ด้วยความปรารถนาดี




Create Date : 29 มิถุนายน 2558
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:48:57 น. 0 comments
Counter : 1386 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com