คำว่า วิปัสสนานุบาล ไม่เคยมีปรากฎเป็นพุทธบัญญัติ
เราไม่ควรบัญญัติ และไม่ควรถอนบัญญัติ ตามมติของตน
มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้

สงฆ์ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติ
ไม่ถอนพระบัญญัติตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแล้ว
สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว...


นั่นคือต้องเคารพในสิกขาบทที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้
เพื่อป้องกันมิให้พระสัทธรรมปฏิรูปไปตามกาลเวลา

เมื่อกาลเวลาได้หมุนเวียนเปลี่ยนไป ความเชื่อถือ ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาพลอยถูกบังคับให้เปลี่ยนแปรไป ตาม "ภาษาลวงโลก" ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาใหม่ โดยนำมาใช้ในการสร้างมิติแห่งภาษาขึ้นมาให้ฟังแล้วน่าเชื่อถือ

เพื่อให้มีความรู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ควรมุ่งเน้นไปที่เรื่อง "วิปัสสนาปัญญา" เป็นสำคัญ เพราะเป็นทางปฏิบัติที่ง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่เคร่งเครียด ไม่แข็งๆ ทื่อๆ เหมือนกับการนั่งสมาธิกรรมฐานภาวนา เพียรเพ่ง เดินจงกรม ที่ก่อให้เกิดความเคร่งเครียด ลำบากกาย-ใจของตน

โดยได้มีการบัญญัติศัพท์แสงใหม่ๆ ที่ฟังแล้ว เก๋ เท่ ขึ้นมาในพระพุทธศาสนา ด้วยคำว่า "วิปัสสนานุบาล" ทั้งๆที่ไม่เคยปรากฎว่าพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ หรือได้ทรงตรัสสั่งสอนไว้ในที่ใดเลย

เพื่อความถูกต้องตามหลักเหตุผลความจริง ที่ปฏิบติตามแล้วทำให้เกิดวิมุตติหลุดพ้น และตรงต่อหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยไม่เป็นไป ไม่หลงไหล และสับสนไปกับ "ภาษาลวงโลก" ที่เป็นเพียงมิติเชิงซ้อนในทางภาษาอันหาสาระมิได้

คำว่า "อนุบาล" นั้น ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง "ตามเลี้ยงดู ตามระวังรักษา"

ส่วนคำว่า "วิปัสสนา" "วิ" มาจากคำว่า "วิเศษ" "ปัสสนา" คือ "การรู้เห็น" รวมความแล้วหมายถึง "การรู้เห็นอย่างวิเศษ" หรือ "การรู้เห็นตามความเป็นจริง"

แม้ความหมายของคำว่า "วิปัสสนา" ที่แปลว่า "รู้เห็นตามความจริง" ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากความเพียรในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนานั้น ก็เปลี่ยนไปจากความหมายที่พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้

"การรู้เห็นตามความเป็นจริง" หรือการเห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา) นั้น คือการได้รู้ได้เห็นตามความเป็นจริง ถึงคุณภาพความสามารถที่จิตตน มีกำลังสติ ลด ละ เลิก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในรูป-นาม (ขันธ์ ๕) ลงได้ ด้วยจิตที่สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เที่ยงตรง คงที่ เป็นเรื่องของ "จิตตานุปัสสนา" ที่ควรต้องอนุบาลรักษาเอาไว้ เป็นเรื่องที่ตรงทางเข้าทำลายถึงตัวกิเลส

ได้มีการแปลงความหมายของ "วิปัสสนา" ในปัจจุบัน เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง ที่เป็นไปตามกิเลส ตัณหาความทะยานอยาก อุปาทานความยึดมั่นถือมั่น เชื่อในความคิดติดในความรู้สึกที่ตกผลึกแล้วว่า เป็นการคิดแบบมีสติมากของตน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความฉลาดในการคิด หรือที่เรียกว่า "รู้จักคิดอะไรที่ฉลาดๆ" ว่านั้นแหละคือ "วิปัสสนา" ทั้งที่เป็นเพียง "สัญญาอารมณ์" นั่นเอง (คิดเอา)

"การอนุบาล" นั้น คือ การตามเลี้ยงดู การตามระวังรักษา ได้มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า จงตามระวังรักษาจิตของตน ให้มีสติระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก (ไม่ใช่นาทีละครั้ง) เพื่อความเที่ยงตรง คงที่ ต่อการรู้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ต้องกังวลว่า "หายใจไม่เป็น" โดยความเป็นจริงแล้วไม่มีใคร "หายใจไม่เป็น" เพียงขาดการระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจเท่านั้น

"การรู้เห็นตามความเป็นจริง" ของปุถุชนคนทั่วไป ความรู้เห็นนั้นมักเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาครอบงำจิตของตน ย่อมไม่เที่ยงตรง คงที่อยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ มีพระพุทธพจน์ดังนี้

"ท่านผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้ยากแท้
ละเอียดลออ พลันตกไปในอารมณ์ที่น่าปรารถนา
จิตที่คุ้มครองไว้ได้แล้ว นำความสุขมาให้"

"ผู้มีปัญญาย่อมกระทำจิตอันดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษาได้ยาก
ห้ามได้ยาก ให้ตรง เหมือนช่างศร ดัดลูกศร ฉะนั้น"


ส่วน "การรู้เห็นตามความเป็นจริง" ของบุคคลผู้ที่มีจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวนั้น มีพระพุทธพจน์ตรัสรับรองไว้อย่างชัดเจนแล้วในพระสูตรว่า "ภิกษุทั้งหลาย การจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้นั้น ต้องระวังรักษาจิตของตนให้มีสมาธิสงบตั้งมั่น เที่ยงตรง คงที่ ได้ในระดับ "สัมมาสมาธิ" ในญาณที่ ๑ เป็นอย่างน้อย" หมายความว่าต้องประคองจิตของตนให้เข้าสู่ญาณที่ ๑ ได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วเป็นวสี

การจะอนุบาล ควรปฏิบัติตามพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ดีแล้ว หรือตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ควรฝึกฝนอบรม "จิตตานุบาล" หรือ "จิตตานุปัสสนา" เท่านั้น เพราะคำว่า "วิปัสสนานุบาล" ไม่มีปรากฎในพระพุทธพจน์ แถมยังปฏิบัติตามจริงได้ยาก

"การรู้เห็นตามความเป็นจริง" แบบที่มีการพยายามอธิบายเอาไว้ว่า ง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่เคร่งเครียดนั้น เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงด้วย "สัญญาอารมณ์" (ความรู้สึก)

เพราะการจะรู้เห็นตามความเป็นจริงที่ถูกต้องนั้น ต้องรู้เห็นตามความเป็นจริง ตามที่มีมาใน "อนัตตลักขณสูตร" จนจิตของตนเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้จริง เห็นในสิ่ง (ขันธ์ ๕) ที่ไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่า นั่นเป็นทุกข์ และที่สำคัญคือ พึงเห็นว่าสิ่งนั้น (ขันธ์ ๕) "ไม่ใช่ตนของเรา"

เมื่อมีที่ "ไม่ใช่" ต้องมีที่ "ใช่" เป็นทวินิยม เพื่อให้ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ "ไม่ใช่" นั้น ล้วน "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์" ส่วนที่ "ใช่" นั้น ต้อง "เที่ยงตรง คงที่ เป็นสุขโดยปราศจากอามีส" จึงจะได้ชื่อว่ามี "ปัญญา"

การที่จะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ตรึกนึกเอา หรือ "รู้สึกว่าใช่" ก็เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว นั่นเป็นเพียง "สัญญาอารมณ์" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึกจากการฟัง อ่าน จำ นึกคิดเอาเอง

ขอนำคำเทศนา เพียงบางส่วนของ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต มาให้พิจารณากัน
"การที่เราจะพิจารณา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้นี้ เราต้องมีสมาธิ เพราะอะไร...เพราะถ้าไม่มีสมาธินี้ กิเลสมันมีแรงมาก มันจะไม่ยอมให้เราพิจารณา แต่พอเราทำใจให้สงบนี้ กิเลสถูกตัดกำลังลงไป เราก็...สามารถสั่งให้ใจคิดไปทาง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้..."

นี่แหละ คือ...สมาธิที่สนับสนุนปัญญา เมื่อจิตยังไม่สงบ ผลปรากฎที่แสดงออกมา ล้วนเป็นเรื่องโกหกพกลมให้หลงเชื่อทั้งนั้น


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 31 มกราคม 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:57:21 น.
Counter : 867 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์