ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญา


ปัญญาที่แฝงด้วยสัญญา


เมื่อพูดถึงเรื่องปัญญาในปัจจุบัน คนที่ได้พบประสบความสำเร็จมีธุรกิจใหญ่โต มีความตั้งใจ มีความขยันได้ปริญญาบัตรต่อท้ายมากมายหลายแบบ พูดจาคล่องแคล่วไพเราะ โต้วาทีเก่งกาจเฉียบขาด ในทางวัฏฏะมักเป็นบุคคลที่ได้การยกย่องยอมรับจากสังคมว่า เป็นผู้มีปัญญาดี มีความสามารถ จดจำอะไรต่างๆ ได้มากมาย มีสัญญาดี สมองดี คิดเป็น เล่งเห็นอนาคต นี่เราเรียกได้ว่ามี "ปัญญาในทางโลก" ส่วนในทางธรรมที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ เรียกว่าเป็นผู้มี "สัญญา" ดี

แต่ที่สำคัญเป็นสาระอย่างยิ่งคือ ปัญญาทางโลกหรือสัญญาดังกล่าว ย่อมแตกต่างไปจาก "ปัญญาในทางธรรม" เป็นคนละเรื่องกันเลย

เพราะปัญญาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติยกย่องไว้ว่าเป็นเลิศนั้น เป็นวิราคธรรม เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นของจิต จากอุปกิเลสที่เป็นแขกจรทั้งหลาย เป็นความสามารถของจิตในการปล่อยวางอารมณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ออกไปจากจิตของตน หรือที่เรียกว่า "การสลัดคืน" เป็นการสลัดอารมณ์ทั้งหลายกลับคืนสู่โลก เป็นปัญญาเพื่อความพ้นโลก เหนือโลก ฯลฯ ที่เรียกว่า "โลกุตตระธรรม" เป็นปัญญาที่ทำให้สังคมกลับสู่ความสงบสันติ ร่มเย็น ไม่เบียดเบียนกัน

ย่อมแตกต่างไปจากปัญญาทางโลก (สัญญา) ยิ่งมีมาก ยิ่งรู้มาก ยิ่งเกิดความวุ่นวายสับสน เอารัดอาเปรียบกันแบบถูกทำนองคลองธรรมในทางโลก บุคคลดังกล่าวล้วนเก็บงำอารมณ์ได้เก่ง ไม่แสดงออกให้เห็นได้ง่ายๆ ยิ่งต่อหน้าบุคคลอื่นด้วยแล้ว ยิ่งระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ภายในจิตของตนนั้น กลับรุ่มร้อน สับสนวุ่นวาย ซัดส่ายไปทั่ว เป็นการ "เก็บงำอารมณ์" ไว้ ไม่ใช่การ "ปล่อยวางอารมณ์" สลัดออกไป เมื่อเผลอไผลได้ที่เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ ก็จะมีการระเบิดอารมณ์ออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ขนาดผู้ที่เป็น "ด็อกเตอร์" มีปริญญาพ่วงท้ายหลายใบ แต่ด้วยความโกรธครอบงำ เผลอเอาไม้กอฟล์ตีภรรยาจนตายคาไม้ ยอมรับว่าตีแรงไปหน่อยด้วยความโกรธหลง

อย่าปล่อยให้ "สัญญา (ปัญญาในทางโลก)" มาครอบงำ "ปัญญาในทางธรรม" จนมองไม่เห็นสัจธรรมความจริง ๔ ประการ เพราะตำราที่รจนาขึ้นมาในภายหลังนั้น มักสอนให้ศึกษา จดจำ ให้คิดเป็น เล่งเห็นอนาคตได้ (ฝัน) ความรู้เพียงแค่นี้ก็คิดกันไปเองแล้วว่า จิตของตนเองมีคุณภาพเพียงพอแล้ว

ต่างจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่สอนให้ "หยุดเป็น เย็นได้" สังขารความนึกคิดไม่สามารถปรุงแต่ง ปิดอารมณ์ไม่ให้เข้ามาครอบงำจิตของตนได้ ปล่อยวางอดีต อนาคตเสีย

"ไม่เชื่อถืออารมณ์ ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ รู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ เป็นผู้สิ้นหวัง คลายความหวัง ย่อมเป็นบุรุษอันสูงสุด ดังนี้" (พระพุทธพจน์)

จากพระพุทธพจน์ดังกล่าว จิตไม่เชื่อถืออารมณ์ได้นั้น ต้องเป็นจิตที่ผ่านการอบรมจิต ด้วยภาวนามยปัญญา จนจิตมีสติ สงบตั้งมั่นได้ กิเลสที่เป็นแขกจรคงหลอกจิตของตนให้เชื่อได้ยาก แต่การที่จะไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ และรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้นั้น จิตต้องมีสติ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วย จิตจึงมีกำลังมากพอในการปล่อยวาง ไม่กระทำตอบต่ออารมณ์ หรือรู้จักตัดเงื่อนต่อของอารมณ์ได้ โดยการตรึกธรรมเฉพาะหน้า พิจารณาเห็น "เหตุแห่งทุกข์ คือสมุทัย" จิตมีกำลังพร้อมละเหตุแห่งธรรมนั้นได้


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 06 เมษายน 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 12:40:33 น.
Counter : 775 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog