สติ-สัมปชัญญะ เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก หาใช่เจตสิกธรรมไม่


สติ-สัมปชัญญะ เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก หาใช่เจตสิกธรรมไม่


ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องหวนกลับมาสำรวจพิจารณาตนเองบ้าง เช่นเดียวกันกับเมื่อดูหนังดูละคร ล้วนเป็นเรื่องของโลก แล้วต้องย้อนกลับมาพิจารณาดูกาย-ใจของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมล้วนๆ

หากเรายังเต้นไปตามจังหวะจะโคนของตัวละครนั้นๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเข้ามาในชีวิต จิตของตนก็ย่อมซัดส่ายไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น มีทั้งสุข-ทุกข์ ดีใจ-เสียใจ เศร้าโศกร่ำไรรำพรรณตามบทบาทนั้นๆ ไปด้วย เพราะยังมีตัณหาอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นเข้ามาครอบงำจิตของตน

การจะลด ละ เลิก ให้หลุดพ้นจากตัณหาอุปาทานความรู้สึกนึกคิดให้ได้นั้น เราควรต้องพินิจพิจารณา เพื่อเพียรพยายาม ลงมือปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสสอนไว้ดีแล้ว ในเรื่อง ธรรมที่มีอุปการะมาก ๒ ประการ

เมื่อกล่าวถึง ธรรมที่มีอุปการะมาก(สติ-สัมปชัญญะ) มักมีผู้นำไปตีความให้สติ-สัมปชัญญะ ซึ่งเป็น "ธรรมที่มีอุปการะมาก" เป็น "เจตสิกธรรม" คือเป็นธรรมเครื่องปรุงแต่งประกอบจิต ทำให้ "จิตเกิด-ดับ" ไปตามความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาผัสสะ จนจิตของตนเสียคุณภาพไปด้วย

โดยความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถนำเอา "ธรรมที่มีอุปการะมากทั้ง ๒" เข้าไปรวมอยู่ในเจตสิกธรรมได้เลย เพราะอะไร?

ก็เพราะว่าสติ-สัมปชัญญะนั้น เป็นธรรมที่เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมได้กระทำให้มาก เจริญให้มากดีแล้ว ย่อมเป็นธรรมที่แก้เจตสิกธรรมทั้งหลายโดยตรง ไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ให้เข้ามาปรุงแต่งจิต หรือครอบงำจิตของตนได้เลย ทำให้จิตของตนมีคุณภาพ

การปฏิบัติ "สัมมาสติ" ใน "อริยมรรคมีองค์ ๘" ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วใน "มหาสติปัฏฐาน ๔" นั้น เป็นการหยิบยกเอา กาย เวทนา จิต ธรรม ขึ้นมาพิจารณา เพื่อสร้างสติปัฏฐาน (ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง) ให้เกิดขึ้นที่จิตของตน

ในโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้วในวันเพ็ญมาฆะบูชา ล้วนเป็นธรรม ณ ภายใน คือเป็นการย้อนกลับเข้ามาพิจารณาดูกายใจตนเองทั้งสิ้น ส่วนวิธีปฏิบัติที่พระพุทธองค์ท่านได้ทรงวางหลักสั่งสอนไว้ เพื่อทำให้สามารถย้อนกลับมาดูกายใจตนเองได้ชัดๆ นั้น เป็นไปตามการปฏิบัติธรรมใน "มหาสติปัฏฐาน ๔" ล้วนๆ มีคำสั่งสอนไว้ดังนี้

อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา
จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา
สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงฺคา ภาวิตา พหุลีกตา
วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำ "สติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์"
สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำ "โพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์"
โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆ แล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำ "วิชชา จิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์"


การปฏิบัติอานาปานสตินั้น จะช่วยทำให้จิตผู้ปฏิบัติมีพลังสติ ถอนความยึดถืออารมณ์และความรู้สึกนึกคิดถึงอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแล้ว จิตย่อมมีพลังปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย รวมทั้งความคิดถึงอารมณ์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด

เมื่อทำเช่นนี้แล้ว จิตก็จะหลุดพ้นจากการครอบงำของอารมณ์ นั่นคือ อารมณ์(เจตสิก) ไม่สามารถปรุงแต่งจิตใจของตนได้อีกต่อไป และลมหายใจเข้าออกที่มีสติคอยกำกับอยู่ตลอดเวลา ก็ย่อมเคลื่อนไหวเข้าออกราบเรียบ แผ่วเบา ประณีตตามไปด้วยเป็นธรรมดา

ซึ่งเป็นการย้อนดูกาย-ใจของตนเอง ล้วนเป็นธรรมอันเป็นภายในกาย เพื่อทำให้ "จิตของตน" เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปล่อยวางและหลุดพ้นจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่จิตของตนเคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ได้

สติของพระอรหันต์ตื่นอยู่เสมอ เรียกว่า สติตื่นเป็นชาคโร ไม่ดับ ดังนั้น กิเลสจึงไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้เลย

ส่วนสามัญชนนั้น สติไม่ตั้งอยู่อย่างต่อเนื่อง ขาดตอนจากการตั้งที่ฐานที่ตั้งสติ กิเลสจึงเข้าครอบงำจิตตอนที่ขาดตอนไปได้ เรียกว่า เผลอ นั่นเอง

ท้ายสุดนี้ การเวียนมาบรรจบครอบรอบวันสำคัญต่างๆ ที่ผ่านมาในแต่ละปี สิ่งต่างๆ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนต้องขึ้นอยู่กับกาลเวลา คือ ถูกกาลเวลาครอบงำอยู่ แต่ทว่า หากเราเดินตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ที่ทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว ย่อมทำให้พ้นจากกาลเวลา เป็น "อกาลิโก" ไม่ขึ้นกับกาลเวลา เป็น "ปัจจุบันธรรม" ที่แท้จริง



เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 01 มกราคม 2558
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2558 8:02:34 น.
Counter : 868 Pageviews.

1 comments
  


ขอให้มีความสุขมากๆนะค่ะ

โดย: Opey วันที่: 1 มกราคม 2558 เวลา:23:44:15 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์