Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
ธันวาคม 2561
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
28 ธันวาคม 2561

หลวงพ่อฉันสมอ : วัดอัปสรสวรรค์



ผมมักจะบ่นเสมอว่า ช่วงสงกรานต์คือสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายที่สุด
การสาดน้ำคนที่ไม่รู้จักการเป็นวัฒนธรรมที่รัฐส่งเสริมเพื่อดึงดูดรายได้
แต่กระนั้นก็มีเพียงช่วงวันสงกรานต์เท่านั้นในรอบปีที่วัดอัปสรสวรรค์
จะเปิดให้ประชาชนกราบสักการะพระพุทธรูปสำคัญ หลวงพ่อฉันสมอ

ผมไปวัดนี้ประมาณ 3 ครั้ง แต่กลับมีอาถรรพ์ว่า ผมหารูปไม่เจอสักรูป
เหมือนกับว่า ไม่ได้เอา memory card ออกจากล้องมาเข้าคอมพิวเตอร์
คนบอกไม่เป็นไร เพราะกลับไปถ่ายใหม่อีกก็ได้นี่นา แต่ปัญหาก็คือ
รูปหอไตรวัดนี้ไว้ตั้งแต่ก่อนบูรณะ กำลังบูรณะ จนเป็นแบบในปัจจุบัน

มันไม่สามารถย้อนเวลากลับไปถ่ายมาได้อีกแล้ว
ดังนั้นรูปที่เห็นทั้งหมดใน blog ได้มาจาก internet ทั้งสิ้น
ยกเว้นรูปสุดท้าย ที่เป็นภาพหอไตรวัดปากน้ำเท่านั้น



วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดแต่เดิมมีชื่อว่า วัดหมู
กล่าวกันว่าได้สร้างในที่ดินที่เคยใช้เลี้ยงหมู บ้างก็ว่าเศรษฐีจีนชื่ออู๋ เป็นผู้สร้างวัด
ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดอู๋บ้าง วัดจีนอู๋บ้าง แล้วเพี้ยนไปจนติดปากว่า วัดหมู

ครั้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมน้อย ผู้เป็นธิดาของเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม)
ใคร่จะปฎิสังขรณ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บิดา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
ให้สถาปนาใหม่ทั้งวัด และพระราชทานนามว่า วัดอัปสรสวรรค์

เพื่อเป็นที่ระลึกแด่เจ้าจอมน้อย ซึ่งมีความสามารถในการแสดงละครเรื่องอิเหนา
เป็นตัวสุหรานากงได้ดี จนมีฉายาเรียกกันว่า เจ้าจอมน้อยสุหรานากง
นอกจากนี้ยังได้พระราชทาน พระพุทธรูปปางฉันสมอ มาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ด้วย

พระพุทธรูปปางฉันสมอ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงได้มาจากเวียงจันทร์ในคราวสงครามเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. 2370
พร้อมกับพระบางและพระแซกคำ เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้ว ได้ทำการฉลองสมโภช
และได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ในพระวิหารพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม



สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสาะแสวงหาพระพุทธรูปเก่าแก่
ไปเก็บไว้ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเสด็จมาประพาสที่วัดอัปสรสวรรค์
พระองค์ทรงได้พบพระพุทธรูปฉันสมอ ทรงเห็นว่ามีพุทธลักษณะแปลกกว่าองค์อื่น
จึงได้ขอกับเจ้าอาวาส ว่าต้องการนำเข้าไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง

พระครูพุทธพยากรณ์ได้ฟังพระกระแสรับสั่ง ไม่กล้าขัดพระกระแสรับสั่ง
เมื่อกลับไปถึงพระบรมมาหาราชวังพระองค์ทรงให้โหรหลวงหาฤกษ์มงคล
ที่จะอาราธนาพระพุทธรูปฉันสมอมาไว้ในพระบรมมหาราชวัง
ถึงกำหนดไปรับหลวงพ่อฉันสมอ เกิดเหตุอัศจรรย์ ฝนตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ทั้งที่ในระยะนั้นไม่ใช่ฤดูฝนแต่อย่างใด กล่าวกันว่าทั้งพระสงฆ์ และชาวบ้าน
ต่างมีความเสียดายพากันไปกราบไหว้องค์หลวงพ่อให้ประดิษฐานอยู่ยังวัดนี้ต่อไป
เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ชาวบ้านในถิ่นนั้น ขบวนที่จะเดินทางไปอาราธนาองค์หลวงพ่อฉันสมอ
ไม่สามารถออกเดินทางมายังวัดอัปสรสวรรค์ได้ เพราะฝนได้ตกลงมาอยู่ตลอด 3 วัน 3 คืน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตรัสว่า เมื่อไม่ยอมไปพระบรมมหาราชวัง
จะอยู่ที่นี่ก็ตามใจ และตรัสกำชับเจ้าอาวาสให้เก็บรักษาให้ดี ถ้าเป็นอะไรไปจะปรับผิด
กับเจ้าอาวาส หลวงพ่อก็เลยเก็บรักษาองค์พระตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



พ.ศ. 2508 ทางวัดและสาธุชนทั้งหลายปรารภกันว่า หลวงพ่อฉันสมอ
เป็นพระพุทธรูปที่ได้พระราชทานคู่มากับวัดอัปสรสวรรค์
สมควรจะได้อัญเชิญมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาบ้าง
จึงร่วมกันนำลงมาสรงน้ำเนื่องในวันสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ทุก ๆ ปี

ในความคิดของผม ที่เรียกว่า พระปางฉันสมอ น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3
เป็นยุคที่ศาสนาเฟื่องฟู ด้วยบ้านเมืองนั้นปลอดจากศึกสงคราม
สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสได้เป็นผู้ที่คิดพระพุทธรูปปางต่างๆ จากพุทธประวัติ
เพื่อเป็นการเผยแพร่สืบสาน แทนที่จะมีแต่ปางมารวิชัยในพระอุโบสถเท่านั้น

นั้นจึงเป็นที่มา ว่าท่านั่งของพระพุทธรูปองค์นี้ ที่มีสิ่งเล็กๆ วางอยู่ในพระหัตถ์
จึงสมควรจะมาจากพุทธประวัติ ตอนเสวยวิมุติสุข เมื่อเสด็จออกจากสมาธิ
ท้าวสักกะเทวราชได้นำไม้สีพระทนต์กับผลสมอมาถวาย ทรงใช้ไม้สีพระทนต์
และเสวยผลสมอนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯยังได้โปรดฯให้ประดิษฐาน
พระปางนี้ไว้ในหอพระสุลาลัยพิมาน วัดพระศรีรัตนศาสดารามองค์หนึ่ง

แต่ถ้าคิดตามประวัติศาสตร์ศิลป์ พระพุทธรูปแบบนี้มีอิทธิพลมหายานจากจีน
ดังนั้น ที่มาที่แท้จริงจึงควรเป็น พระไภยษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าแห่งการรักษาโรค
โดยอยู่ในรูปท่านั่งสมาธิ มีรัตนเจดีย์ บางครั้งเป็นกระปุกยาวางบนพระหัตถ์
ซึ่งเราจะพบมาแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ทรงเป็นพุทธมหายานเช่นเดียวกัน
แต่พุทธลักษณะของพระฉันสมอเป็นแบบพระพุทธรูปของจีน
ดังนั้น พระฉันสมอก็คงได้มาแต่ทางทิศเหนือ ลงมาถึงล้านช้าง



หลายคนได้ยินเรื่อง พระประธานจำนวน 28 องค์ ซึ่งสร้างเพื่อถวายอดีตพระพุทธเจ้า
มีลักษณะและขนาดเท่ากันทั้งหมด ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีร่วมกัน
ที่ฐานของพระพุทธรูปปรากฏพระนามของแต่ละองค์จารึกไว้ทุกองค์
ลักษณะเช่นนี้ถือว่ามีแห่งเดียวในโลก

แต่สิ่งที่ผมสนใจ คือ หอพระไตรปิฎกไม้ตั้งอยู่ในสระน้ำ เป็นหอไตรที่มีทรวดทรงงดงาม
สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร สุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จทอดพระเนตร
แล้วนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อจัดรูปหอเขียนสมัยอยุธยาที่วังสวนผักกาด
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญระดับชาติ
ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2520

หลังคาทรงลดชั้น หน้าและหลังติดช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ปิดกระจกสี
หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีเขียว หน้าบันไม้ปิดทองร่องกระจก
เป็นลายดอกพุดตานใบเทศ มีระเบียงกั้นพนักล้อมทั้ง 4 ด้าน
ฝาผนังตัวหอและเสาระเบียงปิดกระจกสีสอดเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างสวยงาม
เป็นหอไตรหลังเดียว ในกรุงเทพมหานครที่ตกแต่งด้วยการปิดกระจกประดับ

บ้างกล่าวว่าเป็นของสมัยอยุธยา บ้างว่าในรัชกาลที่ 1 บ้างว่ารัชกาลที่ 3
ผมว่า อาคารนี้มีความซับซ้อนมากกว่าที่จะเป็นหอไตรในสมัยอยุธยา



ครั้งแรกที่ผมไป ยังได้ขึ้นไปดูรอบๆ ถ่ายภาพกระจกสีที่ประดับอาคาร
แน่นอนว่าก็หลุดหล่นร่วงหายไปเสียเป็นส่วนมาก
จนกระทั่งได้ข่าวว่า สมาคมสถาปนิกสยามจะเข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์
ซึ่งเป็นหอไตรหลังที่สองหลังจากการดำเนินการมาแล้วที่วัดราชนัดดาราม

ผมได้ไปอีกครั้งในช่วงที่มีการฉลอง หลังการบูรณะเสร็จสิ้นลง
มีการนำเสนอโครงการที่แสดงวิธีการอนุรักษ์โดยการติดบอร์ด
ซึ่งอย่างกล่าวไว้ว่าน่าเสียดายที่ผมหารูปเหล่านี้ไม่เจอเลย
โดยรวมผมว่าดี เพราะความมั่นคงจะช่วยให้อาคารนี้อยู่รอดไปอีกนาน

แต่คำถามในใจ คือทำไมหลังถึงเป็นสีแดง ซึ่งซ้อนกับสีอาคาร
ทำให้ดูแล้วขาดความโดดเด่น และผมก็เห็นว่าแต่แรกมันสีเขียว
ตรงนี้ผมไม่มีความรู้ว่า เดิมหลังคามันสีอะไร ทำไมจึงเลือกอนุรักษ์แบบนี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือกระจกสีที่ประดับโดยการฝังลงไปในไม้นั่นเอง

ผมเชื่อว่าอาคารนี้ควรอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในยุคที่ศาสนาและการค้ารุ่งเรือง
กระจกสีเหล่านี้ เรียกว่ากระจกเกรียบ หากไปมองวัดในสมัยโบราณจะเห็นสีสัน
แต่กระนั้นก็ไม่เคยสะท้อนแดดจ้าเข้าตาผู้คน เพราะชิ้นสีเล็กๆ ที่เห็นไม่ใช่กระจก
แต่เป็นสิ่งที่เลียนแบบ ที่ช่างโบราณรู้จักในชื่อของกระจกเกรียบ



ทำจากแผ่นดีบุกผสมตะกั่วที่บางเรียบฉาบด้วยสีต่างๆ ตามสูตรของช่างโบราณ
จากนั้นช่างจะนำมาตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆเพื่อประกอบเป็นลวดลายฝังลงไปในพื้นผิว
สามารถใช้ประดับหลากหลายงานช่าง ตั้งแต่ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน คันทวย
ซุ้มประตูหน้าต่าง องค์พระพุทธรูป ธรรมาสน์ ตะลุ่ม กระบะ ไปกระทั่งหุ่นละคร

เพื่อไม่ให้สับสนเราจะแบ่งประเภทเป็น 3 แบบ คือ
กระจกแก้ว มีความเหมือนกระจกมากที่สุด จากวิธีการผลิตที่หุงด้วยทราย
โดยผสมน้ำยาสีลงไป ด้านหลังเคลือบด้วยปรอท จะมีความเข็ง หนา ใส
ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ยาก และไม่สามารถโค้งงอได้

กระจกเกรียบ ใช้นิยามสำหรับกระจกสีที่ผลิตในอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์
รวมถึงที่สั่งเข้ามาจากจีน เป็นการดาดแก้วที่มีลงบนแผ่นตะกั่วผสมดีบุก
มีหลายสี เช่น ฟ้า เขียว ขาว เป็นต้น ชนิดแผ่นบางใช้กับงานหุ่นละคร
ชนิดแผ่นหนาสามารถใช้กรรไกรตัดได้ ใช้นอกอาคารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่

แก้วอังวะใช้วิธีผลิตเดียวกับกระจกเกรียบ แต่น่าจะเป็นสูตรของพม่า
ใช้แผ่นตะกั่วที่มีความบริสุทธิ์สูง และสูตรของแก้วที่ใช้ดาด
ก็มักจะให้สีที่หม่นกว่ากระจกเกรียบ ตัดได้ง่าย พับงอได้ ตอกตะปูได้
จุดกำเนิดนั้นมาจากจีนที่ได้เทคนิคมาจากเส้นทางการค้าโบราณที่มาจากเปอร์เซีย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการสร้างวัดอย่างมากมาย การหุงกระจกย่อมไม่เพียงพอ
เป็นไปได้ว่ากรุงเทพ น่าจะมีการสั่งกระจกจีนมาใช้อย่างมากในช่วงเวลานั้น
ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการจัดตั้งหน่วยงานทำเรียกว่า กรมช่างหุงกระจก
โดยมีกรมขุนวรจักรธนานุภาพเป็นเจ้ากรม



หลังสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไม่มีพระราชนิยมที่จะมีการสร้างวัดเหมือนแต่ก่อน
กระจกเกรียบจึงหายไปจากกระบวนช่างไทย รวมทั้งวิธีการหุงกระจก
เมื่อมีการบูรณะพระบรมมหาราชวัง ใน พ.ศ. 2502 จึงเกิดปัญหาว่า
ไม่สามารถหากระจกสีแบบโบราณมาทำการบูรณะซ่อมแซมทดแทนได้

มีเพียงกระจกแบบหนาที่พอจะนำมาซ่อมแซมงานที่ไม่ประณีต เช่นช่อฟ้า ใบระกา
ถ้านำมาใช้กับพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ ก็จะทำให้อาคารสูญเสียความงดงามไป
จึงคงเพียงรักษากระจกสีที่หลงเหลือไว้เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการบูรณะวัดพระแก้ว
ในคราวกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี ก็จึงพบปัญหาเดิม ที่ไม่สามารถแก้ไข

ต่อมาเมื่อมีสถาบันแสงซิงโครตรอนเกิดขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ทรงมีพระราชดำริให้สถาบันทำการศึกษาวิธีการผลิตกระจกเกรียบแบบโบราณ
ซึ่งเป็นหนึ่งชิ้นสำคัญของสถาบันที่มีการนำเสนอในงานวิชาการเมือ พ.ศ. 2554
เรื่องการค้นพบธาตุสำคัญที่เป็นสารให้สีในกระจกเกรียบโบราณของวัดพระแก้ว

เพื่อเป็นการหาหนทางที่จะย้อนกรรมวิธีผลิตกระจกเกรียบให้คืนชีวิตกลับมา

หอไตรวัดอัปสรสวรรค์จึงเปรียบเป็นเพชรเม็ดงามในหอไตรทั้งมวล
ด้วยความโดดเด่นของการใช้กระจกสีประดับลงไปในเนื้อไม้
สร้างความงดงามให้แก่ตัวอาคาร จนมีความงามที่ทรงคุณค่า

ใกล้กันยังมีหอไตรที่มีรูปร่างคล้ายกันอยู่ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
หรือที่นิยมเรียกกันว่า วัดหลวงพ่อสด แต่น่าเสียดายที่ผมไม่มีข้อมูลว่า
หน้าตาดั้งเดิมนั้นเป็นเช่นไร เนื่องจากที่เห็นในครั้งแรกนั้น
ก็ถูกบูรณะโดยการเปลี่ยนไม้ทั้งหลังและทาสีทองทับไปแล้ว

เหลือเพียงลวดลายของกระจังที่ประดับอยู่โดยรอบเท่านั้นที่ยังพอ
จะเป็นหลักฐานให้นักวิชาการค้นคว้าว่าน่าจะเก่าเพียงใด
ความจริงในช่วงวันสงกรานต์ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นงานแห่งหงส์ธงตะขาบหรือการสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์



ภาพหอไตรวัดปากน้ำที่มีรูปร่างคล้ายกันมาก



Create Date : 28 ธันวาคม 2561
Last Update : 28 ธันวาคม 2561 15:51:07 น. 7 comments
Counter : 5587 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณKavanich96, คุณสาวไกด์ใจซื่อ, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ


 
สวยมากค่ะ งานละเอียดยิบเลย


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 28 ธันวาคม 2561 เวลา:16:29:14 น.  

 
เมื่อเย็นรีบวิ่งตามมา อยากได้เจิมสักหน่อย
ป๊าดดดด โดนป้าตุ๊กปาดไปซะ เลยกลับไป
ทำกับข้าวต่อ เตรียมเสบียงกลับบ้านป้า
พรุ่งนี้สักสี่ห้าวันค่ะ

วัดนี้ไม่เคยไปเลย
เคยได้สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ก็ตอน
ที่เค้าอัญเชิญไปที่ท้องสนามหลวง
เรื่องราวในบล็อกนี้ เดี๋ยวไปนั่งอ่าน
อากาศเย็นๆที่บ้านป่าค่ะ

ขอบคุณที่แวะไปก๊อกก๊อกนะคะ
ขอบคุณที่โหวตให้ด้วย

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าค่ะ
ขอให้อยู่เย็นเป็นสุขเสมอนะคะ



โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) วันที่: 28 ธันวาคม 2561 เวลา:19:46:33 น.  

 
วัดไตรภูมิ อุบล โดนต้นไม้ล้มใส่เพราะลมแรง เขาบูรณะหน้าบันติดกระจกสีฟ้าด้วยค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 28 ธันวาคม 2561 เวลา:20:01:01 น.  

 
เคยมีเหตุการณ์ประมาณนี้เหมือนกันค่ะ

รูปที่ถ่าย หาไม่เจอ ยังงงอยู่ทุกวันนี้ แหะๆ

มีโอกาสจะไปไหว้พระที่นี่ดูค่ะ

บันทึกการโหวตเรียบร้อยแล้วค่ะ



บันทึกการโหวต Blog ในวันนี้

ผู้เขียน Blog หมวดเนื้อหา Blog ได้รับโหวต
กะว่าก๋า Literature Blog ดู Blog
ผู้ชายในสายลมหนาว Education Blog ดู Blog
ระบบจะบันทึกคะแนนโหวต เฉพาะการโหวต 10 ครั้งล่าสุดในแต่ละวันเท่านั้น


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 29 ธันวาคม 2561 เวลา:9:39:45 น.  

 
ลืมไป ญี่ปุ่นมีหลายทริปค่ะ

แต่ตอนนี้ขอลงประเทศอื่นก่อน เพราะญี่ปุ่นก็ลงไปไม่ใช่น้อยแล้ว ตอนนี้ปรับเป็นรีวิวเป็นวันๆ แล้วน่าจะดีขึ้นค่ะ ปีหน้าอาจจะมีญี่ปุ่นสักทริป แต่ต้องรอต่อทริปยุโรป เกาหลี เวียดนามกลาง และอื่นๆ ก่อน แหะๆ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 29 ธันวาคม 2561 เวลา:9:40:58 น.  

 
ไปวัดปากน้ำหลายครั้ง วัดนี้อยู่ใกล้กัน ไม่เคยแวะเลยค่ะ พลาดมาก

สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าค่ะ



โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 30 ธันวาคม 2561 เวลา:13:27:42 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ค่ะ


โดย: เจ้าการะเกด วันที่: 5 มกราคม 2562 เวลา:13:06:00 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]