แอ่วเจียงฮาย วันที่ 6 เชียงแสน – เชียงของ (ไร่แสงอรุณ)



ย้อนดูวันที่ 5 ดอยแม่สลอง-เชียงแสน คลิ๊กเลย

วันพุธ 19 ธ.ค.55 

หลังจากเมื่อคืนนอนหลับสบาย เกือบเจ็ดโมงเช้าก็ตื่นมาชมวิวที่หน้าห้องพัก 









ดูวิถีชีวิตชาวบ้านแถวลุ่มแม่น้ำโขงออกทำมาหากิน อิจฉาชีวิตพวกเค้าจังเลยเนอะ











บรรยากาศนี้สุดๆแล้วครับ หมอกอยู่ฝั่งลาวทอดยาวเป็นสายไปตามแม่น้ำโขง ดูสบายตามาก















นั่งชมจนพระอาทิตย์ขึ้น





















เกินคำบรรยายครับ ของจริงสวยกว่านี้หลายร้อยเท่า เสียดายไม่ได้ถ่ายภาพพาโนรามาไว้





ผมนั่งชมพระอาทิตย์ขึ้นเงียบๆ ปล่อยใจสบายๆ ในวันที่ไม่รีบเร่ง แค่นี้ก็พอแล้ว

ประมาณแปดโมงเช้าลงไปกินอาหารเช้าที่โรงแรม ไลน์อาหารก็เหมือนๆทั่วๆไปครับ มีพวกข้าวต้ม กับข้าว น้ำส้ม น้ำชากาแฟ ไส้กรอก ไข่ดาวอะไรก็ว่าไป แต่ชอบอาหารที่ใช้ของมีคุณภาพอร่อยดีครับ









ทำไมเมื่อคืนไม่เห็นอร่อยอย่างนี้เลยอ่ะ 555





นักท่องเที่ยวเมื่อวานดูมีไม่กี่ห้องเองครับ อาจจะเป็นวันธรรมาดามั่งเลยไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ แต่พอตอนเย็น ทัวร์สองรถบัสใหญ่มาลง คึกคักขึ้นมาทันที แต่ดีตรงที่ไม่เสียงดัง ห้องเก็บเสียงดีมาก

หลังจากอิ่มแล้วก็ได้เวลาไปทัวร์เมืองโบราณเชียงแสนกันแล้วครับ เอาแผนที่เมืองโบราณมาประกอบ คลิ๊กเลย





ประวัติเมืองโบราณเชียงแสนคลิ๊กเลย

เชียงแสน เคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาในยุคแรก ๆ และเป็นเมืองเก่าแก่มากแห่งหนึ่งในภาคเหนือ เดิมชื่อเวียงหิรัญนครเงินยาง แม้ปัจจุบันยังมีซากกำแพงเมืองโบราณ 2 ชั้น และโบราณสถานหลายแห่ง ปรากฏอยู่ในทั้งในและนอกตัวเมือง ภายในเขตกำแพงเมืองเก่าประกอบด้วยวัดร้างและโบราณสถานที่สร้างในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-21 สลับกับบ้านเรือนชาวบ้าน การเที่ยวชมควรเริ่มต้นจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน ใกล้กับประตูป่าสัก ติดกันเป็นวัดเจดีย์หลวง ฝั่งตรงข้ามจะเป็นศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวเชียงแสน จากจุดนี้สามารถไปเที่ยวชมโบราณสถานต่าง ๆ ได้ในรัศมีไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร

ประวัติศาสตร์เชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมืองประวัติศตร์ที่ผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบันในเขตจังหวัดเชียงรายที่สำคัญ ได้แก่ เมืองเชียงแสน เนื่องจากมีประวัติความเป็นมาค่อนข้างชัดเจน และยังปรากฏร่องรอยโบราณวัตถุโบราณสถานหลายแห่ง จากหลักฐานโบราณคดีสันนิษฐานว่า การสร้างเมืองคงเริ่มขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ตามที่ระบุไว้ในชุนกาลมาลีปกรณ์ และพงศาวดารโยนก เพราะศักราชดังกล่าวใกล้เคียงกันใกล้เคียงกันมาก รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาสัมพันธ์กับรูปแบบอายุสมัยของของโบราณวัตถุสมัยประวัติศ่สตร์ที่สร้างขึ้นทั้งในและนอกตัวเมืองซึ่งมีอายุหลังกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมาทั้งสิ้น





ตอนแรกตั้งใจจะเอารถจักรยานของโรงแรมปั่นไปเที่ยวตัวเมืองเชียงแสน แต่ต้องไปไหว้พระธาตุจอมกิตติดูแผนที่แล้วอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนประมาณ 5 ก.ม. เลยขับรถไปดีกว่า

ผมออกจากโรงแรมเวลา 09.13 น.ระยะหน้าไมล์ 1,166 ก.ม. ขับเข้าตัวเมืองประมาณหนึ่งกิโล ก็จะเห็นกำแพงเมืองโบราณเชียงแสน เลี้ยวซ้ายวิ่งไปตามถนนรอบเวียงเลยครับ





ถนนรอบเวียงจะมีกำแพงโบราณรอบตัวเมืองเชียงของ แต่ช่วงที่ผมไปกำลังปรับปรุงถนนกันอยู่









ขับเลาะกำแพงไปได้หน่อยจะมีวัดป่าสักหางเวียงอยู่ซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปไหว้พระหน่อยครับ

วัดนี้เป็นวัดไม่ใหญ่มาก แต่ประวัติน่าสนใจเลยครับ วัดป่าสักหางเวียง คลิ๊กเลย

ในอดีตวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปลายรัชสมัยของพระเจ้าแสนภู เจ้าผู้ครองเมืองเชียงแสน ในราวประมาณ พ.ศ. ๖๙๔ เมื่อพระองค์เจ้าแสนภูกลับจากเมืองเชียงใหม่แล้วกลับมาปกครองเมืองเชียงแสนเป็นครั้งที่สอง แล้วมีความดำริที่จะสร้างวัดขึ้นอีกสักวัดหนึ่งเพื่อเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนา จึงได้ตั้งสัจจะอธิฐานแล้วหยาดน้ำลงพื้นดิน ขอให้บังเกิดศุภนิมิตอันประเสริฐที่จะสร้างวัดด้วยเถิด ถึงเวลาราตรีหนึ่งพระองค์เจ้าแสนภูได้ทรงสุบินนิมิตว่ามีแสงทองโพยพุ่งขึ้นและลำแสงนั้นสวยงามเหมือนดั่งเพชรนิลจินดา มีรูปร่างเหมือนกับบอกไฟดอก (ดอกไม้เพลิง) โชติช่วงสวยงามยิ่งนัก

พระองค์ทรงสุบินอย่างนี้แล้วทรงตื่นจากบรรทม พอวันรุ่งขึ้นจึงพร้อมด้วยเสนาข้าราชบริวารออกแสวงหาสถานที่ที่จะสร้างวัดตามทิศทางที่ทรงสุบินนั้น จนกระทั่งพบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นวัดร้างอยู่ติดกับประตูเมืองด้านทิศใต้ ติดกับประตูดินขอ เป็นสถานที่รมนียสถานร่มรื่นยิ่งนัก จึงได้สร้างวัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้นในวันศุกร์ เดือน ๖ เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีเต่าสัน (ปีวอก) สร้างอยู่ ๓ เดือน ๑๕ วัน จึงสำเร็จเรียบร้อยจึงได้นิมนต์ พระครูบาศิริวังโส มาเป็นสมภารเจ้าอาวาส และหยาดน้ำถวายทานไว้ในพระพุทธศาสนา ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดภูเวียงแก้ว” วัดได้เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาตามกฎของธรรมชาติ









โบสถ์ปิดครับ เลยไม่ได้เข้าไปไหว้พระพุทธรูปข้างใน ได้แต่ยืนไหว้ข้างนอก เสร็จแล้วก็ขับกลับไปทางเดิม ขับมั่วไปหมด แต่ขับในตัวเมืองเชียงแสนไม่ยากครับ เป็นบล็อกๆ หลงไม่กี่ครั้งก็จำได้แล้ว

ระหว่างทางจะมีวัดเล็กวัดน้อย บ้างวัดก็เป็นซากปรักหักพัง เหมือนอยุธยาเลยครับ









ขับวนไปวนมาถึงวัดพระเจ้าล้านทองจนได้

วัดพระเจ้าล้านทองตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง เจ้าทองงั่ว ราชโอรสพระเจ้าติโลกราชเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2032 ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งหนักล้านทอง (1,200 กิโลกรัม) ขนานนามว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระประธาน ในวัดนี้ยังมีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งได้มาจากวัดทองทิพย์ เรียกกันว่า พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปทองเหลือง พระพักตร์งดงามมากศิลปสุโขทัย เสียดายที่ผมไปไม่ได้เปิดให้เข้าชมครับ













ไม่เป็นไร ไม่ได้ชมพระพุทธรูปก็ไหว้เสาหลักเมืองก็ได้ ถ้าเข้าประตูหน้าวัดเสาหลักเมืองจะอยู่ตรงซ้ายมือครับ

ศาลหลักเมืองเห็นเขียนว่า ห้ามสตรีมีประจำเดือนขึ้นไม่รู้ทำไมเนอะ







ไหว้ศาลหลักเมืองเสร็จก็ขับออกมาทางประตูเมืองเชียงแสน ประตูนี้ไปแม่จันได้เลย เส้น 1016 





ชอบกำแพงป้ายเมืองจังเลย ดูมีอารยธรรมดี





ช่วงที่ผมไปกำลังปรับปรุงเส้นทางกันอยู่ อยากให้ทำเสร็จเร็วๆจัง แล้วปรับพื้นที่ตรงประตูทางเข้าให้สวย มันเป็นหน้าตาของเมืองเลยนะครับ รูปข้างบนผมเดินหามุมถ่ายให้ดูไม่น่าเกลียด ของจริงจะเป็นอย่างนี้ 





ก่อนไปวัดพระธาตุจอมกิตติ ขอไหว้เจ้าพ่อประตูป่าสักก่อนครับ อยู่ทางด้านขวามือก่อนออกประตูข้างบนนั้นแหละครับ





วัดป่าสัก อยู่ห่างจากอำเภอเชียงแสนประมาณ 1 กิโลเมตร เขตตำบลเวียง พระเจ้าแสนภูทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1838 และให้ปลูกต้น สักล้อมกำแพงจำนวน 300 ต้น จึงได้ชื่อว่า วัดป่าสัก ทรงตั้งพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสังฆราชจำพรรษา ณ อารามแห่งนี้ ภายในวัดมีโบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงมณฑปยอดระฆัง ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุกระดูกตาตุ่มข้างขวาจาก เมืองปาฏลีบุตร




วัดป่าสักเก็บค่าเข้าชมคนละ 10 บาท





ข้างในวัดร่มรื่นมาก ภายในสะอาดตาดีจัง



















สำหรับวัดป่าสักไม่มีคำบรรยายครับ ผมชอบมันเงียบสงบดี ภายในดูร่มรื่นแถมสะอาดมาก ยิ่งมารู้ประวัติความเป็นมาด้วยแล้วยิ่งทำให้น่าสนใจขึ้นไปอีก ผมลาด้วยพระพุทธรูปที่วัดป่าสักครับ





ออกจากวัดป่าสัก ผมแวะเที่ยวเข้าพิพิธภัณฑ์เชียงแสนต่อ อยู่ใกล้ๆกันครับ

จากประตูกำแพงเมืองเชียงแสน ขับตรงไปทางซ้ายมือจะเป็นวัดป่าสัก ขับข้ามถนนรอบเวียงก็จะถึงพิพิธภัณฑ์แล้วครับ





พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเชียงแสน คลิ๊กเลย

ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ได้จากบริเวณเชียงแสนและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลวดลายปูนปั้นฝีมือล้านนา พระพุทธรูปและศิลาจารึกจากเชียงแสนและจากพะเยา พร้อมทั้งให้ข้อมูลทางด้านวิชาการเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีการตั้งถิ่นฐานของชุมชน และประวัติการสร้างเมืองเชียงแสน นอกจากนี้ยังมีการจัด แสดงศิลปะพื้นบ้านของ ชาวไทยใหญ่ ไทยลื้อ และชาวเขาเผ่าต่างๆ ได้แก่ เครื่องเขิน เครื่องดนตรี เครื่องประดับ อุปกรณ์การสูบฝิ่น เป็นต้น

เชียงแสนเป็นเมืองโบราณบริเวณภาคเหนือตอนบนที่สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของแคว้นล้านนา มีแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ ปรากฎอยู่มาก พระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพระเจ้าเม็งรายทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นปี พ.ศ.๑๘๗๑ เพื่อเป็นที่มั่นในการควบคุมดูแลหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นโยนก และเป็นปากประตูเพื่อติดต่อกับบ้านเมืองภายในผืนทวีปตามเส้นทางแม่น้ำโขง มีร่องรอยโบราณสถานให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบัน





เสียค่าเข้าไปชมคนละ 20 บาท





สำหรับพิพิธภัณฑ์จะเป็นอาคารใหญ่ติดแอร์ชั้นครึ่ง เดินชมเป็นวงกลมโดยวนทางขวามือ โซนแรกจัดแสดงเกี่ยวพระพุทธรูปสมัยต่างๆ ปูนปั้นแกะสลัก 



















ตามด้วยโซนหลักศิลาจาลึกหลายสมัย ถัดไปการทำเครื่องปั้นดินเผา























ต่อมาโซนการจับปลาบึกรวมถึงเครื่องมือจับปลาต่างๆในแม่น้ำโขง 







โซนการสร้างบ้านเรือน การใช้ชีวิตสมัยนั้น 









ถึงตรงนี้ด้านหลังจะเชื่อมไปยังอีกอาคาร จะแสดงการจำลองทอผ้า-การปักผ้าของเผ่าต่างๆ

























เดินกลับมาอาคารเดิม ขึ้นไปชั้นสอง (ครึ่งชั้น) จะแสดงพระพุทธรูปต่างๆ เสร็จแล้วลงกลับลงมาทางออกจะมีร้านขายของที่ระลึกจัดจำหน่ายพวกตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ สมุดดินสอ ของกระจุกกระจิก ถุงผ้า เยอะครับ ซึ่งจะจัดแสดงเกี่ยวกับชุดเผ่าต่างๆ แล้วเดินกลับมายังอาคารใหญ่ ภายในจัดแสงสีดีครับ มีข้อความให้อ่าน บอกละเอียดเรื่องราวเป็นมาต่างๆ ให้ความรู้ดี ถ้าใครไม่ชอบอ่านเดินผ่านๆไม่ถึงยี่สิบนาทีก็ครบแล้วครับ แต่ถ้าใครสนใจชอบทางด้านนี้ผมว่าอยู่ไม่ต่ำกว่าครึ่งวันแน่ครับ















แนะนำอยากให้ทางพิพิธภัณฑ์จัดวิทยากรมาบรรยายเป็นรอบๆให้ความรู้กับคนที่เข้ามาชม อาจจะทำให้น่าสนใจมากขึ้น ขนาดผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่พอลองอ่านแต่ละจุดยังหมดเวลาไปเกือบชั่วโมง เรียกว่าอ่านเพลินเลย ด้วยของที่นำมาแสดงมันมีคุณค่าและประวัติศาสาตร์อยู่ในตัวเลยสามารถสะกดผมให้อยู่ในพิพิธภัณฑ์อย่างไม่น่าเบื่อ สำหรับคนที่ชอบประวัติศาสตร์แนะนำเข้าไปชมได้ครับ ถ้าใครไม่ชอบแนวนี้ก็ผ่านไปได้เลย 

ออกจากพิพิธภัณฑ์ ด้านตรงกันข้ามจะเป็นศูนย์ข้อมูลเมืองประวัติศาสตร์เชียงแสน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปถามข้อมูลได้ครับ

ศูนย์ข้อมูลเมืองโบราณเชียงแสน โทร.0-5377-7030 หยุดวันเสาร์และอาทิตย์









จากพิพิธภัณฑ์เลี้ยวซ้ายขับตรงไปจะออกประตูเมืองเชียงแสน ตรงไปหน่อยจะเป็นสี่แยกวงเวียนตรงไปจะเป็นเส้น 1016 ผ่านทะเลสาบเชียงแสน (ประมาณ 2 ก.ม.) ตรงไปแม่จัน เลี้ยวซ้ายจะไปเชียงของ ส่วนผมเลี้ยวขวาครับ ขับไปประมาณ 5 ก.ม. (ช่วงที่ผมไปกำลังขยายถนนเป็นสี่เลน) เลี้ยวซ้ายไปหน่อยก็ถึงพระธาตุจอมกิตติ

ในโปรแกรมที่ผมวางไว้ก่อนไปว่าจะไปเที่ยวทะเลสาบเชียงแสน แถมห่างจากตัวเมืองเชียงแสนแค่ 2 ก.ม.เอง ตั้งใจว่าจะไปแต่ไม่รู้ว่าทำไมวันนั้นผมขี้เกียจขับไปก็ไม่รู้ เลยอดไปชมทะเลสาบเชียงแสนเลย เสียดายจัง





ถ้าใครไม่อยากเดินขึ้นบันได สามารถขับรถขึ้นเขาไปไหว้พระธาตุได้ครับ พระธาตุจะอยู่บนเขา ทางขึ้นเขาไม่ชันมากขับได้สบายๆ

ขึ้นไปถึงจะเจอวัดจอมแจ้งก่อน สองวัดจะอยู่บนเขาเดียวกัน ระหว่างทางขึ้นจะมีบันไดนาค 339 ขั้น เป็นทางเดินขึ้นไปไหว้พระธาตุจอมแจ้งได้ครับ





ผมขับรถขึ้นไปอีกไม่ไกลก็มาถึงลานจอดรถ

นี่ไงครับบันไดนาค ที่เดินขึ้นมา ไม่สูงเท่าไหรเนอะ





จอดรถได้ก็แวะเข้าไปไหว้พระธาตุจอมแจ้งก่อนครับ พระธาตุจอมแจ้งจะตั้งอยู่บนเขาด้านหน้าจะเห็นวิวเมืองเชียงแสนและแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจน





วัดพระธาตุจอมแจ้ง แห่งอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายนี้ ตั้งอยู่บนดอยน้อย ใกล้กับพระธาตุจอมกิติ ซึ่งเดี๋ยวผมจะเล่าอีกทีเพราะสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกัน เป็นรายละเอียดเพิ่มเติม สำหรับวัดพระธาตุจอมกิติ วัดพระธาตุจอมแจ้งซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงพระเจดีย์อยู่องค์เดียว อยู่ด้านหลังอุโบสถของวัดพระธาตุจอมกิติได้ใจความว่า พระเจ้าสุวรรณคำล้าน เจ้าเมืองเชียงแสนให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๐๓๐ ตรงกับรัชสมัยของพระยอดเชียงราย จากเรื่องที่มาเกี่ยวพันกันตรงนี้จึงจะต้องขอเล่าพระธาตุจอมกิติอีกครั้งหนึ่ง แม้จะเคยเล่าไปแล้วแต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน เพราะคราวนี้มีพระธาตุจอมแจ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง และพระธาตุจอมแจ้งนี้ก็ได้บรรจุอัฐิธาตุไว้ด้วยเช่นกัน แต่คงไม่ใช่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ น่าจะเป็นพระอรหันต์ธาตุ (ไม่แน่ใจข้อมูลเท่าไหรครับ)























หลังจากไหว้พระธาตุจอมแจ้งเสร็จก็เดินไปไหว้พระธาตุจอมกิตติ





ประวัติพระธาตุจอมกิตติ ตามตำนานกล่าวว่า กษัตริย์แห่งราชวงค์โยนกองค์ที่ ๒๔ คือ พระเจ้าพังคราช พร้อมด้วยโอรส คือ พระเจ้าพรมมหาราช ได้รับพระบรมสารีริกธาตุจากพระเถระเจ้าชาวโกศล เมืองสุธรรมาวดี นามว่า พระพุทธโฆษาจารย์ รวม ๑๖ องค์ พระเจ้าพังคราชจึงทรงโปรดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็นขนาดใหญ่ ๑ องค์ ขนาดกลาง ๒ องค์ ขนาดเล็กอีก ๒ องค์ ประธานแก่พระยาเรือนแก้ว เจ้าเมืองไชยนาราย์ ซึ่งพระยาเรือนแก้วได้สร้างเจดีย์ประดิษฐานไว้ ณ. ดอยจอมทองที่เหลืออีก ๑๑ องค์ ทรงโปรดให้นำพระโกศแก้ว พระโกศเงิน มารองรับพระบรมธาตุ พระราชทานให้พระเจ้าพรหมมหาราชนำไปประดิษฐานไว้ที่ดอยน้อย หรือดอยจอมกิตติที่พระเจ้าสิงหนวัตนิ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์โยนกได้เคยบรรจุพระบรมสารีริธาตุ ทั้ง ๑๑ไว้ด้วยกัน ในปี ๑๔๘๓ ในระยะต่อมาเจดีย์พระธาตุทรุดโทรมมากเจ้าฟ้าเฉลิมเมือง เจ้าเมืองเชียงแสน ได้ร่วมกับศรัทธาชาวเมืองบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้งในปี ๒๒๓๗

การเดินทาง จากอำเภอเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๑o๒o ผ่านอำเภอพญาเม็งรายใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๑๗๔ ผ่านปากทางเข้าน้ำตกตากควัน บ้ายไชยพัฒนา เข้าเขตอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑o๙๘ ผ่านบ้านเนินสมบูรณ์ ปากทางแยกเข้าอำเภอเวียงชัย ปากทาง เข้ากิ่งอำเภอดอยหลวง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๒๗๑ มุ่งตรงสู่อำเภอเชียงแสน ผ่านวัดพระธาตุผาเงา เข้าถนน บายพาส เข้าถนนเชียงราย – เชียงแสนไปอีก ๒ กิโลเมตร ถึงทางเข้าพระธาตุจอมกิตติ ฝั่งซ้ายมือรวมระยะทางทั้งสิ้น ๑๑๗ กิโลเมตร









ไหว้พระธาตุเสร็จได้เวลาขับกลับเข้าตัวเมืองเชียงแสน ผมขับวนเล่น ดูบ้านเมือง วัดวาอาราม ถนนหนทาง ขับไปเรื่อยๆ รถไม่ค่อยเยอะ ขับสบายใจดีครับ แล้วก็มาถึงวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงแสน คือวัดพระธาตุเจดีย์หลวง





วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน เป็นวัดที่เก่าแก่ของเมืองเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาไท เมื่อ พ.ศ. 1887 (ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ) หลังจากนั้นพระเจ้าแสนภูได้เสด็จไปครองเมืองเชียงใหม่แทนพระราชบิดา คือ พระเจ้าชัยสงครามซึ่งเสด็จมาประทับยังเมืองเชียงราย พร้อมทั้งนำอัฐของพระราชบิดา คือพ่อขุนเม็งรายมหาราชที่เสด็จสวรรคตที่เชียงใหม่กลับมายังเมืองเชียงรายด้วย

พระพุทธรูปบนฐานที่ยกสูงขึ้นไปนั้นมีหลวงพ่อเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ประดิษฐานเป็นองค์ประธาน









พระธาตุเจดีย์หลวงได้ชื่อมาจากพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดซึ่งสูงถึง 88 เมตร มีฐานกว้าง 24 เมตร เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน ภายในวัดนอกจากพระเจดีย์หลวงแล้วยังมีพระวิหารซึ่งเก่าแก่มากพังทลายเกือบหมดแล้วและเจดีย์ธาตุแบบต่างๆ อีก 4 องค์ โบราณสถานแห่งนี้แม้ว่าจะปรักหักพังไปมากแล้วแต่ได้รับการบูรณะอย่างดีให้สมกับเป็นวัดที่สำคัญของเมืองหิรัญนครเงินยางภายในสมัยอาณาจักรล้านนาไทย





ยอดเจดีย์หักเนื่องจากแผ่นดินไหว เมื่อ 24 มีนาคม 2554 ไม่นานนี้เองครับ ส่วนยอดรูปข้างบนที่เห็นสีขาวทางวัดได้สร้างขึ้นมาใหม่







อุโบสถนี้ เป็นพระอุโบสถเดิม ที่แต่เหลือไว้เพียงซากปรักหักพังเท่านั้น ทางวัดจึงได้สร้างหลังคาขึ้นมาครอบเพื่อคลุมโบราณสถาน และพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในไว้อีกที โดยที่ไม่ได้ตกแต่งอะไรเพิ่มเติมให้แตกต่างไปจากเดิมเลย เอาทริปและข้อมูลเพิ่มเติมจากเวป ทัวร์ไทยดอทคอมมาฝาก คลิ๊กเลย





การเดินทาง ขับวนๆอยู่ในเขตโบราณนั้นแหละครับ ผมก็บอกไม่ถูก ขับวนจนมึน อย่าออกจากกำแพงโบราณแล้วกันรับรองไม่หลง 555

ไหว้พระทำบุญเสร็จก็ขับกลับเข้าที่พัก เช็คเอาท์เวลา 11.40 น.หน้าไมล์ที่ 1,180 ก.ม. ออกจากที่พักก็ขับไปเที่ยวในตัวเชียงแสนต่อ เจอวัด โบราณสถานเยอะเลยครับ เสียดายปล่อยให้รกก็หลายที่เหมือนกัน





ขับวนไปเรื่อยเปื่อยก็มาเลาะริมโขงแวะวัดผ้าขาวป้าน











ออกจากวัดผ้าขาวป้าน ขับไปเรื่อยๆดูตัวเมืองเชียงแสน ท่าเรือและวัดต่างๆแวะบ้างไม่แวะบ้าง ที่เห็นก็มีวัดปงสนุก วัดกาเผือก วัดบ้านร้อง  





หิวแล้ว เจอก๋วยจั๊บแวะกินกันคนละชาม สั่งเส้นเล็กแห้งไปอีกหนึ่ง อิ่มไป ร้านนี่แหละครับ

เกือบลืม ร้านนี้เป็นเกสต์เฮ้าท์ด้วย ช่วงที่ผมกินมีฝรั่งแบกเป้มาถามห้อง คิดห้องละ 300 ฝรั่งต่อเหลือ 250 เจ้าของก็ให้ ดีจัง ไว้วันหน้าจะมานอนบ้างถูกดี











อิ่มเสร็จได้เวลาออกจากเชียงแสนแล้วครับ ผมออกเวลาบ่ายโมงระยะไมล์ 1,186 ก.ม.ขับไปทางเชียงของเลาะริมโขงไปเรื่อยๆ ผ่านวัดพระธาตุผาเงาเลยไปอีกประมาณ 2 ก.ม.ทางซ้ายมือจะเป็นวัดพระธาตุสองพี่น้อง





วัดพระธาตุสองพี่น้อง วัดพระธาตุสองพี่น้อง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและโบราณสถานสำคัญของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ปัจจุบันอยู่ภายในวัดพระธาตุสองพี่น้องนอกเมืองเชียงแสน จ.เชียงราย บริเวณนี้เรียกว่าเชียงแสนน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานนอกกำแพงเมืองเก่า

ที่ตั้งของวัดพระธาตุสองพี่น้อง บ้านเชียงแสนน้อย ต.เวียง อ.เชียงแสน ห่างตัวเมืองเชียงแสน 7 กม.สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจพระธาตุเจดีย์หมายเลขหนึ่ง มีเจดีย์ทรงปราสาทสององค์อยู่คู่กัน เรือนธาตุมีซุ้มจระนำสี่ด้านประดับลายปูนปั้นบนฐานปัทม์ มีชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยม เจดีย์ทั้งสี่มุมด้านบนเป็นระฆังทรงกลม ได้รับแบบแผนจากเจดีย์เชียงใหม่ยัน จ.ลำพูน ทิศตะวันออกของเจดีย์เป็นวิหารแบบล้านนา กว้าง 13 ม.ยาว 16ม.

ตามตำนานกล่าวว่า พระเจดีย์องค์ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระยาคำฟู (พ.ศ.๑๘๘๑ – ๑๘๘๘)ส่วนพื้นที่นี้พญาแสนภูทรงให้สร้างเมืองเวียง ปรึกษาเพื่อหาทำเลที่สร้างเมืองแห่งใหม่ (เมืองเชียงแสน) ยังปรากฏร่องรอยกำแพงเมืองคูเมือง และวัดร้างอยู่จำนวนหนึ่ง

ภายในเมืองพบโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่ง แต่เดิมเคยเรียกกันว่า เจดีย์พระธาตุบำเหมือดเชียงแสนน้อย ต่อมาเปลี่ยนเป็นเรียกเจดีย์พระธาตุสองพี่น้อง คงเนื่องมาจากมีเจดีย์สององค์ตั้งอยู่ใกล้กัน โบราณสถานแห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรทางด้านประวัติการก่อสร้างโดยตรงรูปแบบของสถาปัตยกรรมองค์พี่เป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด อันมีแบบแผนเดียวกันกับเจดีย์ประธานวัดป่าสัก เมืองเชียงแสน เจดีย์องค์นี้ถูกกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 หลักฐานทางด้านศิลปกรรมและด้านโบราณคดี แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับการตั้งเมืองเชียงแสน อันสอดคล้องกับเรื่องราวในพงศาวดารที่กล่าวถึงพญาแสนภูได้เดินทางล่องมาตามลำน้ำกก ถึงลำน้ำโขงและตั้งมั่นเอาชัยที่เวียงเปิกสา ก่อนเดินทางเข้าเมืองเชียงแสน รวมถึงเรื่องเล่าที่ว่าเจดีย์องค์นี้อาจเป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟูและพระยาแสนภู จึงได้กลายเป็นพระธาตุสองพี่น้องหรือเจดีย์สองพี่น้อง คลิ๊กเลย







มีความเชื่อกันว่าเจดีย์นี้เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟูและพระยาแสนภู











ผมอยู่ที่วัดพระธาตุสองพี่น้องไม่นานครับ ได้เวลาเข้าที่พักแล้ว ผมขับจากเชียงแสนมาถึงไร่แสงอรุณเวลา 14.15 น.หน้าไมล์ 1232 ก.ม. รวมระยะทาง 46 ก.ม. ใช้เวลาทั้งหมดชั่วโมงสิบห้านาที เวลารวมแวะพระธาตุสองพี่น้องประมาณยี่สิบนาที





เส้นทางจากเชียงแสนมาไร่อรุณ ถนนเลนเดียววิ่งสวนกัน บางช่วงมีหลุมบางแต่ก็วิ่งได้เรื่อยๆ คดเคี้ยวไปตามทาง บางช่วงแอบวิ่งเลาะริมโขง มาถึงหมู่บ้านอะไรก็ไม่รู้ จะมีสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายไปตามป้ายก็วิ่งไปเรื่อยๆ แล้วก็มาถึงไร่แสงอรุณ

มาถึงก็มี "น้ำกระเจี๊ยบ" Welcome Drink คอยต้อนรับ หวานเย็นชื่นใจ แต่แก้วแอบเล็กไปหน่อย 





ไร่แสงอรุณผมจองล่วงหน้าก่อนสองเดือน สำหรับห้องเดือนแจ่ม 1 สำหรับที่นี่แฟนผมเค้าขอห้องนี้โดยตรง





ไม่มีคำอธิบายสำหรับไร่แสงอรุณ บรรยากาศสุดยอดครับ คิดว่าเพื่อนๆคงพอจะทราบข้อมูลอยู่บ้านเนอะ

วิวจากห้องพักผม





ตอนแรกที่ผมวางโปรแกรมไว้ กะเข้าที่พักแล้วเลยไปเที่ยวที่เชียงของก่อนแล้วค่อยกลับมานอนที่ไร่แสงอรุณ แต่ดูเส้นทางและระยะทางแล้ว เปลี่ยนใจ เดินเล่นดูบรรยากาศที่รีสอร์ทนั้นแหละ 

หลังจากเดินเล่นภายในรีสอร์ทเสร็จ ประมาณสี่โมงเย็นผมก็ขึ้นไปนอนเล่นบนบ้านพัก เดินขึ้นไปเล่นเอาหอบเหมือนกัน ก่อนขึ้นผมก็สั่งอาหารมื้อเย็นไว้เลย ตอนแรกว่าจะลงมากินแต่เห็นทางขึ้นไปห้องพักแล้วเปลี่ยนใจให้เด็กเอาอาหารขึ้นมาส่งให้ดีกว่า 





ห้าโมงเย็นอาหารมาส่งถึงห้อง ใส่ปิ่นโตขึ้นมา อาหารที่ผมสั่งมี

1.น้ำพริกกะปิ จานนี้เฉยๆยังไม่ค่อยโดน แต่บรรยากาศสุดๆเลยครับ





2.สลัดใส่สตอเบอรี่ด้วยครับ จานนี้โอเค ผักสดมาก น้ำสลัดให้มาสี่อย่าง







3.คะน้าปลาเค็ม ผัดง่ายๆแต่อร่อยมาก





4.ปลาอะไรไม่รู้จำไม่ได้ ชุบแป้งทอดแล้วให้น้ำจิ้มมาด้วย จานนี้ผมชอบครับ 







5.ต้มจืดใบแปะตำปึง เหมือนต้มจืดทั่วไป สำหรับผมเฉยๆ แต่แฟนผมชอบ





อิ่มเสร็จก็นั่งเล่นนอนเล่นบนห้อง พรุ่งนี้ค่อยพาชมรีสอร์ทไร่แสงอรุณแล้วไปนอนดอยผาตั้งกันครับ //www.bloggang.com/mainblog.php?id=nongmalakor&group=15&month=21-02-2013&gblog=30

 คืนนี้ลาด้วยภาพพาโนราม่า ที่ห้องพักเดือนแจ่ม 1 ไร่แสงอรุณ 





ระยะทางจากที่วิ่งเที่ยว เชียงแสน-ไร่แสงอรุณ ทั้งหมด 66 ก.ม.

ค่าเสียหายวันนี้

ตอนเช้า เชียงแสน

- ค่าเข้าชมวัดป่าสัก 20 บาท (2 คน)
- ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์เชียงแสน 40 บาท (2 คน)
- ทำบุญพระธาตุจอมกิตติ 50 บาท
- ซื้อของที่ 7/11 134 บาท ( 2 คน)
- ค่าอาหารกลางวัน 90 บาท

ตอนเย็น ไร่แสงอรุณ

- ค่าอาหารมื้อเย็น 640 บาท
- ค่าที่พัก 3,900 บาท

รวมทั้งหมด 4,874 บาท





Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2560 11:49:12 น. 3 comments
Counter : 11162 Pageviews.

 
สำหรับความคิดเห็นส่วนตัว

เชียงแสน เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ มีวัด โบราณสถานสถาปัตยกรรมเยอะมาก เป็นเมืองสงบ เหมาะสำหรับมาเที่ยวแบบเชิงอนุรักษ์ เหมาะกับการมาพักผ่อน ใครชอบแนวนี้ แนะนำให้หาข้อมูลเมืองเชียงแสนก่อนไปเที่ยว จะทำให้การเที่ยวของเราน่าสนใจยิ่งขึ้น หรือจะมานั่งๆนอนปล่อยใจไปกับเมืองเงียบๆก็โอเค แต่ถ้าใครชองแสง สี เสียง ไม่ชอบของโบราณ แนะนำอย่าไปเลยครับ เพราะมันไม่มีอะไรน่าสนใจ ร้านกาแฟน่ารักๆ โปสการ์ดเก๋ๆ มุมถ่ายรูปฮิบ ตึกทันสมัย ผับหรูๆไม่มีหรอกครับ ถ้าใครไปเชียงแสนอยากให้เชียงแสนเป็นอย่างที่เป็น ค่อยๆโตไปตามกาลเวลาไม่อยากให้เร่งโตผิดรูป ผิดแบบ เหมือนสถานที่ดังๆทั้งหลายเลย อันนี้ฝากคนเชียงแสนด้วยครับ ว่าอยากให้เมืองโตไปแบบไหน

เชียงแสน อยากให้มีรถรางวิ่งชมรอบเมืองโบราณเชียงแสนและมีวิทยากรบรรยายไปด้วยแบบเมืองเชียงรายหรือน่าน ส่วนสถานที่สำคัญ วัด สถานโบราณต่างๆ อยากให้ปรับภูมิทัศน์ให้สะอาดและน่าสนใจมากกว่านี้ ส่วนตัวโบราณต่างๆอยากให้ไว้คงเดิม แต่เขียนประวัติว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรเพื่อให้สถานโบราณนั้นดูมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

แบ่งช่องการจารจรสำหรับให้การปั่นจักรยานชมตัวเมืองภายในโบราณเชียงแสน แสดงแผนที่สำคัญๆที่น่าแวะแต่ละจุด

ส่วนไร่แสงอรุณ เหมาะสำหรับการไปพักผ่อนใครชอบอ่านหนังสือหอบไปเลยครับ เพลงอะไรที่ชอบหอบไปฟังได้เลย คุณได้เสพสิ่งที่คุณชอบแน่ เพราะสถานที่เหมาะกับทำกิจกรรมอย่างที่ผมบอก หรือแค่นั่งเล่นๆ ปล่อยอารมณ์ไปกับวิว ทิวทัศน์ธรรมชาติก็เพลินแล้วครับ อีกอย่างที่เที่ยวอยู่ห่างไกลมาก แถมถนนไม่ค่อยดีอีกต่างหาก เห็นระยะทางที่ผมบอกดูไม่ไกลวิ่งแค่ ช.ม.2 ช.มก็จริง แต่รับรองคุณไปถึงแล้วไม่อยากไปไหนต่อแน่ อิอิ


โดย: nongmalakor วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:20:09:10 น.  

 
การเดินทางไปเชียงแสน

รถยนต์

สามารถเดินทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่

1. เส้นทางนครสวรรค์-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย จากรังสิตมาตามถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวง หมายเลข 32 ที่อำเภอวังน้อย จากนั้นผ่านจังหวัดอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก เข้าสู่จังหวัดลำปาง แล้วตรง ไปจังหวัดพะเยา จนเข้าสู่เชียงราย รวมระยะทาง 830 กิโลเมตร

2. เส้นทางนครสวรรค์-พิษณุโลก-แพร่-เชียงราย ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ 1 เมื่อไปถึงจังหวัดนครสวรรค์ ให้แยกขวามือไปตาม ทางหลวงหมายเลข 117 (นครสวรรค์-พิษณุโลก) จากนั้นใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) จากจังหวัดพิษณุโลก ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์ จนถึงอำเภอเด่นชัย ให้เลี้ยวไปทางจังหวัดแพร่ ตามทางหลวง หมายเลข 101 (แพร่-น่าน) จนถึงอำเภอ ร้องกวาง เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 103 ไปบรรจบกับถนนพหลโยธินที่อำเภองาว เข้าสู่จังหวัดพะเยา แล้วตรงต่อไป จนถึงเชียงราย ระยะทางประมาณ 804 กิโลเมตร

3. เส้นทางนครสวรรค์-ลำปาง-เชียงใหม่-เชียงราย ใช้เส้นทางเดียวกับเส้นทางที่ 1 จนไปถึงจังหวัดลำปาง จึงเปลี่ยนไปใช้ทาง หลวงหมายเลข 11 (ลำปาง-เชียงใหม่) ผ่านไปจังหวัดลำพูน แล้วเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ผ่านดอยสะเก็ต แม่ขะจาน เวียงป่าเป้าเข้าสู่เชียงราย รวมระยะทาง 900 กิโลเมตร มีทางหลวงหมายเลข 11 ผ่านลำพูน มาลำปาง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 1 เพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ

รถโดยสารประจำทาง

มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของ บ.ข.ส. และของเอกชน ไปเชียงรายทุกวัน แบ่งเป็นหลายเส้นทางได้แก่ กรุงเทพฯ – เชียงราย, กรุงเทพฯ – แม่สาย, กรุงเทพฯ – เชียงแสน, กรุงเทพฯ – เชียงของ โดยจะมีรถออกจากสถานีขนส่ง สายเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีขนส่งสายเหนือ กรุงเทพฯ โทร. 0 2936 2852-66

สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 1369

บริษัท สยามเฟิร์สทัวร์ กรุงเทพฯ โทร. 0 2954 3601-7 สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 1882

บริษัท สมบัติทัวร์ โทร. 0 2936 2495 สำนักงานเชียงราย

บริษัท อินทราทัวร์ โทร. 0 2936 2492 สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 1235

บริษัท คฤหาสน์ทัวร์ โทร. 0 2936 3531 สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 7083


ตารางการเดินทางกรุงเทพ-เชียงราย

ตารางเวลาเดินรถปรับอากาศชั้น 1 (ก) VIP 24 ที่นั่ง ภาคเหนือ
เส้นทาง ค่าโดย ระยะทาง ระยะเวลา เวลาต้นทาง เวลาปลายทาง
กรุงเทพฯ-เชียงราย 1,035 766 11.30 19.15,19.30,20.00 18.30,19.00
กรุงเทพฯ-แม่สาย 1,105 857 12.00 07.30,19.00,19.40 07.00,17.30


ตารางเวลาเดินรถปรับอากาศชั้น 1 (ก) VIP 32 ที่นั่ง ภาคเหนือ
เส้นทาง ค่าโดยสาร ระยะทาง ระยะเวลา เวลาต้นทาง เวลาปลายทาง
กรุงเทพฯ-เชียงแสน 882 710 12.30 18.00 18.00
กรุงเทพฯ-เชียงของ 848 875 13.00 19.00


ตารางเวลาเดินรถปรับอากาศชั้น 1 (ก) VIP 40 ที่นั่ง ภาคเหนือ
เส้นทาง ค่าโดยสาร ระยะทาง ระยะเวลา เวลาต้นทาง เวลาปลายทาง
กรุงเทพฯ-เชียงราย 668 801 10.00 07.50,19.30,21.00 20.00
กรุงเทพฯ-แม่สาย 713 875 10.30 17.30 17.30
กรุงเทพฯ-เทิง-
เชียงของ 727 875 13.00 07.00,20.00 08.30,20.00

* อ้างอิงจากบริษัทขนส่งจำกัด ข้อมูลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาสอบถามที่ 02- 936-2841-48,


เครื่องบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินตรงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงราย และเที่ยวบินไป-กลับ ระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่ ทุกวัน วันละ 2 เที่ยว สอบถามรายละเอียด โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000, 0 2356 1111 สำนักงานเชียงราย โทร. 0 5371 1179, 0 5371 5207 สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0 5321 0043-5, 0 5321 1044 //www.thaiairways.com

นอกจากนี้สายการบิน วัน-ทู-โก บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เชียงราย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1126 หรือ //www.fly12go.com

สายการบิน SGA เส้นทางระหว่าง เชียงใหม่-เชียงราย สอบถามรายละเอียดที่ โทร. 0 2664 6099 หรือ //www.sgaairlines.com

สายการบินไทย แอร์ เอเชีย บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ -เชียงราย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2515 9999 หรือ //www.airasia.com

สายการบิน นกแอร์ บริการเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เชียงราย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1318 หรือ //www.nokair.com

ระยะทางจากอำเภอเมืองเชียงรายไปยังอำเภอต่าง ๆ

อำเภอเมือง กิโลเมตร
อำเภอแม่ฟ้าหลวง - กิโลเมตร
อำเภอขุนตาล - กิโลเมตร
อำเภอแม่ลาว -กิโลเมตร
อำเภอเวียงชัย 12 กิโลเมตร
อำเภอแม่จัน 20 กิโลเมตร
อำเภอเวียงเชียงรุ้ง 35 กิโลเมตร
อำเภอพาน 46 กิโลเมตร
อำเภอพญาเม็งราย 48 กิโลเมตร
อำเภอป่าแดด 52 กิโลเมตร
อำเภอแม่สรวย 53 กิโลเมตร
อำเภอเชียงแสน 60 กิโลเมตร
อำเภอแม่สาย 63 กิโลเมตร
อำเภอเทิง 64 กิโลเมตร
อำเภอดอยหลวง 67 กิโลเมตร
อำเภอเวียงป่าเป้า 91 กิโลเมตร
อำเภอเวียงแก่น 127 กิโลเมตร
อำเภอเชียงของ 141 กิโลเมตร

รถตู้กรีนบัส

กรีนบัส เปิดให้บริการในรูปแบบใหม่ ด้วยรถตู้

เส้นทาง เชียงราย-อ.แม่สาย และ เชียงราย-อ.เชียงแสน
กรีนบัส เปิดให้บริการในรูปแบบใหม่ ด้วยรถตู้ โดยจะเปิดให้บริการวิ่งในเส้นทาง

• เชียงราย(สถานีขนส่งเก่า) – บ้านดู่ ม.ราชภัฎ – ม.แม่ฟ้าหลวง – อ.แม่จัน – บ้านห้วยไคร้ – บ้านถ้ำ – อ. แม่สาย

• เชียงราย(สถานีขนส่งเก่า) – บ้านดู่ – ม.แม่ฟ้าหลวง – อ.แม่จัน – บ้านกิ่วพร้าว – บ้านป่าสักน้อย – อ.เชียงแสน

ขอบคุณข้อมูลจากเวป คลิ๊กเลย
รถตู้กรีนบัส คลี๊กเลย


โดย: nongmalakor วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:20:27:32 น.  

 
อาณาจักรเมืองเชียงแสน

เมืองประวัติศาสตร์ที่ผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบันในเขตจังหวัดเชียงรายที่สำคัญ ได้แก่ เมืองเชียงแสน เนื่องจากมีประวัติความเป็นมาค่อนข้างชัดเจน และยังปรากฏร่องรอยโบราณวัตถุโบราณสถานหลายแห่ง จากหลักฐานโบราณคดีสันนิษฐานว่า การสร้างเมืองคงเริ่มขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ตามที่ระบุไว้ในชุนกาลมาลีปกรณ์ และพงศาวดารโยนก เพราะศักราชดังกล่าวใกล้เคียงกันใกล้เคียงกันมาก รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกันมาสัมพันธ์กับรูปแบบ อายุสมัยของของโบราณวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นทั้งในและนอกตัวเมืองซึ่งมีอายุหลังกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ลงมาทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ชื่อเมืองเชียงแสนยังปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒ จารึกวัดศรีชุม ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๑๔ กล่าวถึงอาณาเขตของพ่อขุนศรีนาวนำถมว่า … เบื้องตะวันตกเถิงละพูนเบื้องพายัพเถิงเชียงแสน พยาว… ลาว… หากข้อความที่กล่าวถึงนี้เป็นจริงเมืองเชียงแสนน่าจะสร้างขึ้นต้นแต่ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าสุโขทัยไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองปกครองขึ้นไปถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือที้งสามเมืองตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว แคว้นหริภุญไชย ( ลำพูน) แคว้นโยนก ( หิรัญนครเงินยาง) และแคว้นพะเยา ต่างเป็นอิสระต่อกันมิได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของผู้หนึ่งผู้ใด และการสุดท้ายจารึกนี้นี้สร้างโดยพระมหาเถรศรีศรัทธาจุฬามุนี ระหว่างปี พ. ศ. ๑๘๘๔– ๑๙๑๐ ข้อความส่วนใหญ่ เป็นการยกย่องบรรพบุรุษของตนแลเคุณความดีที่ตนได้กระทำไว้ช่วงเวลาที่สร้างจารึกน่าจะหลังจากการสร้างเมืองเชียงแสน ๑๓– ๑๔ ปี อนึ่ง สถานะของเมืองเชียงแสนในขณะนั้นเปรียบได้กับเมืองหลวงของแคว้นล้านนา จนสิ้นพระชนม์ เมืองเยงแสนย่อมเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป พระมาหาเถรศรีศรัทธาจุฬามุนีอาจอ้างเอาเมืองเชียงแสนเป็นอาณาจักรของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมเพื่อเสริมสร้างฐานะของบรรพบุรุษ ซึ่งในสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมครองสุโขทัยเมืองเชียงแสนยังมิได้สร้าง

เชียงแสนเป็ฯเมืองโบราณที่สำคัญยิ่วเมืองหนึ่วทางประวัติศาสตรของอาณาจักรล้านนา ในบริเวณภาคเหนือตอนบนตลอดระยะเวลาร่วม ๕๐๐ ปี นับแต่พระเจ้าแสนภูพระราชนัดดาชองพญามังรายทรงสร้างขึ้น เพื่อเป็นที่มั่นใจการควบคุมดูแลหัวเมืองต่าง ๆ ในเขตโบนกมาตั้งแต่เมื่อปี พ. ศ. ๑๘๗๑ เป็นต้นมา

พระเจ้าแสนภูปกครองเมืองเชียงแสนอยู่ถึง พ. ศ. ๑๘๗๘ ในชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวว่า พระองค์ทรงสร้างวังขึ้นที่บริเวณหัวเกาะดอนแท่น ถึง พ. ศ. ๑๘๗๘ จึงเสด็จทิวงคตที่บนเกาะดอนแท่น พระบรม..พตั้งไว้ที่วังบนเกาะดอนแท่น แล้วบรรดาอำมาตย์เมืองเชียงแสนเชิญเสด็จพระเจ้าคำฟูผู้ครองเมืองเชียงใหม่ มาครองเมืองเชียงแสน พระเจ้าคำฟูจึงยกราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่ให้ทาวผายูราชโอรสปกครอง แล้วจึงเสด็จมาครองเมืองเชียงแสน อัญเชิญพระบรม..พพระเจ้าแสนภูไปประดิษฐานไว้ที่เมืองเก่าเหนือปากแม่น้ำกก โดยให้ขุดหลุมใหญ่แล้วสร้างปราสาทครอบหลุมนั้น

อาณาเขตของเมืองเชียงแสนในระเริ่มนั้น ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่ามีพื้นทึ่ครอบคลุมบริเวณที่ราบลุ่มเชียงแสนทั้งหมด รวมเรียกว่า แคว้นเชียงแสนเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับเมืองกายสามท้าว ทิศใต้ติดกับเมืองเชียงรายที่ตำบลแม่เติม ทิศตะวันออกถึงตำบลเชียงชี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับชายแดนฮ่อที่ตำบลหลวงพ่อแร่ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับเมืองฝางที่กิ่วคอสุนัข หรือกิ่วสะโต การปกครองในระยะแรกแบ่งการปกครองเป็นแขวงและพันนา รวมทั้งหมด ๖๕ พันนา

ครั้นถึง พ. ศ. ๑๘๘๓ พระเจ้าคำฟูได้ชักชวนพระยากาวน่านให้ร่วมมือกันติเมืองพะเยา กองทัพพระเจ้าคำฟูเข้าเมืองพะเยาได้ก่อนจึงเอาทรัพย์สินในในเมืองไปหมด พระยากาวน่านจึงยกทัพมาตีทัพพระเจ้าฟู พระเจาคำฟูต้องล่าทัพกลับเมืองเชียงแสน พระยากาวน่านจึงยกไปติเมืองฝางไว้ได้อีกเมืองหนึ่ง พระเจ้าคำฟูยกทัพใหญ่ไปตีพระยากาวน่านที่เมืองฝางพระยากาวน่านล่าทัพกลับเมืองน่าน

พ. ศ. ๑๘๘๓ พระเจ้าคำฟูยกทัพไปติเมืองแพร่ แต่ไม่สำเร็จจึงลากทัพกลับมาทางเมืองลำปาง มาประทับทีเมืองเชียงใหม่ พ. ศ. ๑๘๙๙ เสด็จไปเยี่ยมพระสหายชื่อวัวหงที่เมืองเชียงคำ ได้ลอบเป็นชู้กับเมียของงัวหง อยู่ต่อมาได้เจ็ดวันพระคำฟูถูกเงือกคาบไปสิ้นพระชนม์ เสนาอำมาตย์เชิญพระ..พกลับเมืองเชียงแสน แล้วจึงทูลเชิญเสด็จพระเจ้าผายูมาจัดการพระรม..พพระเจ้าคำฟู นำไปบรรจุไว้ที่วัดพระสิงห์เมืองเชียงใหม่ ส่วนเมืองเชียงแสนให้ท้าวกือนาพระราชบุตรครองต่อมา

พ. ศ. ๑๙๑๐ พระเจ้าผายูสวรรคต ท้าวกือนาเสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ โปรดฯให้ท้าวมหาพรหม พระอนุชาครองเมืองเชียงราย เมืองเชียงแสน และเมืองฝาง ท้าวมหาพรหมก็เสด็จไปประทับที่เมืองเชียงแสน พ. ศ. ๑๙๑๓ ฮ่อมาท้ายิงธนู ที่เมืองเชียงแสน ลูกขุนหมายนาผู้หนึ่งสามารถเอาชนะฮ่อได้ ท้าวมหาพรหมจึงทูลต่อพระเชษฐาให้ตั้งลูกขุนหมายนาผู้นั้น เป็นพระยาศรีสิทธิมหาชัยสงคราม กินเมืองเชียงแสน ส่วนท้าวมหาพรหมไปครองเมืองเชียงราย เมืองเชียงแสนเป็นเมืองเชียงแสนเป็นเมืองที่มีความสำคัญความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในชั้นแรก เมื่อพม่าเข้ามาปกครองอาณาจักรล้านนา ก็ได้จัดส่งเจ้านายหรือขุนนางมาคอยกำกับ

ดูแลเมืองเชียงแสนตลาดเวลา เพราะที่ตั้งเมืองเชียงแสนที่ภูมิประเทศที่เหมาะแก่การตั้งมั่นทำสงครามกับอยุธยา อึกทั้งการส่งกำลังบำรุงมายังทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ก็ทำได้ง่าย

ต่อมาในช่วงกรุงธรบุรี เมืองเชียงใหม่และหัวเมืองอื่น ๆ ทางภาคเหนือได้พากันแข็งเมืองต่อต้านพม่า พระเจ้าการวิละและพระยาจ่าบ้าน ( วิเชียรปราการ) ได้รับลกลังสนับสนุนจากกรุงธนบุรีเข้าตีเมืองเชียงใหม่แตกใน พ. ศ. ๒๓๑๗ โป่มะยุงง่วนแม่ทัพพม่า ได้ออกมาตั้งมั่นที่เมืองเชียงแสน และพยายามตีเมืองเชียงใหม่อยู่เสมอแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ

พ. ศ. ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงเทพหริรักษ์, พระยายมราช ยกกองทัพร่วมกับเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองคนคลำปาง และเจ้าเมืองนครน่าน ยกทัพมาปิดล้อมเมืองเชียงแสนเป็นเวลา ๕ เดือน จึงเข้าตีเมืองได้สำเร็จ เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่จึงสั่งให้รื้อกำแพงเมืองและเผาบ้านเรือนแสีย เพื่อไม่ให้เป็นที่มั่นของพม่าอีก กับสิ่งให้กวาดต้อนผู้คนประมาณ ๒๓, ๐๐๐ ครัวเรือน แบ่งออกเป็น ๕ ส่วน แยกไปไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ได้แก่ เวียงจันทน์ ลำปาง เชียงใหม่ และน่าน ส่วนที่เหลือให้กวาดต้อนลงมากรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนที่ตำบลเสาให้จังหวัดสรรบุรี และที่ตำบลคุบัว จังหวัดราชบุรี จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ. ศ. ๒๓๕๒ พวกเงี้ยวได้เข้ามาตั้งมั่นอยู่ที่บ้านสายเมือง ( แม่สาย) ในเขตเมืองเชียงแสน พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ ( เจ้ากาวิละ) จึงให้เจ้าอินตะศิริคุมพล ๑๐๐ คนเศษยกไปปราบได้เชลยเงี้ยวมาเป็นจำนวนมาก

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในพ. ศ. ๒๔๑๒ ทางเชียงใหม่ได้แจ้งข้อราชการไปยังกรุงเทพฯ ว่ามีพวกพม่า ไทลื้อและไทเขิน จากเมืองเชียงตุงอพยพ ครอบครัวชายหญิงประมาณ ๓๘๐ คน รวม ๓๓๓ ครัวเรือน มาตั้งบ้านเรือนในเมืองเชียงแสน และตั้งตัวเป็นอิสระ ไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของไทย ดังนั้น ใน พ. ศ. ๒๔๑๗ เจ้าอินทวิช- ยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ปรึกษากับพระนรินทรเสนีข้าหลวงให้เกณฑ์ชาวเมืองเชียงใหม่ ๑, ๐๐๐ คน มีพระยาอุตรกาลโกศลเป็นผู้นำ มีนายเทพวังและนายหน่อเมืองเป็นแม่ทัพ ยกทัพไปสมทบกับทัพเมืองลำพูนที่มีกำลัง ๕๐๐ คน มีนายมหายศเป็นแม่ทัพ และทัพเมืองลำปางที่มีกำลังพล ๑, ๕๐๐ คน มีเจ้าราชบุตรกับนายสุริยะเป็นแม่ทัพรวมพลได้ ๒, ๕๐๐ คน ทั้งสามทัพร่วมกันขับไล่พวกพม่า ไทลื้อ ไทเขิน ออกจากเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ เป็นเหตุให้เมืองเชียงแสนถูกทิ้งร้างไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ต่อมาใน พ. ศ. ๒๔๒๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นายอินต๊ะ ( บุตรเจ้าบุญมา เจ้าผู้ครองนครลำพูน) นำชาวลำพูนประมาณ ๑, ๕๐๐ ครัวเรือนไปอยู่ที่เมืองเชียงแสน แต่ถูกชาวเชียงตุงยกทัพมาขับไล่ เจ้าอินต๊ะจึงต้องนำผู้คนไปอยู่ที่เมืองจนถึง พ. ศ. ๒๔๒๒ เมืองเชียงใหม่ส่งนายน้อยอุตมะกับพระยาค้าวไปเจรจากับเมืองเชียงตุง เจ้าอินต๊ะ จึงนำไพร่พลกลับมาอยู่ที่เมืองเชียงแสนอีกครั้งหนึ่ง

เจ้าอินต๊ะในพ. ศ. ๒๔๒๕ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาราชเดชดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนครเชียงแสน ปกครองเมืองเชียงแสนอยู่จนถึงแก่กรรมในปี พ. ศ. ๒๔๔๐ ทางราชการไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมืองแทน คงมีนายน้อยไชยวงศ์ นายคำตัน นายต้อยหลวง นายน้อยเลาแก้ว และพระยาราชบุตร( คำหมื่น) ปกครองเมืองอยู่

พ. ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นายน้อย ไชยวงศ์ เป็นที่พระยาราชเดชดำรงค์ ให้นายน้อยคำตันเป็นพระยาอุปราช ให้นายต้อยหลวง เป็นที่พระยาบุรีรัตน์ นายน้อยเลาแก้วเป็นพระยาราชวงศ์ และนายคำหมื่นเป็นพระยาราชบุตร ช่วยกันปกครองเมืองเชียงแสน ในระยะนี้มีโจรกลุ่มของพระยาศรีสองเมือง กับสล่าทวี สล่าทุ เมืองอ๊อต พวกเงี้ยวยกกลุ่มโจรเงี้ยวหนีมาจากเมืองแพร่มาปล้นเมืองเชียงแสน แต่พระยาราชเดชดำรงค์และญาติพี่น้องพาไพร่พลออกมาขับไล่อยู่หลายครั้ง จนปี พ. ศ. ๒๔๔๓ เวลากลางคืน พวกโจรเงี้ยวได้ลอบโจมตีคนในเมืองโดยไม่รู้ตัวและวางเพลิงที่ว่าการแขวงและบ้านเรือนราษฎร พวกเจ้าเมืองและชาวบ้านต้องหลบหนีเอาตัวรอดเพราะพวกเงี้ยวมีจำนวนมากกว่า พวกเงี้ยวยกไปปล้นเมืองเชียงราย ต่อมาทางราชการจึงให้กองทหารมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน

พ. ศ. ๒๔๔๔ สล่าทุเมืองอ๊อต และสล่าป๊อกพาพวกเงี้ยวมาปล้นเมืองเชียงแสนอีก แต่ตัวหัวหน้าถูกยิงตาย พวกเงี้ยวที่เหลือถูกขับไล่ไปหมด หลังจากนั้นพวกโจรผู้ร้ายก็ลดลง พระยาราชเดชดำรงค์ ( น้อย ไชยวงศ์) ปกครองเมืองเชียงแสนจนถึงแก่กรรม ในพ. ศ. ๒๔๕๓ และในพ. ศ. ๒๔๕๓ นั่นเอง ทางราชการได้จัดการปกครองขึ้นใหม่ เรียกว่า การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล มีเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์เป็นรัฐมนตรี และองคมนตรีประจำมณฑลภาคพายัพ พระภักดีณรงค์เป็นข้าหลวงเมืองเชียงราย หรือผู้ว่าราชการเมืองเชียงราย โดยเชียงแสนมีฐานะเป็นแขวง( อำเภอ) และมีนายแขวงปกครองต่อมา

พ. ศ. ๒๔๘๒ ทางราชการเปลี่ยนชื่ออำเภอเชียงแสนเป็นแม่จัน และย้ายที่ทำการไปอยู่ที่แม่จันห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ตำบลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอนี้เรียกว่าเชียงแสนใหม่ หรือเชียงแสนแม่จัน ส่วนเมืองเชียงแสนนั้นมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ ต่อมาในปี พ. ศ. ๒๕๐๐ จึงยกฐานะเป็นอำเภอเชียงแสน และรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะอำเภอเชียงแสนขึ้น โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการฟื้นฟูบูรณะและอนุรักษ์โบราณสถานที่สำคัญในเมืองเชียงแสน ตั้งแต่พ. ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา

ปัจจุบันร่องรอยของโบราณสถานในอำเภอเชียงแสนที่หลงเหลือให้เห็น มักเป็นซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างในพุทธศาสนา ได้แก่ พระเจดีย์ และพระวิหาร ซึ่งส่วนใหญ่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน และมีวัดอยู่ทั้งสิ้น ๑๔๐ วัด แบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่วัดในเมือง ๗๖ วัด และวัดนอกเมือง ๖๕ วัด การเรียกชื่อวัดต่าง ๆ ได้ยึดถือจากตำแหน่งที่ระบุไว้ในพงศาวดารล้านนาซึ่งเขียนขึ้นภายหลัง

ขอบคุณข้อมูลจากเวป คลิ๊กเลย


โดย: nongmalakor วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:20:29:13 น.  

nongmalakor
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 120 คน [?]




ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
Google
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
5 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add nongmalakor's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.