Group Blog
 
All blogs
 
พอร์ตเล็กโตไว โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


เป็นที่เชื่อกันโดย ทั่วไปว่า หุ้นตัวเล็ก จะโตเร็วกว่าหุ้นตัวใหญ่ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของสรรพสิ่ง หรือชีวิตทั้งหลายในโลก เด็กต้องโตเร็วกว่า ผู้ใหญ่ บริษัทเล็กมักโตเร็วกว่าบริษัทใหญ่ ความเสี่ยงของสิ่งที่เล็ก หรือชีวิตที่เล็กสูงกว่าสิ่งที่ใหญ่ หรือชีวิตที่เติบโตขึ้นมาแล้ว ความเสี่ยงที่ว่า คือ หุ้นตัวเล็กหรือชีวิตที่เล็ก อาจง่อยเปลี้ย หรือล้มหายตายจากไปได้ง่ายกว่าหุ้นตัวใหญ่ หรือชีวิตที่โตขึ้นมามากแล้ว ในเรื่องการลงทุน คนที่มีพอร์ต หรือมีเงินลงทุนน้อยนั้น มีทางเลือก หรือมีโอกาสโตเร็วกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ แต่ต้องรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่ว่า คือ แทนที่พอร์ตจะโตเร็วกลายเป็นพอร์ตขาดทุนเสียหายไปมากมาย คนที่มีพอร์ตเล็กหลายคนอาจจะบอกว่าเขารับได้ เหนือสิ่งอื่นใด เขายังมีรายได้จากแหล่งอื่น ที่จะเข้ามาลงทุนต่อ หรือ "แก้ตัว" ได้ มาดูกันว่า ทำไมพอร์ตเล็กจึงโตไวกว่าพอร์ตใหญ่

ข้อแรก คือ คนที่มีพอร์ตเล็ก ซึ่งผมคิดว่าเงินลงทุนไม่ควรเกิน 10 ล้านบาท ซื้อหุ้นได้เกือบทุกตัวในตลาดหุ้น โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขายนัก หมายความว่า คนที่มีพอร์ตเล็ก มีหุ้นให้เลือกลงทุนได้มากกว่าคนพอร์ตใหญ่ ทำให้หาหุ้นที่อาจจะตัวเล็ก แต่มีโอกาสเติบโตสูงกว่าปกติ แน่นอน คนที่พอร์ตใหญ่ก็ซื้อหุ้นตัวเล็กได้ แต่เขาอาจซื้อได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของพอร์ต แม้หุ้นตัวนั้นจะทำกำไรให้เขาได้เท่าตัวหรือหลายเท่าตัว แต่เม็ดเงินที่ได้ ไม่ทำให้ผลตอบแทนพอร์ตโตขึ้นเท่าไรนัก

ตัวอย่างเช่น นายเล็กมีพอร์ต 1 ล้านบาท ซื้อหุ้น A ซึ่งเป็นหุ้นตัวเล็ก 2 แสนบาท หุ้นขึ้นไป 2 เท่าภายในเวลาเพียง 1 ปี เฉพาะหุ้นนี้เพียงตัวเดียวก็ทำกำไรให้คุณเล็กแล้ว 4 แสนบาท หรือ 40% ของพอร์ต ในเวลาเดียวกัน ถ้านายใหญ่ซื้อหุ้น A เช่นเดียวกันด้วยเงิน 1 ล้านบาท กำไรของคุณใหญ่ 2 ล้านบาทภายในเวลาหนึ่งปี พอร์ตของคุณใหญ่เท่ากับ 100 ล้านบาท ผลตอบแทนที่คุณใหญ่ได้จากการลงทุนหุ้น A คือ 2% ของพอร์ต ซึ่งมีผลน้อยมากต่อผลตอบแทนรวมของเขา

ข้อสอง คนที่มีพอร์ตเล็กสามารถ FOCUS หรือลงทุนในหุ้นน้อยตัวได้มากกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ หลายคนลงทุนหุ้นตัวเดียว หรือสองตัวช่วงเวลาหนึ่ง หุ้นตัวนั้นขึ้นไปสูงมาก เช่น 3-4 เท่าในเวลาหนึ่งปี ผลตอบแทนของเขาในปีนั้น จะเป็นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ตรงกันข้าม คนพอร์ตใหญ่มักมีหุ้นมากตัวกว่ามาก หุ้นแต่ละตัวอาจมีมูลค่าเพียง 5-10% ของพอร์ต แม้หุ้นตัวใดตัวหนึ่งจะขึ้นไป 3-4 เท่า แต่หุ้นตัวอื่นๆ อาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นนัก บางตัวลดลง ด้วยเหตุนั้น ผลตอบแทนรวมของพอร์ตอาจแค่ 30-40% ซึ่งถือว่ามาก แต่ยังห่างไกลจากคนที่มีพอร์ตเล็ก

ข้อสาม คนพอร์ตเล็กหลายคนที่อยากรวยเร็วจากหุ้น สามารถใช้มาร์จิน หรือกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเพื่อซื้อหุ้น ในยามที่เขาซื้อหุ้นได้ "ถูกตัว" คือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ผลตอบแทนจะ "ทวีคูณ" จากร้อยเป็นสองร้อย จากสองร้อยเป็น 400% ในเวลาหนึ่งปี ขณะเดียวกัน คนที่มีพอร์ตใหญ่ ส่วนใหญ่คิดว่าชีวิตตนเองอยู่ในสภาพที่ดีมากอยู่แล้ว เขาไม่อยากเสียมันไป แม้การใช้มาร์จินอาจทำกำไรให้เขามากขึ้น แต่ถ้าพลาด เงินเขาจะสูญไปมาก และนั่นจะเป็นสิ่งที่ "เจ็บปวด" มากกว่า "ความสุข" ที่จะได้จากผลตอบแทนที่จะได้มากขึ้น ชั่งน้ำหนักแล้ว เขาจะใช้มาร์จินน้อยกว่า หรือไม่ใช้มาร์จินเลย

ข้อสี่ คนพอร์ตเล็กที่อยากรวยเร็ว มักเทรดหรือซื้อขายหุ้นมากกว่าคนพอร์ตใหญ่ เขาสามารถเข้าหรือออกจากหุ้นได้ง่าย เพราะปริมาณหุ้นที่เขาซื้อขายน้อยมาก เมื่อเทียบกับการซื้อขายหุ้นในแต่ละวัน แนวทางของเขาอาจจะ ซื้อหุ้นช่วงต้นๆ ก่อนหุ้นจะมี “Story” หรือเรื่องราวดีๆ แล้วขายเมื่อหุ้นวิ่งขึ้นไปเร็วและสูง เพราะการเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นของนักเล่นหุ้น เมื่อหุ้นนั้นเริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุน เขามักจะไม่รอให้ผลประกอบการออกมา เพื่อยืนยันว่าบริษัทนั้นมีพื้นฐานที่ดีจริงๆ หรือไม่ ด้วยวิธีนี้ การทำกำไรจากหุ้นของเขา จะทำได้หลายรอบกว่าคนที่มีพอร์ตใหญ่ที่ไม่สามารถ "หมุนหุ้น" ได้หลายๆ รอบในหนึ่งปี จริงอยู่ คนที่มีพอร์ตใหญ่ก็ซื้อๆ ขายๆ เข้าออกหุ้นได้หลายๆ รอบ แต่นั่นก็ทำได้เฉพาะหุ้นขนาดใหญ่มาก เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน พลังงาน สื่อสาร ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะใหญ่เกินกว่าจะมี Story ดีๆ ที่จะขับเคลื่อนราคาหุ้นได้มากนัก

นักลงทุนที่พอร์ตยังเล็กบางคน ค่าที่ต้องการโตรวดเร็วสุดที่จะทำได้ เขาจึงใช้เทคนิค หรือแนวทางทุกอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นคือ ซื้อหุ้นตัวเล็กที่มีสภาพคล่องต่ำ แต่ก็ไม่น้อยเกินไปสำหรับเขา เขาลงทุนถือหุ้นเพียงตัวเดียวด้วยเงินทั้งหมดที่มี เขาเล่นหุ้นที่จะมีสตอรี่ หรือเรื่องราวดีๆ เช่น อาจเป็นหุ้นที่กำลัง "ฟื้นตัว" หรือบริษัทกำลังมีรูปแบบหรือ "โมเดลการทำธุรกิจใหม่" หรือ วัฏจักรธุรกิจกำลังเป็น "ขาขึ้น" อย่างแรง ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อซื้อแล้วและหุ้นเริ่มปรับตัวขึ้น อาจด้วยเหตุผลที่คาด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาเชื่อว่าหุ้นกำลังจะ "วิ่ง" เขาจะใช้มาร์จินเต็มวงเงินเพื่อซื้อหุ้นเพิ่ม และถ้าหากว่าหุ้นขึ้นไปอีก จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม รวมถึงผลจากการที่มีเม็ดเงินจากเขาเองเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่ม เขาก็จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มอีกโดยใช้มาร์จินที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นที่ เพิ่ม กระบวนการ "อัดมาร์จิน" แบบนี้ บางครั้งทำให้ราคาหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก วิ่งขึ้นไปแรงมาก หลายๆ เท่าตัวในเวลาอันสั้น เพราะบางครั้ง การ"อัดมาร์จิน" ไม่ได้ทำคนเดียว แต่มีนักลงทุนรายอื่นเข้ามาเล่นด้วย

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการมอง หรือวิเคราะห์ด้านหนึ่งที่เป็นด้านที่สดใส เป็นด้านที่ทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น และเป็นในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุดๆ และทำให้นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนไม่น้อย ทำผลตอบแทนมหาศาล จนกลายเป็นนักลงทุนพอร์ตกลางและพอร์ตใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี ถ้าหันมามองอีกด้านหนึ่ง นักลงทุนพอร์ตเล็กจำนวนที่มากกว่ามาก ที่ทำการลงทุนแบบเดียวกัน นั่นคือ ลงทุนในหุ้นตัวเล็ก ถือหุ้นเพียงตัวเดียวหรือสองตัวในพอร์ต ใช้มาร์จินซื้อหุ้นเต็มอัตรา และเล่นหุ้นที่มี "สตอรี่" แบบเดียวกัน เพียงแต่กรณีหลังนี้ เขาเข้ามาซื้อหุ้นเมื่อราคาหุ้นได้ขึ้นไปสูงสุดกู่แล้ว และต้องขายช่วงที่หุ้นตกต่ำลงมา ผลลัพธ์คือ เขาขาดทุนย่อยยับ กลายเป็นนักลงทุนที่ "พอร์ตเล็กเหมือนเดิม" ไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่ปี เหตุผลที่เขายังมีพอร์ตลงทุนอยู่ได้คือ เขายังมีแหล่งเงินจากที่อื่นที่จะมาลงทุนได้เสมอตราบที่ยังมีความหวังว่าจะ รวยจากตลาดหุ้นได้

คนพอร์ตเล็ก ไม่จำเป็นต้องเดินทางในแนวที่ผมพูดถึง และผมก็ไม่แนะนำให้เดินสาย "รวยเร็ว" แต่มีความเสี่ยงสูงมากอย่างที่กล่าว แน่นอน คนที่สำเร็จและเป็น Role Model ของนักลงทุนพอร์ตเล็กที่รวยเร็วมาก ทำให้นักลงทุนรุ่นใหม่อยากทำตาม หลายคนคิดว่า "ไม่มีอะไรจะเสีย" แต่ผมคิดว่า โอกาสชนะก็น้อยมาก ยังมีแนวทางการลงทุนแบบอื่น ที่อาจให้ผลไม่ต่างกันนักในระยะยาวแต่มีความเสี่ยงน้อยกว่า

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.